ตามตำนานเล่าว่าบริเวณถนนนางงามย่านเมืองเก่าและโบราณของสงขลา มีความเชื่อกันว่าต้องมีพิธีลงเสาเอกของเมืองและสร้างอาคารของเมือง เพื่อให้เป็นที่สถิตย์ของเทพผู้รักษาหลักเมือง ตามความเชื่อโดยเรียกเทพองค์นั้นว่า “เจ้าพ่อหลักเมือง” ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลาหรือศาลหลักเมืองสงขลา ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนนางงาม ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา โดยสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองสงขลาแห่งใหม่ที่ฝั่งบ่อยางเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๕ เป็นโบราณสถานร่วมสมัยรัตนโกสินทร์ มีลักษณะเป็นศาลเจ้าแบบเก๋งจีน พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง ณ สงขลา) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาในขณะนั้น ซึ่งได้รับเสาหลักเมืองที่ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์จากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ซึ่งดำริให้ฝังหลักชัยของเมืองสงขลา โดยทรงพระราชทานไม้ชัยพฤกษ์หลักไชยต้นหนึ่งกับเทียนชัยเล่มหนึ่ง ทั้นี้โปรดเกล้าฯ ให้พระอุดมปิฎกออกไปเป็นประธานด้านพุทธพิธี พร้อมด้วยพระเถระฐานานุกรมเปรียญ ๘ รูป และให้พระราชครูอัษฎาอาจารย์ เป็นประธานฝ่ายพิธีพราหมณ์พร้อมด้วยพราหมณ์ ๘ นาย งานฝังหลักชัยในครั้งนั้นพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ได้จัดทำพิธีขึ้นกลางเมืองสงขลา โดยตั้งโรงพิธีทั้ง ๔ ทิศ ในวันประกอบพิธีได้จัดขบวนแห่หลักไม้ชัยพฤกษ์กับเทียนชัยเป็นขบวนใหญ่ มีทั้งชาวไทยและชาวจีนเข้าร่วมในขบวนพิธีโดยอัญเชิญหลักไม้ชัยพฤกษ์ไว้ที่ใจกลางเมืองสงขลา (ถนนนางงามในปัจจุบัน) ซึ่งเรียกว่า “หลักเมือง” เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๘๕ ภายหลังการฝังหลักเมืองแล้วจัดให้งานเฉลิมฉลองมีมหรสพ เช่น โขนร้อง งิ้ว ละครชาตรี (โนรา) พร้อมพิธีทางพระพุทธศาสนา ในเวลาต่อมาได้สร้างอาคารคร่อมหลักเมืองไว้ ๓ หลัง และสร้างศาลเจ้าเสื้อเมืองอีก ๑ หลัง ศาลเจ้าหลักเมืองสงขลาจึงเป็นที่ประดิษฐานหลักเมือง (ตามคติไทย) และเจ้าพ่อหลักเมือง (เซ่ง ห๋อง เหล่า เอี้ย) ซึ่งเป็นเทพคุ้มครองเมือง (ตามคติจีน) ทำให้ศาลหลักเมืองสงขลา เป็นที่รวมความศรัทธาของชาวจีนและชาวไทยไว้ในศาลเดียวกัน ต่อมาศาลหลักเมืองสงขลาเกิดการชำรุดและได้มีการบูรณะปรับปรุงให้มีสภาพดั่งเดิมในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) หรือปี พ.ศ. ๒๔๖๐ โดยรับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนพลลพบุรีราเมศวร์ ซึ่งเป็นอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ ร่วมกับพ่อค้า ประชาชนชาวสงขลา ร่วมมือกันทำเสาหลักเมืองขึ้นใหม่และวางเสาหลักเมืองใหม่ในวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ต่อมากรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนศาลเจ้าหลักเมืองเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ แต่ไม่ได้กำหนดขอบเขต ต่อมากรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนอีกครั้งโดยการกำหนดขอบเขตด้วยคือ
ทิศเหนือ ยาว ๑๓ วา |
ทิศใต้ ยาว ๑๓ วา |
ทิศตะวันออก ยาว ๑ เส้น ๕ วา |
ทิศตะวันตก ยาว ๑ เส้น ๕ วา |
ศาลหลักเมืองนี้จึงอยู่คู่เมืองสงขลามาตราบจนทุกวันนี้ และเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองสงขลา ตามความเชื่อของชาวสงขลาเชื้อสายจีน ได้มีการอัญเชิญองค์เทพศักดิ์สิทธ์ ช่วยปกปักษ์รักษาเมือง..เป็นองค์เจ้าพ่อหลักเมือง มีชื่อว่า " เซ่งห๋องเหล่าเอี๋ย" มาประดิษฐานไว้ตั้งอยู่ด้านหลังของหลักเมือง โดยจะมีงานสมโภชขึ้นเป็นประจำปีในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ของทุกปี
ภายในศาลหลักเมืองสงขลา เป็นศาลเจ้าแห่งเดียวที่นอกจากหลักเมืองซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามคติพราหมณ์แล้ว ก็จะมีเทพเจ้าสิ่งศักดิ์ต่าง ๆ ตามคติจีนอยู่ร่วมกันในอาคารเดียวจึงเป็นที่รวมของศรัทธาของคนจากทุกสารทิศ องค์เทพที่ประดิษฐานในศาลเมืองสงขลา มีดังนี้คือ
๑. เสาหลักเมือง
๒. เจ้าพ่อหลักเมือง (เซ่งท๋องเหล่าเอี๋ย)
๓. เทวดาฟ้าดิน (ถี่ก้อง)
๔. ไท่โส่ยเหล่าเอ๋ย
๕. เจ่เทียนไต่เส่ง
๖. จ่ายสิวเหล่าเอี๋ยง
๗. พระเสื้อเมือง
๘. พระทรงเมือง
๙. เจ้าแม่กวนอิม
๑๐. เจ้าแม่ทับทิม (ม่าจ้อโป๋ หรือ เทียนส่องเส้งโป้)
๑๑. อ๋องโบ้เหนี่ยวเหนียว
๑๒. เจ้าแม่ลิ้มกอเหนียว (หลิมฮู้กอเหนี่ยว)
๑๓. ไท่ส่องโล่กุ้น
๑๔. พระครูหมอ (จ้อชูก็อง)
๑๕. เซ้งไต่เต่
๑๖. ตี่ฮู้อ๋องเอี้ย
๑๗. เจ้าพ่อเสือ
๑๘. หมึงสิน
๑๙. รัชกาลที่ ๕
๒๐. เจ้าพระยาเถี้ยนเส้ง
ทางเข้าศาลหลักเมืองสงขลา จะมีสิงโตคู่อยู่หน้าทางเข้า การวางรูปปั้นสิงห์จะต้องวางเป็นคู่ โดยวางสิงห์เพศผู้ไว้ทางซ้าย และสิงห์เพศเมียไว้ทางขวา ตามตำนานโบราณเล่าว่าสิงห์ตัวที่อยู่ตำแหน่งเสือขาว (หันหน้าออกด้านขวามือ) มีบรรดาศักดิ์เป็น “เส้าเป่า” เป็นสิงห์เพศเมีย มีหน้าที่เป็นราชองครักษ์ให้กับเจ้าชายของราชวงศ์และสิงโตตัวที่อยู่ตำแหน่งมังกรเขียว (หันหน้าออกทางซ้ายมือ) มีบรรดาศักดิ์เป็น “ไท่ซือ” เป็นสิงห์เพศผู้ มีหน้าที่เป็นราชองครักษ์ของกษัตริย์ หรือฮ่องเต้ วิธีสังเกตเพศของสิงห์คือสิงห์เพศผู้ เท้าหน้าจะเหยียบลูกบอล และสิงห์เพศเมีย เท้าหน้าจะเหยียบลูก
สิงห์เพศผู้
ภายในบริเวณศาลหลักเมืองสงขลา จะมีโรงงิ้วตั้งอยู่ใกล้กัน
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา. (2557). สืบวันที่ 13 ก.ค. 61, จาก http://www.bloggertrip.com/songkhlacitypillarshrine/
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง. (2559.) สืบวันที่ 13 ก.ค. 61, จาก http://www.museumthailand.com/storytelling-detail.php?p=2778
อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ มหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ป.จ., ม.ป.ช.ม.ว. ม.ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส
วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2519. (2519). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์.