ภาพจาก : ชีวิตไทยชุดสมบัติตายาย, ๒๕๓๗, ๕๓
ชีวิตทุกชีวิตสิ้นสุดลงที่ความตายและไม่มีชีวิตใดจะหลีกเลี่ยงภาวะนี้ไปได้ บางชีวิตความตายถึงเร็วในขณะที่ยังไม่ถึงเวลาอันควร บางชีวิตอยู่จนถึงเวลาอันควรจึงสิ้นชีวิต การสิ้นชีวิตที่ไม่ถึงเวลาอันควรนั้นย่อมนําความเศร้าโศกและความเสียใจไปยังญาติพี่น้องและบุคคลที่รู้จักมากเป็นเท่าทวีคูณ แต่นั้นแหละไม่ว่าจะสิ้นชีวิตเร็วหรือช้า คนหนุ่มสาวหรือเฒ่าแก่คนเราย่อมเศร้าโศกเสียใจอันเกิดจากความรักผูกพันที่มีต่อกันในขณะที่มีชีวิตอยู่ ด้วยความรักความผูกพันที่มีต่อกันในขณะที่มีชีวิตนี้เอง ทําให้มนุษย์แสดงออกในลักษณะต่าง ๆ เมื่อบุคคลอันเป็นที่รักผูกพันสิ้นชีวิตลง การแสดงออกดังกล่าว เช่น การสวดมนต์ การนิมนต์พระสวด การทําบุญใส่บาตรอุทิศส่วนกุศลให้เพื่อให้ดวงจิตวิญญาณไปสู่สุคติ ตลอดถึงการแต่งกายด้วยเสื้อผ้า ที่แสดงถึงการไว้ทุกข์ และการทําพิธีกรรมอื่น ๆ การแสดงออกดังกล่าวนี้ผู้ที่ทําจะมีความรู้สึกว่าได้ทําสิ่งที่ดีงามแก่ผู้สิ้นชีวิตที่ตนรักแล้ว บางคนบางกลุ่มเชื่อว่าการทําสิ่งดังกล่าวบางอย่าง จะส่งผลดีต่อวิญญาณของผู้สิ้นชีวิต นอกจากนี้ยังเชื่อว่าจะทําให้วิญญาณไม่รังควาญผู้ที่มีชีวิตอยู่ด้วย การแสดงความรักความผูกพันต่อผู้สิ้นชีวิตได้สืบทอดกันมาตามลําดับจนกลายเป็นประเพณี
สำหรับวัฒนธรรมความเชื่อเมื่อมีการสิ้นชีวิตของชนชาวภาคใต้จะปฏิบัติเกี่ยวกับศพ อาทิ ถ้าผู้สิ้นชีวิตเป็นเด็กที่เพิ่งคลอดก็จะพาไปฝังในวันนั้นเลย โดยนิมนต์พระสวดมนต์ทําพิธี ณ ที่ฝังศพ ถ้าเป็นเด็กโตและผู้ใหญ่จะดําเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ของประเพณี หลายอย่างหลายประการ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ พิธีดอย (รัชดาวัลย์ วงษ์ชื่น (อิงจันทร์ เขียนไว้ว่า.. ถ้ามีการตายลง ณ บ้านเรือนใดเจ้าภาพต้องเขิญผู้ที่มีความรู้ในทางเวทย์มนต์หรือหมอผีมาร่วมโองการเสกทำน้ำมนต์ขับไล่ผีสางรังควาน ประพรมน้ำมนต์ที่ซากศพเพื่อป้องกันมิให้ผีมาทำความเดือดร้อน ซึ่งตามความเชื่อแล้ว เชื่อว่าผีมีอำนาจให้คุณให้โทษได้นานาประการ เรียกว่าพิธีดอย) ซึ่งพิธีนี้ทําโดยเชิญหมอที่เก่งทางไสยศาสตร์ไปทําน้ำมนต์ประพรมศพ ตลอดถึงขับไล่ผีสางไม่ให้มารังควาญ การทําพิธีดอยนี้สันนิษฐานว่าเกิดจากความกลัวของผู้ที่มีชีวิตอยู่ด้วยเชื่อกันในเรื่องวิญญาณ เกรงว่าวิญญาณของผู้ตายจะวนเวียนอยู่ในที่ที่เคยอยู่ และจะหลอกหลอนเรื่อยไป การทําพิธีดอยมีความเชื่อว่าจะทําให้แก้ไขสิ่งนี้ได้ (ในปัจจุบันไม่มีพิธีดังกล่าวแล้วเพราะความเชื่อในเรื่องวิญญาณลดลงไป)
การเอาลูกพันธุ์ (พืชท้องถิ่นภาคใต้) มาวางข้างศพก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ปฏิบัติกันเพื่อให้เป็นปริศนาธรรมว่าทุกชีวิตต้องสิ้นไปเหมือนกับเผ่าพันธุ์ที่ผ่านมา การนำเอาลูกพันธุ์มาใช้ก็หมายเอาเสียงที่ออกเป็นสําคัญ การกระทําเช่นนี้เป็นการเน้นว่าเมื่อเป็นเช่นนั้นในขณะที่มีชีวิตอยู่ควรกระทําแต่ความดีและรักษาตนอยู่ในศีลในธรรม ดังกลอนเกี่ยวกับลูกพันธุ์กับศพของนายเลียบที่ขุนอาเทศคดีนํามากล่าวว่าดังนี้
เมื่อคราวศพหลบหลับอยู่กับที่ | ปิดภูษีมิดชิดคิดสงสาร |
เอาลูกพันธุ์มาแนบกายวายปราณ | จะบันดาดบอกเล่าให้เข้าใจ |
คําว่าพันธุ์นั้นสืบต่อจากพ่อแม่ | เป็นเทียนแท้มันคงไม่สงสัย |
ให้ดูข้างพันธุ์พ่อแม่มาแต่ไร | ไม่มีใครรอดพ้นสักคนเลย |
แต่ล้วนกายแตกดับจิตลับหาย | ยังแค่กายตั้งกลิ้งนอนนิ่งเฉย |
ไม่มีใครนึกรักสักคนเลย | ตั้งหน้าเฉยเกลียดชังทั้งหญิงชาย |
แต่จะให้พาไปป่าเปลว | เป็นคนเลวทรามใหญ่ปันึกใจหาย |
น่าสมเพชเวทนาแก่ร่างกาย | เกิดมาได้เป็นมนุษย์วิสุทโธ |
เพราะมีศีลห้าประจำจึงล้ำเลิศ | ได้มาเกิดเป็นมนุษย์วิสุทธิโส |
ขณะได้พบลาภยิ่งสิ่งบุญโต | มากลับโซเปื่อยเน่าไม่เข้าการ |
ท่านทํามาเพื่อให้รู้อยู่ทั่วกัน | เราเป็นพันธุ์ปลดปลงในสงสาร |
ตลอดถึงเผ่าพงศ์ในวงวาน | อยู่ไม่นานถึงตายได้ทุกคน |
กรณีการนําลูกพันธุ์วางข้างศพเพื่อเป็นปริศนาธรรมว่าทุกชีวิตต้องเดินไปเหมือนเผ่าพันธุ์ที่ผ่านมา จะมีการทํากันในบางแห่ง ( เฉพาะในท้องถิ่นที่มีลูกพันธุ์) อย่างไรก็ตามกลอนที่นายเลียบแต่งไว้ข้างต้นย่อมเป็นสิ่งที่บันทึกเกี่ยวกับภูมิปัญญาของชาวไทยภาคได้ในส่วนที่เกี่ยวกับประเพณีศพไว้อย่างหนึ่งและเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงปรัชญาชีวิตของชาวไทยภาคใต้ ในส่วนการอาบน้ำศพเป็นขั้นตอนลำดับมา การอาบน้ำศพในอดีตจะต้องเอาดินเหนียวและขมิ้นมาดําคลุกเคล้าให้เข้ากัน และเอาน้ำร้อนน้ำเย็นและน้ำมะพร้าวผสมกัน การผสมน้ำอาบศพแบบนี้เพราะเชื่อว่าคนเกิดจากธาตุ ๔ คือดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อผสมเสร็จแล้วก็นำไปอาบให้ศพ ลูกหลาน ญาติมิตรจะอาบน้ำให้กับผู้วายชนม์ต้องกระทํากันในตอนนี้ การอาบน้ำให้ศพจะต้องให้ครบ ๑๒ ภาชนะที่ตัก ถ้าใช้ขันก็ต้องให้ได้ ๑๒ ขัน ตามโบราณประเพณี จํานวน ๑๒ ขันนั้นเป็นปริศนาธรรมประกอบด้วยอายตนะ ๑๒ คือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ทั้ง ๑๒ อย่างนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์มีในขณะที่มีชีวิตอยู่และเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความชั่วความดีต่าง ๆ นานา ดังนั้นจึงต้องระมัดระวัง ๑๒ อย่างนี้ให้มาก เพราะเป็นที่มาของวิบากสุขและวิบากทุกข์ของมนุษย์ ในการอาบน้ำศพบางแห่งนําเอาใบมะกรูด ใบมะนาวและรากสะบ้านําเข้ากับขมิ้นเอาทาศพ เพื่อดับกลิ่นและฆ่าเชื้อโรค ใบมะกรูด ใบมะนาวและรากสะบ้ามีสรรพคุณดังกล่าวชาวไทยภาคได้สมัยก่อนจึงนิยมตำเอาน้ำไปสระผมเพื่อป้องกันรังแคและฆ่าเหา
การประกอบพิธีกรรมศพของชาวไทยภาคได้ใช้เวลา ๓ วัน หรือ ๗ วัน การจะเลือกเอา ๓ วัน หรือ ๗ วัน นั้นย่อมขึ้นอยู่กับความพร้อมของเจ้าภาพเนื่องจากต้องบําเพ็ญกุศลหลายวันจึงต้องมีการรักษาศพมีให้เน่าเร็ว วิธีการรักษาศพให้อยู่ได้นานนั้น (สมัยก่อนไม่มีการฉีดฟอร์มารีนหรือโลงเย็น) จะทําด้วยการเอาน้ำผึ้งรวงผสมกับการบูรกรอกปากศพ โดยเอายอดกล้วยมาทําเป็นหลอดเพื่อให้น้ำผึ้งรวงลงไปได้มากที่สุด เวลากรอกน้ำผึ้งต้องยกศพให้นั่งเงยหน้าน้ำผึ้งจะได้ไหลลงไปสะดวก เสร็จแล้วก็ตกแต่งศพให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุดมีการหวีผมให้ศพด้วยการหวีกลับมาข้างหน้าซึ่งจะตรงกันข้ามกับคนเป็น เพราะคนเป็นนิยมหวีไปข้างหลัง หวีผมเสร็จให้หักหวีเป็นสามท่อนโยนลงในโลงศพ กล่าวว่าเป็นปริศนาธรรมว่าทุกข์ อนิจจา อนัตตา สามอย่างนี้เป็นสิ่งธรรมดาที่ทุกชีวิตจะต้องประสบ จึงต้องหักจิตหักใจอย่าให้เศร้าโศกเสียใจในการจากไปของผู้ตายให้มากนัก การนุ่งห่มเสื้อผ้าให้ศพนิยมเอาเสื้อผ้าที่ผู้ตายชอบใช้เป็นประจํานุ่งห่มให้ สมัยก่อนนุ่งโจงกระเบนก็จะจุกพกไว้ข้างหลังและโจงกระเบนไว้ข้างหน้าหรือไม่นุ่งโจงกระเบนก็ได้ ถ้าสวมเสื้อให้กลับเอาด้านหน้าไปไว้ด้านหลัง การนุ่งผ้าเช่นนี้ก็เพื่อบอกว่าความสวยงามไม่ยั่งยืนย่อมเปลี่ยนแปลงไปอย่าได้ยึดมั่นถือมั่นเลย บางแห่งใช้ผ้านุ่งผ้าห่มสั้น เพียง ๑ ศอก นุ่งห่มให้ศพเพื่อแสดงว่าอายุของคนสั้น ควรเร่งทําความดีเอาไว้เป็นดีที่สุด บางคนอาจจะสิ้นชีวิตก่อนถึงเวลาอันสมควร อันเนื่องมาจากความเจ็บไข้ได้ป่วยหรืออุบัติเหตุ ดังบทร้อยกรองที่ขุนอาเทศคดีกล่าวถึงว่า
ข้างหลังเผยเปิดข้างหน้าเวลาตาย |
นุ่งและห่มผ้านั้นสั้นหนึ่งศอก |
ผมผู้บอกคิตไปหัวใจหาย |
ชีวิตสัตว์เกิดมาสั้นก็พลันตาย |
ควรขวนขวายท่าความดีเป็นศรีตัว |
คติธรรมทางพุทธศาสนาที่คนไทยภาคใต้ได้รับการปลูกฝังมาเป็นเวลานาน จึงมักจะนำเอาพุทธธรรมมาแปรเป็นรูปธรรมให้ได้รู้ได้เข้าใจกันมากขึ้น ต่อมาจะมีการกรองมือกรองเท้าด้วยด้ายขาวแล้วโยงไปผูกไว้ที่คอเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่ต้องทําให้กับผู้ตาย ซึ่งเป็นปริศนาธรรมมีความหมายว่าคนเราเกิดมามีบ่วง ๓ บ่วง คือบุตร (คอ) ภรรยา (มือ) และทรัพย์ (เท้า) บ่วงทั้ง ๓ นี้จะเป็นสิ่งผูกมัดคนเมื่อมีชีวิตอยู่หรือทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “นิวรณ์” ดังข้อความในบาลีที่ว่า ปุตฺโต คตีเว ธะนัง ปาเท ภริยา หัตเถ ซึ่งขุอาเทศคดี เขียนเป็นร้อยกรองเกี่ยวกับนิวรณ์ไว้ว่า
มีบุตรดุจบ่วงคล้อง | คอกระสัน อยู่ฮา |
พร้อมทรัพย์ผูกบาทาพัน | แน่นไว้ |
ภรรยาเยี่ยงบ่วงขัน | ขึงรัด มือพ่อ |
ใครคัดสามปวงได้ | จึงพ้นสงสาร |
เมื่อกรองมือกรองเท้าและโยงสายด้ายผูกที่คอแล้ว ก็เอาดอกไม้ธูปเทียนซองหมากพลูใส่ในมือผู้ตาย ซึ่งจัดให้ประสานกันประหนึ่งพนมมือ การกระทําเช่นนี้ด้วยมุ่งหมายว่าจะให้เอาไปบูชาพระจุฬามณี พระธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งเชื่อกันว่ามี และอีกนัยหนึ่งแสดงถึงความเป็นพุทธศาสนิกชนของผู้ตายด้วย อีกอย่างหนึ่งชาวภาคใต้นิยมเอาเหรียญบาทใส่ปากผู้ตายด้วย ในกรณีศพที่ญาติพี่น้องมีฐานะดีหน่อยมักเอาแหวนทองใส่ปากศพ เพราะเชื่อว่าจะได้นําไปใช้ในภพภูมิที่ไปเกิดใหม่ แต่อีกส่วนหนึ่งกล่าวว่าเป็นปริศนาธรรมที่ว่าทรัพย์สินทั้งหลายเป็นของกลางมิใช่ของใครคนใดคนหนึ่งอย่าได้ไปยึดมั่นถือมั่น การที่ยึดถือดังเจ้าของเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็เอาไปไม่ได้ แม้จะเอาใส่ปากก็ยังต้องทิ้งไว้ตกเป็นของผู้อื่นยึดครองต่อไป หลวงพ่อพุทธทาส ได้เทศนาเอาไว้ว่าอย่ายึดมั่นว่าเป็นตัวกูของกู เพราะไม่มีสิ่งใดที่เราจะเป็นเจ้าของได้ตลอดไปไม่ว่าสิ่งของหรือตัวตน เมื่อตายแล้วก็พาอะไรไปไม่ได้สักอย่างเดียว สิ่งที่เหลือคือความดีและความชั่ว หากมีความดีมากความดีก็จะเป็นอนุสาวรีย์แห่งชีวิตให้คนรุ่นหลังได้กราบไหว้บูชาต่อไป แหวนที่ใส่ในปากศพนั้นเจ้าภาพส่วนใหญ่จะไม่เอาคืนถือว่าเป็นการเสียสละ ดังนั้นแหวนจึงได้สัปเหร่อไป โดยสัปเหร่อจะควักออกจากปากศพ แล้วเอาแหวนใส่ปากตนทันทีโดยไม่คํานึงว่าจะมีน้ำเน่าน้ำหนองคิดอยู่หรือไม่ การทําเช่นนี้กล่าวว่าเป็นเคล็ดเพื่อมิให้เกิดความอุบาทว์จัญไร หากไม่ทําดังว่าความไม่ดีงามความไม่เจริญรุ่งเรืองก็จะเกิดกับผู้เอาแหวนนั้น ในกรณีที่เจ้าภาพต้องการแหวนคืนสัปเหร่อก็จะคืนให้โดยทําความสะอาดแหวนเสียก่อน เจ้าภาพก็จะมอบเงินหรือสิ่งของให้สัปเหร่อแทน บางรายเอานาฬิกาข้อมือใส่ให้และลูกหลานหรือสัปเหร่อก็จะเอาไปโดยขอจากศพก่อน
ขั้นตอนต่อมาก็ใช้ใบพลูปิดหน้าศพ กรณีเจ้าภาพมีฐานะดีมักจะใช้แผ่นทองคําเปลวหรือทองอังกฤษปิด การปิดหน้าศพเป็นปริศนาธรรมว่าทุกคนเกิดมาจะต้องถูกแผ่นดินกลบหน้าคือต้องตายในที่สุด นัยยะแห่งธรรมข้อนี้เป็นการเตือนผู้ที่มียังชีวิตอยู่ให้เร่งทําความดี ประโยชน์ที่ได้จากการเอาใบพลูหรือแผ่นทองปิดหน้า คือป้องกันลูกตาโผล่ออกนอกเบ้า (แสดงให้เห็นความฉลาดของบรรพชนได้อย่างหนึ่ง) ต่อมาก็จะมีการมัดตราสังสิ่งแรกที่ทําในการมัดตราสังคือเอาผ้าขาวห่อศพให้มิดหลาย ๆ ชั้น ใช้ด้ายการผูกให้แน่นตั้งแต่หัวจรดเท้า สำหรับในเรื่องการมัดตราสังนี้เชื่อว่าเพื่อมิให้ผู้ตายลุกขึ้นมาสร้างความตกใจแก่ผู้มีชีวิตอยู่ เพราะเชื่อกันว่าวิญญาณยังอยู่ในร่าง หากศพนั้นใช้วิธีฝังบางแห่งยังใช้ก้อนหินขนาดใหญ่ทับนนศพเพื่อป้องกันมิให้ลูกขึ้น การมัดตราสังที่มีประโยชน์อย่างชัดเจนในกรณีการเผาคือทําให้ศพไม่อ้าแขนอ้าขาเป็นที่น่าเกลียด เนื่องจากการเผาศพสมัยก่อนไม่มิดชิดอย่างการเผาศพในปัจจุบันนี้ เมื่อมัดตราสังเสร็จก็จะเอาศพลงโลง โลงศพในสมัยก่อนทําด้วยไม้ลักษณะปากผายกว้างกว่าก้น ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการวางศพลงไป แนวต่อของไม้ที่ก้นโลงศพจะต้องใช้ดินเหนียวค่าผสมใบบอนหรือใบฝรั่ง (ชาวใต้เรียกชมพู่หรือย่าหมู) ยาให้ตลอดเพื่อมิให้น้ำเน่าน้ำหนองไหลซึมออกมาข้างนอก แล้วเอาปูนขาวผสมด้วยสิ่งที่ดูดซึมได้ง่าย เช่น เลื่อยโรยไว้บน จากนี้ก็เอาไม้รอดตั้งขวางโลง ๔ อัน บ้างเรียกว่า “ไม้ก้านตอง” บ้างเรียก “ไม้ข้ามเล” (เลหรือทะเล) ซึ่งหมายถึงเครื่องข้ามน้ำโอฆะ ๔ อย่าง ประกอบด้วยกามโอฆะ ภวโอฆะ ทิษฐิโอฆะ และอวิชาโอฆะ ใช้ไม้ฟาก ๗ ซี่ วางบนไม้รอดซึ่งฟาก ๗ ซี่ นั้นต้องถักเชือก ๓ แห่ง เชือกที่ถัก ๓ แห่ง ต้องไปในทางเดียวกัน เชือกถัก ๓ เปลาะนี้หมายถึงพระไตรปิฎก คือพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม การไม่ถักเชือกกลับไปกลับมาหมายความว่าข้ามพ้นแล้วจะไม่กลับไปอีก ครั้นเอาศพลงโลงเรียบร้อยแล้วก็นิมนต์พระสวดพระอภิธรรม ๑ เตียง เรียกการสวดตอนนี้ว่าการสวดหน้าศพหรือสวดหน้าไม้ การปฏิบัติเกี่ยวกับโลงและเอาศพลงโลงนั้น ปัจจุบันได้ปลี่ยนแปลงไปเพราะส่วนมากซื้อโลงศพสําเร็จรูป จึงไม่จําเป็นต้องทําไม้รอด และฟาก ๓ ชื่อย่างเมื่อก่อน ถ้าจะมีบ้างก็จะเป็นชนบทที่ห่างไกลเมือง
เมื่อเอาศพบรรจุโลงเรียบร้อยแล้วก็ถึงขั้นการทําบุญศพส่วนใหญ่จะจัดทําที่บ้าน (ปัจจุบันไม่นิยมยกเว้นบางแห่ง) ทั้งนี้คงเพราะมีความสะดวกในการจะจัดการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต้อนรับญาติพี่น้องและแขกที่ไปร่วมแสดงความอาลัยต่อผู้เสียชีวิต และแสดงความเสียใจต่อเจ้าภาพ ที่ตั้งศพจะต้องมีที่พระสวดและที่นั่งของญาติและแขกที่ไปร่วมงาน โลงศพนิยมตั้งให้ศีรษะผู้ตายหันไปทางทิศตะวันตก ด้วยความเชื่อที่สืบเนื่องมาจากเรื่องเศียรพระพิฆเนศวร์ที่ได้มาจากช้างที่นอน หันหัวไปทางทิศตะวันตก อีกนัยหนึ่งว่าการสิ้นชีวิตเหมือนกับพระอาทิตย์ตกซึ่งจะตกทางทิศตะวันตก นัยแห่งธรรมนี้ทําให้ผู้ที่มีชีวิตอยู่ได้ทบทวนว่าเมื่อมีเกิดต้องมีดับหรือมีได้ก็ไม่มีได้ หากจํากัดด้วยเรื่องที่วางให้ศีรษะหันไปทางทิศตะวันตกก็วางโลงศพตามความเหมาะสมได้ แต่ต้องไม่ให้ที่แสดงพระธรรมเทศนาอยู่ปลายเท้าศพ ที่วางโลงศพจะต้องมี ฐานรอง ๒-๓ ชั้น มีการจัดโต๊ะหมู่บูชา มีแจกันปักดอกไม้ เชิงเทียน กระถางปักธูป วางไว้ตรงหน้าศพ พระพุทธรูป การตั้งศพบําเพ็ญกุศลนิยมทํากัน ๓ วัน หรือ ๗ วัน เลือกเอาตามที่ต้องการ ในแต่ละคืนจะนิมนต์พระสวดพระอภิธรรมและแสดงธรรม การสวดพระอภิธรรมจบครั้งหนึ่งเรียกว่าหนึ่งเตียง คืนหนึ่ง ๆ อาจจะมีการสวดหลายเตียงตามความประสงค์ของเจ้าภาพและแขกที่ไปร่วมทําบุญ พระที่สวดจะนิมนต์ ๔ รูป การสวดมีจุดมุ่งหมายจะให้กุศลเกิดแก่ศพและเป็นความเชื่อว่าจะทําให้วิญญาณไปสู่ที่สุขด้วย ส่วนการเทศนาธรรมเป็นการให้ข้อคิดแก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ หลังการสวดพระอภิธรรมแล้วบางแห่งมีการสวดมาลัยด้วย การสวดมาลัยซึ่งเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นที่สาคัญมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับพระมาลัยไปเที่ยวนรกและสวรรค์
ในส่วนของการตั้งสํารับข้าวน้ำและอาหารต่าง ๆ หน้าโลงศพ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ปฏิบัติกันโดยเอาใส่ถ้วยเล็ก ๆ จะมีการตั้ง วันละ ๒ มื้อ เช้า-เย็น เพราะเชื่อกันว่าวิญญาณผู้ตายจะได้กินอาหาร บางแห่งมีการเคาะโลงศพปลุกให้รู้ว่าถึงเวลากินอาหารแล้ว วัฒนธรรมตอนนี้กล่าวกันว่าน่าจะได้รับมาจากจีน ถือว่าเป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีของลูกหลาน ที่มีต่อผู้สิ้นชีวิต ในระหว่างที่ตั้งศพบําเพ็ญกุศลนั้นเมื่อก่อนมีการประโคมดนตรีด้วย ดนตรีที่ชาวไทยภาคใต้นิยมใช้คือ “กาหลอ” ดนตรกาหลอประกอบด้วยกลองแขก ๒ ใบ ฆ้องโหม่ง ๑ ใบ ปีห้อ ๑ เลา คณะของกาหลอส่วนมากจะมี ๓ คน ครบตามจํานวนดนตรี โรงกาหลอต้องปลูกแยกจากตัวบ้าน การประโคมจะเริ่มตั้งแต่คืนแรกจนกระทั่งเสร็จงาน โรงกาหลอจะต้องมีผู้เล่นอยู่เสมอ หากมีธุระจําเป็นจะต้องเหลืออยู่อย่างน้อย ๑ คน กาหลอนับถือผีเป็นครู ก่อนการประโคมจะต้องมีพิธีเบิกปากปีซึ่งมีสิ่งต่าง ๆ คือ ดอกไม้ ธูปเทียน หมาก ๙ คํา ผ้ายาว ๒ ผืน และเงิน ๖ สลึง เป็นค่าบูชาครู เสียงกาหลอจะโหยหวนชวนผู้ที่ได้ยินได้ฟังเกิดความรู้สึกเศร้าสร้อย กาหลอจึงเป็นดนตรีที่เหมาะกับงานศพ ในวันเคลื่อนศพจากบ้านไปสู่ป่าช้า คณะกาหลอจะบรรเลงนำหน้าศพ ตอนออกจากโรงจะต้องดูทิศไม่ให้ตรงทิศ ผีหลวงหรือทิศหลาวเหล็กถือว่าเป็นทิศอัปมงคล การออกจากโรงจะต้องรื้อฝาโรงออกไป ห้ามออกทางประตูโรงนอกจากใช้กาหลอและพิณพาทย์ในการประโคมแล้ว ช่วงหลังมีการรับหนังตะลุงแสดงในงานศพด้วย จุดประสงค์มิให้งานศพเรียบวังเวงอีกทั้งญาติพี่น้องและแขกที่ไปร่วมงานได้ชมด้วย เมื่อฌาปนกิจศพเจ้าภาพก็จะเคลื่อนศพไปยังป่าช้า (สมัยก่อนไม่มีเมรุเผาศพ) การเผาศพจะต้องปฏิบัติตามที่ยึดถือกันมา คือห้ามเผาวันข้างขึ้นเลขคี่และข้างแรมเลขคู่ เช่น ขึ้น ๓ ค่ำ ๕ ค่ำ ถ้าวันข้างขึ้นเลขคู่ ข้างแรมเลขคี่ เช่น แรม ๑ ค่ำ เผาได้ไม่ว่าจะเป็นวันอะไร มีบางแห่งจะไม่เผาศพวันอังคารเพราะเชื่อว่าผีแรง (วิญญาณดุร้าย) การนําศพออกจากบ้านจะต้องทําประตูพรางหรือประตูหลอก ประตูนี้ทําโดยเอาไม้ทําเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทาบกับประตูนอกที่จะนําศพออกไป เมื่อนําศพผ่านประตูพรางไปแล้วก็นําประตูพรางไปทิ้ง ตอนนําศพออกให้เอาด้านเท้าออกก่อนและกลบลบรอยคนหามด้วย ที่ทําอย่างนี้ก็เพื่อมิให้วิญญาณผู้ตายกลับบ้านถูก ลูก ๆ หลาน ๆ ก็ต้องเอามินหม้อ (ภาษาใต้เรียกมีดหม้อหรือรอยดำที่ก้นหม้อที่หุงด้วยฟีน) ทาหน้าเพื่อมิให้ผีจําหน้าได้หรือให้ผีเกลียดจะได้ไม่กลับไปรังควาญลูกหลาน ในขณะที่เคลื่อนศพลูกหรือหลานคนสุดท้องนุ่งขาวห่มขาวเดินตามศพและถือข้าวบอกเพื่อเอาไปบอกเจ้าเปลวหรือเจ้าที่ป่าช้าในการเคลื่อนศพจะต้องมีพระนําหน้าศพ ๑ รูป เรียกว่า “พระเบิกทาง” หรือ “พระขอทาง” เชื่อว่าพระจะชี้หนทางให้ผู้ตายไปสู่สวรรค์ พระภิกษุเบิกทางมักนิมนต์พระที่ผู้ตายรักใคร่นับถือเป็นเบื้องต้น พระเบิกทางจะโปรยข้าวตอกดอกไม้ไปตลอดทาง (บางแห่งประพรมน้ำพระพุทธมนต์) ประหนึ่งว่าโปรยปรายพระธรรมคําสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเป็นถือคัมภีร์ใบลานซึ่งหมายถึงพระธรรม การกระทําดังกล่าวนี้ก็เพื่อให้บุคคลที่มีส่วนร่วมและผู้ที่พบเห็นได้คิดว่าที่สุดของชีวิตคืออย่างไร นอกจากนี้ยังมีเครื่องไทยทานได้ถวายพระเบิกทางด้วย เช่น เสื่อ หมอน มุ่ง ตะเกียง แก้วน้ำ กระโถน ถ้วยชาม ผ้าไตร มีดพร้า และกาน้ำ เป็นต้น สิ่งของที่ถวายพระเบิกทางนี้เจ้าภาพจะอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ตาย การเคลื่อนศพเมื่อก่อนจะใช้การหาม โดยใช้เชือกเส้นใหญ่ผูกกรอบ โลงศพหัวท้ายสอดไม้คานแล้วหามหาบไปยังป่าช้า ปัจจุบันการคมนาคมสะดวกจึงเคลื่อนศพด้วยรถ อย่างไรก็ตามการเคลื่อนศพด้วยการหามยังคงมีอยู่บ้างในท้องถิ่นที่การคมนาคมไม่สะดวก ตลอดระยะทางการเคลื่อนศพจะมีการบรรเลงดนตรีดังกล่าวข้างต้น สิ่งของที่เจ้าภาพจะต้องเตรียมไปเมื่อเคลื่อนศพไปป่าช้าได้แก่ ปัจจัยถวายพระที่สวด ผ้าบังสุกุล ผ้ามหาบังสุกุล ดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู บุหรี่ เครื่องดื่ม และอื่น ๆ ที่จําเป็นต้องใช้ สมัยก่อนในชนบทผู้ไปร่วมเผาศพจะนําไม้ฟีนติดมือไปด้วยคนละ ๑-๒ ดุ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดภาระเจ้าภาพในการจัดหาไม้พื้นนั้นเอง เพราะในการเผาศพ จะต้องใช้ไม้ฟินจํานวนมาก เมื่อเคลื่อนศพถึงป่าช้าจะต้องหามศพไปตั้งที่ศาลาป่าช้า (ศาลาทําพิธีศพ) บางแห่งหามศพไปตั้งในวิหารเพื่อท่าพิธีก่อนจึงจะหามไปป่าช้า เมื่อตั้งศพแล้วก็จะเป็นพิธีสงฆ์ มีการสวดศพและกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตาย เสร็จจากการสวดก็หามศพไปที่เผา อาจจะเป็นสามล้างหรือเชิงตะกอน ที่เผาที่เรียกว่า “สามส้าง” (สามสร้าง) จะปักเสา ๔ เสา กล่าวกันว่าเป็นปริศนาธรรมคือ เสาทั้ง ๓ แทนการสร้างภพและชาติ ส่วนเสาที่ ๔ เป็นสาที่หลุดพ้นจากการสร้างเสาที่ ๑ หมายถึงกิเลส ตัณหา อุปาทาน เสาที่ ๒ หมายถึงกรรม (การกระทํา) เสาที่ ๓ หมายถึงวิบาก (ผลของกรรม) ส่วนเสาที่ ๔ หมายถึงพระนิพพาน ปริศนาธรรมเช่นนี้เป็นสิ่งเตือนสติผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ว่ามนุษย์จะต้องตกอยู่ในเสา ๓ เสา การหลุดพ้นจากเสา ๓ เสาจึงเป็นสิ่งประเสริฐ นั้นคือการไปสู่เสาที่ ๔ (ปัจจุบันมีการเผาด้วยเชิงตะกอนหรือเมรุ) ก่อนการเผาจะต้องหามศพเวียนที่เผาหรือเชิงตะกอนแบบอุตราวรรต ๓ รอบ (ตรงกันข้ามกับทักษิณาวรรต) ข้าวบอกที่ลูกหรือหลานคนสุดท้องถือไปนั้น จะใช้เป็นเครื่องสังเวยเจ้าเปลวชื่อว่า ตากาลายายกาลี ที่เรียกข้าวบอกเพราะเป็นข้าวบอกเจ้าเปลวนั้นเอง ข้าวบอกจะวางข้างโลงศพและเมื่อเผาศพก็วางบนเชิงตะกอนหรือที่เผา (ข้าวบอกจะประกอบด้วย ข้าวปากหม้อ ปลามีหัวมีหาง และสตางค์จํานวนเล็กน้อย) การกระทําเช่นนี้เพื่อไม่ให้เจ้าเปลวรังเกียจ วิญญาณผู้ตาย อีกทั้งจะไม่ทําความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่ไปร่วมเผาศพด้วย ก่อนเผาจะมีพิธีซักผ้าบังสุกุลตามลําดับอาวุโสพระที่สวด ถัดจากนี้ก็เป็นพิธีเผาศพ เมื่อเริ่มเผาลูกหลานจะไหว้ขอขมาศพ การไหว้ขอขมาจะต้องให้ด้านฝ่ามือออกด้านนอกและด้านหลังมือเข้าใน การกระทำเช่นนี้มีความหมายว่าต่อไปนี้ก็ต้องจากกันเหมือนหันหลังให้กันคือไม่มีโอกาสได้พบกันอีกแล้ว ในการจุดไฟเผาจะไม่จุดต่อกันเพราะไฟหมายถึงราคะ โทสะ และโมหะ สามอย่างนี้เป็นสิ่งที่ควรละอย่าได้ต่อกัน ในขณะที่ไฟลุกให้เอาผ้าที่ปิดฝาโลงโยนข้ามกลับไปกลับมา ๓ ครั้ง เป็นปริศนาธรรมว่า ต้องหลีกพ้นจากไฟเพราะไฟเป็นของร้อนแต่ถึงไฟจะร้อนก็ไม่ร้อนเท่าไฟ ๓ คือไฟราคะ ไฟโทสะและไฟโมหะ ดังนั้นจึงต้องหลีกให้พ้น เพื่อมิให้เกิดความทุกข์ร้อนด้วยถูกไฟทั้ง ๓ เผาผลาญ ในการเผาจะมีผู้ใช้ไม้กระทุ้งโลงเพื่อให้การเผาเป็นไปอย่างดี บางที่มีการราดน้ำโลงเพื่อหล่อเลี้ยงมิให้ไหม้เร็วเกินไปก่อนที่ศพจะไหม้หมด สำหรับชาวภาคใต้แล้วก่อนที่จะทำพิธีเผาผศพจะมีการหว่านกําพริก (กํามพฤกษ์) เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชาวไทยภาคใต้ปฏิบัติก่อนการเผาศพลูกกําพริก (กํามพฤกษ์) เมื่อก่อนทําโดยเอาต้นคล้าหรือทางกล้วยมาตัดเป็นท่อน ๆ ยาวประมาณ ๑ นิ้ว นําเหรียญ ๒๕ สตางค์ หรือ ๕๐ สตางค์ (ปัจจุบันใช้เหรียญ ๑ บาท ๕ บาท) กดให้ฝังเข้าไปในเนื้อของท่อนคล้าหรือท่อนทางกล้วยจนมิดขอบเหรียญ การเอาเหรียญกดฝังเข้าไปในท่อนคล้าและท่อนทางกล้วยมีประโยชน์ คือเมื่อโยนหรือหว่านขึ้นไปสูง ๆ จะดูสวยงาม และตกลงมาถ้าถูกตัวผู้รับจะไม่เห็น (ปัจจุบันนิยมเอากระดาษสีใส ๆ ห่อ)ต่อมาการเผาหลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ของสัปเหร่อ ฝ่ายเจ้าภาพกลับบ้านเพื่อเตรียมการนิมนต์พระสวดบ้านในคืนนั้น ทั้งนี้เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ บางแห่งเมื่อกลับถึงบ้านแล้วจะเอาหญ้าคาที่กรองเป็นเชือกต่อกันให้ยาวโยงรอบ ๆ บ้าน นัยว่าเป็นการป้องกันมิให้วิญญาณของผู้ตายเข้าไปในบ้าน การใช้หญ้าคาเพราะเชื่อว่าวิญญาณหรือผีกลัว บางแห่งใช้ด้ายสีขาวที่พระทําพิธีเสกแล้วโยนรอบ ๆ บ้านด้วยจุดประสงค์เดียวกัน กลางคืนในขณะที่พระสวดจะมีการดีต้องเป็นระยะ ๆ นัยว่าเพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่ผู้ที่อยู่ข้างหลัง วันรุ่งขึ้นเจ้าภาพจะต้องไปทําพิธี “ดับธาตุ” บางแห่งเรียก “หลบธาตุ” คือการไปเก็บอัฐกระดูกนั่นเอง มักจะทําราว ๗ นาฬิกา กระดูกของผู้ตายสัปเหร่อ (บางแห่งนิยมนิมนต์พระ) จะจัดเรียงไว้เป็นรูปคนอย่างครบถ้วนทุกชิ้นให้ศีรษะหันไปทางทิศตะวันตก การดับธาตุหรือหลบธาตุเริ่มด้วยการเอาเหรียญยี่สิบห้าสตางค์หรือห้าสิบสตางค์ก็โปรยลงบนเถ้าถ่านกระดูก ราดน้ำอบไทยให้ทั่ว ตัดกิ่งไม้เล็ก ๆ วางทับเอาผ้าคลุมไว้ชั้นหนึ่งก่อนแล้ววางผ้าบังสุกุลลงไป วางดอกไม้ ธูป เทียน ด้านศีรษะ เมื่อพระซักผ้าบังสุกุลแล้วก็เอาผ้าและกิ่งไม้ออก จัดยัฐ (กระดูก) ให้หันศีรษะ ไปทางทิศตะวันออก เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าผู้ตายได้ออกจากวัฏสงสารแล้ว คือ พ้นจากโลภะ โทสะและโมหะ การกระทําดังนี้เป็นการเตือนผู้ไปดับธาตุด้วยว่าจงพยายามลดละในสิ่งไม่ดีงามทั้ง ๓ นี้ด้วย เพราะเป็นที่มาของความทุกข์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น จากนั้นก็เก็บกระดูกใส่ห่อผ้าขาวใส่พานไว้ส่วนหนึ่งเพื่อนําไปใส่โกศ (เล็ก) เก็บไว้บูชาที่บ้าน ส่วนที่เหลือเก็บใส่ห่อผ้าขาวเพื่อเอาไปฝังในป่าช้าหรือบริเวณวัด บางแห่งเอาไปลอยแม่น้ำหรือทะเล (ลอยอังคาร) เงินที่โปรยบนเถ้าถ่านอัฐิ (กระดูก) ก็เก็บไว้เป็นเงินขวัญถุง อัฐ (กระดูก) ที่เก็บใส่โกศไว้ที่บ้านก็เพื่อให้ลูกหลานได้กราบไหว้บูชา และเมื่อถึงวันสําคัญทางศาสนาหรือวันสารทก็จะมีการทําบุญกระดูกของผู้ตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันสารทเดือนสิบจะมีการนําโกศกระดูกไปบังสุกุลที่วัด เพราะเชื่อว่าในช่วงนี้วิญญาณของผู้ตายจะรอรับส่วนบุญจากลูกหลาน
ประเพณีการตายของชาวไทยภาคใต้สมัยก่อนจะปฏิบัติกันดังที่กล่าวมา ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะมีข้อคิดหรือบริศนาธรรมให้ได้เตือนสติแก่ผู้ที่มีชีวิตอยู่ ข้อคิดหรือปริศนาธรรมล้วนแต่สืบเนื่องจากพระธรรมในพุทธศาสนา อันแสดงให้เห็นถึงความศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแนบแน่นของชาวไทยภาคใต้ ประเพณีอันละเมียดละไมที่บรรพชนภาคใต้ได้ปฏิบัติสั่งสมกันมาตามลําดับดังกล่าวนั้น มีคุณค่าทางจิตใจควรแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง หากลูกหลานในปัจจุบันรู้จักหยิบเอาขั้นตอนการปฏิบัติมาใช้บ้างเชื่อว่าจะเกิดคุณประโยชน์อย่างแน่นอน ปัจจุบันนี้การประกอบประเพณีอันเนื่องจากการตายของชาวไทยภาคใต้อาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม เช่น พิธีดอย การอาบน้ำศพ หรือการแต่งศพ การมัดตราสัง ที่เป็นปริศนาธรรมนั้น อาจจะไม่พบเห็นกันในสมัยนี้ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่มีชีวิตอยู่จึงไม่ค่อยได้ประสบการณ์ทางปัญญาอันเนื่องมาจากประเพณีการตายอย่างชาวไทยภาคใต้สมัยก่อน ส่วนการเผาที่เปลี่ยนไปตามธรรมเนียมนิยมทำกัน นั้นถือว่าเป็นการพัฒนาทางด้านวัตถิซึ่งเป็นไปตามโลก แต่ในด้านของจิตใจนั้นบางอย่างที่เห็นว่ามีคุณค่าควรจะได้ช่วยกันรักษาสืบทอดกันเอาไว้ก็สมควรที่ลูกหลานชาวใต้จะอนุรักษ์และสืบสานต่อไป
ที่เผาศพ (สามส้าง)
ภาพจาก : ชีวิตไทยชุดสมบัติตายาย, ๒๕๓๗, ๕๕
วงกาหลอนำหน้าศพ
ภาพจาก : ชีวิตไทยชุดสมบัติตายาย, ๒๕๓๗, ๕๘
คานหามโลงศพของผู้วายชนม์ มีการต่อเป็นเสาสี่เสาและหลังคาผ้ากางกั้นไว้
ภาพจาก : https://www.hatyaifocus.com/บทความ/2844-เรื่องราวหาดใหญ่-ภาพเก่าพิธีงานศพเมืองสงขลาในสมัยก่อน/
ประเพณีงานศพเมืองตรัง
ลักษณะเด่นของประเพณีงานศพของจังหวัดตรัง ที่โดเด่นและแตกต่างจากประเพณีงานศพที่อื่น ๆ คือการติดประกาศงานศพเชิญชวนมาร่วมงานในที่สาธารณะโดยไม่ออกการ์ดเชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในร้านกาแฟซึ่งนิยมมานั่งรับประทานกาแฟกับหมูย่าง ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งรวมของผู้คนในอดีต เมื่อผู้อ่านหรือผู้ฟังรู้ข่าวก็จะไปร่วมในงานถือว่าเป็นการเชิญแล้ว ทําให้จังหวัดตรังได้ชื่อว่า "เมืองการ์ดใหญ่" ในงานศพจะมีญาติพี่น้องเพื่อนฝูงไปร่วมอย่างคับคั่ง แขกที่ไปในงานทุกคนจะได้รับบัตรขอบคุณ โดยในบัตรจะระบุวันที่ เวลา สถานที่เผา หรือฝังศพไว้ในคืนสุดท้าย หรือวันที่เคลื่อนศพออกจากบ้าน หรือวัดไปฝังหรือเผา โดยจะมีการจัดเลี้ยงอาหารแบบโต๊ะจีนแก่แขกที่ไปร่วม ซึ่งชาวจังหวัดตรังมักจะเรียกวันนี้ว่า "วันเข้าการ" หรือ "คืนเข้าการ" ในวันเคลื่อนศพออกจากบ้านจะมีขบวนแห่ศพด้วยขบวน รถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ยาวเหยียด โดยรถทุกคันจะมีผ้าสีขาวผูกหน้ารถ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นรถขบวนแห่ศพ ในปัจจุบันประเพณีการแห่ศพเริ่มลดความนิยมลงอันเนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจมในปัจจุบันซึ่งสิ่งของทุกอย่างมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง
ประเพณีแห่ศพในอดีตของจังหวัดตรัง
ภาพจาก : ตรีชาติ เลาแก้วหนู, 2560. 4-10
สืบพงศ์ ธรรมชาติ. (2537). การตาย ใน ชีวิตไทยชุดสมบัติตายาย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.