วัดเขาอ้อ (Wat Khao O)
 
Back    02/02/2018, 14:49    39,379  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา

       วัดเขาอ้อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๖๕๑  หรือกว่า  ๙๐๐ ปีแล้ว จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญฉบับหนึ่ง ซึ่งทางวัดได้เก็บรักษาไว้คือ "สานส์ตราของเจ้าพระยาเมืองนครศรีธรรมราช" ที่มีมาถึงพระยาแก้วโกรพพิชัยบดินทร์สุรินทรเดชอภัยพิริยะพาหะ เจ้าเมืองพัทลุง ลงวันเสาร์ เดือน ๙ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีระกา จุลศักราช ๑๑๐๓ ตรงกับ พ.ศ. ๒๒๘๔ (สมัยแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา) มีความว่า "ด้วยขุนศรีสมบัตินายกองสุราเข้าไปฟ้องว่า ที่วัดเขาอ้อสร้างมาก่อนแล้วกลับรกร้างสิ่งก่อสร้างชำรุดทรุดโทรมลงมาก คราวหนึ่งพระมหาอินทราชจากปัตตานีได้มาเป็นเจ้าวัดและได้มาปฏิสังขรณ์วัดขึ้นมาใหม่โดยมีตาปะขาวขุนแก้วเสนาขุนศรีสมบัติ เป็นหัวหน้าฝ่ายคฤหัสถ์ช่วยกันซ่อมแซมพระพุทธรูปในถ้ำ ๑ องค์ ซึ่งปรักหักพังแล้วเสร็จได้ดำเนินการสร้างเสนาะอื่น ๆ จนเป็นที่อยู่อาศัยของสงฆ์ได้ ต่อมาเมื่อได้พระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว พระมหาอินทราชกับคณะดังกล่าว ได้จัดการสร้างพระอุโบสถขึ้นตาปะขาวขุนแก้วเสนา ได้มีหนังสือขอพระราชทานคุมเลขยกเว้นการใช้งานหลวงต่าง ๆ ถวายไว้แก่วัดเพื่อช่วยเหลือในการสร้างพระอุโบสถ ๕ คน คือนายเพ็ง นางพรหม นายนัด นายคง และนายกุมาร ครั้นพระอุโบสถเสร็จแล้วก็มีหนังสือบอกถวายพระราชกุศลไปให้พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์องค์หนึ่ง หล่อด้วยเงินอีกองค์หนึ่งส่งไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาอ้อ แล้วพระมหาอินทราชพร้อมด้วยสัปบุรุษทายก ได้จ้างช่างเขียนลายลักษณะพระพุทธบาททำมณฑป กว้าง ๕ วา สูง ๖ วา ขึ้นบนไหล่เขาอ้อเป็นประดิษฐานลายลักษณ์พระพุทธบาท ต่อมาพระมหาอิทราชทรงเห็นว่าลายลักษณ์ที่จ้างช่างเขียนไว้ไม่ถาวร จึงพร้อมด้วยขุนศรีสมบัติเรี่ยไรเงินจากผู้ที่ศรัทธาได้ ๑๐ ตำลึง" และก็มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ของเมืองพัทลุงที่ได้กล่าวถึงความสำคัญของวัดเขาอ้อ หรือสำนักเขาอ้อที่เกี่ยวกับวิชาไสยศาสตร์ความว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ครั้งที่พม่ายกทัพมาตีเมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราช ได้เป็นผลสำเร็จแล้วยกทัพตีมาเรื่อยพระยาพัทลุง (ขุน) กับพระมหาช่วย วัดป่าเลไลย์ ชาวบ้านน้ำเลือด ซึ่งเป็นศิษย์อาจารย์วัดเขาอ้อมีความรู้เชี่ยวชาญในทางไสยเวทย์ได้ลงตะกรุด ผ้าประเจียดให้แก่ไพร่พลแล้วแต่งเป็นกองทัพยกไปคอยรับทัพพม่าอยู่ที่ตำบลท่าเสียด ครั้นทัพพม่ายกกำลังมาถึงเห็นกองทัพไทยจากพัทลุงมีกำลังมากกว่าตนแต่ที่แท้จริงมีกำลังน้อยกว่ากองทัพพม่าหลายเท่า แต่ด้วยอำนาจพระเวทย์มนต์ตราและคาถาที่พระมหาช่วยนั่งบริกรรมภาวนาอยู่เบื้องหลัง ทำการผูกหุ่นพยนต์ขึ้นเป็นทหารสูงใหญ่ให้ข้าศึกมองเห็นเป็นคนจำนวนมากและมีกำลังร่างกายสูงใหญ่ ดุดันผิดปรกติกองทัพพม่าจึงยกทัพกลับไป พระมหาช่วยมีความชอบทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ลาสิกขาแล้วทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น "พระยาทุกขราษฎร์" เป็นผู้ช่วยราชการเมืองพัทลุง ชาวเมืองพัทลุงได้ยกย่องพระมหาช่วยว่าเป็นวีรบุรุษ จึงได้ร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ประดิษฐานไว้ที่สามแยก ท่ามิหรำ อำเภอเมืองจังหวัดพัทลุง ในบริเวณเขาอ้อมีถ้ำหลายแห่ง เช่น ถ้ำพระ หรือถ้ำฉัททันต์บรรพตใช้สำหรับปลุกเสกพระเครื่องและวัตถุมงคล จตุคามรามเทพ ถ้ำไทร ถ้ำหอม และถ้ำท้องพระโรง วัดเขาอ้อแต่เดิมเรียกว่าวัด "ประดู่หอม" ได้เปลี่ยนนามมาเป็น "วัดเขาอ้อ" ในสมัยพระครูสังฆวิจารณ์ฉัตรทันต์บรรพต เป็นเจ้าอาวาส นับได้ว่าเป็นวัดที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดวัดหนึ่งในจังหวัดพัทลุง โดยตั้งอยู่ที่ริมทางรถไฟก่อนที่จะถึงสถานีรถไฟปากคลองเพียง ๒ กิโลเมตรขึ้นอยู่ในเขตตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน วัดเขาอ้อเป็นวัดสำคัญและมีบทบาทวัดหนึ่งในสมัยอยุธยาแต่สมัยต่อมาขาดการดูแลจนกลายเป็นวัดร้าง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๒๘๔ พระมหาอินทราชซึ่งเดินทางมาจากเมืองปัตตานีมาเป็นเจ้าอาวาสได้บูรณะปฎิสังขรณ์สิ่งปรักหักพังต่าง ๆ ที่มี เช่น พระพุทธรูปในถ้ำ ๑๐ องค์ ตลอดถึงพระอุโบสถและเสนาสนะอื่น ๆ หลังจากนั้นพระมหาอินทราชได้มีหนังสือไปกรุงศรีอยุธยาเพื่อขอพระราชการกุศลแด่พระเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระองค์โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริด ๑ องค์ พระพุทธรูปหล่อด้วยเงิน ๑ องค์ ให้แก่วัดเขาอ้อ ชาวบ้านเรียกพระพุทธรูปทั้งสอง ว่ารูปเจ้าฟ้าอิ่มและรูปเจ้าดอกมะเดื่อ สำหรับพระพุทธรูปเจ้าฟ้ามะเดื่อที่ว่านี้ยังมีผู้เล่าประวัติออกไปว่าที่เชื่อเช่นนั้น ก็เพราะอดีตนายมะเดื่อ หรือพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา และเชื่อกันว่านายมะเดื่อนั้นเป็นโอรสของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้เดินทางไปศึกษาวิทยากรในสำนักเขาอ้อ โดยยกกันไปทั้งครอบครัวหนึ่งในจำนวนนั้นมีเชื้อพระวงศ์แต่ไม่แน่ว่าเป็นสายใดชื่ออิ่มอยู่ด้วย ครั้นศึกษาได้พอสมควรแล้วก็เดินทางกลับกรุงศรีอยุธยาเข้ารับราชการจนกระทั้งเสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็นพระเจ้าเสือ ขณะที่อยู่ที่วัดเขาอ้อก็ได้สร้างปูชนีวัตถุไว้เป็นอนุสรณ์อย่างหนึ่งคือพระพุทธรูปที่ว่านี้ ต่อมาเมื่อชาวบ้านทราบว่าผู้ที่เดินทางไปศึกษาวิทยาคุณในครั้งนั้นถึงเป็นถึงเจ้าฟ้า จึงได้ถวายนามพระพุทธรูปองค์นั้นตามชื่อผู้สร้างคือเจ้าฟ้ามะเดื่อเพื่อเป็นอนุสรณ์ เพราะสร้างตั้งแต่เป็นเจ้าฟ้ามะเดื่อ ส่วนเจ้าฟ้าอิ่มนั้นก็เช่นกันสร้างขึ้นโดยราชวงศ์องค์หนึ่ง ซึ่งมีนามเดิมว่าอิ่มซึ่งต่อมาได้เป็นใครก็ไม่อาจจะทราบได้ ผลแต่การศึกษาของเจ้าฟ้ามะเดื่อหรือพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในทางวิทยาการด้านนี้ ต่อมาพระมหาอินทราชได้สร้างพระพุทธบาทจำลองด้วยมณฑปไว้บนเขาอ้อ สร้างพระพุทธไสยาสน์ ๑ องค์ และสร้างเจดีย์ไว้บนเขา ๓ องค์  เมื่อท่านพระมหาอินทราชได้ออกจากวัดไปทำให้วัดก็มีสภาพเสื่อมโทรมอีกครั้ง ท่านปะขาวขุนแก้วเสนา และขุนศรีสมบัติพร้อมด้วยบรรดาชาวบ้านใกล้เคียง ได้ไปนิมนต์พระมหาคง จากวัดพนางตุงมาเป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่นั้นมาวัดก็ค่อย ๆ เจริญขึ้นเรื่อย ๆ วัดเขาอ้อมีเจ้าอาวาสปกครองต่อกันมากมายหลายสิบรูป ล้วนแต่มีความเชี่ยวชาญทางไสยศาสตร์ มีชื่อเสียงโดงดังไปทั่วภาคใต้ ชาวพัทลุงและใกล้เคียงเชื่อกันว่าเป็นวัดเขาอ้อมีความศักดิ์สิทธิ์และชื่อเสียงทางด้านไสยศาสตร์มาตั้งแต่โบราณกาล

   ตำนานกล่าวว่าก่อนที่จะมาเป็นวัดเขาอ้อเป็นสำนักเขาอ้อมาก่อนเล่ากันว่าจุดกำเนิดของสำนักเขาอ้อนี้ แต่เดิมเป็นที่บำเพ็ญพรตของพราหมณ์มาหลายรุ่น อันเนื่องจากภายในถ้ำบนเขาอ้อนั้นเป็นทำเลที่ดีมาก ตัวเขาอ้อเองก็ตั้งอยู่บนเส้นทางสัญจรของชุมชนในอดีตเมืองที่เจริญในละแวกนั้นได้แก่ สทิงปุระ หรือสะทิงพาราณสีซึ่งก็คืออำเภอสทิงพระในปัจจุบัน ประวัติของเมืองสทิงปุระนั้นเกี่ยวข้องกับพราหมณ์อยู่มาก แม้กระทั่งในสมัยศรีวิชัยที่ศาสนาพุทธแผ่อิทธิพลทั่วแหลมาลายู ในบริเวณสว่นนั้น (เขตเมืองพัทลุงในปัจจุบัน) ยังเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของพราหมณ์ หลักฐานทางประวัติศาสตร์บอกว่าเป็นเมืองที่มีชุมชนหนาแน่นที่สุดในขณะนั้น ต่อมามีพราหมณ์ผู้ทรงวิทยาคุณ (ฤาษี) คณะหนึ่งได้ไปบำเพ็ญพรตอยู่ที่ถ้ำบนเขาอ้อบำเพ็ญพรตจนเกิดอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ ตามตำราอาถรรพเวท (พระเวทอันดับ ๔ ของคัมภีร์พราหมณ์) แล้วได้ถ่ายทอดวิชานั้นต่อ ๆ กันมา พร้อมกันนั้นก็ได้จัดตั้งสำนักถ่ายทอดวิชาความรู้แก่ผู้สนใจ ซึ่งตามวรรณะแล้วพราหมณ์มีหน้าที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่เชื้อพระวงศ์ หรือวรรณะกษัตริย์และลูกหลานผู้นำ เพื่อจะให้นำไปเป็นความรู้ในการปกครองคนต่อไป สำนักเขาอ้อสมัยนั้นจึงมีฐานะคล้าย ๆ สำนักทิศาปาโมกข์ของพราหมณ์ผู้ทรงคุณพราหมณ์ผู้ทรงคุณดังกล่าวได้ถ่ายทอดวิชาต่าง ๆ ให้พราหมณาจารย์สืบทอดต่อ ๆ กันมาซึ่งเท่าที่สืบค้นรากฐาน ก็พบว่าวิชาที่ถ่ายทอดให้คณาศิษย์นอกจากวิชาในเรื่องการปกครองตามตำราธรรมศาตร์แล้ว ก็ยังมีเรื่องพิธีกรรมฤกษ์ยามการจัดทัพตามตำราพิชัยสงคราม ตลอดจนไปถึงไสยเวท และการแพทย์ตามตำนานบอกวิชาสองสายสืบทอดโดยพราหมณาจารย์ผู้เฒ่าสองคน ซึ่งสืบทอดกันคนละสายตลอดมา การสืบทอดวิชาของสำนักเขาอ้อได้ดำเนินเช่นนั้นไป  จนกระทั้งมาถึงพราหมณ์รุ่นสุดท้ายและได้เห็นว่าไม่มีผู้รับสืบทอดต่อแล้ว ประกอบกับเล็งเห็นว่าเมื่อสิ้นท่านแล้วสถานที่แห่งนั้นเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ พราหมณ์ผู้บรรลุพระเวทหลายคนได้ฝังร่างไว้ที่นั้น สถานที่นั้นจึงสำคัญเกินที่จะปล่อยให้รกร้างไปได้พราหมณ์ผู้เฒ่าท่านนั้นจึงได้เล็งหาผู้ที่จะมาสืบทอด และรักษาสถานที่สำคัญนั้นไว้ ประกอบกับขณะนั้นอิทธิพลทางพุทธศาสนาได้แผ่เข้ารายล้อมเขตเมืองพัทลุงแล้วบริเวณข้าง ๆ ในบริเวณเขาอ้อก็มีวัดอยู่หลายวัด มหาพราหมณ์ทั้ง ๒ ท่านเล็งเห็นว่าต่อไปภายภาคหน้าพุทธศาสนาจะยั่งยืนและแผ่อิทธิพลในดินแดนแถบนี้ การที่จะฝากอะไรไว้กับผู้ที่ยั่งยืนและมีอิทธิพลน่าจะเป็นการดีกว่า ท่านเลยตัดสินใจนิมนต์พระภิกษุรูปหนึ่งมาจากวัดน้ำเลี้ยวให้มาอยู่ในถ้ำแทนท่านจากนั้นก็มอบคำภีร์พระเวทศักดิ์สิทธิ์ ของบูรพาจารย์พราหมณ์พร้อมทั้งถ่ายทอดวิชาทางไสยเวทให้ รวมทั้งวิชาทางการแพทย์แผนโบราณแก่ท่านพระภิกษุรูปแรก ที่พราหมณ์ผู้เฒ่านิมนต์มามีนามว่า "ทอง" (วัดเขาอ้อมีลักษณะพิเศษที่มักจะมีเจ้าอาวาสที่ชื่อทองติดต่อกันมาหลายสิบรูป)  ซึ่งต่อมาเจ้าอาวาสของวัดเขาอ้อทุกรูป ก็จะได้รับการถ่ายทอดวิชาตามคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของบูรพาจารย์พราหมณ์สืบต่อกันมา ทำให้เป็นผู้ทรงคุณวิเศษในด้านไสยเวทวิทยาคมเป็นที่ประจักษ์มาทุกยุคทุกสมัย ด้วยเหตุผลดังกล่าววัดเขาอ้อจึงมีชื่อเสียงในทางไสยเวทและการแพทย์แผนโบราณ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับว่าน ภายหลังจึงมีพิธีแช่ว่าน พิธีกรรมทางไสยเวทหลายอย่างขึ้นที่นั่นจนลือเลื่องไป

      วัดเขาอ้อเป็นแหล่งวิทยาคมทางไสยศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังตั้งแต่สมัยโบราณ พระเกจิอาจารย์ผู้สืบต่อวิชาทางไสยศาสตร์ต่างก็เป็นที่พึ่งที่เคารพศรัทธาของประชาชนทั่วไป เช่น พระอาจารย์ทองเฒ่าหรือพระครูสิทธิยาภิรัต (เอียด) พระอาจารย์นำ แก้วจันทร์ พระอาจารย์ศรีเงิน วัดดอนศาลา พระครูพิพัฒน์สิริธร (อาจารย์คง) วัดบ้านสวน พระอาจารย์ปาน วัดเขาอ้อ และที่เป็นฆราวาสที่คนทั่วไปรู้จักกันดีได้แก่ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช วัดเขาอ้อหรือสำนักเขาอ้อมีลักษณะคล้ายสำนักทิศาปาโมกข์ของพราหมณ์ หรือฤษีผู้ทรงคุณวิชาที่ถ่ายทอดนอกจากวิชาการปกครองตามตำราธรรมศาสตร์แล้ว พราหมณ์ผู้ทรงคุณวุฒิได้ถ่ายทอดเรื่องพิธีกรรมฤกษ์ยามการจัดทัพตามตำราพิชัยสงครามตลอดจนไสยเวทย์ และการแพทย์ สำนักเขาอ้อหรือวัดเขาอ้อได้มีความเจริญรุ่งเรืองและบางครั้งก็ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จนสมัยของเจ้าอาวาสรูปที่ ๙ คืออาจารย์ทองเฒ่าหรือพระครูสังฆวิจารณ์ฉัตรฑันบรรพต ซึ่งมีความชำนาญทางไสยศาสตร์มากได้มีการปรับปรุงและพัฒนาวัดเขาอ้อจนมีชื่อเสียงขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง วัดเขาอ้อได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๑๖๖๑ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๒๐ เมตร 


ความสำคัญ

      วัดเขาอ้อ ตั้งอยู่หมู่ที่  ๓  ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งในสมัยอยุธยา เดิมเป็นวัดร้างมาก่อนวัดเขาอ้อ ตั้งอยู่ที่หมู่ ๓ ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง นับเป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งของพัทลุงซึ่งมีชื่อปรากฏในสารตราของพระยานครศรีธรรมราชที่มีมาถึงพระยาแก้โกรพพิชัยบดินทรเดชอภัยพิริยะพาหะ เจ้าเมืองพัทลุง เขียนขึ้นเมื่อวันเสาร์ เดือน ๙ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีระกา จุลศักราช ๑๑๐๓ เป็นวัดโบราณที่มีชื่อเสียงโด่งดังทางไสยศาสตร์มาแล้ว ตั้งแต่สมัยโบราณพระเกจิอาจารย์ผู้สืบต่อวิชาทางไสยศาสตร์ ต่างก็เป็นที่พึ่งที่เคารพศรัทธาของประชาชนทั่วไป เช่น พระอาจารย์ทองเฒ่า พระอาจารย์ปาน วัดเขาอ้อ และที่เป็นฆราวาสที่คนทั่วไปรู้จักกันดีได้แก่ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นต้น ว่ากันโดยประวัติการก่อตั้งสำนักเพื่อเผยแพร่วิทยาการด้านการแพทย์แผนโบราณพบว่ามีสำนักเก่าแก่และเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางอยู่สำนักหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นแม่แบบก็ว่าได้สำนักที่ว่านี้คือ “สำนักเขาอ้อ” ซึ่งตามประวัติพบหลักฐานว่าสำนักเขาอ้อเป็นสำนักเผยแพร่วิทยาการโบราณประจำแคว้นลังกาสุกะหรือเมืองสงขลาในปัจจุบัน ในปัจจุบันสำนักเขาอ้อแห่งนี้มีฐานะเป็นวัด ๆ วัดในเขตจังหวัดพัทลุง หลักฐานที่สนับสนุนความเชื่อที่ว่าสำนักเขาอ้อเป็นสำนักเผยแพร่วิทยาการทางด้านการแพทย์โบราณที่สำคัญในอดีต มีหลายอย่างด้วยกันแต่ที่สำคัญ คือตำราการแพทย์ของสำนักแห่งนี้เมื่อตรวจทานอายุกันแล้วพบว่ามีมาช้านานกว่าของสำนักใด ๆ ในแผ่นดินสุวรรณแห่งนี้สูตรยาจำนวนมากมาจากสำนักแห่งนี้และถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ท่านเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อหลายต่อหลายองค์ล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องไสยศาสตร์ วิชาการ เวทย์มนตร์ และคาถาต่าง ๆ จึงได้รับการรักษาและถ่ายทอดสืบต่อกันมามิได้ขาดสาย จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วทุกสารทิศ 

พิธีกรรมหรือกิจกรรม

       ความเชื่อทางไสยศาสตร์ของวัดเขาอ้อมีมากมายหลายประการ เช่น เสกน้ำมันงาให้เดือด ให้แข็ง แล้วทำพิธีป้อนให้ศิษย์เป็นคงกะพัน วิธีอาบว่านแช่ยา เป็นคงกะพันกันโรค พิธีหุงข้าวเหนียวดำกิน เป็นคงกะพัน กันเจ็บเอว เจ็บหลังเป็นอายุวัฒนะ พิธีสอนให้สักยันต์ที่ตัวด้วยดินสอหรือมือ เป็นคงกะพันชาตรีเป็นมหาอุด แคล้วคลาด เป็น เมตตามหานิยม พิธีลงตะกรุด ๑ ดอก ๔ ดอก ๕ดอก ๑๖ ดอก พิธีลงตะกรุด ๑ ดอก ๔ ดอก ๑๖ ดอก วิชาความรู้เกี่ยวกับฤกษ์ยาม ตามตำราพิชัยสงคราม วิชาความรู้ทางยารักษาโรค รักษาคนเป็นบ้า รักษาคนกระดูกหัก กระดูกแตก ต่อกระดูก รักษาโรค ตามตำราเขาอ้อ ต้องรักษาเพื่อการกุศลหายแล้วนำอาหารคาวหนาวไปถวายพระ พิธีพิเศษและสูงสุดระดับชาติ ระดับศาสนา คือทำไม้เท้ากายสิทธิ์ชี้ต้นตายชี้ปลายเป็น นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันท่านเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อหลายต่อหลายรูป ล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องไสยศาสตร์ วิชาการ เวทมนตร์ และคาถาต่าง ๆ จึงได้รับการรักษาถ่ายทอดสืบต่อกันมามิได้ขาดสาย จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วทุกสารทิศ ความเชื่อทางไสยศาสตร์ของวัดเขาอ้อที่นิยมใช้ประกอบพิธีกรรมที่สำคัญมีอยู่ ๔ พิธี คือ

       ๑. พิธีเสกว่านให้กิน ทำโดยการนำว่านที่เชื่อว่ามีสรรพคุณทางด้านอยู่ยงคงกระพัน มาลงอักขระเลขยันต์แล้วนำไปปลุกเสกด้วยอาคมตามหลักไสยศาสตร์หลังเสร็จพิธีจะนำมาแจกจ่ายให้กิน พิธีเสกว่านให้กิน หมายถึงการนำเอาว่านที่เชื่อว่ามีสรรพคุณทางด้านอยู่ยงคงกระพันชาตรีหรือทางด้านมหาอุด มาลงอักขระเลขยันต์ทางเวทมนต์คาถา แล้วนำไปให้พระอาจารย์ผู้ชำนาญเวท ปลุกเสกด้วยอาคมกำกับอีกครั้งหนึ่ง ว่านที่นิยมใช้ในพิธี ได้แก่ว่านขมิ้นอ้อย ว่านสบู่เลือด ว่านสีดา ว่านเพชรตรี ว่านเพชรหน้าทั่ง เป็นต้น ว่านเหล่านี้เชื่อกันว่ามีเทพารักษ์คอยคุ้มครองรักษา พันธุ์ว่านบางชนิดต้องไปทำพิธีกินในสถานที่พบ ที่นิยมมาก ได้แก่การกินว่านเพชรหน้าทั่งการทำพิธีกินต้องหาฤกษ์ยามเสียก่อน เมื่อได้ฤกษ์แล้วพระอาจารย์จะนำสายสิญจน์ไปวนไว้รอบต้นว่าน แล้วตั้งหมากพลูบูชาเทพารักษ์ ปลุกเสกอาคมทางหลักไสยศาสตร์เมื่อเสร็จพิธีแล้วนำมาแจกจ่ายกินกัน เชื่อว่าจะทำให้ผู้นั้นเป็นคนอยู่ยงคงกระพันชาตรีการเสกว่านให้กิน เมื่อสิ้นพระอาจารย์ทองเฒ่าแล้วนิยมไปทำกันที่วัดดอนศาลา ตำบลมะกอกเหนือ โดยมีพระครูสิทธยาภิรัต (เอียด) เจ้าอาวาสวัดดอนศาลาเป็นผู้ประกอบพิธี เช่น การประกอบพิธีกินว่านหน้าทั่ง เมื่อวันพุธ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๕ พ.ศ. ๒๔๗๓ มีอาจารย์นำ แก้วจันทร์ (ยังเป็นฆราวาส) เป็นผู้หาฤกษ์ยามผู้ร่วมกินมี พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช และพระเณรในวัดดอนศาลา
       ๒. พิธีหุงข้าวเหนียวดำ ทำโดยนำเครื่องยาสมุนไพร หรือว่านต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า ๑๐๘ ชนิด มาต้มเอาน้ำยาใช้หุงกับข้าวเหนียวดำ เมื่อข้าวเหนียวสุกแล้วนำไปเข้าพิธีปลุกเสก ก่อนนำมาป้อนให้กิน พิธีหุงข้าวเหนียวดำ นิยมทำพร้อมกับพิธีเสกน้ำมันงาดิบ ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "กินเหนียวกินมัน" แต่ละปีจะประกอบพิธีกิน ๒ ครั้ง คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ และวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ พิธีหุงข้าวเหนียวดำ หมายถึงการนำเครื่องยาสมุนไพร หรือว่านชนิดต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า ๑๐๘ ชนิด มาผสมกันแล้วต้มเอาน้ำยามาใช้หุงข้าวเหนียวดำ ซึ่งข้าวเหนียวดำที่นำมาหุงนั้นเป็นข้าวเหนียวที่เรียกกันว่า “ข้าวเหนียวดำหมอ”  คือมีลักษณะเมล็ดดำสนิทโต และแข็งกว่าเหนียวดำทั่วไป การประกอบพิธีนิยมทำกันภายในอุโบสถมากกว่าสถานที่อื่น ๆ ในสมัยก่อนนิยมทำกันในถ้ำฉัตรทันต์ หม้อและไม้ฟืนทุกอันจะต้องลงอักขระเลขยันต์กำกับด้วยเสมอพระอาจารย์ผู้ประกอบพิธีจะเริ่มปลุกเสก ตั้งแต่จุดไฟ จนกระทั่งข้าวเหนียวในหม้อสุก แล้วนำข้าวเหนียวที่สุกแล้วไปประกอบพิธีปลุกเสกอีกครั้งหนึ่งจนเสร็จพิธี พิธีกินข้าวเหนียวดำจะทำพิธีกันภายในอุโบสถ ก่อนกินถ้าสานุศิษย์คนใดไม่บริสุทธิ์ต้องทำพิธีสะเดาะ หรือเรียกว่า "พิธีการเกิดใหม่" หรือ "พิธีบริสุทธิ์ตัว" เพื่อให้ตัวเองบริสุทธิ์จากสิ่งไม่ดีชั่วร้ายทั้งปวง  เมื่อถึงเวลาฤกษ์กินข้าวเหนียวดำสานุศิษย์ จะเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นนุ่งด้วยผ้าขาวม้าโจงกระเบนไม่ใส่เสื้อแล้วเข้าไปกราบพระอาจารย์ผู้ประกอบพิธี ๓ ครั้ง เสร็จแล้วพระอาจารย์จะให้นั่งชันเข่าบนหนังเสือ เท้าทั้ง ๒ เหยียบบนเหล็กกล้าหรือเหล็กเพชร ปิดศรีษะด้วยหนังหมี มือทั้ง ๒ วางบนหลังเท้าของตัวเอง พระอาจารย์ใช้มือซ้ายกดมือทั้ง ๒ ไว้ พร้อมกับภาวนาพระคาถา ส่วนมือขวาปั้นข้าวเหนียวดำเป็นก้อนป้อนให้ศิษย์ครั้งละ ๑ ก้อน แล้วปล่อยมือศิษย์ที่กดไว้บนเหลังเท้า มือทั้ง ๒ ของศิษย์จะลูบขึ้นไปตั้งแต่หลังเท้าจนทั่วตัวจดใบหน้าการลูบขึ้นนี้เรียกว่า "การปลุก" เสร็จแล้วลูบลง เอามือทั้ง ๒ ไปวางไว้บนหลังเท้าทั้ง ๒ เช่นเดิม โดยกะประมาณว่ากินข้าวเหนียวก้อนแรกหมดพอดี สำหรับผู้ที่ไม่เคยกินอาจกลืนลำบากเนื่องจากว่าข้าวเหนียวมีรสขมมาก บางคนป้อนก้อนแรกถึงกับอาเจียนออกมาก็มีแต่ถ้ากลืนก้อนแรกจนหมดได้ก้อนต่อไปจะไม่มีปัญหาพระอาจารย์จะป้อนจนครบ ๓ ก้อน ในแต่ละครั้งจะลูบขั้นลูบลงเช่นเดียวกับครั้งแรก แต่ครั้งที่ ๓ นั้นเมื่อศิษย์กินข้าวเหนียวหมดแล้ว พระอาจารย์จะใช้มือซ้ายกดมือทั้ง ๒ ไว้ที่เดิมหัวแม่มือขวาสะกดสะดือศิษย์ทำทักษิณาวัตร ๓ รอบ พร้อมกับภาวนาพระคาถาไปด้วยเป็นการผูกอาคมสำหรับคุณค่าของการกินข้าวเหนียวดำ สานุศิษย์ของสำนักเขาอ้อเชื่อกันว่าใครกินได้ถึง ๓ ครั้ง จะทำให้อยู่ยงคงกระพันชาตรีเป็นมหานิยมและยังเป็นยาแก้โรคปวดหลังปวดเอวได้เป็นอย่างดี

   ๓. พิธีเสกน้ำมันงาดิบ ทำโดยใช้น้ำมันงาดิบหรือน้ำมันยางแดงผสมว่าน พระอาจารย์ผู้ประกอบพิธีนั่งบริกรรมคาถาจนน้ำมันแห้งแล้วจึงนำมาป้อนให้กิน การเสกน้ำมันงาดิบต้องมีเครื่องบูชาครูเช่นเดียวกับการหุงข้าวเหนียวดำ คือหมาก ๙ คำ ดอกไม้ ๙ ดอก เทียน ๑ เล่ม ธูป ๓ ดอก สายสิญจน์ หนังเสือ หนังหมี เอาวางไว้ที่หน้าเครื่องบูชา การเสกน้ำมันส่วนใหญ่นิยมใช้น้ำมันงาดิบหรือน้ำมันยางแดงประสมว่าน พระอาจารย์ผู้ประกอบพิธีจะนั่งบริกรรมพระคาถาจนน้ำมันแห้งเป็นขี้ผึ้งเรียกว่า"พิธีตั้งมัน"เมื่อเสกจนน้ำมันแห้งแล้ว พระอาจารย์จะทำพิธีป้อนน้ำมันให้สานุศิษย์แบบเดียวกับพิธีป้อนข้าวเหนียวดำ คือผู้ที่จะกินมันต้องเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่เคยผิดศีลข้อกาเมมาก่อนถ้าบุคคลใดไม่บริสุทธิ์ต้องให้พระอาจารย์ทำพิธี "บริสุทธิ์ตัว" คือ "สะเดาะ" เสียก่อน เสร็จแล้วก็ทำเช่นเดียวกับกินข้าวเหนียวดำ โดยพระอาจารย์ผู้ประกอบพิธีจะป้อนน้ำมันให้กิน ๓ ช้อน แต่ละช้อนมีขมิ้นอ้อย ๑ ชิ้น เมื่อกินช้อนที่ ๓ หมด พระอาจารย์จะตักน้ำมันมาทาบบนฝ่ามือทั้ง ๒ ของศิษย์แล้วเขียนตัวอักขระตัว "นะโม" ข้างละ ๑ ตัว จับมือศิษย์ทั้ง ๒ ประกบกันละเลงให้น้ำมันทั่วฝ่ามือ แล้วนำไปทาบนหลังเท้าทั้ง ๒ ข้าง ข้างละมือ พร้อมกับพระอาจารย์จะปลุกเสกคาถากำกับไปด้วย ต่อจากนั้นใช้มือลูบขึ้นและลูบลงเช่นเดียวกับการกินข้าวเหนียวดำ เสร็จแล้วมือซ้ายของอาจารย์จะกดมือทั้ง ๒ ไว้หัวแม่มือขวาสะกดสะดือศิษย์ไว้ เช่นเดียวกับการกินข้าวเหนียวดำเพื่อเป็นการผูกอาคม เป็นอันเสร็จพิธีการกินน้ำมันงาดิบ คุณค่าการกินน้ำมันงาดิบของสำนักวัดเขาอ้อเชื่อกันว่ามีคุณค่าทางด้านอยู่ยงคงกะพัน มีเมตตามหานิยม แต่มีข้อห้ามไว้ว่าถ้าผิดลูกเมียผู้อื่นเมื่อใดน้ำมันที่กินเข้าไปจะไหลออกมาตามขุมขนจนหมดสิ้น และถ้าจะกินน้ำมันใหม่ก็ต้องทำพิธีสะเดาะใหม่อีกครั้ง

๔. พิธีแช่ว่านยา ทำโดยให้ผู้ต้องการเข้าประกอบพิธีกรรมลงไปนอนแช่ในน้ำว่านยา ที่ได้ปลุกเสกตามหลักไสยศาสตร์จากพระอาจารย์ผู้ประกอบพิธีกรรมมาแล้วเชื่อกันว่าศิษย์จากสำนักวัดเขาอ้อที่ได้เล่าเรียนวิชาและผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ ทางไสยศาสตร์ที่กล่าวมาแล้วนั้น ย่อมมีพลังร่างกายที่คงกระพัน พิธีแช่ว่านยาเป็นพิธีกรรมชั้นสูงทางไสยศาสตร์ของสำนักวัดเขาอ้อ การแช่ว่านยา หมายถึงการที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดลงไปนอนแช่ในน้ำว่านยาที่ได้ต้องทำพิธีปลุกเสกตามหลักวิชาไสยศาสตร์จากพระอาจารย์ผู้เรืองอาคม เพื่อให้ตัวเองอยู่ยงคงกระพันชาตรี วัดเขาอ้อจึงได้นามอีกอย่างหนึ่งว่า "วัดพระอาจารย์ขลัง" หลายคนเชื่อกันว่าวัดเขาอ้อเป็นต้นตำรับพิธีการแช่ยา ต่อมาเมื่อมีลูกศิษย์มากขึ้น พิธีการนี้ก็แพร่หลายออกไปตามวัดต่าง ๆ เช่น วัดดอนศาลา วัดบ้านสวน อำเภอควนขนุน วัดเขาแดงออก วัดยาง วัดปากสระ อำเภอเมือง พัทลุง เป็นต้น พิธีการแช่ยาที่วัดเขาอ้อ นิยมประกอบพิธีบนไหล่เขาหรือภายในถ้ำฉัตรทันต์ ในราวเดือน ๕ เดือน ๑๐ ของทุก ๆ ปี โดยก่อเป็นรูปอ่างน้ำสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือใช้เรือขุดจากไม้ก็ได้ให้มีขนาดพอที่จะให้คนลงไปนอนได้ประมาณ ๓-๔ คน ส่วนมากไม่มีการกำหนดขนาดที่แน่นอน อ่างน้ำนี้เรียกว่า"รางยา" เนื่องจากพิธีกรรมแช่ว่าว่านยาเป็นพิธีใหญ่มาก และเป็นพิธีชั้นสูงของสำนักวัดเขาอ้อและทำได้ยากลำบาก เครื่องบูชาครูจึงต้องมีมากเป็นธรรมดา คือหัวหมู บายศรีไหญ่ ยอดบายศรี สวมแหวนทองคำหนัก ๑ บาท หมากพลู ธูปเทียน ดอกไม้ และมีหนังสือหนังหมี เหล็กกล้า เป็นเครื่องประกอบ เชื่อกันว่าศิษย์จากสำนักวัดเขาอ้อที่ได้เล่าเรียนวิชาและผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ ทางไสยศาสตร์ที่กล่าวมาแล้วนั้นย่อมมีพลังร่างกายที่คงกระพันและศิษย์เอกคนสำคัญแห่งสำนักวัดเขาอ้อแห่งนี้ที่มีชื่อเสียงรู้จักกันทั่วไป คือท่านพระอาจารย์นำ ชินวโร (แก้วจันทร์) อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนศาลาและ พล.ต.ต. ขุนพันธ์รักษ์ราชเดช

ภาพสืบค้นจาก :  http://www.tnews.co.th/contents/372963


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

พระอุโบสถ

 

        พระอุโบสถของวัดเขาอ้อมีความกว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๒๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ ในพระอุโบสถมีพระประธานประดิษฐานอยู่ ๒ องค์ คือพระพุทธรูปประทับยืนเจ้าฟ้าอิ่ม ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ พระพุทธรูปเจ้าฟ้าดื่อทำด้วยเงิน และรูปเหมือนอาจารย์ทองเฒ่าอดีตเจ้าอาวาส

กุฏิทรงไทย

กุฎิทรงไทยนี้เป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามและทรงคุณค่าอดีตเคยเป็นกุฎิเจ้าอาวาส ปัจจุบันได้อนุรักษ์โดยการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมมากที่สุด

สภาพเดิมกุฎิทรงไทยก่อนการบูรณะ

พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณสถาปัตยกรรมหน้าบันกุฏิทรงไทยโบราณ

ถ้ำพระหรือถ้ำฉัททันต์บรรพต 

       ภูเขาลูกเดียวโดยมีทุ่งนาโอบล้อมภูเขาในภูเขาลูกนี้มีถ้ำซึ่งลึกและยาวออกไปหลายกิโลเมตร ถ้ำนี้มีความกว้างประมาณ ๗ เมตร ยาวประมาณ ๓๐ เมตร ปากถ้ำเดิมก่อด้วยอิฐถือปูน มีบานประตูทำด้วยไม้ ๑ ประตู มีทางเข้าถ้ำ ๑ ทางปากถ้ำขนาดกว้าง ๑.๕๐ เมตร สูงประมาณ ๑.๘๐ เมตร บริเวณปากถ้ำกว้างประมาณ ๒ วา ยาว ๑๐ วา โดยประมาณต่อจากบริเวณปากถ้ำเข้าไปมีทางแยกออกไปหลายสาย ถ้ำนี้มีชื่อว่า "ถ้ำฉัตรทันต์บรรพต" ในสมัยโบราณนับเป็นพัน ๆ ปีมาแล้วเขาอ้อเป็นสถานที่บำเพ็ญพรตของบรรดาพราหมณาจารย์ต่าง ๆ หรืออีกชื่อหนึ่งว่าปะขาวหรือตาปะขาว บำเพ็ญพรตจนเกิดฤทธิ์ต่าง ๆ ตาม ถ้ำพระหรือถ้ำฉัททันต์บรรพตเป็นถ้ำหนึ่งในบรรดาถ้ำบนเขาอ้อ ภายในเมื่่อเดินเข้าไปสิ่งทีจะเจอเป็นอันดับแรก คือรูปเหมือนของอาจารย์ทองเฒ่า ซึ่งเชื่อว่าสมัยก่อนอาจารย์ทอง มีคาถาอาคมแก่กล้าเดินข้ามเขาเป็นลูก ๆ ได้สบาย มีคาถาแบกหินจากมาวางไว้ในวัดทั้งก้อนโต ๆ ได้และสิ่งที่อยู่บนผนังถ้ำฝั่งตรงข้ามกับอาจารย์ทอง คือหินที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนหน้าช้างที่เรียกว่าพระยาฉัตรทันต์เป็นสิ่งเคารพบูชาของชาวบ้าน เมื่อเดินลึกเข้าไปอีกนิดก็จะพบกับพระพุทธรูปองค์เล็กหลาย ๆ องค์ ซึ่งเป็นรูปปั้นแทนพระหรือบุคคลสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวพันกับวัดนี้ ที่เรียกว่าถ้ำฉัททันต์เนื่องจากบริเวณเพดานถ้ำตอนหน้ามีหินปูนคล้ายรูปงวงช้างซึ่งคนในสมัยก่อน เข้าใจว่าหมายถึงพระยาช้างฉัททันต์อดีตชาติของพระพุทธเจ้าจึงเรียกถ้ำนี้ว่าถ้ำฉัททันต์ ปัจจุบันได้รับการบูรณะใหม่แล้วภายในถ้ำมือสนิท มีค้างคาวอาศัยอยู่มากมาย สภาพถ้ำจึงสกปรกเพราะขาดการดูแลรักษาเท่าที่ควร เมื่อถึงฤดูทำนาชาวบ้านจะเข้าไปขุดมูลค้างคาวตามผนังถ้ำ จึงมีเขม่าไฟตะเกียงติดดำไปหมด ตอนลึกที่สุดของถ้ำมีปล่องอากาศทะลุยอดเขา ทำให้เกิดแสงสว่างขึ้นในส่วนนี้ของถ้ำ ตามหลักฐานสารตราของเข้าพระยานครศรีธรรมราช มีมาถึงพระยาแก้วโกรพพิชัยบิดนทรเดชอภัยพิริยะพาหะเจ้าเมืองพัทลุง เขียนลงวันเสาร์ เดือน ๙ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีระกา จุลศักราช ๑๑๐๓ (พ.ศ. ๒๒๘๔) ตรงกับสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา มีใจความตอนหนึ่งว่า "ด้วยขุนศรีสมบัตินายกองสุราไปฟ้องว่า ที่วัดเขาอ้อนี้เป็นวัดสร้างมาก่อน แล้วกลับรกร้างสิ่งก่อสร้างชำรุดเสื่อมโทรมลงคราวหนึ่ง พระมหาอินทราชมาจากเมืองปัตตานีได้มาเป็นเจ้าวัด และได้จัดการปฏิสังขรณ์วัดขึ้นใหม่ โดยมีปะขาวขุนแก้วเสนาขุนศรีสมบัติเป็นหัวหน้าฝ่ายคฤหัสถ์ ช่วยกันซ่อมพระพุทธรูปภายในถ้ำ ๑๐ องค์ ซึ่งปรักหักพังเสร็จแล้ว ดำเนินการสร้างเสนาสนะอื่นๆ จึงเป็นที่ยุติได้ว่าพระพุทธรูปสร้างมาก่อน พ.ศ. ๒๒๘๔ แต่ปรักหักพังจึงได้บูรณะขึ้นใหม่ ส่วนรูปพระสาวกทั้ง ๒ องค์ กับพระพุทธรูปอีก ๑ องค์ เข้าใจว่าจะมาต่อเติมเมื่อภายหลัง ต่อมาคงจะมีการซ่อมแซมใหม่กันหลายครั้งจนเปลี่ยนแปลงลักษณะเดิมไปหมด" ปัจจุบันพระพุทธรูปถูกพอกปูนใหม่ดูไม่สวยงาม แบบฝีมือช่างพื้นบ้านตรงกลางถ้ำประดิษฐานรูปปูนปั้นพระอาจารย์ทองเฒ่าหรือพระอาจารย์ทอง อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อ ๒ ข้างซ้ายขวามีพระพุทธรูปไม้จำหลักปางมารวิชัย ๒ องค์ ฝีมือพื้นบ้านสมัยรัตนโกสินทร์ สมัยโบราณการประกอบพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ของวัดเขาอ้อมักนิยมทำกันภายในถ้ำนี้เพราะถือว่าเป็นถ้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่น การปลุกเสกพระ เครื่องรางของขลัง เช่นเดียวกับ การนิยมปลุกเสกพระเครื่องรางของขลังภายในอุโบสถที่เรียกว่ามหาอุดคืออุโบสถที่มีประตูทางเข้า ๑ ประตู ด้านหลังอุดตันเพราะเชื่อว่าจะทำให้เครื่องรางของขลังศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น เป็นคติที่ปฏิบัติต่อกันมาจนปัจจุบัน ถ้ำฉัททันต์นอกจากจะเป็นถ้ำที่มีความสำคัญทางไสยศาสตร์แล้ว ยังมีความสำคัญทางด้านศิลปะ โบราณคดี เนื่องจากได้มีการค้นพบ พระพุทธรูปบูชาขนาดเล็กภายในถ้ำพระ โพรงหินหน้าถ้ำจำนวนหลายองค์ ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยเงิน และ เงินยวง เท่าที่ค้นพบแล้วมี ๒ ปาง คือปางเปิดโลกและปางมารวิชัย ปางเปิดโลกชาวบ้านเรียกว่าพระทิ้งดิ่งส่วนใหญ่เป็นฝีมือช่างพื้นบ้านลักษณะไม่ค่อยสวยงามมีอายุราวสมัยอยุธยาตอนปลายเป็นอย่างสูง ถ้ำฉัตรทันต์มีพลังงานลี้ลับและมีหินย้อยปรากฏกายของพญาช้างฉัตรทันต์ ภายในจารึกสิ่งมหัศจรรย์เหนือจักรวาลอย่างสุดระทึกใจ


พระพุทธรูปองค์ใหญ่บนหน้าผาเขาอ้อ

พระพุทธรูปองค์ใหญ่บนหน้าผาเขาอ้อประดิษฐานอยู่ใกล้รอยพระพุทธบาทจำลองเป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์

บันไดทางขึ้นเขาอ้อมียักษ์ ๒ ตน

เจดีย์ทองบนยอดเขาอ้อ

        เจดีย์องค์ใหญ่ซึ่งประดิษฐานบนยอดเขาอ้อสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๘๔ พร้อมกับการสร้างมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ซึ่งแต่แรกเริ่มมีทั้งหมด ๓ องค์ ปัจจุบันเหลือเพียง ๑ องค


ปูชนียวัตถุ

อดีตเจ้าอาวาสและเกจิอาจารย์ภาคใต้

ศาลาที่ประดิษฐานอดีตเจ้าอาวาสและเกจิอาจารย์ภาคใต้ คือพ่อท่านคล้าย อาจารย์ทอง และอาจารย์กลั่น 

รูปเหมือนอาจารย์กลั่น

รูปเหมือนอาจารย์ทอง

รูปเหมือนพ่อท่านคล้าย

รอยพระพุทธบาทจำลองบนเขาอ้อ

     รอยพระพุทธบาทจำลอง (สำริด) ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขา ต้องเดินขึ้นทางบันไดประดิษฐานอยู่ใกล้พระพุทธรูปประทับนั่งองค์ใหญ่ยาว ๑๓๕ เซนติเมตร กว้าง ๕๕ เซนติเมตร สูง ๓๑ เซนติเมตร ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์

ศาลาบรรจุกระดูกและรูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาส

        ศาลาบรรจุกระดูกและรูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาส ได้แก่พระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต (ขวาสุด) อาจารย์ปาล ปาละธัมโม พระครูสิทธยาภิรัตน์ และอาจารย์ทองหูยาน (ซ้ายสุด) 

 


ปูชนียบุคคล

 เจ้าอาวาสวัดเขาอ้อ

  • อาจารย์ทอง
  • สมเด็จเจ้าจอมทอง
  • อาจารย์พรหมทอง
  • อาจารย์ลงไชยทอง
  • สมภารทอง
  • สามภารทองใน
  • สมภารทองหน้าถ้ำ
  • สมภารทองหูยาน
  • พระครูสังฆวิจารณ์ฉัททันต์พฃบรรพต (อาจารย์ทองเฒ่า) (พ.ศ. ๒๓๙๒-๒๔๗๐)
  • พระครูปาล ปาลธมฺโม (พ.ศ. ๒๔๗๑-๒๕๒๐)
  • พระครูอดุลธรรมกิต อคฺคธมฺโม (พระอาจารย์กลั่น) (พ.ศ. ๒๕๑๙-๒๕๔๙)
  • พระอธิการห้อง ธมฺมวโร (พ.ศ. ๒๕๕๐–ปัจจุบัน

    เจ้าอาวาสวัดเขาอ้อทุกรูปล้วนต่างมีวิชาความรู้ความสามารถมิได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ทั้งนี้เพราะต่างศึกษาวิชากันมาไม่ขาดระยะ ตำราและวิชาความรู้ที่เป็นหลักคือการศึกษาเวทมนต์คาถาเป็นหลักเรียนตั้งแต่ธาตุ ๔ ธาตุ การตั้งธาตุ หนุนธาตุ แปลงธาตุ และตรวจธาตุ วิชาคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด มหาอุด สอนให้รู้กำเนิดที่มาของเลขยันต์อักขระต่าง ๆ นอกเหนือจากการสอนวิชาความรู้ทางไสยเวทให้กับบรรดาศิษย์แล้ว ยังสอนให้วิชาความรู้เกี่ยวกับรักษาโรคด้วยสมุนไพร มีเรื่องเล่าขานถึงปาฏิหาริย์ความศักดิ์สิทธิ์ในวิชาของอดีตเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อมากมาย อาทิ

สมเด็จเจ้าจอมทอง

       สมเด็จเจ้าจอมทองซึ่งนับว่ามีบุญญาวาสนาสูงส่งยิ่งนัก นอกจากจะมีสานุศิษย์มากมายแล้วสัตว์ป่านานาชนิดยังเข้ามาพึ่งพาอาศัยอยู่ในวัดเป็นจำนวนมาก และไม่มีผู้ใดเข้ามาทำร้ายทำอันตรายต่อสัตว์เหล่านั้น ด้วยต่างทราบกันว่าท่านให้การปกปักรักษาเหล่าสัตว์เหล่านั้น ที่สำคัญคนละแวกวัดเขาอ้อล้วนทราบดีว่าท่านมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ ทว่าครั้งหนึ่งคนต่างถิ่นตามล่ากวางเผือกตัวหนึ่งของสมเด็จเจ้าจอมทอง ซึ่งอาศัยอยู่ในวัดเขาอ้อเป็นกวางที่เชื่องมาก โดยปกติแล้วกวางตัวนี้จะหายไปจากเขตวัดเพื่อหากินไกล ๆ ครั้งละ ๒-ถึง ๓ วัน แล้วจะกลับมาหมอบอยู่หน้ากุฏิท่าน ปฏิบัติอยู่เช่นนี้เป็นประจำวันหนึ่งกวางเผือกตัวนี้ได้วิ่งเข้ามาหมอบอยู่หน้ากุฏิของท่านด้วยอาการแสดงความหวาดกลัวเหมือนหนีสัตว์ร้ายมาเผอิญสมเด็จเจ้าจอมทอง นั่งอยู่หน้ากุฏิและได้มองไปที่กวางด้วยอำนาจญาณสมาบัติอันสูงส่งของสมเด็จเจ้าจอมทอง จึงทราบได้ทันทีว่ากวางเผือกหนีอะไรมาท่านจึงได้กล่าวกับพระภิกษุที่นั่งอยู่ในที่นั้นว่า "เจ้ากวางเผือกเกือบจะไปเป็นอาหารของเขาเสียแล้ว" ยังไม่ทันที่จะกล่าวสิ่งใดต่อพลันก็มีคนถือหอกวิ่งเข้ามาข้างหน้ากุฏิทำท่าง้างหอกในมือเตรียมจะทิ่มแทงกวางเผือกซึ่งหมอบอยู่ใกล้ ๆ ท่าน สมเด็จเจ้าจอมทองจึงตวาดออกไปดังกังวานว่า "หยุดเดี๋ยวนี้เจ้ามนุษย์ไม่มีศีลมีธรรม จะฆ่าสัตว์แม้แต่ในเขตวัดไม่เว้น เคยเบียดเบียนแต่สัตว์ต่อนี้ไปสัตว์จะเบียดเบียนเจ้าบ้างล่ะ" ชายผู้ถือหอกถึงกับหยุดชะงักนิ่งและเมื่อสิ้นคำพูดของสมเด็จเจ้าจอมทอง ชายผู้นั้นก็ร้องลั่นสลัดหอกในมือทิ้ง แล้วร้องขึ้นมาว่า "งู งู ฉันกลัวแล้วงู" เพราะเห็นหอกที่ตัวเองถือเป็นงู จากนั้นจึงวิ่งหนีออกจากวัดไปพร้อมส่งเสียงร้องลั่นด้วยความกลัวงู แต่ไม่ว่าจะวิ่งไปทางไหนก็เห็นงูไล่ล่าเขาอยู่ตลอด ผู้ที่เล่าเรื่องนี้กล่าวว่าชายผู้นี้ต้องวิ่งไปเรื่อย ๆ หยุดนิ่งเมื่อใดจะเห็นงูไล่ล่าตัวเองอยู่ตลอด ยังมีกาเผือกอีก ๒ ตัว ที่อาศัยเกาะต้นไม้อยู่หน้ากุฏิสมเด็จเจ้าจอมทองเป็นประจำ อาศัยกินข้าวก้นบาตรที่ท่านโปรยให้ทุกวัน สมเด็จเจ้าจอมทองเคยเอ่ยถึงกาทั้ง ๒ ตัวนี้ว่า "เป็นสัตว์ที่ประเสริฐไม่กินเนื้อสัตว์หรือสิ่งมีชีวิต" มีพระลูกวัดเคยโยนเศษเนื้อสัตว์จากอาหารที่ญาติโยมใส่บาตรให้กาทั้ง ๒ แต่ก็หาได้กินไม่กลับเลือกกินแต่เฉพาะเม็ดข้าวสุกเท่านั้น อยู่มาวันหนึ่งกาเผือกทั้ง ๒ บินลงมาเกาะใกล้ ๆ กับที่สมเด็จเจ้าจอมทองนั่งแล้วส่งเสียงร้องลั่นกุฏิอยู่เป็นเวลานาน สมเด็จเจ้าจอมทองก็นั่งนิ่งสงบฟังเสียงกาทั้ง ๒ อย่างตั้งใจ ครู่หนึ่งจึงเอ่ยกับพระภิกษุลูกวัดที่อยู่บนกุฏิท่านว่า "กาเผือกเขามาร่ำลาถึงเวลาที่เขาจะต้องบินกลับไปในป่าแล้วจะไม่กลับมาอีก เจ้ากาตัวเมียจะไปวางไข่อีกไม่นานเขาคงจะต้องตายคงไม่ได้มาเขาอ้ออีก เขาจะมาเขาอ้ออีกก็คงชาติต่อไป เขาจะต้องมาแน่" ต่อเมื่อกาเผือกทั้ง ๒ ได้รับศีลรับพรจากสมเด็จเจ้าจอมทองแล้วได้บินทักษิณารัตนะรอบกุฏิแล้วบินมุ่งเข้าป่าไป จากนั้นไม่มีใครพบเห็นกาเผือกทั้ง ๒ อีกเลย มีตำนานเล่าสืบต่อมาว่าครั้งฉลองเจดีย์นั้นท่านพระอาจารย์เฒ่าวัดเขาอ้อพัทลุง องค์หนึ่งชื่อสมเด็จเจ้าจอมทอง ซึ่งคงจะเป็นสมเด็จเจ้าเช่นเดียวกันกับสมเด็จเจ้าพะโค๊ะ นำพุทธบริษัทไปร่วมงานฉลองพระมหาธาตุเจดีย์ที่วัดพะโคะ โดยเรือใบได้แสดงอภินิหารวิ่งเรือใบเลยขึ้นไปถึงเขาพะโค๊ะ ซึ่งไกลจากทะเลมากทำให้ประชาชนเชื่อในอภินิหารเคารพนับถือ และปัจจุบันสถานที่ตรงนั้นเรียกกันว่าที่จอดเรือท่านอาจารย์วัดเขาอ้อ ต่อมาท่านสมเด็จพะโค๊ะให้คนกวนเหนียวด้วยน้ำตาลโตนดภาษาภาคใต้เรียกว่า “เหนียวกวน” ทำเป็นก้อนยาวประมาณ ๒ ศอก โตเท่าขาให้นำไปถวายสมเด็จเจ้าจอมทองวัดเขาอ้อครั้นถึงเวลาฉัน ท่านสมเด็จเจ้าจอมทอง สั่งให้เด็กวัดผ่า แบ่งถวายพระ ตลอด ถึงพระก็ไม่มีใครที่จะแบ่งได้ เอามีดมาฟันเท่าใดก็ไม่เข้าทราบถึงสมเด็จเจ้าจอมทอง ท่านสั่งให้เอามาแล้วท่านเอามือลูบ แล้วสั่งให้ศิษย์แบ่งถวายพระองค์ย่างข้าวเหนียวธรรมดา อยู่มาวันหนึ่งสมเด็จเจ้าจอมทองให้พระนำแต่งโมใบใหญ่ ๒ ลูกไปถวายสมเด็จพะโค๊ะ เด็กวัดนำมีดไปผ่าแต่ผ่าไม่ออก สมเด็จพะโค๊ะทราบเข้าหัวเราะชอบใจพูดขึ้นว่าสหายเราคงแสดงฤทธิ์แก้มือเราท่านรับแตงโมแล้วลูบด้วยมือของท่านเองออกเป็นชิ้น ๆ 

พระครูสังฆพิจารณ์ฉัททันต์บรรพต (ทองเฒ่า)

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ อาจารย์ทองเฒ่า

       พระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต ท่านมีเส้นผมสีขาวซึ่งไม่สามารถโกนหรือตัดขาดได้ ท่านเป็นชาวบ้านสำนักกอ ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง บิดานั้นไม่ทราบชื่อ ส่วนมารดาชื่อนางรอด ตัวของพระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต (ทองเฒ่า) เป็นพี่คนโต และมีน้อง ๒ คน เป็นชายและหญิง ครอบครัวมีอาชีพทำนา ท่านอุปสมบทเป็นเมื่อใดและใครเป็นพระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์ หรือพระอนุสาวนาจารย์นั้นไม่มีปรากฎว่าเป็นผู้ใด แต่มีเรื่องเล่ากันว่าก่อนที่ท่านจะบวชได้ล้มป่วยมีอาการหนักมาก จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานบนบานศาลกล่าวว่า หากหายจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วยจะบวชเป็นการถวายแก้บน หลังจากนั้นไม่นานอาการป่วยไข้ก็ทุเลาเบาบางและหายไปในที่สุดอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งต่อมาท่านได้อุปสมบทตามที่ตั้งจิตอธิษฐานไว้ และได้ศึกษาวิชากับพระอาจารย์เอียดเหาะได้ (พระอาจารย์เอียดเหาะได้ วัดดอนศาลาท่านเป็นศิษย์สายสำนักวัดเขาอ้อ เป็นที่กล่าวขานถึงวิชาพุทธาคมของพระอาจารย์เอียดเหาะได้ สำหรับเหตุที่ท่านมีสมญานามเช่นนั้นสืบเนื่องจากทุกวันพระ ๘ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ พระอาจารย์เอียดเหาะได้ จะเหาะไปบำเพ็ญภาวนาในถ้ำที่วัดเขาอ้อเป็นประจำชาวบ้านหลายคนได้พบเห็นเป็นประจักษ์ต่อสายตา จึงได้ขนานนามท่านว่าพระอาจารย์เอียดเหาะได้) สำหรับพระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต (ทองเฒ่า) ได้ชื่อว่ามีตบะเดชะบารมีสูงส่งมาก ถึงกับเคยตวาดคนทีเดียวจนเป็นบ้าและเป็นผู้ที่เข้มงวดกวดขันกับบรรดาลูกศิษย์เป็นอย่างยิ่งหากพบเห็นว่าทำสิ่งใดไม่ถูกต้อง ก็จะตำหนิตักเตือนทั้งนี้ก็ด้วยความปรารถนาดีที่อยากให้ศิษย์ของท่านได้ดีในวิชาความรู้ ในส่วนของมารดาของพระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต (พระอาจารย์ทองเฒ่า) ในช่วงบั้นปลายของชีวิตได้บวชชีที่วัดเขาอ้อ โดยพระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต (ทองเฒ่า) ได้ปลูกกุฏิให้พำนักอยู่ใกล้ ๆ กับกุฏิของท่านเพื่อจะสะดวกในการปรนนิบัติตามหน้าที่ของบุตรผู้กตัญญูตราบจนสิ้นอายุขัย สมณศักดิ์ที่ "พระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต" เจ้าคณะตำบลมะกอกเหนือ ได้รับพระราชทานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนอกจากนั้นยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย พระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต (พระอาจารย์ทองเฒ่า) ได้มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ขณะอายุได้ ๗๘  ปี  สิ่งหนึ่งที่เหลือไว้สำหรับให้รำลึกถึง คือวัตถุมงคลที่พระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต (พระอาจารย์ทองเฒ่า) ได้สร้างขึ้น    

        ต่อมาถึงสมัยของสมภารทองหูยานปรากฎชื่อของวัดเปลี่ยนไปมาเรียกว่าวัดประดูหอม เมื่อท่านสมภารทองหูยานมรณภาพแล้วท่านทองเฒ่า (อาจารย์ทอง) ได้เป็นเจ้าอาวาสต่อมาจนได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสังฆพิจารณ์ฉัททันต์บรรพต เพราะมีความรู้ทางไสยศาสตร์มาก เป็นเจ้าคณะตำบลและพระอุปัชฌาย์แล้วเปลี่ยนชื่อวัดประดูหอมมาเป็นวัดเขาอ้อ จนมาถึงปัจจุบันนี้ สมภารทองเฒ่าได้สร้างกุฎีขึ้น ๓หลัง ซึ่งจัดว่าเป็นโบราณวัตถุและศิลปะวัตถุซึ่งปัจจุบันนี้กำลังจะทรุดโทรมและได้สร้างศาลาการเปรียญขึ้น ๑ หลัง โรงครัว ๑ หลัง ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้วเมื่อท่านพระครูสังฆพิจารณ์ฉัททันต์บรรพตได้มรณภาพแล้ว ท่านพระครูปาน ปาลธมฺโม ได้เป็นเจ้าอาวาสต่อมาได้บูรณะบ่อน้ำจัดสร้างรางแช่ยาบนไหล่เขาอ้อ ในถ้ำและโรงเรียนประชาบาลขึ้นหนึ่งหลังซึ่งมีมาถึงยุคปัจจุบัน ในสมัยของเจ้าอาวาสหลวงพ่อกลั่น (พระครูอดุลธรรมกิตติ์) ในสมัยนี้วัดเขาอ้อวัตถุโบราณที่มีเหลืออยู่มีพระพุทธรูปยืน ๒ องค์ คือเจ้าฟ้าอิ่ม และเจ้าฟ้าดอกเดื่อ ยังมีสภาพที่สมบูรณ์ ส่วนพระพุทธรูปในถ้ำ พระพุทธไสยยาสน์ พระพุทธบาทพระเจดีย์และมณฑป ปัจจุบันได้ทรุดโทรมหมดดั้งนั้นสมัยหลวงพ่อกลั่นได้เริ่มบูรณะตั้งแต่อุโบสถมณฑปลายลักษณ์ พระพุทธบาทจำลอง เจดีย์ สถานที่บรรจุพระธาตุอรหันต์ที่ประดิษฐ์อยู่บนเขา กุฎิที่อาศัยต่าง ๆ จนเรียบร้อยจากนั้นหลวงพ่อกลั่น (พระครูอดุลธรรมกิตติ์) ได้ มรณภาพในวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๔๙ หลังนั้นยังมีการบูรณะสิ่งที่ยังค้างคาอยู่ที่ ท่านยังดำเนินการยังไม่เสร็จ คืองานบูรณะถ้ำฉัททันต์บรรพต ท่านได้มอบหมายไว้กับพระอาจารย์ไพรัตน์ เป็นผู้สานเจตนารมณ์ต่อในการพัฒนาถ้ำฉัตรทันต์บรรพต

พระครูปาล ปาลธมฺโม

       พระเกจิอาจารย์ผู้เข้มขลังทางวิทยาคุณที่มีชื่อเสียงโด่งดังต่อจากท่านปรมาจารย์ทองเฒ่าเจ้าสำนักเขาอ้อ คือพระอาจารย์ปาล ปาลธมฺโม ท่านผู้นี้นอกจากจะเป็นศิษย์เอกรูปหนึ่งของท่านปรมาจารย์ทองเฒ่าแล้ว ยังได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่เป็นเจ้าสำนักสืบต่อจากท่านด้วยความจริงแล้ว ทราบจากศิษย์สายเข้าอ้อหลายท่านว่า ครั้งแรกท่านปรมาจารย์ทองเฒ่าได้คัดเลือกศิษย์ที่จะให้เป็นทายาทสืบทอดตำแหน่งเจ้าสำนักไว้เรียบร้อยแล้วและได้ถ่ายทอดวิทยาคมต่าง ๆ ที่เจ้าสำนักควรรู้ไปให้หมดแล้วศิษย์เอกรูปนั้นคือพระอาจารย์เอียด ปทุมสโร แต่เพราะความจำเป็นในเรื่องที่วัดดอนศาลาซึ่งเป็นวัดสาขาเป็นสำนักที่ถือว่าเป็นแขนขาสำคัญแห่งหนึ่งของสำนักเขาอ้อขาดเจ้าอาวาสลง ชาวบ้านไปขอพระจากท่านปรมาจารย์ทองเฒ่า เพราะเห็นว่าวัดแห่งนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดต่อเนื่องกันมา และที่สำคัญตอนนั้นวัดที่มีพระที่เหมาะสมที่จะเป็นเจ้าอาวาสมากที่สุด คือวัดเขาอ้อ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นสำนักใหญ่ที่คึกคักด้วยคณาศิษย์และผู้คนที่เดินทางไปมาหาสู่ ท่านอาจารย์ทองเฒ่าจำเป็นต้องส่งคนที่เหมาะสมที่สุดในขณะนั้น ก็คือพระอาจารย์เอียด ปทุมสโร เมื่อต้องสละพระอาจารย์เอียด ให้กับวัดดอนศาลาไปท่านอาจารย์ทองเฒ่าจำเป็นต้องคัดเลือกศิษย์รูปใหม่ขึ้นมา เพื่อที่จะให้เป็นทายาทสืบทอดตำแหน่งเจ้าสำนักเขาอ้อแทนท่านอาจารย์เอียด พิจารณาจากคุณสมบัติต่าง ๆ แล้วในที่สุดท่านปรมาจารย์ทองเฒ่าก็ตัดสินใจเลือก พระอาจารย์ปาล ปาลธัมโม ศิษย์อาวุโสรองจากท่านอาจารย์เอียด ในเรื่องการคัดเลือกศิษย์ที่จะมาเป็นทายาทในการสืบทอดตำแหน่งเจ้าสำนักนั้น ถือเป็นภารกิจอย่างหนึ่งของเจ้าสำนัก ซึ่งเป็นภารกิจที่หนักหน่วงอยู่ไม่น้อย กล่าวคือการที่จะคัดเลือกใครสักคนให้มาทำหน้าที่สำคัญที่สุดในสำนักต้องพิจารณากันหลาย ๆ ประการ ต้องอาศัยความรอบคอบเป็นพิเศษ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วอาจจะนำพาสำนักซึ่งโด่งดังและคงความสำคัญมาร่วมพันปีไปสู่ความเสื่อมเสียได้ ผู้รู้ประวัติสำนักเขาอ้อท่านหนึ่งได้กรุณาอธิบายให้ฟังถึงวิธีการคัดเลือกศิษย์ ที่จะมาเป็นทายาทเจ้าสำนักว่าเนื่องจากวัดเขาอ้อเป็นวัดที่วิวัฒนาการมาจากสำนักทิศาปาโมกข์ ซึ่งแต่ก่อนมีพราหมณาจารย์ หรือฤาษีเป็นเจ้าสำนัก สืบทอดวิชาตามตำราของพราหมณ์ ซึ่งในตำรานั้นจารึกวิทยาการไว้มากมายหลายประการ มากเสียจนคน ๆ เดียวไม่สามารถศึกษาเล่าเรียนได้หมด ต้องแบ่งกันศึกษาเล่าเรียน ฉะนั้นการแบ่งนี้ก็ต้องเลือกคนที่ต้องการจะเรียนตามความเหมาะสม การสอนให้คนที่เรียนตามจริต หรือความชอบ เพราะวิชาของสำนักเขาอ้อบางอย่างเหมาะกับบรรพชิต บางอย่างเหมาะกับฆราวาส บางอย่างผู้หญิงห้ามแตะต้อง บางอย่างผู้ชายทำไม่ได้ ทำได้แต่ผู้หญิงบางอย่างฆราวาสทำไม่ได้ทำได้แต่บรรพชิต บางอย่างบรรพชิตทำไม่ได้ทำได้แต่ฆราวาส แต่คนที่จะมาทำหน้าที่เจ้าสำนักต้องเรียนทั้งหมด แม้ตัวเองทำไม่ได้ก็ต้องเรียนรู้ไว้เพื่อจะถ่ายทอดให้คนที่ทำได้เอาไปทำต่อไป ฉะนั้นคนที่เป็นเจ้าสำนักจะต้องมีความรู้มากที่สุดและต้องอาศัยสติปัญญาสูงสุดจึงจะสามารถรับถ่ายทอดวิชา ทั้งหมดนั้นได้ทีนี้มาว่ากันถึงคุณสมบัติเบื้องต้นของคนที่จะถูกเลือกเป็นทายาทเจ้าสำนักได้ ผู้รู้ท่านนั้นท่านได้หยิบคุณสมบัติสำคัญอันดับต้นๆมาให้เพียง ๓ อย่างนั่นคือ ๑) ต้องมีดวงชะตาดี โดยพิจารณาจากการตรวจดวงชะตาแล้ว ๒) ต้องมีคุณธรรมดี ๓) ต้องมีสติปัญญาเป็นเลิศแล้วท่านก็อธิบายถึงความสำคัญของคุณสมบัติเหล่านี้ให้ฟังว่าที่ต้องเอาคนดวงชะตาดีนั้น เพราะในอนาคตไม่มีใครสามารถกำหนดได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับสำนักคนเราอาจจะดีวันนี้ แต่วันข้างหน้าไม่ดีตามความเชื่อของพราหมณ์นั้นเชื่อในเรื่องของดวงชะตา ชะตาจะเป็นผู้กำหนดให้มนุษย์เป็นไป ฉะนั้นการตรวจดวงชะตาเป็นการช่วยทำให้ทราบความเป็นไปในอนาคตของมนุษย์ได้ความมีคุณธรรมเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของบุคคล ที่จะถูกเลือกเป็นเจ้าสำนักเขาอ้อ เพราะหากขาดคุณสมบัติข้อนี้แล้วไซร้ปัญหานานาประการอาจจะเกิดขึ้นได้ คุณธรรมที่ต้องมีนั้นยังระบุชัดเจนลงไปว่าจะต้องมีเมตตาเป็นเยี่ยมจะต้องมีความเสียสละเป็นเลิศ จะต้องรักสันโดษมักน้อยเป็นอุปนิสัยเพราะว่าหากผู้ถูกเลือกเป็นคนเห็นแก่ตัวขาดเมตตาธรรม ก็มีโอกาสนำวิชาความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดไป ซึ่งมีมากที่สุดไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเองอาจส่งผลเสียต่อส่วนรวมซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์ของเจ้าสำนักเขาอ้อสำนักเขาอ้อ ตั้งขึ้นเพื่ออำนวยประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ โดยการเอาการเสียสละของเจ้าสำนักเป็นที่ตั้งความมักน้อยสันโดษเป็นอุปนิสัย ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคุณธรรมข้ออื่น ๆ กล่าวคือหากบุคคลผู้นั้นเป็นคนฟุ่มเฟือยละโมบโลภมากก็อาจนำวิชาความรู้และหน้าที่ไปใช้เพื่อรับใช้กิเลสส่วนตนมากกว่าผลประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ความมีสติปัญญาเป็นเลิศคุณสมบัติข้อนี้สำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนที่จะถูกเลือกเป็นเจ้าสำนักวัดเขาอ้อ ก็อย่างที่เรียนไปแล้วแต่ต้นว่าวิชาของสำนักเขาอ้อนั้นมีมากมายหลายประเภทหลายแขนง แต่ส่วนคนทั่วไปเป็นการแยกสอนให้ตามความเหมาะสม ซึ่งแต่ละส่วนก็นับว่าเรียนยากต้องอาศัยสติปัญญาระดับหนึ่งจึงจะเข้าถึงวิชานั้น ๆ ได้ แต่สำหรับคนที่จะต้องทำหน้าที่เจ้าสำนักต่อไปจะต้องใช้สติปัญญาอย่างมากเพื่อจะต้องเรียนวิชาต่าง ๆ หมดสิ้น รู้ให้หมด ทำให้ได้ เพราะนอกจากจะเรียนเพื่อปฏิบัติเองแล้ว ยังต้องเรียนรู้ขนาดที่จะต้องถ่ายทอดให้คนอื่นในฐานะเจ้าสำนักต่อไปได้ด้วย ฉะนั้นเรื่องระดับสติปัญญานับว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพิจารณาอย่างละเอียด 

       หลักเกณฑ์การคัดเลือกเจ้าสำนักดังกล่าวนี้เองทำให้สำนักวัดเขาอ้อสามารถรักษาวิชาสำคัญ ๆ และสามารถสืบทอดวิทยาการต่าง ๆ ต่อกันมาได้ จนถึงพระอาจารย์ปาลซึ่งถือเป็นเจ้าสำนักที่ได้รับการคัดเลือกจากเจ้าสำนักรูปก่อน และอาศัยคุณสมบัติดังกล่าวเป็นรูปสุดท้าย เพราะหลังจากสิ้นท่านแล้วสำนักวัดเขาอ้อก็กลายเป็นวัดธรรมดาวัดหนึ่ง มีพระที่มีพรรษาอาวุโสสูงสุดขึ้นเป็นเจ้าอาวาส โดยการแต่งตั้งของคณะสงฆ์ที่ทำหน้าที่ปกครองในเขตนั้น พิจารณาจากคุณสมบัติทางสงฆ์ ซึ่งถือคุณสมบัติทั่วไปประเพณีการเลือกเจ้าสำนักอันสืบทอดมาแต่เดิมก็จบสิ้นลงแค่สมัยอาจารย์ปาล ปาลธมฺโม ซึ่งมีเหตุผลให้จบเช่นนั้นสำนักวัดเขาอ้อซึ่งเคยมีฐานะเป็นสำนักทิศาปาโมกข์ก็เหลือเพียงตำนานและหลักฐานทางโบราณวัตถุเพียงไม่กี่ชิ้น ซึ่งก็น่าเสียดายอยู่ไม่น้อยแต่เมื่อพิจารณาให้ดี ก็เห็นว่าความเป็นไปของสำนักนี้ เป็นไปตามกฎธรรมชาติเพราะสรรพสิ่งในโลกนี้ ไม่มีอะไรถาวรทุกอย่างย่อมมีการเกิดเป็นจุดเริ่ม การเจริญเติบโตและตั้งอยู่เป็นท่ามกลาง มีความเสื่อมโทรม และสิ้นสุดเป็นที่สุด สำนักเขาอ้อก็ตกอยู่ในสภาพธรรมนี้ ซึ่งเหมือนกับสำนักใหญ่ ๆ ในโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นตักศิลานครต้นกำเนิดวิทยาการอันยิ่งใหญ่ในอดีตหรือสำนักใหญ่อื่น ๆ แต่การเสื่อมสลายความสำคัญของสำนักเขาอ้อภายหลังยุคของพระอาจารย์ปาล อาจารย์ปาล ปาลธมฺโม มีเหตุผลอยู่หลายประการ เช่น ๑) สังคมเปลี่ยนค่านิยม ๒) การคมนาคมเปลี่ยนเส้นทาง ๓) วิทยาการสมัยใหม่รุกราน ๔) ขาดผู้นำที่เหมาะสมมาสืบทอดต่อ และอีกเหตุผลหนึ่งที่คณะศิษย์เขาอ้อลงความเห็นเพิ่มเติม คือเพราะพระอาจารย์ปาลเป็นเจ้าสำนักรูปแรกและรูปเดียวที่ไม่มีชื่อทองนำหน้าหรือต่อท้าย เหมือนกับเจ้าสำนักรูปอื่น ๆ ที่เคยมีซึ่งก็เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อยู่ไม่น้อย ก็อย่างที่ว่าสำนักเขาอ้อแห่งนี้ตั้งแต่ก่อตั้งมา มีนามว่าทองขึ้นต้นหรือต่อท้ายทุกรูป ตั้งแต่พระอาจารย์ทอง ปฐมาจารย์แห่งสำนักเขาอ้อ จนถึงปรมาจารย์ทองเฒ่า ทองรูปสุดท้าย ข้อสังเกตนี้มีส่วนน่าเชื่อถือแค่ไหน เหตุการณ์ภายหลังการมรณภาพของพระอาจารย์ปาล ปาลธมฺโม สำหรับประวัติพระอาจารย์ปาล ปาลธมฺโม นั้นไม่ค่อยจะมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรให้อ้างถึงได้มากนักเนื่องจากพระอาจารย์ปาล ปาลธมฺโม ท่านเป็นพระที่หนักไปในทางสันโดษ ชอบอยู่เงียบ ๆ ไม่ค่อยสุงสิงกับสังคมภายนอก ประกอบกับการบันทึกหลักฐานในสมัยท่านยังไม่แพร่หลายมากนัก และที่สำคัญตัวท่านไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหลักฐานทางบ้านเมืองมากนัก กล่าวคือไม่เข้าสู่ระบบการปกครองของคณะสงฆ์เหมือนกับพระอาจารย์เอียด ที่ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรและได้เป็นเจ้าคณะตำบล ทางคณะสงฆ์จึงได้บันทึกประวัติและผลงานของท่านไว้ ทำให้มีหลักฐานลายลักษณ์อักษรให้ศึกษาค้นคว้าถึงได้ไม่ยากนัก แต่สำหรับกรณีของพระอาจารย์ปาล จึงจำเป็นต้องอาศัยหลักฐานจากคำบอกเล่าของชาวบ้านไกล้วัดที่เคยได้พบเห็นท่านเป็นสำคัญจากคำบอกเล่าของคุณตามงคลซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติใกล้ชิดกับพ่อท่านปาล ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติพระอาจารย์ปาลมาว่าบรรพบุรุษของพระอาจารย์ปาลเป็นชาวระโนด จังหวัดสงขลา ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่บริเวณบ้านเขาอ้อ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าพระอาจารย์ปาล ปาลธมฺโม ท่านมาเกิดที่เขาอ้อหรือเกิดที่ระโนดแล้วอพยพตามครอบครัวมา แต่ว่าแม้จะเกิดที่ระโนดก็คงจะมาตั้งแต่เล็ก ๆ อย่างน้อยก็ก่อนจะเข้าโรงเรียนพระอาจารย์ปาลเป็นญาติกับพระอาจารย์ทองเฒ่า ส่วนจะเป็นญาติใกล้ชิดกันแค่ไหนก็ไม่สามารถระบุได้ แต่ก็เข้าใจว่าใกล้ชิดกันพอสมควร เพราะพระอาจารย์ทองเฒ่าก็มีพื้นเพเดิมเป็นชาวระโนดเช่นกัน ครอบครัวของพระอาจารย์ปาลคงจะใกล้ชิดและเคารพนับถือพระอาจารย์ทองเฒ่ามาก ด้วยเหตุนี้เมื่อพระอาจารย์ปาล มีอายุพอที่จะเรียนหนังสือได้พ่อแม่จึงได้พาไปฝากให้อยู่ศึกษาเล่าเรียนในสำนักวัดเขาอ้อ ซึ่งสมัยนั้นเป็นสำนักใหญ่ และสำคัญที่สุดในละแวกนั้น มีลูกศิษย์มากมายผู้เฒ่าท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่าพระอาจารย์ปาลเป็นคนเรียนเก่ง แต่ค่อนข้างจะดื้อ มีอุปนิสัยรักสนุก ร่าเริง เป็นนักเสียสละตัวยง เป็นที่รักใคร่ของศิษย์ร่วมสำนักทุกรูปทุกคน ท่านถึงกับเคยรับโทษแทนเพื่อนหลายครั้ง พระอาจารย์ปาลเรียนอยู่ในสำนักวัดเขาอ้อนานจนมีวัยพอที่จะบวชเรียนได้ พระอาจารย์ทองเฒ่าจึงได้จัดการให้บวชเป็นสามเณรแล้วให้อยู่ศึกษาพระธรรมและวิทยาคมต่าง ๆ อยู่ในสำนักเขาอ้อพระอาจารย์ปาลบวชตั้งแต่สามเณรจนกระทั่งได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดเขาอ้อโดยมีพระอาจารย์ทองเฒ่าเป็นพระอุปัชฌาย์ให้ เมื่อท่านอุปสมบทแล้วก็ได้ศึกษาเล่าเรียนเพิ่มเติม และช่วยพระอาจารย์ทองเฒ่าอยู่ที่สำนักเขาอ้อต่อไปจนกระทั่งพระอาจารย์ทองเฒ่าคัดเลือกให้เป็นทายาทเจ้าสำนักถ่ายทอดวิชาสำคัญ ๆ ให้จนหมดสิ้น ต่อมาเมื่อพระอาจารย์ทองเฒ่ามรณภาพลงในฐานะทายาทเจ้าสำนัก และเป็นพระที่มีพรรษาอาวุโสที่สุดพระอาจารย์ปาล ปาลธมฺโม จึงขึ้นเป็นเจ้าสำนักสืบทอดต่อและทำหน้าที่ต่าง ๆ ต่อจากพระอาจารย์ทองเฒ่า ภายหลังการมรณภาพของพระอาจารย์ทองเฒ่า มีศิษย์ของสำนักวัดเขาอ้อที่มีชื่อเสียงโด่งดังพร้อมกัน ๒ รูป คือพระอาจารย์เอียด เจ้าอาวาสวัดดอนศาลา ในฐานะศิษย์เอกคนโตและพระอาจารย์ปาลเจ้าสำนักเขาอ้อ แต่เจ้าสำนักทั้งสองต่างเคารพรักใคร่กันมาก ไปมาหาสู่กันไม่ได้ขาด พระอาจารย์เอียด แม้จะมีภาระใหญ่อยู่ที่วัดดอนศาลา แต่ก็ไม่ทอดทิ้งวัดเขาอ้อเพราะตระหนักอยู่เสมอว่าเป็นสำนักที่ให้วิชาความรู้เป็นบ้านที่ท่านเติบโตขึ้นมา ฉะนั้นเมื่อไม่มีพระอาจารย์ทองเฒ่าก็จะต้องไปดูแลช่วยเหลือพระอาจารย์ปาล ปาลธมฺโม ทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ เพราะโดยส่วนตัวพระอาจารย์เอียดรักใคร่เมตตาศิษย์น้องรูปนี้มาก เคยใกล้ชิดสนิทสนมกันเมื่อคราวอยู่ร่วมสำนักที่เขาอ้อ ในสายตาพระอาจารย์เอียด พระอาจารย์ปาล คือศิษย์น้องที่หัวดื้อมากแต่ก็เคารพรักศิษย์พี่อย่างท่านมาก ในขณะเดียวกันในสายตาพระอาจารย์ปาล พระอาจารย์เอียดคือพี่ชายและศิษย์พี่ที่จะต้องเคารพเชื่อฟังต่อจากอาจารย์ และโดยส่วนตัวแล้วเมื่อคราวที่ท่านอาจารย์ปาล ปาลธมฺโม อยู่ร่วมสำนักเขาอ้อด้วยกัน ศิษย์พี่รูปนี้คอยช่วยเหลือเจือจุนท่านมาก ด้วยความเคารพนับถือที่มีต่อกัน ท่านอาจารย์ปาล ปาลธมฺโม และท่านอาจารย์เอียดจะถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ต่างระมัดระวังในบทบาทของกันและกัน ด้วยเกรงว่าจะเด่นกว่าอีกฝ่ายว่ากันว่าโดยธรรมเนียมแล้วผู้เป็นประธานหรือควรจะมีบทบาทเด่นที่สุดในสายเขาอ้อขณะนั้นก็คือพระอาจารย์ปาล ในฐานะเจ้าสำนักแต่เนื่องจากพระอาจารย์เอียดก็เป็นศิษย์ที่ปรมาจารย์ทองเฒ่าคัดเลือกให้เป็นทายาทถ่ายทอดวิชาไว้ให้เท่า ๆ กัน และที่สำคัญมีความอาวุโสมากกว่า พระอาจารย์ปาลจึงเคารพและระมัดระวังบทบาทของตัวเองไม่ให้ยิ่งไปกว่าศิษย์พี่พระอาจารย์เอียดเองก็ตระหนักในข้อนี้แม้ว่าท่านจะมีความรู้ความเชียวชาญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพระอาจารย์ปาลมีพรรษาอาวุโสกว่า แต่ก็ตระหนักดีว่าพระอาจารย์ปาลเป็นเจ้าสำนัก ท่านจึงให้เกียติมากระมัดระวังในบทบาทตัวเองอย่างสูง ต่อมาดูเหมือนว่าท่านทั้ง ๒ จะหาทางออกได้โดยพระอาจารย์ปาลแสดงบทบาทของตัวเองเต็มที่ในสำนัก ส่วนภายนอกมอบให้พระอาจารย์เอียดและตัวพระอาจารย์เอียดเองก็เปลี่ยนไปทำงานให้คณะสงฆ์เสียมากกว่า มอบภาระอันเป็นหน้าที่ของเจ้าสำนักเขาอ้อให้พระอาจารย์ปาลดำเนินการต่อไปท่านอยู่ในฐานะผู้ช่วยและที่ปรึกษาด้วยเหตุนี้ในสำนักเขาอ้อ พระอาจารย์ปาล ปาลธมฺโมจึงทำหน้าที่เจ้าสำนักได้เต็มที่

หน้าที่หลัก ๆ ของเจ้าสำนักเขาอ้อ มีดังต่อไปนี้คือ

       ๑. เป็นประธานอำนวยการในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เคยดำเนินสืบทอดต่อ ๆ กันมา เป็นต้นว่าพิธีอาบว่าน ปลุกเสกพระ กินน้ำมันงาและพิธีอื่น ๆ

       ๒. คัดเลือกศิษย์ ถ่ายทอดวิชา และอบรมศิษย์ในสำนัก

       ๓. ช่วยสงเคราะห์ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากซึ่งเดินทางไปพึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งมีทั้งป่วยทางจิตและ ทางกาย ท่านก็บำบัดไปตามที่ร่ำเรียนมา ป่วยทางจิตก็ใช้เวทมนต์คาถาเข้าช่วย  ป่วยทางกายก็ใช้ยาสมุนไพรเข้า  ช่วย

       ๔. เป็นประธานในพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสำนักเขาอ้อในฐานะที่เป็นเจ้าสำนักเขาอ้อเรียกว่าเป็นประธานโดยตำแหน่ง

       ๕. คอยดูแลและว่ากล่าวตักเตือนคณะศิษย์ของเขาอ้อที่ออกจากสำนักไปแล้วหน้าที่นี้คือคอยดูสอดส่องและให้ความร่วมมือ ในกรณีที่ผู้ที่ร่ำเรียนวิชาจากสำนักเขาอ้อ ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับสังคม อาจจะเป็นผู้ประสาน  งาน ช่วยเหลือเกลี้ยกล่อม ว่ากล่าวตักเตือนหรือถึงกับให้ความช่วยเหลือในการบำราบปราบปรามเอง เพราะว่า  แน่นอนวิชาที่เจ้าสำนักมีอยู่ย่อมมากกว่าคนอื่น ตรงนี้ถือเป็นความรับผิดชอบที่น่าชื่นชมของสำนักแห่งนี้

       ๖. รักษาของสำคัญของสำนัก อันเปรียบเสมือนเครื่องหมายเจ้าสำนักที่แท้จริง ซึ่งมีอยู่หลายประการ ที่สำคัญก็มีตำรา ลูกประคำดีควายที่ใช้ประกอบพิธีกรรม ไม้เท้ากายสิทธิ์ที่ใช้ในการจี้รักษาโรคและปลุกเสกวัตถุมงคลเพราะภายใต้ปลายไม้เท้าบรรจุธาตุศักดิ์สิทธิ์ไว้จำนวนมาก

       โดยสรุปแล้วท่านอาจารย์ปาลก็ทำหน้าที่ต่าง ๆ อยู่ที่วัดเขาอ้อเสียเป็นส่วนใหญ่เรียกว่าเป็นใหญ่อยู่ที่วัดเขาอ้อ ส่วนข้างนอกให้พระอาจารย์เอียดทำหน้าที่ว่ากันโดยวิทยาคุณแล้ว พระอาจารย์ปาลก็เข้มขลังไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเจ้าสำนักรูปอื่น ๆ ท่านสำเร็จวิชาสำคัญ ๆ ของสำนักเขาอ้อแทบทุกอย่าง แต่เพราะยุคของท่านเป็นยุคเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม วัดเริ่มถูกลดบทบาทลงโดยเริ่มจากการศึกษาโดยที่ฝ่ายบ้านเมืองเอาไปจัดการเอง หน้าที่หลักของวัดก็ค่อย ๆ ลดบทบาทลง และความสำคัญหลายอย่างของวัดถูกรัฐบาลนำไปทำเสียเองหมด พระอาจารย์ปาลก็เลยต้องลดบทบาทลงไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามท่านก็ทำหน้าที่ของเจ้าสำนักวัดเขาอ้อได้สมบูรณ์ตามสถานการณ์จนกระทั่งมรณภาพ พระอาจารย์ปาลอยู่ที่วัดเขาอ้อจนกระทั่งย่างเข้าสู่วัยชราภาพและในบั้นปลายสมัยของท่านวัดเขาอ้อก็เริ่มเข้าสู่ภาวะซบเซาอีกครั้งพระภิกษุสามเณรในวัดมีน้อยในขณะที่วัดดอนศาลาของพระอาจารย์เอียดกลับคึกคัก เมื่อท่านชราภาพจนช่วยเหลือตนเองไม่ค่อยสะดวกศิษย์รูปหนึ่งของท่าน คือพระอาจารย์ศรีเงิน อาภาธโร รองเจ้าอาวาสวัดดอนศาลา ได้นำท่านมาอยู่ที่วัดดอนศาลาเพื่อจะดูแลปรนนิบัติรับใช้ได้สะดวก ท่านอาจารย์ปาล ปาลธมฺโม มาอยู่ที่วัดดอนศาลาเป็นเวลาหลายปีจนกระทั่งเข้าสู่ภาวะเกือบจะสุดท้ายแห่งชีวิต ท่านทราบวาระของตัวเองจึงขอให้ศิษย์นำกลับไปที่วัดเขาอ้ออีกครั้งเพื่อที่จะกลับไปมรณภาพที่สำนักวัดเขาอ้อ เหมือนกับเจ้าสำนักรูปก่อน ๆ คณะศิษย์เห็นใจสนองตอบความต้องการของท่านนำท่านกลับไปอยู่ที่วัดเขาอ้อ พระอาจารย์ปาลกลับไปอยู่ที่วัดเขาอ้อในสภาพอาพาธหนักด้วยโรคชราไม่ถึง ๒ เดือนก็ถึงแก่มรณภาพ

       เรื่องที่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับชีวประวัติเรื่องหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงคือเรื่องการสำเร็จวิชานิ้วชี้เพชรของท่านอาจารย์ปาลในกระบวนวิชาสำคัญ ๆ ระดับหัวกะทิที่บุคคลระดับเจ้าสำนักถึงจะได้เรียนนั้นมีวิชานิ้วชี้เพชรเป็นวิชาหนึ่งที่น่าสนใจเล่ากันว่าใครสำเร็จวิชานี้ นิ้วชี้ด้านขวาจะแข็งเป็นหิน มีความศักดิ์สิทธิ์มากใช้ชี้อะไรก็สามารถกำหนดให้เป็นให้ตายได้ ผู้ที่สำเร็จวิชามรณภาพแล้วแม้สังขารถูกเผาไฟไหม้ส่วนต่างๆได้หมด แต่นิ้วชี้เพชรจะไม่ถูกไฟไหม้ เพราะเหตุนี้ นิ้วของเจ้าสำนักวัดเขาอ้อจึงถูกเก็บไว้เท่าที่มีผู้คนเคยเห็น ก็มีนิ้วชี้ของท่านพระอาจารย์ทองเฒ่าซึ่งเก็บรักษาไว้ที่วัดบ้านสวน วัดสาขาสำคัญอีกวัดหนึ่งของวัดเขาอ้อ สันนิษฐานสาเหตุที่ไปอยู่ที่นั้นก็เพราะพระอาจารย์คงนำไป คือเข้าใจว่านิ้วชี้เพชรของท่านอาจารย์ทองเฒ่านั้นภายหลังจากเผาไม่ไหม้ พระอาจารย์เอียดหรือไม่ก็พระอาจารย์ปาลเก็บรักษาไว้ เมื่อพระอาจารย์มรณภาพพระอาจารย์คงในฐานะศิษย์ผู้รับมรดกหลายอย่างของพระอาจารย์เอียด ก็ได้รับนิ้วชี้เพชรนั้นไปเก็บรักษาต่อนิ้วชี้เพชรของปรมาจารย์ทองเฒ่าเคยตั้งให้คนทั่วไปชมอยู่ที่วัดบ้านสวน แต่เมื่อท่านอาจารย์คงมรณภาพก็ถูกเก็บเงียบระยะหนึ่งแต่ก็มีผู้ยืนยันว่ายังอยู่ที่วัดบ้านสวน แต่เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีส่วนนิ้วชี้เพชรของพระอาจารย์ปาลนั้นมีผู้ยืนยันว่าเก็บรักษาไว้ที่วัดเขาอ้อ แต่ในปัจจุบันไม่ทราบว่ายังอยู่หรือเปล่า เพราะข้าวของสำคัญๆ ของวัดหลายอย่างได้สูญหายไปภาพหลังท่านมรณภาพ

พ่อท่านห้อง ธมฺมวโร

       พ่อท่านห้อง ธมมวโร นามเดิมคือนายห้อง บัวขาว ถือกำเนิดที่บ้านโพธิ์นาลึก ตำบลควนปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ในครอบครัวชาวนาตามท้องถิ่นเดิม ท่านได้รับการศึกษาชั้นป. ๔ ที่อยู่ห่างไกลความเจริญจากชุมชนเมือง ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ พ่อท่านห้อง ธมมวโร นับว่าท่านสนใจในวิชาเวทศาสตร์และไสยศาสตร์มาตั้งแต่เยาว์วัย เมี่อสมัยตอนยังเป็นฆราวาสอยู่อายุย่างเข้าวัยฉกรรจ์ท่านเลื่อมใสศึกษาค้นคว้าในวิชาไสยศาสตร์อาคมลี้ลับ และได้แสวงหาความรู้สุดยอดวิชาจากผู้รู้ในแขนงวิชาต่างๆรวมถึงวิชาสำนักเขาอ้อจนสำเร็จรู้ซึ่งเป็นอย่างดี ในห้วงหนึ่งของชีวิตท่านเคยไปจำพรรษาที่จังหวัดพังงาในขณะนั้นเองที่มีโอกาสไปขอคำแนะนำด้านกรรมฐานและคาถาอาคมจากหลวงพ่อจำเนียร สีลเสฏโฐ วัดถ้ำเสือวิปัสสนา จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นศิษย์สายเขาอ้อ (หลวงพ่อจำเนียรเรียนจากท่านขุนพันธรักษ์ราชเดช พระครูกาชาดวัดดอนศาลา) เมื่อกลับมาวัดเขาอ้อก็ได้รับคำแนะนำจากพ่อท่านกลั่นวัดเขาอ้อในด้านพิธีกรรมปลุกเสกวัตถุมงคลเป็นอย่างดี และปัจจุบันนี้พ่อท่านห้องได้เด่นดังทางเมตตามหานิยมแคล้วคลาดสืบภูมิความรู้เขาอ้อจากตำราเก่าและความรู้จากการคลุกคลีกับพิธีกรรมของวัดเขาอ้อ เป็นที่ประจักษ์ต่อชาวบ้านรู้จักนับถือกันทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง ช่วงสมัยจตุคามรามเทพเฟื่องฟูพ่อท่านห้องได้เข้าร่วมพิธีกรรมนั่งปลุกเสกอธิฐานจิตไม่ขาดสายมีกิจนิมนต์เป็นประจำจนถึงปัจจุบันนี้ พ่อท่านห้องก็ยังได้รับนิมนต์เชิญเข้าร่วมพิธีปลุกเสกเหรียญคณาจารย์ของวัดต่างๆทั่วประเทศ พ่อท่านห้องในขณะช่วงเวลาเมื่ออุปสมบทแล้วนั้นท่านได้ใช้เวลาอยู่กับการคร่ำเคร่งวิชาเพื่อหาความรู้ในศาสตร์ต่างๆ เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลาที่ไหนดีที่ไหนเด่นก็ไปขอคำแนะนำแล้วกลับมาถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องการภาวนากระทำจิตให้สงบด้วยการกำหนดลมหายใจ และการพิจารณาสังขารการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป ท่านถือปฏิบัติทางการภาวนาอย่างเคร่งครัดจะเห็นได้จากการขึ้นไปบนเขาอ้อเพื่อบำเพ็ญพระกรรมฐานและวิรัติวาจาเป็นเวลาหลายวันต่อหนึ่งปีนั่นคือการเดินสู่วิถีขององค์พระศาสดาอย่างแท้จริง กล่าวกันว่าท่านสำเร็จ ได้แก่วิชานอโมเพชรกลับซึ่งสามารถพลิกดวงชะตาได้ด้วยอำนาจคุณพระ การสวดโองการต่าง ๆ ของสำนักเขาอ้อท่านสามารถท่องบ่นประกอบพิธีได้คล่องแคล่ว วิชาต่าง ๆ เหล่านี้ จึงทำให้ท่านได้รับคำกล่าวขานจากประชาชนซึ่งท่านเป็นที่พึ่งของชาวบ้านที่ยากจนในพื้นที่ในละแวกนั้น ท่านเข้าใจและแตกฉานในด้านธรรมกถึกแนะนำสอนธรรมแก่พุทธศาสนิกชนเป็นอย่างดีชื่อเสียงโด่งดังของท่าน ด้านความเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย และมากด้วยพรหมวิหารธรรมและบารมีจากการเป็นเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อสำนักไสยศาสตร์ชื่อดังขยายวงกว้างออกไปต่างพื้นที่และออกนอกไปไกลถึงต่างแดนโดยเฉพาะชาวมาเลเชียชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีน ที่มาทำบุญที่วัดอย่างไม่ขาดสายเป็นอยู่ประจำ โดยเลื่อมใสในพิธีกรรมมีความเชื่อในด้านโชคลาภ เรียกทรัพย์ โภคทรัพย์ เมตตามหานิยมจากพิธีการถวายสังฆทานและประพรมน้ำพระพุทธมนต์ปัดเป่าอวมงคลและเสริมสิริมงคล ประวัติพ่อท่านห้อง ธัมมวโร โดยสังเขปดังนี้

       พ่อท่านห้องได้อุปสมบทเมื่อตอนอายุ ๖๓ ปีในช่วงชีวิตหลังเกษียณอายุการทำงาน ณ พัทธสีมาวัดเขาอ้อ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยพระครูพิพิธวรกิจ (พ่อท่านคล้อย) วัดภูเขาทอง เป็นพระอุปัชฌาย์พระครูประสิทธิวราคม (พ่อท่านเทพ) วัดประดู่เรียง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมหาจรูญ อคฺควณฺโณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ การศึกษาจบนักธรรมโทพ่อท่านห้องท่านได้รับตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ กระทั่งดำรงค์ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อโดยสมบูรณ์ ดูแลปกครองวัดและพระภิกษุสงฆ์ร่วมอาวาสเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดเขาอ้อ (Wat Khao O)
ที่อยู่
หมู่ที่ ๓ ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
จังหวัด
พัทลุง
ละติจูด
7.7521781
ลองจิจูด
100.0650227



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

แช่ว่านอาบยาพิธีกรรมเสริมความขลังให้หนังเหนียว. ( ม.ป.ป.). สืบค้นวันที่ 15 ก.พ. 61, จาก http://www.rmutphysics.com/charud/oldnews/146/religion/story6.htm

พระเล็ก. (2548). พระอาจารย์ทองเฒ่า วัดเขาอ้อ พัทลุง. สืบค้นวันที่ 15 ก.พ. 61, จาก http://www.sereechai.com/index.php/2013-05-01-06-36-40/2013-05-01-07-41-

        35/5571-2016-09-30-03-20-3-4

พระอาจารย์กลั่น วัดเขาอ้อ. (2560). สืบค้นวันที่ 15 ก.พ. 61, จาก https://sites.google.com/site/phraxacaryklan/

พระอาจารย์ปาล ปาลธัมโม วัดเขาอ้อ จังหวัดพัทลุง. (ม.ป.ป ). สืบค้นวันที่ 15 ก.พ. 61, จาก http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-pan

           -wat-kao-or-hist.htm

วัดภูเขาทองตักสิลา เขาอ้อ. (2560). สืบค้นวันที่ 15 ก.พ. 61, จาก http://www.siristore.com/Products/Mahawetch1.asp

สำนักวัดเขาอ้อ ตักศิลาทางไสยเวทย์ภาคใต้. (ม.ป.ป.). สืบค้นวันที่ 15 ก.พ. 61, จาก https://board.postjung.com/669815.html

ไสยศาสตร์วัดเขาอ้อ. (ม.ป.ป.). สืบค้นวันที่ 15 ก.พ. 61, จาก http://www.prapayneethai.com/ไสยศาสตร์วัดเขาอ้อ


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024