ประเพณีลากพระ (Traditional Lak Phra)
 
Back    23/04/2018, 09:17    156,689  

หมวดหมู่

วัฒนธรรม


ประวัติความเป็นมา

       ประเพณีลากพระหรือชักพระเป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวใต้ที่ยึดถือปฎิบัติกันมาอย่างยาวนานมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัย ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบเนื่องด้วยพุทธศาสนาซึ่งจะมีขึ้นหลังวันปวารณาหรือวันออกพรรษาแล้ว ๑ วัน คือตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ โดยการที่พุทธศาสนิกชนพร้อมใจกันอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกที่วางอยู่บนพาหนะ เช่น เรือ รถ หรือล้อเลื่อน ที่เรียกว่า “พนมพระ” แล้วพากันแห่แหนชักลากไปตามถนนหนทางหรือลำคลองโดยสันนิษฐานว่าได้เกิดมีขึ้นครั้งแรกในประเทศอินเดียด้วยสืบเนื่องจากการที่มีธรรมเนียมนิยมนำเอาเทวรูป เช่น พระอิศวร พระนารายณ ออกแห่แหนในโอกาสต่าง ๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลและอำนวยอวยพรให้อยู่สุขเป็นสุข ต่อมาพุทธศาสนาได้นำเอาคติความเชื่อดังกล่าวมาปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับมิติความเชื่อของพุทธศาสนา และเมื่อกาลที่พุทธศาสนาได้เผยแพร่ถึงภาคใต้ของประเทศไทย จึงได้นำประเพณีลากพระหรือชักพระเข้ามาด้วย ประเพณีลากพระหรือชักพระมีความเป็นมาที่เล่ากันเป็นเชิงพุทธตำนานว่า หลังจากพระพุทธองค์ทรงออกผนวชได้ ๗ พรรษา และในพรรษาที่ ๗ นั้น ทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ปราบเดียรถีย์ ณ ป่ามะม่วง กรุงสาวัตถี แล้วได้เสร็จไปจำพรรษา ณ ดาวดึงส์เพื่อโปรดพุทธมารดา ซึ่งขณะนั้นทรงจุติเป็นมหามายาเทพ สถิตอยู่ ณ ดุสิตเทพพิภพตลอดพรรษา พระพุทธองค์ทรงประกาศพระคุณของมารดาแก่เทวสมาคมและแสดงพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดา ๗ คัมภีร์ จนพระมหามายาเทพและเทพยดาในเทวสมาคมบรรลุโสดาบันทั้งหมด เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ อันเป็นวันสุดท้ายของพรรษา พระพุทธองค์ได้เสด็จกลับมนุษยโลกทางบันไดทิพย์ที่พระอินทร์นิมิตถวาย บันไดนี้ทอดจากภูเขาสิเนนุราชที่ตั้งสวรรค์ ชั้นดุสิตมายังประตูนครสังกัสสะ ประกอบด้วยบันไดทอง บันไดเงินและบันไดแก้ว บันไดทองนั้นสำหรับเทพยดามาส่งเสด็จอยู่เบื้องขวาของพระพุทธองค์ บันไดเงินสำหรับพรหมมาส่งเสด็จอยู่เบื้องซ้ายของพระพุทธองค์และบันไดแก้วสำหรับพระพุทธองค์อยู่ตรงกลาง เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึงประตูนครสังกัสสะตอนเช้าตรู่ของวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันออกพรรษานั้น พุทธศาสนิกชนที่ทราบกำหนดการเสด็จกลับของพระพุทธองค์จากพระโมคคัลลาน ได้มารอรับเสด็จอย่างเนืองแน่นพร้อมกับเตรียมภัตตาหารไปถวายด้วย แต่เนื่องจากพุทธศาสนิกชนที่มารอรับเสด็จมีเป็นจำนวนมากจึงไม่สามารถจะเข้าไปถวายภัตตาหารถึงพระพุทธองค์ได้ทั่วทุกคน จึงจำเป็นที่ต้องเอาภัตตาหารห่อใบไม้ส่งต่อ ๆ กันเข้าไปถวายส่วนคนที่อยู่ไกลออกไปมาก ๆ จะส่งต่อ ๆ กันก็ไม่ทันใจ จึงใช้วิธีห่อภัตตาหารด้วยใบไม้โยนไปบ้าง ปาบ้างเข้าไปถวายเป็นที่โกลาหลมาก แต่ก็ถือว่าเป็นการถวายที่ตั้งใจด้วยความบริสุทธิ์ ด้วยแรงอธิษฐานและอภินิหารแห่งพระพุทธองค์ภัตตาหารเหล่านั้นไปตกในบาตรของพระพุทธองค์ทั้งสิ้น เพื่อเป็นการแสดงถึงความปิติยินดีที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากดาวดึงส์ พุทธศาสนิกชนได้อัญเชิญพระพุทธองค์ขึ้นประทับบนบุษบกที่เตรียมไว้แล้วแห่แหนกันไปยังที่ประทับของพระพุทธองค์ครั้นเลยพุทธกาลมาแล้วและเมื่อมีพระพุทธรูปซึ่งเป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ขึ้น พุทธศาสนิกชนจึงนำเอาพระพุทธรูปยกแห่แหนสมมติ แทนพระพุทธองค์ ซึ่งจะกระทำกันในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี สืบมาจนเป็นประเพณีลากพระในปัจจุบัน 
  
      ประเพณีลากพระหรือชักพระได้ถ่ายทอดมาถึงประเทศไทยในบริเวณภาคใต้ นับตั้งแต่ครั้งภิกษุชาวจีนชื่ออี้จิงได้จาริกผ่านคาบสมุทรมลายู เพื่อไปศึกษาศาสนาในอินเดียเมื่อปี พ.ศ. พ.ศ. ๒๑๑๔-๑๒๓๘ ก็ได้เห็นประเพณีการลากพระของชาวเมือง “โฮลิง” อันเป็นชื่อเดิมของเมืองนครศรีธรรมราช จึงได้บันทึกไว้ว่า “พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งมีคนแห่แหนนำมาจากวัด โดยประดิษฐานจากรถหรือบนแคร่มีพระสงฆ์และฆราวาสหมู่ใหญ่แวดล้อมมา มีการตีกลองและบรรเลงดนตรีต่าง ๆ มีการถวายของหอมดอกไม้ และถือธงชนิดต่าง ๆ ที่ทอแสงในกลางแดด พระพุทธรูปเสด็จไปสู่หมู่บ้านด้วยวิธีดังกล่าวนี้ ภายใต้เพดากว้างขวาง ”จากหลักฐานในจดหมายเหตุของภิกษุอี้จิงนี้ทำให้นักวิชาการบางคนเชื่อว่าประเพณีลากพระในภาคใต้ มีมาแล้วตั้งแต่สมัยศรีวิชัยประเพณีลากพระของชาวใต้สมัยกรุงศรีอยุธยา เห็นว่าเป็นประเพณีที่ทั้งสถาบันศาสนาและสถาบันกษัตริย์ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ดังปรากฏในเรื่องประทวนตราให้แก่พระครูอินทร์โมลีคณะป่าแก้ว หัวเมืองพัทลุงในปี พ.ศ. ๒๒๔๒ ว่า “แลเมื่อครั้งคณะป่าแก้วแต่ก่อนมีพระครูอันดับ ๖ องค์ ได้ช่วยการพระราชพิธีตรุศสารทแลงานลากพระถวายพระราชกุศล” และข้ออีกตอนหนึ่งว่า “แลราชการซึ่งเป็นพนัดแก่ขุนหมื่นกรมคณะป่าแก้วมีแต่หน้าที่เมืองเส้นหนึ่งแลการพระราชพิธีตรุศสารทแลงานลากพระเจ้าเมือง  จะได้เบียดเสียดเอาข้าพระไปใช้ราชการนอกแต่นั้นหามิได้” เมืองนครศรีธรรมราชปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลพระเจ้าอยู่บรมโกศ แม้แต่ผู้ตีกลองในงานลากพระก็ถือว่าสำคัญ จึงมีแจ้งไว้ในทำเนียบข้าราชการตกเป็นพระอัยการไว้ว่า “ขุนรันไภรีถือศักดินา ๒๐๐ พนักงานตีกลองแห่พระ” ตำแหน่งนี้มีมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏในทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งรัชกาลที่ ๒ ว่า “ขุนรันไภรีถือศักดินา ๒๐๐ พนักงานตีกลองแห่พระ”  และก็ได้ถือปฏิบัติจนกลายเป็นประเพณีสืบมาจนถึงปัจจุบัน ชาวใต้มีความเชื่อว่าการลากพระจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลหรือเป็นการขอฝน เพราะผู้ประกอบพิธีส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ประเพณีลากพระก่อให้เกิดวัฒนธรรมอื่น ๆ สืบเนื่องหลายอย่าง เช่น ประเพณีการแข่งขันเรือพาย การประชันโพนหรือแข่งโพน กีฬาซัดต้ม การทำต้มย่าง การเล่นเพลงเรือ เป็นต้น นอกจากนั้นประเพณีชักพระยังก่อให้เกิดการรวมกลุ่มกันทำคุณงามความดี ก่อให้เกิดความสามัคคีธรรมของหมู่คณะ นำความสุขสงบมาให้สังคม ประเพณีการลากพระเป็นพิธีบุญอย่างหนึ่งของชาวภาคใต้ ที่กระทำสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาลจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งมีหลายจังหวัดที่มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี เป็นต้น  ก่อนถึงวันชักพระ ๑๐-๑๕ วัน ชาวบ้านและพระภิกษุจะช่วยกันจัดเตรียมทำเรือพระสำหรับที่จะลากกันอย่างหรูหรา ข้างบนทำเป็นบุษบกสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ในช่วงเวลาก่อนถึงวันชักพระประมาณ ๓ วัน จะมีการคุมโพนหรือคุมพระ ซึ่งก็คือการประโคม ฆ้อง กลอง และตะโพน เพื่อเป็นการซ้อมหรืออุ่นเครื่องและสร้างบรรยากาศอันคึกคักให้ชาวบ้าน ได้เตรียมตัวสำหรับกาลอันสำคัญนี้ ประเพณีลากพระหรือชักพระของแต่ละจังหวัดในภาคใต้ ซึ่งจะมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองเฉพาะ เช่น การชักพระทางน้ำที่โด่งดังและมีชื่อเสียงก็อยู่ที่อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร อำเภอพุนพินและอำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช หรืออำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เป็นต้น การชักพระในสมัยก่อนส่วนใหญ่จะเป็นทางน้ำโดยที่ชาวบ้านจะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร มาประดิษฐานบนเรือพระจากนั้นก็ค่อย ๆ ลากและแห่ไปตามแม่น้ำ ลำคลอง ซึ่งจะผ่านชุมชนและบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ตามแม่น้ำลำคลอง แต่การชักพระทางน้ำแบบนี้ชาวบ้านส่วนมากจะไม่สามารถเข้าใกล้เรือพระได้ใกล้ ๆ  ซึ่งเวลาต้องการทำบุญด้วยอาหารหวานคาวก็จะค่อนข้างลำบาก จึงได้ใช้ขนมต้มหรือขนมปัด (ขนมชนิดหนึ่งทำด้วยข้าวเหนียวและห่อด้วยใบพ้อหรือใบลาน) โดยใช้วิธีการปาหรือขวางไปหรือที่ชาวปักษ์ใต้เรียกว่า "ซัดต้ม” หรือ "ซัดปัด" ต่อมาได้กลายเป็นประเพณี "ห่อต้ม" "ห่อปัด" ตามมา 
       ประเพณีลากพระหรือชักพระในปัจจุบันนั้นได้แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและกาลเวลา เพราะเรือพระทุกวันนี้ส่วนใหญ่นิยมใช้รถยนต์ (กระบะ) ตกแต่งด้วยโฟมแกะสลักเป็นลวดลายไทย สีสันสวยงาม แต่ก็มีบางพื้นที่ยังคงใช้รูปแบบโบราณคือใช้คนลากเรือพระไปตามเส้นทาง เช่น ที่วัดมะม่วงหมู่ และขณะที่ลากเรือพระไปใครจะมาร่วมทำบุญด้วยการแขวนต้มบูชาพระ หรือร่วมลากตอนไหนก็ได้ เกือบทุกท้องถิ่นกำหนดให้มีจุดนัดหมาย เพื่อให้บรรดาเรือพระทั้งหมดในละแวกใกล้เคียง ไปชุมนุมรวมตัวในที่เดียวกันในเวลาก่อนพระฉันเพล ให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาส "แขวนต้ม" และถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสามเณรได้ทั่วทุกวัดหรือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โอกาสนี้จึงก่อให้เกิดการประกวดประชันกันขึ้นโดยปริยาย เช่น การประกวดเรือพระ การแข่งขันเรือพาย การเล่นเรือโต้แก้จำกัด การประกวดเรือเพรียวประเภทต่าง ๆ เช่น มีฝีพายมากที่สุด แต่งตัวสวยงามที่สุด หรือตลกขบขัน การประกวดเรือพระสมัยก่อนรางวัลที่ได้ก็มี เช่น น้ำมันก๊าด กาน้ำ ถ้วยชาม สบง จีวร เพราะเป็นสิ่งจำเป็น แต่ปัจจุบันรางวัลจะให้เป็นเงินสด

ภาพจาก : https://www.facebook.com/ประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว-จังหวัดสงขลา-375643195785194/

ประเภทของการลากพระ

       การลากพระหรือชักพระในปัจจุบันที่ปฏิบัติกันมี ๒ แบบคือ

ลากพระน้ำ (ภาพจาก : http://oknation.nationtv.tv/blog/piggysrivijaya/2016/12/10/entry-1)

       ๑. ลากพระน้ำ การลากพระทางน้ำหรือทางเรือเรียกว่า “เรือพระ” โดยการเอาเรือหลาย ๆ ลำมาเทียบเรียงขนานผูกติดกันเป็นแพขนาดใหญ่แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรขึ้นประดิษฐานบนบุษบก ที่ประดับตกแต่งอย่างประสาทมณฑปอย่างวิจิตร แล้ว แห่แหนโดยมีการตีโพน กลอง ระฆัง ไปตามแม่น้ำ ลำคลองหรือทะเลสาบ ซึ่งการลากพระทางน้ำนี้จะสนุกสนานกว่าการลากพระทางบก เพราะสภาพพื้นที่เอื้ออำนวยต่อการจัดกิจกรรมอื่น ๆ เช่น สะดวกในการชักลาก การแข่งพายเรือ การแย่งเรือพระ หรือการเล่นเพลงเรือ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ถ้าท้องถิ่นในสภาพภูมิประเทศเอื้ออำนวยให้สามารถทำได้ทั้งทางบกและทางน้ำ ท้องถิ่นนั้นมักจะเลือกลากพระน้ำ จังหวัดที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับประเพณีลากพระน้ำอย่างยิ่ง คือที่อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร อำเภอพุนพินและอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช รองลงมาอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง บ้านแหลมโพธิ์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยเฉพาะอำเภอหลังสวนและที่บ้านแหลมโพธิ์ อำเภอหาดใหญ่ จะมีการเล่นเพลงเรือที่ขึ้นชื่อกว่าแหล่งอื่น ๆ ส่วนที่อำเภอปากพนังมีการเล่น “ซัดหลุม” (ซัดโคลน) กันสนุกสนานเพราะที่ปากพนังมีโคลนตมมาก การลากพระทางน้ำของเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แปลกกว่าที่อื่น ๆ คือจะลากกัน ๓ วัน ระหว่างแรม ๘ ค่ำ ถึงแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๑ มีการปาสาหร่ายโต้ตอบกันระหว่างหนุ่มสาว มีการเล่นเพลงเรือ และที่แปลกพิเศษคือมีการทอดผ้าป่าสามัคคีในวันเริ่มงาน

       ๒. ลากพระบก การลากพระทางบกหรือทางรถเรียกว่า “รถพระ” ในสมัยโบราณนิยมใช้ล้อเลื่อน เรือพระจึงหนักต้องอาศัยคนลากเป็นจำนวนมากจึงต้องมีเชือกลากเป็น ๒ เส้น โดยที่เส้นหนึ่งสำหรับผู้หญิงอีกเส้นหนึ่งสำหรับผู้ชาย รถพระหรือเรือพระ คือเรือหรือรถ หรือล้อเลื่อนที่ประดิษฐ์ตกแต่งให้เป็นรูปเรือแล้ววางบุษบกซึ่งบุษบกนี้เรียกตามภาษาพื้นเมืองภาคใต้ว่า “นม” หรือ “นมพระ” ยอดบุษบก เรียกว่า “ยอดนม” ใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป สมัยก่อนจะทำเป็นรูปเรือให้คล้ายเรือจริงมากที่สุด และจะต้องพยายามให้มีน้ำหนักน้อยที่สุด การทำจะใช้ไม้ไผ่สานหรือเสื่อกระจูดมาตกแต่งตรงส่วนที่เป็นแคมเรือและหัวท้ายเรือคงทำให้แน่นหนา เฉพาะส่วนพื้นเพื่อนั่งและวางบุษบกกับส่วนที่จะผูกเชือกชักลากเท่านั้น แล้วใส่ล้อหรือเลื่อนที่ทำขึ้นจากไม้ส๔ เหลี่ยมขนาดใหญ่ ๒ ท่อนรองรับข้างล่างเพื่อให้ชักลากเรือพระไปได้สะดวก ไม้ ๒ท่อนนี้ทางด้านหัวและท้ายทำงอนคล้ายหัวและท้ายเรือ แล้วตกแต่งเป็นรูปตัวพญานาค อาจทำเป็น ๑ ตัว หรือมากกว่าก็ได้ ใช้กระดาษสีเงินสีทองหรือกระดาษสีสะท้อนแสงทำเป็นเกล็ดนาค ซึ่งจะทำให้สะท้อนแสงระยิบระยับไปทั้งลำ ส่วนกลางลำตัวพญานาคทำเป็นร้านสูงขึ้นราว ๑.๕๐ เมตร เรียกว่า “ร้านม้า” สำหรับวางส่วนสำคัญที่สุดของเรือพระ คือบุษบกหรือนมพระ ซึ่งนายช่างแต่ละท้องถิ่นจะมีเทคนิคในการออกแบบบุษบก เพื่อให้เหมาะสมทั้งลวดลายและรูปร่าง มีการประดิษฐ์ประดอยอย่างสุดฝีมือหลังคาบุษบกนิยมทำเป็นรูปจัตุรมุขหรือทำเป็นจัตุรมุขซ้อน รูปทรงชะลูดงามสง่าสะดุดตา ตกแต่งด้วยหางหงส์ ช่อฟ้า ใบระกา ตัวลำยอง กระจังฐานพระ บัวปลายเสา คันทวย เป็นต้น การลากพระบกก็คล้ายกับการลากพระน้ำ เวลาลากเรือพระผ่านไปตามเส้นทางของหมู่บ้าน และเมื่อผ่านหน้าบ้านของใครคนที่อยู่ในบ้านจะมาช่วยกันมาลากพระไปจนไกลพอสมควรแล้วก็จะมีคนจากบ้านอื่นมารับช่วงต่อไปอย่างนี้ไม่ขาดสาย บนเรือเรือพระศิษย์วัดก็จะตีโพนตีฆ้อง หรือระฆังเพื่อให้จังหวะและเพื่อความสนุกสนานในการลากเรือพระ คนลากจะเบียดเสียดกันสนุกสนานและประสานเสียงร้องบทลากพระ ทั้งนี้เพื่อเป็นการผ่อนแรงไปในตัวด้วย ตัวอย่างเพลงที่ร้องกัน..

คนร้องนำ :   อีสาระพา   
ลูกคู่รับ :  เฮโล  เฮโล  อีสาระพา 
ลูกคู่รับ :  เฮโล  เฮโล
คนร้องนำ :  อะไรกลมกลม
ลูกคู่รับ :   หัวนมสาวสาว สาวสาวไม่มา
ลูกคู่รับ :   ลากพระไม่ไป
คนร้องนำ :   อะไรยาวยาว
 ลูกคู่รับ : กล้วยไล (หัวโต) กล้วยไล สาวสาวพุงใหญ่
 ลูกคู่รับ :   ช่วยกันผลัก

            

ลากพระบก (ภาพจาก : https://www.youtube.com/watch?v=QA-0hcDN6wU)

       ในการลากเรือพระแต่ละวัดจะต้องจัดเตรียมเรือพระให้พร้อม และจะเริ่มเตรียมการหุ้มโพนเพื่อใช้ “คุมโพน” และใช้ประโคมในวันพิธีรวมทั้งให้ชาวบ้านนำชัน (ประชัน) หรือแข่งขันกับของวัดอื่น ๆ การหุ้มโพนมีกรรมวิธีที่ซับซ้อนทั้งในการขุดและขึงหนังให้ตึงเต็มให้ใช้เวลานานแรมเดือน บางวัดมีพิธีไสยศาสตร์ประกอบด้วยต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการนี้โดยเฉพาะ ซึ่งจะต้องมีโพน ๒ ใบ คือให้มีเสียงทุ้ม ๑ ใบ เสียงแหบ (แหลม) ๑ ใบ วัดไหนโพนเสียงดีแข่งขันชนะ ชาวบ้านก็พลอยได้หน้าชื่อชมยินดีกันไปนานเป็นแรมปี เมื่อใกล้วันลากพระประมาณ ๗ หรือ 3 วัน จะเริ่มคุมโพน (ตีประโคม) เพื่อปลุกใจชาวบ้านให้กระตือรือร้นร่วมพิธีลากพระ และอาจนำไปท้าทายแข่งขันกับวัดใกล้เคียง พร้อมกันนั้นทั้งพระภิกษุสามเณรและอุบาสกที่มีฝีมือทางช่างก็จะช่วยกันจัดตกแต่งเรือพระและ “บุษบก” ซึ่งต้องทำกันอย่างสุดฝีมือ เพราะถ้าของวัดใดไม่สวยเท่าที่ควรบรรดาทายกทายิกา แม้ศิษย์วัดและพระภิกษุสามเณรก็จะรู้สึกน้อยหน้าวัดอื่นที่ตกแต่งดีกว่า ในส่วนของชาวบ้านก็จะเตรียมการตกแต่งเรือพายที่เรียกว่าเรือเพรียว เตรียมสรรหาฝีพาย ซ้อมพายเรือแข่งเตรียมเครื่องแต่ตัวตามทที่ได้กำหนดตกลงกัน สิ่งที่ทุกครอบครัวจะต้องกระทำก็คือการเตรียมแทงต้ม (ทำขนม) เตรียมหาใบกะพ้อ และข้าวสารข้าวเหนียว เพื่อนำไปทำขนมต้ม “แขวนเรือพระ” เมื่อถึงวันลากพระเมื่อถึงเช้าตรู่ของวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จะอาราธนาพระพุทธรูป (ส่วนใหญ่นิยมพระปางอุ้มบาตร) ขึ้นประดิษฐานบนบุษบกเหนือเรือพระ นิมนต์พระภิกษุตัวแทนหรือทั้งหมดในวัดขึ้นนั่งประจำเรือพระพร้อมทั้งอุบาสกและศิษย์วัดที่ติดตามและประจำเครื่องประโคม อันมีโพน (กลองเพล) ฆ้อง โหม่ง ฉิ่ง ฉาบ แล้วชาวบ้านก็จะช่วยกันลากเรือพระออกจากวัดตั้งแต่เช้าตรู่ (พระภิกษุที่จะร่วมไปด้วยต้องรีบฉันภัตการเช้าให้เรียบร้อยเสียก่อน) ถ้าเป็นการลากพระทางน้ำก็จะใช้เรือพายลาก ถ้าเป็นการลากพระทางบกก็จะใช้คนเดินลากแล้วแต่กรณี ขณะที่ลากพระไปใครจะมาร่วมแขวนต้มบูชาพระหรือร่วมลากตอนใดก็ได้ โดยเฉพาะการลากพระน้ำ เมื่อจะมีการนำต้มไปแขวนบูชาพระ เรือพายหรือเรือแจวจะเข้าไปชิดเรือพระที่ลำใหญ่กว่าและกำลังถูกลากอยู่ไม่ได้ ดังนั้นเมื่อเข้าใกล้พอสมควรก็จะใช้วิธี “ซัดต้ม” ไปยังเรือพระให้คนคอยรับ อันนี้อาจเป็นมูลเหตุที่ก่อให้เกิดกีฬาซัดต้มขึ้นมาก็ได้เกือบทุกท้องถิ่นนิยมกำหนดให้มีจุดนัดหมายเพื่อให้บรรดาเรือพระทั้งหมดในละแวกใกล้เคียงกันไปชุมนุมในที่เดียวกันในเวลาก่อนพระฉันเพล ให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาส “แขวนต้ม” และถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสามเณรได้ทั่วทุกวัด หรือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โอกาสนี้จึงก่อให้เกิดการประกวดประชันกันขึ้นโดยปริยาย เช่น การประกวดเรือพระการแข่งขันพายเรือ การเล่นเพลงเรือตอบโต้แก้ลำกัน การประกวดการประกวดเรือเพรียวประเภทต่าง ๆ เช่น มีฝีพายมากที่สุด แต่งตัวสวยงามมากที่สุด หรือตลกขบขันหรือมีความคิดริเริ่มดี มีการแข่งขันการตีโพนประเภทตีดัง ตีทน ตีท่าพลิกเพลง ลีลาการตีสวยงาม เหล่านี้เป็นต้นและบางทีก็คิดหากิจกรรมแปลก ๆ มาเสริม เช่น กีฬาซัดต้ม แข่งกีฬาทางน้ำ จัดหามหรสพมาแสดง ฯลฯ ตามปกติหลังจากพระฉันเพลแล้ว ทายกทายิการ่วมสนุกสนานกันพอสมควร ตกเย็นก็จะลากเรือพระวัดของตนแยกย้ายกันกลับวัด ถ้าวัดใดเรือพระสวยงามเป็นที่ภูมิใจของชาวบ้านถิ่นนั้น ๆ เป็นพิเศษอาจจะแห่แหนไปอวดชาวถิ่นอื่นหรืออาจจะถูกชาวถิ่นอื่นแย่งไปต่อรองเรียกค่าไถ่ จนเป็นเหตุให้ต้องลากต่อวันรุ่งขึ้นก็มี การลากพระบก บางวัดใช้รถยนต์มาดัดแปลงตกแต่งเป็นเรือพระ ช่วงใดคนลากมีน้อยหรือต้องการประหยัดแรงหรือประหยัดเวลาก็จะใช้เครื่องยนต์แทน เรือพระแต่ละวัดจะได้ต้มกลับวัดเป็นจำนวนมากจนไม่อาจจะแจกจ่ายให้หมดสิ้นได้ จึงต้องปลูกร้านขนาดใหญ่ย่างต้มเหล่านั้นเพื่อไม่ให้บูดเสียเปล่า ทำให้ต้มมีรสอร่อยแปลกออกไปและเก็บไว้ได้นานกว่าก็จะนำย่างต่อไป
       ประเพณีลากพระเป็นประเพณีที่เชื่อว่าการลากพระจะช่วยให้เกิดอานิสงส์ผลบุญ ทำให้ฝนตกตามฤดูกาล และการทำบุญจะช่วยส่งผลบุญกุศลให้ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ประเพณีลากพระยังเป็นการแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตของคนประกอบอาชีพเกษตรกรรมกับประเพณี และแสดงถึงความพร้อมใจที่จะทำบุญทำกุศลรวมถึงความสนุกสนานครื้นเครงในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้ร่วมกันปฏิบัติงานบุญในครั้งนี้ 

ประเพณีที่เกี่ยวข้อง
       การแข่งโพน 
      แข่งโพนหรือประชันโพนเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวปักษ์ใต้  โดยเฉพาะที่จังหวัดพัทลุงที่เชื่อกันว่าเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับประเพณีลากพระ (ชักพระ)  เพราะเป็นการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกันก่อนที่จะมีการลากพระในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ อันเป็นวันพระออกพรรษา โพนหรือตะโพน ก็คือกลองทัดหรือกลองเพลของภาคกลาง เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี ซึ่งมีไว้ประจำตามวัดในภาคใต้เพื่อตีบอกเวลา  หรือใช้ตีประโคมเรือพระในเทศกาลออกพรรษาหรือลากพระ วัดต่าง ๆ ที่มาของการแข่งโพนก็เนื่องจากการจัดเตรียมการลากพระที่จะต้องมีการคุมโพน และจะมีการโต้เถียงเกี่ยวกับเสียงโพนว่าของใครตีดีกว่ากัน จึงคิดเล่นสนุกสนานมากขึ้น มีการท้าพนันกันบ้างว่าผู้ตีโพนคนใดเรี่ยวแรงดีที่สุด ลีลาท่าทางการตีดีที่สุด โพนวัดใดเสียงดังมากที่สุด จึงมีการแข่งขันตีโพนกันขึ้น ในระยะแรก ๆ จะตีแข่งขันภายในวัดต่อมาได้ขยายออกมาภายนอกวัด โดยเพิ่มจำนวนโพนและกติกามากขึ้นเพื่อความสนุกสนาน ทำให้มีการแข่งโพนกันอย่างกว้างขวาง และกลายเป็นประเพณีท้องถิ่นที่สืบต่อกันมาปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะที่จังหวัดพัทลุง การแข่งโพนแบ่งออกได้ ๒ ประเภท  คือ 

๑.  การแข่งขันมือ  (ตีทน)  การแข่งขันแบบนี้ไม่ค่อยนิยมเพราะต้องใช้เวลานาน  แข่งขันกันนผู้ตีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมืออ่อน หรือหมดแรง  จึงตัดสินแพ้ชนะ 
๒. การเข่งขันเสียง  การแข่งขันแบบนี้เป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบันเพราะใช้เวลาสั้น ๆ ก็สามารถคัดเลือกผู้ชนะได้

      กีฬาซัดต้ม 
         การซัดต้มเป็นกีฬาพื้นเมืองชนิดหนึ่งที่นิยมเล่นกันในวันลากพระ กีฬาชนิดนี้มีเพียงในบางท้องที่เท่านั้น การซัดต้มจะเป็นกีฬาที่อาจจะจัดขึ้นที่วัดหรือที่ชุมนุมเรือพระ เมื่อลากพระไปถึงที่นัดหมายกันแล้ว อุปกรณ์ที่ใช้เขาจะทำลูกต้มสำหรับปาด้วยข้าวตากผสมทราย ห่อด้วยใบตาลโตนดหรือใบมะพร้าวมาสานแบบตะกร้ออย่างแน่นหนา ขนาดเท่ากำปั้นพอเหมาะมือ หลังจากนั้นนำลูกต้มไปแช่น้ำเพื่อให้ข้าวตากพองตัว มีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น เมื่อปาถูกฝ่ายตรงกันข้ามจะทำให้เจ็บ ส่วนสนามหรือเวทีในการซัดต้มอาจจะให้พื้นดินธรรมดาหรือจะปลูกยกพื้นสูงประมาณ ๑ เมตร กว้างด้านละ ๑-๒ เมตร ห่างกันประมาณ ๘-๑๐ เมตร ก็ได้ สำหรับผู้ซัดต้มจะต้องเลือกคนที่มีลักษณะรูปร่างความแข็งแรงความชำนาญที่พอจะสู้กันได้ ทั้งคู่จะยืนในพื้นที่ที่เตรียมไว้ หันหน้าเข้าหากันมีกรรมการเป็นผู้ควบคุม การซัดต้มจะผลัดกันซัดคนละ ๓ ครั้ง โดยมีลูกต้มวางข้างหน้าฝ่ายละ ๒๕-๓๕ ลูก การแต่งกายของผู้ซัดจะนุ่งกางเกงหรือนุ่งผ้าโจงกระเบนก็ได้ บางคนอาจมีมงคลสวมหัวหรือมีผ้าประเจียดพันแขน ก่อนการแข่งขันมีการร่ายคาถาอาคมลงเลขยันต์ที่ลูกต้ม เพื่อให้แคล้วคลาดจากลูกต้มของฝ่ายตรงกันข้าม ผู้ที่ชนะในการซัดต้มมักเป็นคนใจกล้าสายตาดี มีความสามารถในการหลบหลีกหรือรับลูกต้มไว้โดยไม่ให้ถูกตัว ผู้ที่ปาหรือซัดถูกคู่ต่อสู้มากจะเป็นฝ่ายชนะ
     ตักบาตรเทโว
          ตักบาตรเทโวหมายถึงการทำบุญตักบาตรในเทศกาลวันออกพรรษา ตามความเชื่อของพุทธศาสนิชน ที่ว่าเป็นวันที่เสด็จลงจากสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์หลังจากเทศนาอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดา คำว่า "เทโว" ย่อมาจากคำว่า "เทโวโรหนะ" ซึ่งแปลว่าการหยั่งลงจากเทวโลก หมายถึงการเสด็จลงจากเทวโลกของพระพุทธเจ้า ตามตำนานกล่าวว่าเมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงเทศนาโปรดประชาชนในแคว้นต่าง ๆ ของอินเดียตอนเหนือตั้งแต่เมืองราชคฤห์ เมืองพาราณสี เมืองสาวัตถี ตลอดถึงเมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นบิตุภูมิของพระองค์ทรงเทศนาโปรดพระประยูรญาติทั้งหลายถ้วนหน้า แล้วทรงปรารถนาจะสนองพระคุณพระราชมารดา ซึ่งหลังประสูติพระองค์ได้ ๗ วัน พระราชมารดาก็สิ้นพระขนม์ และได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต ฉะนั้นในพรรษาที่ ๗ หลังจากตรัสรู้พระพุทธองค์จึงเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดาอยู่พรรษาหนึ่ง ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จึงเสด็จลงจาก สวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาประทับที่เมืองสังกัสสะประชาชนพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทำบุญตักบาตรอย่างหนาแน่น 
การตักบาตรเทโวนี้บางวัดกระทำในวันออกพรรษาคือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑  บางวัดก็ทำในวันรุ่งขึ้น คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ทั้งนี้ แล้วแต่ความตกลงร่วมใจทั้งทางวัดและทางบ้าน พิธีที่ทำนั้นทางวัดอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานในบุษบก ซึ่งตั้งอยู่บนล้อเลื่อนหรือคานหาม มีบาตรขนาดใหญ่ใบหนึ่งตั้งไว้หน้าพระพุทธรูป มีคนลากล้อเลื่อนไปช้า ๆ นำหน้าพระสงฆ์สามเณร ซึ่งถือบาตรเดินเรียงไปตามลำดับ พุทธศาสนิกชนต่างก็นำข้าวอาหารหวานคาว มาเรียงรายกันอยู่เป็นแถวตามแนวทางที่รถบุษบกเคลื่อนผ่านคอยตักบาตรอาหารที่นิยมตักในวันนั้น นอกจากข้าวและอาหารคาวหวานธรรมดาแล้วก็จะมีข้าวต้มลูกโยนด้วย ซึ่งบางท่านสันนิษฐานว่าในครั้งนั้นผู้คนรอใส่บาตรกันแออัดมาก เข้าไม่ถึงพระ จึงใช้ข้าวก่อ หรือปั้นโยนลงบาตร

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กีฬาซัดต้ม พัทลุง

ภาพจาก : http://www.phatthalung.go.th/governor/detail/38


ความสำคัญ

ภาพจาก : https://www.facebook.com/ประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว-จังหวัดสงขลา-375643195785194/

       ประเพณีลากพระหรือชักพระ เป็นการแสดงออกถึงความพร้อมเพรียง ความสามัคคีพร้อมใจ ในการทำบุญ ซึ่งมีความสำคัญหลายประการ อาทิ

 ๑. เป็นการสืบสานประเพณีอันดีงามซึ่งได้ร้บการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ และถือเป็นเป็นการต่ออายุพระศาสนาให้อยู่คู่คนไทย เพราะการลากพระเป็นการแสดงออกถึงการระลึกถึงพระพุทธองค์
๒. เป็นประเพณีที่ให้ความสำคัญกับสังคมเกษตรกรรม ด้วยความเชื่อที่ว่าอานิสงส์ของการลากพระจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล การทำบุญเพื่อให้ฝนตกจึงเป็นที่ ปรารถนาอย่างยิ่ง การลากพระแสดงออกให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างประเพณีกับวิถี ชีวิตของคนในสังคมเกษตรกรรม เป็นการปฏิบตัิตามความเชื่อที่ว่าการทำบุญจะส่งผลให้ผู้ที่ทำได้รับบุญกุศลประสบความสำเร็จในชีวิต
๓. เกิดความสนุกสนาน เพราะในการลากพระชาวบา้นจะแต่งบทร้อยกรองสำหรับใช้ในการขับร้องในขณะที่ช่วยลากพระ  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบทกลอนส้ัน ๆ ที่ตลกขบขนัและมีโต้ตอบกันทำให้การลากพระมีรสชาติที่สนุกสนานและเป็นการผ่อนแรงในการลากพระไปในตัวด้วย
๔. เป็นการเสริมสร้างให้เกิดความรักสามัคคีกันของคนในชุมชน และเป็นศูนย์รวมน้ำใจไมตรี ทำให้คนในชุมชนรู้จกัการเสียสละกิจส่วนตนเพื่อส่วนรวม ทำให้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานเป็นทีม
๕. ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเนื่องจากได้มีการส่งเสริมให้เป็นประเพณีประจำจัหวัด ทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเดินทางมาท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ
๖. วัดได้มีทุนจาการทำบุญของผู้ที่มาชมประเพณีลากพระ เพื่อนำมาใช้ในการบูรณะและทะนุบำรุงศาสนสถานต่อไป
๗. เยาวชนและคนรุ่นใหม่ไดใ้ช้เวลาว่างในการเข้าวัด ทำบุญฟังธรรม ทำให้ห่างไกลจากอบายมุข ตลอดถึงลูกหลานได้มีโอกาสแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณต่อบุพการี อันเนื่องจากเมื่อถึงประเพณีลากพระทุกคนจะต้องเดินทางกลับมายังบ้านเกิดเพื่อร่วมประเพณีลากพระในทุก ๆ ปี

 


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
ประเพณีลากพระ (Traditional Lak Phra)
ที่อยู่
จังหวัด
ภาคใต้


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

บุญชู ยืนยงสกุล, บรรณาธิการ. (2547). ใต้...หรอย มีลุย : บอกเล่าเรื่องราวความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของภาคใต้. สงขลา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

          สำนักงานภาคใต้.

ประเพณีชักพระหรือลากพระ. (2553). สืบค้นวันที่ 19 ธ.ค.61, จาก https://www.touronthai.com/article/3462

ประเพณีชักพระหรือลากพระ. (ม.ป.ป.). สืบค้นวันที่ 19 ธ.ค.61, จาก https://bbsoijone2538.wordpress.com/ประเพณีเเละวัฒนธรรม/ประเพณีชักพระหรือลากพร/

ประเพณีชักพระ...วัฒนธรรมภาคใต้. (2558). สืบค้นวันที่ 19 ธ.ค.61, จาก https://sites.google.com/site/suratthaniloca12/prapheni-chakphra/

         praphenichakphrawathnthrrmphakhti

เพจประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว จังหวัดสงขลา. (2561). สืบค้นวันที่ 19 ธ.ค.61, จาก https://www.facebook.com/ประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว-จังหวัดสงขลา

         -375643195785194/

ภาพิมล สีไหม และเสรี พิจิตรศิร. (2554). การส่งเสริมประเพณีชักพระของเทศบาลตำบลวัดประดู่, วารสารการบริหารท้องถิ่น, 59 (4) , (ตุลาคม-ธันวาคม).


ข้อมูลเพิ่มเติม

 

 


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024