วัดโลการาม (Wat Logaram)
 
Back    20/04/2018, 09:42    9,815  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา

 

       วัดโลการาม ตามประวัติวัดทั่วราชอาณาจักรบันทึกไว้ว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๑๕ ในสมัยกรุงธนบุรี และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๐ โบราณสถานที่สำคัญภายในวัดคือพระอุโบสถ ที่มีลักษณะเฉพาะท้องถิ่นภาคใต้และก็ยึดตามรูปแบบพระราชนิยมของการสร้างอุโบสถในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ ๒-๓) แต่มีการดัดแปลงให้รูปแบบเหมาะสมจนเป็นลักษณะเฉพาะพื้นถิ่นลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาโดยฝีมือของช่างพื้นถิ่นภาคใต้ ซึ่งก็ยังคงเหลือเค้าเดิมของศิลปกรรมแบบอยุธยาอยู่บ้างนั่นคือใบเสมารอบ ๆ พระอุโบสถ วัดโลการามเป็นวัดที่สะอาดสวยงาม สงบร่มรื่น มีผืนทรายร่มไม้ใหญ่ มีพุทธศิลป์ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของวัดโบราณบนคาบสมุทรสทิงพระที่สัมผัสได้ เช่น พระพุทธรูปแบบปูนปั้นบัว หรือที่บรรจุอัฐิ ศาลาไม้มุงกระเบื้องดินเผาที่หน้าวัด บ่อน้ำกินน้ำใช้ ที่เคยรับใช้พระสงฆ์และชุมชนเมื่ออดีต ตลอดถึงศิลปกรรมงูทวดพ่อตาหลวงรอง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่วัดโลการามกับบริบทบนความเชื่อเรื่องงูทวดหรือทวดงของชาวไทยถิ่นใต้ ทางราชการโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานในวัดโลการามเป็นมรดกของชาติเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

พระอุโบสถ

       พระอุโบสถของวัดโลากรามปัจจุบันได้สร้างใหม่เป็นทรงไทยภาคกลางประยุกต์ ประดิษฐานอยู่ใกล้กับพระอุโบสถหลังเก่า ในที่นี้จะขอกล่าวรายละเอียดเฉพาะอุโบสถหลังเก่าเท่านั้น พระอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนที่ยึดตามรูปแบบพระราชนิยม การสร้างโบสถ์ในสมัยรัชกาลที่ ๒-๓ มีลักษณะศิลปกรรมแบบฝีมือช่างท้องถิ่นภาคใต้แต่มีเค้าการสืบทอดลักษณะศิลปกรรมแบบอยุธยาอยู่ที่ใบเสมา ตัวพระอุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันออกและไม่มีกำแพงแก้ว กว้าง ๙ เมตร ยาว ๑๕ เมตร มีโถงสามารถเดินได้รอบ ๆ เฉพาะตอนหลังก่อเป็นผนังห้องเจาะช่องหน้าต่าง ๒ ข้าง เพื่อประดิษฐานองค์พระประธาน ซึ่งตั้งบนฐานปัทม์ อุโบสถมีบันไดทางขึ้นอยู่ด้านหน้า ๒ ข้าง ตอนหน้าต่อกับพื้นห้องเป็นผนังยกพื้นสูง เพื่อเป็นที่ประกอบสังฆกรรมของพระภิกษุ หลังคาอุโบสถมุงด้วยกระเบื้องดินเผาต่อด้วยปีกนกโดยมีเสาพาไลรองรับ ตอนบนสุดของเสาพาไลทำเป็นลักษณะก่อเลื่อมขึ้นไปบรรจบกับคานทับหลังทำให้ช่องเปิดของตรงแนวเสาพาไลเป็นสี่เหลียมคางหมูหรือขื่อเฉียงตัวพระอุโบสถประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ หลังคาชั้นเดียวต่อด้วยปีกนกบริเวณหน้าบันด้านหน้าตกแต่งด้วยปูนปั้นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ส่วนหน้าบันด้านหลังตกแต่งด้วยลายปูนปั้นรูปพระนารายณ์ทรงคุรฑต่อด้วยปีกนก นอกจากนี้บริเวณกรอบหน้าต่างและหัวเสายังประดับด้วยลายปูนปั้นอีกด้วย ด้านนอกอุโบสถประดิษฐานใบเสมามีลักษณะเป็นใบเสมาเดียวทำมาจากหินแกรนิตตั้งอยู่บนฐานดอกบัวเป็นศิลปะกรรมแบบอยุธยา 

 

ลายปูนปั้นกรอบหน้าต่างอุโบสถ เป็นลายเครือเถาพรรณพฤกษาดอกพุดตานประกอบบนและล่าง ส่วนด้านข้างประกอบลายรักร้อย

ลายปูนปั้นหัวเสาด้านในอุโบสถ

ลายปูนปั้นกรอบหน้าต่างอุโบสถ ลายเครือเถาพรรณพฤกษาดอกพุดตาน มีเทพพนมเป็นประธานภาพ

  หน้าบันด้านหน้าพระอุโบสถเป็นแบบไม่มีไขรางหน้าจั่ว ด้านหน้า เป็นลายปูนปั้นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณฉากหลังเป็นลายเครือเถาพรรณพฤกษาดอกพุดตาน มีลิงและกระรอกไต่ตามเถา

วนหน้าบันด้านหลังมีการจัดวางลายเหมือนด้านหน้า เป็นลายปูนปั้นพระนารายณ์ทรงครุฑเป็นประธาน

ใบเสมาหินแกรนิตตั้งอยู่บนฐานก่ออิฐถือปูนเป็นฐานปัทม์ มียอดกลีบบัวรองรับใบเสมา ไม่มีซุ้มเสมา ลักษณะแบบศิลปกรรมสมัยอยุธยา

      ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานปูนปั้นสมาธิราบปางมารวิชัย บนฐานชุกชีปูนปั้นประดับกระจกอย่างสวยงาม เบื้องซ้ายและขวาของพระประธานมีปูนปั้นเป็นพระภิกษุนั่งคุกเขาประนมมือ ซึ่งคาดว่าเป็นพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้า ประทับนั่งบนฐานชุกชี ทั้งพระประธานและอัครสาวกนี้คาดว่าน่าจะสร้างมาพร้อมกันกับอุโบสถตั้งแต่แรก เป็นฝีมือช่างท้องถิ่น

หอระฆัง

       หอระฆังของวัดโลการามมี ลักษณะของหอระฆังเป็นแบบก่ออิฐถือปูน ฐานทรงกระบอก มีบันไดทางขึ้นด้านหน้าบริเวณขอบระเบียงด้านหน้าและด้านหลังเจาะช่องลูกกรงประดับด้วยแผ่นเซรามิคสี่เหลื่ยมกรุลายเคลือบเขียว ยอดหอทำเป็นรูปสามเหลื่ยมประดับด้วยปูนปั้นลงสีเขียว-เหลือง และรูปดอกไม้ต่อด้วยปลียอด เป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมที่สร้างตามแบบพระราชนิยมในสมัยรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ ๓-๔)

ลายปูนปั้นดอกพุดตานบนยอดหอระฆัง


ปูชนียวัตถุ

ทวดงูพ่อตาหลวงรอง 

       ความเชื่อ คือรูปแบบของความคิดอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นประเภทคิดแบบยึดมั่นถือมั่น หรือเข้าใจอย่างหนักแน่นว่าน่าที่จะเป็นเฉกเช่นนั้นหากความเชื่อดังกล่าวเชื่อกันมาก ๆ เข้าก็จะถูกยกระดับเป็น "คตินิยม" ซึ่งหมายถึงแบบอย่างทางความคิดความเชื่อ อันมีวิธีการคิดร่วมกันในแนวทางเดียวกันของคนหมู่มากเห็นพ้องต้องกันโดยองค์รวม กล่าวกันว่ารากเหง้าของความเชื่อนั้นต่างฝังอยู่คู่กับมวลมนุษยชาติเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว  รากเหง้าทางความเชื่อในระยะเเรกเริ่มเดิมทีมนุษย์ล้วนเชื่อกันว่ามีดวงวิญญาณแฝงเร้นสถิตอยู่ในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นในต้นไม้ ก้อนหิน แม่น้ำ สัตว์ หรือแม้แต่ป่าเขาก็ล้วนมีดวงวิญญาณสิงสถิตอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งกรอบแนวคิดและความเชื่อดังกล่าวมีลักษณะสอดคล้องสัมพันธ์กันในรูปของ "วิญญาณนิยม" (Animism) หรือคติถือผีสางเทวดา อันหมายถึงความเชื่อที่ว่ารูปวัตถุบางสิ่งบางอย่างมีชีวิต ต่อมาดวงวิญญาณเหล่านี้ ได้รับการยกระดับหรือยกสถานะให้สูงขึ้นเป็นผีฟ้าหรือเทวดา กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพสักการบูชาสืบเนื่องมาจวบจนปัจจุบันความเชื่อเหล่านี้ ก็ยังมีให้เห็นอยู่อย่างมากมาย "ทวด" หมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในความเชื่อของชาวไทยถิ่นใต้ และคนในรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย ในหมู่ของชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยอันเรียกตนเองว่า "ไทยสยาม" ดังมีความเชื่อร่วมกันว่าทวดเป็นดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของพ่อแม่ ของปู่ย่าตายาย ของบรรพชน หรือผู้มีบุญวาสนาที่ล่วงลับดับสูญไปแล้ว โดยรวมถึงเทวดากึ่งสัตว์ประเภทพญาสัตว์อันมีลักษณะพิเศษที่สง่าและน่ายำเกรงกว่าบรรดาสัตว์สามัญปกติโดยทั่วไป มีความเชื่อร่วมกันว่าหาก  เช่น การสรวงบูชาแก่ทวดแล้ว จะก่อให้เกิดความรุ่งเรืองและได้รับความคุ้มครองตามมา แต่หากมีการลบหลู่ดูหมิ่นก็จะได้รับโทษ ผลเสีย รวมถึงความวิบัติตามมาในไม่ช้า ทวดในวัฒนธรรมทางความเชื่อของชาวไทยถิ่นใต้มีปรากฏให้ได้พบเห็นอยู่อย่างมากมาย  อาทิ ทวดในรูปคน ทวดในรูปต้นไม้ ทวดไร้รูป  นอกจากนี้ยังปรากฏทวดในรูปสัตว์ อันเป็นทวดที่เชื่อกันว่าดำรงตนอยู่ในรูปแบบ "กึ่งเทวดากึ่งสัตว์" เป็นพญาสัตว์มีความสามารถและเดชานุภาพให้คุณและให้โทษได้ เช่น ทวดงู ทวดจระเข้  ทวดช้าง และทวดเสือเป็นต้น   

        กล่าวกันว่า "ทวด" เปรียบได้ดั่งเทวดาอารักษ์ประจำถิ่น ซึ่งมีฤทธิ์อำนาจสามารถให้คุณให้โทษแก่ผู้ใดก็ได้สรุปได้ว่าทวดในที่นี้จึงหมายถึงดวงวิญญาณอันมีเดชานุภาพสูง ต้องมีการปฏิบัติบูชาเอาใจจึงจะให้คุณ และให้โทษหากมีการล่วงละเมิดทวด ทวดแบ่งได้เป็น ๓ ประเภทใหญ่ ๆ คือ  

        ๑.  ทวดที่เชื่อว่าเป็นรูปคน เช่น ทวดคำแก้ว ตำบลสะทิ้งหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

        ๒. ทวดที่เชื่อว่าไม่มีรูป เช่น ทวดสระโพธิ์ ตำบลเชิงแส อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัด สงขลา

        ๓.  ทวดที่เชื่อว่าเป็นรูปสัตว์ เช่น ทวดแหลมจาก (ทวดจระเข้) ตำบลกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลาและทวดตาหลวงรอง (ทวดงูหรืองูทวด) ตำบล  สะทิ้งหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา         

        รูปแบบความเชื่อในเรื่อง "ทวดที่เชื่อว่าเป็นรูปสัตว์" หรือ "ทวด ในรูปสัตว์" ถือกันว่าเป็นรูปแบบทางความเชื่ออีกรูปแบบหนึ่ง ที่กล่าวกันว่ามีเทวดาอารักษ์ประจำถิ่นในรูปสัตว์ชนิดต่าง ๆ คอยป้องปกรักษาอยู่ซึ่งในเรื่องนี้คุณสมบัติ พลายน้อย ได้แสดงทรรศนะเอาไว้ว่าในการศึกษาประวัติของมนุษยชาติและพงศวดารของมนุษย์ต่าง ๆ เรามักจะพบความจริงอย่างหนึ่งว่ามนุษย์ในสมัยโบราณนั้นล้วนมีความสัมพันธ์กับสัตว์มาอย่างใกล้ชิดมากบางชาตินับถือสัตว์เป็นเทพเจ้าบางชาตินับถือสัตว์เป็นต้นตระกูลของตน ความเชื่ออันนี้ได้สืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนานแม้ในเวลานี้ก็ยังมีคนเชื่อถือกันอยู่ ดังที่กล่าวมาว่า "บางชาตินับถือสัตว์เป็นเทพเจ้า"นี้เองอาจเข้าเค้ากับคติความเชื่อในรูปแบบที่ว่ามีดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ในสัตว์หรือสิ่งที่ตนนับถือ การเข้าใจและถือว่ามีวิญญาณศักดิ์สิทธิ์อยู่ในสิ่งที่ตนนับถือ เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ ต้นไม้ใหญ่ ภูเขา เป็นความเชื่อที่มีมาก่อนยุคพระเวทในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู กล่าวกันว่าเป็นลักษณะของ "วิญญาณนิยม" (Animism) วิญญาณเช่นนี้เองที่สามารถจะให้คุณให้โทษแก่มนุษย์ได้ คติความเชื่อของชนถิ่นใต้มีความเชื่อเชื่อกันว่างูทวด มีหลายตนแต่ละตนปกครองดินแดนของตนไม่มีการล่วงล้ำดินแดนหรือเขตแดนซึ่งกันและกัน  ที่วัดโลการาม บ้านสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ที่นี่มีทวดงูพ่อตาหลวงรอง ซึ่งชาวบ้านนับถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเคารพบูชา ทวดงูพ่อตาหลวงรอง เป็นงูจงอางขนาดใหญ่ มีหงอนแดงบนกลางหัว ว่ากันว่าเป็นรูปปั้นงูทวดที่สภาพสมบูรณ์ที่สุด ตามตำนานเล่าว่างูทวดตาหลวงรองเป็นพระธุดงค์ที่เดินทางมาจากทางเหนือ ท่านได้ปักกลดลงที่วัดบริเวณโลการามและก็มรณภาพลงที่นั่นพอตกดึกมีชาวบ้านเห็น งูบองหลา (งูจงอาง) ขนาดใหญ่ มีหงอนแดงอยู่ตรงกลางหัว นอนหดตัวอยู่ตรงที่ท่านมรณภาพ จึงเชื่อกันว่าวิญญาณของท่านกลายร่างหรือเกิดใหม่เป็นงูทวด  เมื่อมีความเชื่อแบบนี้เกิดขึ้นชาวบ้านจึงมักไปบนบานศาลกล่าว แล้วก็ได้สมใจหมาย ชาวบ้านเชื่อว่าท่านมีเมตตามหานิยมทางด้านโชคลาภ หลายคนบอกว่าเคยขอให้ตนเสี่ยงทายเลขได้ถูกก็ถูกตามคำบนบาน เมื่อชาวบ้านเห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน จึงปั้นรูปเคารพบูชางูทวดพ่อตาหลวงรองขึ้นภายในบริเวณวัดโลการามเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ งูทวดพ่อตาหลวงรองตั้งอยู่บนฐานปูนสูงจากพื้นราว ๒ เมตร บริเวณฐานมีจารึกเอาไว้ว่า “พ่อตาหลวงรอง ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๙”   รูปปั้น "งูบองหลา" ตนใหญ่ ที่วัดโลการาม จากตำนานของพระธุดงค์รูปหนึ่ง สูงประมาณ ๒ เมตร ที่สร้างไว้นั้นทำให้สามารถรักษาต้นยางสูงใหญ่ไว้ได้

พิพิธภัณฑ์

เจดีย์

บ่อน้ำโบราณ

วิหารพระญาณโมลี


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดโลการาม (Wat Logaram)
ที่อยู่
เลชที่ ๑๔๗ หมู่ที่ ๔ ตำบลสทิงหม้อ อำเภอ สิงหนคร สงขลา
จังหวัด
สงขลา
ละติจูด
7.226898
ลองจิจูด
100.525438



บรรณานุกรม

งูทวดตาหลวงรอง วัดโลการาม (.2560). สืบค้นวันที่ 20 มิ.ย. 61, จาก https://www.hatyaifocus.com/บทความ/552-เรื่องราวหาดใหญ่-งูทวดตาหลวงรอง-วัดโลการาม/

ธีระยุทธ์ สุวลักษณ์. (2554). พระอุโบสถในเมืองสงขลา สมัยการปกครองของเจ้าเมืองตระกูล ณ สงขลา พ.ศ. 2318-2444. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต,

         สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร.

พรทิพย์ พันธุโกวิท, ศิริพร สังข์หิรัญ และธนิสรา พุ่มผะกา. (2555). ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานจังหวัด

          สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล). กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส์.

เพจหลงเสน่ห์อาคารเก่า. (2561). สืบค้นวันที่ 20 มิ.ย. 61, จาก https://www.facebook.com/หลงเสน่ห์อาคารเก่า-351361438298141/

เลียบคาบสมุทรสทิงพระ  วัดโลการาม สิงหนคร ทำไม... สมิงหม้อ !?. (2557)http://oknation.nationtv.tv/blog/mindhand/2014/04/28/entry-1

วัดโลการาม. (2558). สืบค้นวันที่ 20 มิ.ย. 61, จาก http://singhanakorn.go.th/travel/detail/1092/data.html


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2025