กำแพงเมืองสงขลา (Songkhla City Wall)
 
Back    26/03/2018, 15:11    30,670  

หมวดหมู่

จังหวัด


ประวัติความเป็นมา

        กำแพงเมืองสงขลาสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๙ (ปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๖๑ มีอายุครบ ๑๘๒ ปี) ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดกล้าฯ โดยพระราชทานยกเงินภาษีอากรเมืองสงขลาให้ ๒๐๐ ชั่ง ให้พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเล้ง) เจ้าเมืองสงขลา ซึ่งในขณะนั้นได้ย้ายที่ตั้งเมืองสงขลาจากบริเวณบ้านแหลมสน ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร มาสร้างเมืองใหม่ทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา ในปัจจุบัน จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เมืองสงขลาระบุว่าศูนย์กลางเมืองสงขลาในระยะแรกนั้นบ่งชี้ว่าก่อนหน้าพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ศูนย์กลางเมืองสงขลาตั้งอยู่บริเวณเมืองจะทิ้งพระ หรือสทิงพระ หรือสทิงปุระ หรือสทิงพาราณศรี ซึ่งเป็นเมืองท่าที่สำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา (ชื่อเมืองสงขลาปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๓ ว่าเป็นเมืองประเทศราชในจำนวน ๑๖ หัวเมือง นอกจากนี้บันทึกของพ่อค้าและนักเดินเรือชาวอาหรับเปอร์เซีย ระหว่างปี พ.ศ. ๑๙๙๓–๒๐๙๓ ได้เอ่ยชื่อเมืองสงขลาในนามของเมือง "ซิงกูร์" หรือ "ซิงกอรา" ในหนังสือประวัติศาสตร์และการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยามของนายนิโกลาส แซร์แวส เรียกชื่อเมืองสงขลาว่า "เมืองสิงขร" โดยได้สันนิษฐานคำว่า “สงขลา” น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า "สิงหลา" หรือ "สิงขร") และเมืองจะทิ้งพระนี้ก็เป็นเมืองท่าที่สำคัญยังต่อเนื่องมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ต่อมาก็ได้ลดความสำคัญลงและย้ายศูนย์กลางเมืองมาตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ฝั่งแหลมสน (หัวเขาแดงยังคงปรากฏป้อมกำแพงให้เห็นอยู่) กระทั่งย้ายมาสร้างเมืองใหม่ฝั่งตะวันออกทะเลสาบสงขลาในสมัยรัชกาลที่ ๓ กำแพงเมืองสงขลาสร้างแล้วเสร็จปี พ.ศ. ๒๓๘๕ (ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๑ หัวเมืองมลายูซึ่งเป็นประเทศราชได้ก่อกบฏยกทัพมาเผาเมืองจะนะ แล้วเลยเข้าตีเมืองสงขลา ทำให้การก่อสร้างกำแพงเมืองล่าช้า พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) พร้อมด้วยบรรดาราชการรักษาเมืองสงขลาไว้ได้จนทัพหลวงจากรุงเทพฯ ยกลงมาช่วยตีทัพกบฏมลายูแตกกลับไป ในการนี้ทหารของทัพหลวงยังได้ช่วยกันก่อกำแพงเมืองสงขลาจนแล้วเสร็จ) ลักษณะของกำแพงเมืองสงขลาเป็นการก่อด้วยหินภูเขาสอด้วยปูน ลักษณะของกำแพงจะมีเชิงเทินใบเสมาเป็นรูปป้อม มีป้อม ๘ ป้อม แต่ละป้อมมีปืนใหญ่กระสุน ๔ นิ้ว ป้อมละ ๓-๔กระบอก ประตูเมืองเป็นซุ้มใหญ่ ๑๐ ประตู กับมีประตูเล็กอีก  ๑๐ ประตูโดยรอบ กำแพงด้านทิศเหนืออยู่ริมตามแนวถนนจะนะจดกำแพงด้านตะวันตกตรงถนนนครใน และจดกำแพงด้านตะวันออกตรงถนนปละท่า ด้านทิศตะวันออกอยู่ริมตามแนวถนนรามวิถีจดกำแพงด้าน ทิศใต้ที่ถนนกำแพงเพชร (วัดหัวป้อม) ด้านทิศใต้ตามแนวถนนกำแพงเพชรจดกำแพงด้านตะวันตก ที่ถนนนครนอก และกำแพงด้านตะวันตกเลียบถนนนครใน แล้วเลาะแนวถนนนครในไปจดกำแพง ด้านทิศเหนือ โดยกำแพงเมืองเวลานั้นอยู่ห่างจากน้ำประมาณ ๔๐ เมตร กำแพงจากด้านทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกยาวประมาณ ๑,๒๐๐ เมตร ด้านทิศเหนือถึงทิศใต้ยาว ๑,๐๐๐ เมตร มีป้อม ๘ ป้อม อยู่มุมเมือง ๔ ป้อม ด้านตะวันออกและตกอีกด้านละ ๒ ป้อม ตัวป้อมกว้างและยาว ๑๐ เมตร มีประตูเมืองเป็นซุ้มใหญ่โดยรอบ ๑๐ ประตู แต่ละประตูกว้าง ๓ เมตร สูง ๖ เมตร ซุ้มเป็นหลังคาจีน บนกำแพงประกอบด้วยใบเสมาสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง ๑.๕ เมตร และมีประตูช่องกุดอีก ๑๐ ประตู แต่ละประตูกว้าง ๒ เมตร สูง ๒.๕๐ เมตร ชื่อประตูเมืองสงขลาที่ปรากฏหลักฐานในเอกสารโบราณ ได้แก่

๑. ประตูพุทธรักษา 
๒. ประตูสุรามฤทธิ์
๓. ประตูศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์
๔. ประตูอัศนีวุธ
๕. ประตูชัยยุทธชำนะ
๖. ประตูบูรภาภิบาล
๗. ประตูสนานสงคราม
๘. ประตูพยัคฆนามเรืองฤทธิ์
๙. ประตูจัณทิพิทักษ์
๑๐. ประตูมรคาพิทักษ์

         กำแพงเมืองสงขลามีการซ่อมแซมมาโดยตลอด เมื่อครั้งพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นพระวิจิตรวรสาสน์ ข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลา และเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช (พ.ศ.๒๔๓๗–๒๔๔๘) ได้รื้อกำแพงเมืองสงขลาส่วนใหญ่เพื่อขยายถนนและปรับปรุงตัวเมืองให้กว้างขึ้น โดยใช้อิฐจาการรื้อกำแพงส่วนใหญ่มาถมถนน ต่อมามีการก่อสร้างอาคาร (หลังปี พ.ศ. ๒๔๗๘) ได้ปรากฏร่องรอยหลักฐานการรื้อกำแพงเมืองด้านทิศเหนือและบริเวณมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พบหลักฐานแผ่นศิลาจารึกเป็นตารางหรือลายเส้นเป็นตัวเลขและอักขระอยู่ใต้ป้อม สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นยันต์ที่เรียกว่า “ยันต์สี่” มีตัวเลขอยู่ในช่องตารางทั้ง ๓๗ ช่อง อาจหมายถึงโพธิปักขียกรรม ๓๗ ประการ อย่างไรก็ตาม ยันต์ดังกล่าวอาจสัมพันธ์กับยันต์ที่เรียกว่า “ยันต์โสฬสมหามงคล” ใช้สำหรับขับไล่ภูตผีปีศาจ ทำลายไสยเวทย์อาคมวัตถุอาถรรพ์ทุกชนิดในด้านโบราณคดี มีการขุดค้นรากฐานอาคารกำแพงเมืองซึ่งจมลึกไปในชั้นดินธรรมชาติ พบท่อนไม้ขนาดเล็กปักอยู่ชิดกับฐานรากของกำแพงและก้อนหินปะปน สันนิษฐานเพื่อป้องกันการพังทลายของดินในขณะที่ขุดหลุมเพื่อทำฐานรากของกำแพงเมือง โดยกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนกำแพงเมืองสงขลา เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ของชาวสงขลาและของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๗๕ หน้า ๓๖๗๙-๓๗๑๗ ลงวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ หน่วยศิลปากรที่ ๙ สงขลา ได้งบประมาณจากกรมศิลปากร เพื่อทำการซ่อมแซมกำแพงเมืองสงขลา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ กำแพงเมืองสงขลาบางส่วนพังทลายจากพายุฝนตกหนัก สำนักศิลปากรที่ ๑๓ สงขลา ได้ดำเนินการบูรณะให้กลับมาอยู่สภาพดังเดิม ปัจจุบันนี้เหลือแต่กำแพงด้านถนนจะนะตรงข้ามพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสงขลา (เรือนจำเก่า) กับที่ถนนนครในซึ่งมีความยาว ๑๔๓ เมตรเท่านั้น

ภาพค้นจาก : https://www.hatyaifocus.com/บทความ/630-เรื่องราวหาดใหญ่-ประวัติศาสตร์...กำแพงเมืองสงขลา/


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
กำแพงเมืองสงขลา (Songkhla City Wall)
ที่อยู่
ตำบล บ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา สงขลา
จังหวัด
สงขลา
ละติจูด
7.202018
ลองจิจูด
100.5880843



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

กำแพงเมืองสงขลา. (2554). สืบค้น 26 มี.ค. 61, จาก http://www.siamsouth.com/smf/index.php?topic=24658.0

ประวัติศาสตร์...กำแพงเมืองสงขลา. (2560). สืบค้น 12 มิ.ย. 61,  จาก https://www.hatyaifocus.com/บทความ/630-เรื่องราวหาดใหญ่-ประวัติศาสตร์...กำแพงเมืองสงขลา/

พรทิพย์ พันธุโกวิท, ศิริพร สังข์หิรัญ และธนิสรา พุ่มผะกา. (2555). ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานในจังหวัด

               สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส  สตูล), พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ :   บางกอกอินเฮ้าส.

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2537). สงขลา ถิ่นวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024