เขาตังกวน (Tangkuan Hill)
 
Back    06/03/2018, 14:59    19,737  

หมวดหมู่

จังหวัด


ประวัติความเป็นมา

        เขาตังกวนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดสงขลา  เขาตังกวนเป็นเนินเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๒,๐๐๐ ฟุต ซึ่งจากยอดเขาตังกวนนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองสงขลาได้โดยรอบ บนยอดเขาตังกวนเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์พระธาตุคู่เมืองสงขลา ซึ่งสร้างในสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี บริเวณเขาตังเขาตามประวัติกล่าวว่าเดิมคือเมืองตังอู เจ้าเมืองตังอูชาวบ้านเรียกว่า “พ่อเมืองตังอู” มีพระราชครู ชื่อว่า “ปลอด” เจดีย์พระธาตุบนเขาตังกวน พ่อเมืองตังอู เป็นผู้สร้าง ให้พระราชครูปลอดเป็นผู้จัดการก่อสร้าง เมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ ปีเถาะ ตรงกับวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๑๘๕๓ ใช้เวลาก่อสร้าง ๘ ปี นับจากเริ่มต้นก่อสร้างจนถึง พ.ศ. ๒๕๕๕ นับอายุได้ ๗๐๒ ปี ภายในเจดีย์พระธาตุบรรจุแก้วสารพัดนึก ลักษณะกลม ขาวใส ขนาดเท่าขวดโหล บรรจุเมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ปีจอ ตรงกับวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๑๘๖๑ แก้วสารพัดนึกได้มาจากเมืองสวรรค์ เล่าว่าวันหนึ่ง ฟ้ามืดครึ้ม ฝนตกหนัก ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง สะเทือนฟ้า สะเทือนบ้าน สะเทือนเมือง เมื่อฝนแล้ง ท้องฟ้าสงบ บ้านเมืองสว่างไสวเหมือนเดิม จึงมีลูกแก้วลูกใหญ่ตั้งอยู่ ชาวเมืองเข้าใจว่าเทพบนสวรรค์ประทานมาให้เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของเมืองตังอู เจ้าเมืองตังอูจึงสร้างเจดีย์พระธาตุ บนยอดเขาตังกวนที่จุดสูงสุดและบรรจุแก้วสารพัดนึกลูกนี้ในเจดีย์พระธาตุ เพื่อให้ความเจริญรุ่งเรืองแผ่ไปทั่วเมืองตังอู ผู้ดูแลเจดีย์พระธาตุตลอดมา ในปี พ.ศ. ๒๔๐๒ รัชกาลที่ ๔ เสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองสงขลา หลังจากนั้นในปี ๒๔๐๙ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาวิเชียรคิรี (เม่น) ทำการบูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์พระธาตุให้สูงใหญ่กว่าเดิมและได้สร้างคฤห (พลับพลาที่ประทับ) ไว้ที่ฐานพระเจดีย์ และต่อเติมเก๋งที่มุมกำแพง ต่อมาในเดือนธันวาคมปี พ.ศ. ๒๕๓๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ได้ทรงพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุให้มาบรรจุในองค์พระเจดีย์เจดีย์พระธาตุ ถือเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจชาวเมืองสงขลาและในทุกๆ ปี จะมีประเพณีชักพระ และเปลี่ยนผ้าห่มองค์เจดีย์ ในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งถือเป็นงานใหญ่งานหนึ่งของจังหวัดสงขลา

ภาพจาก : สงขลา...บ่อยาง : แผ่นดินทองสองทะเล, 2559


ความสำคัญ

       เขาตังกวนตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองสงขลาปลายแหลมในตัวเมืองสงขลาทางไปแหลมสนอ่อน อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑๐๕ เมตร บนยอดเขาตังกวนเป็นที่ประดิษฐานโบราณสถานสำคัญประกอบด้วยเจดีย์พระธาตุ(พระเจดีย์หลวง)พลับพลาที่ประทับรัชกาลที่ ๔ (ศาลาพระวิหารแดง) และประภาคาร เจดีย์พระธาตุ (พระเจดีย์หลวง) บนยอดเขาตังกวน เป็นพระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆังคว่ำ และในทุก ๆ ปี ในเดือนตุลาคมจะมีงานพิธีห่มผ้าองค์พระเจดีย์และประเพณีตักบาตรเทโวและลากพระของสงขลาเจดีย์พระธาตุเขาตังกวน เขาตังกวนสามารถขึ้นได้ ๒ ทางคือขึ้นลิฟท์และบันได ซึ่งทางขึ้นอยู่ฝั่งตรงกันข้ามด้านทิศตะวันตก 

ลิฟท์ขึ้นเขาตังกวน

บันไดทางขึ้นเขาตังกวน


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

เจดีย์พระธาตุ (พระเจดีย์หลวง)

        เจดีย์พระธาตุหรือพระเจดีย์หลวงเป็นอีกหนึ่งในโบราณสถานที่สำคัญของเขาตังกวน พระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆัง สันนิษฐานว่าเป็นพระเจดีย์โบราณที่มีมานานแต่ไม่ปรากฎหลักฐานความเป็นมาที่ชัดเจนบ้างก็ว่าพ่อเมืองตังอูเป็นผู้สร้าง โดยให้พระราชครูปลอดเป็นผู้จัดการก่อสร้างเมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ ปีเถาะ ตรงกับวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๑๘๕๓ ใช้เวลาก่อสร้าง ๘ ปี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๐๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔)  เสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองสงขลาและเยี่ยมชมพระเจดีย์ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๐๙ ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินหลวง ๓๗ ชั่ง ให้เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ให้สูงใหญ่กว่าของเก่า และในครั้งนั้นเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น)ได้ สร้างคฤห์ไว้ที่ฐานพระเจดีย์ และต่อเติมเก๋งที่มุมกำแพง พระเจดีย์หลวงเป็นพระเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองของสงขลาจึงมีการบูรณะซ่อม แซมมาโดยตลอด ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าพระราชทาน พระบรมสารีริกธาตุและเครื่องสักการะบูชาประดิษฐานไว้ ณ พระเจดีย์หลวง เพื่อไว้เป็นที่สักการะบูชาของชาวเมืองสงขลาสืบต่อไป

รูปแบบศิลปะ

       เจดีย์พระธาตุหรือพระเจดีย์หลวง ที่เห็นในปัจจุบันสร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ในล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ ตั้งอยู่บนยอดเขาตังกวนเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ฐานชั้นล่างก่อสูงขึ้นมาเป็นลานประทักษิณในผังสี่เหลี่ยม ส่วนท้องไม้เจาะเป็นช่องพระประทีป องค์พระเจดีย์มีชุดฐานดังนี้ คือฐานเขียงในผังกลมรองรับฐานบัวคว่ำบัวหงาย ฐานมาลัยเถาซ้อนลดหลั่นกัน ๓ ชั้น และบัวปากระฆังที่มีลักษณะเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง บัลลังกในผังสี่เหลี่ยมโดยชั้นแรกเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย ส่วนชั้นบนเป็นฐานที่ประดับด้วยแนวเสาโดยรอบ เหนือบัลลังก์ขึ้นไปคือ ปล้องไฉน ปลี ฉัตรและนภศูล ซึ่งทั้งหมดทาด้วยสีทอง จากรูปแบบที่ปรากฏมีลักษณะคล้ายกับเจดีย์ในสมัยอยุธยา แต่ก็มีลักษณะบางประการที่ปรับเปลี่ยนตามรูปแบบในสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น บัวปากระฆังที่เป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ลักษณะบัลลังก์ที่ประดับแนวเสาติดผนังโดยรอบ


ภาพจาก: สงขลา...บ่อยาง : แผ่นดินทองสองทะเล, 2559

       เจดีย์พระธาตุหรือพระเจดีย์หลวงเป็นพระเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองของสงขลา มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าสร้างขึ้นเพื่อไว้เป็นที่สักการะบูชาของชาวเมืองสงขลาและพุทธศาสนิกชนทั่วไป ซึ่งจะมีพิธีห่มผ้าองค์เจดีย์ ประเพณีลากพระ และตักบาตรเทโวซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำในเดือนตุลาคมของทุกปี

 

วิธีการบูชาพระเจดีย์พระธาตุ หรือพระเจดีย์หลวง

       รอบ ๆ เจดีย์พระธาตุหรือพระเจดีย์หลวงจะมีซุ้มอยู่ ๖ ซุ้ม ให้เริ่มสักการะจากซุ้มหมายเลข ๑ ถึง ๖ ตามลำดับ เดินวนขวาตามเข็มนาฬิการอบ ๆ องค์เจดีย์ ไหว้ด้วยธูปซุ้มละ ๓ ดอก โดยจุดเทียนไว้ที่ซุ้มหมายเลข ๑ แล้วถวายดอกไม้องค์พระธาตุเจดีย์หลวงไว้ที่ซุ้มหมายเลข ๖ ให้ปิดทองพระพุทธรูปองค์ละ ๑ แผ่น เติมน้ำมันที่ตะเกียงเท่านั้น (มีทั้งหมด ๘ จุด) ห้ามราดน้ำมันลงบนองค์พระพุทธรูป

ซุ้มที่ ๑ พระสยามเทวาธิราช

ซุ้มที่ ๒  พระพรหม ๔ หน้า

 

ซุ้มที่ ๓ หลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด

ซุ้มที่ ๔ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พระปรมาจารย์ทองเฒ่า (วัดเขาอ้อ พัทลุง) และตาหลวงเปรม (วัดวิหารสูง พัทลุง)

ซุ้มที่ ๕ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ ๕)

 

ซุ้มที่ ๖  พระพุทธชินราช 

ศาลาวิหารแดง (พลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔))

       ศาลาวิหารแดงหรือพลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔ ) ตั้งอยู่บนยอดเขาชั้นที่ ๒ ประวัติการก่อสร้างศาลาพระวิหารแดง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) มีพระราชดำริให้สร้างพลับพลาเป็นที่ประทับแต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จก็สิ้นรัชกาลของพระองค์คงสร้างค้างคาอยู่ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสภาคใต้และแหลมมลายู เมื่อมาถึงเมืองสงขลาได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการพระเจดีย์หลวงบนยอดเขาตังกวน มีพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลาพระวิหารซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริไว้จนสำเร็จ ในเวลาต่อมายังทรงพระราชดำริให้สร้างบันไดนาคขึ้นจากพลับพลาสำเร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ พลับพลาที่สร้างขึ้นตั้งแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หันหน้าพลับพลาไปด้านเชิงเขาด้านหนึ่งของเขาตังกวน เป็นบริเวณที่วิวเปิดเห็นทิวทัศน์เมืองสงจลาได้ไกลมีความสวยงามมาก ภายในศาลาพระวิหารแดงมีเสาและช่องทางเดินทะลุถึงกัน แต่ละช่องจะมีขนาดเท่ากันและเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด ซึ่งสามารถมองจากด้านหนึ่งก็จะเห็นทะลุไปจนถึงอีกด้านหนึ่ง ด้านหลังของวิหารแดงเป็นบันไดนาคทางขึ้นเขาตังกวน ช่องด้านหน้าเป็นทางเดินลงไปเชิงเขาโดยทางบันได

       กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๗๘ ในประกาศเรียกชื่อโบราณสถานนี้ว่า " พระเจดีย์และพลับพลาที่ประทับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บนเขาตังกวน"

 

ภาพจาก: สงขลา...บ่อยาง : แผ่นดินทองสองทะเล, 2559

ภาพจาก: สงขลา...บ่อยาง : แผ่นดินทองสองทะเล, 2559

ประภาคาร

       ประภาคารบนยอดเขาตังกวนเป็นอาคารที่สำคัญของเขาตังกวนเป็นก่ออิฐถือปูน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงดำริใ้ห้สร้างขึ้น โดยผู้สนองพระราชดำริคือสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรม พระยาดำรงราชานุภาพ ได้โปรดให้กรมทหารเรือทำเครื่องหมายประดับ ประกอบตัวโคม และส่งแบบฐานปูนให้ข้าหลวงออกมาจัดการก่อสร้างประภาคาร ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ และสร้างเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ โดยพระยาวิเชียรคีรี (ชม) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา โดยที่พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) และพระยาชลยุทธโยธิน เป็นผู้เลือกสถานที่เหมาะสมในการก่อสร้างซึ่งก็คือยอดเขาตังกวน 


ปูชนียวัตถุ

รูปเหมือนหลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด

       บนยอดเขาตังกวนมีรูปปั้นหล่อเหมือน หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด ปางนั่งขัดสมาธิเพชร ตั้งประดิษฐานอยู่ ซึ่งประชาชนในภาคใต้และทั่วไป ๆ  ตลอดถึงชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ ต่างให้ความเคารพนับถือและมากราบไหว้บูชาเพื่อขอพรกันอย่างเนื่องแน่น


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
เขาตังกวน (Tangkuan Hill)
ที่อยู่
ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
จังหวัด
สงขลา
ละติจูด
7.2106953
ลองจิจูด
100.5871188



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

เขาตังกวน พระธาตุเจดี กว่า 700 ปี คู่เมืองสงขลา. (2557). สืบค้นวันที่ 6 มี.ค. 61, จาก http://www.sator4u.com/paper/1254

เขาตังกวน สงขลา. (ม.ป.ป.) สืบค้นวันที่ 6 มี.ค. 61, จาก https://www.paiduaykan.com/province/south/songkhla/tangkouan.html

พระธาตุเจดีย์หลวง ศาลาพระวิหารแดงเขาตังกวน อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา. (2559). สืบค้นวันที่ 6 มี.ค. 61, จาก  http://www.bloggertrip.com/tangkuanhill/

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2537). สงขลา ถิ่นวัฒนธรรม.  กรุงเทพฯ : สำนักงาน.

อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ป.จ., ม.ป.ช.ม.ว. ม.ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอังคารที่ 

          21 ธันวาคม พ.ศ. 2519. (2519). กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์ชวนพิมพ์.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024