วัดเอก หรือ วัดเชิงแสพระครูเอก หรือวัดเชิงแสเหนือ ตั้งอยู่ในตําบลเชิงแส อําเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา ที่วัดตั้งอยู่ในที่ลุ่มกลางนา มีพัทธสีมาที่แปลกและน่าสนใจ ซึ่งมีฐานก่อด้วยอิฐและมีซุ้มสูง ภายในวัดมีปูชนียวัตถุที่สำคัญคือพระประธานในพระอุโบสถ คือหลวงพ่อเดิมพระพุทธรูปปางสมาธิ (พระมหาเถระลังการเดิม) และรอยพระพุทธบาทไม้จำลองเป็นไม้แกะสลัก กว้าง ๘๐ เซนติเมตร ยาว ๑.๒๐ เมตร ซึ่ึ่งลอยน้ำมาพร้อมกับองค์พระพุทธรูปหลวงพ่อเดิม วัดเอกเป็นวัดโบราณวัดหนึ่งในจังหวัดสงขลาที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน สันนิษฐานได้ว่าน่าจะสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามเสมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๐๐ ในอดีตวัดเอกแห่งนี้เคยมีความเจริญรุ่งเรื่องมาก่อน แต่ด้วยระยะของกาลเวลาและว่างเว้นจากพระสงฆ์อยู่จำพรรษา จึงให้วัดขาดการบูรณะปฏิสังขรณ์ทำให้วัดเอกอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ตามบันทึกของผู้รู้กล่าวว่าวัดเอกน่าคงจะสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างบ้านเชิงแส (หมายถึงบ้านเก่าทางทิศตะวัดตกของวัดเอกที่ชาวบ้านเรียกในขณะนี้ว่าบ้านร้าง) และด้วยเหตุว่าวัดแห่งนี้มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านคือหลวงพ่อเดิม ถึงเวลาจะล่วงเลยมาเนิ่นนานแต่หลวงพ่อเดิมนั้นยังปรากฎความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ยังเป็นที่สักการบูชา ตลอดถึงรับบนบานสานกล่าวของชาวบ้านตลอดมา สำหรับมูลเหตุแห่งความขลังหรือความศักดิ์สิทธิ์ขององค์หลวงพ่อเดิมนั้น ถ้าจะพิจารณากันโดยทั่ว ๆ แล้วก็มีหลายประการ อาทิ
๑. วัดเอก มีเพลาหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าลายแทง ปัจจุบันก็ยังอยู่ในความทรงจำของชาวบ้านเชิงแส ความว่า "วัดเอกเจ้าข้า มีนาสามมุม มีทองสามตุ่ม อยู่หัวมุมนา วัดเข้าสามศอก วัดออกสามวา วัดเข้าไปเหล็กในแทงตา วัดออกมาหญ้าคาแทงหู"
๒. วัดเอก มีที่ดินนาเป็นจำนวนมากซึ่งตั้งอยู่รอบ ๆ บริเวณวัด ขณะนี้ชาวบ้านเรียกว่า "นาวัด" ทั้ง ๆ ที่ที่ดินเหล่านั้นได้แปลงกรรมสิทธิ์ไปหมดแล้วจึงเชื่อว่าวัดเอกในสมัยก่อนคงได้รับกัลปนาจากพระเจ้าแผ่นดิน หรือท่านเจ้าเมือง ตลอดถึงการยกเว้นภาษีอากรตลอดถึงส่วยต่าง ๆ (เช่นเดียวกับวัดพระพะโคะ) ด้วย
๓. วัดเอก มีโบราณสถานและวัตถุสำคัญคือ "องค์หลวงพ่อเดิม" เป็นพระพุทธรูปคู่กับวัดนี้ตลอดมา เพราะชาวบ้านทั่ว ๆ ไปถือกันว่ามีอภินิหารหรืออำนาจอันลึกลับที่จะดลบันดาลปัดเป่าภัยพิบัติต่าง ๆ ของเขาให้อันตรธานหายไปได้เพราะฉะนั้น "หลวงพ่อเดิม" จึงเป็นปูชนียวัตถุที่เคารพศรัทธาของประชาชนตลอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะความเชื่อและยึดมั่นต่ออภินิหารของ "หลวงพ่อเดิม" นั้นมิได้เปลี่ยนแปลงเมื่อถึงฤดูกาลเข้าพรรษาของปีจะมีกุลบุตรจำนวนมากที่เดินทางมาจากที่ต่าง ๆ เพื่ออุปสมบท (บวช) ต่อหน้าของหลวงพ่อเดิม ตามโบราณประเพณีที่เกิดจากแรงศรัทธาและความเชื่อที่ถูกฝังแน่นลงในสายเลือดของบรรพบุรุษอนึ่งการที่หลวงพ่อเดิม (พระมหาเถระลังการเดิม) มาประดิษฐานที่วัดเอกก็มีคำเล่าลือต่าง ๆ กันมาว่า หลวงพ่อเดิมก่อนที่จะมาประดิษฐานที่วัดเอกนั้น ท่านประดิษฐานอยู่บนแพลอยน้ำมาเมื่อชาวบ้านพบเข้าก็นิมนต์ท่านจากแพและนำมาประดิษฐานไว้ในวัดแห่งหนึ่งทางทิศตะวันออก(สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดเจดีย์งาม) ขณะนิมนต์มานั้นก็เพียงแต่ใช้เส้นด้าย ๓ เส้นลากมาตามลำคลอง (เรียกว่าคลองพระขณะนี้ตื้นเขินเกือบหมดแล้ว) เมื่อมาถึงหน้าบ้านเชิงแสซึ่งมีวัดอยู่ถึง ๓ วัด คือวัดเชิงแสเหนือ (วัดเอก) วัดเชิงแสกลาง วัดเชิงแสใต้ (หัวนอน) ชาวบ้านได้นิมนต์ท่านไปทางวัดใต้และวัดกลางแต่ท่านก็ไม่ไป (สมัยนั้นใช้กับลากแพไม้) เมื่อชาวบ้านเห็นดังนั้นจึงจุดธูปนิมนต์ท่านไปอยู่ที่วัดเชิงแสเหนือ (วัดเอก) ปรากฏว่าใช้แค่เส้นด้าย ๓ เส้น ท่านขยับเคลื่อนท่านลงแพล่องไปลำคลองไปอยู่ที่วัดเชิงแสเหนือ (วัดเอก) ลำคลองสายนั้นขณะนี้ยังปรากฏอยู่ชาวบ้านเรียกว่าคลองแพ
๔. คำว่าวัดเอกนั้น ผู้รู้เคยตรวจดูแผนที่การสร้างเมืองพัทลุง ในราวปี พ.ศ. ๒๑๐๐ ได้พบชื่อวัดนี้เขียนว่า "วัดพระครูเอกอุดม" จึงพอเข้าใจคำว่า "เอก" นั้นมาจากสมณะศักดิ์ขอเจ้าอาวาสในสมัยนั้น
๕. วัดเจดีย์งามเป็นวัดโบราณยิ่งกว่าวัดเอกตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดเอก ประมาณ ๗ กิโลเมตร วัดนี้มีกลุ่มเจดีย์แบบลังกาซึ่งสร้างด้วยหินปะการังเช่นเดียวกับหลวงพ่อเดิมองค์เดิมพระเจดีย์สร้างนั้นก็เป็นปริศนาธรรมคือมีพระเจดีย์องค์ใหญ่สวยงามยิ่ง แวดล้อมด้วยเจดีย์องค์เล็ก ๘ องค์ ซึ่งหมายถึงมรรค ๘ อันเป็นหัวใจของธรรมในพระพุทธศาสนา จะเห็นได้ชัดว่าผู้สร้างเจดีย์กลุ่มนี้ ยึดเอาธรรมอันสูงของพระพุทธศาสนามาเป็นหลักในการสร้างโบราณสถาน เช่น เจดีย์ ต่อมาประชาชนส่วนหนึ่งของหมู่บ้านพระเจดีย์งามได้มีเหตุจำเป็นต้องยกครอบครัวไปหาที่ตั้งหลักแห่งใหม่ (น่าจะเกิดโรคระบาด) ประกอบการทำมาหากินทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านพระเจดีย์งาม (บ้านเก่าใกล้ ๆ กับวัดเอก) และเมื่อได้ตั้งรกรากลงอย่างมั่นคงแล้วก็จัดการบูรณปฏิสังขรณ์วัดร้าง (วัดเอก) ที่มีในหมู่บ้าน และก็ได้อาราธนาพระสงฆ์องค์หนึ่ง ซึ่งเป็นศิษย์ของพระมหาเถรลังกาเดิมที่ได้มรณภาพไปแล้วมาเป็นเจ้าอาวาสและท่านก็ได้นำพระพุทธรูปของพระมหาเถรลังกาเดิมมาประดิษฐาน ณ วัดเอก
ต่อจากนั้นก็ได้ทำการบูรณะวัดนี้ขึ้นให้มีความเจริญรุ่งเรืองจนกระทั่งท่านได้รับสมณะศักดิ์เป็น "พระครูเอกอุดม"ชื่อของวัดนี้จึงกลายเป็นวัดเอกคู่กับหลวงพ่อเดิมซึ่งชาวบ้านจึงนิยมมาสักการะบูชาบนบานสานกล่าว ต่อหน้าองค์หลวงพ่อเดิมให้ประสพความสำเร็จในเรื่องราวต่าง ๆ แล้วจะมาบวชแก้บน ในแต่ละปีจะมีกุลบุตร กุลธิดา (ชี) มาบวชที่วัดเอกเป็นจำนวนมาก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ วัดเอกแห่งนี้จึงค่อยได้รับการพัฒนาเสนาสนะต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่องมีการขยายพื้นที่ของวัด ตลอดถึงปรับปรุงทัศนียภาพให้มีบรรยากาศที่ร่มรื่นสวยงามเป็นสัดส่วนซึ่งสามารถลำดับเวลาของการพัฒนาได้ดังนี้คือ
- ปีพ.ศ. ๒๕๓๖ สร้างพระอุโบสถหลังใหม่และได้มีการยกช่อฟ้าในปี พ.ศ ๒๕๓๗ (ในการนั้นได้สร้างเหรียญรูปเหมือนจำลองจากองค์จริง) จากนั้นจึงดำเนินการผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิตเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓
- ปีพ.ศ. ๒๕๓๘ วัดเอกได้รับรางวัลพัฒนาตัวอย่าง เจ้าอาวาสได้รับการแต่งตั้งให้ตำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะอำเภอกระแสสินธุ์ มีโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ โรงเรียนปริยัติธรรม ศูนย์ปฏิบัติธรรม และโครงการปฏิบัติธรรม
- ปีพ.ศ. ๒๕๕๐ วัดเอกได้รับการคัดเลือกให้เป็นวัดต้นแบบในโครงการคนรักวัดจากกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อให้วัดอื่น ๆ ได้ศึกษาและนำแนวทางการจัดการของวัดเอกไปประยุกต์ใช้
ปัจจุบันวัดเอกเป็นที่รู้จักของประชาชนมาก และที่สำคัญคือบทบาทของวัดเอกในปัจจุบันมิิได้เป็นเพียงศาสนสถานสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้ แต่วัดเอกยังได้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองสำหรับพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะโครงการปฏิบัติธรรมเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาถือได้ว่าเป็นโครงการที่เป็นที่รู้จักโดยกว้างขวางอย่างต่อเนื่อง ตลอดถึงบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งคือการส่งเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมและการปฏิบัติธรรมตามหลักของพระพุทธศาสนานั่นเอง
พระอุโบสถ
พระอุโบสถวัดเอกหลังนี้ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ยกช่อฟ้าในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ จากนั้นจึงดำเนินการผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิตเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นพระอุโบสถที่สวยงามวิจิตรบรรจงยิ่งนัก ลักษณะของอาคารเป็น ๒ ชั้น ชั้นล่างทำเป็นห้องประชุมหรือประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ตัวพระอุโบสถยกสูง หลังคาแบบมุขประเจิดเป็นลักษณะอาคารที่ออกแบบมุขลดให้มีลักษณะที่ดูเสมือนลอยออกจากผืนหลังคาปีกนก ที่คลุมอาคารทั้งด้านหน้าและหลัง ในบางท้องที่เรียกมุขลักษณะนี้ว่า “มุขชะโงก” หรือ “มุขทะลุขื่อ” มีใบระกาหางหงส์ ประตูและหน้าต่างมีมงกุฏประดับตลอดทุกบาน
พระอุโบสถ
ด้านหน้าพระอุโบสถ
ซุ้มหน้าต่างพระอุโบสถเป็นซุ่้มมงกุฏ
ซุ้มประตูพระอุโบสถเป็นทรงมงกุฏ
พระอุโบสถและวิหารหลวงพ่อเดิม (จำลอง)
เพดานพระอุโบสถ
วิหารหลวงพ่อเดิมจำลอง (อุโบสถหลังเก่า)
วิหารหลวงพ่อเดิมจำลองซึ่งในอดีตคืออุโบสถเก่าลักษณะเป็นอาคารโถงชั้นเดียว หลังคามุงกระเบื้องภายในประดิษฐานหลวงพ่อเดิมจำลองวิหารหลวงพ่อเดิมจำลองเป็นสถานที่ ที่ประชาชนที่ได้ต้องการจะบนบาลสานกล่าวเพื่อขอให้เกิดความสำเร็จในสิ่งที่พึ่งประสงค์ อีกทั้งยังเป็นที่สำหรับแก้บนในสิ่งที่สัมฤทธิ์ผลแล้ว
ด้านหน้าวิหารหลวงพ่อเดิมจำลอง (อุโบสถหลังเก่า)
ด้านหลังวิหารหลวงพ่อเดิมจำลอง (อุโบสถหลังเก่า)
หลวงพ่อเดิมจำลองภายในวิหาร (อุโบสถหลังเก่า)
หลวงพ่อเดิม
ตำนานหลวงพ่อเดิม
หลวงพ่อเดิม เป็นพระพุทธรูปปางนั่งสมาธิ ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปที่มีความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนต่างศรัทธาเลื่อมใส ในเพลาพระนางเลือดขาวกล่าวว่าพระนางเลือดขาวบริบูรณ์ไปด้วยคุณธรรมมีศรัทธาอย่างแรงกล้าในบวรพระพุทธศาสนา พระนางได้เสด็จไปตามเมืองต่าง ๆ อช่น นครศรีธรรมราชหรือเมืองตามพรลิงค์ กรุงสุโขทัย อยุธยา ตลอดถึงเสด็จไปเกาะลังกา สำหรับกรณียกิจด้านพุทธศาสนาพระนางเสด็จเมืองนครศรีธรรมราชหรือตามพรลิงค์ พระนางได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ จากพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เพื่อมาบรรจุไว้ในพระมหาธาตุเจดีย์วัดเขียนบางแก้ว นอกจากพระนางจะสร้างพระเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระนางยังได้สร้างวัดวาอารามอีกเป็นจำนวนมาก ตำนานยังกล่าวอีกว่าพระนางเลือดขาวเสด็จไปที่ใด ก็มักจะสร้างวัด หรือพระพุทธรูปไว้เสมอ อาทิ จังหวัดตรัง สร้างพระศรีสรรเพชรพุทธสิหิงษ์ไว้ที่วัดพระศรีสรรเพชรพุทธสิหิงค์ หรือวัดพระพุทธสิหิงค์และได้จารึกพระนามของพระนางไว้ด้วย ในอำเภอระโนด สะทิ้งพระ และอำเภอเมืองจังหวัดสงขลาซึ่งเคยเป็นอาณาบริเวณที่ตั้งเมืองพัทลุงในสมัยอดีตนั้น นามของพระนางเลือดขาวกับการสร้างวัดวาอาราม บำรุงพระพุทธศาสนาก็ยังอยู่ในความทรงจำ ยังคงเล่าลือต่อ ๆ กันมา เมื่อพระยากุมาร (พระสวามี) พระนางเลือดขาว ได้สร้างพระมหาธาตุเจดีย์ที่เขียนบางแก้ว พัทลุง สำเร็จแล้วจากนั้นก็จัดการเรื่องการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามโบราณราชประเพณี คือแต่งตั้งสมณะศักดิ์ให้แก่พระสงฆ์ให้เป็นผู้รักษาพระมหาธาตุทั้ง ๔ ทิศ
จากบันทึกเรื่องราวของผู้รู้ที่ปรากฎในเว็บบอร์ดhttp://loungpoderm.siam2web.com/?cid=29095 บันทึกไว้ว่าการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ประจำเมืองเมื่อเสร็จแล้วก็จะแต่งตั้งสมณะศักดิ์แด่พระมหาเถระให้วัดนั้น ๆ ให้เป็นผู้รักษาพระมหาธาตุเจดีย์ทั้ง ๔ ทิศ สมณะศักดิ์ของพระมหาเถระที่ว่านี้คือที่นครศรีธรรมราช ไชยา พัทลุง และสงขลา ซึ่งได้สร้างพระมหาธาตุเจดีย์เพื่อเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนา ตามหลักฐานปรากฎว่ามีอยู่ ๔ ตำแหน่ง หรือ ๔ คณะ คือคณะกาแก้ว มีพระมหาเถระลังกาแก้ว เป็นหัวหน้าคณะ คณะกาชาติ มีพระมหาเถระลังกาชาติ เป็นหัวหน้าคณะคณะการาม มีพระมหาเถระลังการาม เป็นหัวหน้าคณะคณะกาเดิม มีพระมหาเถระลังกาเดิม เป็นหัวหน้าคณะพระมหาเถระ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะก็เลือกเฟ้นเฉพาะพระสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิบริบูรณ์ด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา ทำหน้าที่เสมือนกาปกป้องรักษาพระมหาธาตุไว้ทั้ง ๔ ทิศ นั้นคือการเผยแผ่คำสอนขอพระพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย การเทศนาสั่งสอนประชาชนการอุปสมบท อมรมสั่งสอนกุลบุตร-ธิดา รวมทั้งการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพุทธบัญญัติด้วย อันนี้เป็นมูลเหตุให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขขึ้นในแผ่นดิน ตามกุศโลบายของท่านเจ้าเมืองผู้ทรงธรรมในสมัยโบราณนั้นเอง ถ้าพิจารณาถึงวัดในท้องที่อำเภอระโนดบางวัดในปัจจุบันนี้ ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองพัทลุงในอดีตก็พบว่ามีวัดบางวัดที่ลงท้ายด้วย แก้ว ราม และเดิม พิจารณาให้ลึกลงไปอีกก็เป็นวัดโบราณที่ชาวบ้านยกย่องนับถือกันว่าเป็นปูชณียสถานแห่งความศักดิ์สิทธิ์ จึงเชื่อว่าชื่อเสียงเรียงนามที่กล่าวมานี้จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับสมณะศักดิ์ของมหาเถร ผู้รักษาพระมหาธาตุของเมืองพัทลุงในครั้งนั้นด้วย เช่น วัดเถรแก้ว มาจากวัดมหาเถระลังกาแก้ว วัดพระเดิม มาจากวัดพระมหาเถระลังกาเดิม วัดการาม (กาหรำ) มาจากวัดมหาเถระลังการาม ฉะนั้นจึงมีหลักฐานมายืนยันตามที่กล่าวนี้ จึงสรุปได้ว่า "หลวงพ่อเดิม" ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ อุโบสถวัดเชิงแส เหนือ (วัดเอก) เชื่อได้ว่าคือมหาเถระลังกาเดิมอย่างแน่นอน
ในส่วนประวัติหรือเรื่องราวอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับหลวงพ่อเดิมนั้นมีตำนานกล่าวว่าหลวงพ่อเดิม องค์เดิมนั้นเป็นพระพุทธรูปขนาดเล็ก สร้างด้วยหินปะการัง ต่อมาได้สร้างครอบองค์เดิม แต่เป็นในสมัยใดนั้นไม่มีใครทราบได้ ซึ่งมีขนาดหน้าตักกว้าง ๗๐ ซ.ม. สูงประมาณ ๑๒๐ ซ.ม. ต่อมาเมื่อประมาณ ๗๐ ปี พระอธิการเจียม ได้ทำการบูรณะพระอุโบสถและซ่อมแซมบางส่วนของพระพุทธรูปทั้ง ๓ พระองค์ ภายในวิหารหลวงพ่อเดิมจำลอง (อุโบสถหลังเก่า) พระมหาเถระลังกาเดิมได้อุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนาโดยแท้ นอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ในการปกครองคณะสงฆ์ การอุปสมบท การอบรมสั่งสอนแก่กุลบุตรกุลธิดาแล้ว ท่านยังได้สร้างพระเจดีย์ ๙ องค์ ซึ่งประดิษฐาน ณ วัดเจดีย์งาม อันเป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญ พระมหาเถระลังกาเดิมได้บำเพ็ญชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนาถึงกาลมรณภาพจากนั้นบรรดาศิษยานุศิษย์ก็ได้ทำการถวายเพลิงแล้วนำอัฐิของท่านบรรจุไว้ในพระพุทธรูปที่ท่านได้สร้างไว้ด้วยหินปะการังเช่นเดียวกับพระเจดีย์ ๙ องค์ ณ วัดเจดีย์งาม พระพุทธรูปองค์นั้นชื่อว่า "พระเดิม" มาจากพระพุทธรูปของพระมหาเถระเจ้าลังกาเดิมนั้นเอง
หลวงพ่อเดิมประดิษฐานบนบุษบกภายในพระอุโบสถ
พระสิริพัฒโนดม
พระสิริพัฒโนดม (มนัส คุณธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดเอก เป็นพระเถระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ทั้งได้อุทิศตนทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ เป็นพระนักพัฒนาเพื่อสังคมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ตลอดถึงสร้างความสามัคคีกลมเกลียวให้พุทธศาสนิกชนและเยาวชนให้เข้าถึงหลักศาสนาและวัฒนธรรม ทั้งยังพัฒนาวัดเอกมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า ๒๐ ปี โดยได้อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาและส่งเสริมการศึกษา และจัดสวัสดิการแก่ชุมชนและสังคม จนเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ ท่านได้พัฒนาวัดเอกซึ่งอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองให้เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ การเป็นพระนักพัฒนาของท่านเป็นที่ยอมรับและรับรู้โดยทั่วกัน จะเห็นจากการเปลี่ยนแปลงในด้านถาวรวัตถุภายในวัดหลาย ๆ อย่าง จนเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ชุมชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง การก่อตั้งโรงเรียนปริยัติสายสามัญ การจัดสร้างที่พักอาศัยสำหรับคนชราและผู้ยากไร้บนพื้นที่ ๒๐ ไร่ มีห้องพักประมาณ ๘๐ ห้อง ซึ่งจุคนมาพักได้หลายร้อยคน การฝึกอบรมสร้างอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง และงานอื่น ๆ อีกมากมาย เมื่อปีที่ผ่านมา (๒๕๕๙) มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ เดินทางไปถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสวัสดิการสังคม แด่พระสิริพัฒโนดม (มนัส คุณธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดเอก เพื่อเป็นมุทิตาสักการะ และเป็นเกียรติแก่มหาวิทยาลัยสืบไป พระสิริพัฒโนดมเป็นพระเถระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อุทิศตนทำงานด้านพุทธศาสนาทั้งฝ่ายปริยัติและฝ่ายปฏิบัติ
การศึกษา
- พ.ศ. ๒๕๒๘ สอบได้เปรียญธรรม ๗ ประโยค
- พ.ศ. ๒๕๓๐ ศษ.บ. จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
- พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็น เปรียญธรรม ๗ ประโยค
- ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ที่ พระสิริพัฒโนดม
มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2546). วัดเอกเชิงแส. สืบค้นวันที่ 22 ม.ค. 61, จาก https://thai.tourismthailand.org/สถานที่ท่องเที่ยว/วัดเอกเชิงแส--5686
ประวัติวัดเอก เชิงแสเหนือ. (2552). สืบค้นวันที่ 22 ม.ค. 61, จาก http://www.zoonphra.com/catalog.php?idp2=27
ประวัติหลวงพ่อเดิม (วัดเอก เชิงแส). (ม.ป.ป.). สืบค้นวันที่ 22 ม.ค. 61, จาก http://loungpoderm.siam2web.com/?cid=29095
เพจวัดเอก ต.เชิงแส อ.กระแสสินธุ์. (2561.). สืบค้นวันที่ 22 ม.ค. 61, จาก https://www.facebook.com/pages/วัดเอก-ตเชิงแส-อกระแสสินธ์/129598827180763
มรภ.สงขลา ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสวัสดิการสังคม “พระสิริพัฒโนดม” เจ้าอาวาสวัดเอก. (2559). สืบค้นวันที่ 22 ม.ค. 61, จาก
https://www.ryt9.com/s/prg/2560179
สำนักเทศบาลตำบลเชิงแส. (2549). นมัสการหลวงพ่อเดิม วัดเอก ตำบลเชิงแส. สืบค้นวันที่ 22 ม.ค. 61, จาก http://www.cherngsae.go.th/travel/detail/1071