วัดยางงามเป็นวัดเก่าแก่ที่มีความสวยงามมากวัดหนึ่งในจังหวัดพัทลุง ตามตำนานการก่อสร้างวัดกล่าวว่าผู้สร้างวัดนี้คือจอมแพ่ง และจอมจ่า แต่ไม่ได้ระบุชัดว่าท่านเป็นใคร และสร้างปีไหน แต่จากทำเนียบวัดจังหวัดพัทลุงฉบับพระครูอริยสังวร (เอียด) (อดีตเจ้าคณะจังหวัดพัทลุง) ระบุว่าสร้างในปี พ.ศ. ๒๓๔๘ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) โดยอาศัยนักโทษที่ถูกคุมขังในคุกเมืองพัทลุงมาช่วยกันสร้าง จึงอาจจะสันนิษฐานได้ว่าจอมแพ่ง และจอมจ่า อาจเป็นผู้คุมหรือพัสดีเรือนจำคุมเหล่านักโทษ วัดยางงามตั้งอยู่หมู่ ๙ ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ภายในวัดมีพระอุโบสถขนาดใหญ่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีเสาระเบียงถึง ๒๒ ต้น คันทวยจำหลักเมืองงดงาม หน้าบันด้านหน้าจำหลักรูปนารายณ์ทรงครุฑ ด้านหลังรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ทรงเครื่องปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีสูงประมาณ ๒ เมตร ด้านหน้าพระประธานมีพระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามญาติ ๒ องค์ และพระพุทธรูปหินอ่อน ปางมารวิชัยประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ศิลปะพม่า ขนาดสูง ๗๑ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๕๐.๕๐ เซนติเมตร ภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์ศรัทธาใต้ลำน้ำ ซึ่งเก็บรักษาพวกเครื่องปั้นดินเผา เครื่องใช้ทองเหลือง ฯลฯ ที่ค้นพบพร้อมซากเรือโบราณ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานแห่งชาติและได้ทำการบูรณะอาคารอุโบสถใหม่สวยงามมากยิ่งขี้น กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และประกาศเขตโบราณสถาน มีพื้นที่ประมาณ ๒ ไร่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘
พระอุโบสถ
พระอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีกำแพงแก้วล้อมรอบ ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปปูนปั้นทรงเครื่องปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี ด้านหน้าพระประธานมีพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ๒ องค์ และพระพุทธรูปหินอ่อนปางสมาธิ ศิลปะพม่า มีจารึกว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑ พระอุโบสถมีขนาดใหญ่มาก มีเสาระเบียงถึง ๒๒ ต้น คันทวยจำหลักเมืองงดงาม หน้าบันด้านหน้าจำหลักรูปนารายณ์ทรงครุฑ ด้านหลังรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณมีอุโบสถที่งดงามมาก ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานแห่งชาติและได้ทำการบูรณะอาคารพระอุโบสถให้สวยงามมากยิ่งขึ้น
รูปแบบศิลปะอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ฐานเป็นฐานเชียงสูง รอบอุโบสถมีเสานางเรียงหรือเสารองรับพาไลโดยรอบ ๒๒ ต้น ด้านหน้าและด้าน ๆ ละ ๕ เสา ด้านข้างด้านละ ๖ เสา ยอดเสาทุกต้นมีการปั้นเป็นรูปกลีบดอกบัว ประกอบคันทวยจำหลักไม้ลายกนกรูปนาค หน้าบันอุโบสถด้านหน้าจำหลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ตอนล่างเป็นรูปลายเทพพนม ๒ ข้าง ประกอบด้วยลายกนกก้านแย่งรูปยักษ์และนางเมขลาล่อแก้ว หลังคาซ้อนกันหนึ่งชั้นประติมานวิทยา พระอุโบสถตั้งอยู่บนฐานบัวคว่ำบัวหงายแต่ปัจจุบันเป็นฐานเขียง มีบันไดนาคเข้าสู่พระอุโบสถทั้ง ๒ ทาง อุโบสถเป็นอาคารที่สำคัญภายในวัดเนื่องจากเป็นสถานที่ที่พระภิกษุสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรม
หน้าบันจำหลักไม้ประดับกระจกสี ด้านทิศตะวันตกจำหลักรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ แผงด้านล่างจำหลักรูปหน้ากาลและยักษ์
หน้าบันจำหลักไม้ประดับกระจกสี ด้านทิศตะวันออกจำหลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑหยุดนาคแผงด้านล่างจำหลักรูปเทวดาและลายก้านขด
เสารองรับพาไลโดยรอบ ๒๒ ต้น ยอดเสาทุกต้นมีการปั้นเป็นรูปกลีบดอกบัวสวยงาม ประกอบคันทวยจำหลักไม้ลายกนกรูปนาค
ใบเสมาอุโบสถ
พระประธานในพระอุโบสถ
พระพุทธรูปทรงเครื่อง
พระพุทธรูปทรงเครื่องเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นทรงเครื่องใหญ่ปางมารวิชัย มีพุทธลักษณะงดงาม ด้วยเครื่องทรงที่ประดับองค์พระอย่างประณีต สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ขนาดหน้าตักกว้าง ๐.๗๙ เมตร องค์พระสูงถึงฐาน ๒.๐๐ เมตร ประดิษฐานบนฐานทรงสูงก่ออิฐถือปูนสูง ๑.๖๙ เมตร ปัจจุบันประดิษฐานเป็นพระประธานที่วัดยางงามและเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วทุกสารทิศ
รูปแบบศิลปะเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง-ปลาย ลักษณะพระพักตร์กลมค่อนข้างรี พระขนงโก่ง พระเนตรมองต่ำเล็กน้อย พระนาสิกใหญ่และกว้าง แย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย สำหรับเครื่องทรงประกอบด้วย พระมงกุฎ กรองศอ สังวาล พาหุรัด พระทองกร รองพระบาท (ลักษณะของพระมงกุฎยังเป็นอิทธิพลอยุธยาตอนกลางอยู่คือมงกุฎจะแบ่งชั้นเป็นปล้อง ๆ ในขณะที่อยุธยาตอนปลายมงกุฎจะเป็นทรงชฎา) ด้านประติมานวิทยาพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบนี้นิยมสร้างขึ้นในสมัยศิลปะอยุธยาตอนปลาย (ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓) ตามคติการทรงเครื่อง คือการเปรียบพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระจักรพรรดิราช ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ ตอนพระพุทธเจ้าทรงทรมานพระยามหาชมพู (ชมพูบดีสูตร)
ศิลปะโบราณวัตถุ
โอ่งโบราณ
เมื่อไม่นานมานี้มีการค้นพบเรือโบราณในลำน้ำบริเวณวัดยางงาม ซึ่งพระอธิการยงยศ เจ้าอาวาสวัดยางงาม เล่าว่าก่อนหน้าจะพบเรือนั้นตนและนายประสิทธิ์ ได้ฝันพร้อมกันว่ามีผู้ชายสมัยโบราณรูปร่างสูงใหญ่มาบอกให้ช่วยกันไปนำเรือขึ้นจากน้ำ หลังฝันจึงได้ร่วมกับชาวบ้านไปค้นหาตามที่ฝันจนพบเรือ ๒ ลำ จมอยู่ใต้น้ำลึกประมาณ ๘ เมตร ต้องใช้เวลานาน ๑๕ วัน จึงสามารถช่วยกันนำเรือขึ้นมาจากน้ำได้ จากการสอบถามผู้สูงอายุคาดว่าน่าจะเป็นเรือที่ชาวบ้านใช้สัญจรกันในสมัยโบราณกว่า ๑๔๐ ปี เนื่องจากจุดที่พบเป็นท่าเรือเก่า ตั้งเมืองที่ปากน้ำลำปำในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งในตอนนี้ได้ขุดค้นพบจำนวน ๘ ลำ นอกจากนี้ในบริเวณใกล้ที่พบเรือยังพบเครื่องดินเผา ถ้วย จาน ฯลฯ ที่ใช้กันในสมัยโบราณ โดยนำเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ศรัทธาใต้ลำน้ำ วัดยางงาม ตามคำบอกเล่าของผู้รับเหมาก่อสร้างได้เล่าว่า ได้ทำการขุดก่อสร้างกำแพงกันน้ำเพื่อป้องกันการพังทลายริมลำคลองแต่ใขณะที่กำลังดำเนินการขุด เพื่อวางเสาเข็มขณะขุดลงไปราว ๘๐ ซม. รถแบคโฮได้ทำการขุดก็พบถ้วยชามจีนโบราณจำนวนมาก ทั้งที่อยู่ในลักษณะที่สมบูรณ์และแตกละเอียด เนื่องจากถูกขุดขึ้นมาโดยไม่ทันเห็น จากนั้นจึงได้เก็บมาล้างพบอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ก่อนนำมาให้ทางวัดเก็บไว้และยุติการขุดชั่วคราว เพื่อให้ทางวัดได้แจ้งเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเข้าตรวจสอบหวั่นเครื่องถ้วยชามดังกล่าวจะได้รับความเสียหายทั้งด้านรูปทรงและคุณค่าทางประวัติศาสตร์
เรือโบราณ (ภาพค้นจาก : https://www.bansuanporpeang.com/taxonomy/term/1429)
เพจหลงเสน่ห์อาคารเก่า. (2561). สืบค้นวันที่ 7 มิ.ย. 61, จาก https://www.facebook.com/pgหลงเสน่ห์อาคารเก่า-351361438298141/photos/?tab=album&album_
id=448510508583233
มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะโบราณคดี ศูนย์ศิลปกรรมโบราณในเอเชียอาคเนย์. (2559). ฐานข้อมูลศิลปกรรมโบราณในภาคใต้ : พระพุทธรูปประธานวัดยางงาม ต. ลำปำ
อ. เมือง จ. พัทลุง. สืบค้นวันที่ 7 มิ.ย. 61, จาก http://www.archae.su.ac.th/art_in_south/index.php/collections/phatthalung/item/224-phatthalung02-6.html
วัดยางงาม. (ม.ป.ป.). สืบค้นวันที่ 7 มิ.ย. 61, จาก http://www.thaiheritage.net/nation/oldcity/phattkalung10.htm
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง. (2558). วัดยางงาม. สืบค้นวันที่ 7 มิ.ย. 61, จาก https://www.m-culture.go.th/ phatthalung/ewt_news.php?nid=240&filename=slide
วัดยางงาม ตั้งอยู่หมู่ที่ ๙ ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง การเดินทางจากศาลากลางจังหวัดพัทลุงไปทางทิศตะวันออกตามถนนลาดยางสายราเมศวร์-อภัยบริรักษ์ ประมาณ ๗ กิโลเมตร แล้วแยกไปทางทิศเหนือประมาณ ๘๐๐ เมตร