วัดคูเต่า (Wat Khutao)
 
Back    28/12/2017, 09:47    19,833  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา

       วัดคูเต่าเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในจังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ริมคลองอู่ตะเภาก่อนออกสู่ทะเลสาบสงขลา สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาโดยพระอุปัชฌาย์แก้วประมาณปี พ.ศ. ๒๒๙๙ ในที่ดินเป็นของนายสร้าง (ไม่ทราบนามสกุล) ซึ่งเป็นชาวจีนมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในตำบลคูเต่าและได้หยุดการก่อสร้างลงไประยะหนึ่งเนื่องจากพระอุปัชฌาย์แก้วมรณภาพลง ต่อมาอุปัชฌาย์หนูได้ดำเนินการสร้างต่อจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ โดยเฉพาะพระอุโบสถซึ่งมีความกว้าง ๙ เมตร ยาว ๑๔ เมตร โครงสร้างก่ออิฐถือปูนและล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีเจดีย์ทั้ง ๔ มุมกำแพง องค์เจดีย์กว้างและยาวองค์ละ ๒ เมตร สูง ๗ เมตร มีซุ้มประตู ๓ ประตู  โดยที่ซุ้มประตูก่ออิฐถือปูนขาว ยอดเป็นจัตุรมุขแกะลายกนกและซุ้มสีมาลายกนก หน้าบันเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณพระพรหมทรงหงส์ มีลายกนกและรูปสัตว์ประกอบสวยงามวิจิตรบรรจงอย่างมาก ในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องประวัติพระเวสสันดรชาดก เขียนโดยช่างพื้นบ้านภาคใต้ซึ่งเป็นชาวบ้านในแถบนั้น ภายในพระอุโบสถมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสัมฤทธิ์ปางสมาธิ ภายในบริเวณวัดมีเสนาสนะและสิ่งปลูกสร้างอีกมากมายซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่า วัดคูเต่ามีเนื้อที่ตั้งวัดทั้งหมด ๑๕ ไร่ ๓ งาน ๑๓ ตารางวา  ตามเอกสาร น.ส. ๓ ก เลขที่ ๑๖๙๑  มีที่ธรณีสงฆ์ ๑ แปลง เนื้อที่ ๑๖ ไร่ ๓ งาน ๔๗ ตารางวา ตามเอกสาร น.ส.๓ เลขที่ ๑๕๙๖ เนื่องจากที่ตั้งวัดเดิมเป็นที่ลุ่มและเป็นที่อาศัยของเต่าเป็นจำนวนมากชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “วัดสระเต่า” ต่อมามีชาวจีนเข้ามาทำมาหากินบริเวณสองฟากของคลองอู่ตะเภามากขึ้น จนบริเวณริมน้ำเกิดเป็นหมู่บ้านขึ้น ประกอบกับที่ตั้งวัดเดิมทางสัญจรไม่สะดวกจึงได้ย้ายวัดมาตั้งในที่ปัจจุบันนี้ เหตุที่เรียกว่าวัดคูเต่านั้นเล่ากันว่าเนื่องจากชาวจีนได้ถางป่า ขุดตอ ทำสวนส้มจุกกันมากทำให้ป่าไม้ค่อย ๆ หมดไปเรื่อย ๆ จนไม่มีไม้จะใช้สอย โดยด้านทิศตะวันตกของวัดคือบริเวณหมู่บ้านหนองหินมีป่าไม้เสม็ดมาก ชาวบ้านจึงร่วมกันขุดคูขึ้นทางทิศเหนือของวัดที่เชื่อมติดกับลำคลองและขุดยาวไปทางทิศตะวันตก พอให้เรือเล็กแล่นผ่านไปมาได้ในฤดูฝน ในบริเวณคูน้ำมีเต่ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากชาวบ้านจึงเรียก “คูเต่า” และเรียกวัดสระเต่าเดิมว่า “วัดคูเต่า” แทน วัดคูเต่าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๑๙ เมตรยาว ๓๒ เมตร ผูกพัทธสีมาประมาณ พ.ศ.๒๔๓๔ ภายในวัดยังมีใบเสมา มณฑปบัว ศาลาการเปรียญ ศาลาท่าน้ำ หอระฆัง กูมไม้ทรงไทย  สำหรับพระอุโบสถวัดคูเต่า ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรและได้มีการปฏิสังขรณ์ใหม่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ นับได้ว่าวัดคูเต่านี้เป็นโบราณสถานที่เชิดหน้าชูตาอย่างภาคภูมิใจของชาวตำบลแม่ทอมและจังหวัดสงขลา จึงทำให้วัดเป็นที่รู้จักและและกล่าวถึงดังคำกล่าวที่ว่า "วัดคูเต่างดงามศิลป์พื้นถิ่น การันตีด้วยรางวัลยูเนสโก" วัดคูเต่าแห่งนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในศาสนาสถานที่เก่าแก่ของจังหวัดสงขลา ภายในบริเวณวัดมีโบราณสถานโบราณวัตถุและสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่มีอายุหลายร้อยปีถือเป็นมรดกตกทอดทางศิลปกรรมที่ทรงคุณค่า จึงทำให้วัดคูเต่าได้รับรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปี ค.ศ. ๒๐๑๑ จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)  ท่านเจ้าอาวาสพระอธิการมาโนช กตบุญฺโญ (๒๕๕๕) กล่าวว่า

         "การที่วัดได้รับรางวัลนั้นคงต้องยกความดี ให้แก่พุทธบริษัทในชุมชนทุกคน เพราะได้ร่วมกันอนุรักษ์สิ่งดีงามที่บรรพบุรุษสร้างไว้ เมื่อครั้งอดีตให้อยู่ตกทอดมาจวบจนถึงปัจจุบัน และที่สำคัญเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าศาสนาในโบราณกาล ณ ที่แห่งนี้รุ่งเรืองเพียงใด ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการอนุรักษ์และสืบทอดให้สัญลักษณ์ทางศาสนาแห่งนี้ ให้คงอยู่สืบไปชั่วลูกชั่วหลาน แขกผู้มาเยือนจะเห็นได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ยังคงตั้งตระหง่านในชุมชนแห่งนี้ยังคงรักษาอยู่ได้ ก็เพราะการร่วมแรงร่วมใจของชาวพุทธในพื้นที่ทุกคน ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันงรักษามรดกของบรรพชนให้คงอยู่ไว้ ดังนั้นรางวัลนี้จึงเป็นความภาคภูมิใจของทุกคน”

       จากตำนานและการบอกเล่าของคนในชุมชนได้กล่าวไว้ว่าเดิมทีวัดคูเต่ามีชื่อว่า“วัดสระเต่า” เนื่องจากมีเต่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากในบริเวณสระน้ำของวัดแต่เดิมวัดสระเต่า ตั้งอยู่ตรงข้ามกับป่าช้าหนองหิน เหตุที่ต้องย้ายสถานที่ตั้งวัดก็เพราะว่าบริเวณที่เดิมเป็นที่ราบลุ่มมาก แต่ละปีจะมีน้ำหลากและท่วมวัด พระภิกษุและชาวบ้านต่างพากันเดือดร้อน กอรปกับชุมชนบริเวณนี้มีชาวจีนอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่และประกอบอาชีพในการทำสวนส้ม เพราะสภาพของดินน้ำอุดมสมบูรณ์ สิ่งที่ชุมชนต้องการมากคือไม้เพื่อเป็นวัสดุอุปกรณ์สำหรับค้ำยันต้นส้ม ยิ่งผลส้มลูกใหญ่ก็ต้องใช้ไม้ค้ำเป็นจำนวนมาก และเมื่อทำสวนส้มกันมากขึ้นไม้ที่นำมาใช้ค้ำยันตามธรรมชาติก็ขาดแคลนลง ชาวบ้านจึงต้องเดินทางไปตัดไม้เสม็ดที่บริเวณทุ่งเกาะไหล การเดินทางและขนไม้ยากลำบาก บางคนเล่าว่าตอนขากลับมักเจอสัตว์ร้ายต่างๆ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าเคยมีเสือสมิงทำร้ายพระและเณรมรณภาพมาแล้ว จากปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจขุดคูทอดยาวไปยังสถานที่ตั้งวัดในปัจจุบันจึงทำให้เต่าที่เคยอยู่อาศัยที่วัดเดิม ก็เคลื่อนย้ายมาอยู่ที่คูใหม่และวัดก็ได้ชื่อว่า “วัดคูเต่า” ตั้งแต่นั้นมา ผลพลอยได้จากการขุดคูเต่านอกจากจะได้ที่ตั้งวัดใหม่ที่น้ำไม่ท่วมเหมือนที่เดิมแล้วยังทำให้เกิดภูมิทัศน์ที่งดงามขึ้นอีกด้วย ดังข้อมูลที่สมเด็จฯเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงบันทึกไว้เมื่อเสด็จ มาถึงเมืองสงขลาในปี ร.ศ. ๑๒๖ ในพระนิพนธ์เรื่อง “ชีวิวัฒน์เที่ยวที่ต่าง ๆ ภาค ๗” ว่า

        “...ที่ฝั่งตะวันออกท้ายเกาะยอทางตะวันตกเฉียงใต้ มีคลองแห่งหนึ่งชื่อคลองอู่ตะเภา ปากคลองกว้างประมาณ ๔ วา น้ำลึกประมาณ ๒ ศอก ในลำคลอง ๒ ฟาก มีต้นไม้เป็นชายเฟือย ต้นเหงือกปลาหมอ ปรงไข่ เป็นต้น ในลำคลองน้ำลึกประมาณ ๕-ถึง ๖ ศอก คลองลดเลี้ยวไปประมาณ ๑๐๐ เส้นเศษ มีสวนมะพร้าว สวนผลไม้ต่างๆ มีสวนส้มเป็นสวนวิเศษตลอดไปทั้ง ๒ ฟากคลองประมาณ ๒๐ สวนเศษ เป็นส้มจุกซึ่งชาวกรุงเรียกส้มตรังกานู สวนเหล่านี้เป็นสวนไทยสักส่วนหนึ่ง สวนจีนสัก ๒ ส่วน มีบ้านเรือนตั้งประจำอยู่ที่สวนเป็นอันมาก ในคลองระหว่างสวนส้มนั้นมีวัดแห่งหนึ่งชื่อวัดสระเต่า มีศาลาที่พัก ๒ หลัง มีพระสงฆ์ ๑๗ รูป...” อีกสิ่งหนึ่งที่ตามมาจากการขุดคูก็คือตลาดน้ำคูเต่า ซึ่งได้รับการตกทอดมาจนถึงคนรุ่นปัจจุบันตลาดน้ำในยุคแรกๆ ราวปี พ.ศ. ๒๒๙๙ ถือว่ามีความเจริญรุ่งเรืองในระดับหนึ่งและรุ่งเรืองสูงสุดในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ถึง ๒๕๐๕ ซึ่งมีพระครูสุคนธศีลาจาร (หลวงพ่อหอม ปุญฺญาโน) เป็นเจ้าอาวาสถือเป็นศูนย์กลางตลาดน้ำที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของจังหวัดสงขลา แต่ในปัจจุบันตลาดได้ถูกย้ายขึ้นบกเป็นตลาดริมน้ำแล้ว


ความสำคัญ

   ในประเทศไทยมีโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมาย ที่ได้รับการยกย่องจนถูกจัดให้อยู่ในทำเนียบมรดกสำคัญระดับนานาชาตินับไม่ถ้วน และที่สำคัญยังมีอีกมากมายหลายแห่งที่เข้าคิวรอการผลักดันและสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับการบันทึกหรือรับรองจากองค์กรสากลในการประกาศให้ชาวโลกได้รับรู้ถึงความมีอารยธรรมและประวัติศาสตร์ ที่มีความเป็นมาอันยาวนานของดินแดนสยามแห่งนี้ จังหวัดสงขลาเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ความเป็นมาหลายร้อยปี สงขลาได้รับการขนานนามว่าเป็น “เมืองเก่า” และเป็น ๑ ใน ๑๐ จังหวัดเมืองสร้างชาติ สงขลาเป็นจังหวัดที่เปี่ยมล้นไปด้วยเรื่องราวที่ควรแก่ศึกษาและอนุรักษ์ ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรมขนบธรรมประเพณีรวมถึงมรดกทางศาสนาอย่างเช่น ศาลาโบราณสถานของวัดคูเต่า ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ ๖ ตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา ที่ได้รับรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๔) วัดคูเต่า แห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในศาสนสถานทางพุทธศาสนาที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดสงขลา มีสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และประติมากรรมที่เกิดขึ้นจากศิลปินในท้องถิ่นที่งดงามและหาดูได้ยากยิ่งในปัจจุบันโดยเฉพาะศาลาทำให้วัดเป็นที่รู้จักและและกล่าวถึงดังคำกล่าวที่ว่า "วัดคูเต่างดงามศิลป์พื้นถิ่น การันตีด้วยรางวัลยูเนสโกวัดคูเต่าถือเป็นมรดกตกทอดทางศิลปกรรมอันล้ำค่า"    

     วัดคูเต่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๙ แต่เดิมวัดตั้งอยู่ที่บ้านคลองหินต่อมาจึงได้ย้ายเสนาสนะมาสร้างขึ้นริมคลองอู่ตะเภา วัดคูเต่าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ และเปิดให้มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๓ นอกจากนี้มีการตั้งโรงเรียนระดับประถมศึกษาของทางราชการอยู่ในบริเวณวัดด้วย   


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

 วัดคูเต่า ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา สร้่างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๓ มีงานศิลปกรรมที่แสดงฝีมือของช่างท้องถิ่นภาคใต้แท้ ๆ ทั้งทางด้านสถาปัตยกรรม และประติมากรรม โดยเฉพาะประติมากรรมปูนปั้นที่มีอยู่มากมาย เช่น พระอุโบสถ กำแพงแก้ว เจดีย์

พระอุโบสถ

 พระอุโบสถของวัดคูเต่ามีความสวยงามในด้านศิลปะเป็นอย่างมาก ดังที่กล่าวมาแล้วว่าวัดคู่เต่าเป็นวัดเก่าแก่โบราณสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ประมาณปี พ.ศ. ๒๒๙๙ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๓ และในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ได้เริ่มก่อสร้างพระอุโบสถขึ้น ตามหลักฐานที่จารึกไว้บนผนังพระอุโบสถว่า ท่านอุปัชฌาย์หนู (เจ้าอาวาส) ได้ริเริ่มสร้างโดยโครงสร้างอาคารอุโบสถก่ออิฐถือปูนและไม้ และมีการล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีซุ้มประตูก่ออิฐถือปูนขาว ยอดเป็นจัตุรมุข แกะลายกนกและซุ้มสีมาลายกนก หน้าบันเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณและพระพรหมทรงหงส์ มีลายกนกและรูปสัตว์ประกอบที่ผนังด้านข้างบันไดมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปนั่ง ระหว่างฐานกับช่องหน้าต่างประดับด้วยปูนปั้นรูปสิงห์หมอบ รูปพระพุทธรูป และลายเครือเถา ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังซึ่งเขียนด้วยสีฝุ่นฝีมือช่างจิตรกรรมพื้นเมือง สภาพของภาพจิตรกรมยังอยู่ในสภาพดงานจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถที่วัดคูเต่า จัดเป็นงานจิตรกรรมไทยพื้นถิ่นที่เขียนด้วยสีฝุ่นฝีมือช่างพื้นบ้านมีความอิสระ ทั้งการวาดเส้น การใช้สี และการจัดวางองค์ประกอบต่าง ๆ  โดยมากงานจิตรกรรมไทยที่วัดคูเต่าเน้นการแสดงภาพด้วยลักษณะของตัวหนังตะลุงผสมเข้าไป อาทิ ตัวชูชก ในงานชุดมหาเวสสันดรชาดก หรือมหาชาติ นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของเทพชุมนุมและตำนานราหูอมจันทร์ เป็นต้น  จากคำบอกเล่าของพระอธิการถาวร ถาวโร เจ้าอาวาสวัดคูเต่ารูปที่ ๖ จึงพอที่จะสืบทราบได้ว่างานจิตรกรรมไทยพื้นถิ่นประดับภายในอุโบสถวัดคูเต่าน่าที่จะวาดขึ้นในราวปี พ.ศ.๒๓๔๘-๒๓๙๙ (ในยุคของพระอาจารย์แก้วเจ้าอาวาสรูปที่ ๒)โดยใช้ชาวบ้านที่เป็นช่างศิลป์ในพื้นที่เป็นผู้วาดทั้งหมด ซึ่งโดยมากวัสดุอุปกรณ์สีในการระบายได้มาจากธรรมชาติ เช่น เปลือกไม้ รากไม้ เป็นต้น

พระอุโบสถ

พระประธานในอุโบสถ

จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ เรื่องพระเวสสันดรชาดก

       จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ เป็นงานจิตรกรรมภาพเขียนสีฝุ่นฝีมือช่างพื้นบ้าน ซึ่งมีลักษณะเป็นจิตรกรรมที่สมบูรณ์และแสดงอัตลักษณ์ของเชิงช่างท้องถิ่นได้ดีทั้งเทคนิควิธีการใช้สี การลงลายเส้น ตลอดถึงองค์ประกอบของภาพ รวมถึงคตินิยมทางศิลปะ ๆ ไป  ภาพคน เช่น ภาพนางมัทรีเป็นแบบเดียวกับนางกษัตริย์ในหนังตะลุง  ตัวชูชกก็มีลักษณะของตัวตลกหนังตะลุง เนื้อเรื่องของภาพจิตรกรรมเป็นเรื่องพระเวสสันดรชาดก หรือมหาชาติ และมีภาพเทพชุมนุมด้วย

ศาลาการเปรียญ (ศาลาปักษ์ใต้) 

       ศาลาการเปรียญหรือศาลาปักษ์ใต้ของวัดคูเต่าเป็นอาคารที่มีลักษณะเป็นโถงยกพื้น หลังคากระเบื้องพื้นบ้านแบบเกาะยอ หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นสวยงาม เป็นอาคารโรงเรียนสอนปริยัติธรรมแห่งแรกของอำเภอหาดใหญ่ ศาลาที่กล่าวมานี้มี ๒ หลัง สร้างมานานกว่า ๑๐๐ ปี แรกเริ่มเดิมทีเพื่อใช้ประกอบงานบุญของประชาชน รวมถึงเป็นที่สอนหนังสือให้กับเด็ก ๆ ตลอดถึงสามเณรในวัด ซึ่งด้วยกาลเวลาล่วงเลยมาทำให้ศาลามีการชำรุดทรุดโทรม ซึ่งตามคำบอกเล่าของท่านเจ้าอาวาสได้ทราบว่ามีการบูรณะปฏิสังขรณ์ให้กลับสภาพดั่งเดิมโดยสถาบันอาศรมศิลป์ได้ร่วมกับชาวบ้านในแถบนั้น โดยที่ทางสถาบันจะเป็นพี่เลี้ยงให้ในการบูรณะเพื่อให้มีความใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุดการบูรณะแล้วเสร็จในปี ๒๕๕๕ ซึ่งทางผู้บริหารในท้องถิ่นได้นำไปจัดนิทรรศการที่กรุงเทพฯ จนได้รับรางวัลจากสถาปนิกสยามและยูเนสโกในเวลาต่อมา

หางหงส์รูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น หัวพญานาค ของศาลาหลังที่ ๒ ชั้นล่าง

ภายในตัวศาลาหลังที่ ๑ เอกลักษณ์งานใต้ห่างดั่งแกะลายเป็นกลีบดอกบัว

รูปหางหงส์ของศาลาหลังที่ ๑ เป็นปูนปั้นรูปเทวดา

ศาลาหลังที่ ๑ หน้าบันทิศเหนือเป็นปูนปั้นลายเครือเถาพรรณพฤษาดอกพุดตานอีกด้าน 
และมีจารึกเลขซึ่งน่าจะเป็นปีสร้างคือ พ.ศ. ๒๔๕๙

ศาลาหลังที่ ๑ หน้าบันด้านทิศใต้ เป็นปูนปั้นลายเครือเถาพรรณพฤษาดอกพุดตานเต็มทั้งหน้าบัน

หน้าบันปูนปั้นลายเครือเถาและดอกพุดตาน ของศาลาหลังที่หนึ่ง

ศาลาหลังที่ ๒ ซึ่งอยู่ติดกันกับศาลาหลังที่ ๑ อาคารทรงมนิลา ห่างหงส์ ๒ ชั้นไม่เหมือนกัน

      หน้าบันเป็นลายปูนปั้นจัดวางรูปแบบเรื่องราวผสมผสานกันระหว่าง รูปทรงคนและสถาปัตยกรรม มีพระพุทธเจ้าในซุ้มปราสาทเป็นประธานภาพ และมีเทวดาชายหญิงร่ายรำข้างละ ๓ องค์ จากการสันนิษฐานของผู้รูปเจดีย์น่าจะเป็นพระธาตุเกตุแก้วจุฬามณีเป็นเจดีย์ที่อยู่บนสวรรค์ 

ศาลา ๑๐๐ ปี

กุฏิโบราณ ๓ หลัง

กุฏิโบราณ ๓ หลัง


ปูชนียบุคคล

     วัดคูเต่าถือเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดสงขลา มีโบราณสถาน โบราณวัตถุมากมายนับตั้งแต่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๓ วัดคูเต่ามีเจ้าอาวาสหลายรูป แต่ที่สำคัญและสร้างคูณูปการให้กับวัดตั้งแต่เริ่มสร้างวัดจนถึง ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ มี  ๔ รูป ประกอบด้วย

  • พระอุปัชฌาย์แก้ว (พ.ศ. ๒๒๙๙-๒๓๙๕)
  • พระอุปัชฌาย์หนู (พ.ศ. ๒๓๙๘-๒๔๖๗)
  • พระครูสุคนธลีลาจาร (พ่อท่านหอม) (พ.ศ. ๒๔๖๗-๒๕๐๕)
  • พระอธิการหวั่นเซี้ย คุณปาโล (๒๕๐๕?)

เหรียญพระครูสุคันธลีลาจาร (พ.ศ. ๒๕๐๔)

ภาพสืบค้นจาก : https://www.samakomphra.com/encyclopedia/benjaphakee-set/detail/item/3397/


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดคูเต่า (Wat Khutao)
ที่อยู่
หมู่ที่ ๓ ตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา
จังหวัด
สงขลา
ละติจูด
7.107624
ลองจิจูด
100.466428



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

กรมการศาสนา. (2527). วัดคูเต่า. กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา.

พระอาจารย์หอม วัดคูเต่า. (ม.ป.ป.) สืบค้นวันที่ 3 มกราคม 61, จาก https://www.caiman2.com/15239227/พระอาจารย์หอมวัดคูเต่า

พรทิพย์ พันธุโกวิท, ศิริพร สังข์หิรัญ และธนิสรา พุ่มผะกา. (2555). ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

          จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานในจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล). พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส.

เพจหลงเสน่ห์อาคารเก่า. (2561). สืบค้นวันที่ 3 มกราคม 61, จาก https://www.facebook.com/หลงเสน่ห์อาคารเก่า-351361438298141/

วัดคูเต่า มรดกโลกทางวัฒนธรรม. (2558). สืบค้นวันที่ 3 มกราคม 61, จาก https://travel.gimyong.com/?swp=content&t=23

 

 

 

 

 


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024