วัดชลธาราสิงเห (Wat Chontarasinghe)
 
Back    04/11/2020, 10:51    10,641  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา

ภาพจาก :  https://sites.google.com/site/changwatnarthwas/5-sthan-thi-thxng-theiyw-naeana/5-8-wad-chl-thara-sing-he

         วัดชลธาราสิงเห หรือวัดพิทักษ์แผ่นดินไทย พระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ที่ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดนราธิวาส สร้างขึ้นเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) มีจุดเด่นของอาคารสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและผสมผสานความเป็นพุทธ มุสลิม และจีนเข้าด้วยกัน ภูมิทัศน์รอบวัดเป็นบรรยากาศริมน้ำ ซึ่งสามารถเป็นที่พักผ่อนของนักท่องเที่ยว จึงถือเป็นวัดที่มีความสำคัญอันทรงคุณค่าและเป็นศูนย์กลางด้านภูมิทัศน์วัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมท้องถิ่น และเป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ ในตอนแรกวัดแห่งนี้ถูกเรียกว่าวัดท่าพรุหรือวัดเจ๊ะเห ตามชื่อหมู่บ้านที่วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ ตามประวัติเล่าว่าในอดีตเมื่ออำเภอตากใบยังเป็นส่วนหนึ่งของรัฐกลันตัน ในครั้งนั้นพระครูโอภาสพุทธคุณได้เดินทางมาถึงบริเวณดังกล่าว เห็นว่าพื้นที่เป็นป่ากว้างว่างเปล่าไม่มีผู้คนอาศัย ที่ดินติดริมแม่น้ำตากใบมีทิวทัศน์สวยงามและเหมาะสมต่อการสร้างวัด พระครูโอภาสพุทธคุณ (พุด) จึงขอที่ดินเพื่อสร้างวัดชลธาราสิงเหจากพระยากลันตันตุวันสนิปากแดง ซึ่งภายหลังได้รับบรรดาศักดิ์ป็นพระยาเดชานุชิตมหิศรายานุกูลวิบูลย์ภักดี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ พระครูโอภาสพุทธคุณ (พุด) ได้สร้างพระอุโบสถโดยมอบหมายให้พระไชยวัดเกาะสะท้อน  เป็นช่างก่อสร้างรวมทั้งเขียนจิตรกรรม มีพระธรรมวินัย (จุ้ย) และทิดมี ช่างชาวสงขลา ร่วมเขียนภาพในพระอุโบสถและกุฏิ พร้อมสร้างพระประธาน กำแพงแก้วล้อมพระอุโบสถ เมื่อสร้างเสร็จจึงขอพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ก่อนที่จะบูรณะปรับปรุงและก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมในเวลาต่อมา 
          วัดท่าพรุหรือวัดเจ๊ะเหแห่งนี้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นวัดชลธาราสิงเห อย่างที่เราเรียกกันในปัจจุบันเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ โดยขุนสมานธาตุวฤทธิ์ (เปลี่ยน กาญจนรัตน์) นายอำเภอตากใบ ซึ่งชื่อใหม่ของวัดมีความหมายว่าวัดริมน้ำที่สร้างด้วยภิกษุที่มีบุญฤทธิ์ประดุจราชสีห์ เนื่องจากวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำตากใบ อีกทั้งพระภิกษุผู้สร้างวัดคือพระครูโอภาสพุทธคุณ (พุด) เป็นพระที่ชาวบ้านนับถือศรัทธาและเป็นที่เกรงขามประดุจราชสีห์ 
จากประวัติที่เล่าไปแล้วความสำคัญจริงๆ ของวัดชลธาราสิงเหหรือวัดพิทักษ์แผ่นดินไทยนี้ คือเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์เพราะในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เมื่อสยามมีกรณีพิพาทกับสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) เรื่องการปักปันเขตแดนเพราะสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) รัฐบาลไทยอังกฤษได้ทําสนธิสัญญาที่เรียกว่า “สนธิสัญญาแลกเปลี่ยนสิทธิสภาพนอกอาณาเขต" เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ และในการทำสนธิสัญญาในครั้งนี้ทําให้ไทยต้องเสียดินแดนของไทย ๔ รัฐ ในแหลมมลายให้กับอังกฤษ (ปะลิส ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู) ในอดีตอำเภอตากใบเป็นส่วนหนึ่งของรัฐกลันตันการปักปันเขตแดนทำสนธิสัญญาในครั้งนั้นเลยถึงบ้านปลักเล็ก (เลยวัดชลธาราสิงเหเข้ามาทางฝั่งไทยประมาณ ๒๕ กิโลเมตร) พระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงหยิบยกเอาพุทธศาสนสถานโดยอ้างโบราณสถานวัดชลธาราสิงเห ซึ่งเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่าของไทยมาช้านาน หากอยู่ภายใต้การปกครองของมลายูซึ่้งนับถือศาสนาอิสลาม มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านั้นย่อมถูกทอดทิ้งหรือทําลายจนสูญสิ้นไป ดังนั้นจึงควรอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศไทยต่อไป ซึ่งรัฐบาลอังกฤษยอมรับเหตุผลในข้อนี้จึงเลื่อนการปักปันเขตแดนถอยลงไปทางใต้จนถึงแม่น้ำโกลก ทําให้พื้นที่แถบอําเภอตากใบ อําเภอสุไหงโกลกและอําเภอแว้งบางส่วน ที่เคยอยู่ในการปกครองของรัฐกลันตันไม่ต้องตกเป็นของอังกฤษ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของชื่อ ‘วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย’
            วัดชลธาราสิงเหได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๖ และได้รับการบูรณะปรับปรุง ซ่อมแซม และก่อสร้างอาคารเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยอาคารต่าง ๆ มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมภาคใต้ที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก คือการประดับลวดลายไม้ฉลุเรียกว่าลวดลายขนมปังขิง นอกจากนั้นยังมีภาพเทพชุมนุม ซึ่งภาพจิตรกรรมเหล่านี้ยังสามารถแสดงออกถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในอําเภอตากใบได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นรูปชาวจีนไว้ผมเปียที่กําลังหาบสินค้าออกขาย ภาพกองเกวียนคาราวานค้าขายสินค้าและภาพเรียแพชนิดต่าง ๆ เป็นต้น อีกทั้งวัดยังได้รับคัดเลือกเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างดีเด่นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๙) และได้รับพระราชทานเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญเป็นกรณีพิเศษตั้งแต่วันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ ๖ รอบ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ 
ในบริเวณวัดชลธาราสิงเห มีสิ่งก่อสร้างทางพุทธศาสนาศิลปะฝีมือแบบไทยปักษ์ใต้ เป็นจุดเด่นและงดงามหลายชิ้น อาทิ โบสถ์เก่าซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีภาพจิตรกรรมฝาผนังซึ่งเขียนโดยฝีมือพระภิกษุชาวสงขลาที่มีความงดงาม พร้อมทั้งถ่ายทอดรูปแบบวิถีชีวิตวัฒนธรรมความเป็น อยู่ของชาวใต้ไว้อย่างน่าสนใจ วัดชลธาราสิงเหตั้งอยู่บนเนินทรายระหว่างแม่น้ำตากใบกับพรุบางน้อย มีเนื้อที่ทั้่งหมด ๔๘ ไร่ ๑ งาน ๑๓ ตารางวา
            กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดชลธาราสิงเห (วัดพิทักษ์ แผ่นดินไทย) ในราชกิจจานุเบกษา (ฉบับพิเศษ) เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๑๓๖ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๑๘ หน้า ๒๑ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๑ ไร่ ๓ งาน ๑ ตารางวา กรมศิลปากรประกาศกําหนดเขตที่ดินโบราณสถานเพิ่มเติม ในราชกิจจานุเษกษา เล่ม ๑๑๙ ตอนพิเศษ ๑๑๗ ง วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ หน้า ๑๓ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๕๑ ไร่ ๑ งาน ๑๙ ตารางวา


ความสำคัญ

         วัดชลธาราสิงเหหรือวัดพิทักษ์แผ่นดินไทย สร้างขึ้นปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยวัดแห่งนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ เนื่องจากเป็นโบราณสถานที่รัฐบาลใช้เป็นเหตุผลอ้างอิงในการปักปันเขตแดนในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ที่มีผลให้ดินแดนแห่งนี้ไม่ต้องผนวกเป็นประเทศมาเลเซีย จึงได้รับสมญานามว่าวัดพิทักษ์แผ่นดินไทย วัดดังกล่าวนี้ยังเป็นศูนย์รวมความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวไทยในเขตอำเภอตากใบและใกล้เคียงรวมทั้งชาวมาเลเซียด้วย วัดชลธาราสิงเหนั้นมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์พรมแดนไทย-มาเลเซีย เนื่องจากเป็นสถานที่ที่รัฐบาลสยามใช้เป็นเหตุผลอ้างอิงในการปักปันเขตแดนในสมัย รัชกาลที่ ๕ ในเวลานั้นเมื่อแหลมมลายูได้ตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิบริติช จากสนธิสัญญาอังกฤษ–สยาม ปี พ.ศ. ๒๔๕๒ อังกฤษได้พยายามที่จะผนวกจังหวัดนราธิวาสให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพมาลายาด้วย ซึ่งอังกฤษได้อ้างการปักปันเขตแดนโดยใช้สันเขาและแม่น้ำเป็นแนวตามหลักสากล เข้ามาถึงบ้านปลักเล็กเลยจากวัดชลธาราสิงเห ๒๕ กิโลเมตร ซึ่งเส้นแบ่งเขตรัฐกลันตันกับประเทศไทยจะอยู่ที่ตำบลบ้านสะปอม ในเขตอำเภอเมืองและอำเภอตากใบในปัจจุบัน แต่ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัฐบาลสยามจึงถือยกเอาพระพุทธศาสนา วัดและศิลปะในวัดเป็นเครื่องต่อรองการแบ่งปันเขตแดน โดยให้เหตุผลว่าวัดชลธาราสิงเหเป็นวัดไทยที่มีความสำคัญ เป็นมรดกทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอตากใบมีอาคารสถานที่และถาวรวัตถุเป็นแบบไทย ประชาชนนับถือศาสนาพุทธเป็นเวลาช้านาน ประกอบกับท้องที่อำเภอตากใบมีวัด ชาวพุทธอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงควรไม่รวมพื้นที่เหล่านี้ไปในเขตรัฐกลันตันที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม สุดท้ายอังกฤษยอมจำนนต่อเหตุผลและยอมรับให้เป็นจังหวัดนราธิวาสในประเทศไทยต่อไป ฝ่ายอังกฤษจึงยอมเลื่อนการปักปันเขตแดนถอยลงไปทางใต้จนถึงลำน้ำแม่น้ำโก-ลก ทำให้พื้นที่ทางตอนเหนือแม่น้ำตากใบของจังหวัดนราธิวาสอยู่ในการปกครองของราชอาณาจักรไทยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีผลให้ ๔ อำเภอชายแดนไทยคืออำเภอตากใบ อำเภอแว้ง อำเภอสุไหงปาดี และอำเภอสุไหงโก-ลก ไม่ต้องผนวกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซีย วัดชลธาราสิงเหจึงเป็นที่รู้จักในอีกนามหนึ่งว่า "วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย"
             
นอกจากนั้นวัดชลธาราสิงเห ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และเป็นพื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำจากป่าชายเลนที่ปลูกริมชายฝั่งแม่น้ำของบริเวณวัด และเนื่องด้วยวัดชลธาราสิงเห ติดต่อกับแม่น้ำตากใบทำให้มีสภาพแวดล้อมและธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่ง และเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์วิถีชีวิตดั้งเดิมของภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย วัดชลธาราสิงเหจึงถือเป็นวัดที่มีความสำคัญอันทรงคุณค่าและเป็นศูนย์กลางด้านภูมิทัศน์วัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมท้องถิ่น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกวัดชลธาราสิงเห ขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ เป็นกรณีพิเศษ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

          โบราณสถานภายในวัดที่สําคัญคือพระอุโบสถที่มีจิตรกรรมฝาผนัง เป็นภาพที่เขียนภาพพุทธประวัติที่สวยงามมาก เล่ากันว่าเป็นฝีมือของพระไชย พระจัน และทิดมี ช่วยกันเขียนขึ้นหลังจากสร้างอุโบสถเสร็จใหม่ ๆ

พระอุโบสถ

             พระอุโบสถของวัดวัดชลธาราสิงเห หลังนี้ปัจจุบันนี้ไม่ใช่หลังแรกของวัด เพราะแต่ดั้งแต่เดิมเคยมีโบสถ์น้ำที่ตั้งอยู่กลางแม่น้ำมาก่อน สำหรับพระอุโบสถหลังนี้  สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางของวัดหันหน้าไปทางแม่น้ําตากใบ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วหันหน้าไปทางแม่น้ำตากใบ พระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมบรัตนโกสินทร์สร้างเป็นอาคารทรงไทย โครงสร้างก่ออิฐถือปูนหลังคามุงกระเบื้องดินเผา หลังคาเป็นชั้นซ้อนทางด้านหน้ามีหลังคาซ้อน ๓ ชั้น โดยแบ่งฝาผนังในแนวตั้งเป็น ๔ ช่องเสา ในแต่ละช่องเสายังแบ่งออกเป็น ๓ ช่วง คือบน กลาง ล่าง ตอนบนสุดเป็นวิทยาธรต่อมาเป็นเทพชุมนุม ๑ ชั้น นั่งประณมหัตถ์ถือดอกไม้ถัดลงมาเป็นช่องสี่เหลี่ยมซ้อนกัน ๒ ชั้น   มีชายคาปีกนกลดหลั่นกันลงมา ๓ ชั้น มีเสานางเรียงสี่เหลี่ยมไม่มีบัวหัวเสารับเชิงชายเครื่องบน ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันประดับด้วยปูนปั้นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ มีเทวดาคู่หนึ่งถือป้ายที่มีตัวเลข ๒๔๑๖ (ปีที่สร้าง) ประตูและหน้าต่างก่อเป็นซุ้มมงกุฎ มีกําแพงแก้วและใบเสมาล้อมรอบจํานวน ๘ ซุ้ม มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบัน ประดับลวดลายปูนปั้นเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ขนาด ๔ ห้อง รวมมุขด้านหน้าและด้านหลังเป็น ๖ ห้อง หลังคาทรงจั่วมีขั้นลดที่ด้านหน้าและด้านหลัง ด้านละ ๒ ชั้น ตับหลังคาปีกนกด้านละ ๒ ตับ ตัวอาคารมีเสาฝังในผนังด้านละ ๓ ต้น มีลานประทักษิณ รอบอุโบสถมีเสารายรอบรับเชิงชายปีกนก มีประตูทางเข้าด้านหน้า ๓ ประตู ด้านหลัง ๓ ประตู ด้านข้างมีหน้าต่าง ๔ บาน เพดานรองรับความยาวของอุโบสถ ๒ ต้น ขวาง ๓ ต้น ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานเป็นรูปปางมารวิชัยภายในซุ้มเรือนแก้วพระประธานลงรักปิดทองตั้งบนฐานชุกชีสูงเป็นฐานปูนปั้นประดับพระจก มีลานประทักษินรอบกำแพงแก้วมีซุ้มประตู ใบเสมาปูนปั้นตั้งอยู่ในซุ้ม
          นอกจากนี้ยังปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยลักษณะจิตรกรรมเป็นสีฝุ่น เขียนโดยพระภิกษุชาวสงขลา ลายเทพชุมนุม ภาพชีวิตความเป็นอยู่ในอดีตไตรภูมิ และลำดับภาพพุทธประวัติเขียนเริ่มตั้งแต่ตอนลาพระนางยโสธราและราหุลแล้วเรียงลำดับเรื่อง จนถึงตอนประทับรอยพระพุทธบาทด้านหน้าพระประธานมีภาพตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ เป็นภาพขนาดใหญ่ผนังด้านล่างเป็นพื้นที่ว่างมีแต่ภาพมณฑปเหนือเศียรพระ เพดานเขียนลายบนพื้นแดง เริ่มจากมุมด้านทิศใต้มาทางทิศตะวันออก


 

พระเจดีย์

 


ภาพจาก : https://www.gowentgonetrip.com//วัดชลธาราสิงเห-นราธิวาส/

         พระเจดีย์นี้เป็นเจดีย์ประธานของวัดชลธาราสิงเห ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของวัด สร้างราวปี พ.ศ. ๒๔๕๖ สร้างเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงลังกา สร้างโดยก่ออิฐถือปูนบนฐานสี่เหลี่ยมทรงสูง และกว้างแบบฐานประทักษิณ ซึ่งเป็นลานรอบเจดีย์มีพนักกั้น ด้านขอบ องค์ระฆังค่อนข้างสูง ต่อจากคอระฆังขึ้นไปเป็นบัลลังก์แล้วซึ่งเป็นก้านฉัตร ไม่มีเสาคานรองรับ และเป็นแผ่นปล้องไฉนลดหลันขึ้นไปเป็นรูปกรวยจนถึงปลี่ยอดที่มีลูกแก้วอยู่ตรงปลาย เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆังบนฐานสี่เหลี่ยม ขนาด ๔.๕๕ เมตร ยาว ๕.๕๐ เมตร ทรงฐานสูงมีลานประทักษิณรอบเจดีย์ มีพนักกั้นเป็นขอบลายประทักษิณ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยครูจันทร์เป็นเจ้าอาวาส (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๕๖-๒๔๖๒) แต่สร้างไม่เสร็จ จากนั้นมาสร้างอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ จนแล้วเสร็จ

วิหารพระพุทธไสยาสน์


พระพุทธไสยาสน์ประดับลวดลายองค์พระด้วยถ้วยชามกระเบื้องยุคเก่า สวยงามแปลกตา

       วิหารพระพุทธไสยาสน์ตั้งอยู่บริเวณหน้าเจดีย์บริเวณฐานเจดีย์ทางด้านทิศใต้ เป็นวิหารคลุมพระไสยาสน์มีขนาดกว้าง ๕.๙๐ เมตร ยาว ๙.๙๐ เมตร สร้างโดยพระครูสิทธิสารวิหารวัตรเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔  ภายหลังจากที่สร้างเจดีย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ แบบปูนปั้น ต้นพระเศียรไปด้านทิศใต้ พระพักตร์ลงรักปิดทอง มีขนาดความยาว ๗.๔๐ เมตร ความกว้าง ๒ เมตร ที่พื้นหลังพระกรมีอักษรจารึกว่า “พระครู สิทธิสาร วิหาร... พ.ศ. ๒๔๘๔ ม... รัตน พริขวัต” บริเวณฐานและฝาผนังประดับด้วยเครื่องถ้วยยุโรป จีน และญี่ปุ่น มีฝาผนังทั้งสี่ด้านมีประตูทางเข้าทางทิศตะวันตก (สันนิษฐานว่าอาคารโถงน่าจะเป็นการต่อเติมในสมัยหลัง) องค์พระพุทธไสยาสน์เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นประดับด้วยกระจกสีทองโดยประทับอยู่บนนาค ประดิษฐานอยู่ในคูหาที่ประดับด้วยเครื่องถ้วยยุโรป จีน และ ญี่ปุ่นศาลาธรรม เป็นสถาปัตยกรรมศิลปะภาคใต้และผสมอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมจีน มีการตกแต่งด้วยใบระกา หางหงส์และปูนปั้น

 พลับพลาที่ประทับ    

         พลับพลาที่ประทับในรัชกาลที่ ๖ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จประพาสวัดชลธาราสิงเห และทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพลับพลาริมแม่น้ำตากใบเป็นที่ประทับ เพื่อสำหรับทอดพระเนตรการแข่งเรือยาวในอดีต ซึ่งปัจจุบันยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ เป็นพื้นที่ริมแม่น้ำสำหรับนักท่องเที่ยว โดยสามารถชมทัศนียภาพรอบของแม่น้ำตากใบ และยังสามารถมองเห็นเกาะยาวของจังหวัดนราธิวาสได้


 ภาพศาลาริมน้ำหลังเก่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เคยเสด็จมาประทับ ณ อาคารหลังนี้ เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๘ เพื่อทอดพระเนตรการแข่งขันเรือ

หอระฆัง (หอกลอง)

        หอระฆัง (หอกลอง) ภายในวัดชลธาราสิงเห มีอยู่ ๒ หลังสำหรับหอระฆังทางด้านตะวันออกของกุฏิเจ้าอาวาส มีลักษณะเป็นหอระฆัง ๓ ชั้น มีหลังคาทรงมณฑป ฝาผนังหอระฆังชั้นบนเป็นฝาไม้ มีช่องหน้าต่างขนาดเล็ก มีลวดลายประดับคล้ายฝาผนังกุฏิเจ้าอาวาส ภายในหอระฆังมีระฆัง ๒ ใบ มีจารึกปีที่สร้างใบที่หนึ่งสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ส่วนใบที่ ๒ สร้างปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ส่วนอีกหลังคือหอระฆังจตุรมุข เดิมใช้เป็นหอไตรกลางน้ำ ตั้งอยู่ทางหมู่กุฏิสิทธิสารประดิษฐ์ ลักษณะเป็นอาคารสูง ๒ ชั้น ยอดมณฑปประดับซอฟ้า หางหงส์ มุงด้วยกระเบื้องดินเผา  

กุฏิอดีตเจ้าอาวาส

          กุฏิอดีตเจ้าอาวาส สร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๗๕ โครงสร้างเป็นอาคาร ไม้ ๒ ชั้นยกพื้นสูง หลังคาเป็นทรงปั้นหยาซ้อนชั้นบน ๒ ชั้น เดิมมุงกระเบื้องดินเผา ลดลงมามีฝาไม้กั้นโดยรอบแล้วเป็นหลังคาอีกชั้นที่ยื่นออกโดยรอบ เฉพาะด้านหน้า ทําเป็นมุข ๓ มุข ระหว่างมุขกลางกับมุขซ้าย-ขวา ทําเป็นซุ้มและบันไดขึ้นแคบ ๆ ขึ้นไปเป็นชานก่ออิฐฉาบปูน ทางซ้ายเป็นชานและบ่อน้ำ ซุ้มประตูระหว่างมุขทําเป็น หลังคาซ้อนกัน ๓ ชั้น คล้ายยอดซุ้มมงกุฎ หน้าบันของกุฏิปรากฏจิตรกรรมรูปครุฑ ยุดนาค ภายในกุฏิมีภาพจิตรกรรมบนเพดานเป็นรูปพระอาทิตย์ทรงราชรถเทียมสิงห์ พระจันทร์ทรงราชรถเทียมม้าและดวงดารา โดยมีพื้นหลังเป็นภาพนก ผีเสื้อ หงส์และลายดอกไม้ร่วง

 


ปูชนียวัตถุ

พ่อท่านใหญ่

        พ่อท่านใหญ่เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยปิดทองทั้งองค์ มีขนาดหน้าตัก กว้าง ๑.๕๐,มตร สูง ๑.๗๐ เป็นศิลกรรมแบบพระมอญ ประดิษฐานอยู่บนบุษบกทรงสอบสูง ๑.๕ เมตร จากลักษณะบุษบกสันนิษฐานว่าเป็นพระมอญตามผนังประดับด้วยเครื่องถ้วยสังคโลกจากประเทศจีน เป็นพระพุทธปฏิมาประธานในพระอุโบสถสร้างเมื่อพ.ศ. ๒๔๑๖ พร้อมกับพระอุโบสถ 

ภาพจิตรกรรม

        ภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนเล่าเรื่องพุทธประวัติ โดยแบ่งเรื่องราวเป็นตอนตามจังหวะช่วงเสา ด้านละ ๔ ช่วง แต่ละช่วงแบ่งออกเป็น ๓ ช่อง ช่องบนสุดเขียนเป็นเทพชุมนุมและอสูร มีเส้นคดกริชคั่นช่องกลางและช่องล่าง ตามเรื่องราวพุทธประวัติ การเขียนภาพแต่ละตอนแต่ละช่วงจะมีกรอบรูปเป็นลายเครือเถา มีรูปกระหนกเป็นองค์ประกอบ ภาพทุกภาพ เสาทุกต้นเขียนกระหนกลวดลายเล่นสีต่างกัน การใช้เส้นใช้สีและจัดองค์ประกอบต่าง ๆ จะเป็นลักษณะภาพเขียนไทยแบบเก่าที่มีลักษณะเด่นและมีความงดงาม นอกจากนี้ยังมีภาพจิตรกรรมภายในกุฏิเจ้าอาวาสเรื่องการนมัสการพระธาตุจุฬามณี ลักษณะที่เด่นเป็นพิเศษของภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังวัดชลธาราสิงเห คือการที่จิตรกรได้นําเอาวิถีชีวิตของชาวบ้านท้องถิ่นของภาคใต้ มาสอดแทรกเป็นองค์ประกอบของภาพเขียนในแต่ละตอน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคใต้ในวิถีชีวิตตามแง่มุมต่าง ๆ จากศิลปะการเขียนที่ประณีตสวยงามนี้ทําให้จิตรกรรมฝาผนังวัดนี้เป็นหนึ่งในภาาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่โดดเด่นแห่งหนึ่งของภาคใต้

          จิตรกรรมฝาผนังของวัดชลธาราชิงเห มีลวดลายที่สวยงามอันแสดงถึงความประณีตของช่างฝีมือภิกษุชาวสงขลา เป็นจิตรกรรมที่ควรแก่การดูแลรักษาและอนุรักษ์ไว้ให้อยู่คู่แผนดินสืบต่อไป


ปูชนียบุคคล

        วัดชลธาราสิงเห หรือวัดพิทักษ์แผ่นดินไทย สร้างขึ้นปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ในสมัยดินแดนตากใบยังเป็นรัฐกลันตัน โดยวัดแห่งนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติเนื่องจากเป็นโบราณสถานที่รัฐบาลใช้เป็นเหตุผลอ้างอิงในการปักปันเขตแดนในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ที่มีผลให้ดินแดนแห่งนี้ไม่ต้องผนวกเป็นประเทศมาเลเซีย จึงได้รับสมญานามว่าวัดพิทักษ์แผ่นดินไทย วัดดังกล่าวยังเป็นศูนย์รวมความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวไทย ในเขตอำเภอตากใบและใกล้เคียงรวมทั้งชาวมาเลเซีย ปัจจุบันมีพระครูโอภาสชลธาร (วีระ ฐิติโก) เป็นเจ้าอาวาส

                                                                                            ลําดับเจ้าอาวาสปกครองวัดจากอดีต-ปัจจุบัน

พระครูโอภาสพุทธคุณ (พูด) พ.ศ. ๒๔๐๓-๒๔๔๙
พระครูนราเขตสังฆกิจ (ศรีทอง) พ.ศ. ๒๔๕๑-๒๔๕๕
พระครูจันทร์ (จันทร์) พ.ศ. ๒๔๕๖-๒๔๖๒
พระครูพินิจสมณการ (เสาร์ พ.ศ. ๒๔๖๓-๒๔๗๕
พระครูชลธาสุมน (เสาร์) พ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๘๓
พระครูสิทธิสารวิหารวัตร์ (เงิน) พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๕๐๒
พระครูวิมลสถาปนกิจ (คง) พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๐๖
พระครูนิพัทกาลัญญู (แบน) พ.ศ. ๒๕๐๗-๒๕๒๕
พระไพศาลประชานารถ (พ่อท่านยิ้ม ฐานวโร) พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๕๑
พระครูโอภาสชลธาร (วีระ ฐิติโก) พ.ศ. ๒๕๕๑-ปัจจุบัน

พระไพศาลประชานารถ

ภาพจาก : https://www.khaosod.co.th/newspaper-column/amulets/news_1405801

         พระไพศาลประชานารถ  (พ่อท่านยิ้ม ฐานวโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดชลธาราสิงเห พระเกจิอาจารย์ชื่อดังรูปหนึ่งของภาคใต้ ที่ชาวภาคใต้ให้ความเคารพและเลื่อมใสศรัทธา ท่านเกิดในตระกูลดงมั่น เมื่อวันที่ ๓ ธ.ค. ๒๔๗๓ ที่บ้านเจ๊ะเห ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ในวัยเยาว์ท่านได้เข้าเรียนเขียนอ่านที่โรงเรียนวัดชลธาราสิงเห จนจบชั้นประถมปีที่ ๔ อันเป็นชั้นสูงสุดในยุคนั้น ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ ๑๒ ก.ค. ๒๔๙๔  ได้อุปสมบทที่วัดชลธาราสิงเห ได้รับฉายาว่าฐานวโร หลังจากอุปสมบทแล้วท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัยจนจนนักธรรมชั้นเอก 

งานปกครองคณะสงฆ์
           - พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นเจ้าคณะตำบลเจ๊ะเห
           - พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นพระอุปัชฌาย์
           - พ.ศ. ๒๕๒๗  เป็นเจ้าคณะอำเภอตากใบ
           - 
พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นเจ้าอาวาสวัดชลธาราสิงเห พระอารามหลวง

สมณศักดิ์
           - พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นพระครูปัจจันตเขตคณารักษ์
           - พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นเจ้าคณะอำเภอชั้นโท
           - พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก
           - พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นเจ้าคณะอำเภอชั้นพิเศษ
           - พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระไพศาลประชานารถ

มรณะภาพ
            
พระไพศาลประชานารถ  (พ่อท่านยิ้ม ฐานวโร) ได้มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๒๔ มี.ค. ๒๕๕๑  สิริอายุได้ ๗๘ ปี พรรษา ๕๗

พระครูโอภาสชลธาร (วีระ ฐิติโก)

          พระครูโอภาสชลธาร (วีระ ฐิติโก) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน (๒๕๖๔) ชื่อเดิมวีระ นามสกุลอินทอง เกิดวันศุกร์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ปีระกา ตรงกับวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ บิดาชื่อเล็ก อินทอง มารดาชื่อตา อินทอง เกิดที่บ้านเลขที่ ๓๖ หมู่ที่ ๘ ตําบลละหาร อําเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส อุปสมบทเมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๓ ณ วัดโคกมะม่วง อําเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยมีพระอุปัชฌาย์คือพระครูปัจจันตเขตคณารักษ์ เจ้าอาวาสวัดชลธาราสิงเห ตําบลเจะเห อําเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส พระกรรมวาจาจารย์พระนพ จนฺทโชโต พระอนุสาวนาจารย์พระปลัดนุ้ย อิสฺสโร วัดพระพุทธ ตําบลพร่อน อําเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

วิทยฐานะ
              - พ.ศ. ๒๕๑๑ สําเร็จชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนบ้านทุ่งคา ตําบลละหาร อําเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส 
              - พ.ศ. ๒๕๓๕ สอบได้นักธรรมชั้นเอก สํานักเรียนวัดชลธาราสิงเห ตําบลเจ๊ะเห อําเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

สมณศักดิ์
              - พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับฐานานุกรมที่พระปลัด ฐานานุกรม พระครูปัจจันตเขตคณารักษ์
              - พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูโอภาสชลธาร ตําแหน่ง ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นโท 
              - พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้รับพระราชทานปรับพัดยศให้ตรงกับตําแหน่งเป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นตรี ราชทินนามเดิม

งานด้านการปกครอง
              - พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๕๑ เป็นเลขานุการเจ้าคณะอําเภอตากใบ 
              - พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง 
              -  พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวง

งานศึกษา
              - พ.ศ. ๒๕๕๒ ดํารงตําแหน่งเจ้าสํานักเรียนวัดชลธาราสิงเห พระอารามหลวง 
              - พ.ศ. ๒๕๕๕-ปัจจุบัน เป็นกรรมการกํากับห้องสอบนักธรรมและธรรมศึกษาสนามสอบอําเภอตากใบ

งานเผยแผ่
             ๑. เป็นพระธรรมทูตเฉพาะกิจวัดชลธาราสิงเห พระอารามหลวง
             
๒. มีการทําพิธีวันมาฆบูชา เป็นประจําทุกปีมีผู้ร่วมกิจกรรมประมาณ ๒๐๐ คน
             
๓. มีการทําพิธีวันวิสาขบูชาเป็นประจําทุกปี มีผู้ร่วมกิจกรรมประมาณ ๓๐๐ คน 
             
๔. มีการทําพิธีวันอาสาฬหบูชาเป็นประจําทุกปี มีผู้ร่วมกิจกรรมประมาณ ๒๕๐ คน
             
๕. มีการทําพิธีวันเข้าพรรษา-ออกพรรษาเป็นประจําทุกปี มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ประมาณ ๒๐๐ คน
             
๖. มีการบรรยายธรรมทุกวันพระ มีผู้ร่วมฟังธรรมประมาณ ๖๐ คน
             
๗. มีผู้รับศีลฟังธรรมตลอดปี
             ๘. มีผู้มาทําบุญที่วัดเป็นประจํา ๖๐ คน

งานสาธารณูปการ
             ๑. งานก่อสร้างถาวรวัตถุภายในวัด
                   - พ.ศ. ๒๕๕๕ ดําเนินการก่อสร้างฌาปนสถานปลอดมลพิษ กว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๐ เมตร สร้างเสร็จสมบูรณ์ด้วยเงินจํานวน ๒,๓๔๕,๒๐๐ 
บาท 
                   
- พ.ศ. ๒๕๕๖ ดําเนินการปรับภูมิทัศน์ริมคลองของวัด แล้วเสร็จสมบูรณ์ด้วยเงินจํานวน ๙,๕๖๔,๓๐๐ บาท 
                   
- พ.ศ. ๒๕๕๗ ดําเนินการก่อสร้างลานจอดรถ ๓ จุดคอนกรีตเสริมเหล็กสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ด้วยเงินจํานวน ๓,๕๕๒,๓๖๐ บาท 
            ๒. งานบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุภายในวัด 
                   - พ.ศ. ๒๕๕๕ บูรณะพระอุโบสถ ลักษณะทรงไทยใช้ คอนกรีตผสม กว้าง ๙ เมตร ยาว ๑๒ เมตร แล้วเสรีจสมบูรณ์ด้วยเงินจํานวน ๑,๒๒๗,๖๐๐ บาท 
                   - พ.ศ. ๒๕๕๖ บูรณะกุฏิอดีตเจ้าอาวาส (อาคารอนุรักษ์) ลักษณะทรงไทยปั้นหยา กว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๒๐ เมตร บูรณะแล้วเสร็จสมบูรณ์ ด้วยเงินจํานวน ๒,๓๒๕,๐๐๐ บาท - พ.ศ. ๒๕๕๗ บูรณะกุฏิเจ้าอาวาส อาคารไม้ทรงไทยท้องถิ่นภาคได้ กว้าง ๒๒ เมตร ยาว ๒๑ เมตร บูรณะแล้วเสร็จสมบูรณ์ด้วยเงินจํานวน ๒,๓๔๖,๔๐๐ บาท

งานศึกษาสงเคราะห์
            ๑. งานตั้งทุนการศึกษา 
                 - พ.ศ. ๒๕๔๘ ดําเนินกิจการตั้งกองทุนสงเคราะห์นักเรียนชั้นประถมศึกษาวัดกําแพง เป็นจํานวนเงิน ๕,๐๐๐ บาท
            ๒. งานเพิ่มทุนการศึกษา 
                 - พ.ศ. ๒๕๕๗ ได้เพิ่มทุนการศึกษาสงเคราะห์นักเรียนชั้นประถมศึกษา
                 - วัดกําแพง เป็นจํานวนเงิน ๕,๒๐๐ บาท
            ๓. งานมอบทุนการศึกษา 
                 - พ.ศ. ๒๕๕๗ มอบทุนสงเคราะห์นักเรียน ระดับประถมศึกษา จํานวน ๑๐ ทุน ๆ ละ ๑,๐๐๐ บาท


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดชลธาราสิงเห (Chontara Singhe Temple)
ที่อยู่
บ้านท่าพรุ หมู่ที่ ๓ ตําบลเจ๊ะเห อําเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
จังหวัด
นราธิวาส
ละติจูด
6.262404
ลองจิจูด
102.050316



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

พ่อท่านยิ้ม ฐานวโร วัดชลธาราสิงเห. (2561). สืบค้นวันที่ 9 มี.ค. 64, จาก https://www.khaosod.co.th/newspaper-column/amulets/news_1405801
ภาสกร สุพรรณพันธุ์ ... และคนอื่น ๆ. (2543). นราธิวาส : NARATHIWAT Thailand. นราธิวาส : สำนักงานจังหวัดนราธิวาส.
วิกีพีเดียสารานุกรมเสรี. (2564). วัดชลธาราสิงเห. สืบค้นวันที่ 9 มี.ค. 64, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/วัดชลธาราสิงเห
สถานที่สำคัญ ที่ช่วยให้สยามไม่เสียดินแดน วัดชลธาราสิงเห (วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย) จ. นราธิวาส. (2563).
               สืบวันที่ 9  มี.ค.64, จาก https://www.gowentgonetrip.com//วัดชลธาราสิงเห-นราธิวาส/

 


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024