วัดมุจลินทวาปีวิหาร (Wat Mujjalintawapeeviharn)
 
Back    05/04/2019, 15:55    13,221  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา

         วัดมุจลินทวาปีวิหาร เป็นพระอารามหลวง ชนิดสามัญ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๘ เดิมชื่อวัดตุยงต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสเมืองหนองจิกได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อก่อสร้างพระอุโบสถ แล้วทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดมุจลินทวาปีวิหาร” ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๑ ตําบลตุยง อําเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดปัตตานีประมาณ ๙ กิโลเมตร การเดินทางไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข ๔๒ เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ ๒๐๐ เมตร วัดมุจลินทวาปีวิหารหรือวัดตุยงเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดปัตตานี สร้างโดยพระยาวิเชียรสงคราม (เกลี้ยง) เจ้าเมืองหนองจิก เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๘ ตามประวัติเล่าว่าเมื่อเจ้าพระยาพลเทพฯ แม่ทัพใหญ่แห่งสยามขอพระบรมราชานุญาตตัดแบ่งเมืองปัตตานีออกเป็น ๗ หัวเมือง ประกอบด้วยเมืองปัตตานี เมืองยะหริ่ง เมืองสาย (สายบุรี) เมืองหนองจิก เมืองระแงะ เมืองรามันห์ และเมืองยะลา และในปี พ.ศ. ๒๓๘๘ พระยาวิเชียรภักดีศรีสงคราม (เกลี้ยง) ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าเมืองหนองจิก ได้อพยพครอบครัวคนไทยมาจำนวนหนึ่งมาตั้งหลักแหล่งที่เมืองหนองจิก ซึ่งบริเวณนี้เรียกขานกันว่าบ้านตุยง (ที่ตั้งอำเภอหนองจิกในปัจจุบัน) เมื่อได้สร้างที่ว่าการอำเภอเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ได้นิมนต์พระอาจารย์พรหม ธมฺมสโรซึ่งเป็นอาจารย์ของท่านสมัยอยู่เมืองยะหริ่งมาจำพรรษาที่ศาลาพักสงฆ์ท่ายะลอ ภายหลังปรากฏว่าสถานที่ดังกล่าวมีความไม่สะดวกสบายหลาย ๆ ประการ  เลยต้องย้ายหาที่แห่งใหม่ ท่านและพระอาจารย์พรหม ธมฺมสโร ได้ออกสำรวจพื้นที่เพื่อสร้างวัดแห่งใหม่ ตามประวัติเล่ากันว่าท่านได้เดินทางไปพบเนินทรายขาวแห่งหนึ่ง มีต้นชะเมาใหญ่ปกคลุมเงียบสงัดและเห็นเสือใหญ่นอนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก (ตำนานกล่าวว่าต่อมาเสือตัวนั้นได้หายไป) ท่านทั้งสองจึงถือเอานิมิตดังกล่าวเลือกเอาสถานที่นี้เป็นที่สร้างวัด ซึ่งเรียกกันว่า “วัดตุยง” ตามนามของหมู่บ้าน

         พื้นที่และอาณาเขต
         
ทิศเหนือ ติดที่ดินนากุ้งของนายวศิน ธนภิรมย์
         ทิศใต้ ติดถนนเพชรเกษม
         ทิศตะวันออก ติดถนนสุขาภิบาลบ้านท่าพรุ ตําบลตุยง
         ทิศตะวันตก ติดถนนบางตาวา ตําบลทุยง

         วัดมุจลินทวาปีวิหาร เริ่มแรกเป็นเพียงที่พักสงฆ์ท่ายะลอ โดยขณะนั้นพระยาวิเชียรภักดีสงคราม (เกลี้ยง) ได้อพยพผู้คนมาตั้งเมืองหนองจิกใหม่ ณ บริเวณตําบลตุยง (ที่ตั้งของอําเภอหนองจิกในปัจจุบัน) เมื่อสร้างที่ว่าการเมืองเสร็จเล่ากันว่าท่านได้เดินทางไปพบเนินทรายขาวแห่งหนึ่ง ซึ่งมีต้นชะเมาใหญ่ปกคลุมและเงีบบสงัดได้เห็นเสือตัวใหญ่นอนหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเลยถือเป็นนิมิตที่ดีจึงเลือกเอาสถานที่แห่งนี้เป็นที่สร้างวัด ให้มีชื่อเรียกว่า “วัดตุยง” ตามนามหมู่บ้าน เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เสด็จประพาสเยี่ยมเยียนพสกนิกรหัวเมืองปักษ์ใต้และได้เสด็จมาถึงเมืองหนองจิก เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๓ ได้ทรงทราบว่าวัดตุยงเป็นหนึ่งในวัดที่ใช้ประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของราชการในสมัยนั้น และทรงทราบว่าพระอุโบสถและเสนาสนะในอารามนี้ยังทรุดโทรมอยู่หลายหลัง พระองค์จึงมีพระราชศรัทธาบริจาคพระราชทรัพย์เป็นเงินจํานวน ๘๐ ชั่ง โดยมอบให้กับพระยามุจลินทร์วราภิธานนัคโรปการ สุนทรกิจมหิศราชภักดิ์ (ทัด ณ สงขลา) เจ้าเมืองหนองจิก ไปดำเนินการก่อสร้างพระอุโบสถและได้พระราชทานนามชื่อวัดใหม่ว่า “วัดมุจลินทวาปีวิหาร" เพื่อให้สอดคล้องกับนามเมืองหนองจิก (มุจลินท์หมายถึงไม้จิก และวาปีหมายถึงหนองน้ำ) และได้พระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์แก่วัดมุจลินทวาปีวิหารไว้ด้วย พระยามุจลินทร์วราภิชานนัคโรปการ สุนทรกิจมหิศราชภักดี (ทัด ณ สงขลา) ได้มอบหมายให้หลวงจีนคณานุรักษ์ (จูล่าย) หัวหน้าชาวจีนเมืองตานี เป็นผู้ดําเนินการก่อสร้างพระอุโบสถและให้นายอินแก้ว รัตนศรีสุข เป็นนายช่างโดยเริ่มก่อสร้างเมื่อวันพฤหัสบดีขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล การก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันศุกร์ แรม ๒ เดือน ๑๒ ปีเดียวกัน ในการสร้างพระอุโบสถในครั้งนี้มีผู้ร่วมพระราชกุศลสมทบกับพระราชทรัพย์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานไว้รวมเงินค่าก่อสร้างรวมทั้งสิ้น ๒,๔๐๕ เหรียญกับ ๔ อัฐ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลปักษ์ได้ ทรงทราบว่าพระอุโบสถวัดมุจลินทวาปีวิหารยังไม่มีพระประธาน ดังนั้นเมื่อเสด็จกลับกรุงเทพมหานคร ได้อัญเชิพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย สมัยเชียงแสน หน้าตักกว้าง ๑ เมตร ๔ นิ้ว ซึ่งเป็นองค์หนึ่งในจานวนพระพุทธรูปโบราณ ๑,๒๔๘ องค์ ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ได้อัญเชิญมาจากสุโขทัยและหัวเมืองฝ่ายเหนือ ลงมาเก็บรักษาไว้ที่ระเบียงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม มอบให้พระยาเพชราภิบาลนฤเบศรวาปีเขตมุจลินนฤบดินทร์สวามิภักดิ์ เจ้าเมืองหนองจิก นำมาประดิษฐานเป็นพระประธานประจําพระอุโบสถ ต่อมาวัดมุจลินทวาปีวิหารได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๐
       ในวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๑๙ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จฯ มาเยี่ยมวัดมุจลินทวาปีวิหาร เป็นการส่วนพระองค์ พร้อมกันนี้ได้สนทนาธรรมและทรงประทานเภสัชกับพระราชพุทธิรังษี (หลวงพ่อดำ นนฺทิโย) 
      


พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัยสมัยเชียงแสนประดิษฐานในพระอุโบสถ


พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จมาวัดมุจลินทวาปีวิหารเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙ พร้อมสนทนาธรรมและถวายเภสัชแด่พระราชพุทธิรังษี (หลวงพ่อดํา นนทิโย) เจ้าอาวาสวัดมุจลินทวาปีวิหาร


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

        โบราณสถานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นมาและประวัติศาสตร์ของวัดมุจลินทวาปีวิหาร ประกอบด้วย พระอุโบสถ, วิหารยอดหรือมณฑป สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นที่ประดิษฐานพระหล่อโลหะรูปเหมือนของอดีตเจ้าอาวาสทั้ง ๓ รูป ซึ่งสร้างเป็นสถาปัตยกรรมไทยที่ย่อส่วนมาจากพระที่นั่งไอสวรรค์ทิพยอาสน์ เป็นศาลาจตุรมุขซึ่งจำลองมาจากปราสาทพระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระเจดีย์บรรจุพระสารีริกธาตุเป็นเจดีย์ใหญ่รูประฆังคว่ำแบบลังกา ก่อด้วยอิฐถือปูน สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ พระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยเชียงแสน (สิงห์หนึ่ง) เป็นพระประธานสมัยเชียงแสน หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์  อายุประมาณ ๘๐๐ ปี ศาลารูปทรงไทย ก่ออิฐถือปูนมีพระนามาภิไธยย่อ จปร. ที่หน้าจั่ว กุฏิเจ้าอาวาสเดิมเป็นกุฏิชั้นเดียวทรงไทยทำด้วยไม้เนื้อแข็งหลังเดียว อายุประมาณ ๑๑๐ ปี ศาลาจตุรมุขเป็นหอพระพุทธอภัยมงคลสามัคคี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแก่ชาวปัตตานีเพื่อสักการบูชาเป็นที่พึ่งทางใจ หุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อดำ นนฺทิโย ทำด้วยขี้ผึ้งขนาดเท่าองค์จริงเป็นองค์แรกและองค์เดียวของภาคใต้ อนุสรณ์เจ้าพ่อเสือสร้างไว้เพื่อระลึกถึงอดีตตามประวัติศาสตร์ของวัด

พระอุโบสถ

           

ภาพจาก : https://www.pinterest.com/pin/83668505557814660/

         พระอุโบสถของวัดมุจลินทวาปีวิหาร หรือวัดตุยง หลังเก่าที่สร้างควบคู่มากับวัดซึ่งใช้ประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการในสมัยนั้น ต่อมาเกิดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา เมื่อ   พ.ศ.   ๒๔๓๓   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   เสด็จประพาสเยี่ยมเยียนพสกนิกรหัวเมืองปักษ์ใต้ ได้เสด็จมาถึงเมืองหนองจิกเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๓ พระองค์ทรงทราบว่าพระอุโบสถมีความทรุดโทรมเป็นอย่างมาก พระองค์จึงมีพระราชศรัทธาบริจาคพระราชทรัพย์ เป็นเงินจำนวน  ๘๐ ชั่ง มอบให้พระยามุจลินทร์สราภิธานนัคโรปการสุนทรกิจมหิศราชภักดี (ทัด  ณ  สงขลา) เจ้าเมืองหนองจิกไปดำเนินการก่อสร้างพระอุโบสถ พระยามุจลินทรฯ ได้มอบหมายให้หลวงจีนคณานุรักษ์ (จูล่าย) หัวหน้าชาวจีนเมืองตานีเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างและให้นายอินแก้ว รัตนศรีสุข เป็นนายช่างอํานวยการสร้าง พระครูนิมมานกิจโกศล (เอี่ยม) เป็นผู้ควบคุมการสร้าง เริ่มก่อสร้างเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล การก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันศุกร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีเดียวกัน มีผู้ร่วมพระราชกุศลสมทบรวมกับพระราชทรัพย์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ เป็นเงินค่าก่อสร้างรวมทั้งสิ้น ๒,๔๐๕ เหรียญ กับ ๔ อัฐ ลักษณธของพระอุโบสถเป็นลักษณะลักษณะทรงไทย ก่ออิฐถือปูนกว้าง ๘.๓๐ เมตร ยาว ๒๑ เมตร สูง ๙ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ได้พระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ “จ.ป.ร." ที่หน้าจั่วพระอุโบสถปรากฎมาจนทุกวันนี้

พระวิหารยอดหรือมณฑป

         รูปแบบเป็นศาลาจตุรมุชจําลองแบบพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ ขนาดกว้าง ๑๒ เมตร การสร้างโดยพระราชพุทธิรังษี (หลวงพ่อดํา นนฺทิโย) โดยมอบหมายให้พระครูนิมมานกิจโกศล (เยี่ยม) ควบคุมการสร้าง โดยสร้างแทนหลังเก่าซึ่งเป็นพลับพลาที่ประทับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประพาสแหลมมลายูปัจจุบันได้เป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อโลหะของอดีตเจ้าอาวาสวัดมุจลินทวาปีวิหาร พระอารามหลวง


รูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาส (หลวงพ่อทวดนวล หลวงพ่อชุม หลวงพ่อดำ หลวงพ่อสุข หลวงพ่อเยี่ยม)

พระเจดีย์ใหญ่

 

        พระเจดีย์ใหญ่เป็นเจดีย์รูประฆังคว่ำแบบลังกา ก่อด้วยอิฐถือปูน สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ ศิลปะแบบลังกากว้าง ๖ เมตร สูง ๑๖ เมตร โดยพระจีนคณานุรักษ์ คหบดีใหญ่เมืองปัตตานี้เป็นผู้สร้าง ต่อมา ปี พ.ศ. ๒๔๔๘ หลวงพ่อแดงไปธุดงคในประเทศพม่าได้นําพระบรมธาตุมาบรรจุไว้      


ปูชนียวัตถุ

พระพุทธปฏิมาประธาน

         พระพุทธปฏิมาประธาน ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปแบบปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร ฐานบัวคว่ําบัวหงาย วัสดุสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตัก กว้าง ๔๕ นิ้ว สูง ๕๗ นิ้ว ศิลปกรรมสมัยเชียงแสน (สิงห์หนึ่ง) มีอายุประมาณ ๘๐๐ ปี สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ เสด็จตรวจการหัวเมืองภาคใต้ รับสั่งให้พระยาเพชราภิบาลนฤเบศรเจ้าพระยาหนองจิกไปรับพระพุทธรูปจากกรุงเทพฯ โดยทางเรือในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ 

 

อนุสาวรีย์ผู้สร้างวัด

            รูปหล่อของหลวงปู่ทวดพรหม ธมฺมธีโร และพระยาวิเชียรภักดีศรีสงคราม (เกลี้ยง) ผู้สร้างวัด เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของท่าน


ปูชนียบุคคล

เจ้าอาวาส
          เจ้าอาวาสวัดมุจลินทวาปีวิหาร ตั้งแต่เริ่มสร้างวัด คือ

๑. พ่อทวดปู่พรหม ธมฺมสโร 
๒. พ่อท่านแก้ว
๓. พระครูวิบูลย์สมณวัตร (พ่อทวดนวล เทวธมฺโม)
๔. พระครูวิบูลย์สมณวัตร (หลวงพ่อชุม)
๕. พระราชพุทธิรังษี (หลวงพ่อดํา นนฺทิโย)
๕. พระราชพุทธิรังษี (หลวงพ่อดํา นนฺทิโย)
๖. พระสิทธิญาณมุนี (หลวงพ่อสุข สุมงฺคโล) 
๗. พระสุทธิสมณวัตร (พ่อท่านวิชิต ชวนปญฺโญ)

พระราชพุทธิรังษี (หลวงพ่อดำ นันทิโย)

        พระราชพุทธิรังษี หรือหลวงพ่อดํา นนฺทิโย อดีตเจ้าอาวาสวัดมุจลินทวาปีวิหาร ท่านมีนามเดิมว่าดํา นามสกุลจันทรักษ์ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๗ ที่ตําบลนาทับ อําเภอจะนะ จังหวัดสงขลา บิดาคือหลวงจรานุรักษ์เขตร (พลับ จันทรักษ์) มารดาชื่อนางพ่วนเหนี่ยว จันทรักษ์ พื้นเพเป็นชาวจังหวัดสงขลา มีพี่น้องจำนวน ๖ คน ประกอบด้วย        

๑. นางเนี่ยม จันทรักษ์
๒. พระราชพุทธิรังษี (หลวงพ่อดำ นนฺทิโย)
๓. ท่านหมื่นเลี่ยน จันทรักษ์
๔. นายลาภ (ล่วน) จันทรักษ์
๕. นายยก จันทรักษ์
๖. นางนุ่ม อุทัยรัตน์

       เมื่ออายุ ๑๙ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดนาทับและได้ศึกษาหนังสือขอมทั้งขอมไทยและขอมบาลีจนเชี่ยวชาญ แต่ระหว่างที่ท่านบวชเป็นสามเณรอยู่นั้น ได้เกิดอาพาธจึงได้ลาสิกขาด้วยเหตุผลที่ว่ายาโบราณที่รักษานั้นต้องผสมสุราท่านเกรงว่าจะอาบัติ ต่อมาได้อุปสมบทเมื่ออายุ ๒๒ ปี ณ วัดนาทับ จังหวัดสงขลา มีพระอธิการเสน วัดโคกทราย เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการเพชร วัดอ่างทอง และพระอธิการล่อง วัดนาทับ เป็นพระคู่สวด ได้รับฉายา “นันทิยมาโน”  ต่อมาได้มีโอกาสเดินทางเข้ากรุงเทพฯ และมีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ วัดราชบพิธฯ พระองค์ท่านทรงเปลี่ยนฉายาให้ใหม่เป็น “นันทิโย” ซึ่งแปลว่า “ผู้เป็นที่ตั้งแห่งความ เพลิดเพลิน” แล้วทรงฝากให้ศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกสามัญและแผนกบาลี ที่สำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์แต่ท่านไม่ได้เข้าสอบสนามหลวงแต่อย่างใด หลวงพ่อดำ นนฺทิโย ท่านอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นเวลา ๓ ปี และกลับมาจำพรรษาที่วัดมุจลินทวาปีวิหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นต้นมาและได้รับการแต่งตั้งเป็นฐานานุกรมที่พระใบฎีกาของพระครูพิบูลย์สมณวัตร (ชุม จนทสุวณโณ) เจ้าคณะเมืองหนองจิก และได้เปิดสำนักเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม ขึ้นที่วัดมุจลินทวาปีวิหาร ต่อมาท่านได้เข้าสอบนักธรรมชั้นตรีและสอบได้ ซึ่งข้อสอบทุกวิชาจะมีวิชาละ ๑๔ ข้อ ซึ่งยากมากใครสอบผ่านได้จะต้องใช้ความเพียรและใช้สติปัญญาอย่างมาก พระราชพุทธิรังษี (หลวงพ่อดำ นนฺทิโย) เป็นพระสงฆ์ที่ชาวไทยพุทธเลื่อมใสศรัทธาว่าท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยและมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส แม้งานปกครองและการปฏิสังขรณ์เสนาสนะจะล้นมือ แต่ท่านก็ยังคงปฏิบัติสมณกิจอย่างสม่ำเสมอ โดยจะเดินจงกรมตั้งแต่เวลา ๑๙.๐๐-๒๒.๐๐ น. เป็นประจำทุกวัน เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์สัญญาบัตรเป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ "พระราชพุทธิรังษี" พระราชพุทธิรังษีหรือหลวงพ่อดำ นนฺทิโย ท่านยังเป็นพระกรรมวาจาจารย์ (เป็นพระคู่สวดของอาจารย์ทิม วัดช้างให้) อีกทั้งท่านยังเป็นประธานในพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลของวัดช้างให้มาโดยตลอด
             พระราชพุทธิรังษี (หลวงพ่อดำ นนฺทิโย) มรณภาพด้วยอาการสงบ ณ โรงพยาบาลจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ เวลา ๒๓.๑๐ น. สิริรวมอายุได้ ๘๙ ปี พรรษา ๖๘ ปัจจุบันทางวัดมุจลินทวาปีวิหาร (วัดตุยง) ได้สร้างศาลาประดิษฐานรูปปั้นหลวงพ่อดำเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้เคารพสักการะ   

ตำแหน่งและสมณศักดิ์

               พระราชพุทธิรังษี หรือหลวงพ่อดำ นนฺทิโย เจ้าอาวาสวัดมุจลินทราปีวิหาร รูปที่  ๕ มีตำแหน่งและสมณศักดิ์ต่าง ๆ ดังนี้ 

- พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็นฐานานุกรมที่พระปลัดของพระครูพิบูลย์สมณวัตร (ชุม จนทสุวณโณ)
- พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็นฐานานุกรมที่พระปลัดของพระครูพิบูลย์สมณวัตร (ชุม จนทสุวณโณ)
- พ.ศ. ๒๔๗๖ พระเทพญาณเมธี เจ้าคณะจังหวัดปัตตานี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าคณะแขวงตุยง
- พ.ศ. ๒๔๗๗ พระญาณโมลี เจ้าคณะจังหวัดปัตตานี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะหมวดตุยง
- พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้รับคำสั่งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้รักษาการในตำแหน่งคณะแขวงหนองจิก
- พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะแขวงเมืองปัตตานี
- พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูมานิตสมณวัตร
- พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นเอก และได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ประเภทวิสามัญ
- พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งสาธารณูปการ จังหวัดปัตตานี และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระมุจลินทโมลี
- พ.ศ.๒๕๑๕ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดปัตตานี
- พ.ศ.๒๕๑๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์จากพระราชาชั้นสามัญ เป็น พระราชาคณะชั้นราชที่ "พระพุทธิรังษี โมลีธรรมพินิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี"
- พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวง

               หลวงพ่อดํา นันทิโย ท่านเป็นเกจิอาจารย์ผู้แก่กล้าพุทธาคมแห่งเมืองปัตตานี ท่านเป็นศิษย์อาจารย์ร่วมกันกับพระอาจารย์ทิม วัดช้างไห้ พระเครื่องของท่านได้รับความนิยมสูงแทบทุกรุ่น หลวงพ่อดําได้ดารงสมณเพศสืบมาตราบจนกระทั่งมรณภาพเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๒๗ สิริรวมอายุ ๙๐ ปี ๖๕ พรรษา วัตถุมงคลที่ท่านได้สร้างและ ปลุกเสกเอาไว้มีหลายรุ่นพอสรุปได้ ดังนี้ พุทธศักราช ๒๕๐๗ พระบูชา เนื้อว่านหลวงพ่อทวดนวล และรูปเหมือนเนื้อว่านหลวงพ่อทวดนวล ทั้งแบบมีและไม่มีซุ้มเรือนแก้ว ๓ ขนาด ใหญ่-กลาง-เล็ก และหลวงพ่อทวดนวลเนื้อโลหะลอยองค์ จํานวนประมาณ ๕,๐๐๐ องค์ พุทธศักราช ๒๕๑๖ สร้างเหรียญดอกจิกรุ่นแรก ปลุกเสกเสาร์ ๕ เมษายน ๒๕๑๖ พุทธศักราช ๒๕๒๐ สร้างเหรียญรูปไข่ พิมพ์ใหญ่-เล็ก พุทธศักราช ๒๕๒๒ สร้างเหรียญดอกจิก ใหญ่เล็ก เหรียญพัดยศและเหรียญยืนถือไม้เท้า พุทธศักราช ๒๕๒๔ สร้างเหรียญรูปไข่รุ่นทูล เกล้าฯ พุทธศักราช ๒๕๒๕

พระสุทธิสมณวัตร (หลวงพ่อวิชิต ชวนปญฺโญ)

         พระสุทธิสมณวัตร (หลวงพ่อวิชิต ชวนปญฺโญ)) อายุ ๘๐ ปี พรรษา ๕๙ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน (๒๕๖๔) พระสุทธิสมณวัตร ท่านมีนามเดิมว่าวิชิต สุวรรณมณี บิดาชื่อนายช่วง มารดาชื่อนางอิ่ม สุวรรณมณี เกิดที่บ้านเลขที่ ๑๙๕ หมู่ที่ ๒ ตําบลตุยง อําเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ท่านได้บรรพชาเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๓ วัดมุจลินทวาปีวิหาร มีพระครูมานิตสมณวัตร วัดสุวรรณากร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก เป็นพระอุปัชฌาย์ อุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๕ วัดมุจลินทวาปีวิหาร โดยมีพระครูมานิตสมณวัตร เป็นพระอุปัชฌาย์ ส่วนพระกรรมวาจาจารย์ คือพระครูนิมมานกิจโกศล พระอนุสาวนาจารย์ พระสิทธิญาณมุนี (หลวงพ่อสุข สุมงฺคโล) วัดมุจลินทวาปีวิหาร พระสุทธิสมณวัตรมีความเชี่ยวชาญทางด้านการก่อสร้างเป็นอย่างยิ่งจึงทำให้วัดมุจลินทวาปีวิหารหรือวัดตุยงมีความเจิรญรุ่งเรืองในด้านเสนาสนะและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ มากมายทำให้วัดกลายเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนิกชนตลอดมา

วิทยฐานะ
- พ.ศ. ๒๔๙๗ สําเร็จชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนบ้านตุยง (เพชรานุกูลกิจ) อําเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี 
- พ.ศ. ๒๕๐๕ สอบได้นักธรรมเอก สํานักเรียนวัดมุจลินทวาปีวิหาร อําเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
- พ.ศ. ๒๕๐๖ สอบได้ประกาศนียบัตรพิเศษวิชาการศึกษา (พ.กศ.) อําเภอเมืองจังหวัดปัตตานี
- พ.ศ. ๒๕๑๖ สอบเทียบความรู้ได้ ม.ศ. ๕ จังหวัดกรุงเทพมหานคร
- พ.ศ.๒๕๕๑ สำเร็จการศึกษาพุทธศาสตรบัณฑิต (พธ.บ.) จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ห้องเรียนปัตตานี

สมณศักดิ์
- พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูพิพัฒน์สมณคุณ ตําแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นโท
- พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูพิพัฒน์สมณคุณ ตําแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก
- พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูพิพัฒนสมณคุณ ตําแหน่ง ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นพิเศษ
- พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นโท
- พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูพิพัฒน์สมณคุณ ตําแหน่ง เจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก
- ๕ ธ.ค. ๒๕๔๘ ได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระสุทธิสมณวัตร

ผลงานดีเด่น
- พ.ศ. ๒๕๔๐ รับโล่เสมาธรรมจักร ผู้ทําคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ประเภทส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมมรดกไทย 
- พ.ศ. ๒๕๔๗ รับโล่และเกียรติบัตร ผู้บริหารดีเด่น ประเภทโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษางานด้านการปกครองสงฆ์
- พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตําบลตุยง จังหวัดปัตตานี
- พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส

- พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
- พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดมุจลินทวาปีวิหาร อําเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
- พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะสงฆ์ จังหวัดปัตตานี 

- พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอําเภอเมืองปัตตานี-หนองจิก

งานด้านการศึกษา
- พ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๔๒ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม สํานักเรียนวัดมุจลินทวาปีวิหาร อําเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
- พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้ร่วมกันจัดตั้งทุนมูลนิธิโมลีธรรมพินิตเพื่อการศึกษาเพื่อการพัฒนาวัด และช่วยเหลือการศึกษาสําหรับเยาวชนที่ ยากจน มีความประพฤติดี ตลอดถึงการกุศลต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง
- พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๔๒ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา 
วัดมุจลินทวาปีวิหาร อําเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
- พ.ศ. ๒๕๒๙-๒๕๔๐ เป็นกรรมการตรวจข้อสอบสนามหลวง ณ วัดคูหาสวรรค์จังหวัดพัทลุง
- พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๓ เป็นกรรมการตรวจข้อสอบนักธรรมชั้นตรี ณ วัดกะพังสุรินทร์ จังหวัดตรัง
- พ.ศ. ๒๕๒๔-ปัจจุบัน เป็นกรรมการสอบธรรมบาลีสนามหลวง
- พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๕๗ เป็นผู้จัดการโรงเรียนมุจลินท์ปริยัติธรรมสามัญศึกษาวัดมุจลินทวาปีวิหาร อําเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
- พ.ศ. ๒๕๔๔-ปัจจุบัน เป็นรองผู้อํานวยการมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ห้องเรียนจังหวัดปัตตานี

งานด้านการปกครองสงฆ์
- พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตําบลตุยง จังหวัดปัตตานี
- พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส

- พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
- พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดมุจลินทวาปีวิหาร อําเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
- พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะสงฆ์ จังหวัดปัตตานี 

- พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอําเภอเมืองปัตตานี-หนองจิก

งานด้านเผยแผ่พระพุทธศาสนา 
- พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นพระธรรมทูตประจําอําเภอหนองจิก เป็นคณะกรรมการจัดปฏิบัติธรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติ 
- พ.ศ. ๒๕๔๔ เข้ารับการฝึกอบรมพระนักเทศน์ประจําจังหวัด ตามโครงการฝึกอบรมพระนักเทศน์ของมหาเถรสมาคม ประจําปี 2544 

งานด้านการสงเคราะห์วัดต่าง ๆ
- พ.ศ. ๒๕๔๐ บริจาคเงินเพื่อวัดช่วยวัดตามโครงการของพระเถระผู้ใหญ่ 
- พ.ศ. ๒๕๔๓ บริจาคเงินสร้างกุฏิปฏิบัติธรรมพัฒนาจิต วัดมะกรูด อําเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ,  บริจาคเงินบูรณะปฏิสังขรณ์กุฏิถูกวาตภัย วัดศิษฐาราม (ท่ามะนาว) อําเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี, บริจาคเงินช่วยอุทกภัยวัดโคกสมานคุณ อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ร่วมกับคณะสงฆ์ จังหวัดปัตตานี 
พ.ศ. ๒๕๓๐-ปัจจุบัน ทําโครงการพบปะเพื่อนสมาชิกก่อนวันเข้าพรรษา ๗ วัน นำคณะพุทธบริษัทปีละประมาณ ๗๐๐-๑,๐๐๐ คน ถวาย เทียนพรรษา ผ้าไตรจีวร ผ้าอาบน้ำฝน ฯลฯ ปีละ ๑๐ วัด ในเขตจังหวัดปัตตานี ทุกอําเภอโดยหมุนเวียนกันไปทุกปี

งานด้านการสงเคราะห์สังคม
- พ.ศ. ๒๕๓๐ ร่วมจัดตั้งชมรมศิษย์เก่าวัดมุจลินทวาปีวิหาร 
- พ.ศ. ๒๕๓๑ ร่วมจัดตั้งกองทุนออมทรัพย์ กลุ่มสัจจธนากร ปัจจุบันมีสมาชิก ๕๔๐ คน 
- พ.ศ. ๒๕๓๘ บริจาคเงินจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ โรงพยาบาลหนองจิกอําเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เพื่อตั้งเป็นกองทุนในการช่วยเหลือด้านสวัสดิการต่าง ๆ
   ของชมรมฯ

- พ.ศ. ๒๕๔๑ บริจาคเงินเพื่อไทยช่วยไทย โดยร่วมบริจาคกับผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี -
พ.ศ. ๒๕๔๓ บริจาคเงินช่วยเหลืออุทกภัย ขับน้ำตาชาวอําเภอหาดใหญ่, มอบพระพุทธรูปขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว จํานวน ๑ องค์


บทบาทต่อสังคม

       วัดมุจลินทวาปีวิหารหรือวัดตุยงได้ชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิดการศึกษาทั้งทางธรรมและทางโลกแห่งแรกของมณฑลปัตตานี ทางโลกหรือสายวิชาสามัญได้เปิดโรงเรียนสอนตามหลักสูตรชั้นประถมศึกษาสมัยนั้นขึ้น เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ ๒๔๔๔ ต่อมาใน ปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ทางราชการได้ย้ายโรงเรียนออกมาจากวัดมาดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ คือโรงเรียนบ้านตุยง (เพชรานุกูล) ในปัจจุบัน สำหรับสายธรรมบาลี ได่เปิดโรงเรียนสอนธรรมศึกษาขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒ ๔๗๓ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็ได้เปิดโรงเรียนปริยัติธรรมขึ้นอีกเพื่อสอนแผนกภาษาบาลี ต่อมาวัดได้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อการศึกษาขึ้นเรียกว่า "โมลีธรรมพินิต" เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระราชพุทธิรังษี (หลวงพ่อดำ) และได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงเรียนปริยัติธรรมสามัญศึกษาขึ้นชื่อว่าโรงเรียนมุจลินท์ปริยัติธรรมสามัญศึกษา สังกัดกรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ เปิดทำการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๑๘
 

ความสำคัญต่อชุมชน 

          วัดมุจลินทวาปีวิหาร เป็นพระอารามหลวงที่สำคัญมากวัดหนึ่งของจังหวัดปัตตานี เป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวพุทธโดยทั่วไป ทางวัดได้จัดให้มีการปฏิบัติธรรมขึ้นทุกปีและมีพุทธ-บริษัทมาร่วมปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมากประชาชนทั่วไปรู้จักวัดนี้ ได้จากอภินิหารของหลวงพ่อดำซึ่งทางวัดได้จัดทำพิธีพุทธาภิเษกพระเครื่องพระบูชา เหรียญมงคลของหลวงพ่อดำและพระเกจิอาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดมุจลินทวาปีวิหาร เพื่อให้พุทธบริษัทที่เลื่อมใสศรัทธาได้เก็บไว้เคารพบูชาโดยทั่วกัน


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดมุจลินทวาปีวิหาร (Wat Wadmujjalintawapeewiharn)
ที่อยู่
เลขที่ ๑๐ หมู่ที่ ๑ ตําบลตุยง อําเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
จังหวัด
ปัตตานี
ละติจูด
6.845286
ลองจิจูด
101.179903



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ธนาคารกรุงเทพ ายการประชาสัมพันธ์. (2560). พระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2560 ณ พระอารามหลวง 4 แห่ง ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้
            น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศลในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
            บรมราชบพิตร. กรุงเทพฯ : ฝ่ายการประชาสัมพันธ์ ธนาคารกรุงเทพ.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024