วัดป่าลิไลยก์ (Wat Palilai)
 
Back    18/04/2018, 10:57    9,659  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา

      วัดป่าลิไลยก์ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๗ ตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เดิมเรียก “วัดป่าชัน” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “วัดป่าเรไร” ปัจจุบันเรียก “วัดป่าลิไลยก์” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๒๙ เคยเป็นที่ตั้งของอู่ต่อเรือเพื่อส่งเสบียงบำรุงกำลังกองทัพไทยสมัยสงคราม ๙ ทัพ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ปัจจุบันเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และเป็นสถานวิปัสสนาที่มีบรรยากาศของความเป็นวัด ซึ่งเพียบพร้อมด้วยบรรยากาศที่เงียบสงบร่มรื่น แสดงถึงการอยู่ด้วยสติ ปัญญา ภูมิปัญญาชาวบ้านที่น่าสนใจแห่งหนึ่งในบริเวณพื้นที่รอบลุ่มทะเลสาบสงขลาปัจจุบันนี้กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ อันเนื่องจากภายในวัดมีศิลปกรรมที่สำคัญ อาทิ พระอุโบสถ ใบเสมา เจดีย์ ในปัจจุบันได้รับการพัฒนาวัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดพัทลุง ในทำเนียบวัดจังหวัดพัทลุงของพระครูอริยสังวร (เอียด) ระบุว่าวัดป่าลิไลยก์นี้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๒๔๗  ตรงกับสมัยสมเด็จพระเพทราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา  แต่เรื่องราวเกี่ยวกับวัดนั้นไม่ปรากฏในเอกสารโบราณใด ๆ เลย ต่อมาเมื่อราว  พ.ศ. ๒๓๒๕ พระมหาช่วย ชาวบ้านน้ำเลือด ตำบลท่ามิหรำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง มาเป็นเจ้าอาวาส ราว ๆ พ.ศ. ๒๓๒๘ พม่าได้ยกทัพมาตีเมืองชุมพร เมืองไชยา  และเมืองนครศรีธรรมราช พระยาเจ้าเมืองพัทลุงได้ปรึกษากับท่านพระมหาช่วย เพื่อคิดหาทางหยุดยั้งทัพของพม่าไม่ให้มาถึงเมิืองพัทลุง ท่านได้ทำเครื่องลางของขลัง เพื่อแจกเป็นขวัญและกำลังใจไพร่พล และได้รวบรวมกำลังพลได้ประมาณ  ๑,๐๐๐ คนเศษ ยกไปต้านพม่าไว้ที่ตำบลปันแตแต่ไม่ทันรบกันพม่าก็ถอยทัพไปก่อน ท่านพระมหาช่วยมีความชอบเป็นอย่างมากสมเด็จพระเพทราชา จึงโปรดเกล้าฯ ให้ลาสิกขาบท และแต่งตั้งให้เป็นพระยาทุกขราษฎร์  ต่อมาได้เกณฑ์คนตัดไม้ต่อเรือรบ  ๓๐ ลำ ปากกว้าง ๓ วาบ้าง ๔ วาบ้าง  โดยทำการต่อเรือที่ชายทะเลหน้าวัดป่าลิไลยก์แต่เรือยังไม่ทันเสร็จก็ติดราชการกบฏเมืองไทรบุรีเสียก่อนการต่อเรือจึงยกเลิกไป จากคำบอกเล่าเกี่ยวกับประวัติวัดป่าลิไลยก์ กล่าวว่าที่ดินที่สร้างวัดป่าลิไลยก์ในปัจจุบันเป็นที่ของตาผ้าขาวได้บริจาคให้แก่พระสมุหมีอินทร์ ที่ตั้งใจจะนำของโบราณมาบรรจุที่พระบรมมหาธาตุนครศรีธรรมราชแต่ไม่ทันพิธีการ จึงได้จอดเรือพักและสร้างวัดป่าลิไลยก์ขึ้นมา 


ความสำคัญ

       วัดป่าลิไลยก์อยู่ในเขตตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง  ชาวบ้านนิยมเรียกว่าวัดป่าตามทำเนียบวัดจังหวัดพัทลุง ระบุว่าวัดนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๔๗ ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมกันมาก ตลอดถึงคณะนักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ และพุทธบริษัท ได้มาพักแรมเพื่อปฏิบัติธรรมกันตลอดทั้งปี วัดป่าลิไลย์เป็นวัดที่มีสภาพภูมิทัศน์ที่ร่มรื่นมาก มีสวนป่าที่สงบเงียบ สงบเย็น สัปปายะ เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ เดินจงกรม เจริญจิตภาวนา เป็นวัดที่มีพื้นที่ติดกับชายฝั่งทะเล มีสถานที่พักผ่อน และมีที่พักสำหรับผู้ที่ประสงค์จะเดินทางมาพักปฏิบัติธรรม ทางวัดมีเรือนรับรอง และให้บริการแก่ผู้มาเยือนเป็นอย่างดีเยี่ยม วัดป่าลิไลย์เป็นวัดหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการปฏิบัติธรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามแนวนโยบายของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

      โบราณสถานของป่าลิไลยก์นั้นเป็นศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นก กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา (ฉบับพิเศษ)  เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๘๐ หน้า ๑๔๑ วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๘   พื้นที่ประมาณ ๒ ไร่  ๒ งาน ๖๓ ตารางวา     

พระอุโบสถ     

       พระอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีกำแพงแก้วล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน ซุ้มประตูกำแพงแก้วอยู่ทางทิศตะวันออก ๑ ซุ้ม อุโบสถมีทางเข้า ๒ ประตู  ระหว่างประตูทั้งสองมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางเลไลยก์  ด้านข้างมีลิงและช้างหมอบ อุโบสถเจาะฝาผนังเป็นช่องหน้าต่างรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านละ ๒ ช่อง ภายในมีพระประธานและพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย จำนวน  ๔  องค์  เป็นฝีมือช่างพื้นเมืองภาคใต้

พระประธานในพระอุโบสถ

ประตู หน้าต่าง และเพดานอุโบสถประกอบด้วยไม้เป็นส่วนใหญ่

ใบเสมา 

      ใบเสมาของวัดเป็นหินทรายสีแดงตั้งอยู่บนฐานก่ออิฐถือปูนรอบอุโบสถ จำนวน ๘ ใบ บางใบสภาพชำรุด แต่ละใบมีลวดลายจำหลักไม่เหมือนกันคือสลักลายกนกก้านขด บางแผ่นสลักลายหน้ากาลลักษณะประณีตสวยงาม  จากรูปแบบศิลปกรรมน่าจะเป็นลวดลายที่สลักขึ้นราวสมัยอยุธยาตอนปลายหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น

เจดีย์

        เจดีย์ตั้งอยู่นอกกำแพงแก้วหน้าอุโบสถ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ ๒ เมตร สูงประมาณ  ๖ เมตร  รอบฐานมียักษ์ปูนปั้นแบกด้านละ ๕ ตน  รูปยักษ์ด้านทิศตะวันออกหักพังลงหมดแล้ว  มีซุ้มพระพุทธรูปลดหลั่นกันด้านละ ๒ ซุ้ม  องค์ระฆังแบบสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง  มีฐานสิงห์รองรับอีกชั้นหนึ่ง  มีลวดลายปูนปั้นรูปบัวหงาย  รูปกนกและลายดอกไม้ประดับทั้งองค์  ยอดเจดีย์เป็นบัวกลุ่มเถา เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  องค์เจดีย์ได้รับการบูรณะใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖


ปูชนียวัตถุ

พระประธานในอุโบสถ

พระพุทธรูปพระประทานในอุโบสถมีทั้งหมด ๔ องค์ มีองค์ใหญ่ ๑ องค์ องค์เล็กอีก ๓ องค์ 

วิหารหลวงพ่อทันใจ-พระมหาช่วย

พระพุทธรูปปางมารวิชัย

วังมัจฉา


ปูชนียบุคคล

พระยาทุกขราษฏ์ (ช่วย)

 

ประวัติ

       พระยาทุกขราษฏร์ (ช่วย) เดิมชื่อช่วย เป็นต้นตระกูลสัจจะบุตร และศรีสัจจัง แต่พอจะสันนิษฐานได้ว่าน่าจะเกิดประมาณตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา และเสียชีวิตปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นชาวบ้านน้ำเลือด หมู่ที่ ๕ ตำบลท่ามิหรำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เป็นบุตรคนที่ ๒ ในจำนวนบุตร ๓ คนของขุนศรีสัจจัง เกิดที่บ้านน้ำเลือด ตำบลท่ามิหรำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง สำหรับวันเดือนปีเกิดไม่ปราบกฎหลักฐานแต่ประการใด แต่สันนิษฐานว่าคงเกิดในราว พ.ศ. ๒๒๘๒ สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. ๒๒๗๕ ถึง ๒๓๐๑) เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี บิดามารดาได้นำฝากเรียนหนังสือกับท่านสมภารวัดควนปรง ซึ่งเป็นวัดใกล้บ้านด้วยนิสัยรักการศึกษาค้นคว้าหาความรู้มาแต่เด็ก จึงได้บรรพชาในปีนั้น และเข้าศึกษาภาษาไทยขั้นอ่านเขียน และพระธรรมวินัยตามแบบฉบับค่านิยม เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ได้เข้าอุปสมบทที่วัดเขาอ้อ ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน ซึ่งเป็นวัดที่มีชื่อเสียงด้านไสยศาสตร์ เชื่อกันว่าพระมหาช่วยได้ศึกษาด้านไสยศาสตร์กับพระอาจารย์จอมทองที่วัดเขาอ้อ ความสามารถที่ปรากฏเมื่อเป็นบวชสามเณรช่วย สามารถสอบบาลีเปรียญผ่านได้เป็น “พระมหา” ตั้งแต่เป็นสามเณร ซึ่งหาได้ยากมากสำหรับวัดตามหัวเมือง ในขณะที่ท่านจำพรรษาที่วัดเขาอ้อ ได้ศึกษาวิชาไสยศาสตร์อย่างจริงจัง และสามารถปฏิบัติได้จนเป็นที่ยอมรับของอาจารย์ และบรรดาศิษย์ร่วมสำนักเดียวกัน ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๑๕ เมืองพัทลุงย้ายที่ตั้งเมืองจากเขาชัยบุรีไปตั้งใหม่ที่บ้านโคกลุง ตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง ทางพระนครได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก) เป็นเจ้าเมือง ในช่วงนั้นพระมหาช่วยได้รับนิมนต์มาเป็นสมภารที่วัดป่าลิไลยก์ ประมาณว่าท่านอายุได้ประมาณ ๓๓ ปี และเปิดเป็นสำนักสอนภาษาบาลี มีบรรดาลูกศิษย์ที่เคารพนับถือด้านไสยศาสตร์มาฝากเนื้อฝากตัวเป็นศิษย์จำนวนมาก จนปรากฏชื่อเสียงแพร่หลายควบคู่ทั้งบาลีและไสยศาสตร์ ในความสัมพันธ์ของท่านพระมหาช่วยกับเจ้าเมืองพัทลุงนั้นสนิทสนมกันมากเนื่องจากวัดอยู่ใกล้กับจวนเจ้าเมือง ท่านเป็นพระอธิการอยู่ที่วัดป่าลิไลยตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ ๑)   

       จากพงศาวดารไทยรบพม่ากล่าวว่ากองทัพพม่าขณะนั้นได้ยกมารวมกันอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชและได้เข้าตีเมืองนครศรีธรรมราชจนเข้ายึดเมืองได้ และเกงหวุ่นแมงยีผู้เป็นแม่ทัพยังประสงค์จะไปตีเมืองพัทลุง และเมืองสงขลาต่อไป ครั้งนั้นมีพระภิกษุองค์หนึ่งเป็นอธิการอยูในวัดเมืองพัทลุงชื่อพระมหาช่วย พวกชาวเมืองนับถือว่าเป็นผู้มีวิชาอาคม พระมหาช่วยชักชวนชาวเมืองพัทลุงให้ต่อสู้ข้าศึก รักษาเมือง ทำตะกรุดและผ้าประเจียดมงคลแจกจ่ายเป็นอันมาก กรมการเมืองและพวกนายบ้าน จึงพาราษฎรมาสมัครเป็นศิษย์พระมหาช่วยมากขึ้นทุกที จนรวบรวมกันได้สัก ๑,๐๐๐ คนเศษ หาเครื่องศาสตราวุธได้ครบมือกันแล้วก็เชิญพระมหาช่วยผู้อาจารย์ขึ้นคานหามยกเป็นกระบวนทัพมาจากเมืองพัทลุง แล้วเลือกหาชัยภูมิที่ตั้งค่ายสกัดอยู่ในทางที่พม่าจะยกลงไปเมืองนครศรีธรรมราช ฝ่ายพม่ายังไม่ยกลงไปจากเมืองพัทลุง ได้ข่าวว่ากองทัพกรุงเทพฯ ยกลงไปจากทางข้างเหนือ เกงหวุ่นแมงยี แม่ทัพพม่าจึงให้เนยโยคงนะรัดนายทัพหน้า คุมพลยกกลับขึ้นมาตีกองทัพกรุงเทพฯ เกงหวุ่นแมงยียกตามมาข้างหลัง กองทัพพม่ามาปะทะทัพไทยที่ตั้งอยู่ ณ เมืองไชยา พม่ายังไม่ทันตั้งค่าย ไทยก็ยกเข้าล้อมพม่าไว้ เมื่อเสร็จศึกพม่าแล้วพระมหาช่วยสมัครลาสิกขาบทออกรับราชการ ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท และทรงแต่งตั้งให้เป็นพระยาทุกขราษฎร์ ตำแหน่งในกรมการเมืองพัทลุง

ผลงาน
      ชีวิตในร่มกาสาวพัตร พระยาทุกขราษฏร์ (ช่วย) ได้เรียน นโม ก ข ขอมไทย และบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดควนปรง วัดใกล้บ้านจนกระทั่งมีอายุได้ ๒๐ ปี ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดเขาอ้อ ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง แล้วได้สมัครเป็นศิษย์พระอาจารย์ทอง วัดเขาอ้อ พระผู้มีความเชื่ยวชาญทางไสยศาสตร์ เป็นที่เลื่องลือไปทั่วภาคใต้ พระยาทุกขราษฏร์ (ช่วย) มีความสามารถ ในการศึกษาเล่าเรียน และการปฏิบัติธรรมทางพุทธศาสนาควบคู่ กับการศึกษาวิชาทางไสยศาตร์ของสำนักวัดเขาอ้อ จนได้รับการแต่งตั้ง เป็น ”พระมหาช่วย” เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป จึงได้รับการนิมนต์ไปเป็นเจ้าอธิการวัดป่าเลไลย์ วัดเก่าแก่ หลังจากที่พระยาคางเหล็ก (ขุน) ได้ย้ายเมือพัทลุงไปตั้งที่บ้านโคกลุง ตำบลลำปำ ในปี พ.ศ. ๒๓๑๕ และมีเวลาในการสั่งสมคุณงามความดีจนเป็นที่เคารพกราบไหว้บูชาด้วยความศรัทธาของชาวบ้าน ทั้งคงจะมีความสนิทสนมกันมากขึ้นกับเจ้าเมือง ทั้งนี้เพราะวัดป่าเลไลย์ อยู่ไม่ไกลกันมากนักกับเมือง ที่วัดนี้เองที่พระมหาช่วยได้สร้างวีรกรรมที่ควรแก่การยกย่องเชิดชูเกียรติ ประวัติ และเป็นแบบอย่างแก่อนุชนสืบไปโดยปลุกมหาชนชาวพัทลุง เป็นกำลังเข้าต่อต้านพม่าที่จะยกมาตีหัวเมืองพัทลุงใน “สงคราม ๙ ทัพ” พ.ศ. ๒๓๒๘ ที่พม่ายกพลมาทุกทิศทุกทางเพื่อต้องการยืดเมืองไทยให้ได้เมื่อเสด็จศึกพม่าแล้ว พระยาพัทลุงคางเหล็ก (ขุน) ได้เข้ากราบทูลความดี ความชอบในวีรกรรมขอพระมหาช่วย ต่อสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ที่เมืองสงขลา สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท จึงให้ท่านสึกออกจากบรรพชิต แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็น “พระยาทุกขราษฏร์” ผู้ช่วยราชการเมืองพัทลุง โดยมีตำแหน่ง “พระยา” เท่าเทียมกับเจ้าเมืองเนื่องจากได้สร้างวีรกรรมเพื่อปกป้องแผ่นดินมาตุภูมิไว้ด้วยชีวิตด้วยคุณงามความดีนี้เอง ทางจังหวัดพัทลุงจึงได้เอาชื่อของท่านไปตั้งเป็นชื่อถนนสายหนึ่งชื่อ “ถนนช่วยทุกขราษฏร์” และในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ จังหวัดพัทลุงร่วมด้วยส่วนราชการ องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน พ่อค้าประชาชน ทุกสาขาอาชีพ ได้พร้อมกันจัดสร้างอนุสาวรีย์พระยาทุกขราษฏร์ (ช่วย) ประดิษฐานไว้ที่สามแยกบานท่ามิหรำ ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง

พระครูกิตติวราภรณ์ (ทวี กิตฺติญาโณ)

 

ประวัติ

       พระครูกิตติวราภรณ์ (ทวี  กิตฺติญาโณ) เดิมชื่อทวี ฤทธิรัตน์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๕  เป็นชาวพัทลุง เกิดที่บ้านปากประ ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง อุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ สอบได้นักธรรมเอก พ.ศ. ๒๕๐๘ สอบได้วิชาชุดครู ปกศ. พ.ศ. ๒๕๑๔ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาศาสนาและปรัชญา จากมหาวิทยาลัยพาราณสี ประเทศอินเดีย เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าลิไลยก์ ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒ ตามความประสงค์ของท่านปัญญานันทภิกขุ วัดชลประทานรังสฤษฏ์ ชาวพัทลุงเช่นกัน เพื่อให้มาพัฒนาวัดร้างในบ้านเกิดหลังสำเร็จการศึกษาขั้นสูงสุดและธุดงค์ข้ามแดนมาแล้ว พระครูกิตติวราภรณ์ (ทวี  กิตฺติญาโณ) เป็นพระเถรานุเถระนักศึกษาทั้งในแง่การศึกษาทางศาสนาและการศึกษาทางโลกตั้งใจศึกษาพระพุทธพจน์แสวงหาความรู้จากพระไตรปิฎก สามารถใช้ภาษาได้หลายภาษา ได้ธุดงค์จาริกแสวงบุญเป็นเวลานาน ๖ ปี มีความเชี่ยวชาญทางภูมิศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่นถึงพร้อมด้วยวุฒิภาวะ พุทธิปัญญา จริยวัตร มีผลงานเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ 

       พระครูกิตติวราภรณ์ (ทวี  กิตฺติญาโณ) เป็นพระเทศนาที่มีชื่อเสียง สามารถเทศน์ได้ทั้งภาษาไทย อังกฤษ และฮินดู เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๐ และ ๒๕๓๑ ได้รับรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์สังข์เงิน จากสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย สาขาเผยแพร่พระพุทธศาสนา  ท่านได้รับอาราธนานิมนต์เป็นพระราชมัคคุเทศก์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้นำเสด็จไปยังประเทศอินเดียเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เป็นคณะกรรมการอำนวยการสอบธรรมสนามหลวง เป็นคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานประจำจังหวัดพัทลุง เป็นพระอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศมายาวนานกว่า ๒๕ ปี และได้นิพนธ์หนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมหลายเล่ม อาทิ ชุดธุดงค์ข้ามแดน   เล่ม  ๑๖  ท่องไปในทานบุญสู่โลกลี้ลับทิเบต เหนือสิ่งอื่นใดในโลก ดอกไม้งามเก็บได้จากทุกศาสนา พบญาติพบธรรม ส.ค.ส. สุขภาพ เป็นต้น  ท่านได้รับรางวัล “คนดีศรีเมืองลุง” ติดต่อกัน ๒ วาระ และมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา  เมื่อวันที่  ๒๒  พฤศจิกายน  ๒๕๕๑
ผลงาน 

       พระครูกิตติวราภรณ์ (ทวี  กิตฺติญาโณ) เป็นพระเถระนักพัฒนาที่มีผลงานโดดเด่นทางด้านการนำวัฒนธรรมท้องถิ่น ความเป็นญาติ เป็นเพื่อนเกลอ และหลักธรรม “ปรมัตถวิริยบารมี” มาใช้ในการบริหารจัดการ และการพัฒนาชุมชน เช่น การพัฒนาวัดป่าลิไลยก์ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางปัญญา การจัดสร้างห้องสมุด “ทวีปัญญา” ให้แก่โรงเรียนวัดปากประ นำพระภิกษุสามเณรประชาชนในพื้นที่รอบลุ่มทะเลสาบสงขลา ญาติธรรม องค์กรของรัฐและองค์กรเอกชนร่วมกันจัดสร้างถนน “พระ-ประชาทำ” ซึ่งเป็นถนนยกระดับที่อนุรักษ์ระบบนิเวศเลียบทะเลน้อยจากบ้านหัวป่า ตำบลหัวป่า อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ถึงบ้านไสกลิ้ง ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ยาวกว่า ๑๗ กิโลเมตร ทำให้ย่นระยะทางเกือบ ๕๐ กิโลเมตร เป็นการนำความเจริญมาสู่จังหวัดพัทลุง และบริเวณรอบลุ่มทะเลสาบสงขลา รวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไพศาลต่อประชาชน 

       พระครูกิตติวราภรณ์ (ทวี  กิตฺติญาโณ) ผู้นำในการสร้างถนนสายบ้านหัวป่า-บ้านไสกลิ้ง ด้วยเงินทุนและแรงงานของชาวบ้านแถบนั้น เพื่อให้ประชาชนตำบลบ้านใหม่ ตำบลตะเครียะ ตำบลบ้านยาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของทะเลสาบสงขลา กับตำบลลำปำ ตำบลพนางตุง ตำบลทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ไปมาหาสู่กันได้ เพราะเคยมีอุบัติเหตุเรือล่มหลายครั้งหลายหนจากการเดินทางของญาติสัมพันธ์สองฝั่งทะเลสาบ ทำให้ญาติมิตรต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ท่านต้องขับเรือจากวัดไปควบคุมการก่อสร้างถนนด้วยตนเองท่ามกลางแสงแดดแผดจ้า สำหรับถนนสายบ้านหัวป่าถึงบ้านไสกลิ้งนั้น เกิดขึ้นเพราะชาวท่าออกหรือชาวระโนดโดยเฉพาะชาวทุ่งตะเครียะมีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติและเกลอดองกับชาวท่าตก หรือชาวควนขนุน  ทะเลน้อย  พนางตุง แต่เส้นทางติดต่อระหว่างสองฝั่งต้องผ่านพรุนางเรียมและทะเลน้อยโดยทางเรือเพียงทางเดียว นอกจากต้องฝ่าคลื่นฝืนลมในหน้ามรสุมแล้วยังต้องเผชิญต่อสัตว์ร้าย  เช่น  จระเข้  งูเห่า  และช้างแกลบหรือช้างค่อม ชาวบ้านละแวกนี้จึงมีความฝันมานานว่าจะให้มีเส้นทางติดต่อที่มีความสะดวกสบายเหมือนท้องถิ่นอื่น ๆ ในละแวกใกล้เคียง ความใฝ่ฝันเริ่มเป็นจริงเมื่อนายสุรใจ  ศิรินุพงศ์  ส.ส. สงขลา (ประมาณปี ๒๕๓๑) เลือดเนื้อเชื้อไขของผู้ใหญ่บ้านจวน  ศิรินุพงศ์  คนทุ่งตะเครียะโดยกำเนิด  ร่วมกับ ส.ส.  พัทลุง อีก  ๓  คน คือนายวีระ  มุสิกพงศ์ (นายวีระกานท์)  นายโอภาส  รองเงิน  และนายพร้อม  บุญฤทธิ์  ลงนามในหนังสือเสนอ รมต. กระทรวงการคลังในฐานะประธานกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายข่ายประจำปี  ๒๕๓๑  ของบประมาณก่อสร้างถนนเชื่อม จังหวัด พัทลุง กับจังหวัดสงขลา ด้วยเหตุผลว่า   

       ๑) เป็นการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว
        ๒) เป็นการพัฒนาอาชีพการประมงน้ำจืด
        ๓) เป็นเส้นทางลำเลียงวัสดุก่อสร้างที่จำเป็น
       ๔) เป็นเส้นทางที่ประชาชน ในจังหวัดสงขลา พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช สตูล มีโอกาสนำผลผลิตทางการเกษตรไปจำหน่ายได้สะดวก
       ๕) เป็นเส้นทางที่จะอำนวยความสะดวกในการพัฒนาทะเลสาบสงขลาให้บรรลุเป้าหมาย

        ในที่สุดก็ได้รับงบประมาณ  ๑๓๕  ล้านบาท ในการก่อสร้างถนนดังกล่าวเชื่อมระหว่างบ้านหัวป่า  ตำบลบ้านขาว  อำเภอระโนด  จังหวัดสงขลา กับบ้านปากประเหนือ  ตำบลพนางตุง  อำเภอควนขนุน  จังหวัดพัทลุง  ชาวบ้านพากันดีใจว่าจะมีถนนใช้ไม่เกินปี  ๒๕๓๒  แต่ปรากฏว่าลงมือสร้างจากบ้านปากประเหนือ มาได้ประมาณ ๖ กิโลเมตร ก็มีการคัดค้านจากนักการเมืองอีกฝ่ายที่คุมสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) ในสมัยนั้นว่าให้มีการทบทวนความเหมาะสม โดยการให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  การดำเนินการจึงชะงักลงประมาณ  ๒-๓  ปี  งบประมาณดังกล่าวถูกคืนคลังไปในที่สุด  แต่การเรียกร้องให้มีถนนดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่ แต่แล้วในที่สุดนักการเมืองทั้ง ๔ ท่านหลุดออกจากตำแหน่งไปเพราะไม่ได้สังกัดยอดนิยมของคนใต้ ในสมัยต่อมาที่เปลี่ยนหัวหน้าพรรคเป็นคนใต้และชูประเด็น “สนับสนุนคนใต้เป็นนายกรัฐมนตรี” แบบภาคนิยมและมาประสบผลสำเร็จในการเลือกตั้งสมัยที่ ๒  ของปี ๒๕๓๕ ต่อมาพระครูศาสนการโกวิท (พ่อท่านเล็ก) ชาวบ้านขาว เจ้าอาวาสวัดจาก เจ้าคณะอำเภอระโนด มาเป็นผู้นำในการดำเนินการสร้างถนนดังกล่าวต่อมา ท่านเป็นผู้มีลูกศิษย์มากมายและเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านทั้ง ๒ อำเภอ คือระโนด และควนขนุน เป็นผู้ประสานงานให้ประชาชนนำเครื่องจักรกล วัสดุอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ มาพัฒนาถนนสายนี้  ในชั้นต้นได้รับการสนับสนุนจากคนที่มีรถขุด จำนวน  ๓  คน  ๓  คัน เริ่มงานในปี  ๒๕๓๘-ถึง ๒๕๓๙  คือนายชาติชาย (แสน)  จิระโร  นายสำราญ  ปล้องฉิม (ร้านอาหารปลาพูดได้บ้านใหม่) และนายชม (ไม่ทราบนามสกุล)  ชาวบ้านท่าบอน ขุดถนนจากสี่แยกบ้านหัวป่าไปจนถึงคลองกก ต่อมาเรื่องการสร้างถนนทราบถึงพระครูกิตติวราภรณ์ (ทวี กิตฺติญาโณ) ท่านได้ร่วมเป็นพลังประสานงานกำนันอำนวย หมื่นหนู นำรถขุด ๑ คันมาเริ่มขุดทางฝั่งคลองนางเรียมทางทิศใต้ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะสภาพเป็นโคลนตม พระครูศาสนการโกวิท (พ่อท่านเล็ก) จึงขอรับการสนับสนุนเครื่องมือจาหน่วยทหาร ช. พัน ๔๙๒  จังหวัดพัทลุง นำรถขุดมาดำเนินการจนถึงบ้านทะเลน้อย โดยท่านพระครูทั้ง ๒ รูปเป็นผู้นำในการก่อสร้าง มีประชาชนในพื้นที่สนับสนุนค่าน้ำมันค่าเบี้ยเลี้ยงพลขับ และอื่น ๆ  รวมทั้งนักการเมืองทั้ง  ๔  ท่าน ก็ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด   ต่อมานายเอกชัย ศรีวิชัย นักร้องลูกทุ่งชื่อดังรับแสดงดนตรี ๓ จุด คือที่อำเภอระโนด  อำเภอหัวไทร และอำเภอควนขนุน เพื่อหาทุนสมทบได้เงินทั้งสิ้นประมาณ  ๑,๒๐๐,๐๐๐  บาท  สร้างถนนดินลูกรังสำเร็จรถยนต์สามารถใช้สัญจรไปมาได้ ในวันที่ ๓  มิถุนายน ๒๕๔๔  พระครูทั้ง ๒ ท่าน และชาวบ้านร่วมกันจัดงานพิธีเปิดใช้ถนนสายนี้ พร้อมกับการทอดผ้าป่าสามัคคี และตั้งชื่อถนนสายนี้ว่า “ถนนพระ-ประชาทำ” โดยมีพระเป็นประธานในพิธีเปิดทั้ง ๒ ฝั่งจังหวัด คือฝั่งจังหวัดพัทลุง มีพระธรรมรัตนาการ  เจ้าคณะภาค ๑๘ จังหวัดตรัง เป็นผู้ตัดริบบิ้น ส่วนฝั่งจังหวัดสงขลา มีพระราชศีลสังวร เจ้าคณะจังหวัดสงขลา เป็นประธานร่วมพิธี  มีพระคุณเจ้าในภาคใต้จากทุกจังหวัด พระคุณเจ้าจากกรุงเทพมหานคร จำนวนประมาณ ๑,๐๐๐ รูป ประชาชนประมาณ ๖๐๐ คนมาร่วมในพิธี ต่อมาสมัยรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรก็มีการสร้างเพิ่มเติมเป็นถนนลาดยางยกระดับสูงจากระดับน้ำ ๓ เมตร ถึง ๕ เมตร  ผิวจราจรกว้าง ๑๔ เมตร ระยะทางประมาณ ๖ กิโลเมตร

      พระครูกิตติวราภรณ์ (ทวี  กิตฺติญาโณ) ในภาพเบื้องหลังความสำเร็จของถนนสายบ้านหัวป่า-บ้านไสกลิ้ง ซึ่งเป็นถนนที่พระภิกษุร่วมกับชาวบ้าน ได้ริเริ่มก่อสร้างเพื่อใช้สัญจรระหว่างอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุงกับอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ถึงแม้ว่าถนนพระ-ประชาทำ สามารถใช้สัญจรไปมาหาสู่กันทั้งสองฝั่งทะเลสาบได้แล้วก็ตาม ท่านก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้ขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อนำภาพถ่ายต่าง ๆ ที่พระกับชาวบ้านได้ช่วยกันทำถนนด้วยกำลังของเขาเอง จนในที่สุดรัฐบาลทักษิณก็ได้อนุมัติงบประมาณ ๕๔๙ ล้านบาท ในการก่อสร้างถนนสายไสกลิ้ง-หัวป่า ผ่านป่าพรุ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ความยาว ๑๗.๕๔๗ กิโลเมตร โดยแบ่งเป็น ๓ ช่วง คือช่วงที่ ๑ เป็นถนนลาดยางระยะทาง ๕.๙ กิโลเมตร ช่วงที่ ๒ เป็นทางยกระดับผ่านป่าพรุและทางน้ำหลาก ระยะทาง ๕.๔๕๐ กิโลเมตร มีจุดพักรถจำนวน ๖ จุด เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมวิวทิวทัศน์ความสวยงามของทะเลน้อยและทะเลสาบสงขลา (ทะเลหลวง)  ส่วนช่วงที่ ๓ เป็นถนนลาดยาง ระยะทาง ๖.๑๙๗ กิโลเมตร 

  พระครูกิตติวราภรณ์ (ทวี  กิตฺติญาโณ) เป็นพระนักพัฒนาที่มีผลงานโดดเด่นทางด้านการนำวัฒนธรรมท้องถิ่น ความเป็นเครือญาติ เป็นเพื่อนเกลอ และหลักธรรม “ปรมัตถวิสัยบารมี” มาใช้ในการบริหารจัดการ และการพัฒนาชุมชน เช่น การพัฒนาวัดป่าลิไลยก์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางปัญญา การสร้างห้องสมุด “ทวีปัญญา” ให้แก่โรงเรียนวัดปากประ นำพระภิกษุ  สามเณร ประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ญาติธรรม องค์กรภาครัฐและองค์กรเอกชนร่วมกันจัดสร้าง “ถนนพระ-ประชาทำ”ซึ่งเป็นถนนยกระดับเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  ระบบนิเวศจากบ้านหัวป่า ตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ถึงบ้านไสกลิ้ง ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ยาวกว่า ๗ กิโลเมตร  ทำให้ย่นระยะทางเกือบ  ๕๐  กิโลเมตร  เป็นการนำความเจริญมาสู่เขตรอยต่อ ๓ จังหวัด คือ สงขลา-พัทลุง-นครศรีธรรมราช กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และเป็นถนนสายประวัติศาสตร์ที่สร้างโดยพระ และประชาชน โดยไม่ต้องพึ่งพาบารมีของนักการเมืองในพื้นที่มากนัก  มิหนำซ้ำยังถูกขัดขวางจากนักการเมืองบางคนด้วยซ้ำไป ท่านมรณภาพด้วยโรคมะเร็งผิวหนังที่เกิดจากการตรากตรำทำงาน  ตากแดดตากฝน แช่น้ำเพื่อควบคุมการสร้างถนนพระ-ประชาทำ เมื่อวันที่  ๔  มีนาคม  ๒๕๕๗  ณ โรงพยาบาลจังหวัดพัทลุง


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดป่าลิไลยก์ (Wat Palilai)
ที่อยู่
หมู่ที่ ๗ ตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง
จังหวัด
พัทลุง
ละติจูด
7.632875
ลองจิจูด
100.1479703



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ประวัติของพระยาทุกขราษฏ์ (ช่วย) จังหวัดพัทลุง. (ม.ป.ป.). สืบค้นวันที่ 20 เม.ย. 61, จาก http://www.siamsouth.com/smf/index.php?topic=23987.0;wap2

พาไปชมวัดป่าลิไลยก์ จังหวัดพัทลุง. (2550). สืบค้นวันที่ 20 เม.ย. 61, จาก http://www.thaidphoto.com/forums/showthread.php?

        t=64721&s=8248797e788d656efefc3a365b21bd51

วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี. (2559). พระยาทุกขราษฏร์ (ช่วย). สืบค้นวันที่ 20 เม.ย. 61, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/พระยาทุกขราษฏร์_(ช่วย)

วัดป่าลิไลยก์. (2559). สืบค้นวันที่ 20 เม.ย. 61, จาก http://www.thaiheritage.net/nation/oldcity/phattkalung10.htm

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง. (2560). วัดป่าลิไลยก์.  สืบค้นวันที 20 เม.ย. 61, จาก https://www.m-culture.go.th/phatthalung/ewt_news.php?nid=859&filename=inde

องค์การบริหารส่วนตำบลลำปำ. (2552). วัดป่าลิไลยก์. สืบค้นวันที่ 20 เม.ย. 61, จาก https://www.lampam.go.th/album_group1/view.php?album_id=


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024