ภาพจาก : https://link.psu.th/MKq3Q
วัดสนามไชยเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ที่ตําบลสนามชัย อําเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ริมทางหลวงสาย ๔o๘ (สงขลา-ระโนด) โดยห่างจากตัวอําเภอสทิงพระประมาณ ๑๐ กิโลเมตร วัดสนามไชยนี้ปรากฏชื่ออยู่ในแผนที่กัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุงสมัยอยุธยาโดยมีชื่อว่า "วัดศลามีไชย" อย่างไรก็ดีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุว่าตั้งเป็นวัดที่สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๐ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันโบราณสถานที่หลงเหลือในวัดมีเพียงอุโบสถเก่าและเจดีย์เท่านั้น วัดสนามไชยมีเจดีย์ประดับเซรามิคตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในเอกสารจดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ. ๑๒๑ กล่าวถึงวัดสนามไชยว่าเป็นวัดเก่ามีพระเจดีย์ทรงอินเดียสี่เหลี่ยม ๒ องค์ ที่เป็นอย่างแปลกไม่เคยเห็น วัดสนามไชยจึงเป็นวัดที่แสดงถึงรูปแบบศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมของช่างฝีมือท้องถิ่นภาคใต้ที่ผสมผสานกับแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดสนามไชยในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔ ตอนพิเศษ ๘๑ ง วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๐ หน้า ๕ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๓ งาน ๓ ตารางวา
อุโบสถ
อุโบสถเก่า
ภาพจาก : https://link.psu.th/MKq3Q
อุโบสถของวัดสนามไชยมีทั้งอุโบสถเก่าและอุโบสถที่สร้างใหม่ สำหรับอุโบสถเก่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ โดยสร้างทับบนอุโบสถหลังเก่าที่สร้างในสมัยอยุธยา เป็นอาคารขนาดเล็กมีความกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๕ เมตร ลักษณะเป็นอุโบสถโถง ยกพื้นสูง ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้อดินเผา มีประตูหน้าอุโบสถ ๒ ชั้น ประตูชั้นนอกทำเป็นซุ้มโค้ง ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นรูปครุฑยุคยาค โดยใช้เปลือกหอยแครงประดับเป็นเกล็ดนาค พนังของระเบียงเจาะเป็นช่อง ๆ เป็นระยะๆ แต่เดิมนั้นตกแต่งด้วยเซรามิกเคลือบเขียว ปัจจุบันพระภิกษุในวัดได้นำเอาบางส่วนไปประดับวิหาร นอกเหนือจากนั้นก็ถูกโบกปูนทับไปหลายจุดด้วยกัน ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งจำนวน ๓ องค์ ฐานอาคารทำด้วยอิฐดินเผาฉาบปูนแบบโบราณ ถ่ายน้ำหนักลงสู่ฐานรากแบบกำแพงรับน้ำหนัก ผนังก่อสร้างด้วยอิฐสูงประมาณ ๑.๒ เมตร สลับด้วยอิฐเผาเคลือบเซลามิคสีเขียวโปร่งลวดลายแบบจีน ผนังตอนบนมีเพียงเสาไม้รับน้ำหนักโครงสร้างหลังคาไม้ กระเบื้องหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาเกาะยอ ทับหลังด้วยปูนปั้นลวดลายตามความเชื่อทางศาสนา หน้าบันจั่วด้านหน้ามีลวดลายปูนปั้นเป็นรูปลายพรรณพฤกษาประกอบรูปสัตว์ ส่วนหน้าบันจั่วด้านหลังมีลวดลายปูนปั้นเป็นรูปยักษ์ศิลปะแบบพื้นเมือง รอบอุโบสถมีเจดีย์ล้อมรอบเป็นแนวเขตพัทธสีมา ด้านทางเข้าอุโบสถจะเป็นพาไลมีหลังคาคลุม และด้านหลังมีเจดีย์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลางแนวแกน อุโบสถเก่าได้รับการบูรณะเรื่อยมาภายใต้การดูแลของสำนักศิลปากรที่ ๑๓ สงขลา ต่อมาในเดือนเมษายนปี พ.ศ. ๒๕๕๔ สำนักศิลปากรที่ ๑๓ สงขลา ได้ทำการเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาและซ่อมแซมโครงสร้างของอุโบสถ ทำให้อุโบสถหลังนี้ยังคงรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และประโยชน์ใช้สอยเอาไว้ได้อย่างสวยงาม
อุโบสถใหม่
ภาพจาก : https://link.psu.th/MKq3Q
พรทิพย์ พันธุโกวิท. (2555). ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานจังหวัดสงขลา
ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล). กรุงเทพฯ: บางกอกอินเฮ้าส์.พรทิพย์ พันธุโกวิท. (2555). ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม
ในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล). กรุงเทพฯ: บางกอกอินเฮ้าส์.