ภาพจาก : https://link.psu.th/ufXpw
สุเหร่าอาโหเป็นสุเหร่าหรือมัสยิดเก่าแก่แห่งหนึ่งของปัตตานี คาดว่าสร้างขึ้นมากว่า ๔๐๐ ปีมาแล้ว (อาจเป็นช่วงสมัยอยุธยาตอนกลางราว ๆ ปี พ.ศ. ๑๙๙๑-๒๒๓๑) มีเอกลักษณ์เฉพาะที่ดูโดดเด่นและสวยงามทางด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ศิลปะ และวัฒนธรรม จากหลักฐานผู้รู้เล่าว่าแต่เดิมสุเหร่าอาโหตั้งอยู่ที่หมู่บ้านมะนังยงซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดกับแม่น้ำ เมื่อถึงคราวน้ำหลากในช่วงฤดูฝนซึ่งจะเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง ต่อมมาจึงย้ายมาตั้งอยู่ที่หมู่บ้านอาโห ตอนย้ายสุเหร่ามานั้นไม่ได้ทำการรื้อถอนสุเหร่าแล้วนำมาประกอบใหม่ แต่ใช้วิธีการยกมาทั้งหลัง บางหลักฐานที่เล่าเกี่ยวกับสุเหร่าอาโหว่า เดิมทีสุเหร่าตั้งอยู่ริมน้ำ เพราะปาตอนีดารุสลามมีการติดต่อค้าขายกับชวาและมะละกา เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปมีถนนหนทางมากขึ้น การคมนาคมทางน้ำจึงไม่เป็นที่นิยม ชาวบ้านจึงย้ายสุเหร่ามาตั้งอยู่ที่หมู่บ้านอาโห สุเหร่าอาโหไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างแต่คาดว่าเป็นช่างจากปัตตานีที่ติดตามอุลามะห์หนีภัยสงคราม และน่าจะเป็นช่างชุดเดียวกันกับที่สร้างมัสยิดวาดีอัล-ฮุเซน เพราะลักษณะอาคาร กรรมวิธีการก่อสร้าง และเทคนิคการก่อสร้างมีความคล้ายคลึงกัน แต่คนเฒ่าคนแก่บางคนเล่าว่าผู้ที่ก่อสร้างสุเหร่าแห่งนี้คือ โต๊ะลางิอีแต ซึ่งเป็นผู้นำช่างจากชวามาก่อสร้าง โดยมีหลักฐานที่ยืนยันข้อมูลนี้คือกูโบว์ (หลุมฝังศพ) ของโต๊ะลางิอีแต ที่อยู่ใกล้กับหมู่บ้านที่ตั้งสุเหร่า ลักษณะของอาคารสุเหร่าอาโหแต่เดิมนั้นใช้โครงสร้างเป็นไม้ ลักษณะอาคารแบ่งเป็น ๒ ส่วน ด้านหน้าทิศตะวันออกเป็นห้องขนาดใหญ่ใช้สำหรับเป็นที่ละหมาด ด้านหลังทิศตะวันตกเป็นห้องขนาดเล็กที่ยื่นออกมาจากตัวอาคารเป็นที่ตั้งของมิมบัร ด้านหน้ามีบันไดทางขึ้น ๒ ด้านเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กที่สร้างขึ้นภายหลัง และมีบ่อน้ำตรงทางขึ้นบันได ฝาผนังใช้แผ่นไม้ขนาดใหญ่วางแนวตั้งตีกับรอยต่อของไม้ด้วยไม้ขนาดเล็กอีกชั้น ประตูทางเข้าด้านหน้าทำเป็นซุ้มโค้งเล็กน้อยอยู่ตรงกลาง ด้านข้างทั้ง ๒ ด้านปิดทับช่วงบนระยะช่องแสงเจาะโล่งใช้ไม้กลึงขนาดเล็กบางเป็นซี่แนวตั้งในพื้นที่โล่งทั้งหมด เหนือช่องลมมีไม้แกะสลักนูนลายพรรณพฤกษา หน้าต่างด้านข้างสูงจดพื้นเหนือหน้าต่างเป็นช่องแสง หลังคาทรงจั่ว ๓ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผาปลายแหลม จากลักษณะของหลังคาหน้าจั่วและรูปทรง คล้ายคลึงกับรูปแบบของอาคารในชวาและบาหลี กล่าวได้ว่าสุเหร่าอาโฮเป็นสถาปัตยกรรมทางศาสนาอิสลามชั้นเอกที่มีคุณค่าและงคงามแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี ตัวอาคารสุเหร่ามีความกว้าง ๔ เมตร ยาว ๑๑ เมตร และสูง ๑๐ เมตร สร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง ยกพื้นสูง มุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา โดยหลังคามีลักษณะพิเศษคือมีหลังคา ๓ ชั้นซ้อนกัน ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบชวาโบราณ ซึ่งสมัยนั้นยังมีอิทธิพลจากพุทธและพราหมณ์จึงทำให้ดูคล้ายกับกุฏิของพระภิกษุในพุทธศาสนา ประตูหน้าต่างมีการแกะสลักไม้ที่สวยงามมาก ความพิเศษของสุเหร่าแห่งนี้ คือการใช้เทคนิคในการก่อสร้างที่ไม่ใช้ตะปูแม้แต่ตัวเดียว การเข้าไม้ต่าง ๆ จะใช้วิธีเข้าสลักไม้ การเข้าเดือย ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการก่อสร้างมัสยิดวาดีอัล-ฮุเซน บริเวณด้านหน้าของสุเหร่ายังมีบ่อน้ำโบราณที่ชาวบ้านเอาไว้ดื่มกินเท่านั้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๘ สุเหร่าอาโหได้รับงบประมาณสนับสนุนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อใช้ในการบูรณะสุเหร่าและภูมิทัศน์โดยรอบสุเหร่าให้สวยงาม ปัจจุบันสุเหร่าอาโหยังใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจ (ละหมาด) ครบทั้ง ๕ เวลา ทุกเช้าวันศุกร์ สุเหร่าอาโหจะจัดให้มีการร่วมรับประทานอาหารเช้า เพื่อหาทุนช่วยเหลือศูนย์เด็กกำพร้าที่ตั้งอยู่ด้านหลังสุเหร่า ซึ่งศูนย์เด็กกำพร้าแห่งนี้อยู่ในความดูแลของอีหม่ามและคนในชุมชน
ด้านหน้าของสุเหร่าอาโห หลังคาทำเป็นจั่วสองชั้นรูปทรงสัดส่วนและขึ้นลมมีลักษณะคล้ายคลึงอาคารในชวาและบาหลี
สุเหร่าอาโหไม่มีหออะซานจึงติดตั้งลำโพงขยายเสียงไว้ที่หน้าจั่ว
ด้านหน้าของสุเหร่าอาโฮ มีลักษณะคล้ายคลึงเรือนไทยหรือกุฏิ แต่ไม่ทำหลังคาสามชั้นเหมือนสุเหร่าอาโฮ เสาของอาคารวางบนตีนเสาซีมนต์หล่อสำเร็จรูป และบันไดด้านน้า
แบบคอนกรีตเสริมเหล็กสร้างขึ้นภายหลัง สันนิษฐานว่าสุเหร่าอาโหอาจมีการเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น
ภายในสุเหร่าอาโหสามารถมองเห็นโครงสร้างที่ทำด้วยไม้ของอาคารได้ชัดเจนทุกส่วน ด้านในสุดเป็นอาคารขนาดเล็กมาเชื่อมต่อกับอาคารด้านหน้ามีลักษณะเป็นมุข หันไป
ทางทิศตะวันตกด้านเมืองมักกะฮฺ เป็นที่สำหรับอิหม่ามนำสวดและให้โอวาทแก่มุสลิม
จากการศึกษาของนักประวัติศาสนาอิสลามในปัตตานีเชื่อว่า สุเหร่าอาโหสร้างขึ้นสมัยที่ชาวปัตตานีเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามในยุคแรก และถือว่าเป็นสุเหร่าหรือมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดของปัตตานีที่เหลืออยู่ในปัจจุบันนี้ นอกจากนั้นที่หมู่บ้านมะนังยงแห่งนี้ถือว่าเป็นที่กำเนิดปอเนาะแห่งแรกของปัตตานีเช่นกัน คุณค่าของสุเหร่าหรือมัสยิดแห่งนี้อยู่ที่สถาปัตยกรรมพื้นเมืองของช่างท้องถิ่นปัตตานี เชื่อกันว่าวิถีชีวิตและความเชื่อของศาสนาเดิมในชุมชนคือฮินดูและพุทธยังคงมีอิทธิพลอยู่มากในขณะนั้น ดังนั้นรูปแบบศิลปกรรมและโครงสร้างของมัสยิดจึงดูคล้ายกุฏิของวัดในพุทธศาสนา โดยที่รูปแบบอิทธิพลของสถาปัตยกรรมอิสลามแบบตะวันออกกลางยังเข้ามาไม่ถึงในด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรม จึงถือว่ามัสยิดอาโหมีคุณค่าอย่างยิ่งที่ช่วยให้เห็นการเชื่อมต่อของวัฒนธรรมทั้งสอง มัสยิดอาโหแห่งนี้ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดีจากชุมชน จึงควรค่าแก่การไปเยี่ยมเยือนเพื่อศึกษาหาความรู้
มุสลิมโพสต์. (ม.ป.ป.) ประวัติมัสยิดอาโห ปัตตานี อายุเกือบ 400 ปี. สืบค้น 12 ก.ค. 67, จาก https://islamhouse.muslimthaipost.com/article/23196
Pattani Heritage City. (ม.ป.ป.). เรื่องเล่าปัตตานี : สุเหร่าอาโห. สืบค้น 12 ก.ค. 67, จาก https://link.psu.th/CRAf7n
วสันต์ ชีวะสาธน์. (2544). รายงานการวิจัยสถาปัตยกรรมทางศาสนาของชุมชนชาวไทยมุสลิมในจังหวัดปัตตานี. ภาควิชาเทคโนโลยีการศึกษา
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.