เทศบาลตำบลปริก
 
Back    29/09/2022, 11:04    1,825  

หมวดหมู่

จังหวัด


ประวัติความเป็นมา


ภาพจาก : https://www.tonprik.go.th/population_prik

                    คำว่าปริกมาจากชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งชอบขึ้นอยู่ตามสายห้วย ลำธารหรือริมคลอง ปริกเป็นพืชที่ชอบอยู่ใกล้น้ำ ลักษณะของต้นปริกเป็นไม้เนื้อปานกลาง ไม่อ่อน ไม่แข็ง มีใบคล้ายใบโพธิ์หรือใบปอ  ต่อมาชุมชนก็นำคำว่าปริกว่าเป็นชื่อเรียกนามชุมชม ซึ่งมีอยู่มากหมายหลาย ๆ พื้นที่ในภาคใต้ จะเห็นว่าตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงมาถึงใต้สุดแดนสยาม มีชื่อหมู่บ้านที่มีคำว่า "ปริก" อยู่จำนวนไม่น้อย เช่น บ้านห้วยปริก บ้านลำปริก บ้านนาปริก และบ้านปริก เป็นต้น ซึ่งแต่ละที่แต่ละแห่งก็ล้วนมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ก็เช่นเดียวกันจากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ที่ได้เล่าขานสืบต่อกันมาว่า ในชุมชนเทศบาลตำบลปริกนั้นมีคลองสายหนึ่งที่ไหลผ่านใจกลางของชุมชนชื่อว่า "คลองปริก" ทั้งนี้เพราะมีต้นปริกขึ้นอยู่ตามสายคลองเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ตันปริกยังขึ้นอยู่ในบริเวณทุ่งที่น้ำท่วมถึงด้วย ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่าหมู่บ้านปริกและตำบลปริก ในเวลาต่อมาต้นปริกได้หายสาบสูญไปจากพื้นที่ตำบลปริกเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๖๐-๗๐ ปี มาแล้ว จากบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ (จากหนังสือเมื่อปัญญาเบ่งบานที่บ้านปริก) เล่าให้ฟังว่าเป็นการเรียกขานกันตามชื่อของต้นปริก ซึ่งเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งที่แตกต่างจากต้นปริกทั่ว ๆ ไป ที่เป็นพืชล้มลุกหรือพืชที่จัดอยู่ในประเภทเฟิร์น ต้นปริกที่ว่านี้เป็นพืชยืนต้น ไม้เนื้ออ่อนค่อนข้างแข็งนิด ๆ เป็นสายพันธุ์ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างปอกับพลา มีลําต้นสูงเต็มที่ประมาณ ๑๐-๑๕ เมตร ในอดีตที่ผ่านมาจะมีต้นปริกดังกล่าวขึ้นอยู่เรียงรายตามสายคลองและเป็นหย่อม ๆ ในพื้นที่ราบลุ่มของตําบล จนกระทั่งชาวบ้านในอดีตได้ตั้งชื่อชุมชนแห่งนี้ว่า “บ้านปริก” นอกจากนี้ยังมีสายคลองปริกไหลตัดผ่านกลางหมู่บ้านและชุมชน ทําให้คนรุ่นหลัง ๆ เรียกตาม ๆ กันมาว่าบ้านปริกบ้าง ตําบลปริกบ้าง ตําบลปริกจึงถูกตั้งชื่อขึ้นตามลักษณะภูมินิเวศ อันสะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณและแมกไม้ ที่ขึ้นอยู่ตามสายคลองและที่ราบลุ่มของตําบล คนตําบลปริกจึงมีความรักความผูกพันในชุมชนสูงมาก มีความสัมพันธ์ในระดับเครือญาติ มีการร่วมมือกันและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร่วมแรงร่วมใจทํากิจกรรมต่าง ๆ ทางสังคมด้วยกันอยู่อย่างเนือง ๆ และต่อเนื่องเป็นรุ่น ๆ สืบทอดกันมา สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นจุดเด่นของคนในตําบลปริก ต่อมานายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก นายกอเส้ม ดาอี นายอุสมาน หวันละเบ๊ะ รองนายกเทศมนตรีตำบลปริก ได้พยายามสืบเสาะหาต้นไม้ที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นต้นปริกที่เป็นต้นกำเนิดของตำบลปริก โดยการเก็บต้นพันธุ์มาแล้วได้เชิญคนเฒ่าคนแก่ที่พอจะรู้จักต้นปริกมาพิสูจน์และยืนยันเพื่อที่จะนำกลับมาเพาะ และขยายพันธุ์ใหม่อีกครั้ง การค้นหาต้นปริกใช้เวลาอยู่นานประมาณ ๓ ปีเศษ (ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๒-๒๕๔๕) ในช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๕ คณะผู้บริหารเทศบาลตำบลปริก ได้รับการยืนยันจาก นายบัญญัติ อัตตมณี จพง.สาธารณสุข ของอำเภอสะเดาว่า ได้พบต้นปริกอยู่ที่วัดปริก ตำบลลำไพล อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ทางคณะผู้บริหารทั้ง ๓ ท่านรวมทั้งนายบัญญัติ อัตตมณี ได้เดินทางไปยังวัดปริก และได้พบกับเจ้าอาวาสวัดปริก จึงได้ขอแขนงและกิ่งต้นปริกจากเจ้าอาวาสวัดปริก เพื่อมาเพาะชำและปลูกไว้ที่หลังบ้านของนายสุริยา ยีขุน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นต้นมา เพื่อเป็นการขยายผลไปสู่ทุกชุมชนในเขตเทศบาลตำบลปริกเบื้องต้น อย่างน้อยชุมชนละ ๑ ต้น โดยเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ และในวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๔๘ เทศบาลตำบลปริก โดยนายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี และกลุ่มแกนนำทีมงานคนค้นคลองจากหาดใหญ่ นำโดยนายเถกิงศักดิ์ พัฒโน อาจาจารย์พิชัย ศรีใส และชาวบ้านในเขตเทศบาลตำบลปริก ได้ร่วมกันปลูกต้นปริกในบริเวณริมคลองปริก จำนวน ๘ ต้น เพื่อเป็นการนำต้นปริกคืนสู่ถิ่นฐานเดิม และหวังว่าจะได้เป็นสัญลักษณ์ของชุมซุนสืบไป หลังจากนั้นเป็นต้นมาชาวเทศบาลตำบลปริก ก็จะได้รับต้นปริกไปปลูกตามบ้านเรือนของตนเอง และนำมาปลูกตามริมคลองปริก เนื่องในโอกาสวันสำคัญ ๆ ต่าง ๆ เช่น วันสิ่งแวดล้อมไทย และวันผู้สูงอายุ เป็นต้น จึงทำให้เทศบาลตำบลปริก มีต้นปริกกลับคืนมาสู่ถิ่นฐานเดิม และพร้อมที่จะเป็นแหล่งเพาะและขยายพันธุ์ตันปริกดังกล่าวออกไปสู่ที่สาธาณะมต่อไป


ภาพจาก : https://www.tonprik.go.th/population_prik


                   ย้อนรอยเทศบาลตำบลปริก
                   เทศบาลตำบลปริก ได้รับการจัดตั้งขึ้นตาม "พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. ๒๕๔๒"  ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๙ ก. วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด ๙๐ วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือตั้งแต่วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๒ โดยยกฐานะสุขาภิบาลปริกเป็นเทศบาลตำบลปริก
                   ปริกชุมชนน่าอยู่
           หลายคนอาจมองว่าปริกเป็นเพียงตำบลเล็ก ๆ ตำบลหนึ่งซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ สายสำคัญจากอำเภอหาดใหญ่ เพื่อผ่านไปสู่อำเภอสะเดา และประเทศมาเลเซียเพียงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว "ตำบลปริก" มีอะไรมากว่าที่หลายคนคิด เทศบาลตำบลปริก ประกอบขึ้นด้วยชุมชนทั้งหมด ๗ ชุมชน ประกอบด้วย
ชุมชนตลาดใต้-บ้านกลาง ชุมชนตลาดปริก ชุมชนสวนหม่อม ชุมชนปริกใต้ ชุมชนทุ่งออก ชุมชนร้านใน และชุมชนปริกตก สถิติประชากร ณ เดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ ๒๕๖๗ รวมทั้งสิ้น ๖,๔๒๕ คน
       
           ที่ตั้งและลักษณะภูมิประเทศ
           ตําบลปริกเดิมเป็นที่ตั้งกิ่งอําเภอปริกขึ้นกับอําเภอเหนือ (อําเภอหาดใหญ่ในปัจจุบัน) มีเขตแดนติดต่อกับเมืองไทรบุรี ที่บ้านหัวถนน ซึ่งก่อนนั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เมืองไทรบุรียังเป็นเมืองส่วนหนึ่งของสยาม (ไทย) ต่อมาเมื่อได้มีการยกเมืองไทรบุรีให้กับประเทศมาลายู (ชื่อของประเทศมาเลเซียในขณะนั้น) ตามข้อตกลงที่ประเทศสยาม (ไทย) มีกับรัฐบาลอังกฤษที่ยกดินแดนบางส่วนให้กับอังกฤษ ได้แก่ กลันตัน ตรังกรานู ไทรบุรี และเปอลิส จึงได้มีการแบ่งเขตประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียที่บ้านควนไม้ดําหรือบ้านไทยจังโหลนในปัจจุบัน และยังมีผู้คนบางส่วนจะเรียกชุมชนที่นั่นว่าบ้านด่านนอก ดังนั้นจึงได้ย้ายที่ตั้งของกิ่งอําเภอปริกเดิมมาไว้ที่ตลาด สะเดา และได้ตั้งชื่อใหม่เป็นอําเภอสะเดาขึ้นกับจังหวัดสงขลาจนถึงปัจจุบันนี้ และได้ประกาศเขตตําบลปริกเป็นตําบลหนึ่งของอําเภอสะเดา โดยมีอาณาเขตที่ติดกันคือ

 - ทิศเหนือติดกับอบต.พังลา อําเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
- ทิศใต้ติดกับเทศบาลตําบลสะเดา อบต. สํานักแต้ว อําเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
- ทิศตะวันออก ติดกับ อบต. คลองทราย อบต. ปลักหนู อําเภอนาทวี จังหวัดสงขลา
- ทิศตะวันตก ติดกับเขตพื้นที่ อบต. ทุ่งหมอ และ อบต. ปาดังเบซาร์ อําเภอสะเดา จังหวัด สงขลา

                 ลักษณะภูมิประเทศ
                ตําบลปริกส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบร้อยละ ๗๐ และที่ราบเชิงภูเขา ร้อยละ ๓๐ ในบริเวณพื้นที่ราบเชิงภูเขามีป่าไม้ ลุ่มน้ำและป่าชุมชน ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงเกิดแหล่งน้ำลักษณะสําคลองหลายสายโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีคลองอู่ตะเภาเป็นแหล่งน้ําที่สําคัญ และคลองปรึกเป็นลําน้ำสายรองลงมาที่ไหลผ่านชุมชน ซึ่งเอื้อต่อการประกอบอาชีพ เกษตรกรรมของประชาชนในระดับพื้นที่การบริหารงานพื้นที่ 
     
                 หลากหลายสังคมวัฒนธรรม
            ด้านความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามถึงร้อยละ ๙๐ ของจํานวนประชากรทั้งหมดในเขตเทศบาล มีมัสยิดจํานวน ๗ แห่ง ที่เหลือร้อยละ ๑๐ นับถือศาสนาพุทธ แต่ถึงแม้จะมีความต่างกันทางศาสนาแต่ผู้คนในตําบลปริกอยู่กันแบบพี่น้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จึงเห็นได้ว่าเทศบาลตําบลปริกมีทั้งวัฒนธรรมประเพณีของไทยพุทธและไทย มุสลิมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งจัดเป็นลักษณะสังคมแบบพหุวัฒนธรรมอย่างลงตัวสังคมหนึ่ง


ความสำคัญ

                  เทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา คือเมืองเล็ก ๆ จากทางใต้ของประเทศไทย ที่มีแนวคิดการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนในชุมชน มุ่งเน้นให้การพัฒนาทุกอย่างต้องตอบสนองต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และการพัฒนานั้นต้องมาจากประชาชนเอง เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งยั่งยืนของประชาชนและสังคม เทศบาลตำบลปริก ใช้หลัก ๗ สังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเทศบาลตำบลปริก โดยมีหัวข้อดังนี้

๑. สังคมเอื้ออาทร
๒. สังคมคนดี 
๓. สังคมไม่เดือดร้อน
๔. สังคมสวัสดิการ 
๕. สังคมรักษ์โลก
๖. สังคมปรับตัว
๗. สังคมสันติสุข

 


ภาพจาก : https://thaihealthycommunity.org/?p=11597


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
เทศบาลตำบลปริก
ที่อยู่
ตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
จังหวัด
สงขลา


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ดวงพร เฮงบุณยพันธุ์ มลทิพย์ ขลังธรรมเนียม สุริยา ยีขุน. (2552). เมื่อปัญญาเบ่งบานที่บ้านปริก : เทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา.
            กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024