ภาพจาก : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง
พิธีบวงสรวงพระพุทธเจ้าหลวง ที่บริเวณหัวแหลมบ้านเขาชัน หมู่ ๗ ตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เป็นเป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นมาช้านาน (ปี ๒๕๖๗ ครบ ๑๓๕ ปีที่พระองค์ท่านได้เสด็จประพาสและประทับแรม ณ หมู่เกาะสี่เกาะห้า ตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง) จากที่หมู่เกาะสี่เกาะห้าเป็นแหล่งของรังนกนางแอ่น ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เป็นแหล่งรายได้ของประเทศ ดังนั้นก่อนจะมีการเก็บรังนกทุกครั้ง ก็จะมีพิธีกรรมบวงสรวงเทวดา เจ้าเขา เจ้าควน ไหว้เทวดา เจ้าที่เจ้าทางตาโส ยายสา ที่อาศัยอยู่ภายในเกาะ รวมไปถึงการบวงสรวงที่เป็นการรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) โดยก่อนจะขึ้นเก็บรังนกแต่ละครั้ง บริษัทผู้รับสัมปทานจะมีพิธีกรรมบวงสรวงโดยผู้ที่จะทำการเก็บรังนกเป็นผู้ทำพิธีกรรม เพื่อเป็นการขอพรและเป็นการบนบานให้การเก็บรังนกสมบูรณ์ครบถ้วน ให้แคล้วคลาดปลอดภัยและราบรื่นไปด้วยดี ซึ่งเมื่อก่อนการเก็บรังนกจะมีการเก็บทั้งหมด ๓ ครั้งต่อปี โดยครั้งแรกจะเก็บประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เก็บครั้งที่ ๒ ประมาณเดือนเมษายน-เดือนพฤษภาคม และครั้งที่ ๓ ประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งหลังจากเก็บรังนกเสร็จสิ้นในแต่ละครั้งนั้น ก็จะปิดเกาะประมาณ ๓-๔ เดือน และครั้งสุดท้ายหลังจากการเก็บรังนกเสร็จ ก่อนจะมีการออกเกาะก็จะมีพิธีบวงสรวงใหญ่อีกครั้ง โดยจะมีการตั้งบวงสรวงเครื่องเซ่นไหว้ มีการทำพิธีด้วยหมอ ชาวบ้าน และนิมนต์พระมาทำพิธีในการบวงสรวง ซึ่งจะมีการทำพิธี ๒ วัน ๑ คืน จะมีการละเล่นหนังตะลุง มโนราห์ เป็นการแก้บนที่ได้ทำการจัดเก็บรังนกที่ผ่านมาได้ราบรื่น ครบสมบูรณ์ แคล้วคลาดปลอดภัย เมื่อเสร็จสิ้นพิธีกรรมต่าง ๆ ก็จะมีการออกจากเกาะ หลังจากนั้นจะมีการเข้าเกาะมาเก็บรังนกอีกครั้งในประมาณเดือนมกราคมของปีถัดไป
จากบทความของชาลิสา ทองขาวเผือก (๒๕๖๕) กล่าวว่า ... รังนกอีแอ่นหรือนางแอ่นเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อหัวเมืองปักษ์ใต้ ของราชอาณาจักรไทยมาช้านาน นับเน่ืองมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ จากประวัติศาสตร์ของเจ้าเมืองสงขลา (ต้นตระกูล ณ สงขลา) ซึ่งมีความดีความชอบจากการคุมเงินส่วนรังนกและอากรรังนก (อ้างจากองค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๑๑; หอพระสมุดวชิรญาณ, ๒๓๕๗) ในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ทางราชการกำหนดให้การมีสัมปทานรังนกขึ้น โดยหมู่เกาะสี่เกาะห้าก็ถูกกำหนดให้อยู่ในเขตสัมปทานรังนกด้วย (อ้างจาก ญาดา ประภาพันธ์, ๒๕๒๔) ต่อมาทางราชการได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติเป็นเขตห้าม พุทธศักราช ๒๔๘๕ จึงมีการกำหนดพื้นที่เกาะต่าง ๆ ในบริเวณหมู่เกาะห้าเป็นเขตห้ามหรือหวงห้ามของรัฐไว้ ๕ เกาะ ได้แก่ เกาะรูสิม เกาะหน้าเทวดา เกาะกันตัง เกาะตาโส และเกาะยายโส (ราชกิจจานุเบกษา, ๒๔๘๕ อ้างถึงใน ธรรมรงค์ อุทัยรังสี, ๒๕๔๒) แต่ก็ยังมีเกาะที่นกนางแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว อยู่อีก ๒ เกาะ คือเกาะท้ายถ้ำดำและเกาะรอก ตรงกับข้อความบางตอนที่ปรากฏในจดหมายเหตุเสด็จประพาสแหลมมลายู ร.ศ. ๑๐๘ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหมู่เกาะสี่เกาะห้า และเมืองพัทลุง เมื่อวันที่ ๒๒-๒๘ กรกฎาคม ๒๔๓๒ (หอพระสมุดวชิรญาณ, ๒๔๖๘) หมู่เกาะสี่เกาะห้านั้นมีสภาพภูมิศาสตร์โดยทั่วไปเป็นหมู่เกาะหินปูนมีเนินเขาและควนสูง ที่ราบมีน้อยมาก เขาที่สำคัญคือเขาค้างคาวบนเกาะหน้าเทวดา ในจำนวนเกาะใหญ่เกาะน้อยเหล่านี้เกาะท้ายถ้ำดำนับว่าเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีเนื้อที่ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่ เกาะเหล่านี้จะมีถ้ำอยู่ประมาณ ๒๐๐ ถ้ำ ถ้ำเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของนกนางแอ่น นับตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติรังนกอีแอ่น พุทธศักราช ๒๕๔๐ จังหวัดพัทลุง เป็นท้องถิ่นหนึ่งที่ได้รับผลประโยชน์จากอากรรังนกอีแอ่นอ
พิธีบวงสรวงพระพุทธเจ้าหลวง เป็นพิธีสักการะพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประดิษฐานอยู่บนหน้าผาเทวดา หมู่เกาะสี่เกาะห้า ตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง จากเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๒ (ร.ศ. ๑๐๘) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ได้เสด็จประพาสทะเลสาบ และหมู่เกาะสี่ เกาะห้า เมื่อวันที่ ๒๒-๒๔ กรกฎาคม ๒๔๓๒ พระองค์ท่านได้ประทับแรมที่พลับพลาหน้าเขาเทวดา เกาะมวย และเสด็จถ้ำในเกาะต่าง ๆ เช่น ถ้ำหลี ถ้ำแรงวัว ถ้ำเสือ ถ้ำแรด ถ้ำลูชิม และเขาชัน การเสด็จครั้งนั้นได้ทรงจารึกอักษร "จ.ป.ร. ศักราช ๑๐๘” ไว้ที่หน้าผาเขาหน้าเทวดา (เกาะมวย) จากรายละเอียดที่ปรากฎในหนังสือจดหมายเหตุพระบาทสมเด็จฯพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสแหลมมาลายูคราว ร.ศ.๑๐๗ และ ร.ศ. ๑๐๘” ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๖ สรุปได้คือ
วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๐๘ (พ.ศ. ๒๔๓๒) เสด็จออกจากกรุงเทพ ทางเรือ |
วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๐๘ (พ.ศ. ๒๔๓๒) ถึงสงขลาเสด็จประพาสตลาด และวัดมัชฌิมมาวาส |
วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๐๘ (พ.ศ. ๒๔๓๒) ชาวสงขลาเฝ้ารับเสด็จ |
วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๐๘ (พ.ศ. ๒๔๓๒) เสด็จทะเลสาบ ทอดพระเนตรป้อมเขาแดง (ปากอ่าว) และป้อมค่ายม่วงที แหลมสน คอกช่องเขาเขียว กับเกาะยอ ผ่านคลองปากรอ (ที่กอดกิ่ว) ผ่านปากพะยูน เกาะปราบ แล้วจึงถึงหมู่เกาะรังนก ประทับที่พลับพลาเกาะมวย |
วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๐๘ (พ.ศ. ๒๔๓๒) ประพาสหน้าพลับพลาและถ้ำใหญ่ จากถ้ำใหญ่เสด็จไปเกาะพระเที่ยงถ้ำยูหลี จากนั้นไปถ้ำแรงวัวและ ถ้ำลูชิมบนเกาะดำ และไปถ้ำเสือ ถ้ำแรกท้ายเกาะมวย แล้วทอดพระเนตรเกาะเข็ม |
วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๐๘ (พ.ศ. ๒๔๓๒) เสด็จเขาชัน ซึ่งเป็นเกาะใหญ่อยู่หลังเกาะสี่ เกาะห้า มีการไล่กระจง |
วันที่ ๒๕-๒๖ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๐๘ (พ.ศ. ๒๔๓๒) เสด็จเมืองลุง |
วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๐๘ (พ.ศ. ๒๔๓๒) จากเมืองลุงถึงเกาะสี่ เกาะห้า ประทับแรม |
วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๐๘ (พ.ศ. ๒๔๓๒) ออกจากเกาะสี่ เกาะห้าถึงเมืองสงขลา |
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหมู่เกาะในทะเลสาบสงขลา โดยเรือกลไฟทอนิครอฟต์ลากจูงเรือพระที่นั่ง เรือกลไฟเซนต์ยอชลากเรือเจ้านายและเรือผ้านุ่งห่ม เรือกลไฟยาโรจูงเรือเครื่อง ในระหว่างวันที่ ๒๒-๒๕ กรกฎาคม ๒๔๓๒ และทรงประทับแรม ณ พลับพลาที่ประทับเกาะมวย และในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานจารึกพระปรมาภิไธยย่อ จปร. ๑๐๘ ไว้ ดังปรากฏความในพระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๒ ในพระราชหัตถเลขาเรื่องเสด็จประพาสแหลมมลายูตอนหนึ่งว่า..
"วันที่ ๒๔ เดิมคิดว่าจะไปเมืองพัทลุงในวันนี้ แต่ครั้นเมื่อเวลาวานซืนได้ความว่า ที่เมืองพัทลุงทำไว้แต่พลับพลาประทับร้อน เมื่อวานนี้จึงได้ให้พระมหาอรรคนิกรคุมเตนท์ขึ้นไปตั้งจึงพักอยู่ที่นี่พอได้เวลาทำการเวลาหนึ่ง ครั้นเวลาสายพระยาพัทลุง (เนตร) ลงมาแจ้งว่าได้ทำพลับพลาไว้ใหญ่โตพร้อมแล้วเป็นแต่ยังสงสัยเล็กน้อย นำแผนที่มาให้แก้ไข ได้จารึกอักษร จ.ป.ร. และศักราช ๑๐๘ ไว้ที่หน้าเพิงศาลเทวดาแห่งหนึ่งซึ่งเป็นหินปูนเราะง่าย แล้วลงเรือไปที่เขาชันเป็นเกาะใหญ่ของเมืองพัทลุง อยู่หลังเกาะสี่เกาะห้า ระยะทางชั่วโมงหนึ่ง”
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานอยู่หน้าเพิงผาจารึกอักษรพระนาม (หน้าเทวดา) บนเกาะมวย มีลักษณะเป็นพระบรมรูปหล่อด้วยโลหะ ทรงฉลองพระองค์ในชุดพลเรือนขนาดความสูง ๑๘๐ เซนติเมตร ฐานและแท่นประดิษฐานสูง ๓ เมตร องค์พระบรมรูปออกแบบและปั้นโดยนายเชิดชัย ศิริโภคา ชาวอำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ส่วนฐานออกแบบโดยสำนักงานโยธาธิการจังหวัดพัทลุง การดำเนินการนี้จังหวัดพัทลุงได้อนุมัติโครงการและขออนุญาตการก่อสร้าง ไปยังกรมศิลปากรตามหนังสือด่วนมากที่ พท ๐๐๑๕.๑/๑๑๙๐ ลงวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๘ และกรมศิลปากรได้เห็นชอบในหลักการจัดสร้างตามหนังสือที่ ศธ ๐๗๑๓/๓๔๓๒ ลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๓๘ ต่อมาอำเภอปากพะยูนได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๓๘ ตรงกับวันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๙ เวลา ๑๐.๓๐ น. (ราชาฤกษ์) โดยมีนายประสิทธิ์ พรรณพิสุทธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานในพิธี และได้ประกอบพิธีประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ ณ วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีชวด เวลา ๑๕.๐๐ น. ในทุก ๆ ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ องค์การบริหารบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก ร่วมกับหน่วยงานราชการ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งพสกนิกรในตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง จึงได้พร้อมใจกันจัดงานย้อนรอยประวัติศาสตร์ "ตามรอยพระพุทธเจ้าหลวง” ในระหว่างวันที่ ๒๓-๒๖ กรกฎาคม ของทุก ๆ ปี ซึ่งได้เริ่มจัดขึ้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นปีแรก จนถึงปีปัจจุบัน โดยพิธีบวงสรวงจะมีขึ้นในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ ๒๔ กรกฎาคม และจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ รณรงค์ให้ผู้ร่วมงานแต่งกายชุดไทย มีการลงเรือเพื่อไปทำพิธีกรรมบวงสรวงทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู บนเกาะ และมีการทำพิธีกรรมบวงสรวงทางศาสนาพุทธที่บนฝั่ง การแสดงศิลปวัฒนธรรม เช่น หนังตะลุง มโนราห์ การจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน
พิธีกรรม
สำหรับพิธีบวงสรวงพระพุทธเจ้าหลวง มีลำดับขั้นตอนของพิธี ดังนี้
ลำดับที่ ๑ การเตรียมและจัดวางเครื่องบวงสรวง | ||||||
ลำดับที่ ๒ ข้าราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่ พ่อค้าประชาชน พร้อมกันในพิธี | ||||||
ลำดับที่ ๓ ประธานในพิธีจุดเครื่องทองน้อย | ||||||
ลำดับที่ ๔ แขกผู้มีเกียรติวางพวงมาลา | ||||||
ลำดับที่ ๕ ประธานวางพวงมาลาข้อพระกร | ||||||
ลำดับที่ ๖ ประธานกล่าวคำสดุดี | ||||||
ลำดับที่ ๗ ดนตรีบรรเลงเพลงสดุดี | ||||||
ลำดับที่ ๘ เริ่มประกอบพิธีบวงสรวง โดยเจ้าหน้าที่พราหมณ์
|
||||||
ลำดับที่ ๙ รำมโนราห์ถวายสักการะ | ||||||
ลำดับที่ ๑๐ ลาเครื่องราชสักการะบวงสรวง | ||||||
ลำดับที่ ๑๑ ประธานทำการหยิบเครื่องบวงสรวง | ||||||
ลำดับที่ ๑๒ จุดประทัด โปรดข้าวตอกดอกไม้ |
ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง
หลังจากเก็บรังนกเสร็จสิ้นในแต่ละครั้งนั้นก็จะปิดเกาะประมาณ ๓-๔ เดือน และครั้งสุดท้ายหลังจากการเก็บรังนกเสร็จก่อนจะมีการออกเกาะก็จะมีพิธีบวงสรวงใหญ่อีกครั้ง โดยจะมีการตั้งบวงสรวงเครื่องเซ่นไหว้ มีการทำพิธีด้วยหมอ ชาวบ้าน และนิมนต์พระมาทำพิธีในการบวงสรวง ซึ่งจะมีการทำพิธี ๒ วัน ๑ คืน จะมีการละเล่นหนังตะลุง มโนราห์ เป็นการแก้บนที่ได้ทำการจัดเก็บรังนกที่ผ่านมาได้ราบรื่น ครบสมบูรณ์ แคล้วคลาดปลอดภัย เมื่อเสร็จสิ้นพิธีกรรมต่าง ๆ ก็จะมีการออกเกาะ หลังจากนั้นจะมี การเข้าเกาะมาเก็บรังนกอีกครั้งในประมาณเดือนมกราคมของปีถัดไป
ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ถวายราชสดุดีแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ภาพจาก : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง
การจัดพิธีบวงสรวงพระพุทธเจ้าหลวง ขึ้นเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน จากการเสด็จประพาสและประทับแรม ณ หมู่เกาะสี่ เกาะห้าตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ในครั้งนั้น จึงถือเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การจดจำไว้อย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรก ที่ได้ทรงเสด็จเยี่ยมพสกนิกรไพร่ฟ้าของแผ่นดินถึงถิ่นเมืองพัทลุง ที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงมาก และการเสด็จประพาสหัวเมืองภาคใต้เต็มไปด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง เพราะการคมนาคมไม่สะดวกเช่นทุกวันนี้ นอกจากกิจกรรมที่จัดขึ้นดังกล่าว ผู้มาเที่ยวงานยังสามารถไปเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ที่พระพุทธเจ้าหลวงได้เคยเสด็จประพาส อันได้แก่ เขาชัน เกาะสี่-เกาะห้า ที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งขุมทรัพย์ของจังหวัดพัทลุง เพราะบนเกาะแห่งนี้ เป็นเกาะรังนกที่มีมูลค่ามหาศาล และธรรมชาติของเกาะก็มีความงดงามมาก อีกแห่งหนึ่งคือที่หาดแสนสุขลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง ที่ซึ่งเคยเสด็จประทับแรมใกล้ ๆ กันก็มีวังเจ้าเมืองพัทลุง พิพิธภัณฑ์แห่งประวัติศาสตร์ วัดวัง เขาอกทะลุ ถ้ำมาลัยเทพนิมิต วัดคูหาสวรรค์ ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษาและน่าเที่ยวชมเป็นอย่างยิ่ง
ชาลิสา ทองขาวเผือก. (2565). พิธีบวงสรวงพระพุทธเจ้าหลวง. สืบค้น 7 พ.ค. 67, จาก https://www2.m-culture.go.th/
phatthalung/ewt_news.php?nid=3874&filename=content_Jpp
องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก. (2564). ตามรอยศาสตร์พระราชา. พัทลุง : องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก.