วัดโมคลาน (Wat Mokkhalan)
 
Back    11/01/2019, 10:38    29,803  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา

          วัดโมคลานเกิดขึ้นระหว่าง ปี พ.ศ. ๑๑๑๑-๑๑๑๖ ยุคสมัยทวารดี เป็นที่ประดิษฐานเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย และต่อมาได้กลายเป็นวัดในพระพุทธศาสนานิกายมหายาน และหินยานหรือเถรวาทตามลำดับ มีบทกลอนที่กล่าวถึงความเก่าแก่ของสถานที่แห่งนี้ไว้....

“ตั้งดินตั้งฟ้า ตั้งหญ้าเข็ดมอญ
โมคลานตั้งก่อน เมืองคอนตั้งหลัง
ข้างหน้าพระยัง ข้างหลังพระภูมิ
ศรีมหาโพธิ์ เจ็ดโบสถ์แปดวิหาร เก้าทวารสิบเจดีย์”

             บทกลอนนี้แสดงให้เห็นความเก่าแก่ของบ้านโมคลานซึ่งเป็นชุมชนโบราณ ที่มีอายุประมาณ ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว จากลักษณะทั่วไปของบ้านโมคลาน ซึ่งเป็นชุมชนใหญ่ อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติการตั้งถิ่นฐานของประชากร โดยตั้งอยู่ตามแนวยาวของสันทรายเก่า ลักษณะของชุมชนกระจายในแนวยาวเหนือ-ใต้ มีลำน้ำไหลมาจากเทือกเขานครศรีธรรมราช ผ่านชุมชนโมคลาน ๒ สาย แล้วไปลงทะเลที่อ่าวไทย ได้แก่ คลองชุมขลิง (คลองยิง) และคลองโต๊ะแน็ง (คลองโมคลาน) แต่เดิมคลองทั้ง ๒ นี้คงเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่เพราะยังมีร่องรอยของตะกอนและการกัดเซาะ (ปัจจุบันตื้นเขิน) มีที่ราบลุ่มทั้งสองฝั่งของคลอง ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ ประชากรในชุมชนโมคลานจึงมีอาชีพทำนา และทำสวนมะพร้าว ยางพารา และสวนผลไม้บนสันทราย และยังมีอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผามีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยก่อน จากการศึกษาสำรวจชุมชนโมคลานของนักโบราณคดีเริ่มตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ พบหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวเนื่องกับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย และใน ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ศาสตราจารย์ลูฟส์ (H.H.E. Loofs) แห่งโครงการสำรวจทางโบราณคดีไทย-อังกฤษ ได้เข้าสำรวจและมีความเห็นว่าเนินโบราณสถานของโมคลานหรือแนวหิน ซึ่งจัดอยู่ในวัฒนธรรมหินใหญ่ (วัฒนธรรมหินใหญ่อยู่ในยุคเหล็กประมาณ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้วลงมา มีการนำเอาการนำเอาหินมาใช้ในการก่อสร้าง เช่น โต๊ะหิน รูปหินจำหลัก การสร้างสถาปัตยกรรมใหญ่ เช่น ปราสาทหินในกัมพูชา) และห่างจากเนินโบราณสถานโมคลานไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๑ กิโลเมตร ซึ่งแต่เดิมเป็นพรุลึกมากเรียกว่า "ทุ่งน้ำเค็ม" ปัจจุบันตื้นเขินแล้ว ชาวบ้านได้ขุดพบเงินเหรียญแบบฟูนัน ชาวบ้านได้ขุดพบเหรียญเงิน บรรจุอยู่ในไห จำนวน ๑๕๐ เหรียญ ที่ระดับความลึกประมาณ ๑.๕๐ เมตร จากชั้นผิวดิน เหรียญเงินในนี้มีลักษณะกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓ เซนติเมตร ด้านหนึ่งมีลวดลายพระอาทิตย์สาดแสง อีกด้านหนึ่งเป็นลายศรีวัตสะ (สัญลักษณ์แห่งมงคลหรือ Symbol of luck) พบมากในเมืองโบราณสมัยทวารวดีในภาคกลางของไทย ได้แก่ เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เมืองโบราณบ้านคูเมือง จังหวัดสิงห์บุรี เมืองอู่ตะเภา-เมืองดงคอน จังหวัดชัยนาท เป็นต้น กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒–๑๕ เหรียญแบบนี้ยังคล้ายกับเหรียญเงินที่พบที่เมืองออกแก้ว ประเทศเวียดนาม และเมืองศรีเกษตร สหภาพเมียนมาร์ เหตุนี้จึงมีการสันนิษฐานว่าบ้านโมคลานอาจเป็นชุมชนเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีการติดต่อกับชุมชนภายนอก จากหลักฐานที่พบทั้งเทวสถาน โบราณสถาน โบราณวัตถุ สระน้ำโบราณ ในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายในแดนนี้มาก่อน ต่อมาด้วยอิทธิพลของพุทธศาสนาที่ได้เข้ามาแพร่หลายและรุ่งเรืองในแถบนี้ ทำให้ชุมขนโมคลานเปลี่ยนมารับนับถือพุทธศาสนาไปด้วย สันนิษฐานว่าในช่วงแรกน่าจะเป็นพุทธศาสนานิกายเถรวาทหรือลัทธิหินยาน ซึ่งกำลังเจริญรุ่งเรืองอยู่ในแถบนี้ หลังจากนั้นราวปี พ.ศ. ๑๘๐๐-๑๙๐๐ สมัยอาณาจักรสุโขทัย ผู้ชนในชุมชนโมคลานได้อพยพอันเนื่องจากเกิดความแห้งแล้งและทุรกันดารในที่ทำกิน อีกทั้งเกิดมีชุมชนเกิดขึ้นใหม่ขึ้นมากมาย ทำให้วัดโมคลานถูกทิ้งร้างไปด้วยเหตุไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ ต่อมาวัดโมคลานก็ขาดการดูแลทำให้โบราณสถานทางศาสนาต่าง ๆ ถูกทอดทิ้งไปเป็นเวลานาน ซึ่งจากการสันนิษฐานอาจจะเกิดก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๐ หรือพร้อม ๆ กับการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวไทยมุสลิมจากรัฐไทรบุรี กลันตัน และตรังกานู ก็เป็นไปได้ (ชุมชนโมคลานประชากรส่วนใหญ่เป็นไทยมุสลิม ร้อยละ ๗๐ ไทยพุทธ ร้อยละ ๓๐) จนกระทั้งถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา มีเจ้ากรมข้างซ้ายของเมืองนครไปครอบครองเป็นที่รักษาข้างเรียกว่า “ข้างซ้าย” จึงได้มีพระสงฆ์เข้ามาอยู่จำพรรษา ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในช่วงรัชกาลที่ ๓ มีพระภิกษุสงฆ์องค์หนึ่ง มีนามว่า “ท่านครูป่าน” ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มบูรณะพระบรมธาตุฯ ได้ไปอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์ สิทธิของวัดโมคลานมาไว้ที่วัดพระมหาธาตุฯ  และให้นามว่า “พระพวย” (ปัจจุบันนี้พระพวย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วิหารโพธิ์ลังกา ด้านหน้าวิหารเขียน) อยู่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖-๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทางบ้านเมืองได้นิมนต์พระสงฆ์ไปจำพรรษา แต่ก็อยู่ได้เป็นเวลาไม่นาน ปรากฏว่าวัดโมคลานก็ร้างไปอีก จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๔๘๐-๒๔๘๑  ก็มีพระสงฆ์มาจำพรรษาที่วัดพระโมคลานอีกครั้ง โดยมีพระภิกษ์ชื่อกระจายมาเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้เข้ามาบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะสิ่งปลูกสร้างในวัด ประกอบด้วยกุฏิ ๓ หลัง วิหาร ๑ หลัง จนกระทั่ง ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ วัดพระโมคลาน ก็ถูกทิ้งร้างไปอีกทำให้เสนานะ เช่น กุฏิ เกิดการชำรุดทรุดโทรมไป (เหลือแต่วิหารต่อมาก็ยกให้เป็นที่เรียนของของโรงเรียนประชาบาล) ต่อมาใน ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้มีท่านช่วง อินฺโขโต” มาอยู่จำพรรษา ได้สร้างกุฏิไม้หลังใหญ่ขึ้น ๑ หลังและหลังเล็ก ๆ อีก ๔ หลัง และปลูกมะพร้าวอีกหลายร้อยต้น และมีพระสงฆ์มาจำพรรษาปีละหลายรูป ต่อมา ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ท่านช่วงได้ออกจากวัดโมคลานไปจำพรรษาที่วัดนาควารี โดยให้พระสงวน ถาวรธมฺโม มารักษาการแทนเจ้าอาวาส จนกระทั่ง ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูประทวน และได้พัฒนาวัดพระโมคลาน มาเป็นลำดับ จนกระทั่ง ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้รับพระราชทาน “คามสีมา” และมีพระสงฆ์จำพรรษามาตลอดมา ใน ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ พระครูสงวน ถาวรธมฺโม ลาสิขาบถ ทางคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งให้พระจัด วฑณฺโน” มาเป็นเจ้าอาวาสวัดพระโมคลาน ตั้งแต่วันที่ ๑๕ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นต้นมา และท่านได้ดำเนินการพัฒนาวัดโมคลานในด้านต่าง ๆ เสมอมา แต่ก็เป็นไปอย่างยากลำบากเพราะประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ท่านก็ไม่ท้อถอย ต่อมาก็ได้สร้างศาลาโรงธรรมศาลา กว้าง ๑๔ เมตรยาว ๓๖ เมตร ขึ้น ๑ หลัง เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เสมอมา และสร้างกุฏิทำด้วยไม้ จำนวน ๗ หลัง ทำให้วัดโมคลานมีความเจริญมาจนถึงทุกวันนี้


ความสำคัญ

       โบราณคสถานวัดโมคลาน ตั้งอยู่ในเขตตำบลดอนคา ห่างจากตัวอำเภอท่าศาลาประมาณ ๑๐ กิโลเมตร การเดินทางตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๐๑ ถึงหน้าบ้านหน้าทัพให้เลี้ยวซ้าย เข้าไปอีกประมาณ ๖ กิโลเมตรตามทางหลวงแผ่นดินสาย ๔๐๒๒  เดิมสถานที่แห่งนี้เป็นศาสนสถานของศาสนาพรามณห์ลัทธิไศวนิกาย เกิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ มีหลักฐานที่ปรากฎ เช่น แนวเสาหิน หินแกะสลักรอบประตู อาคารธรณีประตู ชิ้นส่วนของโยนิและศิวลิงค์ สระน้ำโบราณ แท่นตั้งเทวรูป ซึ่งทางกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๑๘


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

       โบราณสถานวัดโมคลานคือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก่อนยุคอาณาจักรของพระเจ้าศรีธรรมโศกราช กษัตริย์ผู้ทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราช และพบว่าบริเวณพื้นที่ตามแนวเขตอำเภอสิชล-อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น ปรากฏร่องรอยหลักฐานหลาย ๆ แห่งที่มีมาก่อนการสร้างเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการและลำดับของความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองในยุคนั้นได้ โดยยึดหลักฐานทางศาสนาที่ค้นพบปรากฎอยู่ในรูปโบราณสถาน โบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก และเป็นที่น่าสังเกตว่า ชุมชนโบราณที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒–๑๔ แต่เดิมนั้นมักเป็นกลุ่มชุมชนนับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดูเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งเมื่อเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ หลักฐานการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชุมชนผู้นับถือศาสนาพุทธมหายานได้พบเพิ่มเป็นจำนวนมากขึ้น เมื่อเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ ๒๐–๒๓ ในพื้นที่อำเภอท่าศาลานั้นในสมัยโบราณมีวัดที่สำคัญ ๆ หลายวัด แต่ปัจจุบันมีหลายวัดที่ได้กลายเป็นวัดที่ถูกทิ้งร้าง เช่น โบราณสถานวัดมเหยงคณ์ โบราณสถานวัดตุมปัง  โบราณสถานวัดเกาะพระนารายณ์ และโบราณสถานวัดพระนางตรา

       จากหลักฐานที่พบในโบราณสถานวัดโมคลานและข้อมูลจากนักวิชาการประวัติศาสตร์ เราจึงสันนิษฐานจากหลักฐานได้ว่า พื้นที่และชุมชนแห่งนี้ได้มีการซ้อนทับของหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายช่วงหลายยุคสมัย มีการสร้างวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองทั้งจากหลักฐานเป็นโบราณสถานที่เกี่ยวเนื่องกับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย ต่อมาได้กลายเป็นเขตอิทธิพลของศาสนาพุทธนิกายมหายาน ปัจจุบันชุมชนแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของมุสลิมส่วนใหญ่ โบราณสถานและโบราณวัตถุโบราณสถานวัดโมคลานเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ามีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาอยู่อาศัยในแหล่งที่เคยเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณเดิมมาก่อน ชุมชนใหม่ที่เข้ามาได้แสดงให้เห็นถึงการขาดความต่อเนื่อง ขาดความเข้าใจ ขาดความรู้เกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของชุมชนเดิม จึงได้ดำเนินการรื้อซากอาคารศาสนสถานเก่านำวัสดุเก่าที่พอใช้การได้มาก่อ สร้างศาสนสถานแห่งใหม่ เราจึงได้พบเสาหิน และกรอบประตูถูกนำมาปักไว้ในลักษณะแสดงอาณาเขตวัดหรือสถานที่ประกอบสังฆกรรม ได้พบกรอบประตูนำมาถมอัดอยู่บนฐานอาคารแห่งใหม่ ได้พบฐานโยนิและชิ้นส่วนศิวลึงค์ถูกทุบแตกเป็นชิ้น และวางกองระเกะระกะอยู่บนพื้นโดยปราศจากความสนใจเอาใจใส่ ปรากฏกาณ์เช่นนี้ปรากฏในชุมชนปัจจุบันที่ได้เข้ามาอาศัยซ้อนทับที่ที่เคย เป็นโบราณสถานเดิม เราจึงพบซากอาคารและชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมอยู่ในสวนยางพารา สวนผลไม้ ในที่นา และเขตบ้านเรือนราษฎร บ้านบางหลังสร้างคร่อมทับโบราณสถานด้วยเหตุผลว่าเป็นที่ดอนไม่ต้องถมที่ หรือได้รื้อชิ้นส่วนอาคารตั้งแต่เศษอิฐที่ยังพอใช้ได้ นำมาก่อสร้างบ้านพักอาศัย หรือนำกรอบประตู ธรณีประตูมาวางไว้ตามเชิงบันไดเป็นที่เช็ดเท้า หรือล้างเท้า หรือทุบให้แตกนำมาถมที่เพื่อปลูกสร้างบ้าน จึงทำให้โบราณสถานโบราณวัสดุที่มีสภาพสมบูรณ์มีอยู่น้อยมาก แต่จากซากของโบราณสถานที่เหลืออยู่พอจะกล่าวได้ดังนี้คือ

       ๑. หลักหินและโบราณวัตถุที่ทำจากหิน สำหรับหลักหินซึ่งจะใช้แสดงขอบเขตของโบราณสถาน หรือเขตวัดพบจำนวนหลายแนว แต่ละแนวปักหลักหินเป็นแนวตรงกันไป ทุก ๆ ต้นปักเป็นระยะห่างเท่า ๆ กัน ส่วนโบราณวัตถุที่ทำจากหินก็กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป

    โดยการได้ค้นพบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมจำนวนมากสลักจากหิน ได้แก่กรอบประตูและฐานเสาซึ่งปรากฏรูเสาชัดเจน ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมเหล่านี้อาจเคยใช้ประกอบอาคารที่สร้างด้วยอิฐเป็นหลัก ชิ้นส่วนบางชิ้นมีลวดลายที่ทำให้นึกถึงศิลปะขอมและศิลปะอินเดียในเวลาเดียวกัน

กรอบประตู

         ชิ้นส่วนกรอบประตูที่พบมีลวดลายเป็นขื่อหักได้ฉาก ระหว่างขื่อมีการบรรจุลวดลายต่าง ๆ เช่น ลาดดอกไม้และลายขีดจนเต็ม ขื่อหักได้ฉากนี้ทำให้นึกถึงระบบกรอบประตูซ้อนกัน (ทวารศาขา) และขื่อหักได้ฉากซึ่งประดับอยู่ใต้หน้าบันของศิลปะขอมสมัยนครวัด ซึ่งถ้าเป็นไปตามกรรีหลังแล้วย่อมสามารถช่วยกำหนดอายุอาคารที่วัดโมคคลานได้ว่ามีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘

     ๒. ซากเจดีย์ พบอยู่ทางทิศตะวันออกของแนวหลักหินแนวแรก มีลักษณะคล้ายจอมปลวก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒๐ เมตร มีผู้คนจำนวนมากได้ขุดหาสมบัติเพราะพบลายแทง และของมีค่าหลายอย่าง เช่น เงิน ทอง เป็นต้น

       ๓. ซากเทวสถาน พบใกล้ ๆ ซากเจดีย์ ได้ค้นพบหินที่เป็นชิ้นส่วนของอาคารวางระเกะระกะอยู่บนเนินทั้งธรณีประตู กรอบประตู เสา ฐานเสา ต่อมาได้นำชิ้นส่วนของอาคารเหล่านี้มาสร้างกุฏิทางทิศเหนือของเนินโบราณสถาน เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ในปัจจุบันยังคงปรากฏร่องรอยของเสากุฏิดังกล่าวอยู่ ชิ้นส่วนของอาคารที่นำมาสร้างกุฏินี้ส่วนหนึ่งเป็นหินที่มีการสลักลวดลายด้วย ส่วนโบราณวัตถุหลายชิ้นที่พบบนเนินโบราณสถาน ได้เคลื่อนย้ายออกมาวางไว้ตามบริเวณโคนต้นไม้ทางทิศเหนือของเนินดิน

    ๔. โยนิโทรณะและศิวลึงค์ โดยค้นพบโยนิโทรณะในซากของเทวสถานหลายชิ้น แต่ก็อยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์นัก ส่วนศิวลึงค์ที่พบในเทวสถานก็มีหลายชื้นเช่นกันปัจจุบันไม่ได้หายไป (พระภิกษุรูปหนึ่งในวัดได้เคลื่อนย้ายออกไปนอกวัดโมคลาน)

โยนิโทรณะ

ศิวลึงค์ศิลา

       ๕. สระน้ำโบราณ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเนินโบราณสถาน ที่พบมีสระน้ำอยู่ ๓ สระ ประกอบด้วย

           - สระที่ ๑  อยู่ห่างจากเนินโบราณสถานประมาณ ๕๐ เมตร เป็นสระน้ำที่มีขนาดเล็กสุด โดยจะขุดเป็นแนวไปตามสันทราย

           - สระที่ ๒ เป็นสระน้ำที่มีขนาดปานกลาง โดยจะขุดเป็นแนวไปตามสันทรายเช่นกัน

            - สระที่ ๓ สระสุดท้ายซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๐-๖๐ มตร อยู่ห่างจากเนินโบราณสถานมากที่สุดคือประมาณ ๑๐๐ เมตร

       ๖. กำแพงแก้ว แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ

  - กำแพงแก้วด้านทิศเหนือขนาด โดยก่อล้อมโบราณสถานหมายเลข ๑, ๒, ๓ และ ๕ มีประตูทางเข้าเป็นขั้นบันไดด้านทิศเหนือ และทิศใต้ตรงข้ามกับโบราณสถานหมายเลข ๑ ภายในเป็นลานปูอิฐ ความหนา ๑ แผ่นอิฐด้านราบ

     - กำแพงแก้วด้านทิศใต้ ปัจจุบันพื้นที่ภายในกำแพงแก้วเป็นอาคารโรงเรียนโมคลานประชาสรรค์ สนามเด็กเล่น บางส่วนของสนามฟุตบอล และพบฐานอาคารโบราณสถานก่ออิฐจำนวน ๒ หลัง เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (น่าจะเป็นกุฎิ) ขนาด ๖.๒๐x๘.๕๐ เมตร และ๙.๕๐x๑๑.๕๐ เมตร กำแพงแก้วทั้ง ๒ ส่วน สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นพร้อมกับวิหารและเจดีย์ กำแพงแก้วด้านทิศเหนือเป็นส่วนของพุทธาวาส ส่วนกำแพงแก้วด้านทิศใต้คงเป็นส่วนของสังฆาวาส

โบราณสถานที่ประดิษฐานในกำแพงแก้ว

เทวสถานโบสถ์กลาง

แท่นประดิษฐานองค์ศิวลึงค์

โบสถ์พระอิศวรและพระมเหศวรี


ปูชนียวัตถุ

พระพุทธรูปยืน 

    พระพุทธรูปที่พบนี้พบขณะขุดแต่งปรับพื้นลานดินภายในกำแพงแก้วด้านทิศเหนือ มีจำนวน ๒ องค์ ได้แก่

        - พระพุทธรูปประทับยืน ปางประทานธรรม (ปางวิตรรกะ) ศิลปะผสมผสานระหว่างอิทธิพลมอญ (ทวารวดี) และเขมร กำหนดอายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘-กลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙

        - พระพุทธรูปทรงเทริด ปางมารวิชัย อิทธิพลศิลปะเขมรและท้องถิ่น อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘

       นอกจากพระพุทธรูปที่พบจากการขุดแต่งแล้ว ก็มีพระพุทธรูปที่สำคัญอีกองค์หนึ่งซึ่งมีหลักฐานว่าเดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดโมคลานคือพระพวยสำริด ปางประทานอภัย ศิลปะอยุธยาตอนปลาย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วิหารโพธิ์ลังกา ด้านหน้าวิหารเขียน ในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดโมคลาน (Wat Mokkhalan)
ที่อยู่
หมู่ที่ ๑๐ ตำบลดอนคา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
จังหวัด
นครศรีธรรมราช
ละติจูด
8.5802929
ลองจิจูด
99.9305775



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

วิกิพีเดียสารานุกรม. 2560. วัดโมคลาน. สืบค้นวันที่ 16 ม.ค. 62, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/วัดโมคลาน

โบราณสถานวัดโมคลาน..การขาดความเข้าใจของชุมชนคือตัวตนที่ขาดหาย. 2555. สืบค้นวันที่ 16 ม.ค. 62, จาก http://oknation.nationtv.tv/blog/

          nn1234/2012/12/24/entry-1

องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช กองการท่องเที่ยวและกีฬา ฝ่ายท่องเที่ยว. 2556. คู่มือการท่องเที่ยวนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช :

        ฝ่ายท่องเที่ยวท่องเที่ยวและกีฬา องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024