ประเพณีการเกิด
 
Back    25/05/2021, 10:05    10,813  

หมวดหมู่

ความเชื่อ


ประวัติความเป็นมา

          ประเพณีการเกิดของชาวภาคใต้ ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่มีรูปแบบและเนื้อหาคล้ายคลึงประเพณีของชาวไทยโดยทั่วไป แต่บางอย่างมีเอกลักษณ์และความแตกต่างไปจากท้องถิ่นอื่น ๆ ในที่นี้จะนําเสนอตั้งแต่การตั้งครรภ์ การคลอด การเลี้ยงดูทารกตลอดจนถึงความเชื่อที่น่าสนใจ การเกิดของมนุษย์สืบเนื่องมาจากการที่หญิงชายมีความสัมพันธ์กันทางเพศ ความสัมพันธ์ทางเพศส่วนใหญ่ มักจะมีพื้นฐานจากความรักใคร่ปรารถนาจะอยู่ร่วมกันและได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในการดําเนินชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ การเกิดนับว่าเป็นสิ่งสําคัญอย่างยิ่งของมนุษย์ เพราะเป็นสิ่งนํามาซึ่งความปลื้มใจของผู้เป็น พ่อแม่และญาติพี่น้อง ยิ่งเด็กที่เกิดมานั้นเป็นเด็กเฉลียวฉลาดและเติบโตเป็นคนดีด้วยแล้ว ถือว่าการเกิดนั้นเป็นการ เกิดที่มีคุณค่าต่อบุคคล สังคมและประเทศชาติ
       
การตั้งครรภ์ของสตรีภาคใต้นั้นมีบางคนบางกลุ่มเชื่อว่าเป็นการจุติของเทวดาโดยหมายเอาดวงไฟเล็ก ๆ ที่พุ่งจากท้องฟ้าในตอนกลางคืนลงมาสู่พื้นโลกเป็นสําคัญ เมื่อเห็นดวงไฟเล็กพุ่งลง ณ ที่ใดชาวไทยภาคใต้ดังกล่าวเชื่อว่าดวงวิญญาณกําลังจะเข้าท้องสตรีที่อยู่ใกล้ที่สุด ดังนั้นจึงมีการสั่งสอนลูกหลานมิให้ชี้ ถ้าชี้จะมีผลให้วิญญาณนั้นไปเกิดในท้องสุนัข ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในท้องฟ้าเช่นนี้ทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า “ผีพุ่งได้" อันมีสาเหตุจากสะเก็ดหิน (อุกกาบาต) จากดาวดวงใดดวงหนึ่งหลุดกระเด็นออกมาและเสียดสีกับอากาศท่าให้ไฟลูกเกิดแสงสว่างขึ้นมา การเกิดชีวิตมนุษย์ตามความเชื่อดังกล่าวนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่สืบทอดกันมา แต่ความเชื่อเช่นนี้ในปัจจุบันมีน้อยลงเพราะมนุษย์มีการศึกษาค้นคว้า ทดลอง จนได้คําตอบที่เชื่อได้ว่าชีวิตมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายเกิดขึ้นได้ด้วยการผสมของเชื้อตัวผู้และไข่ของเพศเมีย สัตว์ทั้งหลายเมื่อตั้งท้องก็ปล่อยไปตามธรรมชาติไม่มีการระแวดระวังหรือปรุงแต่งแต่อย่างใด ต่างจากมนุษย์เมื่อรู้ว่ามีครรภ์จะมีการเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษทั้งนี้เพื่อสุขภาพที่ดีของแม่และเด็ก การเอาใจใส่ดูแลครรภ์ของสตรีภาคใต้ เริ่มตั้งแต่การระมัดระวังในเรื่องการรับประทานอาหาร สตรีมีครรภ์จะละเว้นอาหารที่มีรสจัด ไม่ว่าเปรี้ยว หวาน มัน หรือ เค็ม เพราะเกรงว่าจะทําให้มีผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก บางแห่งห้ามรับประทานขนุนด้วยเพราะเชื่อว่าจะทําให้เลือดลมเดินไม่สะดวก นอกจากนี้บางแห่งห้ามรับประทานหอยขม ด้วยความเชื่อเช่นเดียวกัน เรื่องชนิดของอาหารที่ห้ามรับประทานนั้นจะมีความแตกต่างกันออกไปบ้างในแต่ละจังหวัดของภาคได้ ในด้านการออกกําลังและการทํางานก็เช่นกัน สตรีมีครรภ์จะต้องหลีกเลี่ยงการออกกําลังมาก ๆ การยกของหนัก และการทํางานที่ต้องก้ม ๆ เงย ๆ บ่อย ๆ ทั้งนี้เพราะเกรงว่าจะกระทบกระเทือนต่อเด็กในครรภ์ การเดิน การนั่ง และการนอนจะต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการกระทบกระแทกเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับเด็ก หากพลาดพลั้งขึ้นมาเป็น การยากที่จะแก้ไข เพราะสมัยก่อนการแพทย์มีได้เจริญอย่างปัจจุบันนี้ สิ่งที่เน้นกันมากในเรื่องการเดินคือการเดินขึ้นลงบันไดเพราะหากเหยียบพลาดล้มละโอกาส ที่เด็กในท้องจะเสียชีวิตนั้นเป็นไปได้มากทีเดียว นอกจากนี้ยังมีความเชื่อในเรื่องการขึ้นลงบันไดด้วยว่าสตรีมีครรภ์จะต้องขึ้นลงรวดเดียวไม่หยุดยืนหรือนั่งค้างคาบันได เพราะจะทําให้คลอดยากหรือลูกอาจจะค้างคาอยู่ในช่องคลอดแม่ 
          
นอกจากนี้ยังมีความเชื่ออื่น ๆ เช่น ห้ามไปร่วมเผาศพ ด้วยเชื่อว่าเด็กจะถูกวิญญาณรังควาญ และเมื่อเกิดจันทรุปราคาจะต้องเอาเข็มกลัดกลัดที่ผ้าผุงเป็นการป้องกันอาถรรพณ์ เป็นต้น การรับประทานยาบํารุงครรภ์ก็เป็นเรื่องสําคัญอีกเรื่องหนึ่ง ยาบํารุงที่ใช้กันมักเป็นยาสมุนไพรผสมเหล้า ที่เรียกว่ายาดองเหล้า นอกจากนี้ยังมียาผลิตขายตามท้องตลาด ที่มีสูตรผสมลักษณะเดียวกันบางขนานที่สตรีมีครรภ์ซื้อรับประทาน การรับประทานยาบํารุงครรภ์ก็เพราะต้องการให้เลือดลมเดินได้สะดวกทําให้มีสุขภาพดี การมีสุขภาพดี ของแม่จะส่งผลดีต่อลูกในท้อง และยังเป็นการเตรียมพร้อมด้านกําลังกาย เมื่อถึงเวลาคลอดด้วยเนื่องจากการคลอดแต่ละครั้งนั้นสตร์ต้องใช้กําลังมาก การป้องกันภัยอันตรายอันเกิดจากภูต ผี ปีศาจ ต่อสตรีมีครรภ์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ชาวไทยภาคใต้บางแห่งปฏิบัติกัน เป็นต้นว่าการแสวงหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เครื่องรางของขลัง ให้แก่สตรีมีครรภ์เก็บไว้กับตัวเพื่อป้องกันภยันตรายอันเนื่องจากสิ่งดังกล่าวนี้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อถือกัน เช่น พิสมรและปลัดธิก (ศิวลิงก์ขนาดเล็กทําด้วยไม้) เป็นต้น สิ่งดังกล่าวเชื่อว่าจะป้องกันภัยอันตรายจากอํานาจภูต ผี ปีศาจได้ และยังป้องกันสัตว์บางชนิดได้ด้วย โดยเฉพาะงูจะเจอบ่อยเพราะได้กลิ่นหอมจากสตรีมีครรภ์ แต่บางคนเชื่อว่างูจะไม่ทําอันตรายเพราะตบะของเด็กในครรภ์  การป้องกันสตรีมีครรภ์จากอํานาจเหนือธรรมชาติและสัตว์ดังกล่าวนี้ ยังคงมีอยู่บ้างในสังคมชนบทของภาคใต้ แต่ในสังคมเมืองจะไม่ค่อยมีเพราะความเชื่อเจือจางลงไปในระหว่างตั้งครรภ์ผู้ที่อยู่แวดล้อมไม่ว่าสามีหรือญาติพี่น้องจะเอาใจใส่ดูแลในเรื่องต่าง ๆ และจะไม่ทําอะไรให้เกิดความกระทบกระเทือนใจ ด้วยเกรงว่าจะส่งผลเสียต่อเด็กในท้อง หากแม่อารมณ์ไม่ดีปอย ๆ ลูกที่คลอดออกมาจะมีอารมณ์ร้อน ฉุนเฉียว และโกรธง่าย ในทํานองเดียวกันถ้าแม่อารมณ์ดีลูกจะมีสุขภาพจิตดีตามไปด้วย นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าหากแม่ได้พบเห็นสิ่งที่ดีและสวยงาม จะทําให้ลูกที่คลอดออกมามีรูปร่างหน้าตาสวยงามและใจดี ดังนั้นผู้ที่แวดล้อมกับแม่มักจะปรับแต่งสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้สวยงามน่าอยู่ เช่น จัดหารูปสวย ๆ มาประดับที่ฝาผนังโดยเฉพาะรูปเด็กก็น่ารัก หรือจัดตบแต่งไม้ดอก ไม้ประดับ และการพูดจาด้วยถ้อยคําที่อ่อนหวาน เป็นต้น นอกจากนี้การให้แม่ได้พบกับคนดี ๆ คนมีรูปร่างสวยงาม ก็กระทํากันอยู่ด้วยความเชื่อว่าลูกที่คลอดจะเป็นคนดีและรูปงามตามบุคคลที่แม่ได้พบเห็น สตรีมีครรภ์จะมีอาการแพ้ท้องในระยะแรกเดือนที่ ๑-๓ และชอบรับประทานส้ม บางคนจะรับประทานอาหารที่เคยรับประทานไม่ค่อยได้กลับอยากรับประทานสิ่งที่แปลก ๆ เช่น ดิน ขี้ใต้ (ใช้ก่อไฟ) หรือดินสอพอง เป็นต้น การที่สตรีแพ้ท้องรับประทานสิ่งดังกล่าวนี้ทางวิทยาศาสตร์ชี้ว่าเพราะขาดธาตุอาหารบางชนิด เนื่องจากแม่ต้องแบ่งธาตุอาหารไปให้เด็กในท้อง ดังนั้นจึงต้องเพิ่มธาตุอาหารที่ขาดไป สิ่งที่น่าแปลกใจคือ สตรีมีครรภ์มีญาณพิเศษรู้ได้ว่าธาตุอาหารอยู่ในสิ่งใด การรับประทาน ก็นับว่าแปลกที่สุดที่จะอธิบายได้ การแพ้ท้องดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น อีกส่วนหนึ่งหรือส่วนมากอาจจะมีเพียง คลื่นเหียนอาเจียน และรู้สึกไม่สบายตัวเท่านั้น จึงกล่าวกันว่าสตรีมีครรภ์จะแพ้ท้องมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสุขภาพของสตรีแต่ละคนขั้นตอนอีกอย่างหนึ่งที่สตรีมีครรภ์ละเลยมิได้ คือการให้หมอตําแยหรือแม่ทาน (ที่เรียกหมอตําแยเพราะเถรตำแยเรียนตําราการเกิดมาไว้) มาตรวจท้อง ในการตรวจท้องหมอตำแยจะรู้ว่าเด็กปกติหรือไม่หากเด็กอยู่ในท่าผิดปกติ หมอตําแยจะช่วยจัดการทันให้เข้าที่เข้าทาง อย่างทารกที่อยู่ในครรภ์โดยทั่วไป เรียกว่าการคัดท้องจะทำ ๒-๓ ครั้ง ก่อนคลอด บางท้องถิ่นต้องมีพิธีกรรมในการฝากครรภ์ด้วย โดยจะทําเมื่อย่างเข้าเดือนที่ ๗ โดยแม่สามีพาสตรีมีครรภ์ไปบ้านหมอตําแยหรือแม่ทานและจัดสิ่งของไปด้วยคือข้าวสารเหนียว ๑ ขัน หมาก ๓ ผล พลู ๑ กำ เทียนไข ๑ เล่ม และมะพร้าวห้าว ๑ ผล เมื่อหมอตําแยได้รับของดังกล่าวแล้วจะเอาหมาก พลูและเทียนไขตั้งที่หิ้งตายายเพื่อบูชาครู ทั้งนี้เพื่อบอกกล่าวครูหมอให้รับรู้และคอยช่วยเหลือในการคลอดให้เป็นไปอย่างปลอดภัย ส่วนมะพร้าวจะปอกแบ่งเป็น ๒ ซีก หมอตําแยเอาไว้ซีกหนึ่งเพื่อเอาไว้จะใช้ปรุงกับข้าวเหนียวเพื่อนําไปทําบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้ครู (คนใต้เรียกว่าครูหมอ) อีกซึกให้สตรีผู้ฝากครรภ์ นํากลับบ้านอาจจะเอาไปปรุงอาหารทําบุญตักบาตรเพื่อบุญกุศลหรือจะเก็บเอาไว้เป็นสิริมงคลก็ได้ ความเชื่ออย่างหนึ่งที่เชื่อและปฏิบัติกันมาในเรื่องการเกิด คือจะต้องไม่เตรียมสิ่งของเครื่องใช้ใด ๆ สําหรับทารกก่อนที่จะคลอด หากเตรียมไว้จะทําให้ลูกในครรภ์เสียชีวิต ได้ (อาจจะเสียชีวิตในขณะอยู่ในครรภ์หรือหลังคลอดไม่นาน) ความเชื่อเช่นนี้ทําให้ผู้เป็นสามีต้องรับภาระหน้าที่จัดหาสิ่งของเครื่องใช้ทุกอย่างที่ภรรยาและบุตรต้องใช้ เช่น ก้อนเส้า เชิงกราน ฟีน ผ้าอ้อม และเปล เป็นต้น เมื่อเวลาครบเก้าเดือนผ่านไปเวลาคลอดใกล้เข้ามา อาจจะเป็นสัปดาห์แรกของเดือนที่สิบหรือช้ากว่านี้ก็ไม่กี่วัน ทั้งสามีและญาติผู้ใหญ่จะต้องคอยดูแลเป็นพิเศษ เมื่อใกล้เวลาจะคลอดก็จะเชิญหมอตําแยไปที่บ้านเพื่อทําคลอด สิ่งแรกที่จะต้องทําคือการตั้งราด ในการตั้งราดจะใช้กระสอบเล็ก ๆ จํานวน ๓ ใน (สานด้วยใบลานหรือกระจูด) แต่ละกระสอบใส่สิ่งต่อไปนี้ ประกอบด้วยข้าวสาร ๑ กํามือ ด้ายขาว ๓ ริ้ว หมากและพลูกระสอบละเท่า ๆ กันจํานวนเท่าไรนั้นแล้วแต่หมอตำแย และเงินกระสอบละ ๑.๕๐ บาท เมื่อตั้งราดสร็จหมอตําแยจะกาดตายาย (กาดภาษาใต้คืออธิษฐาน) การกาดก็เพื่อให้ตายายรับรู้จะได้ช่วยให้การคลอด เป็นไปด้วยความสะดวกปลอดภัย ในขณะที่การคลอดกําลังดําเนินอยู่ หมอตําแยจะคอยดูแลช่วยเหลือที่จําเป็น เป็นต้นว่าคลอดไม่ออกด้วยเหตุต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องท่าของเด็ก ถ้าไม่เอาหัวลงหมอตําแยจะต้องช่วยหันหัวให้ลงล่าง เพื่อให้คลอดได้ง่าย หากเอาเท้าลงการคลอดจะลําบากเด็กอาจจะเสียชีวิตหรือพิการได้ หมอตําแยจะใช้คาถาช่วยในการคลอดด้วยการเป่ากระหม่อมของสตรีที่คลอด เพื่อให้ช่องคลอดขยายออก ครั้นเด็กคลอดออกมาหมอตําแย จะใช้ผ้าอ้อมควักเสมหะและน้ำต่าง ๆ ที่อยู่ในปากเด็กเพื่อให้หายใจได้สะดวก จากนี้ก็ผูกสายสะดือ ๒ ครั้ง ใน ตําแหน่งที่ใกล้กับท้องเด็กแล้วใช้ไม้ไผ่บาง ๆ ตัดสายสะดือ (ก่อนผูกจะต้องรีดสายสะดือจนแฟบไม่มีลมอยู่ข้างใน เพื่อไม่ให้สะดือจุ่นในภายหลัง การใช้ไม้ไผ่ตัดสายสะดือเชื่อกันว่าจะทําให้ไม่เป็นบาดทะยัก และป้องกันวิญญาณร้ายด้วย ก่อนตัดสะคือจะเอานิ้วจิ้มรกแล้วแตะที่หน้าผากเชื่อว่าโตขึ้นจะทําคิดแต่สิ่งที่ดี และปากเชื่อว่าจะทําให้พูดดี ต่อมาหมอตำแยจะจับตามอวัยวะต่าง ๆ โดยหมอตำแยจะท่องคาถาว่า “หิริโอตตปะ” แตะมือเชื่อว่าจะทําให้ทําดี แตะเท้าเชื่อว่าจะทําให้ไม่วิ่งแล่นชุกชน แตะอวัยวะสืบพันธุ์เชื่อว่าจะไม่สืบพันธุ์ให้เสียตระกูล เมื่อตัดสายสะดือเสร็จแล้วจะใช้ขมิ้นทาที่สะดือ ปาก ท้อง มือและเท้า เชื่อว่าจะทําให้เป็นเด็กดี นอกจากนี้นิยมเอาหัวไพลและมหาหิงค์ผูกข้อมือเด็กเพื่อป้องกันไข้หวัด จากนั้นก็ใช้น้ำอุ่นอาบให้เด็ก แล้วจึงเอาเด็กนอนในกระด้งหรือเจ้ยก้นเตี้ย ซึ่งเชื่อว่าการที่เอาเด็กนอนในสิ่งดังกล่าวนี้เชื่อว่าจะป้องกันผีต่าง ๆ ได้  นอกจากนี้ก่อนคลอดมักจะเอาหนามไม้ไผ่สุมไว้ที่ได้ถุนบ้านตรงกับที่คลอดเชื่อว่าป้องกันผีกระ (ผีกระสือ) ขึ้นไปดูดสะดือเด็กได้ เพราะผีกระ (ผีกระสือ) กลัวหนามไม้ไผ่ บางแห่งที่บ้านเป็นฟากไม้ไผ่ โดยตัดฟากไม้ไผ่ออกเป็นช่องแล้วลงไปรับเด็กข้างล่างด้วยเชื่อว่าจะทําให้เด็กปลอดภัยจากการรังควาญของวิญญาณร้าย (คนใต้สมัยก่อนมีความเชื่อในเรื่องผีกระ (ผีกระสือกันมาก จึงต้องป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นดังกล่าวแล้ว) ส่วนรกที่ออกมาพร้อมกับเด็กเป็นสิ่งสําคัญจะเอาไปทิ้งขว้างไม่เป็นที่เป็นทางไม่ได้ เพราะเชื่อว่าจะมีผลต่อการดำรงชีวิตเมื่อโตของเด็ก ด้วยความเชื่อเช่นนี้จึงทําให้มีพิธีกรรมเกี่ยวกับการฝังรก ก่อนเอารถไปฝังบางแห่งเอาพริกไทยป่นคลุกเคล้า ที่ทําเช่นนี้คงไม่ต้องการให้รกเน่าเสีย สถานที่ที่จะฝังก็ต้องเลือกที่น้ำท่วมไม่ถึง ที่ฝังเชื่อว่าเกิดมงคล แก่เด็ก เช่น ใต้ต้นไม้ใหญ่เชื่อว่าโตขึ้นเด็กจะเจริญก้าวหน้ามีอายุยืน ฝังที่สูงเชื่อว่าเด็กจะมียศศักดิ์เป็นที่นับถือของสังคม เป็นต้น บางแห่งฝังไว้ที่สูงแล้วปลูกต้นมะพร้าวตาม เชื่อกันว่าเมื่อโตขึ้นหากถูกคุณไสยก็ให้ดื่มน้ำมะพร้าวจากต้นที่ฝังรกจะแก้คุณไสยได้ การฝังรกจะต้องมิดชิดไม่ให้สัตว์ขุดคุ้ยเอาไปกินได้และจะต้องว่ามนต์ในขณะที่ฝังด้วยในส่วนของแม่นั้นหมอตําแยจะให้อาบน้ำอุ่นหลังคลอดและจะต้องอยู่ไฟ ๓ วัน ในการอยู่ไฟจะมีแม่ไฟซึ่งประกอบด้วยเชิงกรานและที่รองรับ มีไฟติดลุกแดงตลอดเวลา นอกจากนี้ก็มีก้อนเส้าหมกไฟอยู่เสมอ และจะต้องใช้ก้อนเส้าประคบรอบ ๆ หน้าท้องด้วย เพราะเชื่อว่าจะทําให้กุน (มดลูก) เข้าที่ (ปัจจุบันพูดว่ามดลูกเข้าอู่ แต่จะใช้กระเป๋าน้ำร้อนแทน) การอยู่ไฟก็เพื่อให้ผู้คลอดและลูกได้รับความอบอุ่นจากไฟที่ก่ออยู่ตลอด ๗ วัน  ส่วนอาหารของผู้คลอดใหม่ที่หมอตําแยกําหนดคือข้าวเย็นคลุกพริกไทยป่น ปั้นเป็น ๒ ก้อนเท่าหัวแม่มือแล้วเสกคาถาเชื่อว่าจะทําให้ไม่เป็นเรียน (โรคผอมแห้ง) อาหารมื้อต่อ ๆ มาก็นิยมให้รับประทานอาหารที่มีพริกไทยป่นผสมเสมอ ด้วยเชื่อว่าพริกไทยช่วยให้เลือดลมเดินสะดวกตลอดระยะเวลา ๗ วัน ผู้คลอดจะต้องปฏิบัติตามที่หมอตําแยกําหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้คลอดเอง เมื่ออยู่ไฟครบ ๗ วัน ก็จะมีพิธีบัดราด คือการนําเครื่องบูชาที่ตั้งราดออกไปด้วย การบอกกล่าวให้ครูหมอและพ่อแม่ของเด็กรู้ด้วย จะไม่นําราดออกไปเฉย ๆ เครื่องบูชาในพิธีราดได้แก่ หมาก ๓ คำ เทียนไข ๓ เล่ม เงินบูชาครูตามกําหนด ข้าวเหนียวกะทิและปลาต้มส้ม ครั้นทุกอย่างพร้อมหมอตําแยจะจุดธูปเทียนข้างราดทั้งสามเชิญครูหมอตายายและพ่อแม่เด็ก เพื่อรับเครื่องบูชาและช่วยคุ้มกันรักษาแม่อย่าให้ผิดปกติ ขอให้มดลูกเข้าอู่เร็ว ๆ ในพิธีบัตราดจะมีคํากล่าวที่แตกต่างกันออกไปตามสํานักของหมอตําแยแต่ละคน เช่น “วันนี้เป็นวันดีลูกขอบัดราด ขอให้แม่เฒ่าแม่แกมากินปลาแกงส้ม ต้มยํา เหนียว กะทิ และหมากพลู ให้บายอกบายใจทุกคน แล้วช่วยกัน รักษาอย่าให้ลูกของแม่เลือดขึ้นหัวขึ้นตา แล้วช่วยกันเอากุนลงบอ... (คําว่ากุนหมายถึงมดลูก บอ=บ่อ หมายถึงมดลูกเข้าอู่) ส่วนก้อนเส้าที่ใช้ประคบหน้าท้องเพื่อให้เกิดความอบอุ่นและให้มดลูกเข้าอู่เร็วนั้น หมอตําแยจะเอาไปเผาไฟ แล้วนําไปประคบหน้าท้องผู้คลอดและเวียนรอบแม่ไฟแล้วอาบน้ำ ทาแป้ง พร้อมทั้งใช้ด้ายดิบที่ตั้งราดซึ่ง เหลือจากผูกเปลพันรอบ ๆ ก้อนเส้าแล้วเก็บไว้มิดชิด ห้ามเคลื่อนย้ายไปที่อื่น ภายใน ๔๐ วัน การทําพิธีเกี่ยวกับก้อนเส้าหลังการใช้นี้เรียกว่า “ผลักก้อนเส้า" การทําเช่นนี้เชื่อว่าเป็นสิริมงคลต่อผู้คลอดและเด็ก ก้อนเส้าที่ใช้กันเป็นหินปูนรูปร่างยาวท้ายมน บางทีก็ท่าเองด้วยการเอาปูนซีเมนต์ผสมทรายและน้ำ เครื่องรางที่หมอตําแยน่ากลับไปนั้นมีเงินตั้งราด (เงินเป็นค่าทําคลอด) ส่วนข้าวสารหมอตําแยจะเอาไปถวายพระเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ตายายที่ช่วยปกปักรักษาในระหว่างคลอด นอกจากนี้หมอตําแยยังต้องตั้งเครื่องบูชาและบอกครูหมอของตนที่บ้านด้วย ดังนั้นพ่อของเด็กจึงต้องจัดหาเครื่องบูชาให้หมอตําแยเอากลับไปในวันออกไฟด้วยประกอบด้วย ไก่เป็น ๑ ตัว มะพร้าว ๑ ลูก และข้าวสารเหนียว ๑ อัน (บางที่ไม่ให้เครื่องบูชาแต่ให้เงินแทนเพื่อให้หมอตําแยไปจัดซื้อเอง) หลังออกไฟแล้วแม่ยังจะต้องระวังในเรื่องอาหารการกิน อาหารทุกอย่างต้องมีพริกไทยผสมด้วยเสมอ และให้ทานอาหารแห้ง เช่น ปลาช่อนแห้งย่าง แกงพริกปลาช่อนแห้ง และกุ้งแห้ง เป็นต้น อาหารบางชนิดที่ห้าม เช่น ปลาตะเพียนขาว ปลากระเบน ปลาทู และปลาที่ไม่มีเกล็ดอื่น ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังห้ามกินพืชและผลไม้ บางชนิด เช่น ขนุน น้ำมะพร้าว และละมุด เป็นต้น สิ่งดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นของแสลงต่อผู้คลอดใหม่ จึงห้ามรับประทานเพราะอาจทําให้เกิดผลเสียต่อร่างกายหรืออาจทําให้เสียชีวิตได้ เมื่อเด็กอายุได้ ๓ วัน ก็จะเอาออกจากระด้งหรือเจ้ยไปขึ้นเปล ก่อนจะเอาขึ้นเปลจะทำพิธีกรรมเปิดปากเด็กก่อน ด้วยการเอาเข็มหรือหนามแหลม ๆ ไปจิ้มที่น้ำตาลแว่นหรือขนมหวานแล้วเอาเข็มหรือหนามแหลมนั้น ไปแหย่ที่ปากเด็ก เพื่อให้เด็กดูด การเปิดปากเชื่อว่าจะทําให้เด็กพูดจาไพเราะอ่อนหวาน คาถาที่ใช้ในพิธีเปิดปากมีว่า “สัพพี โอษฐ์ ตัปปะ ธัมมา สัมมา” จะต้องว่าครบ ๓ จบ เสร็จจากพิธีเปิดปากก็จะทําพิธีขึ้นเปลในการทําพิธีต้องมีที่ ๑๒ หรือเครื่องบูชา ๑๒ ซึ่งประกอบด้วยอาหารหวานคาวหลายอย่าง เช่น ขนมขาว ขนมแคง ขนมปากหม้อ ข้าวเหนียว ต่าง ๆ และปลาต้ม เป็นต้น (เครื่องบูชาแต่ละท้องถิ่นอาจจะต่างกันออกไปบ้าง) นอกจากนี้ยังมีหมากพลู มีดโกน หินลับมีด รวงข้าว ตุ๊กตา และรูปพระ เป็นต้น สิ่งของเหล่านี้มีทั้งที่ใช้บูชาแม่ซื้อ พระยมและสิ่งที่จะเป็นสิริมงคลแก่เด็ก เมื่อเครื่องบูชาพร้อมหมอจะทําพิธีด้วยการอุ้มเด็กลงบันไดบ้านเพื่อเอาไปฝากแม่ธรณีแล้วอุ้มเด็กขึ้นบันไดทางเดิม ให้เด็กเหยียบสิ่งต่าง ๆ ที่เตรียมไว้ เช่น เงินทองที่กองไว้ เชื่อว่าเมื่อเด็กโตขึ้นจะมีฐานะร่ำรวย เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้ย่างบนทราย ๙ กอง เชื่อว่าจะทําให้ก้าวหน้า และย่างบนขันน้ำเป็นการฝากเด็กไว้กับพระแม่คงคา เมื่อโตขึ้นเด็กจะเป็นที่รักของพระแม่คงคาจะไม่เป็นอันตรายอันเนื่องมาจากน้ำ ครั้นเสร็จจากการเหยียบและย่างแล้วหมอจะวางเด็กลงในเปลและว่าคาถา “ออ อา ออ แอ” ว่า ๓ จบ (คาถาเหมือนเริ่มต้นรูปกาดหนังตะลุงหรือการเริ่มว่าบทของมโนราห์) ถัดจากนี้หมอจะร้องเพลงร้องเรือเด็กหรือเพลงกล่อมเด็ก เพลงที่หมอใช้อยู่ไม่กี่เพลง เพลงที่ใช้มากคือเพลงน้องนอน (เพลงกล่อมเด็กภาคใต้ของอําเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช) เพลงนี้มีเนื้อร้องว่า

ฮาเอ้อ น้องนอนเหอ นอนให้หลับดี
แม่ซื้อทั้งสี่ มาช่วยพิทักษ์รักษา
อาบน่าป้อนข้าว รักษาเจ้าวันสามเวลา
มาช่วยพิทักษ์รักษา เด็กอ่อนนอนในเปลเหอ

             เมื่อหมอร้องเพลงร้องเรือจลเป็นอันว่าเสร็จพิธีเอาเด็กลงเปล ชาวใต้สมัยก่อนเชื่อว่าเด็กอยู่ในความคุ้มครองของแม่ซื้อทั้งสี่แล้ว แม่ซื้อทั้งสี่คือท้าวจตุโลกบาล (ผู้รักษาทิศทั้ง ๔) ได้แก่ท้าวธตรฐ (จอมภูต หรือคนธรรพ์) อยู่ทิศตะวันออก ท้าววิรุฬหก (จอมเทวดาหรือกุมภัณฑ์) อยู่ทิศใต้ท้าววิรูปักษ์ (จอมนาค) อยู่ที่ศตะวันตกและท้าวกุเวร (จอมยักษ์) อยู่ทิศเหนือ ผู้รักษาโลกทั้งสี่ที่ชาวใต้กล่าวถึงมากที่สุด คือ ท้าวกุเวรหรือบางที่เรียกท้าวเวสสุวรรณ ความเชื่อเรื่องแม่ซื้อมีปรากฏในสังคม เช่น เด็กยิ้มหรือหัวเราะ เป็นเพราะแม่ซื้อหยอกเล่นกับเด็ก และเมื่อเด็กร้องได้มากเชื่อว่าแม่ซื้อไม่อยู่ไม่ได้รักษา จึงทําให้ผีและวิญญาณร้ายหลอกหลอนเด็กและเด็กเจ็บป่วยหรือมีอาการต่าง ๆ ด้งนั้นจึงมีพิธีทําแม่ซื้อและทำขวัญเด็กการทําแม่ซื้อและทำขวัญเด็กจะทําต่อเนื่องกันไป วันที่ทําจะต้องตรงกับวันเกิดของเด็กและทําได้ตั้งแต่เด็กลงเปลได้ ๔ วัน จนเด็กอายุได้ ๑๕ ปี การทําแม่ซื้อและทําขวัญเด็กเริ่มด้วยการดูตำราพรหมบังเกิด ซึ่งเป็นตําราดูโชคชะตาแยกเป็นเพศหญิงและชาย ตํารานี้จะบอกว่าเมื่อเด็กอายุเท่าไรขวัญจะตกไปอยู่ที่ใดจะเรียกขวัญอย่างไร เช่น เด็กชายอายุ ๗ วัน ขวัญอยู่ที่พระไทร หนึ่งเดือนขวัญหนีไปหรดี สองขวบขรัญหนีเข้าป่าสามขวบขวัญหนีไปกับผีเสื้อ หรือเด็กหญิงหนึ่งขวบขวัญไปอยู่ท้องวัว สองขวบไปอยู่ท้องธาร เป็นต้น นอกจากนี้ยังบอกเกี่ยวกับเครื่องบูชาด้วยว่าขวัญไปตกที่ใดจะใช้เครื่องบูชาอะไรบ้าง เช่น เหล้า ขนม ปลา และเนื้อ เป็นต้น พระพุทธรูปและรูปปั้นก็นํามาใช้ ในการทําพิธีกรรมตามที่กําหนดไว้ในตํารา
          
ในการทําพิธีกรรมนอกจากเครื่องบูชามีสิ่งของต่าง ๆ พร้อมด้วยที่ ๑๒ แล้วยังมีสิ่งสําคัญ คือรูปปั้น ๔ รูป วางข้างกองข้าวสุก ๕ กอง รูปปั้น ๔ รูปวางข้างกองขวัญข้าวทิศทั้ง ๔ อีกรูปหนึ่งวางข้างกองข้าวตรงกลาง หมอว่านโมสามจบหรือที่ชาวใต้เรียกบทสักเคเสร็จแล้วทําพิธีเบิกปากรูปปั้น เพื่อให้มีลักษณะเป็นเด็กที่มีชีวิตจิตใจแทนตัวของเด็ก ให้รูปปั้นข้าวกองข้าว ๔ ทิศ ๔ ตัว เป็นผู้รับเคราะห์กรรมแทน ส่วนรูปปั้นตรงกลางจะปราศจากโรคภัย หมายถึงตัวเด็ก ในขณะทําพิธีพ่อแม่ของเด็กจะอุ้มเด็กนั่งข้างหมอซึ่งมีเครื่องบูชาอยู่ตรงหน้า ในการเบิกปากหมอจะจุดธูปเทียนบูชาพระ และใช้ใบไม้ที่เชื่อว่าเป็นมงคลกวนหม้อน้ำมนต์พร้อมกับว่าบทมนต์ (ที่ใช้กัน เช่น ใบเฉียงพร้า ใบเงิน ใบทอง ใบนาค และใบหมากผู้หมากเมีย เป็นต้น) เสร็จจากเบิกปากก็จะดับเทียนด้วยการจุ่มลงในหม้อน้ำมนต์ ถัดจากนี้ก็จะเป็นการทําขวัญเด็กที่อยู่ในบริเวณพิธี ต่อจากนี้หมอก็จะเริ่มว่าบทเชิญแม่ซื้อซึ่งเป็นบทร้อยกรอง ดังเช่น

วันนี้วันดี แม่จำเริญศรี ยินดีปรีดา
จักเชิญแม่ซื้อ ให้กุมารา ให้ได้สุขา อยู่จำเริญใจ
ปู่ย่าตายาย พี่น้องสองฝ่าย รายรอบขอบไข
แม่ซื้อกุมาร สี่องค์นงคราญ เร่งจับปฏิสน
เทพบุตรจุติ มีอยู่ทุกคน เรียงตามกุศล บุคคลสร้างมา

             เมื่อว่าบทมนต์เชิญแม่ซื้อเสร็จแล้วจะทําพิธีทําขวัญเด็ก ทุกคนที่อยู่ในพิธีทําแม่ซื้อจะต้องอยู่ต่อไปจะออกไปม่ได้ หากมีบุคคลเพิ่มมาใหม่ถือว่าเป็นสิ่งมีมงคลยิ่ง ในการทําขวัญจะมีเครื่องบูชา คือถ้วยข้าวขวัญ ๑ ใบ วางบน บายศรีมีจานรองภายในถ้วยมีสิ่งต่าง ๆ เช่น ข้าวจ้าว ข้าวเหนียว ขนมขาว ขนมแดง กล้วย อ้อย ถั่วยา และอื่น ๆ ตามแต่ตําราที่หมอกำหนด ตรงกลางถ้วยมีไข่ไก่ต้มเจาะรูควยกสารสําหรับปักเทียนไข ๑ ฟอง เรียกว่า “เทียนอายุ หรือ “เทียนชัย” หรือ “เทียนขวัญ” รอบฟองไข่มีข้าว ๓ กอง หมากพลูม้วน ๓ คำ ข้างๆ หมากพลูมีเงินเหรียญ ๓ เหรียญ ที่ปากถ้วยใช้สร้อยทองคําพันโดยรอบ เตรียมเครื่องบูชาเสร็จหมอจะเอาสายสิญจน์มาล้อมรอบเด็ก พ่อแม่และหมอบริเวณวงสายสิญจน์เรียกว่ามณฑลพิธี จากนี้หมอให้เด็กจุดเทียนธวัญถ้าเด็กจุดไม่ได้หมอจะจุดเอง โดยให้เด็กเกาะที่มือหมอ ในขณะจุดเทียนจะว่าคาถา “จุตติ จุตตัง” ๓ จบ หากว่าไม่ได้หมอว่าแทนจากนี้หมอจะว่า บทเชิญชวัญซึ่งมีความยาว เช่น

โอมศรี ๆ จําเริญศรี สวัสดีทุกประการ 
พร้อมญาติวงศ์วาน ให้เริกพานจุดเทียนชัย
ปักบนยอดบายสี ข้าวขนมดีประดับใส
แหวนผ้างามประไพ ตกแต่งไว้อยู่มากมี
มงคลล้อมรอบกุมาร วงศ์รอบพานล้อมบายสี
ตามรีตโบราณ ร้องศัพท์แล้วแต่เบื้องบน
กัสสปพระฤาษีสององค์นี้ คิดพร้อมหนา นาคาตาไฟนั้น 
ฤกษ์ดีเชิญขวัญเจ้ายาจร  

                  ครั้นว่าบทเชิญขวัญจบหมอจะส่งเทียนชัยให้แว่นเวียนขวารอบวง เรียกทักษิณาวรรต ๓ รอบ แล้วให้เด็กดับเทียนชัยหรือเทียนขวัญด้วยใบพลูม้วนที่เป็นกรวยใส่เกิน ๓ บาท พร้อมกับว่าคาถา “ดับทุกข์ ดับโศก ดับโรค โรคา ดับภัยนานา วินาศ สันติ” ดับเทียนเสร็จหมอโยนใบพลูและเหรียญไปข้างหลังเด็กเป็นการเสี่ยงทาย โดยพิจารณาจากจํานวนใบพลูและเหรียญคร่ำหงาย หมายถึงอนาคตของเด็ก เช่น เหรียญหงาย (ด้านมีรูปพระเจ้าอยู่หัว) ๑ เหรียญ ทำนายว่าชะตาเด็กไม่ดี หลาย ๒ เหรียญ ชะตาเด็กดี และถ้าหงาย ๓ เหรียญ ชะตาเด็กจะดีมาก ๆ ส่วนใบพลูก็เช่นกัน ถ้าหงายมากเด็กจะหายจากอาการป่วยต่าง ๆ และอนาคตจะเจริญรุ่งเรือง ถ้าคว่ำมากอาการเจ็บป่วยหายช้าและอนาคตจะไม่รุ่งเรืองนัก
              
การทำขวัเด็กในภาคใต้อาจจะมีความแตกต่างกันออกไปบ้างในรายละเอียด ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับความเชื่อและการปรับเปลี่ยนของหมอผู้ทําพิธีในที่นั้น การทําขวัญเด็กภาคใต้มีปรากฏในวรรณกรรมเรื่องสุบินกุมาร ดังบทร้อยกรองตอนหนึ่งว่า

ครั้นใดฤกษ์ ทําถึงสิงขวัญ ขอเชิญบุตรา
ให้แต่งบายสี วิจิตรรจนา เป็ดไก่สุรา ของหวานของคาว
เหย้าเรือนปัดกวาด พรมเจียมปูลาด พาดผ้าผูกราว
ฉากแขวนกระจก ทุกเสาเงาวาว ดับเพดานข้าว วงมานรามเกียรติ์
ครั้นได้ฤกษ์ ก็ฆ้องจุดเทียน ให้รับแว่นเวียน เจ็ดรอบชอบการ
ท่านยายโบกผัน จิ่มจันทน์น้ำมัน เฉลิมหน้ากุมาร
ยายหยิบข้าวขวัญ ป้อนปากให้หลาน ทําตามโบราณ สมมุติจึงดี

                จากบทร้อยกรองเรื่องสุบินกุมาร วรรณกรรมรุ่นเก่าของภาคใต้นั้นแสดงให้เห็นว่าการทําขวัญเด็กของชาวไทยภาคใต้ ในช่วงหลังก็มิได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก ขั้นตอนต่าง ๆ และเครื่องบูชาก็ยังเหมือน ๆ กัน จะเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็ในรายละเอียดของพิธีกรรมเท่านั้น การทําขวัญเด็กปัจจุบันอาจจะไม่ค่อยเห็นบ่อยนัก ด้วยเหตุปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ประเพณีเกี่ยวกับการเกิดของชาวไทยภาคใต้ดังกล่าวมานั้นได้ปฏิบัติกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพชน ขั้นตอนของประเพณีเริ่มตั้งแต่มารดามีท้อง จะต้องเอาใจใส่ดูแลรักษาทั้งแม่ และลูกในท้องมิให้ได้รับอันตรายไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ จวบจนกระทั่งคลอด และหลังคลอดแล้วก็ต้องเอาใจใส่ทําพิธีกรรม เพื่อความสุขปลอดภัยของลูกและแม่ การประกอบพิธีกรรมทุกขั้นตอนล้วนแต่เป็นสิ่งที่แสริมให้พ่อแม่ ญาติพี่น้องและเด็กเกิดความอบอุ่นใจและมีสุขภาพดีขึ้น กล่าวได้ว่าเป็นวิธีการเยียวยารักษาทั้งทางร่างกายและจิตใจที่ดีเพราะการแพทย์ในสมัยนั้นไม่เจริญ  ปัจจุบันการแพทย์ก้าวหน้ามีการทําคลอดที่โรงพยาบาลกันแทบทั้งสิ้น ดังนั้นประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมาจึงเป็นเพียงร่องรอยวัฒนธรรมในอดีตเท่านั้น อย่างไรก็ตามสิ่งดังกล่าวนี้คือความเจริญรุ่งเรืองของบรรพชนภาคใต้อย่างหนึ่งที่ลูกหลานไทยภาคใต้ จึงควรจะได้ศึกษาหาความรู้เอาไว้ ทั้งนี้เพื่อความรู้ความเข้าใจในภูมิปัญญาของบรรพชนภาคได้ในอดีตและจะได้เล่า สืบต่อกันไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
ประเพณีการเกิด
ที่อยู่
จังหวัด
ภาคใต้


บรรณานุกรม

สืบพงศ์ ธรรมชาติ. (2537). "ประเพณีการเกิด".  ในหนังสือชีวิตไทยชุดสมบัติตายาย. หน้า 1-9.   สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.
               กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024