วัดชะแล้สุวรรณาราม (Wat Chalaesuwannaram)
 
Back    27/03/2018, 09:39    9,640  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา

     คำว่าชะแล้นี้มีที่มาเป็นนิทานเรื่องเล่า ๒ ประการคือ ๑) บ้านชะแล้เมื่ออดีตกาลมีชาวมุสลิมเข้ามาตั้งบ้านเรือนถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้วจากการสืบค้นเล่าต่อกันมาว่ามีอิสลามกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาอาศัยตั้งถิ่นฐานอยู่แถวริมคลอง บริเวณในส่วนที่ติดกับทะเลสาบสงขลา กลุ่มอิสลามนี้มีหัวหน้าชื่อ "บังสะแล" ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือของคนในกลุ่มทุกคนมีอาชีพในการประมง หาปลา สัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลา เพื่อเป็นอาหารและแลกเปลี่ยนซื้อขาย ทุกตอนเย็นหลังจากการทำงานประกอบอาชีพแล้ว จะนำเรือกลับเข้ามาจอดรวมกันที่ท่าเรือหน้าบ้านของบังสะแลเป็นประจำทุกวัน ครั้นต่อมามีคนนับถือศาสนาพุทธเข้ามาอาศัยมากยิ่งขึ้นทำให้เกิดชุมชนพุทธขึ้น กลุ่มคนอิสลามที่เป็นคนดั่งเดิมจึงค่อย ๆ อพยพออกจากพื้นที่ไปอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง เมื่อกลุ่มคนมุสลิมอพยพถอยจากพื้นที่แล้ว วิถีชีวิตการสัญจรของชุมชนชาวไทยพุทธก็ยังคงใช้ทางเรือในการเดินทางและประกอบอาชีพและใช้ท่าเทียบเรือของบังสะแลที่มีอยู่เดิม นานวันเข้าการเรียกชื่อท่าเทียบเรือได้กลายเป็นชื่อหมู่บ้านและผิดเพี้ยนเป็น "บ้านชะแล้" จนถึงปัจจุบัน  ๒) วัดชะแล้มีเรื่องเล่าว่าเมื่อ ๕๐๐ กว่าปีมาแล้วที่วัดแห่งนี้มีพระภิกษุ สามเณร และแม่ชี พำนักอยู่ในบริเวณใกลกัน เวลาแม่ชีเดินผ่านสามเณรชอบชะเง้อ ชะแง้ ดูแม่ชี คำว่า "ชะเง้อ ชะแง้" ก็เลือนเสียงเป็นชะแล้จนถึงทุกวันนี้ (เป็นความเชื่อที่เล่่าสืบ ๆ กันมา)  วัดชะแล้ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ บ้านชะแล้ ตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา  เป็นหนึ่งในวัดโบราณของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งตามประวัติสันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๑๙๙๙ น่าจะตรงกับสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระมหากษัตริย์องค์ที่ 8 แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งอายุไม่ต่ำกว่า ๕๖๐ ปีมาแล้ว  มีความเก่าแก่เป็นอันดับที่ ๒ รองจากวัดราชประดิษฐานหรือวัดพะโคะ วัดชะแล้มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คนในตำบลให้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก คือวิหารพระโบสถ์เขาตก พระบรมธาตุสุวรรณคีรีเจดีย์ และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ชะแล้


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

พระบรมธาตุสุวรรณคีรีเจดีย์ (เจดีย์วัดชะแล้)

       พระบรมธาตุสุวรรณคีรี (เจดีย์วัดชะแล้) ของวัดชะแล้ที่เป็นองค์เดิม ตามประวัติน่าจะเทียบเคียงได้กับเจดีย์ของวัดสทิงพระ  วัดราชประดิษฐาน (วัดพะโคะ)  และวัดเขียนบางแก้ว  โดยเป็นรูปทรงระฆังคว่ำ หรือโป่งขาม คาดว่าจะมีอายุประมาณ ๖๐๐ ปี (คำนวณจากรูปทรงก่อสร้างและโบราณวัตถุที่ขุดพบในบริเวณเจดีย์องค์เก่า เช่น พระพุทธรูปสมัยลพบุรี) และเมื่อปี พ.ศ.  ๒๕๑๒   สมัยของท่านสมภารแดงเป็นเจ้าอาวาส (รูปที่ ๑๐) ได้ให้พ่อนาค (ผู้ที่รอบวชซึ่งต้องมาอยู่ที่วัด) จำนวนหนึ่งขึ้นไปถางต้นไม้บริเวณยอดเขา ซึ่งเป็นที่ตั้งของเจดีย์พวกนาคเหล่านั้นจึงได้ช่วยขุดคุ้ยกองอิฐซึ่งเป็นเจดีย์องค์เก่าที่พังลงมา(หรืออาจก่อสร้างไม่เสร็จ) เมื่อรื้อลงไปในฐานรากของกองอิฐนั้นได้พบกับขันใบใหญ่ที่บรรจุพระพุทธรูปทองคำ แหวน เพชรพลอยทั้งที่ได้เจียรนัยเป็นหัวแหวนแล้วและที่เป็นเม็ดเดิม ๆ   รวมไปถึงเจดีย์หยก ๓  ส่วนที่ถอดประกอบได้ เฉพาะส่วนกลางของเจดีย์พบบรรจุเศษกระดูกซึ่งเชื่อว่าเป็นพระธาตุ (กระดูกของพระพุทธเจ้า) เมื่อเป็นข่าวกระจายออกไปในตอนเย็นวันนั้นก็มีชาวบ้านพากันขึ้นไปขุดค้นหาสมบัติที่บริเวณนั้น โดยเชื่อว่าเป็น “กรุแตก” ตามคำที่นิยมพูดกัน แต่พวกเขาทุกคนที่ได้สิ่งของเหล่านั้นก็พากลับมาส่งคืนในวันรุ่งขึ้น เพราะรู้สึกว่ามีคนไปทวงกลับในตอนกลางคืน ต่อมากรมศิลปากรก็ได้มาถ่ายภาพ และขึ้นทะเบียนเป็นเจดีย์เป็นโบราณวัตถุ และนำไปเก็บรักษาไว้ส่วนหนึ่ง  อีกส่วนหนึ่งนำไปบรรจุเก็บไว้ในเจดีย์ใหญ่ที่จะสร้างครอบเจดีย์องค์เดิม เพราะท่านเล็งเห็นว่าองค์เจดีย์อยู่ในสภาพที่พร้อมจะพังลงมา ท่านจึงได้รวบรวมชาวบ้านและผู้มีจิตศรัทธาได้สร้างอาคารคลุมองค์เจดีย์ไว้ แต่ก็ไม่ได้สร้างปิดทับองค์เจดีย์ พร้อมกับการบรรจุสิ่งของที่ขุดพบทั้งหมดไว้ในฐานอาคารรวมถึงเจดีย์หยกที่บรรจพระธาตุ เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒ ตรงกับวันพฤหัสบดี ปีมะโรง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ เวลา ๑๓.๐๐ น. 

ภาพพระบรมธาตุสุวรรณคีรี (เจดีย์วัดชะแล้) องค์เดิม

ป้ายประวัติพระบรมธาตุสุวรรณคีรี

ซุ้่มกำแพงแก้วรอบ ๆ  พระบรมธาตุสุวรรณคีรี

      ทุก ๆ ปี ประชาชาชาวชะแล้และใกล้เคียงจะมีประเพณีห่มผ้าพระบรมธาตุสุวรรณคีรี ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ โดยมีการนำผ้าสีเหลือง หรือแดงผืนยาวขึ้นไปห่มองค์พระธาตุเจดีย์  เพื่อเป็นการสักการะบูชา โดยการทางชุมชนจะร่วมมือกันบริจาคเงินตามกำลังศรัทธาเพื่อนำไปซื้อผ้ามาเย็บต่อกันนับเป็นพัน ๆ หลา และจัดขบวนแห่ผ้าขึ้นห่มพระธาตุเจดีย์ ผ้าที่ขึ้นไปห่มองค์พระธาตุนี้เรียกว่า " ผ้าพระบฎ" 

วิหารพระโบสถ์เขาตกหรือโบสถ์เขาตก

       โบสถ์เขาตกหรือวิหารพระโบสถ์เขาตก สันนิษฐานว่าน่าจะสร้่่างประมาณปี พ.ศ. ๒๓๐๑ ตามประวัติเล่าว่าท่านสมภารปาน (เจ้าอาวาสวัดชะแล้รูปที่ ๕) ได้ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.   ๒๔๐๗  ในสมัยนั้นบริเวณเนินเขาทิศตะวันตกมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่มาก ไม่มีคนกล้าขึ้นไปเพราะเป็นเนินเขาที่เปลี่ยว กอรปกับทางด้านทิศตะวันตกของเนินเขาเป็นกุโบร์ (ที่ฝังศพของมุสลิม) ในอดีต ท่านสมภารปาน จึงได้ชักชวนญาติโยมขึ้นไปแผ้วถางตัดแต่งต้นไม้ที่ไม่จำเป็นออก  เมื่อถางไปก็พบเศียรพระพุทธรูปโผล่อยู่บนดิน จึงช่วยกันขุดดินบริเวณนั้นออกและได้พบพระพุทธรูปที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ได้ช่วยกันทำความสะอาดและประดิษฐานไว้ที่เดิม ต่อมาภายหลังได้สร้างวิหารคลุม ประชาชนจึงเรียกชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "พระโบสถ์เขาตก" ต่อมามีพระภิกษุที่จำพรรษาชื่อภิกษุอ้นได้พอกปูนโอบรอบองค์พระทำให้องค์พระโบสถ์เขาตกมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยมีหน้าตักกว้างถึง ๔ ศอก ดังที่เห็นได้ในปัจจุบัน ประชาชนโดยทั่วไปในตำบลชะแล้และใกล้เคียงจะให้ความเคารพในความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปนี้เป็นอย่างมาก โดยมีความเชื่อในเรื่องการบนบานศาลกล่าว เพื่อให้ได้ในสิ่งที่มุ่งหวัง  และส่วนมากก็สมหวังในสิ่งที่ต้องการ ก็จะมาทำการแก้บนอยู่ตลอด

       โบสถ์เขาตกหรือวิหารพระโบสถ์เขาตกเป็นศาลาชั้นเดียวทรงไทยภาคกลางประยุกต์ ครึ่งล่างก่ออิฐถือปูน ส่วนครึ่งบนเป็นไม้ระแนงโดยรอบ ปัจจุบันได้รับการบูรณะให้สวยงาม หน้าบันเป็นหลังตาซ้อน ๒ ชั้น งามเด่นด้วยใบระกาและนาคสะดุ้ง หลังคามุงด้วยกระเบื้อง

บันไดนาคทางขึ้นโบสถ์เขาตกหรือวิหารพระโบสถ์เขาตก

พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ภายในวิหารพระโบสถ์เขาตก

พระอุโบสถ

บ่อน้ำศํกดิ์สิทธิ์ชะแล้

       บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ชะแล้  ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา  เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๑ พื้นที่ในแถบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาได้เกิดความแห้งแล้งอย่างหนักเพราะฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาล ท่านสมภารพรหม (อดีตเจ้าอาวาสวัดชะแล้) ได้ร่วมกับชาวบ้านทำการขุดบ่อน้ำขึั้นตามไหล่เขารอบ ๆ วัดชะแล้  มีอยู่หนึ่งชื่อบ่อชะแล้เมื่อขุดเสร็จแล้วน้ำไม่เคยแห้งเหือด ทำให้ชาวบ้านในบริเวณนั้นและตำบลใกล้เคียงมาตักกินกันได้ตลอดเวลา ชาวบ้านเชื่อว่าถ้าได้ดื่มจากบ่อแล้วจะหายจากโรคภัยไข้เจ็บ จนเรียกชื่อติดปากว่าบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ชะแล้     บ่อชะแล้ก่อสร้างมาประมาณกว่า ๒๓๐ ปี ตามหลักฐานที่เป็นข้อเขียนแบบร้อยแก้วของคุณตานุ่ม  ศิริเสถียร ซึ่งพิมพ์เป็นอนุสรณ์เมื่อครั้งทอดกฐินวัดชะแล้  ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ความว่า

       ท่านพรหมศรัทธายิ่งจริงเจียวหนอ                    อกขุดบ่อน้ำไว้ได้ขบฉัน

       ขุดหลายแห่งแห้งแล้งหดหมดทั้งนั้น                  สิ่งสำคัญบอกอาการให้ท่านรู้

       ปีศาจร้องเป็นเพลงวังเวงจิต                              ว่าทักษิณทิศขุดได้ไม่อดสู้

       เม้นขุดลงตรงปล้องช่องสินธุ                             ท่านพรหมรู้ขุดลงเห็นคงคา

       น้ำก็นองช่องโตจุลูกไห                                         นัทธีไหลทรายพังเสียงดังฉา

       สมภารพรหมชมเชยชื่นอุรา                                ในไม่ช้าเห็นจะเตรินเกินกำลัง

       เอาศิลามาทับเข้าชับชวน                                     น้ำก็ตรวนไหลตรอลงบ่อขัง

       ตัดแม่ไฟใส่ท้องพอกำบัง                                    กระดานตั้งโตระกับกำชังแรง

       คานไม้เคี่ยมเลี่ยมไรโตระในบ่อ                          เสียงตรอ ๆ ไหลลงคงไม่แห้ง

       ทิศอีสานด้านเหนือเหลือแทรกแซง                   ฤดูแล้งหายฝนทุกคนไป

       ทั้งวัวควายได้กินก็สิ้นทุกข์                                 มีความสุขทั่วชนคนน้อยใหญ่    

       จะพรรณนาว่ามากก็อยากใจ   


ปูชนียวัตถุ

พระพุทธไสยาสน์

พระพุทธไสยาสน์ประดิษฐานหน้าบันไดนาคทางขึ้นวิหารพระโบสถ์เขาตก

หลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด

พระพุทธรูปปางประทานพร

พระพิฆเนศ

รูปปั้นพระพิฆเนศทางทิศตะวันออกของวัด

พระโพธิสัตว์กวนอิม


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดชะแล้ (Wat Chalaesuwannaram)
ที่อยู่
หมู่ที่ ๔ ตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
จังหวัด
สงขลา
ละติจูด
7.316209
ลองจิจูด
100.445723



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ฐานข้อมูลการท่องเที่ยว ๕ จังหวัดชายแดนใต้. (ม.ป.ป.) วัดชะแล้. สืบค้นวันที่ 25 มิ.ย. 61, จาก http://www.me-fi.com/tourismdb/tourism-5sbp/data_detail.php?

        cateLv=&cateID=21&subid=274&dataID=3541

เทศบาลตำบลชะแล้. (2554). วัดชะแล้. สืบค้นวันที่ 25 มิ.ย. 61, จาก http://www.chalare.go.th/travel/detail/527

สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสงขลา. (2558). ท่องเที่ยวตามรอยอารยธรรมชายแดนใต้ :‡bหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดและพระพุทธเจ้าหลวง ร. 5. สงขลา :

        โรงพิมพ์ชลบุตรสงขลา.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024