ถนนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ (Commemorative Road ๘๐th Birthday Anniversary ๕ December ๒๐๐๗)
 
Back    27/03/2018, 09:12    20,826  

หมวดหมู่

จังหวัด


ประวัติความเป็นมา

ภาพจาก: https://www.youtube.com/watch?v=o0i6OsPDk5Y

       ถนนที่ถูกขนาบข้างไปด้วยทะเลหลวงและทะเลน้อยเชื่อมต่อระหว่าง ๒ จังหวัดคือสงขลากับพัทลุง และเป็นถนนที่เต็มไปด้วยพลังแห่งความสุข ด้วยวิถีธรรมชาติและวิวสวย ๆ ของทะเลสุดลูกหูลูกตา วิถีชีวิตควายน้ำ และนกนานาพันธุ์ ถนนที่ว่านี้คือ “ถนนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐” อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุงถนนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ เป็นเส้นทางในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท โดยใช้ชื่อรหัสสายทาง พท. ๓๐๓๗ เปิดใช้งานเมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นสายทางที่สร้างตามแนวระหว่างทะเลน้อยกับทะเลหลวงของทะเลสาบสงขลา ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างถนนลูกรังกันมาก่อนแต่มีปัญหาถนนพังชำรุดง่ายและเมื่อถึงฤดูน้ำหลากก็ยังเป็นแนวขวางทางระบายน้ำระหว่างทะเลน้อยกับทะเลหลวง ถนนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ เป็นถนน (สะพาน) ที่ข้ามทะเลสาบที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างบ้านบ้านไสกลิ้งกับบ้านหัวป่า ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖  แล้วเสร็จและเปิดใช้งานเมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐  ในการก่อสร้างนั้นได้สร้างตามแนวถนนเดิมซึ่งอยู่ระหว่างทะเลหลวงกับทะเลน้อย เริ่มต้นจากมีการสร้างเป็นถนนดินลูกรัง ถมลงไปในเขตทะเลในช่วงที่ตื้น ๆ เพื่อเชื่อมให้เป็นพื้นดินต่อกัน โดยการริเริ่มของท่านพระครูกิตติวราภรณ์ เจ้าอาวาสที่วัดป่าลิไลย์ ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ใช้เงินจากการทอดผ้าป่าบ้าง ทอดกฐินบ้าง ผู้ใจบุญบริจาคให้บ้าง แต่ก็ทำได้แค่ถนนลูกรังกับสะพานไม้เท่านั้น ต่อมาเมื่อนายสุรใจ  ศิรินุพงศ์  ส.ส. สงขลา (ประมาณปี ๒๕๓๑) เลือดเนื้อเชื้อไขของผู้ใหญ่บ้านจวน  ศิรินุพงศ์  คนทุ่งตะเครียะโดยกำเนิด  ร่วมกับ ส.ส.  พัทลุงอีก  ๓  คน คือนายวีระ  มุสิกพงศ์ (นายวีระกานท์)  นายโอภาส  รองเงิน  และนายพร้อม  บุญฤทธิ์  ลงนามในหนังสือเสนอรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายข่ายประจำปี  ๒๕๓๑  ของบประมาณก่อสร้างถนนเชื่อม จังหวัดพัทลุงกับจังหวัดสงขลาด้วยเหตุผลที่ว่า 

       ๑) เป็นการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว
       ๒) เป็นการพัฒนาอาชีพการประมงน้ำจืด
       ๓) เป็นเส้นทางลำเลียงวัสดุก่อสร้างที่จำเป็น
      ๔) เป็นเส้นทางที่ประชาชน ในจังหวัดสงขลา พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช  สตูล มีโอกาสนำผลผลิตทางการเกษตรไปจำหน่ายได้สะดวก
      ๕) เป็นเส้นทางที่จะอำนวยความสะดวกในการพัฒนาทะเลสาบสงขลาให้บรรลุเป้าหมาย

     ในที่สุดก็ได้รับงบประมาณ ๑๓๕ ล้านบาท ในการก่อสร้างถนนดังกล่าวเชื่อมระหว่างบ้านหัวป่า  ตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา กับบ้านปากประเหนือ  ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ชาวบ้านพากันดีใจว่าจะมีถนนใช้ไม่เกินปี ๒๕๓๒ แต่ปรากฏว่าลงมือสร้างจากบ้านปากประเหนือมาได้ประมาณ ๖ กิโลเมตร ก็มีการคัดค้านจากนักการเมืองอีกฝ่ายที่คุมสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) ในสมัยนั้นว่า ให้มีการทบทวนความเหมาะสมของโครงการโดยการให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้การดำเนินการจึงหยุดชะงักลงประมาณ ๒-๓ ปี งบประมาณดังกล่าวถูกคืนคลังไปในที่สุด แต่การเรียกร้องให้มีถนนดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่ แต่แล้วในที่สุดนักการเมืองทั้ง ๔ ท่านหลุดออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไป เพราะไม่ได้สังกัดยอดนิยมของคนใต้ ในสมัยต่อมาที่เปลี่ยนหัวหน้าพรรคเป็นคนใต้ และชูประเด็น “สนับสนุนคนใต้เป็นนายกรัฐมนตรี” แบบภาคนิยมและมาประสบผลสำเร็จในการเลือกตั้งสมัยที่  ๒  ของปี ๒๕๓๕ ในของการก่อสร้างถนนนั้นพระครูศาสนการโกวิท (พ่อท่านเล็ก) ชาวบ้านขาวเจ้าอาวาสวัดจาก เจ้าคณะอำเภอระโนด มาเป็นผู้นำในการดำเนินการก่อสร้าง เพราะท่านเป็นผู้มีลูกศิษย์มากมายและเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านทั้ง ๒ อำเภอ คือระโนด และควนขนุน ท่านได้ประสานงานให้ประชาชนนำเครื่องจักรกล  วัสดุอุปกรณ์  เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ มาพัฒนาถนนสายนี้ต่อไป ในชั้นต้นได้รับการสนับสนุนจากคนที่มีรถขุด จำนวน ๓  คน ๓ คัน เริ่มงานในปี  ๒๕๓๘-๒๕๓๙  คือนายชาติชาย (แสน)  จิระโร นายสำราญ ปล้องฉิม (ร้านอาหารปลาพูดได้บ้านใหม่) และนายชม (ไม่ทราบนามสกุล)  ชาวบ้านท่าบอน ขุดถนนจากสี่แยกบ้านหัวป่าไปจนถึงคลองกก ต่อมาเรื่องการสร้างถนนทราบถึงพระครูกิตติวราภรณ์ (ทวี กิตฺติญาโณ) เจ้าอาวาสวัดป่าลิไลย์ท่านได้ร่วมเป็นพลังโดยประสานงานกำนันอำนวย หมื่นหนู นำรถขุด ๑ คันมาเริ่มขุดทางฝั่งคลองนางเรียมทางทิศใต้ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะสภาพเป็นโคลนตม พระครูศาสนการโกวิท (พ่อท่านเล็ก) จึงขอรับการสนับสนุนเครื่องมือจาหน่วยทหาร ช. พัน ๔๙๒  จังหวัดพัทลุง นำรถขุดมาดำเนินการจนถึงบ้านทะเลน้อย โดยท่านพระครูทั้ง ๒ รูปเป็นผู้นำในการก่อสร้าง มีประชาชนในพื้นที่สนับสนุนค่าน้ำมันค่าเบี้ยเลี้ยงพลขับและอื่น ๆ รวมทั้งนักการเมืองทั้ง ๔ ท่าน ก็ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด  ต่อมานักร้องดังภาคใต้เอกชัย ศรีวิชัย รับแสดงดนตรี ๓ จุด คืออำเภอระโนด อำเภอหัวไทร อำเภอควนขนุน เพื่อหาทุนสมทบสร้างถนน เสร็จสิ้นได้เงินประมาณ  ๑,๒๐๐,๐๐๐  บาท  สามารถสร้างถนนดินลูกรังสำเร็จ ทำให้รถยนต์สามารถใช้สัญจรไปมาได้ และในวันที่ ๓  มิถุนายน ๒๕๔๔  พระครูทั้ง ๒ ท่าน และชาวบ้านร่วมกันจัดงานพิธีเปิดใช้ถนนสายนี้ พร้อมกับการทอดผ้าป่าสามัคคี และตั้งชื่อถนนสายนี้ว่า “ถนนพระ-ประชาทำ” โดยมีพระเป็นประธานในพิธีเปิดทั้ง ๒ ฝั่งจังหวัด คือฝั่งจังหวัดพัทลุง มีพระธรรมรัตนาการ  เจ้าคณะภาค ๑๘ จังหวัดตรัง เป็นผู้ตัดริบบิ้น ส่วนฝั่งจังหวัดสงขลา มีพระราชศีลสังวร เจ้าคณะจังหวัดสงขลา เป็นประธานร่วมพิธี โดยมีพระสงฆ์ในภาคใต้จากทุกจังหวัดและจากกรุงเทพมหานคร จำนวนกว่า ๑,๐๐๐ รูป มาร่วมในพิธี  ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ สมัยรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ ให้ดำเนินการก่อสร้างถนนสายนี้ต่อ ตามโครงการภายใต้แผนบูรณาการงบประมาณพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ก็ได้มีการสร้างเพิ่มเติมเป็นถนนลาดยางยกระดับสูงจากระดับน้ำ ๓ เมตร ถึง ๕ เมตร  ผิวจราจรกว้าง ๑๔ เมตร ระยะทางประมาณ ๖ กิโลเมตร โดยให้กรมทางหลวงชนบทดำเนินการก่อสร้างถนนดังกล่าวเฉพาะส่วนที่จำเป็นเร่งด่วนในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๖ จำนวน ๕๐ ล้านบาท และใช้งบประมาณจากปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๗-พ.ศ. ๒๕๔๙ ในการดำเนินก่อสร้างต่อไปอีก ๕๔๙ ล้านบาทโดยเส้นทางในช่วงที่ ๒ เป็นทางยกระดับระยะทาง ๕.๔๕๐ กิโลเมตร ถนนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ เดิมชื่อ “ถนนสายบ้านไสกลิ้ง–บ้านหัวป่า ภายหลังเปิดการใช้งานสำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดพัทลุง ได้ขอความเห็นจากทุกภาคส่วนให้ร่วมเสนอชื่อถนนสายดังกล่าว เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและเป็นชื่อที่ไดรับการยอมรับในการเรียกใช้ ซึ่งผลการรับฟังเสียงส่วนใหญ่มีความเห็นร่วมกันให้ตั้งชื่อถนนใหม่เป็น “ถนนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐” เพื่อให้เหมาะสมกับปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙)

สภาพถนนในสมัยก่อน (ขอบพระคุณภาพของนายช่างผจญ (สืบค้นจาก :  http://oknation.nationtv.tv/blog/panakom/2014/05/03/entry-1))

ภาพจาก: https://www.youtube.com/watch?v=o0i6OsPDk5Y

ภาพจาก: https://www.youtube.com/watch?v=o0i6OsPDk5Y

ภาพจาก: https://www.youtube.com/watch?v=o0i6OsPDk5Y


ความสำคัญ

       ถนนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ เป็นเส้นทางในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท โดยใช้ชื่อรหัสสายทาง พท. ๓๐๓๗ เปิดใช้งานเมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นสายทางที่สร้างตามแนวระหว่างทะเลน้อยกับทะเลหลวงของทะเลสาบสงขลา ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างถนนลูกรังกันมาก่อนแต่มีปัญหาถนนพังชำรุดง่ายและเมื่อถึงฤดูน้ำหลากก็ยังเป็นแนวขวางทางระบายน้ำระหว่างทะเลน้อยกับทะเลหลวง ถนนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ เป็นถนน (สะพาน) ที่ข้ามทะเลสาบที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างบ้านบ้านไสกลิ้งกับบ้านหัวป่า ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖  แล้วเสร็จและเปิดใช้งานเมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐

การออกแบบถนนจะมีจุดเว้าเป็นช่วง ๆ ของถนน ที่ถูกออกแบบไว้ เพื่อให้นักเดินทางได้จอดรถบันทึกภาพ หรือชมทิวทัศน์

          บ้านหลังนี้เป็นบ้านของคนงานที่สร้างไว้อยู่อาศัยเมื่อตอนเข้ามาก่อสร้างถนน ทางจังหวัดเห็นว่าสวยดีเข้ากับบรรยากาศทุ่งหญ้าสีเขียว มีมติไม่รื้อทิ้งและบ้านหลังนี้ก็กลายเป็นไฮท์ไลท์ในการถ่ายภาพคู่กับถนนแห่งนี้

ภาพสืบค้นจาก : http://review.tourismthailand.org/phatthalung-talaynoi3/

       ควายกับถนนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ เป็นของคู่กัน ควายในทุ่งพรุทะเลน้อย เป็นควายที่เลี้ยงสืบทอดติดต่อกันมา ๓-๔ ชั่วอายุคน เป็นเวลานานร่วม ๑๐๐ กว่าปี วิถีการเลี้ยงนิยมเลี้ยงเป็นฝูงปล่อยทุ่งและมีคอกสำหรับให้ควายพักผ่อนหลังจากกลับจากกินหญ้า โดยเฉพาะยามค่ำคืน ควายฝูงหนึ่ง ๆ จะมีควายที่ทำหน้าที่คุมฝูง 1 ตัว เจ้าของควายจะเปิดคอกปล่อยควายออกกินหญ้าเวลาเช้าประมาณ ๐๙:๐๐ น. ควายจะกลับเข้าคอกเองในตอนเย็นเวลาประมาณ ๑๕:๐๐-๑๖:๐๐ น. เป็นเช่นนี้ทุกวัน  ในบางปีที่น้ำท่วมหนักระดับน้ำในทุ่งหญ้าท่วมสูงมากจนหญ้าจมมิดอยู่ใต้น้ำ แต่ควายก็สามารถดำน้ำลงกินหญ้าที่จมอยู่ใต้น้ำได้ บางคนเรียกว่า "ควายน้ำ" หรือ "ควายทะเล" แต่ที่แท้จริงแล้วก็คือ "ควายปลัก" นั่นเอง เกษตรกรเลี้ยงควายในพื้นที่ของป่าพรุทะเลน้อยและพื้นที่ทะเลสาบสงขลาตอนบนมีอยู่ประมาณ ๑๐๐ คอก ประมาณ ๕,๐๐๐ ตัว วิถีการเลี้ยงนิยมเลี้ยงเป็นฝูงปล่อยทุ่ง และมีคอกสำหรับให้ควายพักผ่อนหลังจากกลับจากกินหญ้า ควายจะกินหญ้าแทบทุกชนิดที่อยู่ในทุ่งหญ้า และป่าพรุ เช่น หญ้าข้าวผี หญ้าครุน หญ้าปล้อง จูดหนู เป็นต้น

ภาพสืบค้นจาก : http://review.tourismthailand.org/phatthalung-talaynoi3/

ภาพสืบค้นจาก : http://review.tourismthailand.org/phatthalung-talaynoi3/

ภาพสืบค้นจาก : http://review.tourismthailand.org/phatthalung-talaynoi3/


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
ถนนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ (Commemorative Road ๘๐th Birthday Anniversary ๕ December ๒๐๐๗)
ที่อยู่
อำเภอควนขนุน พัทลุง 93150
จังหวัด
พัทลุง
ละติจูด
7.7586692
ลองจิจูด
100.1711929



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

....ทะเลน้อย..@..มีสะพานข้ามทะเลสาบที่ยาวที่สุดในประเทศไทย.... (2557). สืบค้นวันที่ 11 ก.พ. 62, จาก http://oknation.nationtv.tv/blog/panakom/2014/05/03/entry-1
สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550. (2560). สืบค้นวันที่ 11 ก.พ. 62, จาก  http://review.tourismthailand.org/ phatthalung-talaynoi3/
สะพานที่ยาวและสวยที่สุดในประเทศไทย. สืบค้นวันที่ 11 ก.พ. 62, จาก https://www.youtube.com/watch?v=o0i6OsPDk5Y


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024