วัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม หรือวัดราษฎร์บูรณะ หรือวัดช้างให้ ตั้งอยู่ที่ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธ์ิ จังหวัดปัตตานี เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในจังหวัดปัตตานี ถ้าหากจะถือตามประวัติตำนานเมืองปัตตานีก็คงจะสร้างมาหลายร้อยปีแล้ว แต่จะสร้างมาเมื่อใดและใครเป็นคนสร้างก็ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด แต่จากหลักฐานที่ปรากฎทำให้ทราบว่าเป็นวัดร้างและถูกทอดทิ้งมาเป็นเวลานาน ซึ่งตรงกับการบอกกล่าวของคนเฒ่าคนแก่ก็ทราบว่าเป็นวัดร้างมาก่อน และมีสิ่งที่หลักฐานที่ปรากฏแสดงให้แน่ใจว่าเคยเป็นวัดมาก่อน คือศิลาก้อนใหญ่ปักอยู่ ๔ ทิศในท่ามกลางวัดร้าง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเครื่องหมายลูกนิมิตบอกให้รู้ว่าที่ตรงนี้เป็นเขตพัทธสีมาและอุโบสถเก่า โดยใช้เครื่องหมายคือศิลาเป็นิมิตก็ยังปรากฏอยู่จนบัดนี้ ยังไม่มีผู้ใดกล้าทำลายหรือรื้อถอนแต่อย่างใด ในส่วนของสถูปศักดิ์สิทธิ์ที่บรรจุอัฐิหลวงพ่อทวด ซึ่งอยู่ใกล้กับเขตพัทธสีมาที่ชาวบ้านเรียกว่า "เขื่อนหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด" หรือ "เขื่อนท่านเหยียบน้ำทะเลจืด" (คำว่าเขื่อนเป็นภาษาคนพื้นเมืองทางภาคใต้ หมายถึงสถูปที่บรรจุอัฐิของผู้มีบุญ) ก็มีมาก่อนแล้วซึ่งสถูปแห่งนี้ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวจังหวัดปัตตานีและใกล้เคียง มีผู้คนไปกราบไหว้บนบานอยู่เนืองนิจใครเจ็บไข้ได้ป่วยหรือวัตถุสิ่งของถูกขโมย หรือศูนย์หายก็พากันไปบนบาน ณ ที่สถูปแห่งนี้
ในส่วนของประวัติวัดตามหนังสือตำนานเมืองปัตตานีซึ่งพระศรีบุรีรัฐพิพิธ (สิทธิ์ ณ สงขลา) ได้รวบรวมไว้ว่า ... สมัยนั้นพระยาแก้มดำ เจ้าเมืองไทรบุรี ปรารถนาจะหาที่ชัยภูมิที่ดีสร้างเมืองให้ เจ๊ะสิตี ผู้เป็นน้องสาวครอบครอง เมื่อโหรหาฤกษ์ยามได้เวลาท่านเจ้าเมือง ก็เสี่ยงสัตย์อธิษฐานปล่อยช้างตัวสำคัญคู่บ้านคู่เมืองออกเดินป่าหรือเรียกว่าช้างอุปการเพื่อหาชัยภูมิดีสร้างเมืองเจ้าเมือง ก็ยกพลบริวารเดินตามหลังช้างนั้นไปเป็นเวลาหลายวัน วันหนึ่งช้างได้เดินหยุดอยู่ ณ ที่ป่าแห่งหนึ่ง (บริเวณวัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม) แล้วเดินวนเวียนร้องขึ้น ๓ ครั้ง พระยาแก้มดำถือเป็นนิมิตที่ดีที่จะสร้างเมือง ณ ที่ตรงนี้ แต่เมื่อน้องสาวตรวจดูแล้วก็ไม่พอใจ ท่านเจ้าเมืองก็อธิษฐานให้ช้างเดินหาที่ใหม่ต่อไป ช้างได้เดินรอนแรมอีกหลายวันเวลาตกเย็นวันหนึ่งก็หยุดพักพลบริวาร ทางน้องสาวถือโอกาสออกจากที่พักเดินเล่น บังเอิญขณะนั้นมีกระจงสีขาวผ่องตัวหนึ่งวิ่งผ่านหน้านางไป นางอยากได้กระจงตัวขาวตัวนั้นจึงชวนพวกพี่เลี้ยงวิ่งไล่ล้อมจับกระจง กระจงได้วิ่งวกไปวนมาบนเนินทรายขาวสะอาดริมทะเล (ในปัจจุบันคือบริเวณตำบลกรือเซะ) ทันใดนั้นกระจงก็หายไป นางเจ๊ะสิตีรู้สึกชอบที่ตรงนี้มากจึงขอให้พี่ชายสร้างเมืองให้ เมื่อพระยาแก้มดำปลูกสร้างเมืองให้น้องสาวและมอบพลบริวารให้ไว้พอสมควรเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ชื่อเมืองนี้ว่าเมืองปะตานี (ปัตตานี) ในขณะพระยาแก้มดำเดินทางกลับมาถึงภูมิประเทศผ่านบริเวณ ที่ช้างบอกให้แต่ครั้งแรกก็รู้สึกเสียดายสถานที่ จึงตกลงใจหยุดพักแรมทำการแผ้วถางป่า และสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นเป็นวัดให้ชื่อว่า “วัดช้างให้” หลังจากสร้างวัดเรียบร้อยแล้ว พระยาแก้มดำก็ได้กราบนิมนต์สมเด็จเจ้าพะโคะ (หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด) หรือที่ชาวไทรบุรีเรียกว่า "ท่านลังกา" ซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่เมืองไทรบุรีมาเป็นเจ้าอาวาส เมื่อสมเด็จเจ้าพะโคะ (หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด)หรือท่านลังกามาเป็นเจ้าอาวาสแล้ว แต่ท่านก็ไป ๆ มา ๆ ระหว่างวัดช้างให้กับเมืองไทรบุรี แต่ท่านก็ได้สั่งเสียกับลูกศิษย์ไว้ว่า ....ถ้าท่านมรณภาพลงเมื่อใดก็ให้นำสรีระของท่านกลับมาฌาปนกิจที่วัดช้างให้... ต่อมาเมื่อสมเด็จเจ้าพะโคะ (หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด) มรณภาพลูกศิษย์ก็ได้นำสรีระของท่านกลับมาที่วัดช้างให้เพื่อฌาปนกิจเสร็จแล้ว ก็ฝังอัฐิของท่านไว้ที่วัดช้างให้ อีกส่วนหนึ่งนำกลับไปฝังไว้ที่เมืองไทรบุรี (รัฐเกอดะฮ์ ประเทศมาเลเซีย) หลังจากกาลมรณภาพของสมเด็จเจ้าพะโคะ (หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด) วัดช้างให้ก็ทรุดโทรมและเสี่อมลงเพราะไม่มีพระอยู่จำพรรษาจนกลายสภาพเป็นวัดร้าง อยู่ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ พระครูมนูญสมณการ วัดพลานุภาพ ได้ชักชวนชาวบ้านเข้าไปพัฒนาวัดช้างให้เพื่อให้สะดวกกับการที่พระจำพรรษา โดยทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ และสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้น โดยให้พระช่วง พร้อมพระอนุจร มาอยู่จำพรรษาในปีนั้น เมื่อพระช่วงมาอยู่ก็ได้ดำเนินการสร้างถาวรวัตถุเพิ่มขึ้นประกอบด้วย ศาลาการเปรียญ ๑ หลัง และกุฏิ ๓ หลัง อยู่ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ พระช่วงได้ลาสิกขา ทำให้วัดช้างใหขาดเจ้าอาวาสและผู้นำลงอีกช่วงหนึ่ง นายบุญจันทร์ อินทกาศ (กำนันตำบลป่าไร่ในขณะนั้น) พร้อมด้วยชาวบ้านได้พากันไปหาพระครูภัทรกรณ์โกวิท (พระอธิการแดง ธมฺมโชโต) เจ้าอาวาสวัดนาประดู่ ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้เคียงกับวัดช้างให้ โดยขอให้ท่านจัดพระที่มีอายุพรรษาพอสมควรไปเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างให้ ท่านจึงได้ขอให้พระทิม ธมฺมธโร หรือพระครูวิสัยโสภณ ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างตามที่ชาวบ้านขอ พระครูวิสัยโสภณ (อาจารย์ทิม ธมฺมธโร) ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างให้เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ตรงกับวันอังคารขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ตอนที่ท่านมาอยู่วัดช้างให้ในช่วงแรก ๆ ท่านก็ไป ๆ มา ๆ กับวัดนาประดู่ เพราะกลางวันต้องกลับไปสอนนักธรรมพระภิกษุสามเณร เมื่อท่านมาอยู่วัดช้างให้ได้ประมาณ ๕-๖ เดือน ก็เกิดสงครามมหาบูรพาทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ปัตตานี เพื่อผ่านไปประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ จนกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในเวลาต่อ รถไฟสายใต้ที่วิ่งจากหาดใหญ่ไปสถานีสุไหงโก-ลก ทหารญี่ปุ่นขนทหารและสัมภาระผ่านหน้าวัดช้างให้วันละหลาย ๆ เที่ยว ทำให้ชาวบ้านพากันแตกตื่นและหวาดกลัวภัยสงครามไม่เป็นอันทำมาหากิน ในขณะนั้นวัดช้างให้ก็อยู่ในสภาพเดิมยังมิได้บูรณะจัดการก่อสร้างสิ่งใดเพิ่มเติม สภาพพื้นที่ของวัดช้างให้ซึ่งตั้งติดอยู่กับทางรถไฟ เพื่อผ่านไปยังจังหวัดยะลา นราธิวาส และชายแดนมาเลเซีย พระครูวิสัยโสภณ (อาจารย์ทิม ธมฺมธโร) เจ้าอาวาสวัดช้างให้ ต้องรับภาระหนักต้องจัดหาที่พักหาและอาหารมาเลี้ยงดูผู้คนที่มาขอพักอาศัยพักแรม ในระหว่างเดินทางไม่เว้นแต่ละวัน เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลง พระระครูวิสัยโสภณ (อาจารย์ทิม ธมฺมธโร) ก็ได้เริ่มบูรณะปฏิสังขรณ์ และก่อสร้างถาวรวัตถุในวัด อาทิ ศาลาการเปรียญ อุโบสถ หอฉัน หอระฆัง ตลอดถึงสร้างวิหารเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงพ่อทวด สถูปที่บรรจุอัฐิหลวงพ่อทวด กำแพงวัด ซื้อที่ดินขยายอาณาเขตของวัดไปทางทิศตะวันตก และซื้อที่ดินตรงข้ามกับวัดซึ่งตั้งอยู่คนละฟากทางรถไฟ จนวัดช้างให้เจริญวัฒนาจากวัดร้างที่ไร้พระภิกษุจำพรรษากลายเป็นวัดที่คนทั่วโลกต่างรู้จักดั่งเช่นปัจจุบัน วัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๐ ตามพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๗๔ ตอน ๑๕ หน้า ๔๕๑-๒๕๒ เขตวิสุงคามสีมา ยาว ๘๐ เมตร กว้าง ๔๐ เมตร
สถูปบรรจุอัฐิหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด
สถูปหรือมณฑปบรรจุอัฐิหลวงพ่อทวด เป็นสถูปศักดิ์สิทธิ์ที่บรรจุอัฐิหลวงพ่อทวด ซึ่งอยู่ใกล้กับเขตพัทธสีมาที่ชาวบ้านเรียกว่า "เขื่อนหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด" หรือ "เขื่อนท่านเหยียบน้ำทะเลจืด" (คำว่าเขื่อนเป็นภาษาคนพื้นเมืองทางภาคใต้ หมายถึงสถูปที่บรรจุอัฐิของผู้มีบุญ) ซึ่งมีมาก่อนแล้วซึ่งสถูปแห่งนี้ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวจังหวัดปัตตานีและใกล้เคียง มีผู้คนไปกราบไหว้บนบานอยู่เนืองนิจใครเจ็บไข้ได้ป่วยหรือวัตถุสิ่งของถูกขโมย หรือศูนย์หายก็พากันไปบนบาน ณ ที่สถูปแห่งนี้ สำหรับสถูปหรือมณฑปบรรจุอัฐิหลวงพ่อทวด องค์ปัจจุบันที่เห็ฯนี้ พระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมฺมธโร) และพระครูธรรมกิจโกศล (พระอาจารย์นอง วัดทรายขาว) ได้ปรึกษาหารือกันและตกลงให้รื้อและขุดของเก่าขึ้นมาเพื่อสร้างใหม่ แต่เมื่อทำการขุดลงไปก็ได้พบกับหม้อทองเหลืองที่บรรจุอัฐิหลวงปู่ทวดซึ่งห่ออยู่ในผ้า สภาพของหม้อทองเหลืองนั้นเริ่มผุพังไปเท่ากาลเวลา ทำให้ใครไม่มีใครกล้าแตะหรือเอามือจับต้อง เพราะต้องการรักษาสภาพเดิมเอาไว้ จึงมีมติว่าให้สร้างสถูปสวมครอบลงบนสถูปเดิมเหมือนดังเช่นในปัจจุบัน สำหรับมณฑปหรือสถูปบรรจุอัฐิหลวงปู่ทวด คั้งอยู่ด้านหน้าของวัด ติดกับทางรถไฟ ก่อสร้างด้วยอิฐถือปูนมีลวดลายสวยงาม ประดับด้วยสีทองเหลืองอร่ามสวยงาม ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนทั่วไป มณฑปหรือสถูปบรรจุอัฐิหลวงปู่ทวดมีรูปปั้นช้างหันหน้าเข้าหามณฑป ทั้ง ๒ ข้าง จากประวัติของวัดช้างให้ซึ่งมีหลวงพ่อทวดหรือที่ชาวเมืองเมืองไทรบุรีเรียกว่า "ท่านลังกา" หลวงพ่อทวดช่วงที่เป็นเจ้าอาวาสวัดช้างให้ ท่านก็ยังเดินไปมาระหว่างวัดช้างให้กับไทรบุรีอยู่เสมอ และเมื่อหลวงพ่อทวด มรณภาพที่เมืองไทรบุรี ลูกศิษย์ได้นำศพกลับมาที่วัดช้างให้ แต่ในการนำศพกลับมาต้องพักแรมในระหว่างทางเป็นเวลาหลายวัน กว่าจะถึงวัดช้างให้ ในการพักแรมเมื่อตั้งศพ ณ สถานที่ใด ที่นั้นก็จะเอาไม้แก่นปักหมายไว้ทุก ๆ แห่งเป็นระยะ ๆ จนกระทั่งถึงวัดช้างให้ สถานที่ตั้งศพพักแรมตามระหว่างทางนี้กลายเป็นสถานที่สักการะเคารพของคนในถิ่นนั้น บางแห่งก็ก่อเป็นเจดีย์ไว้ บางแห่งก่อเป็นสถูปไว้ และถือเป็นสถานที่ศํกดิ์สิทธิ์สำคัญ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ พระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมฺมธโร) และลูกศิษย์ได้เดินทางไปบูชาสถานที่ต่าง ๆ แต่ละแห่งก็มีสภาพเหมือนกันกับสถูปที่วัดช้างให้(เขื่อนท่านลังกา) เมื่อครั้งยังไม่ได้ตบแต่งสร้างขึ้นใหม่ และก็ได้สอบถามชาวบ้านในสถานที่นั้น ๆ ต่างก็บอกเล่าให้ฟังว่าเป็นสถานที่ตั้งศพหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เมื่อนำศพมาพักแรมที่นี้และมีน้ำเหลืองไหลตกลงพื้นดินก็ทำเครื่องหมายไว้บางแห่งก็ก่อเป็นรูปเจดีย์ก็มีบางแห่งมีไม้แก่นปักไว้แล้วพูนดินให้สูงขึ้นถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไว้ประจำบ้านประจำเมืองบางแห่งเรียกว่า"สถูปลังกา" บางแห่งเรียกว่า "สถูปหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด"
วิหารสมเด็จหลวงพ่อทวด
วิหารสมเด็จหลวงพ่อทวด เป็นวิหารที่ประดิษฐานรูปเหมือนของหลวงพ่อทอง ซึ่งมีขนาดเท่องค์จริง รูปแบบการก่อสร้างเป็นแบบก่ออิฐถือปูนทรงไทยสวยงาม
รูปหลวงพ่อทวดเท่าองค์จริง
วิหารพระครูวิสัยโสภณ
วิหารพระครูวิสัยโสภณ หรือจะเรียกว่าวิหารยอดก็ได้ เป็นสถาปัตยกรรมแบบอาคารทรงไทยประยุกต์ ฐานบนของวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์ทรงลังกาองค์ใหญ่และเจดีย์บริวาร หลังคาวิหารประกอบเครื่องยอดชนิดยอดทรงมณฑปแบบไทย ต่อเชื่อมด้วยวิหารทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านข้างต่อเชื่อมด้วยอาคารรูปทรงอย่างเดียวกันกับพระวิหารเป็นอาคารมุจเด็จเมื่อประกอบกันเข้าแล้วจะเป็นอาคารมีหลังคาแบบจตุรมุข
พระอุโบสถ
พระอุโบสถของวัดช้างให้หลังปัจจุบันตั้งอยู่ในกำแพงแก้ว ลักษณะของพระอุโบสถหลังนี้ เป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องลดชั้น ๓ ชั้น ซ้อนกันชั้นละ ๓ ตับ มีมุขลดทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้านละ ๑ ห้อง โดยมีเสาสี่เหลี่ยม ๔ ต้น รองรับโครงหลังคา ช่อฟ้าใบระกาปูนปั้นประดับกระจก หน้าบันปูนปั้นลวดลายพันธุ์พฤกษาประธานภาพตรงกลางเป็นพระอิศวรทรงช้างเอราวัณด้านล่างจารึกตัวเลข ๒๔๙๙ อีกด้านเป็นรูปพระพญาครุฑ ฐานพระอุโบสถยกพื้น ๒ ชั้น ชั้นแรกอยู่ในแนวเดียวกับเสารองรับชายคา ตามตำนานเล่าว่าวัดช้างให้ตั้งขึ้นเมื่อ ๓๐๐ ปีมาแล้ว มีตำนานเล่าว่าพระยาแก้มดำเจ้าเมืองไทรบุรีได้เสาะหาชัยภูมิสำหรับสร้างเมืองใหม่ให้กับน้องสาวจึงได้ปล่อยให้ช้างเสี่ยงทายออกเดินทางไปในป่า ช้างอุปการเสี่ยงทาย ได้มาหยุดลงที่แห่งหนึ่งหลังจากรอนแรมมาหลายวันแล้วเปล่งเสียงร้องขึ้นสามครั้ง พระยาแก้มดำจึงเห็นเป็นศุภนิมิตและคิดว่าจะใช้บริเวณนั้นสร้างเมืองให้ แต่น้องสาวของพระยาแก้มดำกลับไม่ชอบ พระยาแก้มดำจึงให้สร้างวัดขึ้นบริเวณนี้แทนแล้วตั้งชื่อว่าวัดช้างให้ แล้วจึงนิมนต์ท่านลังกาหรือที่รู้จักกันดีว่าหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดมาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ในอดีตวัดช้างให้นั้นกลายเป็นวัดร้างอยู่หลายครั้งจนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เจ้าคณะตำบลทุ่งพลาได้มอบหมายพระช่วงมาเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างให้ ท่านจึงได้ชักชวนชาวบ้านมาแผ้วถางผ่าสร้างกุฏิ ศาลาการเปรียญพร้อมเสนาสนะอื่น ๆ และเรียกชื่อว่าวัดราษฎร์บูรณะ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ พระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมฺมธโร) เจ้าอาวาส รูปที่ ๕ ได้ทำการบูรณะวัด และได้สร้างพระอุโบสถหลังนี้ขึ้นแทนหลังเก่าที่ทรุดโทรมเหลือเพียงเนินดินเท่านั้น ท่านได้กำหนดวางศิลาฤกษ์อันเป็นรากฐานของอุโบสถแห่งใหม่ในวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๔๙๕ แล้วขุดดินลงรากก่อกำแพงหน้าอุโบสถสืบต่อมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๖ งานก่อสร้างสำเร็จลงเพียงแค่กำแพงอุโบสถโดยรอบเท่านั้นงานก่อสร้างหยุดชะงักลง เพราะหมดทุนที่จะใช้จะจ่ายต่อไป มีการเล่ากันว่าครั้งนั้นหลวงพ่อทวดได้เข้าฝันเป็นนิมิตให้สร้างพระเครื่องเป็นรูปภิกษุชราขึ้นแทนองค์ท่าน และหลังจากพระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมฺมธโร) นิมิตว่าได้พบกับหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเล วันหนึ่งท่านได้เก็บเอาก้นเทียนที่ตกอยู่ริมเขื่อน (สถูป) มาคลึงเป็นลูกอมแล้วแจกจ่ายให้กับเด็กวัดไป เมื่อเด็กได้อมลูกอมสีผึ้งนี้ไว้ในปากแล้วนึกสนุกก็ลองแทงฟันกันด้วยมีดพร้าหรือของมีคม แต่เป็นที่อัศจรรย์คือแทงฟันกันไม่เข้า จนเรื่องทราบพระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมฺมธโร) ท่านก็ตกใจเพราะเกรงเป็นอันตรายกับเด็กจึงเรียกเด็กมาอบรมสั่งสอนห้ามไม่ให้ทดลองกันต่อไป และก็เป็นที่มาของพระเครื่องหลวงพ่อทวดรุ่นแรกที่ออกมาในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เพื่อแจกจ่ายให้แก่ประชาชนทั่วไปจนมีผู้ศรัทธาร่วมสร้างพระอุโบสถจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ จนเป็นที่มาของการสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวดที่ได้รับความศรัทธา และความนิยมเป็นอย่างสูงในปัจจุบัน
หอระฆัง
ภาพสืบค้นจาก : https://pantip.com/topic/37676042
หอระฆังของวัดช้างให้ ประดิษฐานอยู่ ๒ จุดคือบริเวณข้างพระอุโบสถ และสำนักงานมูลนิธิสมเด็จหลงพ่อทวดและพระครูวิสัยโสภณ
จากตำนานที่เล่าขานสืบต่อมาจากคนเฒ่าคนแก่บอกว่าวัดช้างให้หมายความว่าที่ดินวัดนี้ช้างบอกให้ เป็นวัดโบราณแห่งหนึ่ง มีอายุประมาณ ๓๐๐ กว่าปี มีลำดับเจ้าอาวาสปกครองวัดดังนี้คือ
๑. สมเด็จหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด (ไม่สามารถระบุปีได้)
๒. พระช่วง (๒๔๘๐-๒๔๘๓)
๓. พระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมฺมธโร) (๒๔๘๓-๒๕๑๒)
๔. พระครูใบฎีกาขาว ธมฺมรกฺขิโต (๒๕๑๓-๒๕๒๑)
๕. พระไพศาลสิริวัฒน์ (สวัสดิ์ อรุโณ) (๒๕๒๑-๒๕๔๓)
๖. พระสุนทรปริยัติวิธาน (สายันต์ จนฺทสโร) (๒๕๔๓-ปัจจุบัน
สมเด็จหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด
สมเด็จเจ้าพะโคะ หรือหลวงพ่อทวด เป็นที่รู้จักของชาวไทยทุกภูมิภาค ในฐานะพระศักดิ์สิทธิ์ที่มีอิทธิ ปาฏิหาริย์และอภิญญาแก่กล้าจนได้สมญาว่า “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด" ประวัติอันพิสดารของท่านมีเล่าสืบกันมาไม่รู้จบสิ้นยิ่งนานวันยิ่งซับซ้อนและขยายวงกว้างออกไป กลายเป็นความเชื่อความศรัทธาอย่างฝังใจ หลวงพ่อทวดเป็นบุตรของนายหู นางจันทร์ ซึ่งเป็นทาสในเรือนเบี้ย ของเศรษฐีชื่อปาน เกิดในรัชกาลของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๑๒๕ ณ บ้านสวนจันทร์ (บ้านเลียบ) ตำบลดีหลวง (ปัจจุบันเป็นตำบลชุมพล) อำเภอสทิงพระ (จะทิ้งพระ) จังหวัดสงขลา ตอนเยาว์วัยมีชื่อว่าปู ขณะท่านเกิดมีเหตุอัศจรรย์คือเกิดฟ้าร้องฟ้าผ่าแผ่นดินสะเทือนเลื่อนลั่น เสมือนหนึ่งว่ามีผู้มีบุญญาธิการมาเกิด เมื่อตัดรกจากสายสะดือแล้วนายหูบิดาของท่าน ก็นำรกของท่านไปฝังไว้ที่โคนต้นเลียบ (เป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ต้นเลียบในปัจจุบัน) เมื่อท่านเกิดมาแล้วก็มีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้นกับท่านเรื่อยมา เช่น ขณะที่ท่านอยู่ในวัยแบเบาะในช่วงฤดูเกี่ยวข้าวบิดามารดาของท่านต้องออกไป เกี่ยวข้าวที่กลางทุ่งนาซึ่งเป็นนาของเศรษฐีปาน ซึ่งท้องนาแห่งนั้นห่างจากบ้านประมาณ ๒ กิโลเมตร ที่นาแห่งนั้นมีดงตาลและมะเม่าเป็นจำนวนมาก (ปัจจุบันตั้งเป็นสำนักสงฆ์นาเปล) ในสมัยนั้นมีสัตว์ป่าชุกชุมมาก บิดามารดาของท่านจึงผูกเปลไว้กับต้นมะเม่าสองต้นและก็ได้เกี่ยวข้าวอยู่ไม่ไกลจากบริเวณนั้น พอถึงเวลาที่มารดาของท่านจะมาให้นม ก็ได้เห็นงูจงอางตัวใหญ่หรืองูบองหลาที่ชาวภาคใต้เรียกกันพันที่รอบเปล นางจันทร์เห็นแล้วตกใจเป็นอันมากจึงเรียกนายหูซึ่งอยู่ไม่ไกลนักมาดูและช่วยไล่งูจงอางนั้น แต่งูจงอางตัวนั้นก็ไม่ไปไหน นายหูและนางจันทร์จึงตั้งสัตยาธิฐานว่าขออย่าให้งูนั้นทำร้ายลูกเลย ไม่นานนักงูจงอางนั้นก็คลายวงรัดออกและเลื้อยหายไปในป่านายหูและนางจันทร์ จึงเข้าไปดูลูกน้อยเห็นว่ายังหลับอยู่และไม่เป็นอันตรายใด ๆ และปรากฏว่ามีเมือกแก้วขนาดใหญ่ที่งูจงอางคลายไว้อยู่บนอกเด็กชายปูนั้น เมือกแก้วนั้นปรากฎมีแสงแวววาว และต่อมาได้แข็งตัวเป็นลูกแก้ว (ปัจจุบันได้ประดิษฐานที่วัดพะโคะ) เมื่อเศรษฐีปานทราบเรื่องเข้าก็บีบบังคับขอลูกแก้วเอาจากนายหูและนางจันทร์ บิดามารดาของท่านจึงจำต้องยอมให้ลูกแก้วนั้นแก่เศรษฐีปานซึ่งเป็นนายเงิน แต่ลูกแก้วนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิประจำตัวท่าน เมื่อเศรษฐีปานเอาลูกแก้วไปแล้วก็เกิดเภทภัยในครอบครัวเกิดการเจ็บป่วยกัน บ่อย และมีฐานะยากจนลง เศรษฐีปานจึงได้เอาลูกแก้วมาคืนและขอขมาเด็กชายปูและยกหนี้สินให้แก่นายหูและนางจันทร์ ทั้งสองจึงพ้นจากการเป็นทาสและต่อมาก็มีฐานะดีขึ้น ๆ ส่วนเศรษฐีปานก็มีฐานะดีขึ้นดังเดิมเมื่อท่านมีอายุได้ ๗ ขวบ (ปี พ.ศ. ๒๑๓๒) บิดามารดาของท่านจึงนำท่านไปฝากไว้เป็นศิษย์วัดเพื่อเล่าเรียนหนังสือที่วัดกุฎ๊หลวงหรือวัดดีหลวงในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัดอยู่ใกล้บ้านขณะนั้นมีท่านสมภารจวง ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ เด็กชายปูเป็นเด็กที่หัวดีเรียนเก่งสามารถเล่าเรียนภาษาขอมและภาษาไทยได้ อย่างรวดเร็ว สมภารจวงได้บวชให้ท่านเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ ๑๕ ปี ตอนที่ท่านบวชเป็นสามเณรนี้เองบิดาของท่านจึงถวายลูกแก้วคืนให้แก่ท่านให้เป็นลูกแก้วประจำตัวท่าน ด้วยความที่เป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้ตลอดเวลาของท่าน ต่อมาท่านสมภารจวงได้นำไปฝากให้เล่าเรียนหนังสือที่สูงขึ้นสมัยนั้นเรียกว่ามูลบทบรรพกิจโดยนำไปฝากเรียนไว้กับสมเด็จพระชินเสน ซึ่งเป็นพระเถระชั้นสูงที่ส่งมาจากกรุงศรีอยุธยา ให้มาครองเป็นเจ้าอาวาสวัดสีคูยังหรือวัดสีหยังในปัจจุบัน ซึ่งห่างจากวัดดีหลวงไปทางทิศเหนือประมาณ ๔ กิโลเมตร ท่านได้เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วจนจบความของสมเด็จพระชินเสน หลังจากนั้นท่านได้เดินทางเข้ามาศึกษาต่อที่เมืองนครศรีธรรมราชเพื่อเรียนหนังสือให้สูงขึ้นโดยมาพำนักอยู่ที่วัดเสมาเมือง ซึ่งเป็นสำนักเรียนและมีสมเด็จพระมหาปิยะทัสสี เป็นเจ้าอาวาส และได้อุปสมบทเป็นพระสงฆ์เมื่ออายุครบกาลที่วัดเสมาเมือง ท่านได้ศึกษาวิชาจากครูบาอาจารย์ต่าง ๆ จนมีความรู้และเป็นผู้ทรงอภิญญามากและได้แสดงปาฏิหาริย์หลายครั้ง ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จากสมเด็จพระเอกาทศรศในครั้งสุดท้ายในราชทินนามที่ สมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์ สุดท้ายเมื่อท่านมีอายุได้ ๘๐ ปี ท่านได้กลับมาจำพรรษาที่วัดพะโคะ วัดบ้านเกิดของท่าน และต่อจากนั้นท่านได้ท่องเที่ยวธุดงค์ไปยังเมืองไทรบุรี และมาเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างให้จนกระทั่งมรณภาพที่เมืองไทรบุรีเมื่อวันที่ ๖ มีนาคมปี พ.ศ. ๒๒๒๕ สิริรวมอายุได้ ๙๙ ปี
ประวัติการสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวด
วัดช้างให้กำเนิดพระเครื่องหลวงพ่อทวด ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งหลวงพ่อทวดได้เข้าฝันเป็นนิมิตแก่นายอนันต์ คณานุรักษ์ ให้สร้างพระเครื่องรางเป็นรูปภิกษุชราขึ้นแท่นองค์ของท่าน นายอนันต์นมัสการ ได้ปรึกษาพระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมฺมธโร) และเตรียมงานสร้างพระเครื่องในวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๗ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เวลาเที่ยงตรงได้ฤกษ์พิธีปลุกเสกเบ้าและพิมพ์พระเครื่องหลวงพ่อทวดเรื่อย ๆ ทุกวัน จนถึงวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗ พิมพ์พระเครื่องหลวงพ่อทวดรุ่นแรกได้ ๖๔,๐๐๐ องค์ ทั้ง ๆ ที่ตั้งใจจะพิมพ์ให้ได้ ๘๔,๐๐๐ องค์ แต่เพราะมีเวลาจำกัดในการพิธีปลุกเสก ก็ต้องหยุดพิมพ์พระเครื่อง เพื่อเอาเวลาเตรียมงานพิธีปลุกเสกพระเครื่องหลวงพ่อทวดตามเวลาที่หลวงพ่อทวดกำหนดให้ปฏิบัติ และแล้ววันอาทิตย์ที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาเที่ยงตรงได้ฤกษ์พิธีปลุกเสกพระเครื่องหลวงปู่ฃพ่อทวดวัดช้างให้ ณ เนินดินบริเวณอุโบสถเก่า โดยมีพระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมฺมธโร) เป็นอาจารย์ประธานในพิธี และนั่งปรกได้อาราธนาอัญเชิญพระวิญญาณหลวงพ่อทวด พร้อมวิญญาณหลวงพ่อสี หลวงพ่อทอง และหลวงพ่อจัน ซึ่งหลวงพ่อทั้ง ๓ รูปนี้สิ่งสถิตอยู่รวมกับหลวงพ่อทวดในสถูปหน้าวัด ขอให้ท่านประสิทธิ์ประสาทความศักดิ์สิทธิ์ความขลังแด่พระเครื่องฯ นอกจากนั้นก็มีหลวงพ่อสง โฆสโก เจ้าอาวาสวัดพะโคะ พระอุปัชฌาย์ดำ วัดศิลาลอย พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ผู้อาวุโส ณ วัดช้างให้ร่ายพิธีปลุกเสกพระเครื่องสมเด็จหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด พิธีเสร็จสิ้นลงในเวลา ๑๖.๐๐ น. ของวันนั้น พระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมฺมธโร) พร้อมด้วยพระภิกษุอาวุโสและคณะกรรมการวัดนำทีมโดยนายอนันต์ คณานุรักษ์ ได้ร่วมกันทำการแจกจ่ายพระเครื่องหลวงพ่อทวด ให้แก่ประชาชนผู้เลื่อมใสซึ่งมาคอยรอรับอยู่อย่างคับคั่งจนถึงเวลาเที่ยงคืน ปรากฏว่าในวันนั้นคือวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗ กรรมการได้รับเงินจากผู้ใจบุญโมทนาสมทบทุนสร้างอุโบสถเป็นจำนวนเงิน ๑๔,๐๐๐ บาท หลังจากนั้นมาด้วยอำนาจบุญบารมีอภินิหารหลวงพ่อทวด ได้ดลบรรดาลให้พี่น้องหลายชาติหลายภาษาร่วมสามัคคีสละทรัพย์โมทนาสมทบทุนเพื่อสร้างอุโบสถ ดำเนินไปเรื่อย ๆ มิได้หยุดหยั่งจนถึงวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้จัดพิธียกช่อฟ้าและวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้ทำพิธีผูกพัทธสีมาอุโบสถจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์
พระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมฺมธโร)
พระครูวิสัยโสภณ นามเดิมชื่อ ทิม นามสกุล พรหมประดู่ เกิดวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ ปีชวด ณ บ้านนาประดู่ ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เป็นบุตรของนายอินทอง นางนุ่ม พรหมประดู่ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๖ คน เมื่ออายุได้ ๙ ขวบ บิดามารดาได้นำไปฝากให้อยู่กับพระครูภัทรกรณ์โกวิท (แดง ธมฺมโชโต) เจ้าอาวาสวัดนาประดู่ ซึ่งเป็นวัดใกล้บ้านเพื่อให้เรียนหนังสือ และได้เข้าเรียนทีโรงเรียนวัดนาประดู่ เรียนได้เพียงชั้น ป. ๓ แล้วออกจากโรงเรียน แต่ก็ยังอยู่กับพระครูภัทรกรณ์โกวิท (แดง ธมฺมโชโต) เพื่อเรียนหนังสือสวดมนต์ จากนั้นก็สึกออกมาช่วยพ่อแม่ทำนา จนอายุได้ ๒๐ ปีได้เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดนาประดู่ ในวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ มีพระครูพิบูลย์สมณวัตร เจ้าคณะใหญ่เมืองหนองจิก เจ้าอาวาสวัดมุจลินทวาปีวิหาร พระอารามหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการพุฒ ติสฺสโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการแก้ว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมฺมธโร) เมื่ออุปสมบทแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดนาประดู่ ๒ พรรษา แล้วย้ายไปอยู่ที่สำนักวัดมุจลินทวาปีวิหาร เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ครั้นต่อมาได้กลับมาเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมวัดนาประดู่ในระหว่างที่เป็นครูสอนนั้นได้จัดการสร้างกุฏิขึ้น ๑ หลังโดยร่วมกันสร้าง กับพระครูธรรมกิจโกศล (พระอาจารย์นอง วัดทรายขาว) วิทยฐานะสอบนักธรรมชั้นเอกได้ในสนามหลวงวัดพลานุภาพ จังหวัดปัตตานี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๗ และได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างให้ เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเส็งจึงบวชเป็นพระภิกษุที่วัดนาประดู่ โดยจำพรรษาที่วัดนาประดู่ ๒ พรรษา แล้วอาจารย์ทิม จึงย้ายไปอยู่ที่วัดมุจลินทวาปีวิหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม และต่อมาก็ได้ย้ายกลับมาเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมที่วัดนาประดู่ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ พระอาจารย์ทิม ได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดราษฎร์บูรณะ (วัดช้างให้) ซึ่งในตอนแรกยังคงไปๆ มาๆ ระหว่างวัดช้างให้กับวัดนาประดู่เพราะ"อาจารย์ทิม"ท่านยังคงเป็นครูสอนนักธรรมอยู่ที่วัดนาประดู่ด้วย ช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดปัตตานี รถไฟสายใต้จากหาดใหญ่ไปสุไหงโก-ลก ต้องขนทหารและสัมภาระผ่านหน้าวัดช้างให้วันละหลาย ๆ เที่ยวและหลาย ๆ ขบวน ทำให้ประชาชนขวัญเสียหวาดกลัวภัยสงคราม ท่านพระครูวิสัยโสภณ หรือพระอาจารย์ทิม ต้องรับภาระหนักคือต้องจัดหาอาหารและที่พักแก่ผู้ที่เดินทางผ่านวัดไม่เว้นแต่ละวัน นับเป็นผู้ทรงคุณธรรมที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มาตั้งแต่ต้น เมื่อครั้งที่ท่านไปอยู่ที่วัดช้างให้ใหม่ ๆ นั้น วัดช้างให้อยู่ในสภาพที่ถูกทิ้งร้างทรุดโทรม ท่านได้ริเริ่มตกแต่งสถูปที่บรรจุอัฐิหลวงปู่ทวดให้เป็นที่น่าเคารพบูชา ได้ดำริที่จะสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ โดยท่านได้ร่วมกับนายอนันต์ คณานุรักษ์ จัดสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวดได้เงินจากผู้มีจิตศรัทธาที่มาเช่าพระเครื่องหลวงปู่ทวดได้นำเงินมาสร้างพระอุโบสถ และปรับปรุงบริเวณวัดช้างให้
หน้าที่ตำแหน่งและสมณะศักดิ์
- พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๔๘๔ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมวัดนาประดู่ |
- พ.ศ. ๒๔๘๔ ย้ายไปเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดราษฎร์บูรณะ (วัดช้างให้) |
- พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดราษฎร์บูรณะ (วัดช้างให้) |
- พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นกรรมการสงฆ์อำเภอโคกโพธิ์ |
- พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เป็นพระครูวิสัยโสภณ |
- พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้รับเลื่อนสมณะศักดิ์ในนามเดิม เป็นพระครูชั้นโทพัดยศขาว ฝ่ายวิปัสสนา |
- พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้รับตำแหน่งเป็นพระอุปัชฌาย์ |
พระครูวิสัยโสภณ (อาจารย์ทิม) ได้เริ่มอาพาธด้วยโรคมะเร็งที่หลอดอาหารตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และได้มรณภาพเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๒ แม้ว่า พระครูวิสัยโสภณแห่งวัดช้างให้ได้มรณภาพไปนานแล้ว แต่สิ่งที่ท่านสร้างไว้ อาทิ พระอุโบสถ วิหารสำหรับประดิษฐานหลวงปู่ทวด เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมาเคารพสักการะ สถูปที่บรรจุอัฐิธาตุของหลวงปู่ทวดที่ติดกับทางรถไฟสายใต้ กุฏิสำหรับเป็นที่อาศัยของพระเณร กุฏิเจ้าอาวาสวัดช้างให้ ศาลาการเปรียญ ตลอดถึงวัตถุต่าง ๆ ที่มีอยู่ในวัดช้างให้ โรงเรียนวัดช้างให้หลังคาทรงเรือนไทยเป็นตึก ๒ ชั้น ติดกับทางรถไฟหน้าวัด พระเจดีย์องค์ใหญ่ที่ตั้งเด่นตระหง่านอยู่กลางวัดช้างให้ ล้วนสำเร็จด้วยความมุมานะของท่านทั้งสิ้น พระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมฺมธโร) เป็นผู้สร้างตำนานพระเครื่องหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักกันทุกวันนี้
ประวัติหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ เหยียบน้ำทะเลจืด. (2552). สืบค้นวันที่ 9 ก.ค. 61, จาก https://www.tumsrivichai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538708382
วัดช้างให้ ราษฎร์บูรณะ. (2561). สืบค้นวันที่ 9 ก.ค. 61, จาก https://pantip.com/topic/37676042
วัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม. (2561). สืบค้นวันที่ 9 ก.ค. 61, จาก https://www.touronthai.com/article/3303
หลวงปู่ทวด. (2555). สืบค้นวันที่ 9 ก.ค. 61, จาก http://www.amulet24.com/เกจิสายภาคใต้/ประวัติหลวงปู่ทวด.html
วัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม หรือวัดราษฎร์บูรณะ หรือวัดช้างให้ เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้ ตลอดถึงพุทธศาสนิกชนทั่วไป วัดช้างให้ตั้งอยู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาตินิยมมากราบไหว้สักการะและขอพร การเดินทางใช้เส้นทางหลวงสาย๔๒ (ปัตตานี-โคกโพธิ์) ผ่านสามแยกนาเกตุ ตรงไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข ๔๐๙ (ปัตตานี-ยะลา) ผ่านชุมชนเทศบาลนาประดู่และศูนย์ฝึกอาชีพ (วัดช้างให้) ไปจนถึงทางแยกเพื่อเข้าสู่วัดช้างให้อีกประมาณ ๗๐๐ เมตร