วัดแหลมพ้อ (Wat Laempho)
 
Back    01/05/2018, 10:49    16,054  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา

       วัดแหลมพ้อ ตั้งอยู่ที่บ้านสวนทุเรียน ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ถือว่าเป็นวัดที่เก่าแก่และสำคัญวัดหนึ่งในจังหวัดสงขลา จากหลักฐานสันนิษฐานว่าสร้างขี้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๖๐ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (น่าจะอยู่ในช่วงของรัชกาลที่ ๒) โดยมีท่านพระครูทิพวาสี ซึ่งท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดท้ายยอมาดำเนินการก่อสร้าง และเนื่องจากพื้นที่บริเวณวัดเป็นแหลมยื่นออกไป อีกทั้งมีต้นพ้ออยู่เป็นจำนวนมากจึงเรียกชื่อวัดกันต่อมาว่า “วัดแหลมพ้อ” ในอดีตเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธ์วงษ์วรเดช เสด็จหัวเมืองปักษ์ใต้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๗ ตามพระนิพนธ์เรื่อง “ชีวิวัฒน์เที่ยวที่ต่าง ๆ ภาคที่ ๗” ทรงเรียกชื่อวัดแห่งนี้ในพระนิพนธ์ว่า “วัดแหลมภอ” และได้กล่าวถึงวัดแหลมพ้อไว้ว่า “ วัดแหลมภอนั้นตั้งอยู่ที่แหลมภอ มีโบสถ์เสาเฉลียงก่อเป็นคูหา และมีศาลาการเปรียญราษฎรสร้างใหม่ก่ออิฐสงขลาไว้ ฝีมืออย่างดีไม่ถือปูนเป็นคูหา มีศาลาริมน้ำเป็นที่พักแห่งหนึ่ง พื้นวัดเตียนสะอาดร่มรื่นด้วยต้นไม้” และในปี พ.ศ. ๒๓๖๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕)  ทรงเสด็จประพาสทางน้ำขึ้นเรือที่บริเวณหน้าวัด  วัดแหลมพ้อ ตั้งอยู่เชิงสะพานติณสูลานนท์ พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบมีลักษณะเป็นแหลมยื่นออกไปในทะเลสงขลา มีเนื้อที่ทั้งหมด ๑๗ ไร่ ๖ ตารางวา วัดแหลมพ้อมีสถาปัตยกรรมที่นับเป็นโบราณสถานและปูชนียสถานที่สำคัญของวัด ประกอบด้วยพระนอนปางไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุด พระอุโบสถ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยเริ่มสร้างวัดมีลวดลายหน้าบันด้านหน้าเป็นช้างสามเศียร หน้าบันด้านหลังเป็นครุฑยุดนาค มีที่โปรยทานของพระเจ้าแผ่นดินที่โปรยทานเป็นเงินหรือทองแก่ประชาชนเมื่อเสด็จตามวัดต่าง ๆ มีพระสถูปเจดีย์ซึ่งสร้างพร้อมกับพระอุโบสถ  วัดแหลมพ้อเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสงขลาซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น ชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ นิยมมากราบไหว้ ณ วัดแห่งนี้และจะเรียกวัดนี้ว่า “วัดพระนอนแหลมพ้อ” วัดแหลมพ้อได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๑ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระอุโบสถและพระเจดีย์เป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐
   


 

      องค์พระนอนวัดนี้นั้นเป็นพระพุทธรูปปางปรินิพานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ ๒๕๓๗ ประดิษฐานบนฐานที่ไม่สูงนัก อีกทั้งที่ตั้งวัดอยู่ใกล้ถนนเชิงสะพานติณสูลานนท์ฝั่งเกาะยอ จึงทำให้เป็นที่สะดุดตาของผู้ที่ขับรถผ่านไปมา 


ความสำคัญ

     วัดแหลมพ้ออยู่ห่างจากตัวเมืองสงขลาประมาณ ๑๘ กิโลเมตร ตามทางหลวงสายลพบุรีราเมศวร์ และเลี้ยวซ้ายที่สี่แยกบ้านน้ำกระจาย ไปตามทางหลวงสาย ๔๑๔๖ ทางไปเกาะยอ ใกล้สะพานติณสูลานนท์ ช่วงที่ ๒ หรือนั่งรถโดยสารประจำทางจากหอนาฬิกาในตัวเมือง ลงที่สี่แยกบ้านน้ำกระจายและต่อรถสองแถวลงที่ปากทางแล้วเดินต่ออีก ๑๐๐ เมตร วัดแหลมพ้อถือได้ว่าเป็นวัดที่เก่าแก่สร้างตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๐ หรือประมาณในสมัยรัชกาลที่ ๓ สถาปัตยกรรมที่นับเป็นปูชนียสถานที่สำคัญของวัดคือพระอุโบสถที่สร้างในสมัยนั้น รวมทั้งหอระฆังและเจดีย์ ของวัดพระนอนแหลมพ้อ ถือว่าเป็นการสร้างตามพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๓ ซึ่งจะไม่มีช่อฟ้า หรือใบระกา เป็นการสร้างตามแบบของศิลปกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยช่างพื้นเมืองภาคใต้ในยุคนั้น จึงเป็นงานพุทธศิลป์ที่เป็นเอกลักษณ์ งดงาม ที่มีคุณค่าควรแก่การชื่นชม ศึกษา และอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกของชาติให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมกันต่อไป


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

       วัดแหลมพ้อ ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ราบริมทะเลสาบสงขลา ผังบริเวณของวัดประกอบด้วยพระอุโบสถ ศาลาโรงธรรม (ศาลาการเปรียญ) เจดีย์ หอระฆัง พระนอน ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่นับเป็นปูชนียสถานที่สำคัญของวัด โดยเฉพาะพระอุโบสถซึ่งสร้างขึ้นพร้อมกับวัดมีประติมากรรมปูนปั้นรูปเทพนมอยู่กลางลายของพันธุ์พฤกษา เหนือช่องกรอบประตูหน้าต่าง จั่วหน้าบันด้านหน้าเป็นลายปูนปั้นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ จั่วหน้าบันด้านหน้าเป็นลายปูนปั้่นรูปพระนารายณ์ทรงคุรฑ อุโบสถ หอระฆัง และเจดีย์ ของวัดแหลมพ้อถือได้ว่าเป็นการตามแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ของช่างพื้นเมืองในภาคใต้ในสมัยนั้น 

พระอุโบสถ

        พระอุโบสถของวัดแหลมพ้อตั้งอยู่บริเวณกลางลานวัดริมทะเลสาบสงขลา หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ประดิษฐานอยู่ภายในกำแพงแก้วที่มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้างประมาณ ๑๙ เมตร และยาวประมาณ ๓๐ เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ผังของพระอุโบสถแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือระเบียงด้านนอกและส่วนที่เป็นพื้นที่ภายในสำหรับประกอบสังฆกรรม มีบันไดทั้งด้านหน้าและด้านข้างทั้่ง ๒ ด้าน ตรงส่วนฐานทำเป็นชุดบัวคว่ำบัวหงาย ตัวพระอุโบสถก่ออิฐถือปูนที่มีรูปแบบศิลปกรรมตามพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นอุโบสถมีระเบียงโดยรอบราวบันไดประดับด้วยลูกกรงเซรามิค ตัวอุโบสถมีระเบียงโดยรอบ หลังคาชั้นเดียวต่อด้วยปีกนกมุงด้วยกระเบื้องดินเผา ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ หน้าบันหลังคาทางด้านหน้าประดับปูนปั้นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ หน้าบันด้านหลังประดับปูนปั้นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ส่วนหน้าบัณช่องหน้าต่างและประตูมีรูปปั้นรูปเทพพนม อยู่ท่ามกลางลายพรรณพฤกษาเครือเถา อุโบสถหลังนี้สร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ. ๒๓๓๐ พร้อมกับพระสถูปเจดีย์องค์แรก ลวดลายหน้าบันของอุโบสถสวยงาม และเก่าแก่ควรค่าแก่การอนุรักษ์  

หอระฆัง

สภาพหอระฆังก่อนการบูรณะ

        หอระฆัง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมก่ออิฐถือปูน ตัวหอเป็นทรงสี่เหลี่ยมยอดปิรามิดฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดประมาณ ๔x๔ เมตร ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป มีบันไดทางขึ้นด้านข้าง ๒ ทางขอบบนเจาะเป็นช่องลูกกรงประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องกรุสีเขียวอยู่โดยรอบ ส่วนยอดหอระฆังประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นลายพรรณพฤกษา   บริเวณทางขึ้นมีที่เกยโปรยทานใช้เป็นที่ประทับสำหรับพระมหากษัตริย์สมัยก่อนเพื่อโปรยทานแก่พสกนิกรในคราวเสด็จพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทานบารมี

เจดีย์

       เจดีย์ตั้งอยู่ทิศเหนือของอุโบสถ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ขนาด ๙ x ๙ เมตร ฐานซุ้มต่อกับบันไดทางขึ้นเป็นลักษณะเตี้ย ๆ ยกพื้นคล้ายระเบียง สามารถเดินได้รอบองค์เจดีย์ มุมขอบประดับด้วยเจดีย์องคเล็กๆ  ๔  องค์  องค์ระฆังของเจดีย์ประธานตั้งอยู่บนฐานปัทม์ต่อกันเป็นชั้น ๆ ด้านล่างฐานเจดีย์มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น


ปูชนียวัตถุ

พระนอนแหลมพ้อ 

       พระนอนแหลมพ้อภายในวัดเป็นพระพุทธรูปปางปรินิพพานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พระนอนแหลมพ้อ ประดิษฐานบนฐานที่ไม่สูงมากนักอยู่ใกล้เชิงสะพานติณสูลานนท์ฝั่งเกาะยอ พระพุทธรูปปางปรินิพาพนี้เป็นสถาปัตยกรรมใหม่ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ ๒๕๓๗ องค์พระนอนวัดแหลมพ้อ เป็นชื่อเรียกของพระพุทธรูปลักษณะบรรทม (นอน) ตะแคงเบื้องขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย (หมอน) พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาวางหงายอยู่ข้างพระเขนย พระบาทซ้ายทับซ้อนพระบาทขวา ส่วนของพระบาทจะมีลวดลายภาพศิลปะของภาพมงคล ๑๐๘ ประการที่สวยงาม 
 

พระบาทเป็นภาพมงคล ๑๐๘ ประการ

ภาพสืบค้นจาก : http://travelsongkhla.blogspot.com/

ทุก ๆ ปีจะมีประเพณีห่มผ้าพระนอนแหลมพ้อ ซึ่งจะจัดขึ้นช่วงก่อนสงกรานต์

พระสมเด็จเจ้าเกาะยอ

       พระสมเด็จเจ้าเกาะยอ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ประดิษฐานอย่างโดดเด่นเป็นสง่า ซึ่งมีตำนานดังนี้ สมเด็จเจ้าเกาะยอหรือพระราชมุนีเขากุด เป็นชาวบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ถือกำเนิดสมัยกรุงศรีอยุธยาเดิมชื่อว่า “ขาว” เมื่อศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉาน ได้ร่ำลาสมภารอ่ำไปออกธุดงค์ ครั้นได้มาปักกลดจำพรรษาที่เกาะยอบนเขาลูกหนึ่ง ในค่ำคืนหนึ่งที่ท่านได้นั่งสมาธิอยู่นั้น เกิดนิมิตเห็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลอยลงมายังยอดเขา ตรัสทำนายว่า “ต่อไปบนยอดเขาแห่งนี้จะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตถาคตเจ้า ขอให้ท่านจำพรรษาอยู่ที่นี้ และให้สร้างรูปเหมือนจำลองตถาคตประดิษฐานไว้บนยอดเขาลูกนี้ และให้ทำพิธีสักการะบูชาในวันวิสาขบูชา วันเพ็ญเดือน ๖ ของทุกปี  ให้ตั้งชื่อเขาลูกนี้ว่า “เขากุด” หลังจากนั้นสมเด็จเจ้าเกาะยอได้สร้างพระพุทธรูปจำลองแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้บนยอดเขา ท่านได้จำพรรษาอยู่บนยอดเขาเป็นเวลานานได้ช่วยเหลือชาติบ้านเมือง และประชาชนบริเวณเกาะยอให้ความเคารพบูชามาก สมเด็จพระเอกาทศรถแห่งกรุงศรีอยุธยาทรงเห็นว่า สมเด็จเจ้าเกาะยอเป็นผู้มีบุญญาธิการสูง จึงได้โปรดเกล้าฯ  พระราชทานสมณศักดิ์ที่พระราชมุนีเขากุด ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “สมเด็จเจ้าเกาะยอ” หรือ “สมเด็จเจ้าเขากุด” เมื่อมรณภาพแล้วชาวบ้านได้ช่วยกันสร้างสถูปเจดีย์ก่อด้วยอิฐถือปูนเพื่อเก็บอัฐิธาตุของท่านไว้บนยอดเขากุด และสร้างพระสมเด็จเจ้าเกาะยอเพื่อเป็นตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนถึงทุกวันนี้

พระพุทธรูปจำลองแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนยอดเขากุด

พระพุทธรูปปูนปั้นพระพุทธรูป ปางเปิดโลก

ศาลาท้าวมหาพรหม

ศาลาพระถังซัมจั๋ง

ศาลาพระโพธิสัตว์กวนอิม

พระเกจิอาจารย์

 

       พระเกจิอาจารย์ซึ่งประดิษฐานอยู่ในศาลามีจำนวน ๕ องค์ ประกอบไปด้วย (จากซ้ายไปขวา)

       ๑. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

       ๒. สมเด็จเจ้าจอมทอง

       ๓. สมเด็จเจ้าเกาะยอ

       ๔. สมเด็จเจ้าพระราชมุนีรามคุณูปรมาจารย์ (หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด)

       ๕. สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดแหลมพ้อ (Wat Laempho)
ที่อยู่
หมู่ที่ ๔ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลาตำบล
จังหวัด
สงขลา
ละติจูด
7.15862
ลองจิจูด
100.556497



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ธีระยุทธ์ สุวลักษณ์. (2554). พระอุโบสถในเมืองสงขลา สมัยการปกครองของเจ้าเมืองตระกูล ณ สงขลา พ.ศ. 2318-2444. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สถาปัตยกรรม

        สาขาวิชาประวัติศาสตร์คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ปรุงศรี วัลลิโภดม และคณะ (บรรณาธิการ). (2545). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดสงขลา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.

พระนอนวัดแหลมพ้อ. (2561). สืบค้นวันที่ 19 มิ.ย. 61, จาก http://www.hellosongkhla.com/พระนอน-วัดแหลมพ้อ-858/

วัดแหลมพ้อ เกาะยอ จังหวัดสงขลา. (2556). สืบค้นวันที่ 19 มิ.ย.61, จาก http://www.bloggertrip.com/lamportemple/

วัดพระนอนแหลมพ้อ. (2560). สืบค้นวันที่ 19 มิ.ย.61, จาก http://www.kohyor.go.th/travel/detail/474/data.html

เเหล่งเรียนรู้ปติมากรรมโบราณสถาน. (2558). สืบค้นวันที่ 19 มิ.ย.61, จาก http://numkanokwan.blogspot.com/


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024