วัดชัยมงคล (Wat Chaimongkol)
 
Back    06/03/2018, 10:11    12,572  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา

        วัดชัยมงคลเป็นวัดที่เก่าแก่มีพระบรมธาตุที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพบูชาของชาวจังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียง จะสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่จากคำบอกเล่าของคนรุ่นก่อน ๆ และจากคุณคณิศร แสงรัตน์ (อดีตพระครูประภัสสรวินัยกิจ อดีตเจ้าอาวาสวัดชัยมงคล) ซึ่งเล่าว่าได้ฟังประวัติวัดชัยมงคลจากพระครูพินิจสมณการ (อดีตเจ้าคณะจังหวัดนราธิวาส) ซึ่งท่านเจอเมื่อครั้งเดินทางไปจังหวัดนราธิวาส ขณะนั้นพระครูพินิจสมณการ อายุได้ 83 ปีแล้ว ท่าน พระครูพินิจสมณการ เล่าว่าเพราะเมื่อครั้งที่ท่านยังเป็นเด็กอายุได้ ๑๓ ปี ได้ถวายตัวเป็นศิษย์เรียนอักขระจากพระอาจารย์ชัย ในครั้งที่อาจารย์ชัยกลับจากสงขลาไปอยู่ที่กลันตัน ((สมัยกลันตันยังเป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรไทย ปัจจุบันคือประเทศมาเลเซีย) และได้ทราบประวัติของวัดชัยมงคลว่า วัดนี้สร้างขึ้นมาพร้อมกับวัดเพชรมงคล (ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของวัดชัยมงคล ไม่ไกลจากวัดชัยมงคลมากนัก (อยู่ในเขตตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา เช่นเดียวกัน) โดยพระอาจารย์ชัยเป็นผู้สร้างวัดชัยมงคล  และพระอาจารย์เพชรเป็นผู้สร้างวัดเพชรมงคล พระภิกษุทั้ง ๒ รูปนี้เป็นสหธรรมิกสนิทกันและก็เป็นชาวกลันตันด้วยกัน แต่จะสร้างขึ้นเมื่อใดนั้นไม่ปรากฏแน่ชัด แต่ก็น่าจะราวปี พ.ศ. ๒๓๙๔ ราว ๆ ปลายสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔ ) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดชัยมงคล เดิมนั้นมีชื่อว่า “วัดโคกเสม็ด” เพราะตั้งอยู่บนเนินทรายที่มีต้นเสม็ดอยู่จำนวนมาก ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดชัยมงคล” 
       เอกสารประวัติวัดชัยมงคลได้กล่าวถึง ประวัติการสร้างพระเจดีย์หรือพระบรมธาตุวัดชัยมงคล ซึ่งบอกไว้ว่าอ้างมาจาก “หนังสือประวัติพระบรมธาตุ” แต่งโดยคุณหมออิ่ม ศิษย์ของอาจารย์นะ ติสสโร โดยกล่าวว่า พระภิกษุชื่อนะ ฉายา ติสสโร ท่านแตกฉานทางภาษาบาลี สามารถพูดภาษาบาลีได้ และมีศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อพระพุทธศาสนา ได้เดินทางไปยังประเทศศรีลังกา เพื่อแสวงหาพระบรมสารีริกธาตุ เพราะมีความปรารถนาที่จะได้พระบรมสารีริกธาตุมาไว้เป็นที่สักการบูชาของชาวเมืองสงขลา ท่านได้ออกเดินทางโดยเรือกลไฟใช้เวลา ๑๕ วัน ๑๕ คืน จึงถึงประเทศลังกา ท่านได้ไปพักอาศัยอยู่กับสมเด็จพระสังฆราชวัดถูปาราม ตลอดเวลา ๓ เดือน ที่อยู่ที่ประเทศลังกา ท่านถือโอกาสไปนมัสการปูชนียสถานทั่วประเทศ และท่านได้ทราบจากสมเด็จพระสังฆราชวัดถูปารามว่า ที่บ้านเศรษฐีผู้ใจบุญท่านหนึ่งมีพระธาตุอยู่หลายผอบหากท่านไปแจ้งความประสงค์ต่อเศรษฐีผู้นั้นเขาคงให้ เพราะนอกจากเศรษฐีผู้มีจิตศรัทธาในพุทธศาสนาแล้วก็ยังนับถือท่านอาจารย์นะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ท่านจึงไปยังบ้านของเศรษฐีผู้นั้น แจ้งความประสงค์ให้ทราบถึงการมาของท่าน เศรษฐีมีจิตศรัทธาท่านนั้นจึงได้ถวายพระบรมสารีริกธาตุแด่ท่านก่อนกลับท่านเศรษฐีผู้ใจบุญท่านนั้นได้กล่าวว่า ขอพระคุณเจ้าจงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปเมืองไทยเถอะพระบรมสารีริกธาตุปรารถนาจะเสด็จไปกับท่านแล้ว พร้อมกับขอร้องว่าเมื่อท่านกลับไปถึงเมืองไทยแล้ว ขอให้สร้างพรสถูปเจดีย์เป็นแบบถูปารามสำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพราะพระบรมสารีริกธาตุนี้ได้มากจากพระเจดีย์ถูปาราม เมื่อครั้งทำการปฏิสังขรณ์ใหม่พร้อมกับมอบภาพพระเจดีย์ถูปารามให้มาด้วยและบอกว่าให้สร้างพระพุทธไสยาสน์ไว้ทางทิศตะวันตกของพระเจดีย์ด้วย เมื่อท่านอาจารย์นะได้พระบรมสารีริกธาตุสมควรตั้งใจแล้ว ได้กราบลาสมเด็จพระสังฆราช และลาท่านเศรษฐีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพร้อม ด้วยต้นโพธิ์ทอง ๓ ต้น เดินทางกลับประเทศไทยโดยท่านเศรษฐีฝากให้โดยสารมากับเรือสินค้าของชาวฝรั่งเศส เรือมาแวะขนถ่าย สินค้าที่เมืองท่าสิงคโปร์เป็นเวลาหลายวัน พอดีอาจารย์นะได้พบกับพ่อค้าคนจีนซึ่งไปติดต่อซื้อสินค้าจากเรือ ที่ท่านโดยสารมาสอบถามได้ความว่าชื่อเส้งเป็นจีนฮกเกี้ยน พักอยู่ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช อาจารย์นะจึงได้ขอโดยสารเรือมาขึ้นที่เมืองสงขลาถึงเมืองสงขลาเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๗ และขึ้นจากเรือถึงวัดชัยมงคลตอนบ่ายของวันเดียวกัน ประชาชนชาวเมืองสงขลาทราบข่าวการกลับมาของอาจารย์นะ พร้อมกับนำพระบรมสารีริกธาตุมาด้วยต่างก็พากันหลั่งไหลเข้าสู่วัดชัยมงคลอย่างล้นหลาม เพื่อบูชานมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ท่านอาจารย์นะได้มีการจัดงามสมโภชพระบรมสารีริกธาตุขึ้นเป็นเวลา ๗ วัน  ๗ คืน พอเสร็จงานสมโภชแล้วท่านก็ได้ชักชวนพุทธศาสนิกชนทั้งหลายช่วยกันทำการก่อสร้างพระสถูปเจดีย์สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเป็นทรงลังกาแบบถูปารามตามคำท่านเศรษฐีสั่งทุกประการ และได้ทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันวิสาขบูชา ปีมะเมีย ตรงกับวันที่  ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๙ 
         วัดชัยมงคล เป็นพระอารามหลวง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๓ งาน ๔๔ ตารางวา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๐๘ ต่อมาอุโบสถที่สร้างมาช้านานได้ชำรุด และคับแคบไม่สะดวกต่อการประกอบสังฆกรรม จึงได้จัดสร้างอุโบสถขึ้นใหม่ และขยายเขตกว้างยาวออกไปกว่าเดิม และได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่ ได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๔ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร ทำพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อ วันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๔


ความสำคัญ

       วัดชัยมงคลเป็นวัดที่เก่าแก่และสำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ที่ถนนชัยมงคล ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ในสมัยพระอาจารย์ศรีเป็นเจ้าอาวาส วัดชัยมงคลมีความเจริญรุ่งเรืองมากทั้งด้านศาสนวัตถุและศาสนบุคคล และสมัยที่พระมหาแฉล้ม เขมปญฺโญ เป็นเจ้าอาวาส ได้ทำเรื่องเสนอคณะสงฆ์และบ้านเมืองเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสถาปนาวัดขึ้นเป็นพระอารามหลวง ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่นร. ๐๒๔๐/๗๘๔๖ ลงวันที่ ๖  มิถุนายน พ.ศ.  ๑๕๑๘ กระทรวงศึกษาธิการ ออกประกาศ ลงวันที่  ๒๖  มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๘ 

ภาพสืบค้นจาก : http://www.bloggertrip.com/chaimongkhontemple/


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

เจดีย์พระบรมธาตุ

ภาพสืบคืนจาก : http://www.bloggertrip.com/chaimongkhontemple/

        โบราณสถานภายในวัดชัยมงคลที่สำคัญคือพระสถูปเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเป็นทรงลังกา ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง เจดีย์พระบรมธาตุประดิษฐานอยู่ถัดจากพระอุโบสถ เจดีย์พระบรมธาตุเกิดจากที่อาจารย์นะ ติสสโร มีความศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะได้พระบรมสารีริกธาตุมาไว้เป็นที่สักการะบูชาของชาวเมืองสงขลา ท่นจึงได้เดินทางไปถึงประเทศลังกาเพื่อแสวงหาพระบรมสารีริกธาตุ ท่านได้ทราบจากสมเด็จพระสังฆราชวัดถูปารามว่า ที่บ้านเศรษฐีที่มีจิตศรัทธาท่านหนึ่งมีพระธาตุอยู่หลายผอบ อาจารย์นะทราบข่าวก็ดีใจรีบไปหาเศรษฐีผู้นั้น แจ้งความประสงค์ให้ทราบว่าการมาประเทศลังกาครั้งนี้ นอกจากมานมัสการปูชนียสถานแล้ว ยังมีความประสงค์ที่สำคัญมาก คือเพื่อต้องการแสวงหาพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้เป็นที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชน ที่เมืองไทยท่านเศรษฐีได้ฟังดังนั้นก็แจ้งว่าพระธาตุของตนนั้นมีอยู่ ๔ ผอบ คือพระบรมสารีริกธาตุ ๑ ผอบ พระธาตุพระโคคัลลานะ ๑ ผอบ พระธาตุพระสารีบุตร ๑ ผอบ และพระธาตุพระอานนท์ ๑ ผอบ จะถวายอาจารย์นะไปสัก ๑ ผอบ แต่ให้อาจารย์นะ ตั้งจิตอธิษฐานถึงบารมีพระพุทธองค์ในการเลือกผอบพระธาตุ เมื่อท่านตั้งจิตอธิษฐานก็จับได้ผอบที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุสมความปรารถนา ฝ่ายท่านเศรษฐีเมื่อเห็นว่าท่านอาจารย์นะ จับถูกผอบพระบรมสารีริกธาตุ เกิดความเสียดายจนน้ำตาร่วงพรูออกมาอย่างไม่รู้ตัว เนื่องจากเป็นมรดกประจำสกุลตกทอดมาหลายชั่วอายุคน เมื่ออาจารย์นะเห็นว่าท่านเศรษฐีร้องไห้จึงบอกว่าเมื่อโยมยังมีความอาลัยอยู่อาตมาก็จะไม่ขอเอาไป ขอคืนกลับให้ตามเดิมท่านเศรษฐีจึงพูดว่า ขอพระคุณเจ้าจงอัญเชิญไปเมืองไทยเถอะพระบรมสารีริกธาตุปรารถนาจะเสด็จไปกับท่านแล้ว พร้อมกับสั่งว่าเมื่อท่านกลับไปถึงเมืองไทยแล้วขอให้สร้างพระสถูปเจดีย์เป็นแบบถูปารามสำหรับบรรจุ เพราะพระบรมธาตุนี้ได้มาจากพระเจดีย์ถูปารามเมื่อครั้งทำการปฏิสังขรณ์ใหม่ พร้อมกับมอบภาพพระเจดีย์ถูปารามให้มาด้วย และสั่งว่าให้สร้างพระพุทธไสยาสน์ไว้ทางทิศตะวันตกของพระเจดีย์

       พระสถูปเจดีย์หรือเจดีย์พระบรมธาตุที่พระอาจารย์นะสร้างเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นทรงลังกาแบบถูปารามตามคำท่านเศรษฐีสั่งทุกประการ สร้างแล้วเสร็จและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ เมื่อวันวิสาขบูชาปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๙ ท่านอาจารย์นะยังได้สร้างพระพุทธไสยยาสน์ ประดิษฐายทางด้านทิศใต้ของพระเจดีย์ไว้ด้วยด้วย 

ห่มผ้าเจดีย์พระบรมธาตุ

พระอุโบสถ 

       พระอุโบสถหลังนี้ได้ทำการสร้างขึ้นใหม่แทนพระอุโบสถหลังเดิม ซึ่งสร้างตามแบบของกรมศิลปากร เป็นพระอุโบสถทรงไทยภาคกลางประยุกต์ ประดิษฐานอยู่ในกำแพงแก้ว มีขนาดกว้าง ๗.๐๕ เมตร ยาว ๑๑.๑๕ เมตร โครงสร้างพระอุโบสถก่ออิฐถืิอปูน มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หลังคาลด ๓ ชั้น มีพาไลหน้าหลัง หน้าบันด้านหน้าปั้นเป็นลายกนกยปูนปั้นนูนแสงลอยตัวรูปของพระพุทธรูป ซุ้มประตู และซุ้มหน้าต่างเป็นรูปพระมงกุฎ 

พระประธานในอุโบสถ

หอระฆัง

 หอระฆังของวัดชัยมงคลสร้างเมื่อ ๑๑ มกราคม ๒๕๔๐ โดยนายท่ามไกว่ นางบุญช่วย เหล่าสิริพรวัฒนา


ปูชนียวัตถุ

พระพุทธไสยยาสน์ชัยมงคล

   วัดชัยมงคลแห่งนี้ยังมีพระพุทธไสยยาสน์เป็นปูชนียวัตถุสำคัญอีกอย่างหนึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพยำเกรงของประชาชนชาวสงขลาและใกล้เคียงทั้งมีพุทธลักษณะสวยงามมากเล่ากันมาว่ากว่าจะสร้างได้สำเร็จต้องรื้อทิ้งหลายครั้งเพราะไม่ต้องตาต้องใจของคณะกรรมการผู้ควบคุมการสร้าง ถึงกับว่ามีเทวดาเข้ามาสิงนายช่างผู้ทำการปั้นองค์พระ จึงทำได้สวยงามตามความประสงค์ของคณะกรรมการองค์พระพุทธไสยาสน์สร้างด้วยปูนปั้น ขนาดองค์พระยาว ๕.๕๒ เมตร ลงรักปิดทอง สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ เปิดเข้าให้สักการะบูชาได้ตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐-๑๒.๐๐ น.

วิหารพระพุทธไสยยาสน์


ปูชนียบุคคล

พระเทพสุธรรมญาณ (แฉล้ม เขมปญฺโญ ป.ธ.๖)

ภาพประกอบจาก : http://graduate.rmutsv.ac.th/2558/?q=th/content/48-1441078610-1-010915

ชีวประวัติ

       พระเทพสุธรรมญาณ  (แฉล้ม เขมปญฺโญ) นามเดิมคือแฉล้ม นามสกุลชูโต เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ สถานที่เกิด บ้านเลขที่ ๑๔๙ หมู่ที่ ๓ ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา บิดาชื่อนายเพชร ชูโต มารดาชื่อนางสั้น ชูโต  ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพสุธรรมญาณ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสงขลา และเจ้าอาวาสวัดชัยมงคล (พระอารามหลวง) อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ท่าน เป็นบุตรคนที่ ๒ ในจำนวนพี่น้อง ๔ คน ของนายเพชร และนางสั้น  ชูโต เกิดวันจันทร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ณ บ้านเลขที่ ๑๔๙ หมู่ที่ ๓ ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากโรงเรียนวัดธรรมโฆษณ์ ตำบลสทิ้งหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา สำเร็จชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๖ แล้วออกมาช่วยเหลือครอบครัวทำนาและค้าขาย บ้านสทิงหม้อเป็นชุมชนที่มีความเจริญมาตั้งแต่โบราณอยู่ห่างจากตัวเมืองสงขลา ประมาณ ๘ ก.ม. อยู่ริมทะเลสาบสงขลาด้านทิศตะวันออกมีคลองสทิงหม้อไหลผ่านชุมชน และไหลลงทะเลสาบสงขลา ชาวสทิงหม้อมีอาชีพ ทำนาทำสวน ทำเครื่องปั้นดินเผา ทำการประมง และค้าขาย แต่เดิมสทิงหม้อเป็นชุมชนที่มีท่าเรือขนาดใหญ่ มีการคมนาคมและการค้าทางเรือตลอดปีเป็นที่หยุดพักของคนเดินทาง และพ่อค้าวานิช จุดเด่นก็คือสทิงหม้อเป็นแหล่งผลิต เครื่องปั้น ดินเผา ที่สวยงาม เนื้อดินดี ทนทาน มีรูปทรงเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่สืบทอดรูปแบบกันมานับร้อยปี ถึงแม้ครอบครัวจะมีอาชีพทำนา แต่บิดาของท่านก็ชอบอาชีพค้าขาย ดังนั้นเมื่อจบการศึกษาเบื้องต้นแล้วท่านก็ได้ตามบิดาไปค้าขายทางเรือตามชุมชนและเมืองต่าง ๆ ที่ห่างไกลออกไปเช่น ชุมชนลำปำ ปากพยูน ของจังหวัดพัทลุง ชุมชนหัวไทร ปากพนัง ท่าศาลา ของจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น สินค้าที่นำไปขายต่างเมืองส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาของสทิงหม้อ ประเภทหม้อ เผล้ง หวด อ่าง เตาหุงข้าว ครกตำ น้ำพริกและกระทะ เป็นการค้าทางน้ำที่ใช้เรือใบเป็นพาหนะ เมื่อขายสินค้าหมดแล้วเที่ยวกลับจะซื้อสินค้าจากเมืองอื่นมาขายที่สงขลา เช่น มะพร้าวจากท่าศาลา กะปิจากปากพะยูนและข้าวจากพัทลุง เป็นต้น ท่านมีความรู้ความชำนาญ ทางด้านช่างพื้นบ้าน ค้าขาย และเดินเรือมาตั้งแต่เยาว์วัย ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศการเปลี่ยนแปลงของชุมชนและพัฒนาการของเมืองมาโดยตลอด โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญคือสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นบุกประเทศไทยได้ยกพลขึ้นบกที่เมืองสงขลาเพื่อขอเดินทางผ่านแดน เข้ายึดครองประเทศพม่าและอินเดีย เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ขณะที่ท่านอายุเพียง ๑๒ ปีท่านได้เห็นผลกระทบที่เกิดจากภัยสงครามประชาชนประสบกับความทุกข์ยากลำบาก ด้วยผู้นำประเทศที่มีความรู้ความสามารถจนนำพาประเทศให้รอดพ้นจากภัยสงครามไปได้ เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ได้อุปสมบทตามประเพณีของชายไทยทั่วไปที่เป็นชาวพุทธ เมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำเดือน  ๘  ปีขาล ตรงกับวันที่  ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๙๓ ณ พัทธสีมาวัดธรรมโฆษณ์ ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนครจังหวัดสงขลา โดยมีพระครูธรรมโฆษิต (คง โกกนุตฺโต) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวิจิตรธรรมรัตน์ วัดธรรมโฆษณ์เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูสุวิมล ศีลาจารย์ (พุ่ม สุวิมุตฺโม) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ได้รับฉายา เขมปญฺโญ จำพรรษาแรกที่วัดบ่อปาบ ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลาเนื่องจากบริเวณชุมชนที่เป็นภูมิลำเนาเดิมเป็นชุมชนโบราณของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น มีท่าเรือขนาดใหญ่ เป็นที่หยุดพักระหว่างทางของผู้ใช้เส้นทางการเดินเรือ จึงมีวัดที่อยู่ใกล้กันมาก ๓ วัด ได้แก่วัด ธรรมโฆษณ์ วัดบ่อปาบ และวัดโลการาม ท่านได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากพระครูธรรมโฆษิต (คง โกกนุตฺโต) ซึ่งเป็นพระเกจิชื่อดังของภาคใต้ มีความรู้แตกฉานในธรรมปฏิบัติตามหลักพระวินัยอย่างเคร่งครัด มีความรู้แก่กล้าทั้งด้านคาถาอาคมและโหราศาสตร์ ท่านไปจำพรรษาที่วัดบ่อปาบ ขณะนั้นพระครูสุวิมลศีลาจารย์ (พุ่ม สุวิมุตฺโต) เป็นเจ้าอาวาสพระครูสุวิมลศีลาจารย์นั้น บรรพชาและอุปสมบทโดยมีพระมหาลอย จนฺทสโร วัดแหลมจาก อำเภอสิงหนครจังหวัดสงขลา เป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นที่ร่ำลือโดยทั่วไปว่าพระมหาลอย จนฺทสโร เป็นผู้มีฝีมือทางช่าง เป็นกวีพื้นบ้านและมีความแก่กล้าทางด้านคาถาอาคม เมื่อร่ำเรียนกับพระอุปัชฌาย์จนแตกฉาน ทั้งทางด้านพระธรรมวินัยและศิลปวิทยาแล้ว พระครูวิมลศีลาจารย์จึงย้ายไปอยู่กับพระครูธรรมโฆษิตที่วัดธรรมโฆษณ์เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมและฝึกเทศน์มหาชาติ ครั้นต่อมาเมื่อวัดบ่อปาบ ว่างเจ้าอาวาสลงพระครูธรรมโฆษิตจึงได้มอบหมายให้พระครูสุวิมลศีลาจารย์ไปเป็นเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ในช่วงแรกของการเข้าพรรษาแรก พระแฉล้ม เขมปญฺโญ ก็เรียนการไหว้พระสวดมนต์เรียนปริยัติธรรม และปฏิบัติตนตามหลักพระวินัยอย่างเคร่งครัด โดยมีพระครูธรรมโฆษิต และพระครูสุวิมลศีลาจารย์เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และอบรมสั่งสอนอย่างใกล้ชิด เมื่อออกพรรษาอยู่รับกฐินเสร็จก็สอบนักธรรมตรีแล้ว จึงปรึกษาบิดามารดาเรื่องที่จะลาสิกขาบท ออกไปช่วยเหลือครอบครัวประกอบอาชีพ ซึ่งการค้าขายของครอบครัวก็ได้กำไรดีมีเรือสินค้าค่อนข้างใหญ่เป็นเรือแบบใช้ใบ ๒ เสาสามารถบรรทุกสินค้าได้มากถึง ๕ ตัน ต้องใช้ลูกเรือขนส่งสินค้า ๓–๕ คน เนื่องจากความคิดเดิมที่จะบวชเพียง ๑ พรรษาเท่านั้น เมื่อบิดามารดาจัดเตรียมเสื้อผ้าของฆราวาสพร้อมแล้ว ก็ได้กราบเรียนให้พระอุปัชฌาย์ทราบพระอุปัชฌาย์รับฟังแต่ยังนิ่งเฉยอยู่ จากนั้นพระแฉล้ม เขมปญฺโญ ก็ได้เข้าไปกราบท่านเจ้าอาวาสวัดบ่อปาบเพื่อขอให้กำหนดวันลาสิกขาบท เจ้าอาวาสรับฟังด้วยความสงบนั่งนิ่งอยู่สักครู่ จึงกล่าวว่า “พิจารณาแล้วยังไม่มีวันที่เป็นฤกษ์ดีอันที่จะกำหนดให้เป็นวันลาสิกขาบท เกี่ยวกับเรื่องนี้ค่อยปรึกษากันอีกครั้ง” เวลาผ่านไปหลายวันจะขอเข้าไปปรึกษาอีก เห็นพระอาจารย์ทั้งสองนิ่งเฉยอยู่ก็เกรงใจ หลังจากนั้นพระอาจารย์ก็ยังคอยแนะนำพร่ำสอน วิชาที่มีอยู่ให้อย่างครบถ้วนและต่อเนื่อง อบรมและฝึกหัด ให้แสดงธรรม ฝึกหัดให้เทศน์ มหาชาติเพิ่มเติมอีกด้วย ท่านเองก็มีวิริยะมานะในการศึกษาเล่าเรียน และฝึกปฏิบัติด้วยความตั้งใจและไม่ได้พูดถึงการลาสิกขาบทอีกเลย เสื้อผ้าที่เตรียมไว้สำหรับการลาสิกขาบทพี่สาวคนโตได้นำไปเก็บไว้เป็นอย่างดี ซึ่งพี่สาวของท่านได้เล่าให้ฟังว่า “อาจารย์ทั้งสองของท่านไม่อยากที่จะให้ลาสิกขาบทเพราะท่านเป็นคนหลักแหลม สามารถเรียนรู้เรื่องที่สอนได้สำเร็จนำไปปฏิบัติได้ มีขันติและวิริยะ ยึดมั่นในหลักธรรมของศาสนาอย่างเคร่งครัด เสื้อผ้าชุดนั้นมีเสื้อและกางเกงแพร ขาก๊วย เป็นกางเกงที่ชายหนุ่มในยุคนั้นนิยมสวมใส่ พี่ยังคงเก็บไว้” ครั้นถึงพรรษาที่ ๒ เมื่อเจ้าอาวาสพิจารณาแล้วเห็นว่าพระแฉล้ม เขมปญฺโญ มีความมุ่งมั่น ที่จะศึกษาเล่าเรียนและอยู่ใต้ร่มกาสาวพัตรเป็นที่แน่แล้ว จึงมีความประสงค์ที่จะส่งมาศึกษาต่อที่เมืองบ่อยาง เพราะไม่ต้องการให้ไปอยู่ไกลจึงได้ให้ไปจำพรรษาที่วัดชัยมงคล เพื่อที่จะได้ศึกษาพระปริยัติธรรมและบาลีกับพระธรรมโมลีสำนักวัดเลียบ ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ก็สอบได้นักธรรมเอก พร้อมทั้งศึกษาทำความเข้าใจและท่องจำพระปาฏิโมกข์ไปด้วย ปี พ.ศ. ๒๕๐๘  สอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค นอกจากนั้นท่านยังเดินทางไป ตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ เพื่อหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ เช่น เดินทางไปศึกษาพุทธสถานที่ประเทศอินเดีย และประเทศเนปาล เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ เดินทางไปศึกษาพุทธสถานที่ประเทศศรีลังกาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ และเข้าฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกับพระกัมมัฏฐานาจริยะ ดร. ภัททันตะ อาสภะมหาเถระ แห่งวิเวกอาศรม จังหวัดชลบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕

อุปสมบท
       พระเทพสุธรรมญาณ  (แฉล้ม เขมปญฺโญ) อุปสมบทเมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำเดือน ๘ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ณ พัทธสีมาวัดธรรมโฆษณ์ ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โดยมีพระครูธรรมโฆษิต (คง โกกนุตฺโต) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวิจิตรธรรม รัตน์ วัดธรรมโฆษณ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูสุวิมล ศีลาจารย์ (พุ่ม สุวิมุตฺโม) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา เขมปญฺโญ 

การศึกษา

- พ.ศ. ๒๔๘๖ จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดธรรมโฆษณ์ ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
- พ.ศ. ๒๔๙๖ สอบได้นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนคณะจังหวัดสงขลา สังกัดวัดชัยมงคล ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
- พ.ศ. ๒๕๐๘ สอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค สำนักเรียนคณะจังหวัดสงขลา สังกัดวัดชัยมงคล ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา

ตำแหน่งฝ่ายปกครอง

- พ.ศ. ๒๕๐๘  เป็น รองเจ้าอาวาสวัดชัยมงคล
- พ.ศ. ๒๕๒๘  เป็น ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดชัยมงคล พระอารามหลวง
- พ.ศ. ๒๕๓๐  เป็น เจ้าอาวาสชัยมงคล พระอารามหลวง
- พ.ศ. ๒๕๓๒  เป็น พระอุปัชฌาย์
- พ.ศ. ๒๕๔๐  เป็น รองเจ้าคณะจังหวัดสงขลา
- พ.ศ. ๒๕๕๐  เป็น เจ้าคณะจังหวัดสงขลา
- พ.ศ. ๒๕๕๒  เป็น ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสงขลา
- พ.ศ. ๒๕๖๐  เป็น ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๘

สมณศักดิ์

- พ.ศ. ๒๕๒๙ เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นเอก ที่พระครูศรีมงคลเจติยาทร (ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง)
พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ที่พระวิเชียรโมลี
- พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่พระราชวรธรรมโกศลสุวิมลศาสนกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
- พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพสุธรรมญาณสุวิธานศาสนกิจนิวิฐธรรมสุนทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

เกียรติคุณและผลงาน
        พระเทพสุธรรมญาณ เป็นพระเถระที่อุทิศตนแก่พระศาสนา บำเพ็ญตนเป็นประโยชน์แก่สังคม เป็นที่ยอมรับทั้งในหมู่พระเถรานุเถระคณะสงฆ์ และบุคคลทั่วไป ภารกิจที่ท่านกระทำล้วนเป็นไปเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาจิตใจของพุทธศาสนิกชนให้มั่นคงในศีลธรรมคุณธรรมและจริยธรรม อาทิ

๑.  ปี พ.ศ. ๒๕๔๑  เป็นรองประธานดำเนินงานฝ่ายสงฆ์ในจังหวัดสงขลา  คณะสงฆ์ในประเทศมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาจัดกิจกรรมเทศน์มหาชาติ ช่วยชาติในปีวิกฤติเศรษฐกิจ ณมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา นำเงินที่ได้จากการทำบุญ จำนวน ๑,๖๔๔,๔๑๙.๕๒ บาท (หนึ่งล้านหกแสนสี่หมื่นสี่พันสี่ร้อยสิบเก้าบาทห้าสิบสองสตางค์)  ทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อสมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนา การดำเนินกิจกรรมในครั้งนั้นเป็นการรวมพลังสงฆ์ไทยในจังหวัดสงขลา คณะสงฆ์ในประเทศมาเลเซียและประเทศสิงคโปร์ พร้อมด้วยอุบาสกอุบาสิกา และประชาชนจากทุกอำเภอในจังหวัดสงขลา  มาร่วมกับประชาชนในชุมชนรอบมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาและมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จัดกิจกรรมเทศน์มหาชาติเต็มรูปแบบ มีการจัดตั้งโรงทานตามแบบโบราณประเพณี การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นการปลุกจิตสำนึกในความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์อย่างได้ผลยิ่ง มีประชาชนมาร่วมงานประมาณ ๘,๐๐๐ คน
๒. ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นรองประธานคณะกรรมดำเนินงานฝ่ายสงฆ์ในจังหวัดสงขลาร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จัดกิจกรรมเทศน์ เรื่องพระมหาชนก โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา นำพระราชนิพนธ์ เรื่องพระมหาชนกจัดการแสดงประกอบเทศน์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมาหาชนกของปวงชนชาวไทย ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาประชาชนอำเภอเมืองสงขลา ได้มาร่วมใจกันเฉลิมฉลองเทิดทูนชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างดียิ่งมีประชาชนมาร่วม๒๕๔๓ เป็นรองประธานคณะกรรมดำเนินงานฝ่ายสงฆ์ในจังหวัดสงขลาร่วมกับงานประมาณ ๗,๐๐๐ คน
๓. เปิดอบรมพัฒนาจิตและสอนวิปัสสนากัมมัฎฐานแก่ภิกษุสามเณร นักเรียน นักศึกษา และประชาชนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนตลอดปี ติดต่อกันเป็นเวลายาวนานตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ ตราบปัจจุบัน ทำให้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าวัดชัยมงคล (พระอารามหลวง) เป็นสถานที่อบรมธรรมจรรยา พัฒนาจิต และปฏิบัติธรรมวิปัสสนากัมมัฏฐานที่มีผู้เข้าอบรมต่อเนื่องสม่ำเสมอตลอดมาเป็นคุณแก่ปัจเจกชน และสังคมเป็นอย่างยิ่ง
๔. พ.ศ. ๒๕๔๘ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาจัดพิธีพุทธาภิเษกหลวงพ่อทวดรุ่นตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน พระราชวรธรรมโกศลได้เมตตาให้ใช้สถานที่ของวัดชัยมงคล(พระอารามหลวง)เป็นสถานที่ประกอบพิธี โดยให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือทุกอย่าง จนสามารถดำเนินการได้ลุล่วงบรรลุผลตามวัตถุประสงค์
๕. พ.ศ. ๒๕๔๙ เป็นรองประธานคณะกรรมดำเนินงานฝ่ายสงฆ์ในจังหวัดสงขลา คณะสงฆ์ในประเทศมาเลเซียและประเทศสิงคโปร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จัดกิจกรรมเทศน์มหาชาติอีกครั้งหนึ่ง ในโอกาสเฉลิมฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลานำเงินบุญจำนวน ๑,๙๐๙๙๙๙ บาท (หนึ่งล้านเก้าแสนเก้าพันเก้าร้อยเก้าสิบเก้าบาทถ้วน)ขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนาการจัดกิจกรรมครั้งนี้ พระราชวรธรรมโกศล ได้เมตตามอบภาชนะของวัดมาใช้ในการจัดโรงทานเลี้ยงประชาชนตามแบบโบราณประเพณี และให้ยืมอุปกรณ์เครื่องใช้อำนวยการสะดวกแก่การจัดงานอย่างดียิ่ง
๖. จัดกิจกรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนา  พระเทพสุธรรมญาณได้ดำเนินการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๐ เป็นต้นมา อาทิ
๖.๑ เป็นผู้อำนวยการโครงการอบรมเยาวชน ชาย-หญิงในภาคฤดูร้อน มีเยาวชนเข้ารับการอบรมปีประมาณ ๒๕๐ คน เป็นประจำทุกปีโดยใช้งบประมาณของวัดปีละ ๕๕,๐๐๐บาท (ห้าหมื่นห้าพันบาทถ้วน)
๖.๒ จัดส่งพระจริยานิเทศประจำจังหวัดสงขลา ไปสอนที่โรงเรียนมหาวชิรานุกูล โรงเรียนวชิราโปลีเทคนิค โรงเรียนวรนารีเฉลิม และโรงเรียนสงขลาวิทยาคมจังหวัดสงขลา
๖.๓ จัดส่งพระวิทยากรไปบรรยายพิเศษที่เรือนจำจังหวัดเรือนจำกลางทัณฑสถานหญิง และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กเป็นประจำ
๖.๔ จัดพระวิทยากรบรรยายธรรมพิเศที่สถานีวิทยุทหารเรือสงขลาและศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนของเทศบาลนครสงขลาเป็นสงขลา
๖.๕ จัดส่งพระวิทยากรไปอบรมพระนวกะที่วัดบุญญาราม วัดตะโละวันยะ ณ ประเทศมาเลเซีย ในฤดูกาลเข้าพรรษาเป็นประจำทุกปี
๖.๖ จัดพระวิทยากรอบรมจริยธรรม ศีลธรรม และวิปัสสนากัมมัฏฐานแก่ นักศึกษา อาทิ นักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลบรมชนนีสงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยทักษิณ ฯลฯ
๖.๗ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ จัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิบัติธรรมพัฒนาจิตเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติธรรมของนักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปให้ได้ศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานตามแนวของ สติปัฏฐาน ๔
๖.๘ ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ จัดตั้งมูลนิธิพระวิเชียรโมลี (แฉล้ม เขมปญฺโญ) เพื่อส่งเสริมและเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนาการศึกษา และการกีฬา การเรียนการสอนภาษาไทย และด้านวัฒนธรรมไทยแก่เยาวชนดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์หรือร่วมกับองค์กรการกุศลอื่น มีเงินทุน ๓๕๗,๔๘๗ บาท

๗. ส่งเสริมให้ทุกวัดในจังหวัดสงขลา จัดกิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเพื่อโน้มนำจิตใจของพุทธบริษัทให้ผูกพันและยึดมั่นอยู่กับหลักธรรมของพระพุทธศาสนา เฉพาะที่วัดชัยมงคล(พระอารามหลวง)ที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสได้จัดกิจกรรมวันสำคัญและมีผู้ร่วมพิธีจำนวนมาก ดังนี้

๗.๑ พิธีมาฆบูชา มีประชาชนมาประชุมทำพิธี ๑,๐๐๐-๑,๕๐๐ คน
๗.๒ พิธีวิสาขบูชา มีประชาชนมาประชุมทำพิธี ๑,๕๐๐-๒,๐๐๐ คน
๗.๓ พิธีอาสาฬหบูชา มีประชาชนมาประชุมทำพิธี ๑,๘๐๐-๒,๐๐๐ คน

๘. มีกิจกรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนา ดังนี้

๘.๑ มีการอบรมภิกษุ สมเณร ทุกวันธรรมสวนะ และอบรมพิเศษในวันอุโบสภ
๘.๒ มีการอบรมศีลธรรมแก่พุทธศาสนิกชนทุกวันธรรมสวนะ
๘.๓ มีผู้มารักษาศีลฟังธรรมที่วัดตลอดปี จำนวน ๑๐๐-๑๕๐ คน
๘.๔ ให้ความร่วมมือกับคณะสงฆ์ส่วนราชการและเอกชนในการอบรมธรรมจรรยา วิปัสสนากัมมัฏฐาน
๘.๕ จัดทำโครงการปฏิบัติธรรมพัฒนาจิต เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ศึกษาพุทธศาสนาภาคปฏิบัติขึ้น ณ วัดชยมงคล(พระอารามหลวง)
๘.๖ เป็นประธานที่ปรึกษาโครงการเป็นพระวิปัสสนาจารย์  และเป็นวิทยากรให้กับโครงการปฏิบัติธรรมพัฒนาจิตของหน่วยงานทางราชการ และสถาบันการ   ศึกษา ทั้งในจังหวัดสงขลา จังหวัดอื่นๆ และประเทศมาเลเซีย
๘.๗ จัดกิจกรรมถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันสำคัญต่าง ๆ อาทิ วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๙, ๑๐) พระบรมราชินีนาถ (๑๒ สิงหาคม) โดยได้จัดกิจกรรมถวายเป็นพระราชกุศล และถวายพระพรชัยมงคล ตามระเบียบที่มหาเถรสมาคมกำหนดเป็นประจำทุกปี

 


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดชัยมงคล (Wat Chaimongkol)
ที่อยู่
ถนนเพชรมงคล–ชัยมงคล ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
จังหวัด
สงขลา
ละติจูด
7.198261
ลองจิจูด
100.596962



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม
เจดีย์พระบรมธาตุ วัดชัยมงคล อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา. (2558). สืบค้นวันที่ 6 มี.ค. 61, จาก http://www.bloggertrip.com/chaimongkhontemple/
นฤมล วรรธนเศรณี. (2549). ศึกษาบทบาทและผลกระทบจากบทบาทของวัดชัยมงคล อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา, วารสารปาริชาต, 18 (3), 68-71.
มูลนิธิวิเชียรโมลี. (ม.ป.ป.) พระเทพสุธรรมญาณ. สืบค้นวันที่ 6 มี.ค. 61, จาก http://www.prawichianmolee.com/2015/index.php/2015-02-06-11-51-35/  
              2015-02-09-08-05-48.html
วัดชัยมงคล. (ม.ป.ป.) สืบค้นวันที่ 6 มี.ค. 61, จาก http://ska.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=136&Itemid=119
เจดีย์พระบรมธาตุ วัดชัยมงคล อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา. (2558). สืบค้นวันที่ 6 มี.ค. 61, จาก http://www.bloggertrip.com/chaimongkhontemple/
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2537). สงขลา ถิ่นวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  สงขลา. (2558). วัดชัยมงคล. สืบค้นวันที่ 6 มี.ค. 61, จาก http://ska.onab.go.th/index.php?option=com_content&view
               =article&id=136&Itemid=186

 

         

 

 

 

        


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024