วัดวัง (Wat Woeng)
 
Back    26/01/2018, 10:15    19,578  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา

        วัดวัง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๔ ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง วัดวังมีที่มา ๒ ประการ คือ ๑)  ทางทิศใต้ของวัดมีวังน้ำลึกมากเรียกว่า "หัววัง" จึงเรียกวัดวัง และ ๒)  เป็นวัดที่ตั้งอยู่ใกล้กับวังหรือจวนเจ้าเมืองจึงเรียกวัดวัง วัดวังเป็นวัดโบราณของจังหวัดพัทลุงสร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ไม่ทราบศักราชที่แน่ชัดเนื่องจากหลักฐานยังขัดแย้งกันอยู่ แต่จากจารึกที่ปรากฎความว่า "...เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๒ ปีมะแมเอกศก พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๔ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองสงขลาและปัตตานี ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงยังทรงพระเยาว์ ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินออกมาด้วยพระยาพัทลุง (ทับ) กับพระวรนารถสัมพันธพงษ์ (น้อย) ได้ไปเฝ้าทูลละอองพระบาทที่เมืองสงขลา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเคารพโดยมีพระราชดำรัสว่าญาติกัน ได้พระราชทานเหรียญเฟื้องทองคำตราช้างแก่พระยาพัทลุง (ทับ) ๑๐๐ เหรียญ และพระวรนารถสัมพันธพงษ์ (น้อย) ๑๐๐ เหรียญ ต่อมาพระยาพัทลุง (ทับ) ให้หลวงยกกระบัตร (นิ่ม) ไปรื้อเอาปืนบาเหรี่ยมมาแต่เข้าชัยบุรีเมืองเก่าทั้ง ๒ กระบอกมาไว้ที่กลางเมืองพัทลุงกับไปรื้อกำแพงเมืองที่เขาชัยบุรี มาปฏิสังขรณ์วัดวัง ซึ่งเป็นวัดของพระยาพัทลุง (ทองขาว) บิดาสร้างขึ้นเป็นวัดถือน้ำไว้กลางเมืองพัทลุง ทั้งกุฎิ วิหาร อุโบสถ เจดีย์สถาน และวาดเขียนพร้อมเสร็จบริบูรณ์ได้มีงานฉลอง ปีวอก โทศก พ.ศ. ๒๔๐๓..." หรือจากพงศาวดารเมืองพัทลุงระบุว่าพระยาพัทลุง (ทองขาว) เป็นผู้สร้างวัดวังแต่ไม่ปรากฏปีศักราช ได้ทำการแล้วเสร็จ มีการฉลองเมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ พ.ศ. ๒๓๕๙ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์หนังสือพงศาวดารและลำดับวงศ์สกุลเมืองพัทลุงซึ่งเรียบเรียงโดยพระยาโสภณพัทลุงกุล (สว่าง ณ พัทลุง) ระบุว่าพระยาพัทลุง (ทองขาว) เป็นผู้ปฏิสังขรณ์วัดวังขึ้น มีอุโบสถ พัทธสีมา และวิหาร และเป็นวัดสำหรับรับน้ำพระพิพัฒน์สัตยา แต่ในหนังสือประวัติวัดวังของหลวงคเชนทรามาตย์ ระบุไว้ว่าพระยาพัทลุง (ทองขาว) บุตรพระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก ) เป็นหัวหน้านำญาติพี่น้องและชาวบ้านปฏิสังขรณ์วัดวังขึ้น ส่วนคุณยายประไพ มุตตามระ (จันทโรจวงศ์) บุตรีหลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์ ผู้เขียนพงศาวดารเมืองพัทลุง) ได้ให้ความเห็นไว้ว่าวัดวังคงจะเริ่มสร้างมาแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ แต่เพราะบ้านเมืองในสมัยนั้นมีศึกษาสงครามกับหัวเมืองมลายู และพม่าอยู่เสมอ จึงทำให้การสร้างวัดมาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๓๕๙ ในทำเนียบวัดจังหวัดพัทลุงของท่านพระครูอริยสังวร (เอียด) อดีตเจ้าคณะจังหวัดพัทลุงได้ระบุว่าวัดวังสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
         จากหลักฐานที่กล่าวมาพอจะสันนิษฐานได้ว่าวัดวังสร้างมาก่อน พ.ศ. ๒๓๕๙ (อาจจะสร้างมาแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑) จุดประสงค์ของการสร้างวัดนี้อาจเป็นได้ว่าเพื่อใช้เป็นวัดประจำเมืองหรือประจำตระกูล เพราะสมัยนั้นได้ย้ายเมืองพัทลุงมาตั้งที่โคกลุงบริเวณนี้ยังไม่มีวัดที่ใช้ประกอบพิธีทางศาสนา เมื่อสร้างวัดวังขึ้นแล้วก็พิจารณาเห็นว่าวัดควนมะพร้าว ซึ่งใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา มาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีนั้นอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองมากเกินไป จึงได้พิจารณายกวัดวังขึ้นเป็นวัดถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ดังปรากฏในพงศาวดารเมืองพัทลุงว่า พระยาพัทลุง (ทับ) ได้ปฏิสังขรณ์วัดวังซึ่งเป็นวัดของพระยาพัทลุง (ทองขาว) ขึ้นเป็นวัดถือน้ำไว้กลางเมืองพัทลุง ให้มีการฉลองเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก โทศก พ.ศ. ๒๔๐๓ ต่อมาวัดวังได้รับการบูรณะเรื่อยมา จนกระทั่งทางราชการได้ยกเลิกพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาและได้มีการย้ายเมืองพัทลุงจากตำบลลำปำไปตั้งที่ตำบลคูหาสวรรค์ คือที่ตั้งเมืองพัทลุงปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ วัดวังก็เริ่มทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ จนราว พ.ศ. ๒๕๑๒ ทางราชการจึงได้ทำการบูรณะซ่อมแซมวัดวังให้มั่นคงถาวรจนกระทั่งทุกวันนี้


ความสำคัญ

       วัดวังเป็นวัดโบราณที่มีความสำคัญคู่กับเมืองพัทลุงมาตลอดสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะเคยเป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการเมืองพัทลุงมาแล้วในอดีต จนกระทั่งทางราชการได้ได้ยกเลิกพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาและได้มีการย้ายเมืองพัทลุงจากตำบลลำปำไปตั้งที่ตำบลคูหาสวรรค์ คือที่ตั้งเมืองปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ ในปัจจุบันวัดวังยังคงเป็นวัดสำคัญที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนาในวาระต่าง ๆ เป็นแหล่งรวมของศิลปกรรมที่งดงาม ที่กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๘ และประกาศเขตโบราณสถานอีกด้วย


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

พระอุโบสถ

       พระอุโบสถตั้งอยู่ตรงกลางวัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นอาคารก่อด้วยอิฐถือปูน ขนาดกว้าง ๖.๖๐ เมตร ยาว ๑๔ เมตร หลังคาทรงไทยมุงด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผา มีช่อฟ้าใบระกา ด้านหน้ามีมุขเก็จยื่นออกมา ภายในพระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งห้อยพระบาทแสดงปางป่าเลไลย์ มีช้างและลิงปูนปั้นถวายรังผึ้ง ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ บูรณะเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ และครั้งหลังสุดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ อุโบสถมีระเบียงคดหรือวิหารคดล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน มีซุ้มประตู ๔ ทิศ ซุ้มประตูทางทิศตะวันออก สร้างเป็นซุ้มยอด ศิลปะสมัยรัชกาลที่ ๔ ภายในวิหารคดมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางต่าง ๆ จำนวน ๑๐๘ องค์ หน้าบันอุโบสถจำหลักไม้ ด้านหน้ารูปพระพายทรงม้า ๓ เศียร มีลวดลายกระหนกก้านแย่งรูปยักษ์ และเทพธิดา กินรี ประกอบลงรักปิดทอง ด้านหลังเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ๓ เศียร ลงรักปิดทองเหมือนด้านหน้า หน้าบันทั้ง ๒ ได้จำลองจากของเดิมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ โดยช่างชาวกรุงเทพฯ ชื่อเทียมซึ่งจำลองได้สวยงามมากไม่แพ้ของเดิม ส่วนของเดิมนั้นได้นำไปเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสงขลา พระอุโบสถมีประตูทางเข้า ๒ ประตู บานประตูทั้ง ๔ บาน เดิมมีภาพลายรดน้ำรูปทวารบาลสวยงาม แต่มาเปลี่ยนเป็นลายดอกไม้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ เหนือขอบประตูและหน้าต่างมีลวดลายปูนปั้นรูปดอกไม้พรรณพฤกษา มีสัตว์ เช่น กระรอกเป็นส่วนประกอบแบบเดียวกับที่วัดสุนทราวาส และวัดยาง แต่บางช่อมีรูปหน้ากาลปูนปั้นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในอุโบสถมีพระประธานปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย จำนวน ๕ องค์ องค์กลางมีขนาดใหญ่ที่สุด หน้าตักกว้างประมาณ ๒ เมตร สองข้างมีพระพุทธสาวก คือพระสารีบุตร กับพระโมคคัลลาน ประทับยืนประนมมือ ด้านหน้าพระประธานมีพระพุทธรูปหล่อสำริด ๑ องค์ แบบทรงเครื่องใหญ่ ปางห้ามสมุทร และพระพุทธรูปไม้บุเงินปางอุ้มบาตร ๑ องค์ แบบศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งนำมาจากกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันหายไปแล้ว ที่ริมผนังอุโบสถด้านหน้ามีรูปปั้นผู้หญิงซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า "ยายไอ่" หรือ "ยายทองคำ" (ปัจจุบันทางวัดได้ย้ายมาอยู่ในศาลา) เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านมาก เดิมมีตะบันหมากทองคำอยู่ ๑ อัน พร้อมลายแทงอยู่ด้วย ต่อมาได้มีคนพยายามแก้ลายแทงและได้เก็บตะบันหมากทองคำนั้นเป็นสมบัติส่วนตัวตลอดถึงยังได้พยายามขุดค้นเพื่อหาสมบัติ ภายในอุโบสถที่ฝาผนังทั้ง ๔ มุมมีเขียนภาพจิตรกรรมที่เกี่ยวกับพุทธประวัติ และเทพชุมนุม สำหรับจิตรกรรมฝาผนังนี้เขียนขึ้นในสมัยใดยังไม่มีหลักฐานที่แน่นอน แต่ในพงศาวดารเมืองพัทลุง ได้ระบุว่าพระยาพัทลุง (ทับ) ได้ให้ช่างเขียนขึ้นสำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๓ แต่บางตำนานกล่าวว่าพระยาพัทลุง (ทับ) เป็นผู้นำช่างเขียนภาพมาจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) กรุงเทพฯ เพราะท่านเคยรับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุง จึงได้นำช่างมาเขียนภาพขึ้นที่วัดวัง แต่ก็มีผู้รู้กล่าวว่าจิตรกรรมฝาผนังที่วัดวังนี้เขียนขึ้นโดยนายช่างพื้นเมืองชาวพัทลุง ชื่อหลวงเทพบัณฑิต (สุ่น) ซึ่งเป็นคนเดียวกันที่เขียนภาพจิตรกรรมของวัดวิหารเบิก ภาพจิตรกรรมที่ฝาผนังระหว่างช่องประตูและหน้าต่างเขียนภาพเรื่องราวทศชาติชาดก แต่ปัจจุบันนี้ได้ลบเลือนไปหมดแล้วทางวัดได้ใช้ปูนขาวทาทับ จึงเหลือแต่จิตรกรรมเรื่องพุทธประวัติบนผนังตอนบน ตอนบนสุดเขียนรูปฤาษี วิทยาธรกำลังเหาะ ถัดลงมาเขียนรูปเทพชุมนุม ต่ำลงมาเป็นเรื่องราวพุทธประวัติ ภาพบางตอนจะแสดงให้เห็นถึงชีวิต สังคม และวัฒนธรรมของชาวบ้านอย่างชัดเจน เช่น การประกอบอาชีพ การแต่งกาย และสภาพบ้านเรือนในสมัยนั้น

เสาอุโบสถเป็นสีขาวล้วน

ซุ้มประตูเป็นลวดลายปูนปั้นพรรณพฤกษาในกรอบซุ้มรูปสามเหลี่ยม

       ซุ้มประตูสำหรับศาสนสถานมักมีลักษณะการสร้างและตกแต่งที่แตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่การใช้งาน เช่น ประตูทางเข้าสู่อาคารประธานของวัดอาจมีการประดับตกแต่งอย่างวิจิตรอลังการ ในขณะที่ประตูทางเข้าสู่อาคารอื่น ๆ ที่มิได้เป็นอาคารสำคัญของศาสนาสถานอาจประดับตกแต่งน้อยกว่า โดยความหมายของการก้าวผ่านประตูมักเป็นเรื่องของความมงคล

บานประตูสลักเป็นเทวดาหรือนางอัปสรยืนคู่กันคนละบานประตู เบื้องล่างสลักเป็นรูปวานะยืนคู่คนละบานประตูเช่นเดียวกัน

            หน้าบันประดับเครื่องลำยอง ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ชัดเจน มีการใช้แผงไม้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนบนสลักรูปพระพายทรงม้า 3 ตัว ส่วนล่างสลักเป็นพระวรุณทรงหงส์ อุปมาหมายถึงเทพประจำทิศตะวันออก

ด้านทิศตะวันออกมีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันเป็นรูปพระพายทรงม้า ๓ เศียร

ระเบียงคตรอบพระอุโบสถ มีพระพุทธรูปปูนปั้นเรียงราย ๑๐๘ องค์

           พระพุทธรูปรอบระเบียงคดในพระอุโบสถวัดวัง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นจำนวน ๑๐๘ องค์ ประดิษฐานเรียงรายรอบระเบียงคด เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เฉพาะองค์ที่อยู่ใกล้กับซุ้มประตูที่จะเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง

พระประธานในอุโบสถ

เจดีย์รอบพระอุโบสถ

           เจดีย์รอบอุโบสถเป็นเจดีย์ก่อด้วยอิฐถือปูน จำนวน ๘ องค์ มี ๓ ลักษณะ คือ
               ๑) เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง มีลวดลายปูนปั้นรูปดอกไม้ พรรณพฤกษาประดับรอบองค์ มีจำนวน ๒ องค์ อยู่ทางทิศเหนือ และทิศใต้ของอุโบสถ
               ๒) เจดีย์ทรงกลีบมะเฟือง เป็นเจดีย์ก่อด้วยอิฐถือปูนย่อมุมไม้สิบสอง องค์ระฆังเป็นแบบกลีบมะเฟือง มีจำนวน ๑ องค์ อยู่ด้านหลังอุโบสถ
               ๓) เจดีย์ทรงกลม เป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม องค์ระฆังแบบโอคว่ำหรือแบบทรงลังกา มีจำนวน ๕ องค์

เจดีย์ทรงลังกา

          เจดีย์ทรงลังกาเป็นเจดีย์ก่อด้วยอิฐถือปูน อยู่ด้านหน้านอกวิหารคด พระยาพัทลุง (ทับ) ให้สร้างขึ้น สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๓ ขนาดสูงประมาณ ๑๒ เมตร รอบเจดีย์มีกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐถือปูนรูป ๘ เหลี่ยมล้อมรอบฐานเจดีย์รูป ๘ เหลี่ยม มีฐานแข้งสิงห์ย่อมุมไม้สิบสองรองรับองค์ระฆังแบบลังกา บัลลังก์เจดีย์ไม่มี มีแต่ปล้องไฉนต่อจากองค์ระฆังจนถึงปลียอดและหยาดน้ำค้าง เจดีย์องค์นี้สร้างเพื่อใช้บรรจุอะไรไม่ปรากฏหลักฐาน

ด้านหน้าเจดีย์ทรงลังกาเป็นอนุสาวรีย์พระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก)

ธรรมาสน์

         ธรรมาสน์จำหลักไม้ลายทองรูปดอกไม้พรรณพฤกษา เป็นธรรมาสน์ที่รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อทรงพระราชอุทิศในงานพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๓ โดยพระราชทานไปตามวัดสำคัญ ๆ ตามหัวเมืองวัดวังนับเป็นวัดสำคัญจึงทรงพระกรุณาพระราชทานให้ด้วยที่ธรรมาสน์มีอักษรจารึกไว้ว่า "จปร. ทรงพระราชอุทิศในงานพระบรมศพ พ.ศ. ๒๔๕๓"

ใบเสมา

        เสมาหรือสีมามีความหมายถึงการรวมตัวหรือชุมนุมของสงฆ์ ใช้เป็นสัญลักษณ์ในการกำหนดพื้นที่สำหรับประกอบพิธีทางสังฆกรรมทางศาสนาใบเสมาจำหลักด้วยหินทรายแดงถือปูน จำนวน ๘ ใบ ประดิษฐานอยู่บนฐานสูง ก่อด้วยดิฐถือปูนย่อมุมไม้สิบสองล้อมรองอุโบสถ ใบเสมามีลวดลายปูนปั้นรูปดอกไม้ใบไม้สวยงาม บางใบชำรุดหักพังไปบ้างแล้ว เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีขนาดเท่ากันทุกใบ คือกว้าง ๔๐ เซนติเมตร สูง ๘๔ เซนติเมตร หนา ๑๕ เซนติเมตร

 เสมาวางอยู่บนฐานบัวคว่ำบัวหงายซ้อนกันสองชั้น ชั้นล่างสุดปรากฏเป็นลักษณะของฐานสิงห์ แสดงถึงอิทธิพลศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลาง-ปลาย

รูปปั้นยายไอ่หรือยายทองคำ

           รูปปั้นผู้หญิงซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า "ยายไอ่" หรือ "ยายทองคำ" เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านมาก เดิมมีตะบันหมากทองคำอยู่ ๑ อัน พร้อมลายแทงอยู่ด้วย ต่อมาได้มีคนพยายามแก้ลายแทงและได้เก็บตะบันหมากทองคำนั้นเป็นสมบัติส่วนตัว ตลอดถึงยังได้พยายามขุดค้นเพื่อหาสมบัติ

โอ่งน้ำ

            โอ่งน้ำมีจำนวน ๒ ใบ ใบแรกเป็นโอ่งดินเผาเคลือบสีเขียวทรงสูง ศิลปะสมัยราชวงศ์ชิง ขนาดสูง ๗๓ เซนติเมตร ปากกว้าง ๔๐ เซนติเมตร ใบที่ ๒ เป็นโอ่งดินเผาทรงเตี้ยปากกว้างเคลือบสีน้ำตาล

 


ปูชนียวัตถุ

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง

          ภาพจิตรกรรมภายในพระอุโบสถของวัดวัง กล่าวกันว่าเป็นฝีมือช่างคณะเดียวกับที่เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามจิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๐๓) ลักษณะงานเขียนขึ้นโดยช่างในท้องถิ่น แต่จำลองรูปแบบงานให้เหมือนกับจิตรกรรมในแถบพระนคร ภาพส่วนใหญ่นิยมใช้สีแดงและสีน้ำเงิน

        เทพชุมนุมมักแสดงในฐานะผู้ร่วมหรือเป็นสักขีพยานในพิธิกรรมว่าด้วยความศักดิ์สิทธิ์ ทั้งยังแสดงถึงพื้นที่ของสวรรค์ผ่านอัตลักษณ์ของตัวเทพเองโดยเทพชุมนุมนั้นมิได้ปรากฏเพียงรูปลักษณ์ของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังประกอบไปด้วยวานร ยักษ์ อสูร และอีกมากมาย โดยจะหันหน้าไปหาทิศทางที่เป็นประธานของภาพหรือของเหตุการณ์ที่ปรากฏในจิตรกรรมนั้น ๆ

     ภายหลังเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ในยามดึก โดยชบวนพระองค์ประกอบด้วยนายฉันทะที่หางม้ากัณฐกะ ท้าวจุตโลกบาลที่เท้าทั้ง ๔ ของม้าระหว่างพญาวัสดีมารซึ่งเอาตัวเข้าขัดขวางขบวนของพระองค์ เพื่อมิให้เดินทางไปสู่สมณเพศได้ อุปมาถึงด่านสุดท้ายของกิเลสก่อนการหันหลังให้กับทางโลกมุ่งหน้าสู่ทางธรรม

            เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูต ๔ ในรูปลักษณ์ต่าง ๆ คือคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช เมื่อทอดพระเนตรดังนั้น พระองค์จึงทรงถามนายฉันนะพร้อมชิ้วพระหัตถ์ทุกครั้งเมื่อได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ว่าคืออะไร ในระหว่างการเสด็จประพาสอุทยานเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จประพาสอุทยาน ๔ ครั้ง ครั้งแรกทอดพระเนตรพบคนชรา ครั้งที่สองทอดพระเนตรพบคนเจ็บป่วย ครั้งที่สามทอดพระเนตรพบคนตาย คนที่สี่ทอดพระเนตรพบนักบวช ซึ่งสามครั้งแรกพระองค์รู้สึกสลดพระทัยยิ่งนัก ส่วนครั้งสุดท้ายซึ่งทอดพระเนตรพบนักบวชนั้น ทำให้จิตใจพระองค์รู้สึกสนใจทางบรรพชิต

                 พระเจ้าสุโทธนะขณะประกอบพระราชพิธีจรดพระนางคัลแรกนาชวัญ โดยมีข้าราชบริพารติดตามไปเป็นจำนวนมาก โดยมีเจ้าชายสิทธัตถะประทับอยู่ใต้ต้นหว้าที่มีผ้าม่านผูกล้อมรอบ เมื่องานเริ่มเหล่าพี่เลี้ยงและข้าราชบริพารต่างไปชมงานกันหมด พระองค์จึงประทับนั่งสมาธิ เมื่อพี่เลี้ยงและช้าราชบริพารกลับมาก็ล้วนต่างอัศจรรย์ที่เงาของต้นหว้าที่พระองค์ประทับนั้นมิได้เคลื่อนที่ไปตามทิศทางของดวงอาทิตย์

ภาพจิตรกรรมอื่น ๆ


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดวัง (Wat Woeng)
ที่อยู่
หมู่ที่ ๔ ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง
จังหวัด
พัทลุง
ละติจูด
7.6228946
ลองจิจูด
100.1426848



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

เพจวัดวัง ลำปำ พัทลุง .(2561). สืบค้นวันที่ 27 ม.ค. 61, จาก https://www.facebook.com/permalink.php?id=549053648477457&story_fbid=555223267860495

มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะโบราณคดี ศูนย์ศึกษาศิลปกรรมโบราณในเอเชียอาคเนย์. (2548). ฐานข้อมูลศิลปกรรมในภาคใต้. สืบค้นวันที่ 27 ม.ค. 61, จาก

                  http://www.archae.su.ac.th/art_in_south/index.php/collections/phatthalung/

วัดเก่ากลางเมืองพัทลุง สถานที่ทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาสมัยรัตนโกสินทร์. (2557). สืบค้นวันที่ 27 ม.ค. 61, จาก 

              http://www.zthailand.com/phatthalung/place/wat-wang-phatthalung/

วัดวัง. (2561). สืบค้นวันที่ 27 ม.ค. 61, จาก https://www.touronthai.com/article/3335

วัดวัง จังหวัดพัทลุง. (2558). สืบค้นวันที่ 27 ม.ค. 61, จาก https://www.m-culture.go.th/young/ewt_news.php?nid=441


ข้อมูลเพิ่มเติม

           การเดินทางไปยังวัดวัง ถ้ารถยนต์ส่วนตัวจากตัวเมืองพัทลุงวิ่งมาตามถนนอภัยบริรักษ์ (ทางหลวงหมายเลข ๒๐๔๗)  ทางเดียวกับที่ไปหาดแสนสุขลำป่า ระยะทางประมาณ ๖ กิโลเมตร วัดวังจะอยู่ทางขวา ก่อนถึงวังเจ้าเมืองพัทลุง


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024