ตลาดน้ำคลองแดน (Klongdaen Floating Market)
 
Back    09/04/2019, 11:23    8,802  

หมวดหมู่

จังหวัด


ประวัติความเป็นมา

             ชุมชนคลองแดนเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่สุดเขตจังหวัดสงขลา ในเขตตําบลคลองแดน อําเภอระโนด จังหวัดสงขลา และต่อเนื่องกับตำบลรามแก้ว อําเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีคลองเล็ก ๆ เป็นเขตแดนตามธรรมชาติกั้นระหว่าง ๒ จังหวัด คลองนี้จะต่อเนื่องและพบกันที่บ้านคลองแดน เรียกเป็นสามชื่อคือคลองที่มาจากหัวไทร เรียกคลองหัวไทร ที่มาจากบ้านคลองแดนไปทางระโนดเรียกคลองระโนด และที่แยกไปทางทิศตะวันตกเรียกคลองชะอวด จนกลายเป็นสมญานามของชุมชน คลองแดนว่า “บ้านตามคลอง สองจังหวัด” ชุมชนคลองแดนมีที่ตั้งอยู่เกือบถึงกลางระหว่างจังหวัดสงขลากับจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอําเภอเมือง จังหวัดสงขลา ประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร และมีระยะทางจากอําเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปทางทิศใต้ประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร เช่นเดียวกัน ชุมชนคลองแดนตั้งมาราว ๆ ปี พ.ศ. ๒๔๐๖ สมัยรัชกาลที่ ๔ พร้อม ๆ กับชุมชนบ้านรามแก้ว อําเภอหัวไทร การตั้งถิ่นฐานมีทั้งคนไทยและคนจีน ย้ายถิ่นฐานมาประกอบกิจการค้าขายบริเวณคุ้งน้ํา และตั้งบ้านเรือนอย่างหนาแน่นบริเวณสามแยกแนวบรรจบของคลองทั้ง ๓ สาย ซึ่งสะดวกในการคมนาคมที่ใช้เรือเป็นพาหนะ ชุมชนคลองแดนจึงเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สามารถเชื่อมต่อกับชุมชนอื่น ๆ ในปริมณฑลโดยรอบทําให้มีความรุ่งเรืองทางการค้าอย่างมาก จนประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๗ เมื่อเกิดทางหลวงสาย ๔๐๘ (นครศรีธรรมราช-สงขลา) เมื่อใช้งานเกิดความสะดวกมากกว่าการใช้เรือ การสัญจรทางน้ําลดลงและเลิกไปในที่สุด ผู้คนก็เริ่มอพยพออกจากพื้นที่ ทําให้ชุมชนคลองแดนที่เคยรุ่งเรืองในอดีตเงียบเหงาซบเซาลงมาก    

           คลองแดนยุคก่อตัวเป็นตลาด
          
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง นายนวลกับ นางเพิ่ม โชติประดิษฐ์ จากบ้านลานควาย อําเภอระโนด ซึ่งเข้ามาจับจองที่ดินตรงปากน้ํา ๓ แพร่งตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้สร้างตลาดสดขึ้นในที่ดินของตนเองประมาณ ๑ ไร่ โดยสร้างเป็นโรงเรือนโล่ง ๆ บนพื้น ดินที่มีน้ําท่วมขังเกือบตลอดปี ตรงบริเวณโค้งของสายน้ําที่ไหลมาจากอําเภอชะอวด มาบรรจบกับสายน้ําที่ไหลมาจากอําเภอระโนด (ด้านเหนือของคลองชะอวดและด้านตะวันตกของคลองที่ไปอําเภอปากพนัง) โรงเรือนดังกล่าวสร้างแบบชั่วคราวด้วยวัสดุในท้องถิ่น เสาเรือนทําด้วยต้นเสม็ดและโคนไม้ไผ่สีสุก มุงหลังคากันแดนฝนด้วยจาก (นําใบสาคูมาเย็บเป็นตับ) ในโรงเรือนยกร้านสําหรับวางสินค้าด้วยไม้เสม็ดหรือไม้โพธิ์ทะเล สูงประมาณเมตรครึ่งโดยสร้างเป็นที่วางสินค้าขึ้นสองแถว แต่ละแถวกว้างประมาณ ๒ เมตรและยาวประมาณ ๑๐ เมตร ระหว่างแถว สําหรับวางสินค้าจะมีสะพานเตี้ย ๆ เป็นทางเดินที่สร้างยกให้สูงจากพื้นพอพ้นระดับน้ําที่ท่วมขัง ทางเดินนี้จึงเป็นเหมือนสะพานแคบ ๆ สําหรับให้ผู้มาจับจ่ายตลาดเดินแวะเวียนหาสินค้าที่ต้องการ ตลาดมีการนัดซื้อขายกันในพฤหัสบดีและวันอาทิตย์ 

          ความรุ่งเรืองของตลาดคลองแดน (ก่อนเป็นตลาดน้ำ)
         
กล่าวได้ว่าช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ถึงต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ตลาดคลองแดนได้เข้าสู่ยุครุ่งเรืองโดยแท้จริง เพราะในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ บรรดาเรือแจว เรือถ่อของชาวบ้านค่อย ๆ เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์แทน ขณะที่เรือเมล์ซึ่งใช้เครื่องยนต์ดีเซลได้เข้ามาแทนเรือใบและเรือกลไฟและในช่วงรอยต่อของทศวรรษดังกล่าวนี้ โรงสีข้าวที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในบ้านคลองแดน ได้ถูกตั้งขึ้นถึง ๓ โรง การเกิดขึ้นของโรงสีที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล (ชาวบ้านเรียกว่าโรงสีเย็นหรือโรงสีใหญ่) ทําให้ชาวนารายย่อยในบริเวณชุมชนคลองแดนและใกล้เคียงมีโอกาสที่จะแบ่งขายข้าวเปลือกและสีข้าวสารได้ ตามความต้องการและได้ราคามากขึ้น ซึ่งผิดกับการขายให้กับโรงสีไฟที่มักถูกเอาเปรียบ การขายข้าวได้ราคาดีเป็นเงื่อนไขสําคัญที่ทําให้ตลาดคลองแดนกลายเป็นตลาดใหญ่ ที่มีคนจากที่ต่าง ๆ เข้ามาจับจ่ายซื้อขายกันเป็นจํานวนมาก ในขณะที่ชุมชนตรงปากทางสามแพร่งฝั่งน้ํานี้ก็เป็นที่หมายเข้ามาตั้งรกรากเพื่อการค้าขายของคนต่างถิ่น กลางปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ที่ดินบน ๓ ฝั่งน้ําทุกตารางเมตร จึงได้ถูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัยและร้านค้า โดยบ้านเรือนอาศัยในยุคนี้มีการปลูกสร้างอย่างแข็งแรงมากขึ้น กล่าวคือตัวบ้านจะเริ่มสร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง หลังคามุงกระเบื้องดินเผาจากบ้านเกาะยอ ซึ่งเป็นแหล่งทํากระเบื้องดินเผาเลื่องชื่อ โดยมีแหล่งไม้สําคัญมาจากควนเคร็ง อําเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช และบริเวณหัวป่าเขียว อําเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง การเติบโตของตลาดคลองแดนยิ่งขยายตัวมากขึ้นเมื่อย่างเข้าสู่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ สิ่งที่ยืนยันการขยายตัวของตลาดในช่วงเวลาดังกล่าวได้ดี คือการตั้งโรงเรียนเอกชนขึ้นอีกแห่งหนึ่งบนฝั่งอําเภอหัวไทร โรงเรียนแห่งใหม่นี้มีชื่อว่าโรงเรียนเจริญพงศ์วิทยา ทุกสิ่งอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปดังนั้นเศรษฐกิจการค้าของชุมชนคลองแดนที่กําลังรุ่งเรืองในเรื่องต่่าง ๆ ก็ได้ซบเซาลง แต่ก็เป็นช่วงสั้น ๆ ทั้งนี้ด้วยปัจจัยหลาย ๆ ด้าน เช่น ในกลางปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้เกิดมหาวาตภัยขึ้นที่แหลมตะลุมพุก แต่เนื่องจากมหาวาตภัยครั้งนั้นกินบริเวณกว้างขวางมาก จาการศึกษาวิจัยของยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้ ได้สัมภาษณ์ตาสุพัฒว่า "ในปีนั้นที่บ้านคลองแดนถูกทั้งพายุฝนและน้ําทะเลที่หนุนเข้ามาจากปากคลองท่าเข็นเข้าบ่าท่วมชุมชนอย่างหนักหน่วง แม้ว่าไม่มีใครเสียชีวิตแต่บริเวณนี้ก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย ข้าวในนาของชาวนาทั้งฝั่งอําเภอระโนดและอําเภอหัวไทร ที่อยู่ในช่วงตั้งท้องได้รับความเสียหายเป็นจํานวนมาก ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อการซื้อขายในตลาดนานค่อนปี ขณะเรือนอาศัยของชาวบ้านจํานวนหนึ่ง ถูกพายุเสียหายจนต้องปลูกสร้างกันใหม่หลายสิบหลัง โดยเฉพาะโรงเรียนบ้านคลองแดนได้ถูกพายุพัดถล่มจนเสียหายไปทั้งหมด" ในปีถัดมาโรงเรียนแห่งนี้ได้รับงบประมาณจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์มาสร้างใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๑๑ ตั้งแต่ปีนั้น เป็นต้นมา หลังพ้นผ่านภัยธรรมชาติไปราว ๑ ปี ตลาดคลองแดนก็กลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามความมั่งคั่งในช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๐ นี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทําให้ตลาดคลองแดนได้เดินเข้าสู่ปัญหาใหม่ กล่าวคือจากการที่ตลาดคลองแดนเป็นสถานที่ที่เจริญมากท่ามกลางบริเวณรายรอบที่ยังกันดาร จึงทําให้คนแปลกหน้าจากหลากถิ่นหลายที่เข้ามาอยู่อาศัยกันเป็นจํานวนมาก นอกจากมีกลุ่มคนที่มุ่งทําการค้าอย่างสุจริตแล้วก็ยังมีกลุ่มมิจฉาชีพเข้ามาอาศัยปะปน โดยเฉพาะการเปิดบ่อนวัวชนของกํานัน เหลี่ยมบนฝั่งอําเภอระโนดขึ้นใกล้ ๆ โรงเรียนบ้านคลองแดน ได้ทําให้มีกลุ่มที่ทํามาหากินทางอบายมุขเข้ามาชุมนุมกันมากขึ้น อีกทั้งโจรในเขตพัทลุง สงขลาและนครศรีธรรมราชก็อาละวาดหนัก มีข่าวการปล้นสะดมกันไม่เว้นแต่ละวัน สาเหตุดังกล่าวทําให้กลุ่มคนจีนจํานวนหนึ่งเกิดความหวาดกลัวและได้อพยพหนีภัยโจรออกไปจากตลาดคลองแดน อย่างไรก็ตามเรือนและร้านค้าที่ว่างลงจากการอพยพออกไปก็มีคนใหม่ ได้เข้ามาซื้อหรือเช่าอาศัยต่อ ทำให้เศรษฐกิจการค้าของตลาดแห่งนี้ก็พอ ดําเนินต่อมาได้ จนกระทั่งย่างเข้าสู่กลางปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ตลาดคลองแดนก็ได้ก้าวสู่ยุคถดถอยและร่วงโรยอย่างแท้จริง ภาวะความรุ่งเรืองของตลาดคลองแดนเริ่มอิ่มตัวมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. ๒๕๑๐ กล่าวคือนับแต่ต้นทศวรรษดังกล่าวตลาดที่ประกอบไปด้วยร้านค้าและเรือนอาศัยหยุดการขยายตัว ไม่มีการอพยพเข้ามาจากกลุ่มคนภายนอกเพิ่มด้วยข้อจํากัดของพื้นที่ ขณะที่กลุ่มคนจีนซึ่งที่เข้ามาสร้างให้สถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนซื้อขายเมื่อราว ๆ ๓-๔ ทศวรรษก่อนสามารถค้าขายร่ํารวยแล้วโยกย้ายอพยพออกไปหาทําเลที่ทํากินใหม่ที่ปลอดภัยกว่า ประกอบกับเมื่อเข้าสู่ต้นทศวรรษ ๒๕๑๐ นี้ ราคาข้าวได้ตกต่ําลงพร้อม ๆ กับที่ต้นทุนการปลูกข้าวได้เริ่มสูงขึ้น เพราะชาวนาเริ่มหันไปใช้แรงงานเครื่องจักร ปุ๋ยเคมีและแรงงานจ้างเข้ามาอยู่ในขั้นตอนของการผลิต ทั้งในช่วงทศวรรษนี้ชาวนามีความจําเป็นต้องใช้เงินในการลงทุนทางการศึกษาของลูกหลานที่สูงขึ้น สภาพการค้าขายของตลาดคลองแดนจึงค่อย ๆ ชะลอตัวลงตามกําลังซื้อของชาวนาที่ลดลง แต่เงื่อนไขสําคัญที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจากความรุ่งเรืองสู่ความถดถอยและร่วงโรยของตลาดคลองแดนที่แท้จริง คือการเปลี่ยนแปลงด้านการคมนาคมจากภาครัฐ เพราะในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ถนนสายระหว่างอําเภอระโนด ที่เชื่อมกับอําเภอหัวไทรสามารถเดินทางสัญจรได้โดยรถยนต์ การคมนาคมในแถบนี้จึงเกิดทางเลือกใหม่ที่สะดวกและรวดเร็วกว่า ชุมชนใหม่ ๆ  ริมถนนรถยนต์ที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในทศวรรษนี้ได้ดึงกลุ่มคนค้าส่วนหนึ่งออกไปจากตลาดคลองแดน ยิ่งเฉพาะเมื่อถนนโรยหินได้เข้ามาเชื่อมให้บ้านคลองแดนสามารถเดินทางออกไปยังถนนสายระโนดหัวไทรได้ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ รถยนต์คันแรกก็ได้เข้ามาถึงชุมชนแห่งนี้และนับแต่ปีนั้นเป็นต้นมา รถยนต์วิ่งโดยสารของโกเซ่งกับยายเสงี่ยม พืชมงคลก็เข้ามามีบทบาทแทนเรือในการนําสินค้าและผู้คนไปยังตลาด ระโนดและหัวไทร จากปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นต้นมาตลาดคลองแดนก็เข้าสู่ภาวะซบเซา กล่าวโดยสรุปตลาดคลองแดนได้เข้าสู่ภาวะถดถอยและ ร่วงโรยก็เนื่องจากสาเหตุ เช่น  การซื้อขายได้เข้าสู่ภาวะซบเซาเนื่องจากราคาข้าวที่ตกต่ํามาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๔-๑๕ ยิ่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ผลผลิตของชาวนาในบริเวณทุ่งระโนดและหัวไทรได้รับความเสียหายอย่างหนักจากอุทกภัย ทําให้ชาวนาส่วนใหญ่ไม่มีเงินมาจับจ่ายซื้อขายในตลาดดังที่ผ่าน ๆ มา และในปีดังกล่าวนี้ชาวนาจาก ๒ อําเภอ ดังกล่าวจํานวนมากได้อพยพทิ้งถิ่นไปหาที่ทํากินใหม่แถบชายป่าเชิงเขาและแถบนิคมสร้างตนเองทั้งที่จังหวัดพัทลุง สงขลา และสตูล กอปรกับเกิดอิทธิพลท้องถิ่นและโจรผู้ร้ายชุกชุมทําให้ กลุ่มคนจีนอพยพโยกย้ายออกไปจากชุมชนและมีกลุ่มเอื่น ๆ เข้ามาคนที่ขับเคลื่อน กิจกรรมซื้อขายลดลงประการสุดท้ายการเกิดถนนรถยนต์ ซึ่งค่อย ๆ พัฒนาขึ้นตั้งแต่กลางทศวรรษ ๒๕๐๐ โดยเฉพาะในปลายทศวรรษ ๒๕๑๐ ได้เกิดถนนเงินผัน ซึ่งถือเป็นการผนวกเอาชุมชนหมู่บ้านเข้าสู่เครือข่ายการเดินทางโดยถนนได้ทั้งหมด การเกิดถนนนํามาซึ่งรถยนต์ที่เป็นยานพาหนะใหม่ ซึ่งมีความสะดวกสบายและทําให้การสัญจรถึงที่หมายได้เร็วกว่า เพียง ๑ ปีที่ถนนและรถยนต์เข้ามาถึงหมู่บ้าน ชุมชน ๓ ฝั่งน้ําบ้านคลองแดนซึ่งรุ่งเรืองมากว่าครึ่งศตวรรษก็ปิดฉากลง โดยเฉพาะเมื่อเหล่าเรือนอาศัยและรวงร้านของผู้คนได้ปลูกหันหน้าเข้าหาถนนและหันด้านหลังบ้านให้กับสายน้ํา กว่า ๓ ทศวรรษที่ชุมชนบ้านคลองแดนตกอยู่ในสภาพถดถอยและร่วงโรย กระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ วัดคลองแดนต้องการฟื้นฟูและพัฒนาวัด จึงได้นําเสนอแนวคิดดังกล่าวต่อมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา (มทร.) ให้มาสํารวจวางผังแม่บทในการพัฒนา และทางมหาวิทยาลัยนําโดยอาจารย์จเร สุวรรณชาต ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมก็ได้เริ่มโครงการวางผังแม่บทในการพัฒนาวัด ตั้งแต่การสร้างถนน ศาลา กุฏิและมณฑปใหม่เพื่อประดิษฐานพระประธาน “พระมั่งมีศรีสุข” พระศักดิ์สิทธิ์ประจําวัดขึ้น ตามด้วยการพัฒนาภูมินิทัศน์ของวัดให้ร่มรื่นและสวยงาม จนเมื่องานดังกล่าวเสร็จสิ้นลง ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๕๒ อาจารย์จเรก็ได้เริ่มเข้ามาดูบริเวณตลาดคลองแดนและเห็นว่าที่นี่ภูมินิเวศน์สวยมากน่าจะรื้อฟื้นตลาดน้ําขึ้นมา ในช่วงเวลานี้ตลาดคลองแดนตกอยู่ในสภาพทรุดโทรมอย่างหนัก อาจารย์จเรเห็นว่าที่นี่มีทุนทางธรรมชาติและมีร่องรอยของความเจริญมาก่อน ถ้านําสิ่งนี้กลับมาเสนอกับชุมชนก็อาจรื้อฟื้นพัฒนาชุมชนขึ้นมาใหม่ได้ ในตอนแรกชาวชุมชนคลองแดนไม่มีความมั่นใจว่าสิ่งดังกล่าวจะสามารถทําได้ แต่อาจารย์จเรให้ความมั่นใจว่าจะต้องทําแบบค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป และทําแบบพอเพียง ต่อมาท่านจึงได้ร่วมกับชุมชนคิดทําโครงการการศึกษาและจัดการโครงการนําร่องการปรับปรุงที่อยู่อาศัยและชุมชนในชนบทภาคใต้ขึ้นที่บ้านคลองแดน เริ่มตั้งแต่จัดทําแผนที่และสํารวจข้อมูลพื้นฐานชุมชน และขอความร่วมมือกับอาจารย์สายัณห์ (ครูเกษียณ) ให้ช่วยปรับปรุงบ้านเรือนอาศัยของท่านเป็นหลังแรกและต่อมาก็ช่วยทําให้บ้านของเพื่อนบ้านในบริเวณริมสายน้ําคลองแดนให้น่าอยู่ขึ้นมาก่อน ถัดจากนั้นจึงนําชาวบ้านคลองแดนไปดูงานที่ตลาดน้ําที่คลองอัมพะวา จํานวน ๙ คน พร้อมกับทีมงานของมหาวิทยาลัย เพราะที่นั้นมีการพัฒนาในด้านนี้ไปก่อนแล้ว โดยจัดชาวบ้านไปพักที่อัมพะวา ๒ คืน เพื่อศึกษาตลาดน้ําอัมพะวาในเรื่องการปรับปรุงที่อยู่อาศัยเพื่อทําโฮมสเตย์ การจัดการตลาด การบริหารจัดการชุมชนและสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงภูมินิทัศน์ เพื่อนําความรู้มาพัฒนาชุมชนคลองแดน อาจารย์สายัณห์เล่าว่าท่านโชคดีที่ได้พูดคุยกับเจ้าของเรือนแพหลังแรกของบ้านอัมพะวาและได้ความรู้ในเรื่องการปรับปรุงที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมชุมชนเป็นอย่างดีเมื่อกลับมาถึงอาจารย์สายัณห์ก็ได้ปรับปรุงบ้านตนเองให้เป็นโฮมสเตย์แบบสมบูรณ์ขึ้นเป็นหลังแรก โดยมีหลักคิดคือจัดการห้องน้ําให้สะอาด ได้เกณฑ์มาตรฐาน โดยแยกห้องน้ํา ห้องส้วม ปรับปรุงห้องพัก ห้องนอนให้ปลอดโปร่ง มีแสงสว่างเพียงพอ อากาศปลอดโปร่ง โดยมีอาจารย์จามิกรณ์ มะลิซ้อน ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมจาก มทร. มาเป็นที่ปรึกษา นอกจากนั้นยังมีอาจารย์ด้านการก่อสร้างจากมหาลัยดังกล่าวเข้ามาเป็นที่ปรึกษา และช่วยเหลือให้การปรับปรุงสะพานเชื่อมบ้านเรือน และบริเวณตลาดให้สามารถเดินเชื่อมต่อกันได้พร้อม ๆ กับที่ได้ให้แนวคิดการพัฒนาและการปรับปรุงชุมชนแก่ชุมชน ภายหลังบ้านอาจารย์สายัณห์ได้มีนักท่องเที่ยวเริ่มเข้าพักอาศัย โดยอาจารย์สายัณห์ได้เปิดเป็นโฮมสเตย์ขึ้นในวันเดือนวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เพื่อรองรับคณะนักวิจัย และต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ตลาดนัดริมน้ําคลองแดนก็ได้เปิดบริการรับนักท่องเที่ยวจากใกล้ไกล และหลังจากนั้นก็เริ่มมีโฮมสเตย์หลังอื่น ๆ เกิดตามมาอีกหลายหลัง อาจารย์สายัณห์ให้รายละเอียดต่อไปว่าการเปิดให้ตลาดคลองแดนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ แบบวิถีพุทธจะเน้นที่กิน ที่เที่ยว และที่พักในความหมาย “ความพอเพียง” เพราะมิได้เน้นรายได้ของชุมชน จากการเปิดให้ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านเดียว หากแต่รูปแบบการจัดชุมชนได้เน้นความหมายของคุณค่ากล่าว คือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มุ่งให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ให้คุณค่าของวิถี ชีวิตแบบพอเพียงสมถะและประหยัด หลังจากเกิดกลุ่มที่พักในรูปแบบโฮมสเตย์แล้ว ทาง มทร. ก็ได้ขยับขยายกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนขึ้น เช่น กลุ่มอาชีพ กลุ่มทางวัฒนธรรม กลุ่มท่องเที่ยว โดยฝ่ายทางกลุ่มโฮมสเตย์ได้สนับสนุนงบประมาณในการขับเคลื่อน กล่าวคือทางกลุ่มได้ตัดรายได้จากโฮมสเตย์หัวละ ๑๐ บาท ไปเป็นเงินทุนสนับสนุนการขับเคลื่อนด้านการประชาสมพันธ์ และมีการดึงภาครัฐและเอกชนเข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม ดังเช่นการสนับสนุนจาก อบต. คลองแดน อบต. รามแก้ว อบจ. จังหวัดสงขลาและนครศรีธรรมราช รวมทั้งทายาทของเจ้าของตลาดเดิมเข้ามาฟื้นฟูตลาดขึ้นมาใหม่ จนกระทั่งชุมชนคลองแดนได้มีคณะกรรมการบริหารจัดการตลาดคลองแดนที่มาจากภาคชาวบ้านอย่างแท้จริงคณะกรรมการบริหารจัดการตลาดคลองแดนเกิดขึ้นภายหลัง โครงการปรับปรุงของ มทร. เสร็จสิ้นลง พร้อมกับได้วางพื้นฐานการจัดการชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีพุทธ บ้านเรือนของชาวบ้านใน ชุมชนบ้านคลองแดน ก็ได้รับการพัฒนาดีขึ้น โดยอบต. คลองแดนร่วมกับ อบต. รามแก้วเข้ามารับผิดชอบงานดังกล่าวแทน มทร. โดย อบต. คลองแดน เป็นเจ้าภาพหลักและมีอาจารย์สายัณห์เป็นที่ปรึกษา ครั้นปี พ.ศ. ๒๕๕๔ มีการเปลี่ยนแปลงอํานาจใน อบต. ในท้องที่ การบริการจัดการชุมชนก็มีการเปลี่ยนแปลง กล่าวคืออํานาจในการบริหารจัดการได้ตกมาอยู่ใน อํานาจของชุมชนอย่างแท้จริง โดยชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้วยตนเอง โดยคณะกรรมการชุดย่อย ๆ แบ่งงานกันบริหารจัดการและมีการประชุมกันทุก ๆ เช้าวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันที่มีตลาดนัดของชุมชนเปิดต้อนรับบรรดานักท่องเที่ยวทั้งจากในและต่างจังหวัด ฝ่ายโฮมสเตย์ก็จะแจ้งว่าสัปดาห์นี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักกี่คน ปัญหาของตลาดนัดมีอะไรบ้าง จะหาหนทางแก้ไขอย่างไรแล้วการจัดตลาดนัด ในตอนเย็นจะมีกิจกรรมด้านวัฒนธรรมในเรื่องใดบ้าง ด้านขยะและสิ่งแวดล้อมจะจัดการอย่างไร เป็นต้น
  
            ตลาดน้ำคลองแดนเป็นตลาดน้ำที่เน้นบรรยากาศย้อนยุคและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนคลองแดนอย่างแท้จริง  ตลาดน้ำคลองแดนได้ชื่อว่าเป็น “ชุมชนวิถีพุทธคลองแดน”  เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยมีคลอง ๓ สายมาบรรจบกันคือ คลองระโนด คลองชะอวด คลองปากพนัง เป็นจุดแบ่งเขตแดนระหว่างจังหวัดสงขลากับจังหวัดนครศรีธรรมราช  ตลาดน้ำคลองแดนเลยมีสโลแกนที่ว่า “สามคลอง สองเมือง” สำหรับนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่มาเยี่ยมชมตลาดน้ำคลองแดนก็จะได้สัมผัสกับการดำเนินชีวิตแบบวิถีพุทธ เยี่ยมชมศิลปวัฒนธรรมแบบชาวใต้ เยี่ยมชมการแสดงมโนราห์  หนังตะลุง  การร้องเพลงเล่นดนตรีสด นอกจากนี้ยังได้เลือกซื้อสินค้าอาหารพื้นบ้าน  ของที่ระลึกจากตลาดน้ำคลองแดนไปเป็นของฝากอีกด้วย

             ตลาดริมน้ำคลองแดนสนับสนุนให้คนในท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาชุมชนไปพร้อมกับการได้รับผลตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจ โดยเปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นหรือชาวบ้านมาขายของ ขายอาหาร หรือเปิดเป็นโฮมสเตย์ไว้บริการให้นักท่องเที่ยวที่สนใจจะเข้ามาสัมผัสบรรยากาศวิถีชนบท  วิถีคลอง  ไม่ว่าจะเป็นโฮมสเตย์ในรูปแบบของบ้านริมน้ำ  เรือนไม้ไทย  หรือระเบียงไทย  ถือเป็นการอนุรักษ์  สืบสานวัฒนธรรมอีกรูปแบบหนึ่ง  รวมถึงขายของที่ระลึกซึ่งเป็นฝีมือของคนในท้องถิ่น สร้างรายได้เข้าสู่ครัวเรือน
   
                คลองแดนในอดีตมีโรงสีจำนวน ๑๔ โรงประกอบด้วย
                   ๑. โรงสีเฮียเนี้ยง
                   ๒. โรงสีนายเยื้องหนูเนียม
                   ๓. โรงสีเฮ้งเนี้ยง-นางเลื่อม
                   ๔. โรงสีเฮียขิ้ม-ฉีเฉียว
                  ๕. โรงสีครูถาวร
                  ๖. โรงสีเฮียน้อย-นายยิ้ม
                  ๗. โรงสีนายสุคนธ์
                  ๘. โรงสีผู้ใหญ่แดง
                  ๙. โรงสีครูปลอบ
                 ๑๐. โรงสีนายอำนวย
                 ๑๑. โรงสีนายแสง
                 ๑๒. โรงสีครูพวง

             ตลาดน้ำคลองแดนเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยนำเอาทรัพยากรทางธรรมชาติ วัฒนธรรมริมคลองและนำวัฒนธรรมที่มีอยู่มาแสดงทุกวันเสาร์ ต่อยอดพัฒนาบริหารจัดการเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยคนในพื้นที่คลองแดนได้มีส่วนร่วมอาศัยธรรมชาติเป็นฐานไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ วิถีทางธรรมชาติและวัฒนธรรม เน้นธรรมชาติและองค์ประกอบของธรรมชาติเป็นสิ่งดึงดูดใจ เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัส เรียนรู้ รวมถึงเข้าใจธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตของคนในคลองแดน นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้คนในท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาชุมชนไปพร้อม ๆ กัน และได้รับผลตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของท้องถิ่น ภายในตลาดมีห้องแถวเก่าแก่ที่สร้างมายาวนานตั้งเรียงรายเลียบริมแม่น้ำ พร้อมการสร้างสะพานไม้เพื่อใช้เป็นทางเดินในการเยี่ยมชมตลาด  ตลาดริมน้ำคลองแดนเปิดให้บริการทุกวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา ๑๕.๓๐-๒๐.๐๐ น.


ความสำคัญ

            จากคำกล่าวของคนคลองแดนที่ว่า "ตลาดแห่งนี้เราไม่เน้นความเจริญทางวัตถุ ไม่เปลี่ยนแปลงวิถีทางธรรมชาติและวัฒนธรรมตามสมัยนิยม  แต่เราเน้นความเป็นเรา ความดั้งเดิม และเราก็จะอนุรักษ์วิถีเช่นนี้ให้อยู่คู่กับชุมชนคลองแดนตลอดไป"
             ตลาดน้ำคลองแดนนอกจากนักท่องเที่ยวจะได้มาสัมผัสวิถีชีวิตที่เรียบง่ายได้เรียนรู้เข้าถึงความเป็นธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของที่นี่แล้ว ยังถือเป็นการสนับสนุนให้คนในท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาชุมชนไปพร้อม ๆ กัน และได้รับผลตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจเพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของท้องถิ่นให้ดีขึ้นอาหารอร่อยในชุมชนอาหารอร่อยชุมชนคลองแดนมีหลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไป แต่ในกลุ่มองค์กรชุมชนได้มีการส่งเสริมให้มีการขายสินค้าพื้นบ้าน เพื่อไม่ให้อาหารพื้นบ้านสูญหายไปตามกาลเวลา และเป็นการประชาสัมพันธ์อาหารพื้นถิ่นที่หากินยาก เช่น ปลาทอดทรงเครื่อง (สูตรโบราณ) แป้งแดง ข้าวยำ ข้าวมันแกงไก่ เต้าคั่ว ห่อหมกปลาอินทรี ขนมกอและ ขนมจาก ขนมลูกโดน ขนมโค ขนมพิมพ์ ขนมทราย (ขนมขี้หนู) ขนมปำจี ข้าวเกรียบปากหม้อ ขนมค่อม ขนมเทียน ขนมดอกลำเจียก ขนมหน้ามัน กล้วยทับ ข้าวเหนียวปิ้ง กุ้งทอด และอาหารพื้นบ้านอีกมากมาย โดยเน้นความสะอาด อร่อย และราคาถูก ตลาดริมน้ำคลองแดน "สามคลอง สองเมือง" เปิดทุกวันเสาร์ในทุก ๆ วันเสาร์ ตลาดน้ำคลองแดนคือแลนมาร์กที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศเป็นจำนวนมาก ให้เดินทางเข้ามาชมวิถีชีวิตชุมชนริมคลองและทำการเลือกซื้อเลือกรับประทานอาหารของชาวตลาดน้ำคลองแดนกันอย่างคึกคัก สร้างรายได้ให้กับชาวชุมชนท้องถิ่นอีกทางหนึ่ง 

ภาพจาก : https://pantip.com/topic/33724779

ปูชนียบุคคลของคลองแดน


บทบาทต่อสังคม

               ตลาดน้ำคลองแดนได้ชื่อว่าเป็น “ชุมชนวิถีพุทธคลองแดน”  เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยมีคลอง ๓ สายมาบรรจบกันคือคลองระโนด คลองชะอวด และคลองปากพนัง  เป็นจุดแบ่งเขตแดนระหว่างจังหวัดสงขลากับนครศรีธรรมราช  ตลาดน้ำคลองแดนเลยมีสโลแกนที่ว่า “สามคลอง สองเมือง” สำหรับนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่มาเยี่ยมชมตลาดน้ำคลองแดนก็จะได้สัมผัสกับการดำเนินชีวิตแบบวิถีพุทธ เยี่ยมชมศิลปวัฒนธรรมแบบชาวใต้ เยี่ยมชมการแสดงมโนราห์ หนังตะลุง  การร้องเพลงเล่นดนตรีสด นอกจากนี้ยังได้เลือกซื้อสินค้าอาหารพื้นบ้าน ของที่ระลึกจากตลาดน้ำคลองแดนไปเป็นของฝากอีกด้วยตลาดริมน้ำคลองแดนสนับสนุนให้คนในท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาชุมชนไปพร้อมกับการได้รับผลตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจ โดยเปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นหรือชาวบ้านมาขายของ ขายอาหารหรือเปิดเป็นโฮมสเตย์ไว้บริการให้นักท่องเที่ยวที่สนใจจะเข้ามาสัมผัสบรรยากาศวิถีชนบทวิถีคลอง ไม่ว่าจะเป็นโฮมสเตย์ในรูปแบบของบ้านริมน้ำ เรือนไม้ไทยหรือระเบียงไทย ถือเป็นการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมอีกรูปแบบหนึ่ง รวมถึงขายของที่ระลึกซึ่งเป็นฝีมือของคนในท้องถิ่นสร้างรายได้เข้าสู่ครัวเรือน  


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
ตลาดน้ำคลองแดน (Klongdaen Floating Market)
ที่อยู่
ตำบลคลองแดน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
จังหวัด
สงขลา
ละติจูด
7.9141281
ลองจิจูด
100.3065602



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

คลองแดนในความทรงจำ. 2559. สืบค้นวันที่ 4 เมษยายน 2562, จาก http://oknation.nationtv.tvblog/piggybankpig/2016/12/03/entry-1
ตลาดริมน้ำคลองแดน. 2559. สืบค้นวันที่ 4 เมษยายน 2562, จาก http://www.museumthailand.com/th/2549/storytelling/
เลิศชาย ศิริชัย, บรรณาธิการ. (2558). ยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้. เล่ม 4 สงขลา สตูล : ตลาด การสัญจร และถิ่นฐานของผู้คน.
          กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2025