มันนิ (Mani)
 
Back    23/12/2021, 14:04    21,310  

หมวดหมู่

จังหวัด


ประวัติความเป็นมา

               มันนิ (Mani) มานิ หรือมาเน๊ะ เป็นภาษาท้องถิ่น หมายถึงมนุษย์เป็นชื่อเรียกของชนเผ่าในกลุ่มชาติพันธุ์ นิกรอยด์หรือเนกริโต (Nigerito) ตระกูลออสโตร-เอเชียติก รูปพรรณสัณฐานของมันนิ มีรูปร่างเตี้ย ผิวดําคล้ำ ผมหยิกขมวดเป็นฝอย จมูกแบนกว้าง ริมฝีปากหนา คิ้วตกหนา นัยน์ตาสีดําเป็นประกาย นิ้วมือนิ้วเท้าโต โดยทั่วไปผู้อื่นมักเรียกกลุ่มชนนี้ว่า เงาะ เงาะป่า เซมัง ชาวป่า ซาแก ซาไก หรือกอย ซึ่งล้วนมีความหมายว่าลิงป่า คนป่า คนเถื่อน หรือผู้ที่ยังไม่เจริญ ซึ่งเป็นคำเหยียดหยาม ที่มันนี้ไม่ต้องการให้ใช้เรียกเผ่าพันธุ์ของตน ในภาษามาเลย์เรียกชนกลุ่มนี้ว่าโอรัง อัสลี (Crang Asli) หมายถึงคนพื้นเมืองหรือคนดั้งเดิม  เรื่องราวของชนเผ่านี้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว (รัชกาลที ๕) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าเมืองพัทลุง จัดหาลูกเงาะมาถวายและทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงไว้ สนองพระเดชพระคุณที่กรุงเทพมหานคร ดังปรากฏเนื้อความในบทพระราชนิพนธ์เงาะป่าตอนหนึ่ง

จะเริ่มร่างต่างว่าไปเที่ยวป่า   ขึ้นสงขลาตามใจคิดหมายมุ่ง
แล้วลงเรือมาดใหญ่ไปพัทลุง ตามเขตคุ้งทะเลสาบคลื่นราบดี
แวะเกาะยอซื้อหม้อเขาปั้นขาย แล้วแจวกรายไปเที่ยวและชมเกาะสี่
บรรลุถึงพัทลุงรุ่งราตรี ออกจากนี้ขึ้นช้างวางเข้าไพร
ถึงชายแดนแคว้นเขาเข้าหยุดพัก ที่สํานักวัดถ้ำคนอาศัย
เที่ยวเล่นตามถิ่นถานบ้านพวกไทย เขาเล่าไขเรื่องเงาะที่เจาะจง
จึงวานช่วยพาไปให้ถึงทับ มันต้อนรับชื่นชมสมประสงค์
พบยายลมุดแก่แม่เฒ่าดง ชวนให้ตรงขึ้นไปนั่งยังนอกชาน
นายสินนุ้ยช่วยพุ้ยภาษาเจาะ ฟังก็เพราะคล้ายฝรั่งตั้งฉาดฉาน
ยายลมุดเล่าความตามเหตุการณ์ คล้ายนิทานเก่งเหลือไม่เบื่อเลย
จึงจดจำมาทําเป็นกลอนไว้ หวังมิให้ลืมคําร่ำเฉลย
แม้นใครอ่านคงจะคิผิดเช่นเคย เงาะเงยก็ว่างามหลามแหลกไป
ที่แต่งไว้หวังจะให้เป็นคำเงาะ เห็นหมดเหมาะงดงามตามวิสัย
ผู้ใดจะใคร่ฟังเชิญตั้งใจ วางตัวไว้ว่าเป็นเงาะอย่าเยาะมัน

 


ภาพจากหนังสือบทละครเรื่องเงาะป่า ถ่ายในรัชกาลที่ ๕ มีข้อความบรรยายว่ารูปเงาะชายหญิงพวกนายคนัง

              ชาติพันธุ์ของมันนิ
        
เป็นที่เข้าใจกันมาช้านานว่าชนเผ่าโบราณ ที่อาศัยอยู่แนวทิวเขานครศรีธรรมราช และทิวเขาสันกาลาคีรี คือมันนิ (เงาะหรือซาไก) จากคําอธิบายของราชบัณฑิตยสถาน ปรากฏในหนังสือพจนานุกรมและสารานุกรม ได้แบ่งมันนิในดินแดนแหลมมลายูออกเป็น ๒ เผ่า คือ

๑. เผ่าเซมังหรือนิกริโต
๒. เผ่าซาไกหรือซีนอย


 


คนังเงาะป่าพัทลุงเผ่าเซมังหรือนึกริโต 
ภาพจาก : รวมเรื่องเมืองสตูล, 2546, 297


            โดยที่มันนิเผ่าเซมังหรือนิกริโต จัดเป็นพวกตัวเตี้ย ตัวดํา ผมหยิก ถิ่นฐานเดิมอยู่ในทวีปแอฟริกา ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแหลมมลายูเมื่อราว ๑๐,๐๐๐-๘,๐๐๐ ปีล่วงมาแล้ว อาศัยตามแนวทิวเขาภูเก็ต ทิวเขานครศรีธรรมราชและทิวเขาสันกาลาคีรี ตลอดจนทางเหนือของประเทศมาเลเซีย นักมานุษยวิทยาชาวออสเตรียชื่อพอล โยคิม สเคเบสตา เรียกชื่อคนพื้นเมืองว่า “เซมัง” จัดเป็นมันนิเชื้อสายพวกนิกรอยด์ ชื่อเรียกอีกอย่างของมันนิเผ่าเซมังคือนิกริโต ส่วนเผ่าซาไกนั้นเข้ามาหลังเผ่าเซมังหรือนิกริโต และยึดครองพื้นที่ตอนบนบริเวณภาคใต้ของไทย และตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย โดยจะมีเส้นผมเป็นลอนคดไปคดมา ไม่ใช่หยิกหย์องแบบเผ่าเซมังหรือนิกริโต มีถิ่นเดิมอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน อพยพลงมาทางตอนใต้สู่หมู่เกาะต่าง ๆ ของอินโดนีเซีย จัดเป็นพวกมองโกลอยด์หรือผิวเหลือง อยู่ในตระกูลเดียวกับกลุ่มดยัค บาตัก จากุนและชาวเล มีการผสมพันธุ์กันระหว่างกลุ่มมันนิซาไกอพยพตั้งถิ่นฐานทางตอนใต้ของแหลมมลายูเมื่อประมาณ ๗,๕๐๐-๔,๕๐๐ ปีล่วงมาแล้ว  การเรียกขานว่า “ซาไก” เกิดจากความเข้าใจผิดของกรมประชาสงเคราะห์ในสมัยนั้นที่ใช้เรียกชาวพื้นเมืองที่อําเภอธารโต จังหวัดยะลา โดยการไปทึกทักเอาว่าพวกเซมังคือซาไก เลยทำให้คนติดปากเรียกว่าซาไกมาแต่บัดนั้น ซึ่งมีผลทำให้เปลี่ยนชื่อเผ่าพันธุ์พวกเซมังเป็นซาไกไปเลย ซึ่งถือว่าผิดหลักชาติพันธุ์ และประวัติการตั้งถิ่นฐานในแหลมมลายู ซึ่งแท้จริงแล้วเงาะป่าในภาคใต้ของประเทศไทย มีชื่อเรียกเฉพาะอยู่ก่อนแล้วว่าเซมังหรือ นิกริโตซึ่งไม่ใช่เผ่าซาไก ซึ่งจะสอดคล้องกับคําอธิบายของราชบัณฑิตยสถานทุกประการ

           สังคมมันนิ
       
สังคมของมันนิ (เซมังหรือเงาะป่า) ถือเป็นสังคมของพวกล่าสัตว์มาเลี้ยงชีพ ต่อมาทางราชการได้เพิ่มโอกาสและศักยภาพในการจัดการและแก้ไขปัญหาด้านสุขภาวะของกลุ่มชาติพันธุ์มันนิ และสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสมของพวกเค้า ได้มีการพัฒนาโครงการย่อยในแต่ละพื้นที่ ๆ เช่น โครงการส่งเสริมสุขภาวะกลุ่มชาติพันธุ์มานิภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัด โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อพัฒนาและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และพัฒนาระบบการจัดการสุขภาวะให้กับพวกในพื้นที่ต่าง ๆ) สังคมของพวกเซมังหรือเงาะป่านั้นพวกเค้าไม่ได้สร้างสมวัฒนธรรมอะไรขึ้นเลย พวกเขาไม่รู้จักการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ชอบย้ายถิ่นที่อยู่ไม่ชอบสร้างศัตรูกับใคร จึงเป็นเหตุให้ประชากรพวกเงาะลดปริมาณอย่างรวดเร็ว เงาะป่าอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีสมาชิกกลุ่มละไม่เกิน ๕๐ คน มีหัวหน้าปกครอง เลือกผู้อาวุโส เข้มแข็งและเฉลียวฉลาด ทุกคนต้องเชื่อฟังคําสั่งของหัวหน้า พูดคําไหนเป็นคํานั้น หัวหน้าเป็นคนตัดสินทุกเรื่อง เช่น การเคลื่อนย้ายที่ตั้งทับ การดูแลความปลอดภัย การ ดสรรปันส่วนอาหารการกิน ตลอดถึงการจัดพิธีกรรมต่าง ๆ  ระบบครอบครัวของมันนินับว่ามั่นคงมากเพราะคู่ผัวเมียอยู่ด้วยกันยึดยาวไม่มีการหย่าร้าง ต่างก็ซื่อตรงต่อกันตัวเดียวเมียเดียว ไม่มีการสําส่อนมากหลายเมีย ชายหญิงในเครือญาติห้ามแต่งงานกันโดยเด็ดขาด สามีทําหน้าที่เป็นผู้นํา ดูแลภรรยาลูกไปหาอาหารมาเลี้ยงครอบคร้ว ส่วนภรรยาก็จะคล้อยตามตลอดเวลาไม่มีการโต้เถียงขึ้นเสียงกับสามี ทำให้ครอบครัวจึงไม่มีปัญหาจึงทำให้เขาอยู่กันจนกว่าจะตายไปข้างหนึ่ง จึงจะมีคนใหม่ได้
              การแบ่งกลุ่ม
มันนิในประเทศไทยสามารถแบ่งได้ ๓ ลักษณะ คือ

๑. กลุ่มเร่ร่อนอพยพหาของป่าล่าสัตว์แบบดั้งเดิม มักอยู่อาศัยในป่าที่อุดมสมบูรณ์มาก สมาชิกใน กลุ่มไม่เกิน ๒๐ คน จะอพยพโยกย้ายไปตามฤดูกาลที่พืชพันธุ์ผลไม้ออกดอกผล หรือเมื่อมีคนตาย หรือถูกรบกวนจากภายนอก กลุ่มเร่ร่อนอพยพหาของป่าล่าสัตว์แบบดั้งเดิมนี้จะอยู่ที่ไหนได้ไม่นานอย่างมากไม่เกิน 10 วัน บางที่อยู่ ได้แค่ 3-4 วัน ก็มีอันต้องย้ายที่พัก (ทับ) การที่ต้องย้ายทับด้วยสาเหตุ เช่น อาหารการกินฝืดเคืองต้องไปหา แหล่งใหม่ที่อุดมสมบูรณ์กว่า มีคนตายขึ้นในที่พัก (ทับ) เขาจะ จัดการฝังศพทันที แล้วรีบหนีจากทับ ไปหาที่อยู่ใหม่ สมาชิกถ่ายอุจจาระใกล้เข้ามาจวนถึงที่พัก พวกชาวป่าจะถ่ายจากที่ไกลก่อน ค่อยขยับเข้ามาทีละน้อย ถ่ายถึงที่พักเมื่อไหร่ จะรีบย้ายไปหาที่อื่นทันที มีคนมาเอ่ยปากขอลูกไปเลี้ยงพวกเขาจะหนีไปอยู่ที่ใหม่ทันที่เพราะเป็นลางสังหรณ์ทําให้ลูกตายได้ การดํารงชีวิตของมันนิกลุ่มนี้ ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้เป็นหลัก ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับวิถีชีวิตของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
๒. กลุ่มกิ่งเร่ร่อน-เริ่มตั้งถิ่นฐาน มันนิกลุ่มนี้มีวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากกลุ่มแรกที่มีลักษณะวิถีชีวิตที่ค่อนข้างดั้งเดิม เนื่องมาจากสภาพพื้นที่ป่าบางจุดนั้นไม่ได้อุดมสมบูรณ์เพียงพอที่จะให้คํารงชีวิตอยู่ในป่าได้ จึงได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อการอยู่รอดของชนเผ่า โดยอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ชายป่าหรือป่าเสื่อมโทรมใกล้หมู่บ้านหรือบริเวณสวนยางพาราของชาวบ้าน เพื่อความสะดวกในการไปมาหาสู่ ตลอดถึงรับจ้างทํางานและหาซื้ออาหาร มันนิกลุ่มนี้มักจะดํารงชีวิตด้วยการหาของป่าจําพวกน้ำผึ้งป่า สะตอป่า ล่า สัตว์ป่าหรือหายาสมุนไพรมาขาย แล้วนําเงินไปซื้อข้าวสาร และอาหารแห่ง บุหรี่ ขนม และเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ มีการล่าสัตว์และขุดหาหัวมันป่าอยู่บ้าง แต่ไม่เพียงพอแบ่งปันกันในกลุ่มบางคนจึงออกมารับจ้างถางไร่ ถางป่า ฉีดยาฆ่าหญ้า แต่ก็เป็นการรับจ้างระยะสั้น ๆ ได้เงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งมีรายได้ที่ไม่แน่นอย
๓. กลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานถาวรแล้ว มันนิกลุ่มนี้มีการตั้งถิ่นฐานบริเวณใดบริเวณหนึ่งโตยถาวรจะไม่มีการอพยพเคลื่อนย้ายอีก มีการสร้างบ้านเรือนที่ค่อนข้างถาวร ตลอดถึงมีความสัมพันธ์กับคนภายนอกอย่างใกล้ชิด จึงได้รับความช่วยเหลือเลี้ยงดูและถ่ายถอดความรู้ต่าง ๆ ที่เป็นความรู้ของระบบสังคมเมือง การปฏิสัมพันธ์นั้นก็มีลักษณะต่าง ๆ เช่น ชาวบ้านภายนอกเข้าไปแต่งงานอยู่กินกับมันนิหรือการรับเป็นลูกจ้างประจําในการทํางานต่าง ๆ มันนิกลุ่มนี้รู้จัก การสร้างบ้านที่มีเสาเรือน ไม้ฝากระดาน ใช้ตะปูตอกยึด หลังคาเป็นสังกะสีหรือกระเบื้อง ดำรงชีวิตด้วยการทําสวนยางพาราหรือรับจ้าง มีรายได้ค่อนข้างประจําและมั่นคงมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ มีการล่าสัตว์ด้วยอาวุธปืน หายาสมุนไพรบํารุงกําลังหรือน้ำผึ้งป่ามาขาย รู้จักใช้เงินในการจับจ่าย ซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งของ รู้จักการปลูกพืชผักผลไม้และเลี้ยงสัตว์จําพวกไก่ สุนัข แมว มีการแต่งตัวตามสมัยนิยม นุ่งกางเกงยีนส์ มีรถมอเตอร์ไซด์ มีวิทยุเทป บางกลุ่มมี โทรทัศน์ ตู้เย็น โทรศัพท์มือถือ พูดจาสื่อสารด้วยภาษาไทยได้ชัดเจน บางคนสามารถพูดภาษาไทยกลางได้ บางคนได้เรียนหนังสือถึงชั้นมัธยมต้น


ลักษณะความเป็นอยู่ของเงาะป่า
ภาพจาก : รวมเรื่องเมืองสตูล, 2546, 301

            ลักษณะอุปนิสัยใจคอ
               
ปกติมันนิเป็นคนร่าเริง ชอบสนุกสนาน โปรดปรานเสียงเพลงและดนตรีแต่มีกลัวภูตผีปีศาจ ที่สำคัญคือพวกเค้าเป็นคนกินเก่ง กินจุ ถ้ามีอาหารอยู่ใกล้มือหรือเหลือจะกินกันทั้งวัน กินแบบไม่เป็นมื้อเป็นคราว แต่ถ้าไม่มีอะไรกินก็ยอมอด มีนิสัยไม่ชอบการกักตุนและสะสมอาหาร พอใจกับความสุขไปวัน ๆ  มันนิผู้ชายชอบสีขาว ผู้หญิงชอบสีแดง ซึ่งจะนุ่งห่มเสื้อผ้าสีแดง มีดอกไม้ทัดหูเสียบผมเป็นสีแดง มันนอพวกเค้าจะไม่ชอบอาบน้ำ นาน ๆ จะอาบสักครั้ง เหตุผลที่พวกเขาไม่อาบน้ำเนื่องจากว่าต้องออกล่าสัตว์เป็นประจํา การอาบน้ำชําระร่างกายจะทําให้กลิ่นป่าจางไป สัตว์ผิดกลิ่นจะหลบหนีไปหมด ข้อดีของพวกเค้าคือมี ความจําดี ช่างสังเกต และชํานาญในการบุกป่า วิ่งเร็ว เดินหนีได้เก่ง

             ที่อยู่อาศัย
                 
มันนิเป็นพวกเร่ร่อนอยู่ไม่เป็นที่เป็นทางไม่ ชอบอยู่ที่ไหนนาน ๆ ที่อยู่เรียกว่า “ทับ” ซึ่งจะเลือกทําเลที่สูงและอยู่ใกล้แหล่งน้ำเพราะมีอาหารสมบูรณ์ เมื่อเลือกที่ทางได้เหมาะเจาะแล้วว่าจะสร้างที่นี้พวกเค้าก็จะช่วยกันแผ้วถาง บริเวณที่อยู่ให้โล่งเตียน ทับที่สร้างขึ้นโดยใช้กิ่งไม้ที่มีง่าม ทําเป็นตอม่อยกแคร์ขึ้นมาสูงจากพื้นดินประมาณศอกหนึ่ง ตัวแคร่กว้างประมาณศอกหนึ่ง ถ้าเป็นทับคนโสดก็มีแคร่เดียว แต่งงานแล้วก็มี ๒ แคร่อยู่ใกล้กัน เว้นที่ตรงกลางไว้ หลังคาสร้างแบบเพิงหมาแหงน ใช้ไม้เสา ๔ ต้น ๒ ต้นข้างหน้าสูงขนาดท่วมหัว ๒ ต้น หลังสูงจากพื้นดินเล็กน้อย ใช้เชือกผูกโครงหลังคา โดยใช้ใบไม้มามุงแบบลวก ๆ ไม่ค่อยมิดชิดนัก เอาแค่กันแดดได้เท่านั้น ส่วนหน้าฝนมันนิอาศัยตามในถ้ำ โดยจะสร้างทับเป็นวงกลมปล่อยตรงกลางโล่งไว้ และหันหน้าทับทุกหลังเข้าหาตรงกลางแล้วปลูกกระโจมไว้หลังหนึ่งเป็นที่ชุมนุม นั่งร้องเพลงเพื่อความสนุกสนาน ลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคือฝาทับจะกั้นด้านเดียว ด้านหนึ่งเปิดโล่งไว้เพื่อสะดวกในการลุกหนีเมื่อมีเหตุร้าย ก่อไฟไว้ตลอดเวลาเพื่อไว้ย่างเนื้อสัตว์และให้ความอบอุ่น ตลอดถึงป้องกันสัตว์ร้ายที่จะมาทําร้ายในตอนกลางคืน โดยพวกเค้าเชื่อว่าไฟช่วยไล่ผีร้าย เพราะมีความเชื่อว่าที่มืดทุกแห่งมีผี สำหรับที่นอนหรือแคร่นั้นค่อนข้างคับแคบ แต่พวกเค้าก็นอนได้เพราะพวกเค้าชอบนอนตะแคง เพราะสะดวกในการลุกขึ้น มันนิจะไม่นอนหงายเป็นอันขาด มีกฎว่านอนจะต้องเอาเท้าเข้าข้างใน หันศีรษะออกนอก เขารักเท้ายิ่งกว่าศีรษะ เพราะเท้าจะพาเขาไปไหนต่อไหนได้ จึงระมัดระวังไม่ให้เท้าเจ็บหากเท้าเจ็บขึ้นมาก็เท่ากับว่าสิ้นชีวิตไปเลย 
กฏอีกข้อหนึ่งของมันนิคือผัวเมียจะไม่มีเพศสัมพันธ์กันภายในทับเป็นอันขาด ซึ่งถือเป็นข้อห้ามอย่างหนึ่งโดยเชื่อว่าผีเรือนจะทําร้ายภายหลัง (อาจจะเป็นเพราะทับค่อนข้างคับแคบ นอนได้คนเดียวพวกเค้าจึงอาศัยสุมทุมพุ่มไม้หรือใกล้จอมปลวกที่เร้นลับเป็นที่มีเพศสัมพันธ์กัน)

             อาหารการกิน
                  อาหารหลักของมันนิเป็นสิ่งที่หาได้ทั่วไปจากในป่า เช่น รากไม้ หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า "หัวเผือก หัวมัน" นั่นเอง ผู้หญิงและเด็กทำหน้าที่เป็นคนขุดหาโดยให้เด็กตัวเล็ก ๆ ลงไปขุดดินลึกลงไป ประมาณครึ่งเมตร เพื่อตามหาหัวมันที่มีขนาดเล็ก โดยใช้ไม้ขุดไปยังบริเวณย่านเถาของต้นมัน พวกเขาจะไม่ใช้วิธีการถอนต้น แต่จะขุดไปยังโคนรากแล้วหักเอาเฉพาะหัวมันที่อยู่ใต้ดิน ฉะนั้นต้นมันจะยังสามารถเติบโตได้อยู่พวกเขาก็สามารถเวียนมาขุดเป็นอาหารได้อีกในปีถัดไป ภายในรากไม้นี้จะมียางเหนียว ๆ  มันนิก็จะนำไปเผาไฟเสียก่อน เพื่อให้ยางในรากแห้งแล้วกินเป็นอาหาร ส่วนผู้ชายจะผลัดยามกันออกไปล่าสัตว์ หายอดไม้หรือสมุนไพร สำหรับใช้เป็นอาหารและยารักษาโรค  มันนิมีความสามารถพิเศษในการปีนตันไม้สูง ๆ จึงสามารถปืนขึ้นไปเพื่อเด็ดเฉพาะยอดไม้ที่ต้องการเพื่อมาทำอาหาร ต่างจากคนทั่วไปที่ใช้วิธีโค่นต้นไม้ให้ล้มและเอายอดไปใช้ประโยชน์เพียงอย่างเดียว หากจะล่าสัตว์เป็นอาหารเช่น ลิง ค่าง กระจง นก เมื่อล่า ได้แล้วก็จะแบ่งสันปันส่วนกันอย่างทั่วถึง การประกอบอาหารใช้วิธีหมกไฟ ปิ้ง ย่าง หรือต้มในกระบอกไม้ไผ่ให้เนื้อสัตว์สุก แต่จะไม่มีการเติมเครื่องปรุงใด ๆ เพิ่มอีก สำหรับอาวุธที่ใช้ล่าสัตว์ของมันนิเรียกว่า "ไม้ซางหรือบอกตุด" ทำมาจากกระบอกไม้ไผ่ช้อนกัน ๒ ชั้น ไม่มีข้อปล้อง เรียวเล็ก ยาวประมาณ ๒ เมตร ไม่ไผ่ที่ใช้สำหรับทำไม้ซางเป็นชนิดที่ค่อนข้างหายาก จากนั้นนำมาดัดให้ตรงและขัดผิวด้านนอกให้เรียบ  หากไม้ไผ่ยาวไม่ได้ตามขนาดที่ต้องการก็จะใช้หวายและยางไม้เหนียว ๆ สีดำมาเชื่อมไม้ไผ่ให้ติดกัน  ไม้ซางนี้ใช้คู่กับลูกดอกอาบยาพิษ ตัวลูกดอกทำมาจากไม้ เหลาให้เรียวเล็กคล้ายไม้เสียบลูกชิ้นยาวประมาณ ๒ คืบ ปลายด้านหนึ่งแหลม ปลายด้านหนึ่งมน จากนั้นนำลูกดอ กไปย่างไฟให้แห้งจนมีสีดำ และควั่นให้มีรอยคอดห่างจากปลายด้านแหลมประมาณครึ่งคืบ ปลายมนอีกด้านจะต่อเข้ากับฐานไม้กลม ๆ เล็ก ๆ  ทำมาจากไม้จำพวกสละหรือระกำ เพื่อไว้สำหรับยึดจับและช่วยเพิ่มแรงดันให้ลูกดอกพุ่งแรงและแม่นยำ เมื่อประกอบสูกดอกเรียบร้อยแล้วจะนำด้านปลายแหลมไปจุ่มยาพิษในกระบอกไม้ไผ่ขนาดเล็ก ยาพิษทำมาจากรากไม้และเปลือกไม้ที่มีพิษ  (หากโดนคนจะเกิดอาการมึนหรือสลบได้) เมื่อจะออกไปล่าสัตว์พวกเขาจะนำกระบอกไม้ไผ่ขนาดเล็ก (ที่ใส่ยาพิษ) ใส่รวมกับลูกดอกภายในกระบอกไม้ไผ่ขนาดใหญ่ที่มีเถาวัลย์หรือหวายผูกไว้  เพื่อสำหรับผูกเอวเวลาเดินทางออกไปล่าสัตว์ และเก็บไว้บนที่สูงเพื่อความปลอดภัยจากเด็กเล็ก วิธีใช้คือใส่ลูกดอก ๑ อันเข้าไปในไม้ซาง ตามด้วยขุยต้นเต่าร้างมีลักษณะคล้ายสำลีสีขาวเพื่อเพิ่มแรงดันให้ลูกดอก และเป่าด้วยแรงลมจากปาก เมื่อลูกดอกปักเข้าไปในตัวสัตว์แล้วสัตว์จะพยายามปัดลูกดอกออกจากตัว ลูกดอกจะหักบริเวณรอยคอดด้านปลายแหลม ที่มียาพิษอาบอยู่จะปักอยู่ในตัวสัตว์ไม่สามารถดึงออกได้ ส่วนปลายอีกด้านที่หักออกจะสามารถนำกลับมาเหลาใช้เป็นลูกดอกได้อี ก  การใช้อาวุธดังกล่าวนี้จะใช้สำหรับล่สัตว์ขนาดเล็กเท่านั้น  โดยมันนิมีกฎเกณฑ์ของตนเองในการล่า คือจะไม่ล่าสัตว์ตัวที่ตั้งท้อง ตัวที่เป็นแม่ลูกอ่อน หรือเป็นสัตว์วัยเด็ก และจะล่า ในปริมาณที่เพียงพอกับจำนวนสมาชิกภายในทับของตนเองเท่านั้น การล่าสัตว์แบบมันนิ ถือเป็นการล่าแบบดั้งเดิมที่ต้องอาศัยความอดทนการรอคอย กว่าจะได้สัตว์มาสักตัวหนึ่ง 

            การแต่งกาย
           
     การแต่งตัวของมันนิในอดีต ทั้งชายและหญิงจะใช้ใบไม้ เปลือกไม้มาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มท่อนล่าง ส่วนท่อนบนจะเปลือยเปล่า เด็ก ๆ มีตาโตผมหยิกขอดติดหัว มักจะไม่นุ่งอะไรเลย แต่ปัจจุบันชาวซาไกสวมเสื้อผ้า นุ่งโสร่งหรือกางเกง รู้จักใช้เครื่องสำอางและเครื่องประดับที่ได้รับมาจากชาวบ้านใกล้เคียง

           ภาษา
        
ภาษาพวกมันนิเป็นตระกูลคําโดด มีระบบเสียงคล้ายกันคือมีเฉพาะหน่วย เสียงสระกับพยัญชนะเท่านั้น ไม่มีระดับเสียงสูงต่ำ เช่น ภาษาไทย จํานวนคํามีจํากัด เนื่องจากว่าไม่มีโอกาสสร้างวัฒนธรรมอะไรมากนักจํานวนคําจึงมีน้อย เมื่อนําคํามาผูกเป็นประโยค ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงพจน์กาลแต่อย่างใด ถ้าจดจําคําได้มากจะเรียนพูดได้เร็วทุกวันนี้ ภายหลังพวกเงาะป่าต้องติดต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น มีการยืมคําต่างภาษามาใช้มากขึ้น ทำให้วัฒนธรรมและภาษาของพวกเค้าถูกกลืนไป ปัจจุบันนี้เงาะป่าบางกลุ่มเรียนภาษาไทย ฟังวิทยุทำให้ภาษาดั้งเดิมนับวันจะเสื่อมถอยลงไปอีก อีกอย่างหนึ่งพวกนี้มีเฉพาะภาษาพูดไม่มีภาษาเขียน เช่น ภาษาของมันนิ (เผ่าเซมัง) ที่จังหวัดพัทลุง เท่าที่ปรากฏในหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง เงาะป่า ของรัชกาลที่ ๕ มีตัวอย่างคําพร้อมความหมาย ดังนี้

  • กอดา แปลว่า ผู้หญิง

  • บิดา แปลว่า ลูกดอก

  •  กรา แปลว่า สิ่ง 

  • ปะยง แปลว่า พระจันทร์

  • จะเวา แปลว่า ปลวก 

  • มอเจน แปลว่า ทุเรียน 

  • ชิไบ แปลว่า ผ้าห่มผู้หญิง

  • วอง แปลว่า ลูก 

  • ตาโก๊ะ แปลว่า เสือ 

  • อิโปะ แปลว่า ยาน่อง 

  • เตาโว แปลว่า ชะนี

  • เอย์ แปลว่า พ่อ 

  • นะ แปลว่า แม่ 

  • ฮาปอง แปลว่า ดอกไม้แดง

    ความเชื่อและประเพณี
            มันนิ (เซมัง) เป็นพวกไม่มีศาสนาโดยจะเชื่อถือโชคลางและภูตผีปีศาจ เชื่อกันว่าต้นไม้ใหญ่ทุกต้นมีผีสิงอยู่ เมื่อมีคนตายลงหมอผีจะเชิญวิญญาณคนตายให้ไปอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ เมื่อล่าสัตว์ทุกชนิดได้จะทําพิธีการถอนรังควานเสียก่อนทุกครั้ง เท่ากับขอขมาต่อวิญญาณสัตว์นั้น ๆ เมื่อเข้าป่าล่าสัตว์เกิดไปสะดุดหกล้มโดยบังเอิญ เขาจะเปลี่ยนเส้นทางเดินใหม่ เชื่อว่าทางสายเก่าไม่ปลอดภัยแล้ว เมื่อเข้าป่าห้ามพูดถึงสัตว์ร้ายจะเป็นอันตราย ถ้ามีใครมาขอลูกเชื่อว่าลางร้ายจะเกิดกับลูกของตนอีกไม่นาน มันนิมีประเพณีที่แปลกแตกต่างไปจากคนเมืองทั่วไป ประกอบด้วย

  • ๑. ประเพณีการเกิด
        ประเพณีการเกิด เมื่อคราวผู้หญิงจะคลอด หมอทําคลอดหรือที่เรียกว่า “โต๊ะบีดัน” จะเอารากยาชนิดหนึ่งช่วยให้คลอดง่าย นํามาผสมกับน้ำมัน มาใช้ทาบริเวณหน้าท้องผู้หญิง แต่ถ้าคลอดยากหมอจะใช้เวทมนต์คาถาเข้าช่วย ในช่วงที่อยู่ไฟ ๗-๑๐ วัน จะเอาหินเผาไฟมาห่อด้วยใบไม้มาทับหน้าท้อง ในระหว่างนี้โต๊ะบีดันจะใช้หัวไพรขนาดเท่าปลายก้อยผูกไว้ที่หูของแม่ เพื่อกันผีรบกวน และทําให้แม่แข็งแรงการเลี้ยงดูจะใช้นมแม่เป็นหลัก พอลูกโตหน่อยแม่จะบดกล้วย เผือกมันให้กิน ตอนลูกเล็กอยู่แม่จะใช้ผ้าคล้องสะพายลูกไว้ข้างหลัง แม้ขณะที่แม่ปีนต้นไม้ยังสะพายลูกขึ้นไปด้วย ด้วยเหตุผลคือถ้าปล่อยไว้ที่โคนต้นไม้อาจโดนสัตว์ร้ายทําอันตรายแก่ลูกได้
    ๒. การแต่งงาน   
       ประเพณีการแต่งงาน เมื่อหญิงชายมันนิมีอายุได้ ๑๖-๑๗ ปี ถือเป็นวัยหนุ่มสาว พอจะมีคู่ครองได้แล้ว ฝ่ายชายจะแสดงความ สามารถในการเป็นผู้นํา เช่น แต่งตัวโก้ขึ้น เข้าป่าล่าสัตว์ ทํางาน ขยันขันแข็ง เพื่อเอาใจผู้หญิง ส่วนสาวก็จะแต่งตัวสวยงาม ใช้หวีไม้ไผ่ ประดับเรือนผม ทาปากทาแก้ม สีแดงสด โดยใช้สีของดอกไม้หรือใช้ดอกไม้ประดับผม เมื่อฝ่ายชายเดินทางกลับจากป่าล่าสัตว์ มักเอาของกิน ตลอดถึงเครื่องประดับ ติดมือมาฝากฝ่ายหญิงเสมอ ประการสำคัญพวกเขาจะไม่ล่วงเกินกันก่อนแต่งงาน จะไม่เสียความบริสุทธิ์ก่อนเป็นอันขาด เมื่อหญิงชายตกลงปลงใจกันแล้ว ก็จะมีการสู่ขอตามประเพณี ฝ่ายชายต้องหาผ้ามาสองผืนมอบให้แก่พ่อแม่ฝ่ายหญิง เมื่อพ่อแม่รับมอบผ้าไปแล้ว เป็นอันว่าตกลง สิ่งที่ชายจะต้องจัดเตรียมก่อนแต่งงานคือการสร้างทับไว้เป็นเรือนหอหลังหนึ่ง มีแคร่คู่สําหรับตัวเองหนึ่งและภรรยาอีกหนึ่ง กับต้องแสดงความสามารถในการล่าสัตว์ มาเป็นอาหารในงานเลี้ยงแต่งงาน พิธีแต่งงานเป็นไปอย่างเรียบง่ายไม่ยุ่งยากบรรดาญาติพี่น้อง พรรคพวกจะมาประชุมพร้อมกัน คู่บ่าวสาวนั่งตรงกลางลานกว้าง แขกเหรื่ออยู่รายรอบ หมอประจําหมู่บ้านจะเริ่มประกอบพิธีอัญเชิญเทวดา เจ้าป่าเจ้า เขามาเป็นพยาน พร้อมกับอวยพรให้ทั้งคู่มีความสุขเป็นอันเสร็จพิธี การกินเลี้ยงจะมีภายหลังโดยใช้เนื้อสัตว์ที่เจ้าบ่าวล่ามาได้ มีการดื่มเหล้า ร้องรําทําเพลง เฮฮากันเป็นที่สนุกสนาน เสร็จแล้วแยกย้ายกันไปเข้าทับ คู่บ่าวสาวจะตรงไปที่เรือนหอที่สร้างขึ้น ถือเป็นการแยกครอบครัวใหม่อย่างเด็ดขาด คู่ผัวเมียแม้แต่งงานแล้วยังคงต้องผูกพันกับพ่อแม่ สองฝ่ายมีประเพณีที่ค่อนข้างแปลกประหลาด คือว่าลูกสะใภ้จะพูดคุยกับพ่อสามีไม่ได้เป็นอันขาด จะหาอาหารมาให้กินก็ไม่ได้ หากจะร่วมวงสนทนากันต้องมีคนอื่นนั่งคั่นกลาง นั่งใกล้กันไม่ได้ต้องนั่งหันหลังให้ตลอดเวลา หรือนั่งก้มหน้านิ่งเงียบ หากจะพูดคุยกันต้องผ่านล่าม แต่ไม่มีข้อห้ามสําหรับลูกเขยกับพ่อตาแม่ยาย
    ๓. การตาย
       ประเพณีการตายเมื่อพวกเค้าตายลง ถ้าเสียชีวิตบนแครในทับก็จะใช้แคร่นั้นเป็นที่ตั้งศพ จะไม่มีการเคลื่อนย้ายศพไปตั้งที่แคร่อื่น เขาจะนําแคร่นั้นไปฝังศพด้วย มันนิไม่มีประเพณีอาบน้ำศพเพราะกลัวว่าศพจะเย็น คงเนื่องจากตอนมีชีวิตอยู่ไม่ชอบอาบน้ำนั่นเอง และจะต้องรีบห่อศพทันที ก่อนห่อศพจะจัดให้ศพนอนตะแคง แล้วพับศพแค่เข่าให้ส้นเท้าอยู่ที่ตะโพก เมื่อพับศพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะใช้เสื้อผ้าอาภรณ์ของคนตายเท่าที่มีห่อศพอย่างมิดชิดจะมากหรือน้อยแล้วแต่จะมี แล้วรวบรวมอุปกรณ์เครื่องใช้ประจําตัวทรัพย์สินของผู้ตายตั้งไว้หน้าศพ เพื่อนําไปฝังพร้อมกันเพราะเชื่อว่าคนตายจะได้นําไปใช้ในภพหน้า นอกจากนั้นให้ตั้งเครื่องเช่นศพ ได้แก่ อาหาร เผือก มัน เพื่อศพจะได้กิน มีการจุดตะเกียงหรือไต้ไว้ทางด้านศีรษะ เชื่อว่าศพจะได้เห็นแสงสว่างจะได้ไม่หลงทาง ก่อนนําศพไปฝัง เจ้าภาพ (สามีหรือภรรยา) และญาติพี่น้องจะเคี้ยวหัวไพร ซึ่งจะเป็นสมุนไพร โดยการพ่นบนศพ ๓ ครั้ง พ่นที่เท้า ท้องและหน้าอกแห่งละครั้ง ยกศพขึ้นวางบนแคร่หาม มีหมอผีช่วยหามและนําทางเจ้าภาพ (สามีหรือภรรยา) ต้องยกทางปลายเท้าเสมอ ยกทางศีรษะไม่ได้ เวลาหามให้เอาด้านศีรษะไปก่อน ที่ฝังศพจะต้องเป็นที่เนินไม่ห่างไกลจากทับเกินไปนัก เมื่อฝังศพเสร็จแล้ว จะสร้างเพิงหมาแหงนเป็นสัญลักษณ์ไว้ โดยการสร้าแบบหยาบ ๆ เพื่อให้ศพได้อาศัยอยู่ชั่วคราว ต่อจากนั้นหมอผีจะเชิญวิญญาณคนตายไปฝากไว้ตามต้นไม้ใหญ่ ๆ ให้เป็นที่อยู่สําหรับผีคนตาย อย่างถาวร ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้พวกชาวป่าจึงขลาดกลัวต้นไม้ใหญ่กันมาก เพระาเชื่อว่ามีผีประจําอยู่ทุกต้น
    ๔. ความเชื่อเรื่องภูตผี
        ความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจ มันนิมีความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจ รวมทั้งเจ้าป่าเจ้าเขา สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ ให้คุณให้โทษได้เสมอ ป่าที่อยู่อาศัยก็มีเจ้าป่าเป็นใหญ่ ต้นไม้ใหญ่มีนางไม้และวิญญาณคนตายสิงอยู่ ที่มืดมิดทุกแห่งหนมีผีทั้งนั้นจะต้องเคารพนบนอบซึ่งละเมิดไม่ได้ ชาวป่าเชื่อว่าภูตผีปีศาจมี ๔ ประเภท ประกอบด้วย
           - ประเภทแรกเรียกว่า “ญา” เป็นวิญญาณที่ออกจากร่างของคนตาย อาจไปสิงสู่คนเป็นหรือเที่ยวหลอกหลอนได้
           - ประเภทที่ ๒ เรียก “โรบ” หรือเจตภูต ซึ่งออกจากร่างคนนอนหลับ เที่ยวทําร้ายคนอื่น
           - ประเภทที่ ๓ เรียก “เซมังงัด” ได้แก่ผีพรายที่เกิดจากคาถาอาคม
          - ประเภทที่ ๔ เรียก “บาดี” เกิดจากสัตว์ร้ายที่เรียกว่ารังควาน เวลา ฆ่าสัตว์ตายแล้วจึงต้องปัดรังควานเสียก่อน
    ๕. การละเล่นและดนตรี
         การละเล่นดนตรี มันนิเป็นคนที่มีดนตรีอยู่ในหัวใจ เขา ชอบสนุกสนาน การมีชีวิตอยู่ในป่าเขาลําเนาไพร ได้ยินแต่เสียงสัตว์ จักจั่น เรไร จิตใจไม่มีความกังวล ไม่มีความเครียดเขามีเวลาพักผ่อนอย่างเหลือเฟือจึงทำให้เวลาเจอก็นั่งจับเจ่าคุยกัน และไปหาไม้ไผ่ กะลามะพร้าวมาทําเป็นเครื่องดนตรีประเภทเคาะให้จังหวะ เครื่องดนตรีอย่างอื่นก็มีกลองที่เรียกว่า “ปะตุง” ปี่ เรียกว่า “อิแนะ” จะเข้ ๒ สายทําด้วยไม้ไผ่ชีกมีเหล็ก สําหรับดีดเรียกว่า “จองนอง” เครื่องเล่นที่ทําด้วยกะลามะพร้าวไม้ไผ่ มีคันชักด้วยเชือกเรียกว่า “บองบง” เวลาเต้นรํากันจะใช้กรับทําด้วยไม้เคาะจังหวะ โดยเคาะบนไม้มีลักษณะเป็นโพงยางหรือโกร่ง ขณะเล่นดนตรี ร้องรําทําเพลง มันนิจะล้อมวงกันก่อไฟไว้ตรงกลางลานทับ บางคนปรบมือโยกตัว บ้างลุกขึ้นเต้นตามจังหวะด้วยความสนุกสนาน
    ๖. การใช้อาวุธ   
       การใช้อาวุธ เนื่องจากว่ามันนิต้องออกล่าสัตว์เป็นปกติทุกวัน อาวุธสําคัญคือลำลูกดอกสําหรับใช้ปากเป่าที่เรียกว่า “บอเลา” ที่รู้จักกันในชื่อ “กระบอกตุด” เป็นกระบอกไม้ซางมีสีเหลือง ขัดเป็นมันวาว งดงาม มีความยาวประมาณ ๔ ศอกเศษ บอเลาจะบรรจุในกลักไม้ไผ่ชั้นนอกอีกชั้นหนึ่ง สําหรับถือไปไหนมาไหนก็ได้ ป้องกันไม่ให้กระทบ หักหรือเกิดริ้วรอย โดยพวกเค้าจะรักและทนุถนอมบอเลาประดุจชีวิต เพราะเป็นเครื่องมือหากินและไว้ป้องกันที่สำคัญ สําหรับลูกดอกจะทําด้วยไม้ไผ่เหลาให้เรียวแหลม มีหยักที่คอเรียกว่า “บิลา” ที่ปลายจะใช้ยางทาเรียกว่า “อิโปะ” หรือยางน่อง ลูกบิลาจะเก็บไว้ในกลักไม้เล็ก ๆ อันละกลักหรือรวมไว้ในกลักเดียว แต่ต้องมีช่องป้องกันมิให้กระทบกระแทกกัน กลักบิลานี้เรียกว่า “ฮอนเล็ด” ฮอนเล็ดหลาย ๆ อันจะมารวมกันบรรจุไว้ในกล่องหรือกระบอกใหญ่อีกชั้นหนึ่งเรียกว่า “มันนึ” มีฝาครอบและใช้สายคาดสะดวกในการพาติดตัว เวลาจะยิงลูกดอกจะใช้ปุยจากต้นเต่าร้างอัดแน่น เพื่อให้ลมส่งลูกดอกได้แรงไปไกล เมื่อลูกดอกยองถูกคนหรือสัตว์พิษจะเข้าสู่กระแสโลหิตถึงแก่ความตายในไม่ช้า

            


อาวุธประจำกายของชายมันนิ

             ชนเผ่ามันนิ ในประเทศไทยดํารงวิถีชีวิตใน ๓ ลักษณะ คือ

๑. กลุ่มเร่ร่อนอพยพหาของป่าล่าสัตว์แบบดั้งเดิม มักอยู่อาศัยในป่าที่อุดมสมบูรณ์มาก สมาชิกใน กลุ่มไม่เกิน ๒๐ คน จะอพยพโยกย้ายไปตามฤดูกาลที่พืชพันธุ์ผลไม้ออกดอกผล หรือเมื่อมีคนตาย หรือถูกรบกวนจากภายนอก กลุ่มเร่ร่อนอพยพหาของป่าล่าสัตว์แบบดั้งเดิมนี้จะอยู่ที่ไหนได้ไม่นานอย่างมากไม่เกิน 10 วัน บางที่อยู่ ได้แค่ 3-4 วัน ก็มีอันต้องย้ายที่พัก (ทับ) การที่ต้องย้ายทับด้วยสาเหตุ เช่น อาหารการกินฝืดเคืองต้องไปหา แหล่งใหม่ที่อุดมสมบูรณ์กว่า มีคนตายขึ้นในที่พัก (ทับ) เขาจะ จัดการฝังศพทันที แล้วรีบหนีจากทับ ไปหาที่อยู่ใหม่ สมาชิกถ่ายอุจจาระใกล้เข้ามาจวนถึงที่พัก พวกชาวป่าจะถ่ายจากที่ไกลก่อน ค่อยขยับเข้ามาทีละน้อย ถ่ายถึงที่พักเมื่อไหร่ จะรีบย้ายไปหาที่อื่นทันที มีคนมาเอ่ยปากขอลูกไปเลี้ยงพวกเขาจะหนีไปอยู่ที่ใหม่ทันที่เพราะเป็นลางสังหรณ์ทําให้ลูกตายได้ การดํารงชีวิตของมันนิกลุ่มนี้ ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้เป็นหลัก ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับวิถีชีวิตของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
๒. กลุ่มกิ่งเร่ร่อน-เริ่มตั้งถิ่นฐาน มันนิกลุ่มนี้มีวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากกลุ่มแรกที่มีลักษณะวิถีชีวิตที่ค่อนข้างดั้งเดิม เนื่องมาจากสภาพพื้นที่ป่าบางจุดนั้นไม่ได้อุดมสมบูรณ์เพียงพอที่จะให้คํารงชีวิตอยู่ในป่าได้ จึงได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อการอยู่รอดของชนเผ่า โดยอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ชายป่าหรือป่าเสื่อมโทรมใกล้หมู่บ้านหรือบริเวณสวนยางพาราของชาวบ้าน เพื่อความสะดวกในการไปมาหาสู่ ตลอดถึงรับจ้างทํางานและหาซื้ออาหาร มันนิกลุ่มนี้มักจะดํารงชีวิตด้วยการหาของป่าจําพวกน้ำผึ้งป่า สะตอป่า ล่า สัตว์ป่าหรือหายาสมุนไพรมาขาย แล้วนําเงินไปซื้อข้าวสาร และอาหารแห่ง บุหรี่ ขนม และเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ มีการล่าสัตว์และขุดหาหัวมันป่าอยู่บ้าง แต่ไม่เพียงพอแบ่งปันกันในกลุ่มบางคนจึงออกมารับจ้างถางไร่ ถางป่า ฉีดยาฆ่าหญ้า แต่ก็เป็นการรับจ้างระยะสั้น ๆ ได้เงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งมีรายได้ที่ไม่แน่นอย
๓. กลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานถาวรแล้ว มันนิกลุ่มนี้มีการตั้งถิ่นฐานบริเวณใดบริเวณหนึ่งโตยถาวรจะไม่มีการอพยพเคลื่อนย้ายอีก มีการสร้างบ้านเรือนที่ค่อนข้างถาวร ตลอดถึงมีความสัมพันธ์กับคนภายนอกอย่างใกล้ชิด จึงได้รับความช่วยเหลือเลี้ยงดูและถ่ายถอดความรู้ต่าง ๆ ที่เป็นความรู้ของระบบสังคมเมือง การปฏิสัมพันธ์นั้นก็มีลักษณะต่าง ๆ เช่น ชาวบ้านภายนอกเข้าไปแต่งงานอยู่กินกับมันนิหรือการรับเป็นลูกจ้างประจําในการทํางานต่าง ๆ มันนิกลุ่มนี้รู้จัก การสร้างบ้านที่มีเสาเรือน ไม้ฝากระดาน ใช้ตะปูตอกยึด หลังคาเป็นสังกะสีหรือกระเบื้อง ดำรงชีวิตด้วยการทําสวนยางพาราหรือรับจ้าง มีรายได้ค่อนข้างประจําและมั่นคงมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ มีการล่าสัตว์ด้วยอาวุธปืน หายาสมุนไพรบํารุงกําลังหรือน้ำผึ้งป่ามาขาย รู้จักใช้เงินในการจับจ่าย ซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งของ รู้จักการปลูกพืชผักผลไม้และเลี้ยงสัตว์จําพวกไก่ สุนัข แมว มีการแต่งตัวตามสมัยนิยม นุ่งกางเกงยีนส์ มีรถมอเตอร์ไซด์ มีวิทยุเทป บางกลุ่มมี โทรทัศน์ ตู้เย็น โทรศัพท์มือถือ พูดจาสื่อสารด้วยภาษาไทยได้ชัดเจน บางคนสามารถพูดภาษาไทยกลางได้ บางคนได้เรียนหนังสือถึงชั้นมัธยมต้น

           สถานภาพในปัจจุบันของมันนิ
             
แม้ว่ามันนิหรือซาไกจะเป็นที่ยอมรับว่าเป็นมนุษย์ที่สืบเชื้อสายมาจากเผ่าพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินบนคาบสมุทรมาแต่ครั้งอดีต ตั้งแต่ยุค ก่อนที่จะมีการสถาปนารัฐสมัยใหม่บนแผ่นดินประเทศไทยและมาเลเซีย ซึ่งมีผลให้มนุษย์กลุ่มนี้ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตของรัฐไทยมีสถานะทางนิติศาสตร์โดยข้อเท็จจริ เป็น “คนตั้งเดิมของแผ่นดินไทย” หรือ “คนที่เกาะติดแผ่นดินไทย” แต่ในอดีตกลับถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่มีฐานะแม้แต่จะได้รับการยอมรับในฐานะ “ชนกลุ่มน้อย" โดยมิได้ถูกบันทึกในทะเบียนประวัติตามกฎหมาย การทะเบียนราษฎร ซึ่งกรมการปกครองจัดทําสําหรับชน กลุ่มน้อยในประเทศไทยแต่อย่างใด และการที่คนกลุ่มนี้ปราศจากเอกสารรับรองตัวบุคคลเพื่อแสดงสิทธิในสัญชาติไทย จึงมีผลให้มันนิในประเทศไทยอยู่ในสถานภาพ “บุคคลไร้รัฐ” ในขณะที่มันนี้ในมาเลเซีย กลับอยู่ในสถานภาพที่แตกต่างออกไป เนื่องจากรัฐธรรมนูญของมาเลเซียใต้กําหนดให้เป็นภาระหน้าที่ของพระราชาธิบดี ต้องพิทักษ์สถานภาพพิเศษของคนมลายูและภูมิบุตร รวมทั้งกําหนดให้มีการพิทักษ์และพัฒนาชนพื้นเมือง (Orang Asli) ในแหลมมลายูและสงวนสิทธิ์ที่ดินสําหรับคนพื้นเมืองชาวมลายู ซึ่งมีผลให้รัฐบาลมาเลเซียให้สถานภาพพิเศษแก่ชนพื้นเมืองต่าง ๆ รวมทั้งมันนิผ่านนโยบายภูมิบุตร (Burmiputra) อย่างชัดเจน
       อย่างไรก็ตามนับแต่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีพระราชทานนามสกุล “ศรีธารโต” ให้แก่มันนีกลุ่มหนึ่งในอําเภอธารโต จังหวัดยะลา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ สถานภาพมันนิในประเทศไทยที่ได้รับการเอาใจใส่มากขึ้น ในปัจจุบันมันนิหลายกลุ่มได้รับการพิสูจน์สัญชาติจากทางราชการ นําไปสู่การบันทึกประวัติลงในทะเบียนราษฎร ซึ่งมีผลให้มันนิหลายกลุ่มสามารถยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งนามสกุล เช่น มันนิในเขตอําเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ใช้นามสกุล "รักษ์ป่าบอน" มันนิในอําเภอปะเหลียนจังหวัดตรัง ใช้นามสกุล “ศรีปะเหลียน” และ “ปักษี" โดยทางหน่วยงานราชการยังจัดทําบัตรประชาชนให้อีกด้วย การที่มันนิได้รับการรับรองสถานภาพพลเมือง จึงมีผลให้พวกเขาสามารถใช้สิทธิทางการเมือง เช่น การเลือกตั้งผู้นําท้องถิ่น รวมทั้งมีสิทธิ์ในการรักษาพยาบาล การเข้ารับการศึกษา และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของไทยโดยสมบูรณ์อย่างไรก็ตามวิถีชีวิตของมันนิในแต่ละพื้นที่ของไทย ก็ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมาก ซึ่งเกิดจากสภาพความสมบูรณ์ของป่าที่ลดน้อยลงไปมาก อีกทั้งระเบียบกฎหมายควบคุมการใช้พื้นที่ในป่าทําให้กลุ่มชนมันนิเริ่มอยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ไม่อพยพเคลื่อนย้ายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ เหมือนในอดีต การเก็บของป่าล่าสัตว์ก็ทําได้ยากขึ้นจนไม่สามารถทําได้เลย ในบางพื้นที่ที่เป็นเขตห้ามล่าสัตว์หรือเขตป่าสงวน ทําให้มันนิหันมาประกอบอาชีพอย่างคนเมืองกันมากขึ้นแล้วนํารายได้ไปซื้อหาอาหารหรือเครื่องอุปโภคบริโภคอื่น ๆ แทนการหาจากป่า แม้ว่านโยบายรัฐบาลไทยจะรับรองสถานภาพและสิทธิของมันนี้ในประเทศไทยมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีการเอาใจใส่ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงพบว่าในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา กลุ่มมันนิที่อาศัยในบริเวณใกล้แนวชายแดนมี การอพยพเข้าไปยังดินแดนของมาเลเซียมากขึ้น เนื่องจาก ทางการมาเลเซียให้สิทธิพิเศษ ให้เงินให้งานให้บ้านหรือจัดสรรพื้นที่ป่าให้สร้างทับอยู่ตามวิถีชีวิตตั้งเดิม
          สําหรับมันนิในภาคใต้ที่เป็นรู้จักในสังคม คือกลุ่มตําบลทุ่งนารีจังหวัดพัทลุง เพราะได้รับการรับรองความมีตัวตนจากทาง ราชการ มีการปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ได้มากขึ้น และเมื่อมีสมาชิกในกลุ่มได้ร่วมเป็นนักแสดงในภาพยนตร์ เรื่องซาไกยูไนเต็ด ยิ่งทําให้พวกเขาเป็นที่รู้จักในวงกว้าง จนในที่สุดทางราชการจัดให้พวกเขาเป็นสัญลักษณ์ประจําท้องถิ่น ดังปรากฏอยู่ในคําขวัญประจําอําเภอป่าบอนว่า “น้ำตกไหลแรง แม่แตงสวยสด สัปปะรดหวานดี มีเผ่าซาไก ใฝ่วัฒนธรรม นำการศึกษา” และในคําขวัญขององค์การบริหารส่วนตําบลทุ่งนารีที่ว่า “อ่างเก็บน้ำกว้างใหญ่ เงาะป่าซาไกเผ่าโบราณ น้ำตกสวยตระการ สับปะรดหวานป่าบาก หลายหลากสมุนไพร ผู้คนน้ำใจล้นเหลือ”
     อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ยังคงรักษาประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาตั้งเดิมส่วนหนึ่งเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น และพร้อมจะเสืบทอดเผ่าพันธุ์ของตนต่อไปท่ามกลางกระแส ความปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาในฐานะมันนิหรือซาไกแห่งเมืองพัทลุง


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
มันนิ (Mani)
ที่อยู่
จังหวัด
ภาคใต้


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

บุญเสริม ฤทธาภิรมย์. (2546). รวมเรื่องเมืองสตูล. สตูล : องค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล.
สารัท ชลอสันติสกุล และชาคริต สิทธิฤทธิ์. (2556). รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์พัทลุง. นครศรีธรรมราช : สำนักศิลปากรที่ 14
          นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024