วัดกะพังสุรินทร์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ โดยชุมชนชาวจีนมีผู้นำชุมชนชื่อาเส เป็นคหบดีในละแวกนั้นเป็นผู้นำบริจาคโดยครั้งแรกจำนวน ๒๐ ไร่ ต่อมาได้ซื้อเพิ่มเติม เดิมชื่อวัดกะพังตามชื่อสระใหญ่ที่อยู่ใกล้เคียงและเนื่องจากพื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ชายเนินเตี้ย ๆ ลาดเอียงจากทิศเหนือไปสู่ทุ่งนาอยู่ใกล้หนองน้ำที่เรียกว่า "สระกะพัง” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดกะพังสุรินทร์ ตามชื่อพระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ผู้ปรับปรุงสระกะพังให้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ วัดกะพังสุรินทร์ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ วัดกะพังสุรินทร์ เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองตรัง ภายในวัดมีพระอุโบสซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมท้องถิ่นภาคใต้ เสาไม้ฝาก่ออิฐถือปูน หลังคาหน้าจั่วต่าง ๆ ระดับสองชั้น โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ วัดกะพังสุรินทร์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เป็นสถานที่เปิดสอนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกบาลีและนักธรรม ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ศูนย์อบรมอุบาสกอุบาสิกาในวันธรรมสวนะและวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นศูนย์รวมของพุทธศาสนิกชน ทั้งในจังหวัดตรังและจังหวัดใกล้เคียงในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ มาตั้งแต่อดีต เช่น วันสารทเดือนสิบ วันปีใหม่ วันสงกรานต์ เป็นต้น วัดกะพังสุรินทร์ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๐ มีเขตวิสุงคามสีมากว้าง ๒๔ เมตร และยาว ๓๖ เมตร
อุโบสถหลังเก่า
อุโบสถหลังเก่า
พระอุโบสถเก่าแก่นี้ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ มีพื้นที่ใช้งาน ๑ งาน ๙๔ ตารางวา ขนาดกว้าง ๑๙.๕๐ เมตร ยาว ๑๔.๕๐ เมตร เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมวัดแบบไทยประเพณีผสมสานกับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบจีน โครงสร้างอาคารเป็นระบบเสาและคานคอนกรีตเสริมเหล็ก เสาภายในอาคารสร้างท่อนซุงทั้งต้นวางบนเสาตอม่อคอนกรีต ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในพื้นที่ภาคใต้เพื่อป้องกันเสาไม้ผุพังอันเนื่องมาจากความชื้นบนผิวดิน ผนังคอนกรีต (ซีเมนต์ผสมทรายและหินขนาดใหญ่) หล่อด้วยไม้แบบเป็นชั้น ๆ ซึ่งเทคนิคการก่อสร้างแบบจีนที่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในคาบสมุทรมาลายู หลังคาทรงจั่วซ้อนกัน ๓ ชั้น ๒ ระดับ ประกอบหลังคาปีกนกบริเวณหน้าบันทุกชั้น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพระอุโบสถหลังนี้ หลังคาแต่ละขั้นมีความลาดเอียงไม่เท่ากัน เพื่อให้ความรู้สึกถึงหลังคาที่แอ่นโค้งแบบสถาปัตยกรรมไทย บริเวณหน้าจั่วไม่มีการประดับตกแต่งด้วยเครื่องลํายองตามประเพณีนิยม แต่เป็นหน้าจั่วเรียบแบบจีนซึ่งเป็นที่นิยมมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) หลังคาเดิมมุงกระเบื้องซีเมนต์ทรงว่าวหรือ กระเบื้องว่าว แต่เมื่อครั้งปฏิสังขรณ์พระอุโบสถในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ จึงเปลี่ยนเป็นกระเบื้องลอนเล็ก (ลอนเดี่ยว) หน้าต่างไม้เนื้อแข็งประกอบลูกฟักบานคู่เปิดออก ส่วนประตูเป็นบานเฟี้ยมไม้เนื้อแข็งประกอบลูกฟัก ซึ่งเป็นรูปแบบของประตูและหน้าต่างแบบจีน อิทธิพลของสถาปัตยกรรมจีนที่ปรากฏในพระอุโบสถวัดกะพังสุรินทร์นี้น่าจะได้รับอิทธิพลจากการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวจีน ที่อพยพมาจากเมืองท่าสําคัญของมาเลเซีย ตั้งแต่ช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอุโบสถวัดกะพังสุรินทร์หลังเก่านี้เป็นสถาปัตยกรรมซึ่งเป็นตัวแทนการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีกับอิทธิพลของสถาปัตยกรรมแบบจีน เทคนิคการก่อสร้างก่อให้เกิดสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ในภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานในอุโบสถซึ่งนำมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ พระอุโบสถนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระอธิการแย้มเป็นเจ้าอาวาส และสร้างเรื่อยมาจนถึงพระอธิการเพื่อม ผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีกุน อาคารหลังนี้จึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่มที่ ๑๑๖ ตอนพิเศษ ๑๗ง ลงวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๒
ภายในอุโบสถหลังเก่า
อุโบสถหลังใหม่
พระอุโบสถหลังใหม่
อุโบสถหลังใหม่นี้ได้เริ่มก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยพระเดชพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เป็นผู้ริเริ่มให้ได้บริจาคเงินจำนวน ๕ ล้านบาทเป็นประเดิมในการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ได้วางศิลาฤกษ์พระอุโบสถหลังใหม่ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๘๐ ล้านบาท
ภายในพระอุโบสถหลังใหม่
ภายในพระอุโบสถหลังใหม่
ภายในพระอุโบสถหลังใหม่
วัดกะพังสุรินทร์มีเจ้าอาวาสรูปแรกคือพระครูวิเชียร ปัจจุบันมีพระพรหมจริยาจารย์ (สงัด ปญฺญาวุโธ) เป็นเจ้าอาวาสและดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้
พระพรหมจริยาจารย์ (สงัด ปญฺญาวุโธ
ภาพจาก : https://www.pinterest.com/pin/748512400543345297/
พระพรหมจริยาจารย์ (สงัด ปัญฺญาวุโธ) ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้ และเจ้าอาวาสวัดกะพังสุรินทร์ ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง มีนามเดิมว่า สงัด ลิ่มไทย เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๑ ที่บ้านหนองไทร ตำบลนาโยงเหนือ อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง มีโยมบิดาชื่อเปลี่ยน โยมมารดาชื่อทองอ่อน ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดจอมไตร อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง โดยมีพระครูสังวรโกวิท เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระครูพิบูลธรรมสาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระผุด มหาวีโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้เปรียญธรรม ๗ ประโยค พระพรหมจริยาจารย์ (สงัด ปัญฺญาวุโธ) เป็นพระเถระรูปหนึ่งที่สร้างคุณูปการต่อวงการสงฆ์แห่งแดนใต้และประเทศไทยอย่างเอนกอนันต์เป็นที่โจษจันเลื่องลือไปไกล ทุ่มแรงกายแรงใจให้งานแบบถวายชีวิต ตั้งอยู่ในศีล ดำรงตนตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมพระพุทธศาสนาในภาคใต้ของประเทศไทย
สมณศักด์
- พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ขึ้น เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญที่ พระปิฎกคุณาภรณ์ |
- พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ขึ้น เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชปริยัตยาภรณ์ สุนทรธรรมานุสิฐ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี |
- พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ขึ้น เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพวิมลเมธี ศรีปริยัติดิลก ตรีปิฎกวราลงกรณ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี |
- พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ขึ้น เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมรัตนากร สุนทรพรหมปฏิบัติ ปริยัติธรรมสาธก ตรีปิฎกวราลงกรณ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี |
- พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้น เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏที่ พระพรหมจริยาจารย์ สุวิธานวรกิจจานุกิจ วินิฐศีลาจารวิมล โสภณทักษิณคณาทร ตรีปิฎกวราลงกรณ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี |
เกียรติคุณ
- พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้รับถวายปริญญาพุทธศาสตรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย |
- พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้รับถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ |
- พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้รับถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญา จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ |
- พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้รับถวายปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา |
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดตรัง. กรุงเทพฯ: หจก. ไอเดีย สแควร์,2550.
กรมศิลปากร. "วัดกะพังสุรินทร์" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 15 มกราคม 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์, ศิริพร สังข์ศิริ, และธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์. 247 โบราณสถานภาคใต้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วและข้อมูลหลักฐานใหม่ทางโบราณคดี. นครศรีธรรมราช : สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช, 2561.
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ระบบทะเบียนวัด. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 15 มกราคม 2565. เข้าถึงจาก http://binfo.onab.go.th/Temple/Temple-List-view.aspx