ยะลา (Yala)
 
Back    26/10/2020, 10:58    22,070  

หมวดหมู่

จังหวัด


ประวัติความเป็นมา

                                                                                             

  

คําขวัญจังหวัดยะลา
ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน

              คำว่า "ยะลา” มาจากภาษาพื้นเมืองเดิมว่า "ยะลอ” ซึ่งแปลว่า "แห” ตามประวัติตั้งแต่สมัยสุโขทัยถึงตอนต้นกรุงรัตนโกสิทร์นั้น "เมืองยะลา” เป็นส่วนหนึ่งของเมืองมณฑลปัตตานี ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงโปรดเกล้าให้มีการปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคใหม่ เป็นการปกครองแบบเทศาภิบาล โดยออกประกาศข้อบังคับสำหรับการปกครอง ๗ หัวเมือง ร.ศ. ๑๒๐ ซึ่งประกอบด้วยเมืองปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง สายบุรี ยะลา ระแงะ และเมืองรามัน ในแต่ละเมืองมีพระยาเมืองเป็นผู้รักษาราชการ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของข้าหลวงเทศภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๗๖ ได้มีการยุบเลิกมณฑลปัตตานีและได้มีการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เมืองยะลาจึงเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยในปัจจุบัน สำหรับเมืองยะลาได้มีการโยกย้ายที่ตั้งมาแล้ว ๔ ครั้ง ดังนี้ ครั้งที่ ๑ ตั้งเมืองอยู่ที่ตำบลบ้านยะลา ครั้งที่ ๒ ได้ย้ายเมืองไปตั้งที่ตำบลท่าสาป (ฝั่งซ้ายของแม่น้ำปัตตานี) ครั้งที่ ๓ ได้ย้ายไปตั้งที่เมืองสะเตง (ทางฝั่งขวาของแม่น้ำปัตตานี) ครั้งที่ ๔ ได้ย้ายไปตั้งที่ตำบลบ้านนิบง ในสมัยอำมาตย์โทพระรัฐกิจวิจารณ์ (สวาสดิ์ ณ นคร) ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา คนที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๔๕๖–๒๔๕๘) ได้วางผังเมืองด้วยการหาจุดศูนย์กลางใจเมือง โดยการปักหลักไว้และเอาก้อนหินวางไว้เป็นเครื่องหมายเรียกว่า "กิโลศูนย์” และลากเส้นวงกลมเป็นชั้น ๆ มีถนนรองรับเป็นตาข่ายลักษณะใยแมงมุมที่สวยงามที่สุดของประเทศไทย และได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดความสะอาด ๓ ปีซ้อน (พ.ศ. ๒๕๒๘-๒๕๓๐) และในปี ๒๕๔๐ ได้รับการคัดเลือกจากองค์การอนามัยโลกยกให้เป็น ๑ ใน ๕ เมืองของประเทศไทยในโครงการเมืองน่าอยู่ทั่วโลก คำขวัญประจำจังหวัดยะลา "ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน” ตราประจำจังหวัดยะลารูปเหมืองแร่ดีบุก หมายถึงพื้นที่ของจังหวัดยะลาอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ดีบุกและอาชีพหลักของประชาชนในอดีต คือการทำเหมืองแร่ดีบุก ธงประจำจังหวัดยะลาใช้แถบบนสีเขียว แถบล่างสีขาว สัตว์ประจำจังหวัดยะลาคือช้างเผือก ต้นไม้ประจำจังหวัดยะลาคือต้นศรียะลา ดอกไม้ประจำจังหวัดยะลาคือดอกพิกุล             
             จังหวัดยะลาเป็นจังหวัดที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ ๕–๗ องศาเหนือและเส้นแวงที่ ๑๐๐–๑๐๒ องศาตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครตามทางรถไฟสายใต้ ๑,๐๓๙ กิโลเมตร และตามถนนเพชรเกษมสายเก่า ๑,๓๙๕ กิโลเมตร หรือสายใหม่ ๑,๐๘๔ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๔,๕๒๑ ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ ๒.๘ ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ ๖.๔ ของพื้นที่ภาคใต้ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียงคือ ทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดสงขลาและปัตตานี ทิศใต้ติดต่อกับรัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย ทิศตะวันออกติดต่อกับจังหวัดนราธิวาสและรัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย ทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดสงขลาและรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย 

          ก่อนกรุงศรีอยุธยา-สมัยธนบุรี
         ในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ.ศ. ๑๙๑๓-๑๙๓๑) พระองค์ทรงได้ธิดาของมุขมนตรีแห่งปัตตานีคนหนึ่งเป็นพระสนม ในฐานเมืองประเทศราชปัตตานี มีหน้าที่ส่งเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายทุก ๑ ปี (อ้างอิงจากบันทึก ลา ลูแบร์ (La LOUBERE) อัครราชทูตฝรั่งเศส (พ.ศ.๒๑๙๙-๒๒๓๑)) จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ. ๒๓๑๐ ปัตตานีจึงตั้งตนเป็นอิสระ มาสมัยธนบุรี (พ.ศ.๒๓๑๐-๒๓๒๕) ปัตตานีได้ส่งเครื่องราชบรรณาการต่อไประยะหนึ่ง จนถึงปลายสมัยธนบุรีซึ่งเกิดความวุ่นวายภายในกรุงธนบุรีจึงตั้งตนเป็นอิสระ
           
กรุงรัตนโกสินทร์ 
       
สมัยรัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการปรับปรุงการปกครองหัวเมืองปัตตานี โดยให้เมืองสงขลาเป็นผู้ควบคุมดูแลเมืองปัตตานี (จากเดิมที่อยู่ในความดูแลของนครศรีธรรมราช) แบ่งเมืองปัตตานีออกเป็น ๗ เมือง คือ ปัตตานี ยะหริ่ง สายบุรี ยะลา รามัน ระแงะ และหนองจิก จึงนับว่าเมืองยะลาได้แยกมาตั้งเป็นเมืองในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ใน พ.ศ. ๒๓๓๔ เมืองยะลาเมื่อแยกออกจากเมืองปัตตานีแล้วมีอาณาเขตดังนี้
          • ทิศเหนือ ติดต่อกับเมืองหนองจิก
          • ทิศใต้ ตั้งแต่เขาปะวาหะมะ ไปทางทิศตะวันออกถึงเขาปะฆะหลอ สะเตาะเหนือ บ้านจินแหร จนถึงคลองท่าสาปจรดบ้านบันนังสตา
          • ทิศตะวันออก ติดต่อกับเมืองยะหริ่งตั้งแต่หมู่บ้านโหละเปาะยาหมิง มีสายน้ำยาวไปจรดคลองท่าสาป
          • ทิศตะวันตก ติดต่อเมืองไทรบุรีมีคลองบ้านบาโงย แขวงเมืองเทพา เป็นเขตขึ้นไปจนถึงบ้านยินงต่อไปจนถึงบ้านเหมาะเหลาะ
           
ก่อน พ.ศ. ๒๓๖๐ มีต่วนยะลา เป็นพระยายะลา ซึ่งนับว่าเป็นสถานที่ตั้งตัวเมืองยะลาครั้งแรก ต่วนบางกอกเป็นเจ้าเมือง และนายเมืองเป็นพระยายะลาคนต่อมา โดยได้รับพระราชทานนามบรรดาศักดิ์ว่าพระยาณรงค์ฤทธีศรีประเทศวิเศษวังษา (เมือง) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๖๐ โดยตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลท่าสาป และในรัชกาลที่ ๔ (พ.ศ.๒๓๙๔-๒๔๑๑) ต่วนบาตูปุเต้ เป็นพระยายะลา มาสมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ตั้งต่วนกะจิ บุตรพระยายะลา (ต่วนบาตูปุเต้) เป็นเจ้าเมือง

            การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
      
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้มีการปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาค โดยดำเนินการปกครองแบบเทศาภิบาล สำหรับบริเวณ ๗ หัวเมือง ได้ประกาศข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณ ๗ หัวเมือง ร.ศ. ๑๒๐ กำหนดให้บริษัท ๗ หัวเมืองมีข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณเป็นผู้ควบคุมการดำเนินงานทั่วไป โดยอยู่ภายใต้การดูแลของข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช แต่ละเมืองจะมีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ดังนั้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ พระยาศักดิ์เสนี (หนา บุนนาค) ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณได้แบ่งแต่ละเมืองเป็นอำเภอต่าง ๆ โดยเมืองรามัน แบ่งเป็น ๒ อำเภอ คือ อำเภอกลางเมือง กับอำเภอเบตง ส่วนเมืองยะลา แบ่งเป็น ๓ อำเภอ คืออำเภอกลางเมือง อำเภอยะหา และอำเภอกะลาพอ ต่อมาปี ๒๔๕๐ ได้แบ่งเมืองยะลาออกเป็น ๒ อำเภอ คืออำเภอเมือง และ อำเภอยะหา ปลายปี ๒๔๗๕ ได้ประกาศยุบเลิกมณฑลปัตตานี ได้มีการปรับปรุงการปกครองหัวเมืองตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร ยะลาจึงเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยสืบต่อมาจนทุกวันนี้    

                การจัดการปกครองจังหวัดยะลาในปัจจุบัน ประกอบด้วย ๘ อำเภอคคือ

เมืองยะลา
เบตง
บันนังสตา
ธารโต
รามัน
ยะหา
กาบัง
กรงปินัง

 


ภาพจากคุณณัฐ เหลืองนฤมิตรชัย ; https://www.youtube.com/watch?v=SXnq7V4DUO0

         ชื่อบ้านนามเมือง
         
อำเภอเมืองยะลา
          ยะลา เป็นคํามลายูในท้องถิ่นภาคใต้ เมื่อออกเสียงแล้วจะเป็นยาลอ เป็นคํามลายูที่ยืมคําบาลีสันสกฤตมาใช้ เพราะคําเดิมคือชาละหรือชาลี หมายถึงร่างแหหรือตาข่าย ยะลาเคยเป็นหนึ่งในเจ็ดหัวเมืองที่แยกมาจากเมืองปัตตานี ซึ่งในอดีตชุมชนเก่าของเมืองยะลาได้มีการโยกย้ายไปที่ต่าง ๆ หลายแห่งก่อนจะมาตั้งชุมชนที่บ้านนิบงในปัจจุบัน เช่น เคยตั้งชุมชนที่บ้านท่าสาป และบ้านสะเตง
         ท่าสาป
         บ้านท่าสาปในปัจจุบันเป็นตําบลอยู่ในเขตอําเภอเมืองยะลา บ้านท่าสาปตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปัตตานี ซึ่งเป็นต้นน้ำไหลมาจากอําเภอเบตง ผ่านท่าสาปแล้วไหลไปทางอําเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี แล้วออกสู่ทะเล สาเหตุที่เรียกที่แห่งนี้ว่าท่าสาป เป็นเพราะสายน้ำตรงนั้นไหลผ่านหินใหญ่ก้อนหนึ่งมีรูปทรงเหมือนนางเปลือย อยู่ในท่านั่งถ่างขาหันหน้าไปทางต้นน้ำ เมื่อน้ำไหลมากระทบหินก้อนนี้จะเกิดเสียงดัง ยิ่งในฤดูน้ำหลากจะยิ่งดังมาก ชื่อท่าสาปนี้เป็นคํามลายูอ่านว่ากัมปงเซอะฆะหรือกัมปงฆูชับ (Kampong Kusap) แปลว่าหมู่บ้านน้ำซับหมายถึ หมู่บ้านที่มีน้ำซึมน้ำเอ่อนอง และไม่แห้ง
        สะเตง
        สะเตงปัจจุบันเป็นชื่อตําบล อยู่ในเขตอําเภอเมืองยะลา และเคยเป็นที่ตั้งของตัวเมืองยะลามาก่อนตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ สะเตงอยู่คนละฟากฝั่งกับท่าสาป สมัยก่อนใช้เรือเป็นพาหนะ ซึ่งสอดคล้องกับคําว่าสะเตง ซึ่งเป็นคํามลายู หมายถึงไม้ถ่อเรือหรือไม้ถ่อแพ และมีเสียงใกล้เคียงกับคํามลายูอีกคําหนึ่งคือซือแต (Sete) แปลว่าต้นสะเดา
       นิบง
       นิบงเป็นคํามลายู หมายถึงต้นเหลาชะโอน แต่ชาวใต้ทั่วไปเรียกต้นไม้นี้ว่าหลาโอน เป็นไม้ประเภทปาล์ม ลําต้นมีหนามตามปล้อง
       ลําพะยา ลำใหม่ 
       ลําพะยา มาจากคำว่า “ลำ” หมายถึงลําน้ำ ส่วนคําว่า “พะยา” อาจหมายถึงชื่อบุคคล หากพิจารณาตามภาษาพูดถิ่นใต้ประกอบกับความเป็นมาของชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับหลายท่านที่บอกว่า “ลํา” มาจากคําว่า “ล่าม” ซึ่งเป็นภาษาถิ่นใต้ หมายถึงผูกมัด ส่วน “ลําพะยา” หมายถึงล่ามพระยาหรือล่ามพญา ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่า พระยาหรือขุนนางผู้ใดต้องโทษจึงถูกผูกล่าม แต่การผูกมัดคงไม่แน่นหนา ผู้ต้องโทษสามารถแก้มัดได้ จึงต้องผูกล่ามใหม่อีกครั้ง คําว่า “ล่ามใหม่” ภายหลังเขียนเป็นลําใหม่ หมายถึงลําน้ำสายใหม่อำเภอเบตง


         อำเภอเบตง
         เบตง เป็นคํามลายูหมายถึงไม้ไผ่ขนาดใหญ่ (ไผ่ตง) เดิมอําเภอนี้มีชื่อว่าอําเภอยะรม ซึ่งคําว่ายะรมหมายถึงเข็มเย็บผ้า ขึ้นกับเมืองรามัน ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ทางราชการได้โอนเบตงและบันนังสตาให้มาขึ้นกับเมืองยะลา มณฑลปัตตานี หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ เปลี่ยนชื่อจากอําเภอยะรมเป็นชื่ออําเภอเบตง เบตงมีที่รู้จักกันดีก็คือเคยเป็นถิ่นของขบวนการโจรจีน คอมมิวนิสต์ โดยเริ่มต้นจากโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๘๔ เกิดสงครามญี่ปุ่นหรือสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น ปรากฏว่าโจรจีนคอมมิวนิสต์ในเบตงยิ่งทวีจํานวนมากขึ้น ก่อนหน้านี้ใน พ.ศ. ๒๔๗๖ ที่บ้านพักขุนวิจิตรภาษี นายด่านศุลกากรเบตง และสถานีตํารวจเบตงก็โดนโจรจีนฯ ปล้นอย่างอุกอาจ ฝ่ายทางราชการมีกองทัพภาคที่ ๔ ที่พยายามปราบปรามโจรจีนคอมมิวนิสต์มาตลอดเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า ๔๕ ปี จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๓๐ สมาชิกโจรจีนคอมมิวนิสต์จึงเข้ามอบตัวตามโครงการพัฒนาชาติไทย เป็นผลให้ขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์เหล่านี้คงเหลือไว้แต่ในตํานานปัจจุบันนี้ค่ายโจรจีนคอมมิวนิตส์ถูกเปลี่ยนใหม่ให้เป็นหมู่บ้าน สําหรับนักท่องเที่ยวได้เที่ยวชมกัน เช่น หมู่บ้านปิยะมิตรวนคาม อยู่ในตําบลตาเนาะแมเราะ ก่อนจะถึงตัวเมืองเบตงประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ในเบตงยังมีตํานานความเชื่อเกี่ยวกับโต๊ะนิ ซึ่งเป็นชื่อของรายา จาวัล ซึ่งมีตํานานเล่าว่า....โต๊ะนิชอบผจญภัยโดยเฉพาะการคล้องช้างจึงมีสหายคู่ใจทําหน้าที่เป็นควาญช้าง ชื่อโต๊ะมีซาปาแย และโต๊ะดาแมแปแซะ ทั้ง ๓ ติดตามช้างไปจนถึงเบตงและบ้านโกระ เขตเประ นอกจากนี้โต๊ะนิยังเก่งทางไสยเวทและรู้จักสรรพคุณพืชสมุนไพร จึงเป็นหมอรักษาโรคไปด้วย ทําให้ผู้คนใน เขตรามัน เบตง และเประ ต่างเชื่อถือและศรัทธาในตัวของท่าน   
         อำเภอธารโต
         ธารโตชื่ออําเภอนี้สอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์ของที่นี่ เพราะมีลําธาร
กว้างใหญ่ไหลผ่าน พื้นที่แวดล้อมด้วยป่าเขาลําเนาไพร เนื้อที่จดเขตแดนมาเลเซียและในป่าเขาแถบนี้เป็นที่อยู่อาศัยของพวกเงาะซาไก ถึงแม้จะมีกรมประชาสงเคราะห์เข้าไปสร้างที่พักและให้มีพื้นที่ให้ทํากิน แต่เงาะซาไกเหล่านี้ไม่ได้สนใจในสิ่งบริการมากนัก ด้วยต้องการอยู่ตามประสาธรรมชาติที่แท้จริงมากกว่า อำเภอธารโตเต็มไปด้วยภูเขาและป่าไม้ โดยเฉพาะบริเวณที่มีภูเขาหลายลูกจะมีการทําเหมืองแร่ดีบุก วุลแฟรม แมงกานีส และตะกั่ว ซึ่งรวมแล้วได้ประมาณ ๓๐ เหมือง เดิมอำเภอธารโตเป็นเพียงตําบลชื่อตําบลแม่หวด หมายถึงไม้หวดต้นใหญ่ โดยขึ้นกับอําเภอบันนังสตา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ จึงปรับฐานะเป็นอําเภอ
          
อำเภอบันนังสตา
          
บันนังสตาเป็นคํามลายูมาจากคำว่าบันนังหรือเบินดัง หมายถึงที่นา ส่วนคําว่าสตา หมายถึงต้นมะปราง เมื่อรวมความแล้วหมายถึง ที่นาซึ่งมองเห็นต้นมะปรางโดดเด่นมาแต่ไกล เดิมที่อำเภอบันนังสตาเรียกว่าอําเภอบาเจาะ (คนละชื่อกับอําเภอบาเจาะ ของนราธิวาส) ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ จึงได้ย้ายตัวอําเภอมาตั้งที่ตําบลบันนังสตา แล้วเปลี่ยนเป็นอําเภอบันนังสตาตั้งแต่บัดนั้น พื้นที่ของเขตบันนังสตามีลักษณะเหมือนกับอำเภอธารโตคือแวดล้อมไปด้วยภูเขาและป่าไม้ โดยเฉพาะบริเวณที่มีภูเขาหลายลูกจะมีการทําเหมืองแร่ดีบุก วุลแฟรม แมงกานีส และตะกั่ว ซึ่งรวมแล้วได้ประมาณ ๓๐ เหมือง บันนังสตามีตํานานที่เกี่ยวกับการทําเหมืองแร่ของตระกูลชาวจีนฮกเกี้ยนที่มาจากเมืองซัวเถา มีเรื่องโดยมีเรื่องเล่าว่า…มัย แซ่ตัน ชาวจีนผู้นี้มาอยู่ที่เมืองสงขลาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยได้อาสาเจ้าเมืองสงขลาต่อสู้กับข้าศึกที่ยกทัพมาจากไทรบุรีหรือปัตตานี ในช่วงแรกเขาและลูกน้องต่างพ่ายแพ้ เพราะหิวข้าวบ่อย (คนจีนจะทานข้าวต้ม) จึงหมดกําลังที่จะต่อสู้ ต่อมาคิดแก้ตัวใหม่โดยใช้กระบอกไม้ไผ่บรรจุข้าวต้มสะพายไว้ใกล้ตัว ยามหิวก็ยกกระบอกนั้นขึ้นซดทันที ในที่สุดก็ชนะข้าศึกได้ มุ้ย แซ่ตัน ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นหลวงสําเร็จ กิจการ จางวางเมืองปัตตานี ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๓ และมีทายาทคนสําคัญคือจูไล่ ตันธนาวัฒน์ ซึ่งต่อมาภายหลังได้เป็นพระจีนคณานุรักษ์ นายอําเภอจีนเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นต้นตระกูลคณานุรักษ์ ต่อมาด้วยความดีความชอบของพระจีนคณานุรักษ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานเหมือง ๕ แห่งที่อําเภอบันนังสตาให้ไว้เป็นที่ทํากิน ในอดีตการเดินทางจากปัตตานีไปบันนังสตายังไม่มีถนนอย่างปัจจุบัน ชาวบ้านจึงใช้เรือหรือแพถ่อไปตามลําน้ำปัตตานี ผ่านท่าสาปจนกระทั่งถึง บันนังสตา ส่วนที่เหมืองแร่ก็มีบ้านพักพระจีนคณานุรักษ์ และกงสี ซึ่งคนงานส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีน สําหรับวิธีการขุดแร่ในสมัยนั้น คุณยายเป้กแฉ สุวรรณโชติ หลานพระจีนคณานุรักษ์ เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า...คนงานจะใช้ไม้กระดานปูเป็นรางที่ริมลําธาร แล้วน้ำจะพัดพาเอาดินผ่านเข้ามาจากนั้นใช้จอบเกลี่ยดิน เมื่อได้ดีบุกแล้วจะนําไปหลอม ถ้าหน้าของดีบุกเป็นสีเหลืองจะมีคุณภาพและราคาดีกว่าหน้าดีบุกที่เป็นสีขาว
         อำเภอรามัน
         รามัน เป็นคํามลายูหมายถึงชุมชนใหญ่ ซึ่งมาจากคําว่ารามา (Rama) หมายถึงผู้คนจํานวนมาก นอกจากนี้รามันยังเคยเป็นหนึ่งในเจ็ดหัวเมืองที่แยกจากเมืองปัตตานี แต่ เดิมรามันเคยเป็นอําเภอขึ้นกับจังหวัดยะลา ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้ย้ายที่ทําการอําเภอไปที่บ้านโกตาบารู จึงเปลี่ยนชื่อเป็นอําเภอโกตาบารู แต่ชาวบ้านยังเรียกท้องถิ่นนี้ว่า “นครราไม” หมายถึงเมืองรามันนั่นเอง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ทางราชการจึงเปลี่ยนชื่อจากอําเภอโกตาบารู เป็นอําเภอรามันมาจนถึงปัจจุบัน
         
อำเภอยะหา
         ยะหา เป็นคํามลายูหมายถึงต้นขี้เหล็กหรือต้นมูลเหล็ก อําเภอ ยะหามีอาณาเขตติดกับรัฐเคดาห์ของมาเลเซียและอําเภ สะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ยะหาได้รับการยกฐานะเป็นอําเภอยะหา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๑
         อำเภอกาบัง
         กาบัง เป็นคํามลายูอ่านว่าฆามแบ (Gambir) หมายถึงต้นสีเสียดหรือเฆอบัง” (Gebang) หมายถึงปาล์มชนิดหนึ่งที่มีลําต้นสูง อําเภอกาบังแต่เดิมขึ้นกับอําเภอยะหา ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ จัดตั้งเป็นกิ่งอําเภอ และในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้ยกฐานะเป็นอําเภอ 
         
อำเภอกรงปินัง
         กรงปินัง เป็นคํามลายูมาจากคําว่ากําปุงหรือกําปง หมายถึงหมู่บ้าน ส่วนคําว่าปีนังหรือปีแน หมายถึงต้นหมาก รวมความ หมายแล้วหมายถึงหมู่บ้านที่มีสวนหมาก หมู่บ้านนี้แยกจากอําเภอเมืองยะลามาเป็นตําบลกรงปินังและจัดตั้งเป็นกิ่งอําเภอกรงปินัง ในปีเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗        

        แหล่งท่องเที่ยว


ภาพจาก : ของดีแดนใต้, ๒๕๓๕

           ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง


      ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ตั้งอยู่ใจกลางวงเวียนหน้าศาลากลางจังหวัด พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้ฯ  พระราชทานยอดเสาหลักเมือง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕  ในทุก ๆ ปี จะมีการจัดงานสมโภชเจ้าพ่อหลักเมือง ระหว่างวันที่ ๒๕ พฤษภาคม - ๔ มิถุนายน

           เขื่อนบางลาง

            เขื่อนบางลางอยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปตามถนนสายยะลา-เบตง ไปประมาณ ๖๐ กิโลเมตร ตั้งอยู่ที่บ้านบางลาง ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา บริเวณเหนือเขื่อนมีศาลาขมวิว ซึ่งมีความสวยงามประขาชนนิยมไปพักผ่อนหย่อนใจ และถ่ายภาพเป็นประจำ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดยะลาและใกล้เคียง เขื่อนบางลางสามารถผลิตไฟฟ้าได้ ๗,๒๐๐ กิโลวัตต์ ส่งไปให้ประชาชนใช้ในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และจังหวัดอื่น ๆ รวมทั้งมีประโยชน์ต่อพื้นที่เพาะปลูกอีก ๓๘๐,๐๐๐ ไร่

          อุโมงค์เบตง


 

           อุโมงค์เบตงตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๒ บ้านปียมิตร ๑ ตำบลตาเนาะแมเราะ ในบริเวณภูเขาซึ่งผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา เขต ๒) ได้ขุดไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ มีทางเข้าอุโมงค์ ๙ ทาง เป็นแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์การเมืองในอดีตที่น่าสนใจและควรค่าแก่การอนุรักษ์


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

       พระพุทธไสยาสน์วัดคูหาภิมุข


ภาพจาก : https://cbtthailand.dasta.or.th/webapp/relattraction/content/2536/

        พระพุทธไสยาสน์วัดคูหาภิมุข ที่ชาวบ้านเรียกว่าพ่อท่านบรรทม องค์พระวัดจากพระเกศถึงพระบาทยาว ๘๑ ฟุต พระบาทซ้อนกัน สูง ๑๐ ฟุต รอบองค์พระประมาณ ๓๕ ฟุต พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ต่างกับองค์อื่นอยู่บ้างก็คือ มีพญานาคทอดตัวอยู่เหนือองค์พระ และแผ่พังพานปกอยู่เหนือเศียร พระกรขวาทอดข้อศอกออกไปข้างหน้า ตามแบบอินเดีย ส่วนองค์อื่น ๆ ที่พบเห็นโดยทั่วไปมักจะทำหักข้อศอกตั้งฉากและพระหัตถ์จะยันรับพระเศียรไว้ พระพุทธไสยาสน์องค์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นองค์ที่ได้มีการบูรณะทับองค์เดิมไว้ ปูนโบกทับภายนอกปิดบังส่วนที่เป็นลวดลายต่าง ๆ  องค์เดิมปั้นขึ้นด้วยดินดิบ โครงไม้ไผ่ขัดสานเป็นตะแกรง ภายในองค์พระกลวง เดินได้ตลอด เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๕ พระพุทธไสยาสน์ถูกน้ำจากเพดานถ้ำ หยดลงถูกพระอุระเบื้องหน้า จนทะลุเป็นรูลึก จึงได้มีการเอาเหล็กมาผูกประสานไว้แล้วเอาปูนโบกทับภายนอก ส่วนข้างในคือ องค์พระเดิมที่เป็นดินเหนียว ปั้นเป็นรูปลวดลายสังวาลย์ต่าง ๆ นั้นให้เก็บบรรจุไว้ภายในองค์พระ มีประวัติเล่ากันมาว่าได้สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๓๐๐ ในสมัยศรีวิชัย อายุรุ่นราวคราวเดียวกับพระบรมธาตุสูตร ผู้สร้างคือเจ้าเมืองปัตตานี เจ้าเมืองกลันตัน เจ้าเมืองปาหัง และเจ้าเมืองไทรบุรี ซึ่งได้นําทรัพย์สมบัติจํานวนมากจะไปร่วมสร้างพระบรมธาตุนคร แต่ไปไม่ทันเลยได้แล่นเรือมาแวะที่บริเวณใกล้ถ้ําคูหาภิมุข สมัยนั้นฝั่งทะเลยังลึกเข้ามาถึงที่นี่ทั้งหมดเห็นเป็นชัยภูมิอันดี จึงร่วมกันสร้างพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ขึ้นมีขนาดยาวจากพระเกตุถึงพระบาท ๘๐ ฟุต เป็นพระพุทธไสยาสน์แบบมหายานปางนารายณ์บรรทมสินธุ์ ต่อมามีการบูรณะแปลงเป็นแบบหินยาน แต่ยังเหลือเศียรนาคที่แผ่พังพานเบื้องไว้จนบัดนี้ พระพุทธไสยาสน์วัดหน้าถ้ําองค์นี้นับเป็นปูชนียสถานสําคัญ ๑ ใน ๓ ของภาคใต้ คือมีพระบรมธาตุนคร พระธาตุไชยา และพระพุทธไสยาสน์ วัดหน้าถ้ํา

       กําแพงเมืองบ้านกาแป๊ะกอตอ

       กําแพงเมืองบ้านกาแป๊ะกอตอ เป็นกําแพงดิน ฐานกว้างประมาณ ๓ เมตร สูง ๒ เมตร คลุมพื้นที่ประมาณ ๒๐ เป็นพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมคางหมู อยู่ในพื้นที่หมู่ที่ ๒ บ้านกาแป๊ะกอตอ ตําบลเบตง อําเภอเบตง จังหวัดยะลา ประวัติความเป็นมากล่าวว่าเมื่อมีการแยกมณฑลปัตตานีออกเป็น ๗ เมืองนั้น เบตงขึ้นอยู่กับเมืองรามัน เจ้าเมืองรามันบางองค์ได้มาสร้างวังอยู่ที่เบตง คือที่บ้านกาแป๊ะกอตอแห่งนี้ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่ปรากฏเกี่ยวกับการสร้างเมืองแห่งนี้ มีเพียงตํานานที่เล่าขานกันว่า เป็นวังของรายอซียง (ราชาเขี้ยวงอก) เป็นราชาอธรรม ข่มเหงรังแกชาวบ้าน ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันขับไล่ไปอยู่ทางตอนใต้ (ในประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน) ส่วนหลักฐานอย่างอื่นไม่ปรากฏ ปัจจุบันนี้แนวกําแพงดินถูกขุดทําลายหายเป็นช่วง ๆ บางตอนถูกรื้อปลูกบ้านเรือน บางตอนอยู่ในสวนยางพารา ส่วนที่ยังสมบูรณ์อยู่ในขณะนี้คือ ส่วนที่อยู่ในสวนยางพาราของ นายมะยีดี อารีพันธ์ บ้านเลขที่ ๖๗ หมู่ที่ ๒ ตําบลเบตง ซึ่งนายมะฮีตีเล่าว่าคนที่มีอายุมากกว่า 90 ปี เล่าให้ฟังว่าแต่ก่อนกําแพงนี้สูงมาก คนยืนไม่สามารถจะมองข้ามกําแพงไปได้


       ทุ่งกาโล

        ทุ่งกาโล เดิมเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านท่าสาปและหน้าถ้ำ ในพื้นที่มีโคกอิฐเนินดินปรากฎอยู่เรียงราย มักพบเครื่องปั้นดินเผาที่ยังสมบูรณ์อยู่บ้างเป็นเศษชำรุดบ้าง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้พบพระพุทธรูป เทวรูป เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ มีการปรับพื้นที่เพื่อสร้างสนามบินท่าสาป พบว่ามีซากกำแพงเมืองและได้พบเครื่องถ้วยชามฝังดินอยู่ไม่น้อย พบเทวรูปพระนารายณ์สี่กร สำริด สูงประมาณหนึ่งศอกและพระพุทธรูปอีกหลายองค์


       หลุมฝังศพพระยารามัน

       หลุมฝังศพพระยารามัน  ตั้งอยู่ในสุสานสาธารณะหลังตลาดโกตาบารู ห่างจากกำแพงเมืองเก่าประมาณ ๑๐๐ เมตร เมืองรามันเดิม หรือโกตาบารู เป็นเมืองที่เจริญและอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีทั้งช้าง ป่าไม้ ทอง และแร่ทับทิม รามันมีอาณาเขตกว้างขวาง ติดต่อกับเมืองสายบุรี เมืองยะลา เมืองระแงะ และเมืองเปอร์ลิสของมาเลเซีย มีเจ้าเมืองปกครองติดต่อกันมาหลายคน ที่สำคัญและเป็นที่นับถือของชาวไทยพุทธ ชาวไทยอิสลามและชาวจีน ทั้งในถิ่นและนอกถิ่นคือโต๊ะนิจาแว เรียกสั้น ๆ ว่า โต๊ะนิ เล่ากันว่าเจ้าเมืองเป็นคนที่ชอบการเล่นกิจกรรมสนุกสนาน ชอบเล่นกีฬา โดยเฉพาะศิลปะการป้องกันตัวที่เรียกว่าสิละมาก เมื่อถึงวันสำคัญก็จะมีการแข่งขันการรำสิละ ตกกลางคืนจะมีการแสดงลิเกฮูลู เล่ากันว่าลิเกฮูลู ถือกำเนิดที่เมืองนี้เป็นครั้งแรกที่เมืองนี้ จึงได้ชื่อว่า โกตอราไม แปลว่าเมืองรื่นเริง เช่น เจ้าเมืองบนบานอะไรไว้ เมื่อสำเร็จผลก็มีการแก้บนกัน โดยเฉพาะวันโกนจุกและวันแต่งงานของลูกเจ้าเมือง จะเชิญเจ้าเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงมาร่วมในงานด้วยเมื่อรายอจาแว (โต๊ะนิ) ถึงแก่กรรม บรรดาลูก ๆ ก็พัฒนาวังเก่าให้ใหม่และใหญ่ขึ้น โดยย้ายจากที่เก่ามาตั้งใกล้ถนนใหญ่ แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่เป็น โกตาบารู แปลว่าวังใหม่


       เมืองเก่ายะลา

        เมื่อครั้งที่เมืองปัตตานีถูกแบ่งแยกเป็น ๗ หัวเมือง ใน พ.ศ. ๒๓๕๗ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมืองยะลาได้เป็นเมืองหนึ่งใน ๗ หัวเมืองนั้น ขณะนั้นเมืองยะลาตั้งอยู่ที่บ้านยะลอ ปัจจุบันคือบริเวณหมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านยะลา อําเภอเมือง จังหวัดยะลา ประชาชนทั่วไปในบริเวณนี้เรียกพื้นที่แห่งนี้ว่าเมืองเก่ายะลา ตัวเรือนที่เหลือเป็นร่องรอยว่าเป็นจวนเจ้าเมืองปัจจุบันคือ บ้านเลขที่ ๖ หมู่ที่ ๑ ตําบลยะลา อําเภอเมือง จังหวัดยะลา ความเป็นมาของเมืองเก่ายะลา บ้านยะลาเทียบเคียงเอาจากประวัติของ ๗ หัวเมืองกล่าวคือตามพงศาวดารเมืองปัตตานี ฉบับของพระยาวิเชียรคีรีฯ (ชม) เจ้าเมืองสงขลา ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๑-๒๔๔๔ ได้กล่าวถึงรายละเอียดของการแยกเมืองปัตตานีออกเป็น ๗ เมือง ครั้งนั้นว่าโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอภัยสงครามกับพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) ออกไปแยกเมืองปัตตานีเป็น ๗ เมือง ครั้นออกไปถึงเมืองปัตตานีแล้ว ก็แยกออกเป็นเมืองปัตตานี ๑ เป็นเมืองยิริง ๑ เป็นเมืองสายบุรี ๑ เป็นเมืองหนองจิก ๑ เป็นเมืองรามันห์ ๑ เป็นเมืองระแงะ ๑ เป็นเมืองยะลา ๑ ในพงศาวดารฉบับเดียวกันได้กล่าวถึงอาณาเขตของเมืองยะลาที่แบ่งแยกออกมาจากเมืองปัตตานีครั้งนั้นไว้ว่า “เขตแดนเมืองยะลารอบตัวตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่เขาปาระหมะ ปักหลักเรียงลงไปตะวันออกถึงปะฆะหลอสะเตาะเหนือบ้านจีนเหร ตลอดไปถึงบ้านกะลั่นอะหรอ จนถึงคลองใหญ่ท่าสาปจดบ้านบะนางสะตา ฟากเหนือเป็นเขตเมืองยะลา ฟากให้เป็นเขตเมืองรามันห์ ฝ่ายตะวันออกเฉียง เหนือต่อพรมแดนเป็นเมืองปัตตานี ตั้งแต่ตะโหละเปาะบานิ่ง มีสายห้วยไปจดคลองท่าสาป ฟากตะวัน ตกเป็นเขตเมืองยะลา ปากคลองตะวันออกเป็นเขตเมืองปัตตานี ฝ่ายเหนือต่อพรมแดนหนองจิก เขาศาลาคีรี เป็นแดนฝ่ายตะวันตกต่อพรมแดนเมืองไทรบุรี มีคลองบาโงยเป็นเขตแดนขึ้นไปถึงบ้านยินิงตลอดไปบ้านบะเหลาะ ฝ่ายตะวันตกตลอดไปจดเขาเหมืองติดะล่าบูสิ้นเขตเมืองยะลา ในการจัดหาตัวเจ้าเมืองนั้น พระยาอภัยสงครามข้าหลวง พร้อมด้วยพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) บังคับให้พระยาปัตตานี (พ่าย) เลือกจัดหาคนในตระกูลตวัน ตระกูลหนิที่พระยาปัตตานี (พ่าย) ได้เคยใช้สอยเห็นว่ามีนิสัยเรียบร้อยมาแต่ก่อน ก็จดรายชื่อให้ครบทั้ง ๖ เมือง ให้พระยาอภัยสงครามข้าหลวงและพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) ตรวจดูก่อนแต่งตั้งเป็นเจ้าเมือง ปรากฏว่าเจ้าเมืองยะลาคนแรกคือพระยายะลา (ตวันยะลอ) เป็นญาติพี่น้องกับตวันหม่าใส ซึ่งในอดีตเป็นนายอําเภอรามัน ภายหลังได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองรามัน พระยายะลา (ตวันยะลอ) ตั้งจวนเจ้าเมืองที่ตําบลบ้านยะลา หรือที่เรียกว่าเมืองยะลาในขณะนั้น เมืองยะลาครั้งนั้นมีฐานะเป็นเมืองประเทศราช ซึ่งต้องถวายดอกไม้เงินทองและเครื่องราชบรรณาการแก่กรุงเทพมหานคร โดยอยู่ภายใต้การกํากับของเมืองสงขลา เปิดโอกาสให้เมืองสงขลาสามารถเข้าไปแสวงหาประโยชน์ได้ และความสัมพันธ์ระหว่างเมืองยะลากับรัฐบาลกลางก็เริ่มกระชับมากขึ้น ในสมัยพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง พ.ศ. ๒๓๖๐-๒๓๙๐) พระยายะลา (ต่วนยะลอหรือตวันยะลอ) เจ้าเมืองคนแรกถึงแก่อสัญกรรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งต่วนบางกอกหรือตวันบางกอก บุตรของพระยายะลอ (ตวันยะลอ) เป็นเจ้าเมืองยะลาคนต่อมา โดยตั้งจวนเมืองอยู่ที่เดิมที่บ้านพระยายะลาคนเก่า

        ปัจจุบันเมืองเก่ายะลาได้ถูกดัดแปลงต่อเติมจนมองแทบไม่เห็นของเดิมที่พอจะระบุได้ว่าเป็นของเก่าจริง ๆ ก็คือบ่อน้าก่ออิฐบ่อหนึ่งพร้อมกับพื้นปูน บริเวณรอบบ่อซึ่งก่อขึ้นมาประมาณ ๑.๕ เมตร กว้าง ๕ เมตร ยาวประมาณ ๗ เมตร และกําแพงด้านหน้าของบ่อน้ําสูงประมาณ ๓ เมตร กําแพงก่อด้วยอิฐ อิฐแต่ละแผ่นหนา ๒ นิ้ว กว้าง ๙ นิ้ว ยาว ๑๒ นิ้ว ส่วนกําแพงดินรอบ ๆ จวนเจ้าเมือง เล่ากันว่าล้อมรอบไปด้วยพื้นที่ประมาณ ๑๐ ไร่ ปัจจุบันเหลือเพียงแนวกําแพงด้านหลัง เป็นกําแพงดินฐานกว้างประมาณ ๒.๕ เมตร สูงประมาณ ๒ เมตร ปลูกกอไผ่ไว้บนกําแพงสภาพถูกขุดไถขาดหายไปเป็นช่วง ๆ ที่เหลืออยู่พอมองเห็นว่าเป็นแนวกําแพง

       วังเก่าพระยายะลา

       วังเก่าพระยายะลา (ต่วนสุไลมาน)  ตั้งอยู่ที่บ้านเปาะเส้ง ตำบลเปาะเส้ง อำเภอเมือง ฯ ในพื้นที่ประมาณ ๓ ไร่ มีอาณาเขตทิศเหนือติดกับสวนยาง ทิศใต้ติดกับคลองยะหา เป็นบ้านทรงปั้นหยา หลังคาทรงลีมะ เป็นเรือนแฝด มีชานเรือนอยู่กลาง  เรือนหลังใหญ่กว้างประมาณ ๕ เมตร ยาว ๒๐ เมตร  หลังเล็กกว้างประมาณ ๔ เมตร ยาว ๒๐ เมตร  เรือนหลังใหญ่ด้านหน้ามีระเบียงด้านหลังเป็นห้องละหมาด ชานเรือนข้างหลังเป็นบ่อน้ำและอ่างน้ำละหมาด  ด้านหลังของเรือนหลังเล็กเป็นห้องครัววังเก่าหลังนี้เป็นเรือนใต้ถุนสูง มีเสาไม้เป็นจำนวนมาก พื้นไม้กระดาน ฝาไม้กระดาน หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาซึ่งนำมาจากเตาเผาที่เมืองปัตตานี ช่างที่สร้างชื่อ หะยีลีมะ เป็นช่างคนเดียวกันกับที่สร้างวังที่เมืองปัตตานี เป็นผู้ออกแบบเอง และสร้างเองโดยมีชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงเป็นลูกมือ


       หลุมฝังศพ (กุโบ) พระยายะลา

       หลุมฝังศพ (กุโบ) พระยายะลา (ต่วนสุไลมาน)  ตั้งอยู่ในบริเวณมัสยิดบ้านลางา หมู่บ้านเปาะเส้ง ตำบลเปาะเส้ง อำเภอเมือง ฯ ในพื้นที่ประมาณ ๑๐ ไร่ มีอาณาเขตทิศเหนือติดสวนยาง ทิศตะวันตกติดทุ่งนา ทิศใต้ติดสวนยาง เหนือหลุมศพประดับด้วยเครื่อง ครอบคลุมศพ แกะสลักด้วยหินอ่อนเป็นรูปหลังคาและโดม เหนือหลุมศพมีอาคารกว้าง ๗ เมตร สูงประมาณ ๒.๕ เมตร หลังคาทรงลีมะมุงด้วยกระเบื้องดินจากเตาเผากระเบื้องที่เมืองปัตตานี ภายนอกตัวอาคาร มีกำแพงอิฐถือปูนกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๐ เมตร ประตูอยู่ทางด้านทิศเหนือ บานประตูทำด้วยไม้แผ่นแข็งแรงภายในกำแพง นอกจากเป็นที่ฝังศพพระยายะลาแล้ว ยังมีหลุมฝังศพของลูกหลานพระยายะลาอยู่ด้วย ส่วนภายนอกกำแพง เป็นหลุมฝังศพของชาวบ้าน บริเวณตำบลนี้เรียงรายอยู่ทั่วทั้งกุโบ สำหรับที่ครอบคลุมศพของต่วนสุไลมาน ภาษามลายูเรียกว่า กาแอปอรี มีคำจารึกบนหินอ่อนเขียนเป็นภาษามลายู เรือนจำภาคธารโต มีจุดประสงค์เพื่อจัดตั้งเป็นทัณฑนิคม อยู่ในเขตตำบลแม่หวาด อำเภอบันนังสตา มีพื้นที่ประมาณ ๒๕,๐๐๐ ไร่ มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตหวงห้ามเพื่อประโยชน์แก่การราชทัณฑ์ พ.ศ.๒๔๘๐ จุดมุ่งหมายเพื่อย้ายนักโทษจากที่อื่นมาอยู่เพื่อฝึกหัดวิชาเกษตรให้นักโทษ โดยคัดเลือกนักโทษที่มีเวลาพอจะพ้นโทษ ประมาณ ๔ - ๗ ปี อายุไม่เกิน ๕๐ ปี ร่างกายแข็งแรง และเมื่อพ้นโทษแล้วไม่มีอาชีพอื่นใดและสมัครใจจะอยู่ ผู้บัญชาการเรือนจำคนแรกคือ นายสงวน  ตุลารักษ์  มีกองงานกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อทำงาน เช่น ทำงานในโรงเลื่อยเครื่องจักรไอน้ำ ตัดหวายป่า เผาถ่าน เลี้ยงสุกร ทำสวนมะนาว ยางพารา ทำฟืน ทำเหมืองแร่ดีบุก แต่การดำเนินงานไม่ได้ผลเท่าที่ควร จำเป็นต้องย้ายเรือนจำเขตธารโต ไปขึ้นกับเรือนจำประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อมาได้เลิกไปและโอนให้กรมประชาสงเคราะห์จัดเป็นนิคม


       อุโมงค์เบตง

       อุโมงค์เบตง  ตั้งอยู่ที่บ้านปิยะมิตร ตำบลตาเนาะแบเราะ อำเภอเบตง ใกล้กับบ่อน้ำร้อนเบตง เป็นอุโมงค์ที่อดีตโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) ได้ขุดขึ้นเพื่อใช้เป็นที่สะสมเสบียง หลบภัยทางอากาศและเก็บอาวุธยุทโธปกรณ์ อุโมงค์เดิมเป็นอุโมงค์ดิน ขนาดกว้างประมาณสองคนเดินสวนกันได้ ความสูงสูงกว่าศีรษะของคนยืนทั่วไปประมาณหนึ่งฟุต ขุดเจาะเข้าไปในเนินดินที่มีต้นไม้ปกคลุมหนาทึบ มีความยาวประมาณหนึ่งกิโลเมตร มีทางแยกเพื่อเข้า-ออก ได้เก้าทาง  ภายในอุโมงค์บางตอนจะเป็นห้องบัญชาการ ห้องส่งวิทยุท ห้องเก็บอาวุธและห้องพยาบาล เป็นต้น      


       กลุ่มบ้านกุนุงจนอง

       กลุ่มบ้านกุนุงจนอง  คำว่ากุนุงจนองแปลว่าภูเขาเอียง อยู่ที่บ้านกุนุงจนอง ในตำบลเบตง อำเภอเบตง มีพื้นที่ประมาณ ๒๐ ไร่ ทิศเหนือติดต่อกับคลองเบตง ทิศตะวันออกติดต่อกับหมู่บ้านตักโกร ทิศตะวันตกติดต่อสวนแปะหลิม ซึ่งติดกับเขตแดนมาเลเซีย ทิศใต้ติดต่อกับสวนยาง กลุ่มบ้านนี้ สร้างอยู่บนพื้นที่เดียวกัน ที่ดินเป็นของต้นตระกูล มีประมาณ ๑๕๐ หลังคาเรือน บ้านแต่ละหลังจะมีร่องน้ำจากชายคาตัดเป็นแนวเขตของบ้าน เป็นกลุ่มบ้านที่พึ่งพาอาศัยแบบเครือญาติ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน บริเวณบ้านสะอาดสะอ้านมีระเบียบวินัย ยึดมั่นในคุณธรรมของศาสนาและรักสันติสุข กลุ่มบ้านนี้มีอายุกว่า ๑๐๐ ปี สร้างแบบรูปทรงพื้นบ้าน ผู้ดำเนินการก่อสร้างได้แก่คนในตระกูลยามา บ้านหลังนี้เก่าแก่ที่สุด ใช้ไม้ไผ่ขัดแตะเป็นฝาบ้าน หลังคามุงจาก การสร้างบ้านในสมัยหลัง ๆ จะมีการแกะสลักเป็นลวดลายสวยงาม ประดับตามช่องลม เหนือประตูหน้าต่าง สิ่งที่น่าศึกษาของคนในกลุ่มบ้านนี้คือ เรื่องบทบาทของสถาบันในสังคม ซึ่งจะมีผู้นำของกลุ่มบ้านเป็นผู้ปกครองได้แก่ โต๊ะอิหม่าน ซึ่งมีประมาณ ๑๕ คน เขาเหล่านี้นอกจากจะให้ความรู้เกี่ยวกับศาสนา และให้คำปรึกษาหารือต่าง ๆ แก่ผู้ตนในกลุ่มบ้านแล้ว ยังคอยสอดส่องดูแลความประพฤติของเยาวชนในกลุ่มด้วย มีมัสยิด มีโรงเรียนสอนศาสนา โรงเรียนเทศบาล เด็ก ๆ จะเรียนศาสนาที่มัสยิดในวันเสาร์ อาทิตย์ การประกอบอาชีพของคนในหมู่บ้านคือทำสวนยางและสวนผลไม้ รายได้เฉลี่ยต่อบุคคลประมาณเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท มีการประกอบกิจกรรม ที่กระทำร่วมกันของคนในกลุ่มบ้านเช่น การกวนข้าว อาซูรอ การเล่นกีฬาที่ใช้นาเป็นสนามฟุตบอลและสนามตะกร้อ เป็นต้น


ปูชนียวัตถุ

        พระพิมพ์ดินดิบ

     พระพิมพ์ดินดิบ  นิยมสร้างในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในสมัยโบราณโดยเฉพาะสมัยศรีวิชัย สร้างขึ้นเพื่อเป็นสิ่งเคารพบูชาแทนองค์พระศาสดา  บ้างก็เชื่อว่าสร้างขึ้นเมื่อพระผู้ใหญ่มรณภาพลง เมื่อเผาแล้วก็เอาอัฐิธาตุโขลกผสมดินทำเป็นพระพิมพ์เพื่อบูชา พระพิมพ์ดินดิบที่พบในบริเวณนี้ส่วนใหญ่พบในถ้ำต่าง ๆ ที่ภูเขากำปั่นและภูเขาวัดถ้ำ แต่เดิมชาวบ้านบริเวณนี้รู้จักพระพิมพ์ในชื่อของ พระผีทำและถ้ำผีทำ อันนี้มีที่มาจากตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา จนถึงปี พ.ศ.๒๕๐๐ มีชาวบ้านไปพบพระพุทธรูปสำริดเก้าองค์ในถ้ำคนโท ซึ่งเป็นถ้ำใหญ่ และสวยงามที่สุดในภูเขากำปั่น พระพุทธรูปดังกล่าวเป็นพระพุทธรูปแบบสุโขทัยและแบบอยุธยา มีบางองค์เชื่อว่าเป็นแบบศรีวิชัย เมื่อขุดลงไปในพื้นถ้ำก็พบพระพิมพ์ดินดิบวางซ้อนกันอยู่เป็นชั้น ๆ เป็นแนวตั้งบ้าง เป็นแนวนอนบ้างทุกองค์มีลักษณะเปียกชื้นติดกันไปหมด ต้องนำออกมาผึ่งแดดผึ่งลมจนแห้งจึงแกะออกจากกันได้ ได้พระพุทธรูปมามากกว่าหมื่นองค์ พระพิมพ์ที่พบจากถ้ำต่าง ๆ มีเนื้อดินและสีไม่เหมือนกัน เช่น พระพิมพ์จากถ้ำคนโทมักมีเนื้อดินสีน้ำตาลแดงหรือสีมันปู จากถ้ำวัว เนื้อดินมักเป็นสีขาว และจากถ้ำศิลป เนื้อดินมักมีสีชมพูอ่อน พระพิมพ์ที่พบในครั้งนั้นมีลักษณะเดียวกันกับที่พบตามถ้ำต่าง ๆ ในชุมชนโบราณ ตั้งแต่ไชยาลงไปจนถึงเกาะสุมาตราและเกาะชวา อันเป็นดินแดนที่เชื่อว่า เป็นอาณาจักรศรีวิชัยเมื่อประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๘ พระพิมพ์ที่พบที่ภูเขาทั้งสองลูกมีอยู่สองแบบใหญ่ ๆ ด้วยกัน แบบแรกทำเป็นรูปโพธิ์สัตว์ ส่วนแบบที่สองมักทำเป็นรูปพระพุทธเจ้ามีทั้งประทับนั่งและประทับยืน ที่ประทับยืนมักจะทำพระหัตถ์แสดงธรรม มีพระโพธิ์สัตว์องค์ต่าง ๆ ยืนขนาบซ้ายขวา เบื้องบนมีเทพชุมนุม เบื้องล่างมีพญานาคชูดอกบัวรองพระบาทเป็นปัทมาสน์ ถ้าเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งมักทำเป็นรูปปางประทานพรอยใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ มีพญานาคชูดอกบัวเป็นปัทมาสน์และมีสถูปขนาบซ้ายขวา พระพิมพ์ดินดิบเหล่านี้ที่ด้านหลังมีจารึกด้วยอักษรปัลลวะเป็นภาษาสันสกฤต ด้วยข้อความ เย ธมมา ซึ่งเป็นคาถามาจากบทเต็มว่า

เย ธมมา  เหตุปปราวา    เตส  เหตุ  ตถาคโต อาหเต สญจ โย  นิโรโธ      เอววาที  มหาสมโณ
ธรรมทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตได้ตรัสถึงเหตุของธรรมเหล่านั้น
เมื่อสิ้นเหตุของธรรมเหล่านั้นจึงดับทุกข์ได้ พระมหาสมณะมีวาทะตรัสสอนเช่นนี้
   

         พระพิมพ์ดินดิบและอักษร เย ธมมา เป็นสัญญลักษณ์อย่างหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัย ตามถ้ำต่าง ๆ ในภูเขาวัดถ้ำและภูเขากำปั่นยังขุดพบสถูปดินดิบขนาดเล็ก สถูปสำริด เม็ดพระศก อิฐฐานพระพุทธรูป พระพุทธรูปสลักหิน พระพุทธรูปสำริดสมัยต่าง ๆ และเครื่องถ้วยอีกจำนวนหนึ่งด้วย


       เม็ดพระศก

       เม็ดพระศก และอิฐฐานพระพุทธรูป ที่ถ้ำศิลปมีผู้พบชิ้นส่วนของพระพุทธรูปกระจัดกระจายอยู่เกลื่อนกลาด ได้สูญหายไปหลายชิ้นที่เหลืออยู่ได้แก่เศษปูนปั้น เป็นเส้นขดกลม เป็นชั้น ๆ  มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕ เซนติเมตร สูง ๓ - ๔ ชั้น ประมาณ ๔ เซนติเมตร สันนิษฐานว่า เป็นส่วนพระศกของพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ที่ถูกทำลายด้วยเหตุอะไรไม่อาจรู้ได้ นอกจากนี้ยังพบก้อนอิฐขนาดต่าง ๆ เป็นแท่งตรงบ้างโค้งบ้าง สันนิษฐานว่า อิฐเหล่านี้คือ อิฐที่ใช้ก่อขึ้นเป็นฐานของพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวนั้น
       สถูป

       สถูป มีทั้งขนาดใหญ่เป็นอาคาร และขนาดเล็กที่สร้างเพื่อบรรจุอัฐิไว้ในองค์สถูป อย่างที่พบทั่วไปในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี และชุมชนโบราณเมืองยะรัง กับสถูปดินดิบขนาดเล็กสูงประมาณ ๕ - ๑๐ เซนติเมตร สถูปที่พบในถ้ำต่าง ๆ ที่ภูเขาวัดถ้ำและภูเขากำปั่น มีสองประเภทคือสถูปสำริดและสถูปดินดิบ

  - สถูปสำริด  พบที่ถ้ำพระนอนในภูเขาวัดถ้ำสูงประมาณ ๑๖ เซนติเมตร ฐานสี่เหลี่ยม มีบันไดขึ้นสี่ด้านแต่ละด้านมีสิงห์โตหมอบอยู่คู่หนึ่ง องค์สถูปตั้งอยู่บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ที่องค์สถูปแต่ละด้าน มีพระชยานิพุทธเจ้าประทับอยู่ เป็นการแสดงว่าพระสถูปนี้เป็นการจำลองจักรวาลในพระพุทธศาสนา สถูปองค์นี้มีอายุอยู่ประมาณครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๔
- สถูปดินดิบ  เป็นสถูปขนาดเล็ก มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕ - ๖ เซนติเมตร สูงประมาณ ๖ - ๙ เซนติเมตร ส่วนใหญ่พบปะปนอยู่กับพระพิมพ์ดินดิบ เนื้อดินมีลักษณะเดียวกับพระพิมพ์ในถ้ำนั้น ๆ องค์สถูปเป็นรูประฆังคว่ำอยู่บนฐานกลม ตรงขอบระฆังมีรูปสถูปองค์เล็ก ๆ ประดับอยู่โดยรอบ ยอดสถูปคงเป็นปล้องไฉน แต่ไม่พบสถูปองค์ใดที่สมบูรณ์เหลืออยู่ ใต้ฐานสถูปมีอักษร เย ธมมา จารึกไว้เช่นเดียวกันกับที่ปรากฎอยู่หลังพระพิมพ์ดินดิบในบริเวณนี้

       กริช


       กริช  เป็นคำในภาษาชวา - มลายู ส่วนในภาษาถิ่นยะลาเรียกว่า กรือเระฮ์ กริชมีความเกียวข้องกับชาวชวาสมัยโบราณทีเชื่อในเทพเจ้า ลักษณะของด้ามกริชมักจะทำเป็นรูปสัตว์ในเทพนิยายของชวา และไม่ขัดกับหลักทางศาสนาอิสลาม กริช มีความเป็นมาอย่างไรไม่เป็นที่แน่ชัด แต่จากเรื่องราวในเทพนิยายและตำนาน กริชจะเป็นอาวุธประจำตัว และสืบทอดให้แก่คนในตระกูลสืบไป ทั้งยังมีคุณค่าในเชิงศิลปวัตถุ ที่เป็นมงคลและเป็นศักดิ์ศรีของผู้พกพา กริชของจังหวัดยะลามีชื่อและประวัติความเป็นมาที่ยาวนานคือ

 - กริชเมืองรามัน  เป็นกริชตระกูลสำคัญในประวัติของกฤช และเป็นที่ขึ้นขื่อมานาน มีประวัติว่าเมื่อประมาณ สามร้อยปีที่ผ่านมา เจ้าเมืองรามันประสงค์จะมีกริชไว้ประจำตัว และอาจเป็นกริชคู่บ้านคู่เมือง หรือในบางคราวจะมีไว้ประทานแก่ขุนนางผู้จงรักภักดี หรือผู้ทำความดีแก่บ้านเมือง หรือเป็นของขวัญแก่แขกบ้านแขกเมือง แต่กริชดี ๆ ในช่วงนั้นหายากมาก เจ้าเมืองรามันจึงได้ให้คนไปเชิญช่างฝีมือดี และแก่กล้าด้วยอาคมจากชวา มาตั้งเป็นช่างประจำเมืองเรียกว่า ปาแนะซาระห์ ได้ทำกริชตามรูปแบบของตนเองจนเป็นที่รู้จัก และได้เรียกชื่อกริชว่า กริชปาแนซาระห์ ต่อมาได้ถ่ายทอดการทำกริชแก่ลูกศิษย์เจ็ดคน แต่ละคนได้ความรู้คนละแบบและเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ กริชจือรีตอ กริชอาเนาะลัง กริชสบูฆิส กริชแบคอสบูการ์ กริชปแดนซาระห์ กริชบาหลี กริชแดแบะ หรือกายีอาริส แต่ละแบบมีความแตกต่างกันในรูปแบบและรายละเอียดของตัวกริช
- ส่วนสำคัญของกริชตัวกริชหรือเรียกว่าตากริช หรือใบกริชส่วนนี้เป็นโลหะผสมที่มีส่วนผสมอย่างพิสดาร ตามความเชื่อของช่างกริชหรือผู้สั่งทำกริช ตัวกริชมีลักษณะตรงโคนกว้างส่วนปลายเรียวแหลมมีคมทั้งสองด้าน ตัวกริชมีโครงสร้างที่แตกกต่างกันอยู่สองแบบคือ ตัวกริชแบบใบปรือ กับตัวกริชคด ตัวกริชแบบใบปรือ เป็นรูปยาวตรง ส่วยปลายค่อย ๆ เรียวและบางจนบางที่สุด ซึ่งอาจจะแหลมหรืออาจจะมนก็ได้ คล้าย ๆ กับรูปใบปรือ (พืชน้ำชนิดนึ่งมีใบยาวเรียว) กริชใบปรือบางเล่ม จะมีร่องลึกยาวขนานไปกับคมกริช บางเล่มมีร่องลึกดังกล่าว ๒ - ๔ ร่องก็มี ส่วนตัวกริชคดนั้นมีลักษณะคดไปคดมาและค่อย ๆ เรียวยาวลงคล้ายกับเปลวเพลิง การทำกริชให้คดนั้นกล่าวกันว่ามีจุดประสงค์คือ เมื่อใช้แทงจะทำให้บาดแผลเปิดกว้างกว่า และสามารถแทงผ่านกระดูกได้ด้วย การทำตัวกริชในสมัยโบราณต้องเตรียมกระบอกเหล็กเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒ นิ้ว ยาวประมาณ ๒๐ นิ้ว เอาชิ้นเหล็ก หรือโลหะหลาย ๆ ชนิดรวมทั้งเหล็กกล้า เหล็กเนื้ออ่อน นำมาบรรจุลงในกระบอกเหล็กดังกล่าว ตีกระบอกเหล็กนั้นให้แบนพอเหมาะ แล้วนำมาตั้งบนเตาไฟหลอมให้เหล็กนั้นเหลวจนเป็นเนื้อเดียวกัน ถ้าเหล็กดังกล่าวหลอมไม่เข้ากันสนิท ให้นำชิ้นเหล็กเหล่านั้นมาแช่ลงในน้ำดินเหนียว แล้วตั้งไฟหลอมใหม่จนกว่าเนื้อเหล็กจะเข้ากันสนิทดี จากนั้นจึงนำมาวางบนแท่น และตีให้แบนเป็นรูปร่างกริชที่ต้องการซึ่งต้องใช้เวลามาก จากนั้นจึงนำมาฝนลับ และตกแต่งให้เกิดรายละเอียดของลวดลาย ตามชนิดของกริชตามที่ต้องการ การหลอม การตี การฝนและการลับจะเป็นไปด้วยความประณีตบรรจง การกำหนดสัดส่วนของโลหะที่ใช้ผสมกันต้องใช้ประสบการณ์สูง หัวกริชหรือด้ามกริชสำหรับจับ นิยมทำเป็นรูปหัวคน หัวสัตว์  ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นรูปทรงเรขาคณิตที่ไม่ผิดหลักศาสนาอิสลาม หัวกริชจะแกะจากวัสดุต่าง ๆ เช่น ไม้เนื้อแข็ง งาช้าง เขาสัตว์ หรือหล่อด้วยโลหะ ปลอกสามกั่น เป็นส่วนที่ติดกับหัวกริช เพื่อให้หัวกริชยึดติดกันอย่างมั่นคงและไม่ให้หัวกริชแตกร้าวได้ง่าย นิยมทำด้วยโลหะทองเหลือง เงินหรือทองคำ และมีการแกะสลักลวดลายที่ประณีต ฝักกริช  เป็นที่เก็บคมกริชเพื่อความสะดวกในการพกพา มักจะทำด้วยโลหะชนิดเดียวกับโลหะที่ทำปลอกสามกั่น และแกะสลักด้วยความประณีตสวยงาม

 


ปูชนียบุคคล

พระรัฐกิจวิจารณ์

       พระรัฐกิจวิจารณ์ (สวาสดิ์ ณ สงขลา)  เป็นอดีตนายกเทศมนตรีเมืองยะลาและผู้ว่าราชการเมืองยะลา เป็นผู้วางรากฐานผังเมืองยะลาจนได้ชื่อว่า เป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีผังเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงามที่สุด นอกจากนั้นยังสร้างความเจริญแก่ตัวเมืองยะลา หรือที่เรียกว่า ตลาดนิบง อีกด้วย ชาวยะลาเรียกท่านสั้น ๆ ว่า พระรัฐ จนติดปาก พระรัฐกิจวิจารณ์เกิดที่อำเภอคีรีรัฐนิคม (ท่าขนอม) จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๔  เคยรับราชการเป็นนายอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง และเคยเป็นนายด่านตรวจคนเข้าเมือง ชีวิตข้าราชการครั้งสุดท้าย ดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดยะลา ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๖-๒๔๕๘ เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดยะลาคนที่ ๑๐ เมื่อออกจากราชการแล้วได้สมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกเทศบาลเมืองยะลาและได้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีติดต่อกันสองสมัย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๒-๒๔๘๘ ในช่วงที่เป็นนายกเทศมนตรีเมืองยะลา ได้ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจสร้างเมืองยะลาอย่างจริงจัง โดยเริ่มตั้งเมืองยะลาที่ตำบลนิบง เริ่มด้วยการวางผังเมืองเป็นวงเวียนหนึ่งวง สองวงและสามวง เตรียมจัดผังสำหรับก่อสร้างสถานที่สำคัญของทางราชการ เช่นศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอเมือง ฯ  ศาลจังหวัด สถานีตำรวจภูธรจังหวัดยะลา พระรัฐ ฯ ได้ดำเนินการตัดถนนสายสำคัญ ๆ ได้แก่ ถนนพิพิธภักดี ถนนสุขยางค์ ถนนสิโรรส และได้ตัดถนนย่อยอีกหลายสายได้แก่ ถนนสายยะลา ถนนไชยจรัส ถนนรัฐกิจ ถนนปราจีน ถนนพังงาและถนนรวมมิตร


ขุนศิลปกรรมพิเศษ (แปลก  เจริญสิน)

       ขุนศิลปกรรมพิเศษ (แปลก  เจริญสิน)  เป็นนักการศึกษาและนักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถทางด้านมนุษยศาสตร์และอักษรศาสตร์ เป็นที่ยอมรับทั่วไป ได้สร้างคุณประโยชน์แก่สังคมมากมาย ขุนศิลปกรรมพิเศษ เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ ที่บ้านแหลมทราย ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง ฯ จังหวัดสงขลา ได้เข้ารับราชการเป็นครูที่โรงเรียนมหาวชิราวุธสงขลา ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนศิลปกรรมพิเศษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒  ได้เป็นผู้ช่วยธรรมการมณฑลนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔ และได้ไปดำรงตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดยะลา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖ ได้เป็นผู้รายงานกระทรวงธรรมการทราบถึงการพบถ้ำศิลป จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ กรมศิลปากรได้ตั้งชื่อว่าถ้ำศิลป เพื่อเป็นเกียรติแก่ขุนศิลปกรรมพิเศษ และเพื่อให้สอดคล้องกับถ้ำที่มีศิลปะโบราณ ขุนศิลปกรรม ฯ ได้ย้ายไปคำรงตำแหน่งธรรมการศึกษาจังหวัดยะลา ในปี พ.ศ.๒๔๘๐ ได้ริเริ่มรวบรวมวัตถุโบราณที่ขุดพบจากอำเภอสทิงพระ อำเภอระโนด จังหวัดยะลา มาเก็บไว้ที่ทำการจังหวัดสงขลา และได้ขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขึ้นเป็นผลสำเร็จ นอกจากนั้นยังได้ก่อตั้งโรงเรียนช่างไม้ (สารพัดช่าง) โรงเรียนทอผ้าและตัดเย็บเสื้อผ้า (โรงเรียนอาชีวศึกษาและโรงเรียนเกษตรกรรม ในจังหวัดสงขลาขึ้นเป็นครั้งแรก) ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ ได้ไปดูงานศึกษาที่สหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาได้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการศึกษาภาค ๒ ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดยะลา ในขณะดำรงตำแหน่งอยู่นั้นได้จัดระบบการศึกษาให้ชาวไทยอิสลามที่พูดภาษาไทยไม่ได้ ให้พูด อ่าน และเขียนภาษาไทยได้ โดยได้นำความคิดที่ได้รับจากการไปดูงาน ด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแก่เด็กที่พูดภาษาสเปน ในรัฐนิวเมกซิโก สหรัฐอเมริกา โดยได้เริ่มวิธีการที่ในปอเนาะก่อน โดยให้เด็กหัดพูดภาษาไทยได้ ๖๐๐ คำก่อน แล้วจึงหัดเขียนทีหลัง ปรากฎว่าประสบความสำเร็จ เด็กอิสลามที่มาเรียนในปอเนาะสามารถพูด อ่าน เขียนภาษาไทยได้ หลังจากนั้นก็ได้จัดทำหลักสูตรขึ้นมาใช้จนประสบผลสำเร็จด้วยดี ต่อมาขุนศิลปกรรม ฯ ได้ศึกษาค้นคว้าทางด้านวิชาการอีกหลายเรื่อง เช่น ได้ศึกษาวัฒนธรรม ประเพณีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้รวบรวมคำพ้องในภาษาไทย และภาษามลายู เรียบเรียงเป็นพจนานุกรมขึ้น ได้ศึกษาค้นคว้าคำในภาษาไทยที่มาจากภาษามลายู ชวา อาหรับ เปอร์เซีย และฮิบคูสตานี เป็นต้น


พันตำรวจเอก ศิริ คชหิรัญ

       พันตำรวจเอก ศิริ คชหิรัญ  เป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นผู้นำสร้างหลักเมืองยะลา โดยขอรับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ จังหวัดยะลาได้เปลี่ยนสภาพจากป่าเป็นเมืองได้สมบูรณ์ ได้ประสานติดต่อให้มีการตั้งส่วนราชการระดับภาค และระดับเขตหลายหน่วยงานมาที่จังหวัดยะลา และภายในเวลาเพียง ๑๐ ปี ก็สามารถสร้างยะลาจากความเป็นเมืองป่า ไม่ใคร่มีใครรู้จักให้เป็นเมืองขนาดใหญ่สมบูรณ์แบบ พันตำรวจเอก ศิริ ฯ เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ ที่ตำบลสะพานสูง อำเภอบางซื่อ กรุงเทพ ฯ เริ่มชีวิตราชการในตำแหน่งนายดาบตำรวจ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒ และได้เลื่อนยศเป็นร้อยตำรวจตรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔ ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ได้เป็นเลขานุการำรมตำรวจแล้วโอนไปดำรงตำแหน่งผุ้ว่าราชการจังหวัดยะลา จนเกษียนอายุราชการเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ ได้เริ่มจัดผังเสาหลักเมืองขึ้น ณ บริเวณวงเวียนหน้าศาลากลางจังหวัด แล้วเสร็จและสมโภชในปี พ.ศ.๒๕๐๕ ทำให้สามารถรวมน้ำใจชาวเมืองทั้งที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลามให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในปี พ.ศ.๒๕๑๐ ได้พบช้างเผือกเชือกหนึ่งเป็นช้างพลาย เมื่อตรวจสอบตามตำรับพระคชลักษณ์แล้ว ปรากฎกว่าเป็นช้างสำคัญคู่บารมีสมควรขึ้นระวางเป็นช้างต้น จึงได้นำความกราบบังคมทูลและได้จัดพระราชพิธีสมโภชและขึ้นระวางช้างต้น พิธีกรรมทุกอย่างจัดตามโบราณราชประเพณี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน


นายแจ้ง  สุขเกื้อ

       นายแจ้ง  สุขเกื้อ  เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๑ ที่ตำบลเชียรใหญ่ อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้ารับราชการครั้งแรกด้วยการเป็นครูประชาบาล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๖ จากนั้นได้เลื่อนตำแหน่งเป็นครูใหญ่ แล้วได้เลื่อนเป็นศึกษาธิการอำเภอหลายแห่งในจังหวัดพังงา และจังหวัดตรัง แล้วเลื่อนขึ้นเป็นศึกษาธิการโทและเอก ที่จังหวัดยะลา จากนั้นย้ายไปดำรงตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดสงขลา เลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งศึกษาธิการเขต ๒ ในปี พ.ศ.๒๕๑๙ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๔ เมื่อทางราชการยกฐานะของศูนย์ประสานงานปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปต) ขึ้นเป็นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองการศึกษา และศาสนสัมพันธ์ และในปี พ.ศ.๒๕๒๗ ได้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีรกรมการศาสนา ผลงานที่สำคัญคือ การวางแผนการจัดการศึกษาสำหรับเยาวชนที่นับถือศาสนาอิสลาม นับตั้งแต่การพัฒนาปอเนาะ สถานศึกษาของชาวอิสลาม จนกลายเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม แต่เดิมนั้นชาวอิสลามใช้ปอเนาะเพื่อการศึกษาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อนายแจ้ง ฯ ดำรงตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดยะลา ได้ทดลองให้โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ซึ่งเป็นปอเนาะแห่งหนึ่ง เปิดสอนหลักสูตรสามัญขึ้น ปรากฎว่าได้ผลดีแนวความคิดนี้ได้ขยายไปสู่ปอเนาะอื่น ๆ และเปิดสอนกันโดยทั่วไป ปัจจุบันปอเนาะกลายสภาพมาเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและสอนวิชาสามัญ ซึ่งเปิดสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และได้รับการพัฒนาจนเป็นโรงเรียนชุมชนเป็นจำนวนมาก ยังผลให้เยาวชนชาวอิสลามได้รับการศึกษาสูงขึ้นเป็นจำนวนปีละมาก ๆ และส่วนหนึ่งได้เข้าศึกษาต่อถึงระดับมหาวิทยาลัย งานสำคัญอีกด้านหนึ่งคือ การเตรียมภาษาไทยสำรับเด็กไทยอิสลาม ที่พูดภาษาไทยไม่ได้ ก่อนเข้าวัยเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ งานเริ่มแต่สมัยขุนศิลปกรรมพิเศษเป็นศึกษาธิการเขต ๒ นายแจ้ง ฯ ได้ดำเนินการต่อจนกระทั่งโรงเรียนประถมศึกษา สามารถเปิดชั้นเด็กเล็กได้ทั่วทั้งเขต มีการผลิตหลักสูตรอบรมครูและผลิตคู่มือครู และอบรมครูผู้สอน ทำให้เด็กอิสลามซึ่งพูดไทยไม่ได้มาก่อนและมีปัญหาในการเรียนสามารถฟัง พูดภาษาไทย และเรียนในชั้นเรียนตามปกติได้ ทำให้จำนวนการเรียนต่อของเด็กอิสลามสูงขึ้นเป็นลำดับ ด้านการศึกษานอกโรงเรียน นายแจ้ง ฯ ได้มีส่วนสำคัญในการปรับปรุงหลักกสูตรหนังสือเรียนให้เหมาะสมกับท้องถิ่น จัดทำแผนการสอน คู่มือครู เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนที่ยังพูดภาษาไทยไม่ได้สามารถใช้ภาษาไทยได้มากยิ่งขึ้น และยังได้ริเริ่มทำหลักสูตรและอบรมภาษาไทยแก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้านอีกด้วย ได้มีการจัดให้สอนศาสนาอิสลามในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งมีการดำเนินการตั้งแต่การจัดทำหลักสูตร หนังสือเรียน และการอบรมครู เป็นการสนองความต้องการของท้องถิ่น ทำให้คนไทยที่นับถือศาสนาอิสลามสนใจเข้าเรียนในระบบโรงเรียนมากขึ้น


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
ยะลา (Yala)
ที่อยู่
จังหวัด
ยะลา
ละติจูด
6.54
ลองจิจูด
101.281



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

มรดกทางวัฒนธรรม. (ม.ป.ป.). สืบค้นวันที่ 1 ธ.ค. 63, จาก http://www.thaiheritage.net/nation/oldcity/yala5.htm 
วิจิตร ศรีวิสุทธานนท์ และปองทิพย์ หนูหอม. (2534). เมืองเก่ายะลาบ้านยะลา. ยะลา :  หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมจังหวัดยะลา
             ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดยะลา.
วิจิตร ศรีวิสุทธานนท์ และปองทิพย์ หนูหอม. (2534). กําแพงเมืองบ้านกาแป๊ะกอตอ. หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมจังหวัดยะลา
             ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดยะลา.
สำนักงานจังหวัดยะลา. (2538). ยะลาบ้านเรา. ยะลา : เสริมการพิมพ์.
สำนักงานจังหวัดยะลา. (2560). ประวัติจังหวัดยะลา. สืบค้นวันที่ 1 ธ.ค. 63, จาก www.yala.goth/content/history


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024