ป้อมเมืองสงขลาเก่า
 
Back    05/10/2021, 15:48    1,844  

หมวดหมู่

จังหวัด


ประวัติความเป็นมา

 


ภาพจาก : คันธรส พวงแก้ว และคณะ, 2551, 4-7

          ป้อมเมืองสงขลาเก่า ตั้งอยู่ในตําบลหัวเขา อําเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายฉบับยืนยันว่าเมืองสงขลาได้พัฒนารุ่งเรืองขึ้นเป็นลําดับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๑๖๒-๒๑๘๕ ในสมัยของดาโต๊ะโมกอล เจ้าเมืองสงขลา ได้เริ่มก่อสร้างท่าเรือและป้อมปราการขึ้น เวลาต่อมาจึงได้สร้างค่ายคู ประตูหอรบ กําแพงและป้อมปราการขึ้นอีกอย่างแข็งแรงแน่นหนา ในยุคของสุลต่านสุลัยมาน (พ.ศ. ๒๒๑๑-๒๒๓๓) จากการศึกษารูปแบบและแผนผังการก่อสร้างป้อมดังกล่าวสรุปในเบื้องต้นได้ว่าคงมีชาวต่างชาติที่ให้ความช่วยเหลือ ในการก่อสร้างป้อมดังกล่าว เช่น อังกฤษ จนเมื่อสุลต่านสุลัยมานได้ประกาศตนเป็นอิสระจากกรุงศรีอยุธยา ทำให้กรุงศรีอยุธยายกทัพมาปราบปรามหลายครั้งในที่สุดก็เข้ามายึดเมืองสงขลาได้ ป้อมปราการเหล่านี้จึงเสื่อมสภาพและใช้การไม่ได้อีกต่อไป ต่อมาได้อพยพย้ายเมืองก็ทําให้เมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงร้างไปปรากฏร่องรอยซากป้อมมาจนทุกวันนี้
       
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายฉบับยืนยันว่า เมืองสงขลาได้เจริญรุ่งเรืยงขึ้นเป็นลําดับระหว่างปี พ.ศ. ๒๑๖๒-๒๑๘๕ ในสมัยของตาโต๊ะโมกอล เจ้าเมืองสงขลา ซึ่งตรงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โดยเริ่มก่อสร้างท่าเรือและป้อมปราการขึ้น ต่อมาในยุคของสุลต่านสุลัยมาน (พ.ศ. ๒๒๑๑-๒๒๓๓) จึงได้สร้างค่ายคู ประตูหอรบและป้อมปราการขึ้นอย่างแข็งแรงแน่นหนา จนเมื่อสุลต่านสุลัยมานได้ประกาศตนเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา ทางกรุงศรีอยุธยาจึงยกทัพมาปราบปรามหลายครั้ง ในที่สุดก็เข้ามายึดเมืองสงขลาได้โดยได้ทุบทำลายป้อมปราการลงเพื่อให้ใช้การไม่ได้อีกต่อไป ต่อได้อพยพย้ายเมืองก็ทําให้เมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงต้องร้างไปและปรากฏร่องรอยชายป้อมมาจนทุกวันนี้
           ในหลักฐานได้กล่าวถึงการสร้างป้อมปราการและการป้องกัน เมืองอันเข้มแข็งของเมืองสงขลาไว้หลายฉบับ อาทิบันทึกของบาทหลวงเดอชัวชี ในคณะทูตฝรั่งเศส (พ.ศ. ๒๒๒๙) บันทึกถึงประวัติเหตุการณ์เมืองสงขลย้อนหลังไปถึงเรื่องราวก่อนหน้าปี พ.ศ. ๒๑๘๕ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๒๒๓ ไว้ว่า เมื่อ ค.ศ. ๑๖๔๒ (พ.ศ. ๒๔๘๕) มีแขกมลายูคนหนึ่งได้ไปตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองสิงขร (Singor) และได้กบฏต่อพระเจ้ากรุงสยาม แขกมลายูผู้นี้ได้ทําป้อม คู ประตู หอรบ อย่างแข็งแรงแน่นหนา และในไม่ช้าก็ได้ชักชวนบรรดาพ่อค้าทั้งหลายให้ไปทําการค้าขายในเมืองสิงขรอย่างใหญ่โตมาก ฝ่ายสยามก็ยกกองทัพไปปราบหลายครั้งแต่ก็แพ้กลับมาทุกคราว พอสักหน่อยแขกมลายูคนนี้ก็ตั้งตัวเป็นกษัตริย์เรียกกันว่าพระเจ้าเมืองสิงขร และได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินอยู่จนถึงชิ้นพระชนม์ โอรสของพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้จึงได้ครอบครองเมืองสิงขรต่อไป ครั้นเมื่อ ๖ ปีล่วงมาแล้ว พระเจ้ากรุงสยามได้ส่งกองทัพเรือซึ่งมีจํานวนเรือรบเป็นอันมาก ให้มาตีเจ้าสิงขรอย่างสามารถ เจ้าสิงขรได้ต่อสู้อย่างสามารถและสยามจับตัวไปได้ ก็โดยที่ผู้รักษาป้อมแห่งหนึ่งได้คิดประทุษร้าย คือสยามได้ล่อลวงเกลี้ยกล่อมให้ผู้รักษาป้อมนี้เอาใจออกห่างจากนายของตัวแล้วสยามจึงเข้าไปในป้อมแล้วได้เอาดอกไม้เพลงโยนเข้าไปในเมือง เพลิงได้ติดลุกลามไหม้วังของเจ้าเมืองสิงขรจนหมดสิ้น ในระหว่างที่เกิดชุลมุนขึ้นในเมืองช่วยกันดับเพลิงนั้น สยามก็ได้ยกกองทัพเข้าไปในเมืองได้ สยามจึงได้ทลายป้อม คู ประตู หอรบ และบ้านเรือนจนเหลือแต่แผ่นดินเพราะเกรงจะมีคนอื่นมาคิดกบฏอีก จดหมายซามูเอล พอทท์ส ชาวอังกฤษ ที่สิงขระเขียนถึงริชาร์ต เบอร์นาบีที่กรุงสยาม เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๒๒๒ ความว่า...เจ้าเมืองสิงขระได้จัดเตรียมรักษาเมืองอย่างเข้มแข็ง สั่งให้นําปีนใหญ่ขึ้นไปตั้งบนเขา ตระเตรียมการทุกอย่างเพื่อป้องกันรักษาเมือง เพราะไม่รู้ว่าเมื่อใดพระเจ้ากรุงสยามจะยกพลลงมาตี หลายคนให้ความมั่นใจแก่ข้าพเจ้าว่าความไม่สงบคราวนี้จะไม่กระทบกระเทือนการค้าของเราแต่อย่างใด แต่จะกลับช่วยให้การค้าขายดีขึ้น ท่านเจ้าเมืองได้สั่งให้ผู้คนไปกว้านเก็บรังนกและได้แจ้งแก่เราว่าสินค้าอื่น ๆ ลั่งไหลเข้ามา ...ป้อมปราการแต่เดิมนั้นมีทั้งหมด ๑๘ ป้อม ทั้งที่อยู่บนพื้นราบ บนภูเขา และในทะเล ปัจจุบันเหลือร่องรอยให้เห็นเพียง ๑๔ ป้อมเท่านั้น ป้อมปราการเหล่านี้สร้างไว้บนเนินดินยกสูงจึงสามารถมองเห็นข้าศึกได้แต่ไกล ป้อมในพื้นราบนั้นจะเชื่อมต่อกับกําแพงเมือง ป้อมบนไหล่เขาสําหรับสังเกตการณ์ระยะไกล ส่วนป้อมที่สร้างในทะเล สันนิษฐานว่าเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับพ่อค้าวาณิช ที่เดินทางเข้ามาค้าขายกับซิงกอร่า รวมถึงเป็นด่านหน้าในการปะทะกับข้าศึกที่ยกพลมาทางทะเล ป้อม แต่ละป้อมจะมีการสร้างเนินดินยกสูงเสมือนภูเขาขนาด ย่อม ๆ จึงสามารถมองเห็นได้ไกลทําให้ง่ายในการสังเกตเห็นข้าศึกที่จะมาบุกเมืองได้ป้อมในพื้นที่ราบจะมีกําแพงเมืองเชื่อมต่อเพื่อปกป้องเมือง ป้อมบนไหล่เขาและยอด เขามีหน้าที่สําคัญในการสังเกตการณ์ระยะไกล สําหรับป้อมในทะเลสันนิษฐานว่ามีเพื่อป้องกันความปลอดภัยให้กับพ่อค้าวาณิชที่เข้ามาค้าขายกับเมืองชิงกอร่ารวมถึงเป็นด่านปะทะ เพื่อต่อสู้กับข้าศึกที่ยกพลมาทางทะเลหากเราสังเกตลักษณะของผังเมืองและป้อมปราการในแผนที่โบราณที มองซิเออร์ เดอ ลามาก เขียนขึ้นในปี พ.ศ. ๒๒๓๙ จะพบว่าเมืองนี้เป็นเมืองท่าริมชายฝั่งอ่าวไทยที่มีการสร้างบ้านแปงผังเมืองไว้อย่างเป็นระเบียบ มีการใช้แนวปราการธรรมชาติ คือภูเขาในด้านทิศใต้และทิศตะวันออก ร่วมกับกําแพงเมืองที่สร้างในทิศ เหนือและทิศตะวันออก และมีลําน้ําที่ไหลเชื่อมตัวเมืองจากทิศตะวันตกด้านทะเลสาบสงขลาตอนในเชื่อมมาสู่บริเวณเขาน้อยและไหลเลียบเคียงกําแพงเมืองก่อนจะไปเชื่อมกับทะเลอ่าวไทยต่อไป

           ป้อมปราการที่เหลืออยู่ในปัจจุบันมีทั้งที่ได้สํารวจขุดค้นและบูรณะให้ฟื้นคืนสภาพแล้ว กับบางส่วนได้มีการขุดค้นเบื้องต้นแต่ยังไม่ได้มีการบูรณะ ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

- ป้อมหมายเลข ๑ มีลักษณะเป็นครึ่งวงกลม กว้าง ๑๗ เมตร ยาว ๒๒ เมตร สูง ๔๕๐ เมตร มีช่องวางปืนใหญ่พร้อมบังใบ อยู่บริเวณเดียวกับคู่และกําแพงเมือง ตั้งอยู่ใกล้สามแยกบ้านเล ห่างจากถนนสายหัวเขาแดง-ระโนด ประมาณ ๒๔๐ เมตร เมื่อเรายืนบนป้อมนี้จะทําให้สามารถจินตนาการไปถึงยุคอดีตเมื่อครั้งที่บริเวณนี้ยังคงเป็นรัฐสุลต่านที่ชาวต่างประเทศเรียกขานว่า “ชิงกอร์” ว่ามีอาณาบริเวณกว้างขวางเพียงใด
- ป้อมหมายเลข ๒ เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๘.๕ เมตร ยาว ๑๖.๕๐ เมตร สูง ๕ เมตร ค้ํายันกับผนังป้อม ๑๑ แห่ง อยู่บนพื้นราบห่างป้อมหมายเลข ๑ ไปประมาณ ๒๐๐ เมตร ต่อแนวมาจากป้อมแรก แสดงให้เห็นถึงความหนาและแข็งแรงของแนวกําแพงเมืองไปในตัว รวมถึงทําให้เห็นถึงแนวเขตเมืองที่ชัดเจนขึ้นอีกด้วย
- ป้อมหมายเลข ๓ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๑๐.๖๐ เมตร ยาว ๑๑.๕๐ เมตร สูง ๔ เมตร ตั้งอยู่บนพื้นราบด้านทิศใต้ ห่างจากป้อมหมายเลข ๒ ประมาณ ๒๐๐ เมตร ปัจจุบันถูกปิดล้อมด้วยที่ดินเอกชนแต่สามารถเดินเท้าเข้าไปถึงได้ และเนื่องจากมีต้นไม้ใหญ่และพุ่มไม้ต่าง ๆ ขึ้นปกคลุมค่อนข้างมาก จึงอาจสังเกตได้ยาก อย่างไรก็ดี หากสังเกตแนวของป้อมตั้งแต่หมายเลข ๑ และ ๒ เป็นต้นมา จะพบว่าป้อมทั้งหมดนั้นตั้งอยู่ในระนาบเดียวกัน 
- ป้อมหมายเลข ๔ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๘.๒๐ เมตร ยาว ๑๒.๕๐ เมตร สูง ๔.๒๐ เมตร อยู่บนเชิงเขาค่ายม่วงที่ลาดชัน มองเห็นด้านข้างทั้งสองด้านเป็นรูป สามเหลี่ยมมีใบบังทั้งสี่ด้าน แต่บางส่วนชํารุดไปบ้างแล้วตั้งอยู่ในแนวป้อมด้านซ้าย ห่างจากป้อมหมายเลข ๓3 ประมาณ  ๔๗๐ เมตร 
 - ป้อมหมายเลข ๕ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๗.๕๐ เมตร ยาว ๑๒.๕๐ เมตร สูง ๓.๘๐ เมตร มีรูปแบบเหมือนกับป้อมหมายเลข ๔ อยู่สูงขึ้นไปบนเขาค่ายม่วง ห่างจากป้อมหมายเลข ๔ ขึ้นไปบนเขาค่ายม่วงประมาณ ๑๐๓ เมตร 
- ป้อมหมายเลข ๖ มีลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๑๔.๘๐ เมตร ยาว ๒๓.๕๐ เมตรสูง ๒.๘๐ เมตร มีใบบังทั้ง ๔ ด้าน ตั้งอยู่ส่วนบนของเขาค่ายม่วงใน แนวป้อมด้านทิศใต้ ห่างจากป้อมหมายเลข  ๕ ขึ้นไปบนเขาค่ายม่วงประมาณ ๑๒๐ เมตร
- ป้อมหมายเลข ๗ มีลักษณะผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๗ เมตร ยาว ๑๐ เมตร สูง ๑ เมตร ส่วนฐานและส่วนบนชํารุดเกือบหมดจากตําแหน่งและรูปแบบที่เหลือ มี ลักษณะคล้ายคลึงกับป้อมหมายเลข ๔ และ ๕ ตั้งอยู่บนเขาค่ายม่วงทางด้านทิศเหนือ
- ป้อมหมายเลข ๘ ลักษณะยังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๑๘ เมตร สูง ๑.๘๐ เมตร มีบังใบทั้งสี่ด้าน ตั้งอยู่บนปลายสุดของเขาหัวแดงด้านทิศตะวันออกถึงทิศเหนือเรียกกันโดยทั่วไปว่าป้อมหัวเขาแดง หากเราจินตนาการย้อนกลับไปในยุคอดีตเมื่อกว่าสามร้อยปีที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนั้นจะยังไม่มีท่าเรือน้ําลึกพร้อมเขื่อนหินกั้นคลื่นและทรายทางด้านทิศเหนือของป้อมนี้ ในขณะเดียวกันทางด้านใต้ของป้อมก็ยังไม่มีแหลมสนอ่อน เพราะเมื่อกว่าสามร้อยปีที่ผ่านมาที่ตรงนี้เป็นเพียงแหลม ริ้วทรายที่เมื่อน้ําทะเลขึ้นสูงก็จะนัดท่วมแนวทรายนี้ได้ ป้อมแห่งนี้จึงสามารถใช้เป็นจุดสังเกตการณ์มองทะเลได้ทั้งทิศเหนือ ซึ่งมีเมืองนครศรีธรรมราชและอยุธยาตั้งอยู่ และทะเลทิศใต้ที่มีเมืองปัตตานี ยะโฮร์ ปัตตาเวีย มะละกาตั้งอยู่ และเส้นทางเชื่อมระหว่างทิศเหนือและทิศใต้นี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าทางทะเลที่ทําให้เมืองชิงกอร่ามีความสําคัญและมีความหมายขึ้นมา
- ป้อมหมายเลข ๙ ลักษณะผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๙.๖๐ เมตร ยาว ๑๐.๒๐ เมตรสูง ๕ เมตร มีบังใบทั้งสี่ด้านระหว่างบังใบจะมีช่องมองซึ่งจะต้องมองเฉียงจึงจะมองเห็นภายนอกได้ ส่วนค้ํายันฐานผนังป้อมทางด้านตะวันออก ตะวันตก และทิศ เหนือ ป้อมนี้อยู่บนพื้นราบเชิงเขาน้อยทางทิศตะวันตก ๓๐๐ เมตร ห่างจากป้อมที่ ๑ ไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๑,๐๗๒ เมตร ตั้งอยู่ริมถนนสังเกตได้ง่ายและสะดุดตาที่สุดเรียกกันโดยทั่วไปว่าป้อมเมือง ถือเป็นป้อมสําคัญของเมืองสิงหนครในยุคปัจจุบัน เนื่องจากมีการใช้รูปลักษณ์ของป้อมดังกล่าวสะท้อนอัตลักษณ์ของความเป็นคนสิงหนครคนหัวเขาหรือคนเขาแดงในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สัญลักษณ์ของกลุ่มการเมืองท้องถิ่น สัญลักษณ์ของสภาวัฒนธรรมอําเภอ หรือแม้แต่ทีมฟุตบอล เป็นต้น
- ป้อมหมายเลข ๑๐ ลักษณะยังเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๓๐ เมตร สูง ๓.๕๐ เมตร ปัจจุบันเหลือเฉพาะส่วนฐานมีการก่อสร้างเจดีย์ลงบนป้อม ๒ องค์ คือเจดีย์องค์ขาวและเจดีย์องค์คํา ซึ่งเป็นเจดีย์ที่ท่านดิศและท่านทัดสองพี่น้องในตระกูลบุนนาค ได้สร้างขึ้นเมื่อครั้งมาราชการสงครามในพื้นที่นี้ ป้อมดังกล่าวตั้งอยู่บนเขาค่ายม่วงเป็นป้อมในแนวเมือง ด้านทิศตะวันตกและอยู่ห่างจากป้อมที่ ๗ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๒๑๖ เมตร 
 - ป้อมหมายเลข ๑๑ มีลักษณะเป็นเนินดิน กว้าง ๖ เมตร ยาว ๘ เมตร สูง ๑.๒๐ เมตร ตั้งอยู่บนเชิงเขาค่ายม่วงทางทิศใต้ มุมเมืองด้านทิศตะวันออก-ทิศใต้ ห่างจากป้อมที่ ๑๐ ไปทางทิศใต้ประมาณ ๘๕๕ เมตร
- ป้อมหมายเลข ๑๒ ลักษณะเป็นเนินดิน กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๕ เมตร สูง ๑.๓๐ เมตร ตั้งอยู่บนพื้นภายในแนวป้อมเมืองด้านทิศใต้ ห่างจากป้อมที่ ๓ ไปประมาณ ๑๕๕ เมตร และห่างจากป้อมหมายเลข ๔ ไปประมาณ ๒๑๕ เมตร
- ป้อมที่ ๑๓ ลักษณะเป็นเนินดิน กว้าง ๗.๕๐ เมตร ยาว ๑๒.๓๐ เมตร สูง ๐.๘๐ เมตร ตั้งอยู่ริมอ่าวไทย เป็นป้อมในแนวทิศตะวันตก ห่างจากป้อมหมายเลข ๑  ขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ ๒๖๐ เมตร
- ป้อมที่ ๑๔ ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๑๘.๒๐ เมตร ยาว ๒๐ เมตร สูง ๐.๙๐ เมตร พบร่องรอยอยู่ในทะเลเหนือป้อมหมายเลข ๑๓ ไปประมาณ ๒๘๓ เมตร

           กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานป้อมหมายเลข ๑-๑๓ ใน ราชกิจจานุเษกษา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ หน้า ๓๗๑๔ ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานป้อมเมืองสงขลาเก่าในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๘๐ วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๘ หน้า ๑๒๘ (ฉบับพิเศษ) พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๑ ไร่ ประกาศเป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานบริเวณเมืองสงขลาเก่าประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานป้อมเมืองสงขลาเก่า ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๑๙ วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๓๕ หน้า ๑๐๑๙๐ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๒,๔๖๐ ไร่


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
ป้อมเมืองสงขลาเก่า
ที่อยู่
ตําบลหัวเขา อําเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
จังหวัด
สงขลา


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

เจริญพงศ์ พรหมศร. (2561). ซิงกอร่า : สิงหนคร เรื่องราวชุมชนในขุนเขา-บทเมือง-แหลมสน-หัวเขา-สทิงหม้อ. กรุงเทพฯ :
          สมาคมเครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024