ประเพณีการให้ทานไฟ
 
Back    02/05/2018, 10:44    41,678  

หมวดหมู่

วัฒนธรรม


ประวัติความเป็นมา

ภาพจาก : https://kyl.psu.th/GNzYuTo60

          ประเพณีให้ทานไฟกล่าวถึงในขุนทกนิกายชาดก เรื่องความตระหนี่ถี่เหนียวของโกลิยะเศรษฐีที่อยากกินขนมเบือง แต่เสียดายเงินไม่ยอมซื้อและไม่อยากให้ลูกเมียได้กินด้วย ภรรยาจึงทําขนมเบื้องที่บ้านชั้นเจ็ดให้เศรษฐีได้รับประทานโดยไม่ให้ผู้ใดเห็น ขณะที่สองสามีภรรยากําลังปรุงขนมเบื้อง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เชตวันมหาวิหาร ทรงทราบด้วยญาณ จึงโปรดให้พระโมคคัลลานะไปแก้นิสัยของโกลิยะเศรษฐี พระโมคคัลลานะตรงไปบนตึกชั้นเจ็ดของคฤหาสน์เศรษฐี เศรษฐีเข้าใจว่าจะมาขอขนม จึงแสดงอาการรังเกียจและออกวาจาขับไล่ แต่พระโมคคัลลานะพยายามทรมานเศรษฐีอยู่นานจนยอมละนิสัยตระหนี่ พระโมคคัลลานะได้แสดงธรรมเรื่องประโยชน์ของการให้ ทำให้โกลิยะเศรษฐีและภรรยาเกิดความเลื่อมใส ได้นิมนต์มารับถวายอาหารที่บ้านของตน พระโมคคัลลานะแจ้งให้นําไปถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวก ๕๐๐ รูป ณ เชตวันมหาวิหาร โกลิยะเศรษฐีและภรรยาได้นําเข้าของเครื่องปรุงไปทําขนมเบื้องถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวก แต่ปรุงเท่าไหร่แป้งที่เตรียมมาเพียงเล็กน้อยก็ไม่หมด พระพุทธเจ้าจึงโปรดเทศนาสั่งสอนทำให้ทั้งสองคนเกิดความปีติอิ่มเอิบในการบริจาคทานและได้เห็นแจ้งบรรลุธรรมชั้นโสดาบัน
        ประเพณีให้ทานไฟของชาวนครศรีธรรมราชได้ยึดถือปฏิบัติต่อเนื่องกันมายาวนาน โดยเริ่มจากการก่อกองไฟในวัดใกล้บ้าน แล้วนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาผิงไฟรับความอบอุ่น ตลอดถึงจัดทําอาหารหวานคาวถวาย เช่น ขนมที่ทําจากไฟร้อน ๆ  เช่น ขนมเบื้อง ขนมครก ขนมโค ขนมปะดา จนถือเป็นประเพณีสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันการให้ทานไฟเป็นประเพณีของพุทธศาสนิกชนหลายจังหวัดในภาคใต้ที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ ประเพณีการให้ทานไฟนี้พระมหาปรีดา ขนฺติโสภโณ (๒๕๕๕) กล่าวว่าการให้ทานไฟเป็นประเพณีต้นแบบเฉพาะของพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน แต่ประเพณีการให้ทานไฟนี้อาจจะไม่คุ้นหู หรือเป็นที่รู้จักของผู้ที่ไม่สันทัดกับประเพณีทางถิ่นใต้อาจจะคิดว่าเป็นการให้ "ไฟ" เป็นทานหรือถวายไฟร้อน ๆ แด่พระภิกษุสงฆ์ เคยมีผู้เข้าใจว่า "ถวายถ่านไฟ" เพราะภาษาถิ่นใต้ออกสำเนียง "ทาน" เป็น "ถ่าน" จึงเข้าใจไปอย่างนั้น ซึ่งประเพณีการให้ทานไฟนี้เป็นการถวายอาหารร้อน ๆ แก่พระภิกษุสามเณรในฤดูหนาวหรือในช่วงอากาศเย็น โดยจะกระทำกันภายในวัด ด้วยเหตุเพราะเมื่ออากาศหนาวเย็นพระภิกษุสามเณรไม่สะดวกที่จะออกไปบิณฑบาตนอกวัด ความเป็นมาของประเพณีนี้มีที่มาจากเรื่องราวของชาดกที่มีในพระสุตตันนปิฎก เล่มที่ ๑๙ ขุททกนิกายชาดก  โดยที่พระมหาปรีดา ขนฺติโสภโณ (๒๕๕๕) กล่าวว่ามีที่มา ๒ นัย คือ  

       นัยประการที่ ๑ เรื่องโกสิยเศรษฐีผู้มีความตระหนี่ มีเรื่องเล่าว่าในเมืองราชคฤห์ มีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ "โกสิยะ" มีทรัพย์สิน ๘๐ โกฏิ แต่เป็นคนตระหนี่ ไม่ให้ทาน ไม่บริจาค ไม่อำนวยประโยชน์แก่ผู้ใดเลย แม้แต่ภรรยาและบุตรของตน ต่อมาเศรษฐีต้องการกินขนมเบื้อง (ขนมกุมมาส) แต่เสียดายเงินไม่ยอมซื้อและไม่อยากให้ลูกเมียได้กินด้วย ภรรยาจึงทำขนมเบื้องที่บ้านชั้นเจ็ดให้เศรษฐีได้รับประทานโดยไม่ให้ผู้ใดเห็น ขณะที่สามีภรรยากำลังปรุงขนมเบื้องอยู่นั้น พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เชตวันมหาวิหาร ทรงทราบด้วยญาณ จึงโปรดให้พระโมคคัลลานะไปแก้นิสัยของโกลิยะเศรษฐี พระโมคคัคลานะตรงไปบนตึกชั้นเจ็ดของคฤหาสน์เศรษฐี เศรษฐีเข้าใจว่าจะมาขอขนมจึงแสดงอาการรังเกียจและออกวาจาขับไล่ แต่พระโมคคัคลานะพยายามทรมานเศรษฐีอยู่นานจนยอมละนิสัยตระหนี่ พระโมคคัลลานะได้แสดงธรรมเรื่องประโยชน์ของการให้จนโกลิยะเศรษฐีและภรรยาเกิดความเลื่อมใส ได้นิมนต์มารับถวายอาหารที่บ้านตน พระโมคคัลลานะแจ้งให้นำไปถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวก ๕๐๐ รูป ณ เชตวันมหาวิหาร โกลิยะเศรษฐีและภรรยาได้นำเข้าของเครื่องปรุงไปทำขนมเบื้องถวายพระพุทธเจ้า และพระสาวก แต่ปรุงเท่าไหร่แป้งที่เตรียมมาเพียงเล็กน้อยก็ไม่หมดมีเหลือมากมาย แม้จะแจกจ่ายแก่ชาวบ้านคนยากจนขอทาน ขนมก็ยังล้นเหลือ จนถึงกับนำไปเททิ้งที่ใกล้ซุ้มประตูวัดเชตวัน ปัจจุบันสถานที่เทขนมเบื้องทั้งนั้น เรียกว่า เงื้อมขนมเบื้อง กาลต่อมาโกสิยเศรษฐีได้กลายเป็นเศรษฐีใจบุญชอบให้ทาน และ ได้บริจาคทรัพย์จำนวนมากเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยมูลเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ ประเพณีการให้ทานไฟในปัจจุบัน 
   
       นัยประการที่ ๒ เจริญ ตันมหาพรหม นักวิชาการศาสนาได้ให้ทัศนะความเป็นมาของประเพณีการให้ทานไฟไว้ว่า การให้ทานไฟนี้ปรากฏอยู่ในครั้งพุทธกาล ณ เมืองสาวัตถี นครหลวงแห่งแคว้นโกศล ที่ปกครองโดยพระเจ้าปเสนทิโกศล ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่เป็นพุทธมามกะและเป็นศาสนูปถัมภก อีกทั้งเป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับจำพรรษามากที่สุดคือรวมทั้งหมด ๒๕ พรรษา ในกาลครั้งหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลประทับอยู่บนปราสาทชั้นบน ทอดพระเนตรไปทางถนนในพระนครเห็นพระภิกษุจำนวนนับร้อยนับพันไปยังบ้านของท่านอนาถปัณฑิกเศรษฐีบ้าง บ้านของนางวิสาขาบ้าง และบ้านของคนอื่น ๆ บ้าง เพื่อรับบิณฑบาตบ้างเพื่อฉันภัตตาหารบ้าง พอเห็นดังนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลจึงโปรดฯ ให้จัดภัตตาหารอันประณีตเพื่อพระภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป แต่ปรากฏว่าไม่มีพระมารับสักรูป คงมีแต่พระอานนท์เพียงรูปเดียวเท่านั้น พอพระอานนท์กลับไปแล้วจึงตรัสถามมหาดเล็ก ได้รับคำกราบบังคมทูลว่าไม่มีพระมาคงมีแต่พระอานนท์รูปเดียวเท่านั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกริ้วภิกษุทั้งหลาย จึงเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและกราบทูลว่า ได้ให้ห้องเครื่องจัดภัตตาหาร ตั้งไว้ถวายพระประมาณ ๕๐๐ รูป ไม่ปรากฏมีพระมารับกันเลยของที่จัดไว้เหลือเดนอยู่อย่างนั้น เหตุใดพระภิกษุไม่เห็นความสำคัญในพระราชวังเลยนี่เรื่องอะไรกันพระพุทธเจ้าได้ทรงฟังพระดำรัสดังนั้นก็เข้าพระทัยตลอด  ไม่ตรัสตำหนิโทษพระภิกษุทั้งหลาย และถวายพระพรว่า "สาวกของอาตมภาพไม่มีความคุ้นเคยกับมหาบพิตร เพราะเหตุที่ไม่มีความคุ้นเคยนั่นเองจึงไม่พากันไป" กาลต่อจากนั้นพระพุทธองค์ทรงประกาศเหตุที่ภิกษุไม่ควรเข้าไปในตระกูลประกอบด้วยองค์ ๙ คือ

๑.  ไม่ต้อนรับด้วยความเต็มใจ 
๒.  ไม่ไหว้ด้วยความเต็มใจ 
๓.  ไม่ให้อาสนะ (นิมนต์นั่ง) ด้วยความเต็มใจ 
๔.  ซ่อนเร้นของที่มีอยู่
๕.  ของที่มีมากแบ่งให้นิดหน่อย
๖.  มีของประณีต แต่ให้ของเศร้าหมอง
๗. ให้โดยไม่เคารพ ไม่ให้โดยเคารพ 
๘.  ไม่นั่งฟังธรรม
๙.  ไม่สนใจต่อถ้อยคำของกันและ

องค์ประกอบที่กล่าวมาทั้ง ๙ ประการนี้ ถ้าภิกษุยังไม่เข้าไปก็ไม่ควรเข้าไป เข้าไปแล้วก็ไม่ควรนั่งใกล้ เมื่อเรื่องนี้ผ่านไปแล้วพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงครุ่นคิดอยู่ว่าพระพุทธองค์ตรัสแต่ว่าสาวกของพระองค์ไม่มีความคุ้นเคยในราชสำนัก ทรงดำริต่อไปว่าถ้าภิกษุสามเณรมีความคุ้นเคยในราชสำนักแล้ว ก็คงจะพากันเข้ามาวันละมาก ๆ รูป เหมือนพากันไปในบ้านของนางวิสาขาและบ้านของอนาถปัณฑิกเศรษฐี ทรงคิดอยู่ว่า "ทำอย่างไรพระเณรจะมีความคุ้นเคยกับเราได้" พระองค์ทรงพิจารณาถึงสภาพในฤดูหนาวในเมืองสาวัตถี พระภิกษุสามเณรคงหนาว เย็นกว่าฆราวาสผู้อยู่ครองเรือนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งยามออกบิณฑบาตในตอนเช้าตรู่ ความหนาวเย็นคงเป็นอุปสรรคมาก เพราะพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ครองผ้ากาสาวพัสตร์เพียง ๓ ผืน นอกจากนี้ยังทำให้พระภิกษุที่ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา อยู่ตามวัดและสถานที่ต่าง ๆ บางรูปร่างกายอ่อนแอถึงกับอาพาธได้ พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงเกิดความเวทนาและก่อไฟถวายพระให้ได้ผิงในยามใกล้รุ่ง ต่อมาชาวเมืองเห็นว่าการให้ทานไฟในตอนใกล้รุ่งอีกไม่นานฟ้าก็จะสว่าง  จึงได้ เสาะหาหัวเผือกหัวมันมาเผา และนำแป้งมาปรุงเป็นภัตตาหารถวายพระภิกษุสามเณร เป็นการ ทำบุญจะได้อานิสงส์มากขึ้น        ถึงแม้ความเห็นทั้ง ๒ นัยนี้ จะไม่กล่าวถึงการให้ทานไฟโดยตรงแต่ก็มีเค้ามูลหรือสาเหตุให้สันนิษฐานได้ว่าประเพณีการให้ทานไฟมีประวัติความเป็นมาดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งแท้จริงแล้วการให้ทานในทางพระพุทธศาสนามีเรื่องราวที่น่าสนใจและมีสาระธรรมจำนวนมาก ที่พุทธบริษัทจะนำมาศึกษาเทียบเคียง เพื่อเสาะหาต้นตอหรือสาเหตุของประเพณีต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ประเพณีการให้ทานไฟด้วยการถวายขนมเบื้องในฤดูหนาวแก่พระภิกษุสงฆ์นี้พระมหากษัตริย์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก็ทรงถือเป็นพระราชประเพณีที่จะต้องทรงบำเพ็ญทานบารมีเป็นประจำทุกปี มีหลักฐานปรากฏในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า ".....กำหนดเลี้ยงขนมเบื้องนี้ว่าเมื่อพระอาทิตย์ออกสุดทางให้ตกนิจเป็นวันหยุดจะกลับ ขึ้นเหนืออยู่ในองศา ๘ องศา ๙ ราศีธนู เป็นกำหนดเลี้ยงขนมเบื้องไม่กำหนดแน่ว่ากี่ค่ำ วันใด การเลี้ยงขนมเบื้องนี้ ไม่ได้มีการสวดมนต์ก่อนอย่างพระราชพิธีอันใด กำหนดพระสงฆ์ตั้งแต่เจ้า พระราชาคณะ ๘๐ รูป ฉันในพระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัย ขนมเบื้องนั้น เกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ ฝ่ายใน ท้าวนางเจ้าจอมมารดา เถ้าแก่ พนักงานคาดปะรำตั้งเตาละเลงข้างท้องพระโรง...."

ภาพจาก : kyl.psu.th/GNzYuTo60

       พิธีกรรม
          การให้ทานไฟเป็นการทำบุญถวายไฟและอาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความอบอุ่นในเวลาตอนเช้ามืดช่วงเดือนฤดูหนาว โดยใช้ลานวัดเป็นที่ก่อกองไฟถือเป็นประเพณีที่เก่าแก่และดีงามน่าศรัทธาที่ถือปฏิบัติต่อกันมาช้านาน ส่วนใหญ่แล้วจะนิยมทำขนมพื้นบ้านประเภทนึ่ง-ทอด-เผา ด้วยเตาไฟอันจะให้ทั้งความร้อนความอบอุ่นที่เป็นอาหารไปพร้อมกัน ชาวบ้านจะปรุงขึ้นมาร้อน ๆ ถวายพระสงฆ์ ขณะที่ทำขนมกันไป พระสงฆ์ก็ฉันไปพร้อม ๆ กันเมื่อพระสงฆ์ฉันอิ่มแล้วชาวบ้านจึงร่วมรับประทานกันอย่างสนุกสนาน หลังจากพระสงฆ์ฉันอหารเสร็จแล้ว ก็สวดมนต์ให้ศีลให้พรแก่ผู้ที่มาทำบุญเป็นอันเสร็จพิธีสำหรับในประกอบบุญประเพณีให้ทานไฟจะมีพิธีกรรมซึ่งจะเริ่มในตอนย่ำรุ่งหรือเช้าตรู้ ในวันนัดหมายที่จะให้ทานไฟ ชาวบ้านพุทธศาสนิกชนในละแวกนั้นจะพร้อมใจมากันประกอบพิธีกรรมดังต่อไปนี้
        ๑.   การก่อกองไฟ ชาวบ้านจะเตรียมไม้ฟืน ถ่านหรือเตาไฟ สำหรับก่อให้เกิดความร้อนและความอบอุ่นแก่พระสงฆ์ บางแห่งนิยมใช้ไม้ฟืนหลายอันมาซ้อนกันเป็นเพิงก่อไฟ แล้วนิมนต์พระสงฆ์มานั่งผิงไฟ เพื่อให้เกิดความอบอุ่นทั้งพระสงฆ์และชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง
      ๒. การทำขนมถวายพระขนม ที่เตรียมไปปรุงที่วัดในการให้ทานไฟเป็นขนมอะไรก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะนิยมขนมที่สามารถปรุงเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว ขนมส่วนมากจะปรุงโดยใช้ไฟแรงและเป็นขนมพื้นบ้าน เช่น ขนมเบื้อง ขนมครก ขนมครกข้าวเหนียว ข้าวเกรียบปากหม้อ ขนมโค ขนมพิมพ์ ขนมจาก ชนมจู่จุน ข้าวเหนียวกวนทอด ในปัจจุบันมีขนมและอาหารเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เช่น น้ำชา กาแฟ หมี่ผัด ข้าวต้ม ข้าวเหนียวหลาม ขนมปังปิ้ง ชาวบ้านจะปรุงขนมตามที่เตรียมเครื่องปรุงมา แล้วนำขนมที่ปรุงขึ้นมาร้อน ๆ ไปถวายพระสงฆ์ ขณะที่ทำขนมกันไป พระสงฆ์ก็ฉันไปพร้อม ๆ กัน จะหยุดปรุงขนมก็ต่อเมื่อเครื่องปรุงที่เตรียมมาหมด เมื่อพระสงฆ์ฉันอิ่มแล้ว ชาวบ้านจึงร่วมกันรับประทานกันอย่างสนุกสนาน หลังจากพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว ก็สวดให้ศีลให้พรแก่ผู้ที่มาทำบุญเป็นอันเสร็จพิธี       ประเพณีการให้ทานไฟนิยมประกอบพิธีกันในเดือนอ้ายหรือ เดือนยี่ของทุก ๆ  ปี (ประมาณปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์)  ซึ่งเป็นช่วงหรือฤดูที่อากาศหนาวเย็นในภาคใต้ ปัจจุบันนิยมทำกันในวันเสาร์ที่ ๒ ของเดือนมกราคม เพราะตรงกับวันเด็กแห่งชาติทางสถานศึกษาได้นำเด็ก ครู และผู้ปกครองมาประกอบพิธีให้ทานไฟในบริเวณวัดที่ใกล้โรงเรียน นับเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรของเด็กที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาด้วย ทั้งนี้จะเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อการนี้ตั้งแต่ตอนรุ่งหรือเช้าตรู้ประมาณเวลา  ๐๕.๐๐  น.  แต่โดยทั่วไปก็ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนสุดแต่ความสะดวกของชาวบ้านหรือโรงเรียนในละแวกวัด จะกำหนดขึ้นเองสำหรับสถานที่ประกอบพิธีหรือการถวายไฟนั้น จะกระทำกันในบริเวณวัด หรือในศาลาวัดก็ได้ ในปัจจุบัน ประเพณีการให้ทานไฟนี้จะทำกันเฉพาะบางวัดในเขตอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชเท่านั้น  เช่น  วัดหัวอิฐ  วัดมุมป้อม วัดศรีทวี  วัดสระเรียง  วัดหน่าพระบรมธาตุ วัดธาราวดี หรือบางจังหวัดที่ผู้คนชาวนครศรีธรรมราชไปอาศัยอยู่ เช่น พังงา สุราษฎร์ธานี ก็มีประเพณีการให้ทานไฟเช่นเดียวกันแต่ก็มีจำนวนน้อยมาก นอกจากนี้สถาบันการศึกษาบางสถาบันได้ประกอบพิธีการให้ทานไฟภายในสถาบันของตน   เช่น  มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี            
  

      อาหารและขนมในพิธี 
       อาหารที่จะถวายพระภิกษุสามเณรส่วนใหญ่ จะเป็นอาหารที่ปรุงง่ายเป็นอาหารพื้นบ้าน ที่ยังรอนอยู่ เช่น ข้าวต้ม ข้าวผัด ข้าวหมกไก่ ข้าวยำ ข้าวเหนียวปิ้ง ข้าวเหนียวหลาม หมี่ผัด หรือ เป็นอาหารอื่น ๆ ก็ได้ที่สมควรแก่สมณบริโภค ในปัจจุบัน จะมีอาหารเช้าประเภทอาหารฝรั่ง เช่น หมูแฮม ไข่ดาว แซนด์วิช ไส้กรอก ลูกชิ้น ไก่ทอด หรือเป็นอาหารทางภาคอีสานก็มี เช่น ส้มตำ ลาบ ส่วนขนมก็จะเป็นขนมทางถิ่นใต้ ขนมพื้นบ้านอะไรก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะนิยมขนมที่สามารถปรุงเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว ขนมส่วนมากจะปรุงโดยใช้ไฟแรง เช่น ขนมเบื้อง ขนมครก ขนมโค ขนมพิมพ์ ขนมจาก ขนมจู้จุน มีความเชื่อกันว่า ขนมเบื้องของโกสิยเศรษฐีที่ทำถวายแด่พระสงฆ์ ณ วัดเชตวันมหาวิหารในสมัยพุทธกาลที่สืบทอดมาคือขนมกรอก ซึ่งชาวพุทธเมืองนครศรีธรรมราช ทำถวายพระสงฆ์ในประเพณีให้ทานไฟ ขนมกรอกมีส่วนผสมและวิธีทำง่าย ๆ คือใช้ข้าวสารเจ้าแช่น้ำกรอกบดด้วยหินเครื่องโม่ที่ชาวนครศรีธรรมราชเรียกว่าหินบดหรือครกบด โดยบดอย่าให้ข้นหรือเหลวจนเกินไป แล้วคั้นกะทิติดไฟเคี่ยวให้แตกมันผสมลงไปในแป้งพร้อมน้ำตาลพอให้ออกรสหวาน ตอกไข่ใส่ตามส่วน ซอยหอมให้ละเอียดโรยแล้วตีไข่ให้เข้ากัน ต่อจากนั้นก็เอากะทิตั้งไฟให้ร้อน ใช้น้ำมันพืชผสมไข่แดงเช็ดทากระทะให้เป็นมันลื่นเพื่อไม่ให้แป้งติดผิวกระทะ เมื่อหยอดแป้งละเลงให้เป็นแผ่นต้องระวังไม่ให้แผ่นขนมกรอกบางเหมือนขนมเบื้องทั่วไป เพราะจะไม่นุ่มและขาดรสชาติพอสุกก็ตลบพับตักรับประทานทั้งร้อน ๆ ปัจจุบันขนมกรอกดังกล่าวนี้ไม่นิยมทำกัน แต่นิยมทำขนมพื้นเมืองอื่น ๆ เช่น ขนมครก ขนมผักบัว (เรียกตามภาษาพื้นเมืองภาคใต้ว่าขนมจู้จุน) อย่างไรก็ตามในปัจจุบันขนมและอาหารในประเพณีให้ทานไฟเพิ่มขึ้นจำนวนมากมายตามความสะดวกและศรัทธาของชาวบ้าน มีทั้งอาหารพื้นเมืองอาหารประจำภาคต่าง ๆ ในประเทศ ไทย รวมถึงะอาหารของชนชาติอื่น ๆ เช่น น้ำเต้าหู้ กาแฟ น้ำชา เป็นต้น

ภาพจาก : kyl.psu.th/GNzYuTo60


ความสำคัญ

           การให้ทานไฟกําหนดก็จะเริ่มกันตั้งแต่เช้าตรู่ที่เดียว อันดับแรกก็ก่อไฟกองใหญ่ขึ้นในลานวัด ปูเสื่อลาดอาสนะใกล้กองไฟ แล้วนิมนต์พระภิกษุสามเณรทั้งหมด ที่มีในวัดมานั่งผิงไฟ จากนั้นก็ตั้งเตาเผาหม้อประกอบอาหารหวานคาวตาม ตํารับพื้นเมืองขึ้นประเคน ประเพณีนี้พุทธศาสนิกชนริเริ่มกันขึ้นเองในนครศรีธรรมราช สืบเนื่องมาแต่โบราณ อาจจะกล่าวได้เริ่มมาตั้งแต่พระพุทธศาสนาประดิษฐานลงในชุมชนหาดทรายแก้ว โดยถือคติว่าในเดือนยี่ของทุก ๆ ปี เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งตั้งอยู่บนหาดทรายมีน้ําทะเลล้อมรอบจะมีลมจัดและอากาศหนาว ภิกษุสามเณรผู้สืบพระธรรมจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มีเพียงจีวรบาง ๆ ผืนเดียวพันกาย และยังชีพด้วยอาหารที่มีผู้ให้เพียงสองมือ ย่อมเป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก นอกจากจะหนาวสั่นเพราะอาเพศของอากาศแล้ว อาหารก็เย็นชืดไม่เป็นรสชาด จึงคิดกันจะอุปัฏฐากภิกษุสามเณรให้ได้รับความอบอุ่นจากความร้อนของไฟ และให้ได้ฉันอาหารหวานคาวที่ปรุงขึ้นทันทีทันใดยังร้อน ๆ กันขึ้น โดยยืดเอาเรื่องราวอันมีมาในชาตกขุททกนิกายเป็นมูลขุททกชาดกกล่าวถึง "โกสิยะ” เศรษฐีคนหนึ่งของแคว้นสักกะ กรุงราชคฤห์สมัยพุทธกาลว่ามีทรัพย์ถึง ๘๐ โกฏิ มีบริวารข้าทาสนับพันสร้างคฤหาสน์อาศัยกว้างใหญ่และสูงถึง ๗ ชั้น แต่เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวจนกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว นึกอยากกินขนมเบื้องก็ไม่กล้าซื้อจากที่เขาทําขาย กลัวถูกขอจนสิ้นเปลือง ถึงลงมือทํากินเองพอเสร็จแล้วก็ขึ้นไปแอบกินบนเรือรนชั้นที่ ๗ เพื่อไม่ให้ใครเห็น เพื่อนบ้านทั่วไปจึงพากันเกลียดชัง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขณะประทับอยู่ณเชตวันวิหาร กรุงราชคฤห์ ทรงทราบเรื่องจึงส่งพระโมคคัลลานไปทรมานจนละนิสัยตระหนี้ ขนแป้งและกะทะไปตั้งเตาติดไฟละเลงขนมเบื้องถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับสงฆ์สาวก ๕๐๐ รูป ที่เชตวันวิหาร เมื่อเศรษฐีโกสิยะได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระโอษฐ์ในครั้งนั้น ก็บังเกิดความปิติอิ่มเอิบในการบริจาคทาน และบรรลุโสดาปัตติผลในที่สุด มีหลักฐานยืนยันและความเชื่อว่าขนมเบื้องที่เศรษฐีโกสิยะ ละเลงถวายสงฆ์ ณ เชตวันวิหาร กรุงราชคฤห์ครั้งพุทธกาลนั้น ชาวพุทธเมืองนครศรีธรรมราช สืบสายรับมาทําเป็นขนมถวายสงฆ์ในประเพณีให้ทานไฟด้วย ขนมเบื้องตํารับดังกล่าวนี้ พื้นเมืองนครศรีธรรมราชเรียก "ขนมกรอก” นอกจากอินเดีย ลังกา เจ้าตํารับเดิมแล้ว ในประเทศไทย คงมีแต่นครศรีธรรมราชแห่งเดียว ที่ทําสืบกันมาแต่โบราณจวบปัจจุบัน นอกนั้นไม่มีที่ไหนเขาทํากันและได้กลายเป็นขนมเอกลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองที่ใคร ๆ ก็ติดใจอยู่จนบัดนี้
   ประเพณีการให้ทานไฟเป็นประเพณีที่แสดงออกถึงความเชื่อความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยของพุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราช ที่มีความปรารถนาให้พระภิกษุสามเณรคลายหนาวโดยการถวายอาหารร้อน ๆ ซึ่งคล้ายกับพระราชพิธีเลี้ยงพระภิกษุสงฆ์ด้วยขนมเบื้อง แต่การให้ทานไฟเป็นพิธีของชาวบ้าน และทำกันเฉพาะถิ่นของชาวนครศรีธรรมราช คล้าย ๆ กับประเพณีบุญข้าวจี่ (ข้าวเหนียวปิ้ง) ของภาคอีสาน สำหรับในปัจจุบันนี้การประกอบบุญให้ทานไฟมีทำกันน้อยมาก ดังนั้นจึงสมควรได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และส่วนงานอื่น ๆ ในการอนุรักษ์และสืบสานให้ดำรงคงอยู่ภาคใต้ต่อไป ประเพณีให้ทานไฟมีสาระสำคัญที่มีคุณค่าแก่ตนเองและสังคม ดังต่อไปนี้คือ

๑. เป็นโอกาสหนึ่งที่ได้นัดหมายพร้อมกันในตอนเช้ามืด เพื่อร่วมทำบุญเลี้ยงพระ รวมทั้งร่วมรับประทานอาหารกันเป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะได้ดียิ่ง
๒. ทำให้มีสุขภาพพลานามัยดีแข็งแรง  เพราะการตื่นนอนตอนเช้าตรู่ได้รับอากาศบริสุทธิ์ ทำให้มีความสดชื่นเบิกบาน
๓. การได้ปฏิบัติตามประเพณี ย่อมทำให้เกิดความสุขใจ เบิกบานใจในผลบุญที่ตนได้กระทำ อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานของตนด้วย
๔. ได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านมาพบกัน ได้พูดคุยกันและร่วมมือกันประกอบพิธีกรรม ภาย ในวัด พร้อมกันนี้ชาวบ้านกับพระสงฆ์ได้วิสาสะสร้างความคุ้นเคยตามหลักสาราณียธรรม โดยอาศัยประเพณีการให้ทานไฟนี้
๕.  พุทธศาสนิกชนได้ปรารภความเพียรมีความขยัน  โดยการตื่นนอนแต่เช้าตรู่เพื่อ เตรียมอุปกรณ์ปรุงอาหารขนมถวายพระ ทำให้มีสุขภาพพลานามัยดี แข็งแรงเพราะการตื่นนอนตอนเช้าตรู่ได้รับอากาศบริสุทธิ์ทำให้มีความสดชื่นเบิกบาน แจ่มใส
๖.  เป็นโอกาสหนึ่งที่ได้นัดหมายพร้อมกันในตอนเช้ามืด  เพื่อร่วมทำบุญเลี้ยงพระ รับประทานอาหารพร้อมกัน เป็นการสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่คณะ และสร้างความเป็น ปึกแผ่นให้เกิดขึ้นในสังคม
๗. ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยการถวายความอุปถัมภ์ให้กำลังแก่พระภิกษุสามเณร ซึ่งเป็นผู้รักษาสืบอายุพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองวัฒนาสืบไป
๘ . ได้บำเพ็ญบุญบารมีด้วยการถวายทานเป็นการสั่งสมความสุขและความดีไว้กับตน อันเป็นเกาะคือที่พึ่งในปรโลกเบื้องหน้า ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา 
๙.  ได้อนุรักษ์และสืบสานประเพณีการให้ทานไฟ เป็นการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของพุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราชให้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังต่อไป
๑๐. ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาล โดยอาศัยประเพณีนี้ย่อมทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ และคุณค่าทางสังคมมากมาย

            

ภาพจาก : https://sites.google.com/site/annorathai2535/home/prapheni-hi-than-fi

ภาพจาก : https://kyl.psu.th/pRwOQl1fE


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
ประเพณีให้ทานไฟ
ที่อยู่
จังหวัด
นครศรีธรรมราช


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ประเพณีให้ทานไฟ. 2550. สืบค้นวันที่ 28 ธ.ค. 61, จาก http://www.tungsong.com/NakhonSri/Tradition_NakhonSri/ให้ทานไฟ/Index_02ให้ทานไฟ.html
ประเพณีให้ทานไฟ วิถีชาวพุทธแห่งแดนใต้. 2559. สืบค้นวันที่ 28 ธ.ค. 61, จาก https://www.jobbkk.com/jobregion/southern/วาไรตี้/ประเพณี-วัฒนธรรม/
         ประเพณีให้ทานไฟ-วิถีชาวพุทธแห่งแดนใต้.html
มหามหาปรีดา ขนฺติโสภโณ. 2555. ''ประเพณีให้ทานไฟ''. สืบค้นวันที่ 28 ธ.ค. 61, จาก http://www.mcu.ac.th/site/articlecontent_desc.php?article_id=695&
         articlegroup_id=149
อมร โสภณวิเชษฐวงศ์ และคณะ. (2537). ประเพณีของจังหวัดนครศรีธรรมราช. กรุงเทพฯ : ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.


ข้อมูลเพิ่มเติม

 


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024