โบราณสถานวัดแก้ว
 
Back    04/06/2021, 14:46    127  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา

          โบราณสถานวัดแก้วหรือวัดรัตนาราม ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านวัดแก้ว ตำบลเสม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากการขุดค้นทางโบราณคดีของกรมศิลปกร ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ พบแนวอิฐทางด้านตะวันออกบริเวณที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นซากวิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๓ เมตร ยาว ๗.๕ เมตร จากหลักฐานทางด้านโบราณคดีที่พบวัดแก้วเป็นวัดเก่าแก่สันนิษฐานว่าโบราณสถานวัดแก้วสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ สร้างขึ้นเนื่องในพุทธมหายาน นิกายวัชรยาน จากนั้นได้มีการเข้ามาใช้ศาสนสถานแห่งนี้อีกครั้งในสมัยอยุธยา มีโบราณสถานที่สำคัญเรียกว่า เจดีย์วัดแก้ว โดยสันนิฐานว่าสร้างร่วมสมัยกับเจดีย์วัดพระบรมธาตุไชยาคือระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕  ถือเป็นโบราณสถานที่สำคัญและมีสภาพสมบูรณ์ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นเจดีย์ทรงปราสาท ก่ออิฐไม่สอปูน ขัดผิวหน้าอิฐเรียบ ผังเป็นรูปกากบาท มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรม คือฐานชั้นล่างสุดเป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ลักษณะเป็นฐานประทักษิณ มีบันไดทางขึ้นทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก กึ่งกลางของฐานเขียงมีการเว้นร่องและก่ออิฐเว้นช่อง ต่อด้วยบัวคว่ำและลูกแก้ว อาคารเรือนธาตุฐานอาคารเรือนธาตุมีขนาด ๑๘x๑๘ เมตร ระหว่างมุมมีการเพิ่มเก็จ ผนังอาคารตกแต่งด้วยเสาติดผนังและเซาะร่องผ่ากลางโคนเสาจากโคนไปสู่ยอด (คล้ายกับจันทิกลาสันในชวา ประเทศอินโดนีเซีย และปราสาทจาม ศิลปะมิเซนในเวียดนาม) มีมุข ๔ ด้าน มุขด้านตะวันออกเป็นทางเข้าสู่ห้องโถงกลาง มีขนาด ๔x๔ เมตรประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยก่ออิฐติดกับผนังอาคาร สภาพชำรุดเหลือเพียงหน้าตัก ขนาดกว้าง ๔ เมตร ด้านซ้ายและขวาของผนังเจาะเป็นซุ้มจรนัมประดิษฐานพระพุทธรูป โดยพบพระอักโษภยะในซุ้มจรนัมทางด้านทิศใต้ มุขทางด้านทิศใต้ด้านในเป็นห้องคูหาปรากฏเสาประดับกรอบประตูก่ออิฐ ด้านข้างมีซุ้มจำลองย่อส่วนจากรูปแบบอาคารจริง ประตูทางเข้าทางมุขทิศใต้มีกรอบประตู ทับหลังประตูและธรณีประตูทำจากหินปูน ความสูงของประตูประมาณ ๑.๖ เมตร ภายในห้องคูหาประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยก่ออิฐสภาพชำรุด ด้านซ้ายและขวาของผนังเจาะเป็นซุ้มจรนัมประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยก่ออิฐ สันนิษฐานว่าลักษณะของมุขในแต่ละด้านน่าจะมีความคล้ายกัน มุขทางด้านทิศเหนือ พบการนำพระพุทธรูปศิลาทรายแดง สมัยอยุธยาเข้ามาประดิษฐานภายในมุขแทน มุขทางด้านทิศตะวันตกมีการตกแต่งผนังโดยการทำซุ้มจำลอง ส่วนยอดของอาคารพังลงมาหมด สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นลักษณะชั้นคล้ายปราสาท เหนือชั้นเรือนธาตุทางด้านทิศใต้ปรากฏร่องรอยซัมกุฑุชั้นของหลังคาแต่ละชั้นน่าจะมีการประดับสถูปจำลอง เนื่องจากพบสถูปจำลองทำด้วยศิลาทรายแดงหลายองค์บริเวณรอบฐาน จากลักษณะผังของโบราณสถานวัดแก้วมีลักษณะคล้ายจันทิกะลาสันในชวาภาคกลาง กำหนดอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ แต่ลักษณะการตกแต่งภายนอกคล้ายกับปราสาทจามกำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ จึงกำหนดตัวอายุของโบราณสถานวัดแก้วอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่พบที่วัดแก้วได้แก่ พระเจ้าอักโษภยะ ปางมารวิชัยพบในซุ้มจรนัมทางด้านทิศใต้ของมุขตะวันออก ทำจากหินศิลาทรายแดงที่ฐานสลักเป็นรูปสิงห์ข้างละตัว มีวัชระอยู่ตรงกลาง กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ พระพุทธรูปสมัยทวารวดีและสมัยอยุธยา ชิ้นส่วนประติมากรรมรูปมือถือดอกบัว ศึวลึงค์ ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม เช่น กรอบประตูศิลา ธรณีประตูศิลา ยอดสถูปศิลาทำเป็นรูปดอกบัว
           

         หลักฐานทางโบราณคดีและรูปแบบศิลปกรรม


ภาพจาก: http://365surattravel.sru.ac.th/kaew-temple/ 

          ๑. เจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงปราสาท  โครงสร้างก่ออิฐไม่สอปูน ขัดผิวหน้าอิฐเรียบ อยู่ในผังรูปกากบาท ฐานชั้นล่างสุดเป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ลักษณะเป็นฐานประทักษิณ มีบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ตัวอาคารเรือนธาตุเป็นอาคารทรงจตุรมุขขนาดประมาณ ๑๘ x ๑๘ เมตร ระหว่างมุมของมุขต่อด้วยมุมของเรือนธาตุ (มุมใหญ่ต่อมุมใหญ่) ออกเก็จเพิ่มมุมอีก ๑ มุม จนดูคล้ายย่อมุมไม้ยี่สิบ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วมิใช่การย่อมุมเพราะมุมที่แตกออกมาเป็นมุมเล็กคนละขนาดกับมุมใหญ่ (เรียกว่าเพิ่มมุม) ตัวเรือนธาตุวางอยู่บนชุดฐานบัวที่ประกอบด้วยฐานเขียง กึ่งกลางฐานเขียงค่อนไปทางด้านบน เว้นเป็นร่องและก่ออิฐเว้นช่อง ต่อด้วยบัวคว่ำและลูกแก้ว ชุดฐานนี้ทำหน้าที่เป็นบัวตีนธาตุ ถัดขึ้นไปเป็นผนังอาคาร มุขด้านทิศตะวันออกเป็นทางนำเข้าสู่ห้องโถงกลาง (ห้องครรภคฤหะ) ขนาดประมาณ ๔ x ๔ เมตร ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานคือพระพุทธรูปปางมารวิชัยก่ออิฐ มีสภาพชำรุดเหลือเฉพาะหน้าตักขนาดกว้างเกือบ ๔ เมตรถึงส่วนบั้นพระองค์ ส่วนหลังของพระประธานก่ออิฐติดกับผนังอาคาร ด้านซ้ายและขวาของพระประธานเจาะซุ้มจระนำสำหรับประดิษฐานพพระพุทธรูปก่ออิฐ ส่วนหลังองค์พระติดกับผนังอาคารเช่นเดียวกัน ผนังด้านนอกอาคารตกแต่งด้วยเสาติดผนังและเซาะร่องผ่ากลางเสาจากโคนไปถึงยอดเสาเสารูปแบบนี้มีใช้ในจันทิกะลาสันในชวาภาคกลาง ประเทศอินโดนีเซีย มุขด้านทิศใต้ยังอยู่ในสภาพดี ด้านในลักษณะเป็นห้องคูหาปรากฏเสาประดับกรอบประตูอิฐ ด้านข้างมีซุ้มจำลองคงย่อส่วนจากรูปแบบอาคารจริง ซึ่งปัจจุบันส่วนยอดหักพังไปหมดแล้ว ประตูทางเข้ามุขด้านทิศใต้มีกรอบประตู ทับหลังประตูทำจากหินปูน อยู่ในสภาพดั้งเดิม ความสูงของประตูประมาณ ๑.๖๐ เมตร เข้าใจว่าประตูทางเข้าทุกด้านของมุขคงมีลักษณะนี้หมดทุกด้าน ภายในห้องคูหาประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยก่ออิฐสภาพชำรุด ส่วนหลังองค์พระก่อติดกับผนังอาคาร ด้านซ้ายและขวาเจาะซุ้มจระนำสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปเช่นเดียวกับห้องโถงกลาง ที่ผนังด้านทิศตะวันตกของมุขด้านนี้มีการตกแต่งผนังโดยทำซุ้มจำลอง แสดงว่าผนังมุขทุกด้านคงตกแต่งด้วยซุ้มจำลองเหมือนกันหมด อย่างไรก็ดีมุขด้านทิศเหนือมีร่องรอยการบูรณะปรับเปลี่ยน โดยนำพระพุทธรูป หินทรายสีแดงสมัยอยุธยาเข้ามาประดิษฐานในคูหาแทน เหนือชั้นเรือนธาตุด้านทิศใต้ปรากฏร่องรอยซุ้มหน้าบันเป็นวงโค้งเล็ก ๆ (กุฑุ) ประดับอยู่ น่าจะมีทั้งสี่ด้าน ส่วนยอดของอาคารถัดขึ้นไปจากห้องนี้หักพังลงมาหมดแล้วแต่เข้าใจว่าน่าจะเป็นการจำลองอาคารลดหลั่นขึ้นไปเป็นชั้นๆ แบบปราสาทขอมหรือปราสาทจาม หากแต่ว่าแต่ละชั้นของหลังคาคงประดับด้วยสถูปจำลอง (สถูปิกะ) อันเป็นสัญลักษณ์แห่งมณฑลจักวาลของพุทธศาสนามหายาน ทั้งนี้สถูปจำลองทำด้วยศิลาทรายแดงหลายองค์บริเวณรอบฐานอาคาร คงจะหักพังมาจากส่วนยอด และเข้าใจว่ายอดบนน่าจะเป็นสถูปกลมใหญ่ ๑ องค์ รับกับสถูปจำลองที่ประดับอยู่ตามชั้นหลังคา 
      จากรูปลักษณะแผนผังรูปกากบาทประกอบด้วยเรือนธาตุและมุขทั้งสี่ด้าน มีลักษณะคล้ายจันทิกะลาสัน สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระนางตารา ในศิลปะชวาภาคกลาง กำหนดอายุจากจารึกที่พบที่จันทิกะลาสันตรงกับ พ.ศ. ๑๓๒๑ (Ariswara ,๑๙๙๖: ๔๓ ) แต่ลักษณะการตกแต่งภายนอกมีความคล้ายคลึงกับปราสาทในศิลปกรรมจากสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่นที่สร้างสรรค์ขึ้นในเมืองไชยาเอง โดยได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปกรรมมาจากอินเดีย ส่วนที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกับศิลปะในประเทศเพื่อนบ้านไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นผู้รับหรือผู้ส่งอิทธิพลให้แก่กัน กำหนดอายุโบราณสถานราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ 


           ๒. โบราณวัตถุจากการขุดค้นบริเวณห้องโถงกลาง


ภาพจาก: http://365surattravel.sru.ac.th/kaew-temple/ 


                ๒.๑ พระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง ได้แก่พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลาทรายแดง สูง ๖๔ เซนติเมตร หน้าตัก ๔๐ เซนติเมตร สภาพสมบูรณ์ 
                ๒.๒ พระพุทธรูปศิลปะอยุธยา ได้แก่พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลาทรายแดง สูง ๙๖ เซนติเมตร หน้าตัก ๑๐๒ เซนติเมตร พระเศียรหัก พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลาทรายแดง สูง ๙๔ เซนติเมตร หน้าตัก ๑๒๐ เซนติเมตร พระเศียรหัก พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลาทรายแดง สูง ๔๔ เซนติเมตร หน้าตัก ๖๐ เซนติเมตร พระเศียรและพระพาหาขวาหัก พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลาทรายแดง สูง ๕๙ เซนติเมตร หน้าตัก ๓๗ เซนติเมตร พระพุทธรูปปางมารวิชัย ปูนปั้น สูง ๖๐ เซนติเมตร หน้าตัก ๘๕ เซนติเมตร พระเศียรหัก พระพุทธรูปปางมารวิชัย ปูนปั้น สูง ๖๐ เซนติเมตร หน้าตัก ๘๗ เซนติเมตร พระพุทธรูปทรงเครื่อง ศิลาทรายแดงพบครึ่งองค์ สูง ๓๑ เซนติเมตร เศียรพระพุทธรูปศิลาทรายแดงสูง ๖๗ เซนติเมตร เศียรพระพุทธรูปศิลาทรายแดงสูง ๔๐ เซนติเมตร เศียรพระพุทธรูปศิลาทรายแดงสูง ๑๕ เซนติเมตร เศียรพระพุทธรูปศิลาทรายแดงสูง ๙ เซนติเมตร เศียรพระพุทธรูปศิลาทรายแดงสูง ๑๗ เซนติเมตร เศียรพระพุทธรูปศิลาทรายแดงสูง ๓๙ เซนติเมตร เศียรพระพุทธรูปศิลาทรายแดงสูง ๒๗.๕ เซนติเมตร พระนาสิกชำรุด เศียรพระพุทธรูปศิลาทรายแดงสูง ๒๓ เซนติเมตร เศียรพระพุทธรูปปูนปั้นสูง ๑๙ เซนติเมตร 
             ๒.๓ พระพุทธรูปศิลปะลพบุรี ได้แก่พระพุทธรูปยืนนูนสูงปางประทานอภัยศิลา สูง ๓๒ เซนติเมตร กว้าง ๒๐ เซนติเมตร 
             ๒.๔ รูปเคารพในพุทธศาสนานิกายมหายาน ได้แก่ชิ้นส่วนประติมากรรมรูปมือถือดอกบัว สลักจากหินทราย สีเขียว สูง ๑๖.๕๐ เซนติเมตร ลักษณะเป็นมือซ้ายกำลังถือดอกบัว ค้นพบในห้องโถงกลาง ภาพสลักชิ้นนี้อาจจะเป็นพระหัตถ์ซ้ายของพระโพธิสัตว์ปัทมปาณี 
๒.๕ รูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ ได้แก่พระคเณศน์ศิลาทรายไม่มีเศียร สูง ๓๖.๕ เซนติเมตร ฐานกว้าง ๕๗ เซนติเมตร พระคเณศน์ศิลาทราย สูง ๔๒ เซนติเมตร ฐานกว้าง ๓๐ เซนติเมตร ศิวลึงค์ศิลา สูง ๑๔ เซนติเมตร กว้าง ๗ เซนติเมตร 


ภาพจาก: http://365surattravel.sru.ac.th/kaew-temple/ 


            ๓. โบราณวัตถุจากการขุดค้นบริเวณซุ้มด้านทิศเหนือ ได้แก่พระพุทธรูปศิลปะอยุธยา ได้แก่พระพุทธรูปศิลาทรายแดง สูง ๒๑๐ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๑๖๐ เซนติเมตร พระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริดศิลปะอู่ทอง พบเศียรที่หักตกอยู่ข้างๆ สูง ๔๓ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๒๐ เซนติเมตร พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย(ห้ามญาติ)พระเศียรและพระกรซ้ายไม่มี ฐานหัก สูง ๒๑ เซนติเมตร พระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริดพระเกตหัก สูง ๒๔ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๑๕ เซนติเมตร พระสังกัจจายน์ศิลาทรายสูง๑๔ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๑๑ เซนติเมตร โดยพระพุทธรูปศิลาทรายแดงองค์ใหญ่นั้นขุดพบครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๒๑ 


            ๔. โบราณวัตถุจากการขุดค้นบริเวณมุขด้านตะวันตก 

 


              ๔.๑ พระพุทธรูปศิลปะอยุธยา ได้แก่พระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลาทรายแดง สูง ๗๘ เซนติเมตร 
              ๔.๒ ส่วนประดับสถาปัตยกรรม ได้แด่ สถูปจำลองศิลาทรายแดง ๔ ชิ้นประกอบเข้าเป็น ๑ องค์ สูง๗๒ เซนติเมตร กว้าง ๓๓ เซนติเมตร สถูปจำลองศิลาทรายแดง สูง ๖๐ เซนติเมตร กว้าง ๒๐ เซนติเมตร 

        ๕. โบราณวัตถุจากการขุดค้นบริเวณมุขด้านทิศใต้ได้แก่เครื่องถ้วยจีนกระปุกดินเผาสมัยสุโขทัยและอยุธยารวม ๒๐ ใบ 
          ๖. โบราณวัตถุจากการขุดค้นบริเวณมุขด้านทิศตะวันออก 
              ๖.๑ เครื่องถ้วยจีน กระปุกดินเผาสมัยสุโขทัยและอยุธยารวม ๔๒ ใบ                  
              ๖.๒ พระพุทธรูป ได้แก่ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ทำด้วยศิลาทรายสีแดงไม่พบพระเศียร พบในซุ้มที่ผนังทิศใต้ของมุขด้านตะวันออก พระพุทธรูปองค์นี้น่าจะได้แก่พระพุทธเจ้าอักโษภยะ ผู้ประทับอยู่ทางเบื้องตะวันออก ที่ฐานพระพุทธรูปสลักเป็นรูปสิงห์ด้านข้างฐานข้างละตัว และเบื้องหน้าของฐานมีวัชระประดับอยู่ ประติมากรรมชิ้นนี้มีลักษณะแข็งกระด้างผสมแบบศิลปะจาม 
           ๗. ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม พบวางอยู่ใต้ถุนกุฏิทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเจดีย์ได้แก่กรอบประตู ศิลา สภาพสมบูรณ์ จำนวน ๑ ชิ้น สูง ๑.๖๐ เมตร ธรณีประตู ศิลา สภาพสมบูรณ์ จำนวน ๑ ชิ้น กว้าง ๐.๕๐ เมตร ยาว ๑.๗๐ เมตร ขนาดความกว้างของประตู ๑.๓๐ เมตร (วัดระยะห่างจากรู ๒ รู สำหรับเสียบเดือยประตูไม้) 


ความสำคัญ

       โบราณสถานวัดแก้วมีความสำคัญต่อชุมชนมาก เพราะเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านแถบนั้นและบุคคลทั่วไป  ชาวบ้านจะไปทำบุญที่วัดแก้วกันอย่างสม่ำเสมอ ในวันพระ ๘ ค่ำ และวันสำคัญทางศาสนา และจากหลักฐานที่พบจากการขุดและบูรณะเจดีย์วัดแก้วของกรมศิลปากร ก็ได้พบหลักฐานต่าง ๆ พอที่จะนำไปสนับสนุนได้ว่า  เมืองไชยาอดีตเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาหรือศูนย์กลางอำนาจหรือศูนย์กลางการค้าขายอย่างใดอย่างหนึ่งหรือเกินกว่า ๑  อย่าง และมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริเวณที่ตั้งเมืองไชยาในครั้งอดีต


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
โบราณสถานวัดแก้ว
ที่อยู่
บ้านวัดแก้ว เลขที่ ๑๒๔ หมู่ที่ ๒ ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
จังหวัด
สุราษฎร์ธานี
ละติจูด
9.3785619808
ลองจิจูด
99.1903990085



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

โบราณสถานวัดรัตนาราม (วัดแก้ว). (ม.ป.ป.) สืบค้น 13 ธ.ค. 66 จาก http://365surattravel.sru.ac.th/kaew-temple/

 


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024