วัดไชยธาราราม หรือวัดฉลอง (Wat Chaiyararam or Wat Chalong)
 
Back    22/02/2019, 13:07    65,959  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา

       วัดไชยธารารามหรือวัดฉลอง เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดภูเก็ตมาช้านาน วัดไชยธาราราม หรือวัดฉลอง ตั้งอยู่ที่ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต ไม่มีบันทึกแน่ชัดที่ว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่มีชื่อปรากฏวัดฉลองในบันทึกของรัชกาลที่ ๓ และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงเปลี่ยนชื่อวัดฉลองเป็น “วัดไชยธาราราม” วัดไชยธารารามหรือวัดฉลอง เป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อของหลวงพ่อแช่มหรือพระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุณี" ซึ่งเป็นสมณะศักดิ์ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) หลวงพ่อแช่มขณะยังมีชีวิตท่านเป็นที่พึ่งของชาวบ้านในการรักษาโรค เนื่องจากท่านเป็นพระที่มีศาสตร์วิชาในด้านการปรุงยาสมุนไพร และรักษาโรค เข้าเฝือกผู้ป่วยกระดูกหัก และเมื่อครั้งที่ต้องต่อสู้กับกลุ่มอั้งยี่ (จีนที่ก่อกบฏ) หลวงพ่อแช่มก็ยังได้มอบผ้าประเจียดสีขาวให้ชาวบ้านเอาไว้โพกหัวเพื่อเป็นขวัญและกำลัง ใจในการต่อสู้จนชนะในที่สุด ท่านเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนมากถึงขนาดที่มีคนรอปิดทองตามแขนและขาของท่านราวกับปิดทองพระพุทธรูป แม้ว่าหลวงพ่อแช่มจะมรณภาพเป็นร้อยปีมาแล้ว แต่เรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์และเมตตาธรรมที่สูงส่งของท่านก็ยังเป็นที่เล่าขานและเลื่อมใสศรัทธาของชาวเมืองภูเก็ตสืบมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากหลวงพ่อแช่มแล้ว ที่วัดฉลองยังมี หลวงพ่อช่วง และหลวงพ่อเกลื้อม ที่ชาวบ้านเคารพ ศรัทธาเลื่อมใสเช่นกัน โดยนอกจากความศักดิ์สิทธิแล้ว ท่านทั้งสองยังมีชื่อเสียงทางด้าน การปรุงสมุนไพร และรักษาโรคด้วย ดังนั้นแม้ท่านได้มรณภาพไปแล้ว ชาวบ้านที่มีเรื่องทุกร้อน ก็ยังคงมากราบไหว้ บนบานไม่ขาดสาย

    วัดไชยธารารามหรือวัดฉลอง จากประวัติสืบเนื่องมานานเพียงใด ไม่มีหลักฐานอ้างอิงที่แน่นอนมาใครเป็นผู้สร้าง แต่ตามทางสันนิษฐานนั้นเข้าใจกันว่าหลังจากเมืองถลาง ต้องพ่ายแพ้ศึกพม่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๒ ต้นสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นเหตุให้ชาวถลางต้องหลบหนีภัยสงครามอันโหดร้ายกระจัดพลัดพรากกันไปหลายทิศทาง เช่น ตระกูลขุนนางผู้ครองเมืองถลาง ซึ่งเป็นลูกหลานของพระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง เจ้าพญาถลาง (เทียน ประทีป ณ ถลาง) พากันหลบหนีไปทางด่านพระยาพิพิธโภคัย เข้าไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่เมืองพังงา และเลยเข้าไปยังเมืองกระบี่ในภายหลัง (ซึ่งตระกูลประทีป ณ ถลางได้ตั้งรกรากและสืบทอดทายาทอยู่ในเมืองกระบี่มาจนทุกวันนี้) ราษฎรส่วนใหญ่หนีไปตามลำน้ำกระโสม แขวงเมืองตะกั่วทุ่ง เข้าสู่เมืองพังงาตอนเหนือแถบลุ่มแม่น้ำพังงา ตั้งบ้านเมืองอยู่ในที่ราบล้อมรอบด้วยหุบเขาที่มีชื่อเรียกมาจนถึงปัจจุบันนี้ว่า “บ้านถลาง” หรือ “บางหลาม” อีกส่วนหนึ่งหนีกระเจิงลงมาทางเมืองมานิก (มานิคคาม) ทะลุออกเมืองภูเก็ต (ที่บ้านกะทู้) แล้วหนีเรื่อยลงมาจนพบที่ราบกว้างริมลำน้ำใหญ่ (คลองบางใหญ่ ตำบลฉลอง) เป็นชัยภูมิเหมาะที่จะตั้งรกสร้างชีวิตและชุมชนใหม่ จึงได้ยับยั้งอยู่ที่ทุ่งราบกว้างแห่งนี้ ขนานนามชุมชนของตนเองว่า “ชาวถลาง” (แล้วเพี้ยนผันไปเป็น “ชาวฉลอง” ในภายหลังตามความเปลี่ยนแปลงของภาษา) ชุมชนชาวถลางที่บ้านใหม่แห่งนี้เป็นเพียงชุมชนย่อยมีผู้นำชุมชนที่สืบเชื้อสายเจ้าพญาถลาง (เทียน) เป็นแกนนำอยู่ (ซึ่งสืบทอดทายาทมาเป็น “ประทีป ณ ถลาง” อยู่ที่ฉลองจนถึงปัจจุบันนี้)

รูปเหมือนหลวงพ่อแช่ม

พระมหาธาตุเจดีย์ พระจอมไทยบารมีประกาศ

กุฏิจำลองหลวงพ่อแช่ม


ความสำคัญ

    วัดไชยธารารามหรือวัดฉลอง เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองที่มีชื่อเสียงของภูเก็ต แต่เดิมมานั้นอยู่ทางทิศเหนือของวัดในปัจจุบันและในการสร้างวัดครั้งนั้นได้สร้างพระประธานขึ้นไว้องค์หนึ่งคือพ่อท่านเจ้าวัด วัดไชยธารารามหรือวัดฉลอง มีหลวงพ่อแช่มซึ่งขึ้นชื่อและมีเรื่องราวด้านความศักดิ์สิทธิ์ และกิตติศัพท์ในการรักษาโรคของท่านประกอบด้วยบุญญาบารมีและเมตตาธรรม ที่สูงส่งของหลวงพ่อแซ่มทำให้มีผู้เลื่อมใสศรัทธาเป็นอันมาก เล่ากันว่าในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้นถึงกับมีผู้ที่รอปิดทองตามแขนและขาของท่านจนแลดูเหลืองอร่ามไปทั่วราวกับปิดทองพระพุทธรูป และแม้ว่าหลวงพ่อแช่มจะมรณภาพเป็นเวลานับหนึ่งร้อยปีมาแล้วก็ตาม ชื่อเสียงเกียรติคุณและบารมีของท่านก็อยู่ในความทรงจำของผู้คนสืบมา อีกทั้งที่วัดฉลองแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของพระมหาธาตุเจดีย์พระจอมไทยบารมีประกาศ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าที่นำมาจากศรีลังกา วัดฉลองแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในภูเก็ตอีกแห่งที่ใคร ๆ ที่มาเที่ยวภูเก็ตจะต้องมาวัดแห่งนี้


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

พระอุโบสถ

       สำหรับพระอุโบสถของวัดไชยธารารามหรือวัดฉลอง นั้นตามประวัติเล่าว่าชาวบ้านได้ช่วยกันขุดสระขึ้นสระหนึ่ง กว้างยาวประมาณ ๑๐ วา สี่เหลี่ยมจตุรัส  แล้วสร้างอาคารเป็นอุโบสถขึ้นกลางสระน้ำแห่งหนึ่งถือว่าเป็น "อุโบสถ" เพื่อให้พระสงฆ์สามารถลงไปปฏิบัติสังฆกรรมได้เสมือนหนึ่งอุโบสถทั่วไปที่ได้ผูกพัทธสีมาไว้แล้ว โดยจะต้องมีหลักฐานสมมุติขึ้นเป็น "นิมิต" ที่แน่นอนเพื่อให้ปรากฏแก่สายตาผู้คนรู้เห็นว่าเป็นเขตสงฆ์ หรือจะปฏิบัติสังฆกรรมในสถานที่อันล้อมรอบด้วยน้ำเป็นเขตจำเพาะ ซึ่งจะเรียกว่า "โบสถ์น้ำ" ต่อมาภายหลังได้มีสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ก็เลิกเลยใช้โบสถ์น้ำ แต่ได้ปลูกบัวหลวงแทน ปัจจุบันคือสระน้ำขุมบัวหลวง) ที่กล่าวถึง สำหรับพระอุโบสถวัดไชยธารารามหรือวัดฉลองหลังปัจจุบันสร้างแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่สมัยรัตนโกสินทร์ โดยมีช่อฟ้าใบระกา และหางหงส์ ในส่วนของใบสีมาจะกระจายเรียงรายอยู่โดยรอบของพระอุโบสถ 

หน้าบันพระอุโบสถมีรูปประธานเป็นพระพุทธเจ้าโปรดปัจจวัคคีย์

ใบเสมาประดิษฐานอยู่ในบุษบกมีซุ้มซึ่งกระจายอยู่รอบ ๆ พระอุโบสถทั้ง ๔ ด้าน

พระวิหาร หรือมณฑปทรงจตุรมุข (มณฑปพ่อท่านสมเด็จเจ้า)

     วิหารหรือมณฑปทรงจตุรมุข (มณฑปพ่อท่านสมเด็จเจ้า) เป็นสถาปัตยกรรมศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ที่งดงามมาก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิเพชร ภายในของพระวิหารยังเป็นที่ประดิษฐานรูปจำลองของหลวงพ่อแช่มหลวงพ่อช่วงและหลวงพ่อเกลื้อม พระเกจิอาจารย์ของภาคใต้ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวภูเก็ต ตลอดถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย 

วิหารท่านเจ้าวัด

       วิหารท่านเจ้าวัดภายในประดิษฐานพระประธานปรางมารวิชัย (พ่อท่านเจ้าวัด) ทางด้านขวามีขององค์พระมีรูปปั้นยักษ์ครึ่งตนยืนถือกระบอกเรียกว่า "นนทรีย์" และด้านซ้ายขององค์พระจะมีรูปปั้นคนจีนหรืออาแป๊ะนั่งตะบันหมาก ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "ตาขี้เหล็ก" ชาวบ้านมักนิยมมาขอเลขเด็ดกันอยู่เป็นประจำ 

ปูชนียวัตถุซึ่งประดิษฐานภายในวิหารท่านเจ้าวัดประกอบด้วยท้าวนนทรี  พ่อท่านเจ้าวัด  และตาขี้เหล็ก

กุฎิจำลองหลวงพ่อแช่ม

      กุฎิหลวงพ่อแช่ม (หลวงพ่อวัดฉลอง) เป็นเรือนไม้ทรงไทยยกพื้นสูง ซึ่งเป็นเรือนไทยที่สวยงามมากประดับประดาด้วยการแกะสลักไม้ลวดลายไทยสวยงามหน้าจั่วเป็นไม้ไผ่ขัดลาย  ซึ่งภายในอาคารจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งจำลองของหลวงพ่อวัดฉลอง ทั้ง ๓ รูปคือหลวงพ่อแช่ม หลวงพ่อช่วง และหลวงพ่อเกลื้อม ซึ่งทั้ง ๓ รูป อดีตเจ้าอาวาสวัดฉลอง กุฏิจำลองเป็นทรงศาลาไทยโดยตัวเรือนเป็นไม้สักทั้งหลังแกะสลักสวยงาม อีกทั้งยังมีการจัดแสดงเครื่องใช้อัฐบริขารของหลวงพ่อแช่ม หลวงพ่อช่วง และหลวงพ่อเกลื้อมอีกด้วย   นอกจากนี้ทางวัดยังได้นำเครื่องเรือนและเครื่องใช้โบราณต่าง ๆ มาจัดแสดงไว้ด้วย

ภาพกุฎิหลวงพ่อแช่ม (ของจริง)

หุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อแช่ม 

หุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อช่วง

หุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อช่วง

หุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อเกลื้อม

ฝ้าเพดานแกะเป็นฉลุเป็นรูปเทวดาสวยงามมาก

ภาพพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

 

พระมหาธาตุเจดีย์พระจอมไทยบารมีประกาศ 

พระมหาธาตุเจดีย์ พระจอมไทยบารมีประกาศ

       พระมหาธาตุเจดีย์พระจอมไทยบารมีประกาศ เป็นพระมหาธาตุเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๔ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านหลังของวัดภายในเงียบสงบ โดยที่ชั้นแรกของพระมหาธาตุเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ มากมาย และบริเวณด้านข้างผนังของแต่ละชั้นจะมีภาพวาดจิตรกรรมพุทธประวัติตอนประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพาน ที่งดงามยิ่ง เมื่อขึ้นไปด้านบนสุดจะเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าโดยด้านบนสุดของของพระมหาธาตุเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งอัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา ส่วนด้านนอกขององค์เจดีย์ สามารถที่จะเดินออกไปชมทิวทัศน์รอบ ๆ วัดและของเมืองภูเก็ตได้อย่างสวยงาม

ภาพจาก : http://amuletacademy.com/web/travel_detail.php?id=106

ภาพจิตรกรรมพุทธประวัติรอบผนังพระมหาเจดีย์

บริเวณชั้นแรกของพระมหาเจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูปางต่าง ๆ 

พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ในลูกแก้วใส


ปูชนียวัตถุ

พ่อท่านเจ้าวัด

       พ่อท่านเจ้าวัดเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย วัสดุสัมฤทธิ์ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ หน้าตักกว้าง ๐.๙๓ เมตร องค์พระสูง ๑.๗๘ เมตร ประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหารเก่าแก่ อันเป็นที่ตั้งของวัดฉลองแต่โบราณ ก่อนย้ายออกมาตั้งอยู่ในที่ปัจจุบัน ซึ่งด้านซ้ายจะมีรูปหล่อของชายชรานั่งถือตะบันหมาก ชาวบ้านเรียกว่า "ตาขี้เหล็ก" ด้านขวามีรูปหล่อเป็นยักษ์เรียกว่า "นนทรีย์" ซึ่งว่ากันว่าท่านชอบสูบบุหรี่มากหากใครมาบนบานบนด้วยบุหรี่นั้นมักสมปรารถนา ตามประวัติกล่าวว่าวัดฉลองแต่เดิมมานั้นได้สร้างอยู่ทางทิศเหนือของวัดฉลองปัจจุบันและในการสร้างวัดครั้งนั้นได้สร้างพระประธานขึ้นไว้องค์หนึ่ง (สร้างขึ้นในสมัยเจ้าอาวาสวัดฉลององค์แรกก่อนปี พ.ศ. ๒๓๗๐ ที่ชาวบ้านเรียกว่า "พ่อท่านเฒ่า" ) แล้วสร้างวิหารด้วยวัสดุที่หาได้จากป่าและทุ่งนา พระประธานองค์นี้เรียกว่า “หลวงพ่อนอกวัด” ต่อมามีการย้ายสถานที่ตั้งของวัดมาอยู่ที่ใหม่ ทำให้หลวงพ่อนอกวัดยังประดิษฐานอยู่ในวิหารดั้งเดิมต่อมาได้บูรณะปฏิสังขรณ์ให้มั่นคงแข็งแรงและสวยงามตามลำดับกาลเวลา 

พ่อท่านเจ้าวัด

ท้าวนนทรีย์

       "ท้าวนนทรี" ซึ่งตามความเป็นจริงนั้นคือภาพปั้นของ "นนทิอสูร" หมายถึงเทพเจ้าผู้รับใช้พระศิวะทำหน้าที่ปกติเป็นหัวหน้าพวกเทพซึ่งเป็นบริวารพระศิวะมีตำแหน่งเป็นมณเฑียรบาล และเมื่อถึงเวลาที่พระศิวะเสด็จไปไหน ก็กลายร่างเป็นโคศุภราชสี 

ตาขี้เหล็ก

       ตาขี้เหล็กนั้นจากประวัติเล่าว่าในการสร้างพระประธานในอุโบสถ มีเศษปูนเหลืออยู่ช่างปั้นผู้มีอารมณ์ขันได้ปั้นรูปตาเป๊ะนั่งตะบันหมากทิ้งไว้ในอุโบสถ เมื่อพระภิกษุกราบไหว้องค์พระประธานก็จำต้องไหว้ตาขี้เหล็กผู้เป็นฆราวาสด้วย ต่อมาพ่อท่านช่วงอดีตเจ้าอาวาสเห็นว่าไม่เหมาะสม จึงได้ย้ายตาขี้เหล็กไปแทนที่ท้าวนนทรีตนที่ถูกคนสติไม่ดีทำลายในวิหารพ่อท่านวัดนอก อยู่มาวันหนึ่งเด็กวัดได้พูดเล่น ๆ กันว่า (ติดสินบน) ถ้าตาขี้เหล็กบันดาลให้ควายมาชนให้ดูหน้าวัดได้จะให้สูบบุหรี่ จะเป็นด้วยเหตุใด ๆ ก็ตามความประสงค์ของเด็กวัดเหล่านั้นก็สำเร็จ  จึงได้แก้บนด้วยการให้ตาขี้เหล็กสูบบุหรี่  ต่อมาคนที่เชื่อถือตาขี้เหล็กก็กระทำตามบ้าง และก็ได้ตามที่ความประสงค์  

ตาลปัตรพ่อท่านสมเด็จเจ้า (แช่ม)

ภาพจาก : https://www.tnews.co.th/contents/369080

       หลังศึกวุ่นจีน (อั้งยี่) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๙  วัดฉลองก็ได้รับพระราชทานนามเป็นวัดไชยธาราราม เจ้าอาวาสคือพ่อท่านแช่มได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เป็นพระครูวิสุทธิวงษาจาริย์ญาณมุนี สังฆปาโมกข์ ซึ่งเป็นสมณศักดิ์สูงมากที่พระภิกษุหัวเมืองชั้นนอกจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณเช่นนั้น     พระครูวิสุทธิวงษาจาริย์ญาณมุนี (แช่ม) ได้รับพระราชทานตาลปัตรสมณศักดิ์ (พัดยศ) เทียบชั้นสมเด็จเจ้า   ประชาชนในจังหวัดภูเก็ตหรือภูเก็จในช่วงสมัยตอนต้นรัชกาลที่ ๕ จึงถวายสมณศักดิ์สมัญญาพ่อท่านวัดฉลอง (แช่ม) ว่า พ่อท่านสมเด็จเจ้าและเรียกขานสมณศักดิ์สมัญญานี้มาโดยตลอด พ่อทานสมเด็จเจ้า (แช่ม) ยังได้รับพระราชทานตาลปัตรเกียรติคุณ  ซึ่งปัจจุบันนี้ตาลปัตรเกียรติคุณของพ่อท่านสมเด็จเจ้า (แช่ม) แห่งวัดไชยธาราราม(วัดฉลอง)     เป็นตาลบัตรที่ยังคงรักษาไว้ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดและเป็นตาลปัตรที่เก่าแก่ที่สุดและเป็นโบราณวัตถุ และเป็นเกียรติประวัติแด่พ่อท่านสมเด็จเจ้า พระครูวิสุทธิวงษาจาริย์ญาณมุนี (แช่ม) และวัดไชยธาราราม

       ตาลปัตรสมณศักดิ์ (พัดยศ) นั้นตัวตาลปัตรทำด้วยผ้าพื้นสีเหลืองทอง ขอบตาลปัตรติดดิ้นสีทองเข้ม กลางตาลปัตรด้านบนปักดิ้นรูปอุณาโลมแผ่รัศมีอยู่บนดิ้นรูปพานสองชั้น    รูปพานอยู่บนหลังเศียรช้างเอราวัณ (ช้าง ๓ เศียร ช้างทรงของพระอินทร์)  ข้างเศียรช้างเอราวัณ ปักดิ้นรูปฉัตร ๗ ชั้น   ด้านขวาปักเป็นรูปทหารสวมหมวกถือดาบทั้ง ๒ มือ   ด้านซ้ายปักรูปทหารมือขวาถือดาบ  มือซ้ายถือโล่ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า     ตรงยอดด้ามถือ หรือส่วนล่างของตาลปัตรปักดิ้นรูปจักรและตรี  อันเป็นพระสัญลักษณ์แห่งราชวงศ์จักรี 

 


ปูชนียบุคคล

พระครูวิสุทธิวงษาจาริย์ญาณมุนี สังฆปาโมกข์ (หลวงพ่อแช่ม)

ประวัติ           

       วัดไชยธารารามหรือวัดฉลองนั้นเป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญของภูเก็ต เมื่อครั้งที่มีหลวงพ่อแช่ม เป็นเจ้าอาวาสท่านได้เป็นผู้นำทางจิตใจ ช่วยเหลือชาวบ้านให้ต่อสู้กับพวกอั้งยี่หรือพวกวุ่นจีนที่ก่อความเดือดร้อนให้ชาวบ้านและจะยึดเมืองภูเก็ต ท่านได้แจกผ้ายันต์ให้ชาวบ้านเพื่อป้องกันอันตรายและสร้างขวัญกำลังใจในการต่อสู้จนทำให้สามารถเอาชนะศึกได้ ทำให้พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงทราบความจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์แก่หลวงพ่อแช่มเป็นที่พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนีให้มีตำแหน่งเป็นสังฆปาโมกข์แห่งเมืองภูเก็ต ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในสมัยนั้น และได้พระราชทานนามวัดฉลองเป็นวัดไชยธารารามแต่นั้นมา เล่ากันว่าในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น มีผู้คนมารอปิดทองตามแขนและขาของท่าน จนแลดูเหลืองอร่ามราวกับปิดทองพระพุทธรูป แม้ว่าหลวงพ่อแช่มท่านได้มรณภาพมานานนับร้อยปีแล้วก็ตาม แต่ด้วยบุญบารมีที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมของหลวงพ่อเป็นที่นับถือของชาวบ้านจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้วัดฉลองแห่งนี้เป็นที่พึ่งพาทางจิตใจของผู้คนตลอดมาทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ดังจะเห็นได้จากทัวร์ทั้งหลายจากทั่วสารทิศที่มากันมาอย่างไม่ขาดสาย

       พระครูวิสุทธิวงษาจาริย์ญาณมุนี สังฆปาโมกข์ (หลวงพ่อแช่ม) เกิดที่ตำบลบ่อแสน อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เมื่อปีกุนพุทธศักราช ๒๓๗๐ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) บิดา-มารดาของท่านไม่ปรากฏว่าชื่ออะไร ต่อมาท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร และอุปสมบทเป็นพระภิกษุโดยได้เรียนรู้ศึกษาวิปัสนาธุระจากพ่อท่านเฒ่า (เจ้าอาวาสวัดฉลองในตอนนั้น) ในเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๙

ปราบอั้งยี่

       ในปีพุทธศักราช ๒๔๑๙ กรรมกรเหมืองแร่เป็นจำนวนหมื่น ในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียงได้ซ่องสุมผู้คนก่อตั้งเป็นคณะขึ้นเรียกว่า "อั้งยี่" หรือ "วุ่นจีน" โดยเฉพาะพวกอั้งยี่หรือพวกวุ่นจีน จังหวัดภูเก็ตก่อเหตุวุ่นวายถึงขนาดจะเข้ายึดการปกครองของจังหวัดเป็นของพวกตน ทางราชการในสมัยนั้นไม่อาจปราบให้สงบราบคาบได้ พวกอั้งยี่หรือพวกวุ่นจีนถืออาวุธรุกไล่ยิงฟันชาวบ้านล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านไม่อาจต่อสู้ป้องกันตนเองและทรัพย์สิน ที่รอดชีวิตก็หนีเข้าป่าไป เฉพาะในตำบลฉลองชาวบ้านได้หลบหนีเข้าป่าเข้าวัด ทิ้งบ้านเรือนปล่อยให้พวกอั้งยี่เผา (บ้านเรือนหมู่บ้านซึ่งพวกอั้งยี่เผาได้ชื่อว่าบ้านไฟไหม้จนกระทั้งบัดนี้) ชาวบ้านที่หลบหนีเข้ามาในวัดฉลองเมื่อพวกอั้งยี่หรือพวกวุ่นจีนรุกไล่ใกล้วัดเข้ามาต่างก็เข้าไปแจ้งให้หลวงพ่อแช่มทราบ และนิมนต์ให้หลวงพ่อแช่มหลบหนีออกจากวัดฉลองไปด้วย หลวงพ่อแช่มไม่ยอมหนีท่านว่าท่านอยู่ที่วัดนี้ตั้งแต่เด็กจนบวชเป็นพระ และเป็นเจ้าวัดอยู่ขณะนี้จะให้หนีทิ้งวัดไปได้อย่างไร เมื่อหลวงพ่อแช่มไม่ยอมหนีทิ้งวัดชาวบ้านต่างก็แจ้งหลวงพ่อแช่มว่า เมื่อท่านไม่หนีพวกเขาก็ไม่หนีจะขอสู้มันละ พ่อท่านมีอะไรเป็นเครื่องคุ้มกันตัวขอให้ทำให้ด้วย หลวงพ่อแช่มจึงทำผ้าประเจียดแจกโผกศีรษะคนละผืน เมื่อได้ของคุ้มกันคนไทยชาวบ้านฉลอง ก็ออกไปชักชวนคนอื่นๆ ที่หลบหนีไปอยู่ตามป่า กลับมารวมพวกกันอยู่ในวัดหาอาวุธ ปืน มีด เพื่อเตรียมต่อสู้กับพวกอั้งยี่หรือพวกวุ่นจีน ซึ่งเที่ยวรุกไล่ฆ่าฟันชาวบ้าน ไม่มีใครต่อสู้ก็จะชะล่าใจประมาทรุกไล่ฆ่าชาวบ้านมาถึงวัดฉลอง ชาวบ้านซึ่งได้รับผ้าประเจียด จากหลวงพ่อแช่มโพกศีรษะไว้ก็ออกต่อต้านพวกอั้งยี่หรือพวกวุ่นจีน ซึ่งไม่สามารถทำร้ายชาวบ้านได้กลับถูกชาวบ้านไล่ฆ่าฟันแตกหนีไป ครั้งนี้นับเป็นชัยชนะครั้งแรกของไทยชาวบ้านฉลอง ข่าวชนะศึกครั้งแรกของชาวบ้านฉลอง รู้ถึงชาวบ้านที่หลบหนีไปอยู่ที่อื่นต่างพากลับมายังวัดฉลอง รับอาสาว่าถ้าพวกอั้งยี่มารบอีกก็จะต่อสู้ ขอให้หลวงพ่อแช่มจัดเครื่องคุ้มครองตัวให้หลวงพ่อแช่มก็ทำผ้าประเจียดแจกจ่าย ให้คนละผืนพร้อมกับแจ้งแก่ชาวบ้านว่า "ข้าเป็นพระสงฆ์จะรบราฆ่าฟันกับใครไม่ได้ พวกสูจะรบก็คิดอ่านกันเอาเองข้าจะทำเครื่องคุณพระให้ไว้สำหรับป้องกันตัวเท่านั้น" ชาวบ้านเอาผ้าประเจียดซึ่งหลวงพ่อแช่มทำให้โพกศีรษะเป็นเครื่องหมายออกต่อต้านพวกอั้งยี่หรือพวกวุ่นจีน

       พวกอั้งยี่ให้ฉายาคนไทยชาวบ้านฉลองว่าพวกหัวขาว ยกพวกมาโจมตีคนไทยชาวบ้านฉลองหลายครั้งชาวบ้านถือเอากำแพงพระอุโบสถเป็นแนวป้องกัน อั้งยี่ไม่สามารถตีฝ่าเข้ามาได้ ภายหลังจัดเป็นกองทัพเป็นจำนวนพัน ตั้งแม่ทัพ นายกอง มีธงรบ ม้าล่อ เป็นเครื่องประโคมขณะรบกัน ยกทัพเข้าล้อมรอบกำแพงพระอุปโบสถ ยิงปืน พุ่งแหลม พุ่งอีโต้ เข้ามาที่กำแพงเป็นที่น่าอัศจรรย์ ที่บรรดาชาวบ้านซึ่งได้เครื่องคุ้มกันตัวจากหลวงพ่อแช่มต่างก็แคล้วคลาดไม่ถูกอาวุธของพวกอั้งยี่เลย รบกันจนเที่ยงพวกอั้งยี่ยกธง ขอพักรบ ถอยไปพักกันใต้ร่มไม้หุงหาอาหารต้มข้าวต้มกินกัน ใครมีฝิ่นก็เอาฝิ่นออกมาสูบ อิ่มหนำสำราญแล้วก็นอนพักผ่อนชาวบ้าน แอบดูอยู่ในกำแพงโบสถ์ เห็นได้โอกาสในขณะที่พวกอั้งยี่เผลอก็ออกไปโจมตีบ้าง พวกอั้งยี่ไม่ทันรู้ตัวก็ล้มตายและแตกพ่ายไป หัวหน้าอั้งยี่ประกาศให้สินบนใครสามารถจับตัวหลวงพ่อแช่มวัดฉลองไปมอบตัวให้จะให้เงินถึง ๕,๐๐๐ เหรียญ เล่าลือกันทั่วไปในวงการอั้งยี่ว่าคนไทยชาวบ้านฉลองซึ่งได้รับผ้าประเจียดของหลวงพ่อแช่มโพกศีรษะ ล้วนแต่เป็นยักษ์มารคงทนต่ออาวุธไม่สามารถทำร้ายได้ ยกทัพมาตีกี่ครั้ง ๆ ก็ถูกตีโต้กลับไปในทุกครั้ง จนต้องเจรจาขอหย่าศึกยอมแพ้แก่ชาวบ้านศิษย์หลวงพ่อแช่ม โดยไม่มีเงื่อนไข

       ต่อมาคณะกรรมการเมืองภูเก็ต ได้ทำรายงานกราบทูลไปยังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้คณะกรรมการเมืองนิมนต์หลวงพ่อแช่มให้เดินทางไปยังกรุงเทพมหานคร มีพระประสงค์ทรงปฏิสันฐานกับหลวงพ่อแช่มด้วยพระองค์เอง หลวงพ่อแช่มและคณะเดินทางถึงกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานสมศักดิ์หลวงพ่อแช่ม เป็นที่พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี ให้มีตำแหน่งเป็นสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต อันเป็นตำแหน่งสูงสุดซึ่งบรรพชิตจักพึงมีในสมัยนั้น ในโอกาสเดียวกัน ทรงพระราชทานนามวัดฉลองเป็นวัดไชยาธาราราม

ความศักดิ์และอิทธิปาฏิหาริย์

       เรื่องของความศักดิ์และอิทธิปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อแช่มนั้น โดยเฉพาะเรื่องพุทธาคม กลายเป็นเกจิอาจารย์ที่ชาวภูเก็ตนับถือ และก็โด่งดังไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซียอีกด้วย ผู้การเล่ากันว่า...

      มีเด็กสาวคนหนึ่งเจ็บป่วยอยู่ได้เกิดบนขึ้นมาว่า... ถ้าหายป่วยเมื่อใดจะไปปิดทองที่ของลับหลวงพ่อแช่ม แล้วปรากฎว่าความเจ็บป่วยนั้นได้หายไปจนสิ้น แต่สาวเจ้าผู้นั้นลืมเรื่องที่บนบานนั้นไปเสีย จนอยู่มาไม่นานนักสาวผู้นั้นก็ป่วยขึ้นมาอีก และครั้งนี้กลับป่วยมากกว่าครั้งก่อน จนหมอก็ไม่สามารถจะรักษาให้หายได้ พ่อของนางจึงถามว่าไปบนอะไรมาหรือเปล่าตอนแรกนางอายไม่กล้าบอก  แต่เมื่ออาการเพียบแปล้จึงยอมสารภาพว่าบนเรื่องปิดทองของลับหลวงพ่อ เมื่อหลวงพ่อแช่มทราบเรื่องจากพ่อแม่ของนาง ตอนแรกหลวงพ่อแช่มคงจะอึ้งอยู่ไม่น้อย เพราะบนบานอย่างลามกแบบนั้นใครจะเปิดสบงให้ปิดทองได้ แต่สุดท้ายด้วยเกรงอันตรายจะเกิดขึ้นแก่นาง หลวงพ่อจึงเกิดอุบายขึ้นมาโดยการนำไม้เท้าสอดลงไปในสบง แล้วให้นางปิดทองที่ปลายไม้เท้านั้น ทำให้โรคของนางก็หายไป ..

      เป็นที่รู้จักกันทั่วไปซึ่งมีเรื่องรวมถึงความศักดิ์สิทธิ์ และคุณงามความดีของหลวงพ่อแช่ม มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับไม้เท้าของท่านที่จิ้มบริเวณที่เป็นไฝหรือปานจะทำให้จางไปเอง ความศักดิ์สิทธ์ของหลวงพ่อแช่มเกิดขึ้นหลายครั้ง ชื่อเสียงของหลวงพ่อแช่มเลื่องลือไปไกล มีผู้คนมาบนบานเป็นจำนวนมาก บางคนก็แก้บนด้วยวิธีแปลก ๆ เช่นติดทองบนร่างกายหลวงพ่อแช่ม

บารมีหลวงพ่อแช่ม

       เรื่องที่ ๑ ... จากคำบอกเล่าของคณะผู้ติดตามหลวงพ่อแช่ม ไปในครั้งนั้นแจ้งว่ามีพระสนมองค์หนึ่งในรัชกาลที่ ๕ ป่วยเป็นอัมพาต หลวงพ่อแช่มได้ทำน้ำพระพุทธมนต์ให้รดตัวรักษา ปรากฏว่าอาการป่วยหายลงโดยเร็วสามารถลุกนั่งได้ อนึ่งการเดินทางไปและกลับจากจังหวัดภูเก็ตกับกรุงเทพมหานคร ผ่านวัดวัดหนึ่งในจังหวัดชุมพร หลวงพ่อแช่มและคณะได้เข้าพักระหว่างทาง ณ ศาลาหน้าวัด เจ้าอาวาสวัดนั้นนิมนต์ให้หลวงพ่อแช่มเข้าไปพักในวัด แต่หลวงพ่อเกรงใจและแจ้งว่าตั้งใจจะพักที่ศาลาหน้าวัด เจ้าอาวาสและชาวบ้านในละแวกนั้นบอกว่าการพักที่ศาลาหน้าวัดนั้นอันตรายอาจจะมีโจรจะมาลักเอาสิ่งของของหลวงพ่อแช่มและคณะไปหมด หลวงพ่อแช่มตอบว่าเมื่อมันเอาไปได้มันก็คงเอามาคืนได้เจ้าอาวาสวัดและชาวบ้านอ้อนวอน เท่าไรท่านก็คงยืนยันขอพักที่เดิม  เล่าว่าเมื่อตกตอนดึกคืนนั้นได้โจรป่า ๖ คน ได้เข้ามาล้อมศาลาไว้ขณะคนอื่น ๆ หลับหมดแล้วคงเหลือแต่หลวงพ่อแช่มเพียงรูปเดียว พวกโจรต้องการขโมยของแต่เอื้อมไม่ถึง หลวงพ่อแช่มก็ช่วยผลักของให้ ซึ่งสิ่งของส่วนมากบรรจุปิ๊บและใส่สาแหรกหาบมา พวกโจรพอได้ของก็พากันขนเอาไป รุ่งเช้าเจ้าอาวาสและชาวบ้านมาเยี่ยมทราบเหตุที่เกิดขึ้นก็พากันไปตามกำนันนายบ้านมา เพื่อจะไปตามพวกโจร แต่หลวงพ่อแช่มก็ห้ามไว้ไม่ให้ตามไป เป็นที่อัศจรรย์มากต่อมาครู่หนึ่งพวกโจรก็กลับมาแต่การกลับมาคราวนี้ หัวหน้าโจรถูกหามกลับมาพร้อมกับสิ่งของซึ่งลักไปด้วย กำนันนายบ้านก็เข้าคุมตัว หัวหน้าโจรไว้ โดยมีอาการปวดท้องจุดเสียดร้องครางโอดโอยอย่างมาก ทราบว่าระหว่างที่ขนของซึ่งพวกตนขโมยไปนั้น คล้ายมีเสียงบอกว่าให้ส่งของกลับไปเสีย มิฉะนั้นจะเกิดอาเพศ พวกโจรไม่เชื่อขนของต่อไปอีก หัวหน้าโจรจึงเกิดมีอาการจุกเสียดขึ้นจนไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เลยปรึกษากันตกลงขนสิ่งของกลับมาคืน หลวงพ่อแช่มสั่งสอนว่าต่อไปขอให้เลิกเป็นโจรอาการปวดก็หาย กำนันนายบ้านจะจับพวกโจรส่งกรมการเมืองชุมพร แต่หลวงพ่อแช่มได้ขอร้องมิให้จับกุมขอให้ปล่อยตัวไป ไม่เพียงแต่ชนชาวไทยในภูเก็ตเท่านั้นที่มีความเคารพเลื่อมใสในองค์หลวงพ่อแช่ม ชาวจังหวัดใกล้เคียงตลอดจนชาวจังหวัดต่าง ๆ ในมาเลเซีย เช่น ชาวจังหวัด ปีนัง ต่างให้ความคารพนับถือในองค์หลวงพ่อแช่มเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะชาวพุทธในจังหวัดปีนัง ยกย่องหลวงพ่อแช่มเป็นเสมือนสังฆปาโมกข์เมืองปีนังด้วย

       เรื่องที่ ๒ ... ชาวเรือพวกหนึ่งลงเรือพายออกไปหาปลาในทะเลได้ถูกคลื่นและพายุกระหน่ำจนเรือจวนล่มต่างก็บนบาน สิ่งศักดิ์ต่าง ๆ ให้คลื่นลมสงบ แต่คลื่นลมกลับรุนแรงขึ้นชาวบ้านคนหนึ่งนึกถึงหลวงพ่อแช่มได้ก็บนหลวงพ่อแช่มว่าขอให้หลวงพ่อแช่มบันดาลให้คลื่นลมสงบเถิด รอดตายกลับถึงบ้านจะติดทองที่ตัวหลวงพ่อแช่ม คลื่นลมก็สงบมาถึงบ้านก็นำทองคำเปลวไปหาหลวงพ่อแช่ม เล่าให้หลวงพ่อแช่มทราบและขอปิดทองที่ตัวท่าน หลวงพ่อแช่มบอกว่าท่านยังมีชีวิตอยู่จะปิดทองยังไง ให้ไปปิดทองที่พระพุทธรูป ชาวบ้านกลุ่มนั้นก็บอกว่าถ้าหากหลวงพ่อไม่ให้ปิดหากแรงบนทำให้เกิดอาเพศอีกจะแก้อย่างไร ในที่สุดหลวงพ่อแช่มก็จำต้องยอมให้ชาวบ้านปิดทองที่ตัวท่านโดยให้ปิดที่แขนและเท้า ชาวบ้านอื่น ๆ ก็บนตามอย่างด้วยเป็นอันมาก ทุกครั้งที่หลวงพ่อแช่มออกจากวัดไปทำธุระในเมือง ชาวบ้านต่างก็นำทองคำเปลวรอคอยปิดที่หน้าแขนของหลวงพ่อแทบทุกบ้านเรือนจนถือเป็นธรรมเนียม เมื่อกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จมาจังหวัดภูเก็ต ได้นิมนต์ให้หลวงพ่อแช่มไปหาก็ยังทรงเห็นทองคำเปลวปิดอยู่ ที่หน้าแข้งของหลวงพ่อแช่มนับเป็นพระภิกษุองค์แรกของเมืองไทยที่ได้รับการปิดทองแก้บนทั้ง ๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่

      เรื่องที่ ๓ ...  แม้แต่ไม้เท้าของหลวงพ่อแช่มซึ่งท่านถือประจำกายก็มีความขลัง ประวัติความขลังของไม้เท้ามีดังนี้ เด็กหญิงรุ่นสาวคนหนึ่งเป็นคนชอบพูดอะไรแผลง ๆ ครั้งหนึ่งเด็กหญิงคนนั้นเกิดปวดท้องจุดเสียดอย่างแรงกินยาอะไรก็ไม่ทุเลา จึงบนหลวงพ่อแช่มว่าขอให้อาการปวดท้องหายเถิด ถ้าหายแล้วจะนำทองไปปิดที่ของลับของหลวงพ่อแช่ม อาการปวดท้องก็หายไปเด็กหญิงคนนั้น เมื่อหายแล้วก็ไม่สนใจ ถือว่าพูดเล่นสนุก ๆ เท่านั้น ต่อมาเกิดอาการปวดท้องเกิดขึ้นมาอีกและรุนแรงกว่าเดิมพ่อแม่สงสัยจะถูกแรงสินบนจึงปลอบถามเด็กว่าไปบนอะไรไว้บ้าง ตอนแรกเด็กสาวอายไม่กล้าบอก แต่เพราะเจ็บมากจึงเล่าให้พ่อแม่ฟังเรื่องที่บนไว้ พ่อแม่จึงนำเด็กสาวไปหาหลวงพ่อแช่ม หลวงพ่อแช่มกล่าวว่าลูกมึงบนสัปดนอย่างนี้ใครจะให้ปิดทองอย่างนั้นได้ พ่อแม่เด็กต่างก็อ้อนวอนกลัวลูกจะตายเพราะไม่ได้แก้บน ในที่สุดหลวงพ่อแช่มคิดแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้โดยเอาไม้เท้านั่งทับสอดเข้าให้เด็กหญิงคนนั้นปิดทองที่ปลายไม้เท้า พอกลับถึงบ้านอาการปวดท้องจุดเสียดก็หายไป ไม้เท้านั่งทับของหลวงพ่อแช่มอันนี้ยังคงมีอยู่ และใช้เป็นไม้สำหรับจี้เด็ก ๆ ที่เป็นไส้เลื่อน เป็นฝี เป็นปาน อาการเหล่านั้นก็หายไปหรือชงักการลุกลามต่อไปเป็นที่น่าประหลาด   

มรณกาล                   

      หลวงพ่อแช่มมรณภาพในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ เมื่อมรณภาพบรรดาศิษย์ได้ตรวจหาทรัพย์สินของหลวงพ่อแช่มปรากฏว่าหลวงพ่อแช่มมีเงินเหลือเพียง ๕๐ เหรียญเท่านั้น ความทราบถึงบรรดาชาวบ้านปีนังและจังหวัดอื่นในมาเลเซีย ต่างก็นำเงินเอาเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นมีข้าวสาร มีคนมาช่วยเหลือหลายเรือสำเภา งานศพของหลวงพ่อแช่มจัดได้ใหญ่โตมโหฬารที่สุดในจังหวัดภูเก็ตหรืออาจจะกล่าวได้ว่า มโหฬารที่สุดในภาคใต้บารมีของหลวงพ่อแช่มก็มีมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ 

พระครูครุกิจจานุการ (หลวงพ่อช่วง)

พระครูครุกิจจานุการ (หลวงพ่อช่วง) (๒๔๑๘-๒๔๘๘)

ประวัติ

       พระครูครุกิจจานุการ หรือหลวงพ่อช่วง เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๘ พ่อแม่เป็นชาวตำบลฉลองท่านเป็นเด็กวัดมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่นำมาฝากให้เป็นศิษย์ของหลวงพ่อแช่ม เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยดี ขยันหมั่นเพียรและเป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อแช่ม ซึ่งท่านได้รับการถ่ายทอดวิทยาการต่าง ๆ ของหลวงพ่อแช่มไว้หมดสิ้น ตลอดถึงมีความเชียวชาญทางด้านการเชื่อมและต่อกระดูกเป็นพิเศษ ประมาณว่าคนกระดูกสันหลังหัก ซึ่งแพทย์สมัยใหม่ในขณะนั้นไม่สามารถต่อเชื่อมให้เป็นปกติได้ แต่หลวงพ่อช่วงท่านสามารถต่อเชื่อมได้ หลวงพ่อช่วงมีจริยาวัตรเป็นเลิศเมื่อเป็นเจ้าอาวาสวัดฉลองสืบต่อจากหลวงพ่อแช่มแล้ว จากการวางตนของหลวงพ่อช่วงชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างสูง ใบหน้าของท่านจะอิ่มเอิบคล้ายกับว่ามีรอยยิ้มอยู่เป็นนิตย์ แม้จะไม่มีเหตุการณ์สำแดงเอกลักษณ์ให้ชาวบ้านได้เห็นถึงความขลังของหลวงพ่อช่วงเหมือนสมัยหลวงพ่อแช่ม ชาวบ้านปีนังก็ยังคงนับถือและยกย่องเสมือนหลวงพ่อแช่มเช่นกัน ในการจัดรูปหล่อ เหรียญ แหวน ตลอดจนของขลังอื่น ๆ เกิดขึ้นในสมัยที่หลวงพ่อช่วงเป็นเจ้าอาวาสทั้งสิ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ บรรดาศิษย์ได้จัดหล่อรูปหลวงพ่อแช่ม หลวงพ่อช่วง และได้ทำเหรียญรูปไข่ รุ่นแรกขึ้นโดยจัดทำ ณ วัดมงคลนิมิตร ซึ่งเป็นพระอารามหลวงในจังหวัดภูเก็ต หลวงพ่อช่วงนั้นชาวบ้านส่วนมากมักจะได้ฉายาท่านว่าเป็นหลวงพ่อซึ่งประกอบด้วยพรหมวิหารสี่  คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา หลวงพ่อช่วงมรณภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ สิริอายุได้ ๗๐ พรรษา

พระครูครุกิจจานุการ (หลวงพ่อเกลื้อม) 

ประวัติ

       พระครูครุกิจจานุการหรือหลวงพ่อเกลื้อม เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๔ บิดาชื่อนากล้าม เผือกเพ็ชร์ มารดาชื่อนางแวว เผือกเพ็ชร์ เป็นชาวบ้านตำบลฉลอง เมื่อปฐมวัยเนื่องจากบ้านไกลวัดชัยธาราราม (วัดฉลอง) บิดามารดาจึงมอบให้เป็นเด็กวัดตั้งแต่เยาว์วัย ครั้นมีอายุครบอุปสมบทก็อุปสมบทครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓ หลวงพ่อเกลื้อมบวชครั้งแรกได้ ๑ พรรษาก็ลาสิกขาหลุดออกประกอบอาชีพส่วนตัว มีภรรยาและบุตร เหมือนชาวบ้านทั่วไป ๆ ต่อมาเกิดป่วยหนักบิดามารดาบนบานว่าขอให้หายป่วยเถิดหายป่วยก็จะบวชให้อีกอาการปวดก็หายไป ต่อมาได้อุปสมบทอีกครั้งเป็นครั้งที่ ๒ ครั้งนี้อุปสมบทอยู่ได้ ๓ พรรษาก็ลาสิกขาบทอีก ออกมาประกอบอาชีพทางฆราวาสอยู่ถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เกิดป่วยหนักอีกครั้ง และป่วยนานมากถึง ๗ วัน ๗ คืนจนสลบสิ้นความรู้สึก ญาติพี่น้องและบิดามารดาเห็นว่าไม่รอดแน่ แล้วก็จัดเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่จับมือให้พนมทํากรวยใบตองปักดอกไม้ใส่มือ การป่วยครั้งนี้ทราบถึงพระครูครุกิจจานุการ (หลวงพ่อช่วง) หลวงพ่อช่วงก็ไปยังบ้านของท่าน มารดาก็นิมนต์ให้หลวงพ่อช่วงเข้าไปเยี่ยมท่าน โดยการเอามือลูบศีรษะของท่านแล้วสวดมนต์ ขณะที่หลวงพ่อช่วงกำลังสวดมนต์อยู่นั่นเอง ท่านก็ฟื้นจากสลบและต่อมาก็รู้สึกตัวได้เล่าว่าขณะนั้นได้เดินทางไปตามเส้นทางสายหนึ่งพอจวนถึงก็มืดก็พอดีเห็นหลวงพ่อช่วงเดินตามไป และเอื้อมมือฉุดให้กลับ ตนจึงได้ฟื้นขึ้นมาอีก ท่านจึงได้แจ้งแก่บิดามารดาและญาติพี่น้องว่า จะเข้าอุปสมบทอีกครั้งหนึ่ง การอุปสมบทครั้งนี้จะไม่ลาสิกขาบทออกมาจนกระทั่งชีวิตดับสูญ ปีนั้นตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ท่านได้เข้าอุปสมบทอีกเป็นครั้งที่ ๓ ได้รับฉายาว่าสิริปุญโญ ท่านได้ใช้ความอุตสาหะเล่าเรียนมีความรู้ความสามารถจนสามารถเข้าสอบนักธรรมได้นักธรรมโท และสามารถอ่านภาษาบาลีได้โดยไม่ผิดเพี้ยน มีความจำเป็นเอก สามารถท่องพระปาฏิโมกข์ได้อย่างรวดเร็ว ชัดเจน และไม่ผิดเพี้ยน ทางด้านวิปัสสนาธุระหลวงพ่อเกลี้อมก็ได้รับการศึกษาและปฏิบัติมาจากหลวงพ่อช่วงทุกประการ โดยเฉพาะวิชาการต่อกระดูกมีผู้นิยมนับถือนำผู้เจ็บป่วยเกี่ยวกับกระดูกหักมารับรักษาพยาบาลไม่เว้นแต่ละวัน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ หลวงพ่อช่วงถึงแก่มรณภาพลง ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดฉลอง ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดฉลองได้ประมาณ ๓๓ ปี ได้บูรณะซ่อมแซมเสนาสนะต่าง ๆ อาทิ พระอุโบสถ มณฑป อนุสาวรีย์หลวงพ่อช่วง ทั้งยังได้ก่อสร้างกุฏิ ศาลาการเปรียญ มณฑปหลวงพ่อเจ้าวัด เมรุเผาศพ และเสนาสนะสงฆ์อื่น ๆ อีกจำนวนมากมาก ทำให้ประชาชนในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียงต่างนับถือหลวงพ่อเกลี้อมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหลวงพ่ออื่น ๆ ของวัดฉลอง  หลวงพ่อเกลี้อมได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่พระครูครุกิจจานุการ สมณศักดิ์เดียวกันกับหลวงพ่อช่วงและได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็นพระครูชั้นเอก เมื่อวันนี้ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๙ หลวงพ่อเกลี้อมได้ถึงมรณภาพด้วยความสงบ เมื่อ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ เวลา ๑๘.๑๐ น.

พระศรีปริยัติสุธี (เฟื่อง รักรอด)

พระศรีปริยัติสุธี (เฟื่อง รักรอด ป.ธ.๙)

ประวัติ         

       พระศรีปริยัติสุธี (เฟื่อง รักรอด ป.ธ.๙) เป็นชาวจังหวัดพัทลุง เกิดเมื่อวันพุธ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ บิดาชื่อปาน มารดาชื่อหลง นามสกุลเดิมรักรอด   อุปสมบทเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๕ ณ วัดทะเลน้อย ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และจาริกธุดงค์ผ่านจังหวัดสงขลา เข้าศึกษาในสำนักเรียนวัดราษฎรณ์บำรุง ตำบลระโนด อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา จนสอบได้นักธรรมชั้นเอก ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ แล้วออกจากจาริกธุดงค์มาถึงตำบลฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เข้าพำนักประจำที่วัดไชยธรรมดารามหรือวัดฉลอง ศึกษาบาลีในสำนักเรียนวัดวิชิตสังฆราม จนสอบได้ชั้นเปรียญธรรม ๙ ประโยค เมื่อี พ.ศ. ๒๕๒๐ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ พระครูคุรุกิจจานุการ (เกลื้อม) ได้มรณภาพลง ท่านได้รับมอบหมายให้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดไชยธาราราม (ฉลอง) จึงถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๒ จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสปกครองดูแลพระภิกษุสามเณร และทะนุบํารุงวัดไชยธาราราม (ฉลอง) สืบมา พระศรีปริยัติสุธี มีความรอบรู้ทั้งด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ เคยเป็นอาจารย์สอนศิษย์ยานุศิษย์ในสำนักเรียนบาลีที่จังหวัดพัทลุง สอนปริยัติธรรมที่สำนักเรียนจังหวัดสงขลาและสำนักเรียนวัดไชยะธาราราม (ฉลอง) ด้วยระยะเวลาเนิ่นนาน นอกจากนี้ท่านยังมีความรู้พิเศษด้านภาษาขอม วิชาสถาปัตยกรรม และวิชาเกี่ยวกับแผนผังหรือแบบแปลนอีกด้วย เมื่อได้รับมอบหมายให้ปกครองดูแลพระภิกษุสงฆ์สามเณรและเสนาสนะสงฆ์ ตลอดจนปูชนียสถานสำคัญของวัดไชยธาราราม ท่านได้มีมุติตาจิตสั่งสอนอบรมบรรดานวกภิกษุและศิษยานุศิษย์ ให้ยึดมั่นในจริยาวัตรอันดีงามโดยสม่ำเสมอ ทั้งยังได้พยายามแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบรรดาถาวรวัตถุ ที่สำคัญให้มีความสวยงามเจริญศรัทธาแก่บรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลายอีกด้วยเป็นต้นว่า ได้ปรับปรุงกุฏิเสนาสนะสงฆ์ให้ได้รูปแบบตามแผนผังและสถาปัตยศิลป์อันถูกต้อง ได้บูรณะพระอุโบสถที่กำลังจะทรุดโทรมขึ้นใหม่โดยเพิ่มเติมส่วนหลังคาให้ได้ลักษณะของพระอุโบสถมาตรฐานพร้อมทั้งสร้างกำแพงแก้วล้อมพระอุโบสถเพิ่มความสง่างาม นอกจากนี้แล้วยังได้พยายามขยายและปรับปรุงพื้นที่บริเวณวัด ให้กว้างขวางพอเพียงแก่บรรดาพุทธศาสนิกชนจะพึ่งเข้าไปชุมนุมนมัสการพระรัตนตรัยและองค์อนุสาวรีย์หลวงพ่อองค์กรก่อน ๆ นั้นด้วย ท่านยังมีความรู้ในวิชาต่อกระดูก อันเป็นภารกิจอย่างหนึ่งสำหรับที่เป็นที่พึ่งพาของประชาชนที่เข้ามาในวัดไชยธาราราม


บทบาทต่อสังคม

   วัดไชยธารารามหรือวัดฉลอง เป็นวัดที่เป็นศูนย์รวมศรัทธาของประชาชนชาวภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียง และเป็นต้นกำเนิดของโรงเรียนประถมศึกษาของเยาวชนในตำบลฉลอง ในโอกาสแรกที่มีพระราชบัญญัติประถมศึกษาออกประกาศใช้โดยอาศัยศาลาการเปรียญของวัดเป็นตัวโรงเรียน ครูเป็นผู้สอนบทเรียนภาษาไทยเบื้องต้นตามหลักสูตรที่ราชการกำหนด วัดไชยธารารามหรือวัดฉลองมีพระพุทธรูปสมัยเก่าแก่หลายองค์ ซึ่งเคยประดิษฐานอยู่ในวิหารที่สร้างขึ้นด้วยศิลปกรรมสมัยเก่าแม้ว่าสถาปัตยกรรม เหล่านั้นจะได้ทรุดโทรมปรักหักพังไปจนต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ไปบ้าง แต่องค์พระปฏิมากรรมรุ่นเก่าเหล่านั้นก็ยังคงสถิตอยู่ไม่บุบ สลายไปตามกาลเวลา


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดไชยธาราราม หรือวัดฉลอง (Wat Chaiyararam or Wat Chalong)
ที่อยู่
ถนนเจ้าฟ้าตะวันตก ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
จังหวัด
ภูเก็ต
ละติจูด
7.847135
ลองจิจูด
98.336904



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต คณะครุศาสตร์ สาขาสังคมศึกษา. (2561). วัดฉลองหรือวัดไชยธาราราม. สืบค้น ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒, จาก  https://sites.google.com/                                          site/wattravel2000/wad-chiy-thara-ram-wad-chlxng
วัดฉลอง ภูเก็ต. (2560). สืบค้น ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒, จาก https://www.paiduaykan.com/province/south/phuket/watchalong.html
วัดไชยธาราราม (วัดฉลอง). (2547). พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: นานาสิ่งพิมพ์.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024