วัดพระบรมธาตุไชยาราช วรวิหาร
 
Back    20/04/2018, 13:54    150,357  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา

ภาพจาก https://kyl.psu.th/PvlMgTst

            วัดพระบรมธาตุไชยาหรือชื่อเต็มว่าวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร  ตั้งอยู่ในเขตตำบลเวียง อำเภอไชยา เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร จากโบราณวัตถุโบราณสถานที่ยังปรากฏอยู่ ทําให้ทราบได้ว่าวัดนี้ได้มีมาแล้วหลายยุคหลายสมัยคือเกิดขึ้นแล้วร้างไปแล้วกลับฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ในพื้นที่เดียวกัน วัดพระบรมธาตุไชยาเดิมเป็นวัดราษฎร์ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ โปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๑ มีนามว่า "วัดพระธาตุไชยา" และต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เลื่อนฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร และพระราชทานนามว่า "วัดพระบรมธาตุไชยา"  
        วัดพระบรมธาตุไชยาเป็นวัดโบราณไม่ปรากฎหลักฐานทางเอกสารแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด เดิมเคยปรักหักพังรกร้างมาระยะหนึ่ง จนกระทั่งได้มีการบูรณะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๔๕๓ มีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญคือ "พระบรมธาตุไชยา" พระบรมธาตุไชยาเป็นเจดีย์ทรงปราสาทเรือนธาตุมีฐานเป็นรูปกากบาท มีมุขทั้ง ๔ ด้าน สูงจากฐานถึงยอดประมาณ ๒๔ เมตร ตั้งอยู่บนฐานบัวลูกแก้วรูปสี่เหลี่ยม ตกแต่งด้วยเสาติดผนัง ขนาดทางด้านทิศตะวันนออกถึงทิศตะวันตก ยาว ๑๓ เมตร ขนาดทางด้านทิศเหนือถึงทิศใต้ ยาว ๑๘ เมตร ส่วนฐานอยู่ต่ำกว่าผิวดิน ปัจจุบันทางวัดได้ขุดบริเวณฐานโดยรอบกว้าง และลึกประมาณ ๑ เมตร เพื่อให้เห็นฐานเดิม ส่วนบนของบัวลูกแก้วสี่เหลี่ยม มีลักษณะเป็นฐานทักษิณ ที่มุมทั้ง ๔ ประดับด้วยสถูปจำลอง ตรงกลางฐานเป็นรูปบัวลูกแก้วอีกชั้นหนึ่งรองรับเรือนธาตุทรงจตุรมุข มุขด้านหน้าทางด้านทิศตะวันออก มีบันไดทางขึ้นไปนมัสการพระพุทธรูปภายในองค์เจดีย์ได้ ผนังเรือนธาตุก่ออิฐไม่สอปูน ลดหลั้นกันขึ้นไปถึงยอดมุขอีกสามด้านทึบ เหนือมุขเป็นซุ้มหน้าบันประดับลายปูนปั้น รูปวงโค้งคล้านเกือกม้าเรียกว่ากุฑุ เหนือเรือนธาตุมีลักษณะเป็นหลังคาซ้อนกันขึ้นไป ๓ ชั้น โดยการจำลองย่อส่วนอาคารเบื้องล่างลดหลั่นกันขึ้นไป แต่ละชั้นประดับด้วยสถูปจำลองที่มุมทั้งสี่และตรงกลางด้านเหนือซุ้มหน้าปัน รวมจำนวนสถูปจำลองชั้นละ ๘ องค์ ทั้งหมด ๓ ชั้นเป็นจำนวน ๒๔ องค์ ถัดขึ้นไปเป็นส่วนยอดซึ่งซ่อมแปลงครั้งใหญ่ในรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยขยายส่วนยอดให้สูงขึ้นเริ่มตั้งแต่บัวปากระฆัง ซึ่งเป็นดอกบัวบานขนาดใหญ่ องค์ระฆังเป็นรูปแปดเหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ต่อด้วยฉัตรแปดเหลี่ยม ๕ ชั้น บัวกลุ่ม และปลียอดหุ้มทองคำ เหนือปลียอดประดับฉัตรหุ้มทองคำหนัก ๘๒ บาท ๓ สลึง ต่อมาถูกขโมยลักไป ทางวัดจึงจัดทำขึ้นใหม่ด้วยทองวิทยาศาสตร์ วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร เป็นวัดที่สร้างมานานและเก่าแก่มาก จากหลักฐานน่าจะเป็นสมัยอาณาจักรสุวรรณภูมิเชื่อมต่อกับอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งได้รับเอาพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และจากปรากฎหลักฐานของโบราณวัตถุ โบราณสถาน หรือศิลปวัตถุ ที่ยังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ทราบว่าวัดวัดพระบรมธาตุไชยาเป็นวัดที่เก่าแก่ และผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนานหลายยุคหลายสมัย โดยการรับเอาอารยธรรมของอาณาจักรต่าง ๆ มา ซึ่งสามารถสันนิฐานได้จากโบราณสถาน โบราณวัตถุที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีปรากฏอยู่หลายสมัยอันแสดงถึงความเจริญและความเสื่อม บางครั้งทิ้งร้างไปแล้วฟื้นฟูขึ้นใหม่ในพื้นที่เดียวกัน ดังหลักฐานที่เหลืออยู่ดังต่อไปนี้

๑. สมัยอาณาจักรทวารวดี พบพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่เท่าคนและย่อมกว่าเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตักกว้าง ๗๔ ซม. สูง ๑๐๔ ซม. ลักษณะประทับบนฐาน บัวคว่ำบัวหงาย ขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกัน พระเกศาขมวดเป็นต่อมโต อุษณีย์ปรากฏไม่ชัด จีวรห่มบางแนบพระองค์ คลุมอังสะชัยไม่มีพระอุระมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ อีกองค์เป็นพระพุทธรูปยืนประทับบนฐานบัว จีวรห่มคลุม ปลายจีวรตัดตรง รัดประคตมีลวดลาย ไม่มีพระรัศมีเม็ดพระศกกลมใหญ่ ทำด้วยศิลาสูง ๑๔๒ ซม. ปัจจุบันทั้งสององค์  ประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา จากหลักฐานนี้เชื่อว่าวัดนี้หรือสถานที่แห่งนี้มีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรทราวดี ระหว่าง พ.ศ. ๑๐๐๐-๑๒๐๐
๒. สมัยอาณาจักรศรีวิชัย ในสมัยนี้ศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองมาก สังเกตได้จากองค์เจดีย์พระมหาธาตุแบบศรีวิชัย ด้วยเป็นสถานที่เป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์จึงยังคงรูปแบบของศิลปศรีวิชัยไว้ได้ โดยไม่ได้รับการดัดแปลงเว้นแต่ตอนส่วนยอดที่หักพังลงมาและหายสาบสูญไปจึงได้ซ่อมแซมส่วนยอดมาเป็นแบบศิลปะไทยโบราณวัตถุที่พบเป็นหลักฐานที่ถือเป็นประติมากรรมที่งดงามที่สุดของไทยในสมัยศรีวิชัย คือพระพุทธรูปสัมฤทธิ์พระโพธิสัตว์โลกิเตศวรขนาดใหญ่พบที่ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และพระพุทธรูปศิลาจำนวนมากกว่าที่พบในที่ใดในประเทศไทย ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงเทพสมัยอาณาจักรศรีวิชัยเจริญ  รุ่งเรืองระหว่าง พ.ศ. ๑๒๐๐-๑๕๐๐
๓. สมัยสุโขทัยพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองอีกครั้งพ่อขุนรามคำแหงได้ปกครองดินแดนสุวรรณภูมิ จดคาบสมุทรมาลายูมีการส่งทูตไปลังกาทวีปนำพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงค์ มาที่นครศรีธรรมราชและสุโขทัยพุทธศิลป์สมัยนี้เป็นแบบสกุลช่างนครศรีธรรมราชหลักฐานทีปรากฏอยู่มีใบเสมาคู่แฝดปรากฏอยู่รอบ ๆ เขตพระอุโบสถเดิมของวัด
๔. สมัยอยุธยา จากหลักฐานที่มีปรากฏมากมายการสร้างพระพุทธรูปมากมายกว่าสมัยใด มีการสร้างพระพุทธรูปศิลาทรายแดงขนาดโตกว่าคนลงมีถึงขนาดเท่าคนและย่อมกว่าคน ศาสนาพุทธมีเจริญรุ่งเรืองสูงสุดมากที่ไชยา
๕. สมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์โบราณวัตถุในสมัยกรุงธนบุรีมีน้อยมากเพราะอยู่ในช่วงของการบูรณะบ้านเมือง แต่วัดก็ยังเจริญรุ่งเรืองมีการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอยู่ทั่ว ๆ ไป แต่วัดพระบรมธาตุไชยาได้ถูกทำลายให้ไปร้างโดยพม่าในสงครามระหว่างไทยกับพม่าหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ มาจนถึงพระเจ้าตากสินมหาราช มาตีเมืองนครศรีธรรมราชและรวมรวมประเทศขึ้นอีกครั้ง จนย่างเข้าสมัยรัตนโกสินทร์ เกิดศึกเก้าทัพในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ ๑) ประชาชนต่างหนีภัยสงคราม วัดพระบรมธาตุไชยและพระบรมธาตุถูกทำลายและทิ้งร้างไปในที่สุด ต่อมาได้มีผู้ค้นพบและบูรณะขึ้นมาใหม่ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) โดยพระชยาภิวัฒน์สุภัทรสังฆปาโมกข์ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูรัตนมุนีศรีสังฆราชาลังกาแก้ว เจ้าคณะเมืองไชยา ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๔๕๓ ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ให้วัดพระบรมธาตุไชยคืนชีพมาอีกครั้งหนึ่ง มีการบูรณะตกแต่งองค์พระบรมธาตุเจดีย์ฉาบปูนผิวบาง ๆ ทั่วทั้งองค์ พระบรมธาตุพร้อมทั้งเสริมยอดที่หักหล่นหายไป มีการสร้างพระวิหารหลวงขึ้นใหม่ในฐานเดิมและได้รวบรวมพระพุทธรูป ที่เกลื่อนกลาดอยู่เข้าประดิษฐานในพระวิหารคดจนเรียบร้อยตราบถึงทุกวันนี้
๖. สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จากข้อสันนิษฐานของลำดวน สุขพันธ์ กล่าวว่าวัดนี้น่าจะรวมอยู่ในบรรดาวัดที่ถูกทําลายโดยพวกพม่าข้าศึกในสมัยรัชกาลที่ ๑ จนกระทั่งรกร้างไปในที่สุด เพิ่งถูกค้นพบและบูรณะขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๕ โดยพระชยาภิวัฒน์สุภัทรสังฆปาโมกข์ เมื่อครั้งที่ท่านดํารงสมณศักดิ์เป็นพระครูรัตนมุนีศรีสังฆราชา ลังกาแก้ว เจ้าคณะเมืองไชยาระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๔-๒๔๔๔ เป็นวัดที่ฟื้นคืนมาอีกครั้งหนึ่ง การบูรณะ ที่สําคัญคือตกแต่งองค์พระบรมธาตุเจดีย์แล้วฉาบปูนผิวบาง ๆ ทั่วทั้งองค์พร้อมทั้งเสริมยอดที่หัวหายไป มีการสร้างพระวิหารหลวงขึ้นใหม่ในที่เต็มบนฐานเดิม และสร้างพระวิหารครอบบริเวณล้อมองค์พระเจดีย์ และพระวิหารหลวงยกพระพุทธรูปที่เกลื่อนกลาดอยู่เข้าไปประดิษฐานในพระวิหารคตเสียใหม่จนเป็นที่เรียบร้อยปริมณฑลของพระวิหารคดที่ยกขึ้นในครั้งหลัง แคบเข้ามากว่าของเดิมเพียงเล็กน้อย ในคราวฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ได้รับงบประมาณแผ่นดิน สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ลงที่ พระอุโบสถเก่าซึ่งชํารุดและรื้อออก สร้างพระวิหารหลวงใหม่ในที่พระวิหารเก่าที่ชํารุดและรื้อออกเช่นเดียวกัน สร้างกําแพงแก้วล้อมเขตพุทธาวาสทั้งหมด เสร็จใน พ.ศ. ๒๕๐๒ ส่วนกําแพงวัดสร้างได้แต่เฉพาะซุ้มประตูใน พ.ศ. ๒๕o๙ ได้รับงบประมาณพิเศษเนื่องในการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ เสด็จพระราชดําเนินมาเพื่อประกอบพระราชพิธีวิสาขบูชา พ.ศ. ๒๕๑๐ จึงลาดซีเมนต์ทั่วพื้นที่ภายในกําแพงแก้ว และสร้างพลับพลาที่ประทับเนื่องในพระราชพิธีนั้นด้วย 
      
ส่วนบริเวณสังฆาวาส ได้สร้างกุฏิใหม่เปลี่ยนกุฏิเก่าที่ชํารุดมาตามลําดับ สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม พ.ศ. ๒๔๗๒ สร้างหอสมุดประจําวัดเป็นอาคารถาวร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ และสร้างอุปกรณ์ที่จําเป็น เช่น โรงฉัน ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ สร้างศาลาการเปรียญแทนหลังเก่าที่ต้องรื้อออกเนื่อง จากการสร้างกําแพงแก้วล้อมเขตพุทธาวาสดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งศาลาการเปรียญนี้วัตสําริจะให้เป็นศาลาอเนกประสงค์ เป็นสถานที่สําหรับเผยแผ่พระธรรมคําสั่งสอนและประกอบกิจกรรมทางศาสนา ตลอดจนเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของพุทธศาสนิกชนต่างบ้านต่างเมืองที่เดินทางไปนมัสการพระบรมธาตุไชยา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้ย้ายพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สาขาประจําจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งตั้งอยู่ในพระวิหารหลวงออกไปจัดใหม่ที่อาคารด้านหน้าของวัด 

ความสำคัญ

  ความสำคัญของวัดพระบรมธาตุไชยาอยู่ที่พระบรมธาตุไชยาซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนและเป็นพุทธสถานเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ยังคงรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมสมัยศรีวิชัยไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ วัดพระบรมธาตุไชยา จึงเป็นวัดที่มีสำคัญคู่บ้านคู่เมืองชาวไชยาและสุราษฎร์ธานีมานานนับแต่โบราณกาล พระเจดีย์พระบรมธาตุไชยาเป็นสถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัยเป็นองค์เดียวที่ยังอยู่ในสภาพที่ดีที่สุด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔  สมัยศรีวิชัยกำลังเจริญรุ่งเรืองสูงสุดจากคำบอกเล่าของชาวเมืองไชยามีตำนานที่เล่าขานเกี่ยวกับเจดีย์พระบรมธาตุไชยาว่าครั้งหนึ่งมีพี่น้องชาวอินเดีย ๒ คนชื่อปะหมอกับปะหมัน ทั้งสองเดินทางโดยเรือใบเข้ามาถึงเมืองไชยา ได้พาบริวารขึ้นบกที่บ้านนาค่ายตรงวัดหน้าเมืองในตำบลเลเม็ด เจ้าเมืองมอบให้ปะหมอซึ่งเป็นนายช่างมีความเชี่ยวชาญการก่อสร้างสร้างเจดีย์พระบรมธาตุไชยา ครั้นสร้างเสร็จแล้วซึ่งปรากฎว่ามีความสวยงามมาก หลังจากนั้นเจ้าเมืองก็ได้สั่งให้ตัดมือตัดเท้าของปะหมอเสีย เพื่อมิให้ไปสร้างเจดีย์ที่งดงามเช่นนี้ให้ผู้ใดอีกปะหมอทนบาดพิษบาดแผลไม่ได้ถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา เจ้าเมืองได้สั่งให้หล่อรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรไว้เป็นเครื่องหมายแทนตัวปะหมอ ส่วนน้องชายที่ชื่อปะหมันได้หนีไปครองเกาะพัดหมันและได้ตั้งรกรากอยู่ที่นั้นจนกระทั่งสิ้นชีวิต  
     จากหลักฐานที่ยืนยันถึงอาณาจักรศรีวิชัยอายุไม่ต่ำกว่า ๑,๒๐๐ ปี โดยที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ใช้ภาพของเจดีย์พระบรมธาตุนี้เป็นสัญลักษณ์ในดวงตราประจำจังหวัด และเป็นสัญลักษณ์ในธงประจำกองและผ้าพันคอลูกเสือด้วย ซึ่งถือกันว่าถ้าใครไปเที่ยวจังหวัดสุราษฎร์ธานี หากไม่ได้ไปนมัสการพระบรมธาตุไชยาแล้ว ก็เหมือนกับยังไปไม่ถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนทางด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมนั้น มีลักษณะเป็นเจดีย์องค์เดียวในปัจจุบันที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด โดยองค์เจดีย์พระบรมธาตุมีความสูงจากฐานใต้ดินถึงยอด ๒๔ เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมสูงย่อเก็จ ขนาดฐานวัดจากทิศตะวันตกยาว ๑๓ เมตร สำหรับฐานเดิมนี้ได้สร้างก่อนที่ที่พระชยาภิวัฒน์ (หนู ติสโส) จะทำบูรณะใหม่ (มีน้ำล้อม) ซึ่งตั้งอยู่บนผิวดินมีระดับต่ำกว่าพื้นดินปัจจุบัน ต่อมาทางวัดได้ขุดบริเวณโดยรอบทำฐานเป็นเสมือนสระกว้างประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ลึกประมาณ ๖๐-๗๐ เซนติเมตร เพื่อให้ฐานเดิมมีน้ำขังอยู่รอบฐานตลอดปีในหน้าแล้งบางปีรอบ ๆ ฐานเจดีย์พระบรมธาตุจะแห้งแต่จะมีตาน้ำพุพุ่งขึ้นมา ซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์สามารถแก้โรคภัยต่าง ๆ ได้ ต่อมาทางวัดได้ใช้ปูนซีเมนต์ปิดตาน้ำเสีย องค์เจดีย์พระบรมธาตุเป็นทรงสี่เหลี่ยมจตุรมุขย่อ มุขด้านหน้าหรือมุขด้านตะวันออก มีบันไดขึ้นสำหรับให้ประชาชนเข้าไปนมัสการพระพุทธรูปภายในเจดีย์ เมื่อเข้าไปภายในจะเห็นองค์พระเจดีย์หลวงเห็นผนังก่ออิฐแบบไม่สอปูนลดหลั่นกันขึ้นไปถึงยอดมุขอีก ๓ ด้าน ซึ่งทึบทั้งหมด ที่มุมฐานทักษิณมีเจดีย์ทิศ หรือเจดีย์บริวารตั้งซ้อนอยู่ด้วยหลังคาทำเป็น ๓ ชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป แต่ละชั้นประดับรูปวงโค้งขนาดเล็ก และสถูปจำลองรวม ๒๔ องค์ เหนือขึ้นไปเป็นส่วนยอดซึ่งได้รับการซ่อมแซมครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ ๕ เป็นการบูรณะปฏิสังขรณ์ยอดเจดีย์ที่เดิมหักลงมาถึงคอระฆังทำเสียหายมากรวมทั้งฐานเจดีย์ที่จมอยู่ใต้ดินได้ขุดดินโดยรอบฐานพระเจดีย์ ตลอดถึงได้ทำลายรากไม้ในบริเวณนั้นแล้วทำการก่ออิฐถือปูนตลอด เพื่อให้เห็นฐานเดิมของเจดีย์ที่ชัดเจน ในส่วนลวดลายประดับเจดีย์ก็ได้มีการสร้างเพิ่มเติมใหม่ด้วยปูนปั้นเกือบทั้งหมด เป็นลายปั้นใหม่ตามความคิดของผู้บูรณะ มิได้อาศัยหลักทางโบราณคดี รวมถึงลานระหว่างเจดีย์และพระระเบียงเปลี่ยนจากอิฐหน้าวัวเป็นกระเบื้องซีเมนต์ ต่อในสมัยของรัชกาลที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๑-๒๕๒๒) องค์เจดีย์ก็ได้รับการบูรณะปฎิสังขรณ์ใหญ่อีกครั้ง โดยการบูรณะในครั้งนี้เป็นการซ่อมแซมของเก่าที่มีอยู่เดิมให้คงสภาพดีปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสุราษฎร์ธานี พระบรมธาตุไชยเป็นพุทธสถานเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ยังคงรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของช่างศิลปกรรมสมัยศรีวิชัยไว้ได้สมบูรณ์ วัดพระบรมธาตุไชยาจึงเป็นวัดที่มีความสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของชาวไชยาและสุราษฎร์ธานีมานานนับแต่โบราณกาล ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญแก่วัดได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติและยกฐานะวัดเป็นพระอารามหลวง และเป็น ๑ ใน ๓ ของโบราณสถานอันศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชาของภาคใต้อันประกอบด้วย พระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราชและพระพุทธไสยาสน์ใน ถ้ำคูหาภิมุข บริเวณวัดคูหาภิมุข จังหวัดยะลา  เจดีย์พระบรมธาตุไชยาเป็นสถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัยองค์เดียว ที่ยังอยู่ในสภาพที่ดีที่สุดสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ไม่ปรากฎประวัติการสร้างและผู้สร้าง เข้าใจว่าสร้างในขณะที่เมืองไชยา สมัยศรีวิชัยกำลังเจริญรุ่งเรืองสูงสุด เจดีย์พระบรมธาตุนี้เป็นสัญลักษณ์ในดวงตราประจำจังหวัด และเป็นสัญลักษณ์ในธงประจำกองและผ้าพันคอลูกเสือด้วย ซึ่งถือกันว่าถ้าใครไปเที่ยวจังหวัดสุราษฎร์ธานี  หากไม่ได้ไปนมัสการพระบรมธาตุไชยาแล้ว ก็เหมือนกับยังไปไม่ถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ในปัจจุบัน (๒๕๖๑) ทางวัดและราชการได้บูรณะองค์เจดีย์อีกครั้งหนึ่งเพื่อให้มีความสวยงามและรักษาเอกลักษณ์ของเก่าที่มีอยู่เดิมให้คงสภาพดี เพื่อไว้เป็นปูชนียสถานที่สำคัญของชาติสืบต่อไป มีพระพุทธรูปศิลาทรายแดง ๓ องค์ ประดิษฐานอยู่กลางแจ้งบนลานภายในกำแพงแก้ว ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยอยุธยา โดยฝีมือสกุลช่างไชยา นอกจากนั้นวัดพระบรมธาตุไชยาเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสงฆ์ โรงเรียนวัดพระบรมธาตุไชยาและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยาพระเจดีย์เป็นโบราณสถานศักดิ์สิทธิ์ ที่ได้รับการเคารพจากชาวบ้านทั่วไป วัดพระบรมธาตุไชยา มีเนื้อที่ ๔๒ ไร่ ๑ งาน ด้านหน้าวัดหันไปทางทิศเหนือ จดถนนรักษ์นรกิจ ด้านทิศใต้และทิศตะวันตกจดคลองไชยา ทิศตะวันออกจดถนนหลวงอาณาเขตแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือเขตพุทธาวาส  และเขตสังฆาวาส

- เขตพุทธาวาส  มีกำแพงล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน ด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีแพงยาว ๑๒๗ เมตร ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกมีกำแพงยาว ๖๖ เมตร ภายในเขตพุทธาวาส ประกอบด้วยองค์พระบรมธาตุเจดีย์ไชยาพระวิหารคดหรือระเบียงพระเวียน พระเจดีย์ พระอุโบสถ พระวิหารหลวง พระพุทธรูปศิลาทรายแดง ต้นพระศรีมหาโพธิ์และพลับพลาที่ประทับ
- เขตสังฆาวาส  อยู่ทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตก ประกอบด้วยกุฏิที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ กุฏิวิปัสสนากรรมฐาน ศาลาการเปรียญ โรงเรียนปริยัติธรรม ศาลาบูรพาจารย์ ห้องสมุด และหอฉัน ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีโรงเรียนวัดพระบรมธาตุไชยาสอนเด็กชั้นเล็ก ถึงชั้นประถมปีที่ ๖ ด้านทิศตะวันออก มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยาซึ่งเป็นที่เก็บโบราณวัตถุไว้มากมาย

         วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร  ตั้งอยู่เลขที่ ๕๐ ลเวียง อำเภอไชยา  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๔๒ ไร่ ๑ งาน อาณาเขตทิศเหนือจดถนนรักษ์นะกิจ ทิศไต้จดคลองไชยา ทิศตะวันออกจดถนนสาธารณะ ทิศตะวันตกจดคลองไชยา มีที่ธรณีสงห์ จำนวน ๔ แปลง เนื้อที่ ๕ ไร่ ๒ งาน ๕๒ ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ ๖๕๐๓ ๑๖๖๐๔ ๑๖๖๐๕ และ ๑๖๖๐๕ อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วยอุโบสถ กว้าง ๑๓.๑๕ เมตร ยาว ๑๘.๘๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๕.๒๐ เมตร ยาว ๓๐.๒๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นอาคารคอนกรีตทรงไทย ๒ ชั้น กุฏิสงฆ์ จำนวน ๒๒ หลัง เป็นอาคารไม้ ๘ หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้ ๑๓ หลัง และตึก ๑ หลัง วิหาร กว้าง ๘.๗๐ เมตร ยาว ๒๙.๘๐ เมตร เป็นอาคารคอนกรี่ตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง ๑๐.๕๐ เมตร ยาว ๓๔ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน ๑ หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก โรงเรียนปริยัติธรรม กวาง ๑๐.๒๐ เมตร ยาว ๑๘.๓๐ เมตร เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ทรงไทย ๒ ชั้น สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ นอกจากนี้มี หอระฆังหอกลอง โรงครัว เรือนเก็บพัสดุ เรือนรับรอง กุฏิเจ้าอาวาส ศาลารับเสด็จ หอสมุด และศาลาบูรพาจารย์ ปูชนียะวัตถุพระประธานประจำอุโบสถ ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๙๐ นิ้ว สูง ๑๑๒ นิ้ว สร้างเมื่อสมัยอยุธยา พระประธานประจำศาลาการเปรียญ ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๓๓ นิ้ว สูง ๓๙ นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ เจดีย์พระบรมธาตุไชยา สูง ๑๘ เมตร ฐานกว้าง ๑๓ เมตร ยาว ๑๘ เมตร เจดีย์องค์ใหญ่ สูง ๑๕๓ นิ้ว พระพุทธรูปประจำวิหาร ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตกกว้าง ๘๒ นิ้ว สูง ๑๐๘ นิ้ว พระพุทธรูปปางมารวิชัย ๓ องค์ ขนาดหน้าตักกว้าง ๗๒ นิ้ว ๖๘ นิ้ว ๘๒ นิ้ว     
           วัดพระบรมธาตุไชยา เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งเมื่อ พ.ศ.๑๕๒๕ เดิมเป็นวัดราษฎร์ มีชื่อเรียกกันทั่่วไปว่าา "วัดพระธาตุไชยา" ไม่ปรากฎหลักฐานนามผู้สร้าง เป็นวัดเก่าแก่สันนิษฐานจากโบราณสถานและโบราณวัตถุ ที่ยังคงเหลืออยู่ คือองค์เจดีย์พระบรมธาตุ พระพุทธรูปสมัยต่าง ๆ และพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหลายองค์ที่พบสันนิษฐานว่าวัดพระบรมธาตุไชยาได้สร้างขึ้นในสมัยศรีวิชัยกำลังเจริญรุ่งเรือง เป็นศูนย์กลางปกครองและพุทธศาสนา ประมาณพุุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ผู้สร้างอาจเป็นเจ้าผู้ครองนคร บริเวณดินแดนนี้เคยนับถือศาสนาพราหมณ์ มีซากโบราณสถานและเทวสถาน ตลอดจน เทวรูปโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรแปดกร เมื่อศาสนาพุทธลัทธิมหายานแพร่หลายเข้ามา ศาสนาพรหมณ์ก็เสื่อมไป วัดพระบรมธาตุไชยาจึงเป็นวัดลัทธิมหายาน ต่อมาในปี พ.ศ. ๑๘๐๐ พระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์เผยแพร่เข้ามาก็ได้นับถือลัทธิดังกล่าวดังปรากฎหลักฐานจากใบพัทธสีมาเขตวิสุงคามสีมา ซึ่งเป็นใบพัทธสีมาคู่ แสดงว่าได้มีการผูกพัทธสีมา ๒ ครั้ง ครั้งแรกแบบมหายาน ครั้งที่สองแบบเถรวาทลังกาวงศ์  วัดพระบรมธาตุไชยาฯได้เจริญรุ่งเรืองและเสื่อมไปตามกลาลสมัยของเจ้าผู้ครองนคร ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์บรมธาตุหลายครั้ง

       วัดพระบรมธาตุไชยาฯ ได้รับการปฏิสังขรณ์เมื่อ ร.ศ. ๑๐๗ (พ.ศ. ๒๔๑๓) เมื่อสมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จประพาสทะเลตะวันตก คือหัวเมืองปักษ์ใต้ฝั่งตะวันตกได้เสด็จประพาศเมืองไชยาและไปนมัสการพระบรมธาตุไชยาด้วยในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ โดยพระชยาภิวัฒน์สุภัทรสังฆปาโมกข์


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

          วัดพระบรมธาตุไชยา ราชวรวิหาร มีโบราณวัตถุโบราณสถานตลอดถึงปูชนียวัตถุ ที่ยังปรากฏอยู่ในปัจจุบันมากมาย โดยเฉพาะพระบรมธาตุไชยาซึ่งเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสุราษฎร์ธานีและภาคใต้

พระบรมธาตุไชยา

ภาพจาก https://kyl.psu.th/PvlMgTst

    พระบรมธาตุไชยาเป็นโบราณสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งนับว่าเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสุราษฎร์ธานี พระบรมธาตุไชยาได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ตามยุคสมัย พระบรมธาตุไชยาเป็นพุทธเจดีย์สมัยศรีวิชัยสร้างตามคติความเชื่อในพุทธศาสนามหายาน เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๓๐๐ ในสมัยที่อาณาจักรศรีวิชัยกำลังรุ่งเรือง พระบรมธาตุไชยาประดิษฐานอยู่ระหว่างระอุโบสถกับพระวิหารหลวง ล้อมรอบด้วยพระระเบียงคดหรือวิหารคดทั้ง ๔ ด้าน ภายในวิหารคดรอบองค์เจดีย์มีพระเจดีย์หลวงทั้ง ๔ ทิศ บริเวณวิหารคดมีพระพุทธรูปศิลปะศรีวิชัยประดิษฐานอยู่รอบ ๆ จำนวน ๑๘๐ องค์ ฐานของพระบรมธาตุขุดเป็นสระกว้าง ๕๐ เซนติเมตร ลึกประมาณ ๖๐–๗๐ เซนติเมตร  โดยองค์เจดีย์พระบรมธาตุเป็นทรงสี่เหลี่ยมจตุรมุขย่อมุขด้านหน้าหรือมุขด้านตะวันออก เปิดมีบันไดขึ้นสำหรับให้ประชาชนเข้าไปนมัสการพระพุทธรูปภายในเจดีย์ เมื่อเข้าไปภายในจะเห็นองค์พระเจดีย์หลวง เห็นผนังก่ออิฐแบบไม่สอปูนลดหลั่นกันขึ้นไปถึงยอดมุข อีกสามด้านทึบทั้งหมด ที่มุมฐานทักษิณมีเจดีย์ทิศหรือเจดีย์บริวารตั้งซ้อนอยู่ด้วย หลังคาทำเป็น ๓ ชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป แต่ละชั้นประดับรูปวงโค้งขนาดเล็กและสถูปจำลองรวม ๒๔ องค์ เหนือขึ้นไปเป็นส่วนยอด ซึ่งได้รับการซ่อมแซมครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ ๕ เป็นการบูรณะปฏิสังขรณ์ยอดเจดีย์ที่เดิมหักลงมาถึงคอระฆัง เจดีย์พระบรมธาตุไชยาเป็นสถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัยองค์เดียวที่ยังเหลืออยู่ในสภาพที่ดีที่สุด เข้าใจว่าสร้างในขณะที่เมืองไชยาสมัยศรีวิชัยกำลังเจริญรุ่งเรืองสูงสุดจากคำบอกเล่าของชาวเมืองไชยาได้ มีตำนานที่เล่าขานเกี่ยวกับเจดีย์พระบรมธาตุไชยาว่า ครั้งหนึ่งมีพี่น้องชาวอินเดียสองคนชื่อปะหมอกับปะหมัน ทั้งสองเดินทางโดยเรือใบเข้ามาถึง เมืองไชยา ได้พาบริวารขึ้นบกที่บ้านนาค่ายตรงวัดหน้าเมือง ในตำบลเลเม็ด เจ้าเมืองมอบให้ปะหมอ ซึ่งเป็นนายช่างมีความเชี่ยวชาญการก่อสร้างสร้างเจดีย์พระบรมธาตุไชยา ครั้นเสร็จก็ตัดมือตัดเท้าเสียเพื่อมิให้ปะหมอไปสร้างเจดีย์ที่งดงามเช่นนี้ให้ผู้ใดอีก ปะหมอทนบาดพิษบาดแผลไม่ได้ถึงแก่ความตาย เจ้าเมืองได้หล่อรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรไว้เป็นเครื่องหมายแทนตัวปะหมอ ส่วนน้องชายที่ชื่อปะหมันได้ไปครองเกาะพัดหมันและอยู่ที่นั้นจนกระทั่งสิ้นชีวิต สถานที่ตั้งบ้านเรือนของปะหมันนั้นเป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึงมีนาล้อม เนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่เศษ สมัยโบราณที่นี่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านมาก คณะมโนราห์ที่เดินทางผ่านจะต้องหยุดไหว้รำร้องถวายมือคณะใดไม่เคารพคนในคณะจะชักหรือเกิดเหตุขัดข้องต่าง ๆ ถ้าใครไปตั้งคอกเลี้ยวหมูในบริเวณดังกล่าวหมูจะตายหมดทั้งคอก

   ลักษณะของพระบรมธาตุไชยา 
       
ด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมนั้น มีลักษณะเป็นเจดีย์องค์เดียวแบบศิลปะศรีวิชัยในปัจจุบันที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด ลักษณะรูปร่างเป็นฐานสี่เหลี่ยมจัตุรมุข มีเจดีย์ขนาดเล็กประจําตามมุมรูปทรงขององค์พระบรมธาตุ เป็นทรงมณฑปสี่เหลี่ยมจัตุรมุข ส่วนยอดแบ่งเป็นสามชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป แต่ละชั้นประดับด้วยรูปสถูปขนาดเล็ก ยอดบนสุดเป็นยอดสถูปหรือยอดเจดีย์ องค์ระฆังของสถูปนี้มีลักษณะเป็นรูป ๘ เหลี่ยม ตั้งอยู่บนรูปดอกบัวขนาดใหญ่ เหนือองค์ระฆังเป็นบัลลังก์ บัวกลุ่มและปเสียอดตามลําดับ เฉพาะปลียอดเดิมหุ้มด้วยเงิน เหนือปลียอดประดับด้วยฉัตรทองปรุ ๓ ชั้น ฉัตรนี้ของเดิมทําด้วยทองคำ ต่อมาถูกคนร้ายลักไปจึงต้องทําด้วยทองวิทยาศาสตร์ขึ้นประดิษฐานแทน โดยองค์เจดีย์พระบรมธาตุมีความสูงจากฐานใต้ดินถึงยอด ๒๔ เมตร ตั้งอยู่บนฐาน สี่เหลี่ยมสูงย่อเก็จ ขนาดฐานวัดจากทิศตะวันตกยาว ๑๓ เมตร ฐานนี้สร้างมาก่อนที่พระชยาภิวัฒน์ (หนู ติสฺโส) จะบูรณะใหม่ ฐานตั้งอยู่บนผิวดินซึ่งมีระดับต่ำกว่าพื้นดินปัจจุบันมาก เมื่อทำบูรณะก็ได้ขุดบริเวณโดยรอบฐานเป็นสระกว้างประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ลึกประมาณ ๖๐-๗๐ เซนติเมตร ฐานเดิมปัจจุบันมีน้ำขังอยู่รอบฐานตลอดทั้งปีบางปีในหน้าแล้งรอบ ๆ ฐานเจดีย์พระบรมธาตุจะแห้งมีตาน้ำพุขึ้นมาซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์สามารถแก้โรคภัยต่าง ๆ ได้ ต่อมาทางวัดได้ใช้ปูนซีเมนต์ปิดตาน้ำเสีย เจดีย์พระบรมธาตุไชยามีลักษณะเดียวกับเจดีย์แบบศรีวิชัย องค์เจดีย์เป็นทรงสี่เหลี่ยมจตุรมุขย่อมุขด้านหน้าหรือมุขด้านตะวันออก เปิดมีบันไดขึ้นสำหรับให้ประชาชนเข้าไปนมัสการพระพุทธรูปภายในเจดีย์ เมื่อเข้าไปภายในจะเห็นองค์พระเจดีย์หลวง เห็นผนังก่ออิฐลดหลั่นกัน ขึ้นไปถึงยอดมุขอีกสามด้านจะทึบทั้งหมด ที่มุมฐานทักษิณมีเจดีย์ทิศ หรือเจดีย์บริวารตั้งซ้อนอยู่ด้วย หลังคาทำเป็น ๓ ชั้นลดหลั่นกันขึ้นไปแต่ละชั้นประดับรูปวงโค้งขนาดเล็ก และสถูปจำลองรวม ๒๔ องค์ เหนือขึ้นไปเป็นส่วนยอดซึ่งได้รับการซ่อมแซมครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ ๕ ทั้งลวดลายประดับเจดีย์ได้มีการสร้างเพิ่มเติมใหม่ด้วยปูนปั้นเกือบทั้งหมดเป็นลายปั้นใหม่ ตามความคิดของผู้บูรณะมิได้อาศัยหลักทางโบราณคดี รวมถึงลานระหว่างเจดีย์และพระระเบียงเปลี่ยนจากอิฐหน้าวัวเป็นกระเบื้องซีเมนต์ ปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๖๑) องค์เจดีย์ได้รับการบูรณะปฎิสังขรณ์อีกครั้งโดยการบูรณะในครั้งนี้เป็นการซ่อมแซมของเก่า ที่มีอยู่เดิมให้คงสภาพดี เพื่อไว้เป็นปูชนียสถานที่สำคัญของชาติสืบต่อไป
     
จากหนังสือจดหมายเหตุระยะทางเสด็จพระราชดําเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ในนามสักขี ของพระยาธนกิจรักษาได้พรรณนาลักษณะพระบรมธาตุไว้ในเมื่อครั้งตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๕๘
      
. . . “พระธาตุองค์นี้เป็นเจดีย์ย่อมกว่าที่เมืองนครศรีธรรมราช แลฐานอยู่ต่ำกว่าพื้นดินเป็นฐาน ๔ เหลี่ยมมีน้ำฝนขังอยู่รอบฐานแต่ก่ออิฐถือปูนไว้เป็นเขื่อนกั้นไว้โดยรอบ บนฐานมีซุ้มปั้นลายซุ้มด้าน หน้ามีพระพุทธรูปแลตราแผ่นดิน รัชกาลที่ ๕ ด้านหลังเป็นเทพประนมด้านข้างเป็นช้าง ๓ เศียรและนกยูง มีรูปสิงห์รูปเพรารูปผีเสื้อ ดูลายเท่าหับใหม่ปนกัน ตอนบนเป็นพระเจดีย์กลมบอดปไหุ้มทองคํามี ฉัตร ๓ ชั้น"

      

ลานทางเข้าสู่องค์เจดีย์

รูปศิลปะประดับตามมุขรอบ ๆ องค์เจดีย์

พระพุทธรูปรอบ ๆ วิหารคด

พระเจดีย์หลวงรอบองค์เจดีย์

วิหารคด 

          ระเบียงคดหรือวิหารคด เป็นระเบียงล้อมรอบองค์พระบรมธาตุอยู่ในผังรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ ๓๘ เมตร สูง ๔ เมตร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ รวม ๑๘๐ องค์ ชาวบ้านเรียกว่าพระเวียน  ส่วนใหญ่ได้รับการปฎิสังขรณ์ใหม่ ส่วนพระพุทธรูปศิลาทรายแดง ศิลปะอยุธยาสกุลช่างไชยายังคงอยู่ในสภาพเดิม    ภายในระเบียงคดยังเป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์หลวง ๔ ทิศ หอระฆัง และรูปปั้นพระชยาภิวัฒน์ ผู้เป็นประธานในการบูรณะปฎิสังขรณ์เจดีย์เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕  

ภาพจาก https://kyl.psu.th/jvK-9U8Bv

พระพุทธรูปที่อยู่ล้อมรอบระเบียงคตของพระบรมธาตุไชยาเมื่อผิวนอกกระเทาะออกเราจะเห็นหินทรายแดงหรือศิลาแลงชัดเจน

เจดีย์ทิศ 

        เจดีย์ทิศ ตั้งอยู่รอบองค์พระบรมธาตุที่มุมทั้ง ๔ ทิศ เจดีย์ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะเป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม ชั้นล่างเป็นฐานบัวลูกแก้วทรงสูง ก่ออิฐฉาบปูนต่ำรองรับฐานบัวแก้วอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งรองรับองค์ระฆังทรงกลม ส่วนยอดเป็นบัลลังก์ปล้องไฉนและปลียอด เจดีย์ทิศองค์นี้แตกต่างจากเจดีย์ทิศที่มุมอีกสามด้านเป็นองค์เจดีย์ขนาดใหญ่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ไว้ภายใน มีประตูปิดล็อคอย่างแน่นหนา พระนามว่าหลวงพ่อโตเป็นศิลปะแบบลังกา ตั้งอยู่บนฐานเขียงกลมรองรับมาลัยลูกแก้วแปดแถว องค์ระฆังทรงกลมอยู่บนบัวปากระฆัง ส่วนยอดไม่บัลลังก์แต่เป็นก้านฉัตรต่อด้วยปล้องไฉนและปลียอดภายในเจดีย์กลาง ส่วนเจดีย์อีกสามองค์นี้น่าจะสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ หลังกว่าเจดีย์องค์ที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนเจดีย์ด้านทิศตะวันตกด้านหลังองค์พระบรมธาตุเป็นเจดีย์ทรงมณฑปสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ 

ภาพจาก https://kyl.psu.th/UI1HvO7Zg

พระวิหารหลวง 

       พระวิหารหลวง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกขององค์เจดีย์พระบรมธาตุไชยา สร้างยื่นล้ำเข้าไปในพระวิหารคด ในพระวิหารหลวงมีพระพุทธน้อยใหญ่มากมายหลายองค์การบูรณะพระวิหารหลวงเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ นั้นได้ปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหมด และเพื่อให้ตำแหน่งที่ตั้งสอดคล้องกับแผนผังของวัดในสมัยอยุธยาตอนต้น ทำให้ส่วนท้ายของวิหารยื่นล้ำเข้าภายในแนวระเบียงคดที่ล้อมรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ การบูรณะครั้งใหญ่นี้ท่านเจ้าคุณพระชยาภิวัฒน์  โดยได้เปลี่ยนเครื่องไม้ต่าง ๆ ใหม่หมด หลังคา ๒ ชั้น มีช่อฟ้า นาคสะดุ้ง มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ที่หน้าบันสลักลายดอกไม้เทศ พื้นประดับด้วยกระจกสีตามลวดลายปิดทองคำเปลว ฝาผนังใช้โบกปูนใหม่ทั้งหมด ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ พระราชชัยกวีเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุไชยาเป็นประธานในการบูรณะพระวิหารหลวง โดยรื้อพระวิหารหลังเก่าที่ชำรุดออกคงไว้แต่ พระพุทธรูปและฝาผนังด้านหลังพระพุทธรูป ส่วนหน้าบันของเดิมนั้นได้นำไปแสดงไว้ในอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยาศาลานีลวัฒนานนท์ พระวิหารหลวงที่สร้างขึ้นใหม่นี้ได้เสริมฝาผนังให้สูงขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ท้ายพระวิหารหลวงด้านตะวันตกเดิมเป็นห้องลับแลได้ตัดออก เพื่อเป็นที่นมัสการพระบรมธาตุแต่เนื่องจากเวลาฝนตกฝนจะสาด ทางวัดจึงปล่อยไว้เป็นห้องโถง เมื่อครั้งพระครูโสภณเจตสิการาม ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ของวัดขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ก็ได้ใช้พระวิหารหลวงนี้เป็นสถานที่แสดงโบราณวัตถุต่าง ๆ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้บูรณะอีกครั้งหนึ่ง ปัจจุบันพระวิหารหลวงใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญกิจกรรมการกุศล และเป็นที่ประชุมคณะสงฆ์ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี 

ภายในวิหารมีรอยพระพุทธบาทจำลอง พระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่หลายองค์

ภาพจาก kyl.psu.th/UI1HvO7Zg

ภายในพระวิหารหลวง

พระอุโบสถ

               พระอุโบสถหลังใหม่นี้ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกขององค์พระบรมธาตุสร้างขึ้นทดแทนพระอุโบสถหลังเก่าซึ่งชำรุดและรื้อออกไปเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
 
สำหรับพระอุโบสถหลังเก่านั้นสันนิษฐานมาสร้างประมาณ พ.ศ. ๑๓๓๕ ซึ่งแต่เดิมนั้นมีใบพัทธสีมาเพียงใบเดียวเรียงรายรอบพระอุโบสถ จนถึงสมัยพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกาได้แผ่เข้ามาในประเทศไทยประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ พระสงฆ์ลังกาได้ทำพิธีผูกพัทธสีมาซ้ำลงในที่เดิมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้พระพุทธศาสนาบริสุทธิ์มีความมั่นคง และสมบูรณ์ยิ่งขึ้นวัดที่ได้ผูกพัทธสีมาซ้ำแล้ว จึงให้ปักใบพัทธสีมาเพิ่มขึ้นเป็นคู่แฝดโดยมากมักจะเป็นอารามหลวง ด้วยเหตุนี้วัดพระบรมธาตุไชยาจึงมีใบพัทธสีมา ๒ ใบ ดังปรากฎเห็นอยู่ในปัจจุบันหลังจากท่านเจ้าคุณพระชยาภิวัฒน์ ได้ทำการบูรณะปฎิสังขรณ์พระบรมธาตุและพระวิหารคดแล้ว ทางวัดได้ทำการบูรณะซ่อมแซมอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวัดพระบรมธาตุไชยาฯ ได้ยกฐานขึ้นเป็นพระอารามหลวงแล้วได้รับงบประมาณทางวัดได้สร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ตรงที่เดิมแต่ขยายส่วนออกไปอีกยาวกว่าเดิมเล็กน้อยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ โดยมีเขตพัทธสีมากว้าง ๑๓.๑๕ เมตร ยาว ๑๘.๘๐ เมตร ภายในพระอุโบสถมีพระประธานเป็นพระรูปศิลาทรายแดงปางมารวิชัย สมัยอยุธยา เบื้องหน้าพระประธานมีใบพัทธสีมาคู่ ซึ่งเป็นของเดิมแต่ครั้งพระอุโบสถหลังเก่าพระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทำด้วยศิลาทรายเผาศิลปะสมัยอยุธยา เบื้องหน้าพระประธานประดิษฐานพัทธสีมาคู่ ซึ่งเป็นของเดิมแต่ครั้งพระอุโบสถหลังเก่า การผูกพัทธสีมาคู่นี้สันนิษฐานว่าแต่เดิมคงมีใบพัทธสีมาใบเดียวเรียงรายรอบพระอุโบสถ 

ภาพจาก https://kyl.psu.th/PYH9HWAYO

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา 

       พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา สร้างเป็นอาคาร ๓ หลัง มีการจัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุ ตั้งอยู่นอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกภายในบริเวณวัดพระบรมธาตุไชยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยาเป็นหน่วยงานราชการ สังกัดสำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดเป็นพิพิธภัณฑสถานประเภทประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี มีหน้าที่ในการเก็บรักษาโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินและให้บริการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ โดยพระครูโสภณเจตสิการาม อดีตเจ้าคณะอำเภอไชยา ซึ่งในระยะเริ่มแรกท่านได้รวบรวมศิลปะโบราณวัตถุที่มีมาเก็บรักษาไว้ในพระอุโบสถ พระวิหารหลวง และพระระเบียง ต่อมากรมศิลปากร ได้พิจารณารับเป็นสาขาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยใช้ชื่อหน่วยงานในขนาดนั้นว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี” โดยจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมขึ้นก่อน ครั้นเมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านพระครูอินทปัญญาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุไชยาเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา ได้เริ่มสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์โดยเงินจากการจำหน่ายหนังสือเรื่อง "แนวสังเขปโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน" สร้างอาคารเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบไทยประยุกต์อาคารใหม่หลังแรก  เสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้สร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ขึ้นเป็นหลังที่ ๒ ด้านทิศเหนือซึ่งใหญ่กว่าหลังแรก สร้างด้วยเงินงบประมาณของกรมศิลปากร และเงินงบประมาณแผนดิน ซึ่งพ.ต.อ. พัฒน์ นีลวัฒนานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้จัดหาอาคารหลังนี้ ต่อมาได้มีชื่อว่า “ศาลานีลวัฒนานนท์” ต่อมาเมื่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์เสร็จเรียบร้อยแล้วประกอบกับพระวิหารหลวงชำรุดทรุดโทรมและทางวัดจะรื้อสร้างใหม่ จึงได้ย้ายศิลปวัตถุทั้งหมดจากวิหารหลวงนำไปเก็บและตั้งแสดงในอาคารพิพิธภัณฑ์ที่สร้างใหม่กิจการพิพิธภัณฑ์ ได้เจริญก้าวหน้าตามลำดับมาประจวบกับในวาระสมโภชกรุงรัตน โกสินทร์ ๒๐๐ ปี กรมศิลปากรเห็นเป็นโอกาสเหมาะสม จึงได้ประกอบพีธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา โดยได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารพิพิธภัณฑแห่งชาติไชยาและทรงกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขณะดำรงพระอิสริยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา เมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๕
       รูปแบบศิลปะพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยาสมเด็จพุฒาจารย์ (โสม ฉนฺโน) เคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร ท่านมีพื้นเพเดิมอยู่ที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื่องจากสมเด็จพุฒาจารย์เป็นพระผู้ใหญ่ จึงมักได้รับพระราชทานเครื่องถ้วยลายครามจากพระมหากษัตริย์ หรือได้รับถวายจากขุนนางคหบดีอยู่เนือง ๆ ทั้งนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๔–๕ มีความนิยมนำเครื่องลายครามที่เข้าชุดกันมาตั้งเครื่องโต๊ะเพื่อเป็นพุทธบูชา สมเด็จพุฒาจารย์มีชุดเครื่องโต๊ะดังกล่าวเช่นเดียวกัน หลังจากที่ท่านได้มรณภาพลง จึงได้มีการนำมามอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเก็บรักษาไว้ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นแหล่งรวบรวมเรื่องราวประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี ซึ่งภายในประกอบด้วยอาคารจัดแสดง ๒ หลัง หลังที่ ๑ แบ่งการจัดแสดงออกเป็น ๒ ส่วน คือส่วนที่ ๑ จัดแสดงรูปจำลองประติมากรรมรูปเคารพที่พบในอำเภอไชยา อาทิ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร, พระพุทธรูปปางนาคปรก ส่วนที่ ๒ จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนโอกาสสำคัญ เช่น วันอนุรักษ์มรดกไทย วันพิพิธภัณฑ์ไทย ในส่วนอาคารจัดแสดงหลังที่ ๒ แบ่งการจัดแสดงออกเป็น ๕ ส่วน คือส่วนที่ ๑ จัดแสดงเกี่ยวกับศิลปวัตถุตั้งแต่สมัยทวารวดีถึงรัตนโกสินทร์ ส่วนที่ ๒ จัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ รวมทั้งเครื่องถ้วย เครื่องประดับต่าง ๆ ส่วนที่ ๓ จัดแสดงโบราณวัตถุประเภทพระพุทธรูป เครื่องเงินและเครื่องทองที่ประชาชนนำมาถวายแด่องค์พระบรมธาตุและหนังใหญ่ ส่วนที่ ๔ จัดแสดงศิลปวัตถุ งานประณีต ศิลป์พื้นบ้าน และส่วนที่ ๕ ได้มีการจัดแสดงเครื่องอัฐบริขารของพระชยาภิวัฒน์สัทพรสังฆปาโมกข์ ผู้บูรณะวัดพระบรมธาตุไชยา และสมเด็จพระพุฒาจาย์ (โสม ฉนฺโน) ชาวพุมเพรียงเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์เทพวรารามฯ นอกจากโบราณวัตถุชิ้นอื่น ๆ ที่จะได้เห็นทั้งในตู้จัดแสดงและตั้งอยู่ภายในห้องต่าง ๆ ยังมีการจัดแสดงระฆังเก่าในสมัยราชวงศ์หมิงสองใบ ที่ตั้งอยู่ด้านหน้า โดยระฆังสองใบนี้แสดงให้เห็นถึงความเก่าแก่ของอาณาจักรโบราณไชยา และชุดพระเครื่องศิลปะอยุธยา เครื่องเบญจรงค์สีสวยงามมากมาย 

โบราณวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์ 

 

กลองมโหระทึก 

 

ภาพจาก https://kyl.psu.th/aAVruQSkS


ปูชนียวัตถุ

พระพุทธรูปศิลาทรายแดง ๓ องค์ 

ภาพจาก https://kyl.psu.th/Hft-RuPgm

             พระพุทธรูปศิลาทรายแดงสามองค์ หรือพระพุทธรูป ๓ พี่น้อง ซึ่งประดิษฐานอยู่กลางแจ้งบนลานภายในกำแพงแก้ว ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระวิหารหลวงเป็นพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยอยุธยาโดยฝีมือสกุลช่างไชยาปางมารวิชัย ทำด้วยศิลาทรายแดงทั้ง ๓ องค์  เดิมที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคงจะเป็นวิหาร แต่ชำรุดหักกพังจึงถูกรื้อออกไปพระพุทธรูปสลักจากศิลาทรายสีแดงสมัยอยุธยาตอนปลาย ในอดีตสันนิษฐานกันว่าน่าจะเคยเป็นวิหารเก่ามาก่อนแต่น่าจะชำรุดทรุดโทรมไป ต่อมามีการบูรณะในปี ๒๔๗๓ สมัยรัชกาลที่ ๗ โดยพระชยาภิวัฒน์สุภัทรสังฆปาโมกข์ (หนู ติสฺโส) เจ้าคณะใหญ่จังหวัดสุราษฎร์ธานีรูปแรกพร้อมด้วยพระวินัยธรรม (ยวด สุริโย) เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุไชยาในสมัยนั้นได้บริจาคทรัพย์ร่วมกันเป็นเงิน ๒๑๐ บาท ๕๕ สตางค์ เดิมพระพุทธรูปชำรุดแตกหักไปสององค์จึงซ่อมแซมโดยใช้ปูนพอกส่วนอีกองค์ยังสมบูรณ์จึงยังคงลักษณะเดิมไว้ คือยังเป็นเนื้อศิลาทรายสีแดงให้ได้เห็นกันทุกวันนี้ มีเรื่องเล่ากันว่าในสมัยรัชกาลที่ ๗ มีการสร้างศาลาครอบไป ๓ ครั้งแต่เกิดเหตุอสนีบาต (ฟ้าผ่า) ที่ศาลาองค์พระทั้ง ๓ ครั้ง ทำให้ไม่มีใครดำเนินการสร้างครอบองค์พระมาจนถึงปัจจุบัน จึงได้เป็นพระพุทธรูปกลางแจ้งอย่างทุกวันนี้              ส่วนชื่อพระ ๓ พี่น้องนั้นเพิ่งมาเรียกกันในปัจจุบันเพื่อเป็นที่ย้ำเตือนสติลูกหลานให้รู้รักสามัคคีกันเสมือนองค์พระทั้ง ๓ องค์ที่ประดิษฐานกลางแจ้งตากแดดตากฝนเสมือนการร่วมทุกร่วมสุขร่วมกัน อนึ่งการถวายผ้าห่มองค์พระพุทธรูปทั้ง ๓ นี้ เป็นที่นิยมผ้าไตรจีวรถวายห่มองค์พระตามที่มีเรื่องเล่ากันว่าองค์พระพุทธรูปหรือเทวดาอารักษ์ที่รักษาองค์พระได้เข้าฝันครอบครัวหนึ่งชาวจังหวัดภูเก็ตให้นำผ้าไตรจีวรมาห่มถวายให้ท่าน ทำให้ทุกวันนี้นิยมเชิญผ้าไตรจีวรมาถวาย เมื่อมีการเปลี่ยนผ้าผืนใหม่ผ้าเก่าทางวัดจะนำไปถวายพระภิกษุ สามเณรในวัดได้ใช้ในกาลอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อพระภิกษุสามเณรในพระอารามได้ใช้ประโยชน์ต่อไป

ภาพจาก https://kyl.psu.th/dWSz_1MBj

พระพุทธรูป ๓ พี่น้องเมื่อครั้งบูรณะ


ปูชนียบุคคล

       เนื่องด้วยวัดพระบรมธาตุไชยา ราชวรวิหาร เดิมเป็นวัดร้างถูกทอดทิ้งให้รกร้างมาเป็นเวลานาน เป็นวัดราษฎร์ไม่สามารถสืบหาลำดับเจ้าอาวาสได้แน่นอน ได้ยินแต่คำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ก่อนที่พระชยาภิวัฒน์ (หนู ติสฺโส) มาทำการบูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์พระบรมธาตุไชยา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๙  มีลำดับเจ้าอาวาสดังนี้คือ

๑.  พระอธิการดำ หรือพ่อท่านดำ
๒.  พระอธิการชู หรือพ่อท่านชู
๓.  พระอธิการเจิง หรือพ่อท่านเจิง
๔.  พระวินัยธรรม (ยวด สุริโย)
๕.  พระมหาเคลื่อน อนุภาโส (ปธ. ๓)
๖.  พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺปญฺโญ) (๒๔๙๒-๒๕๓๖)
๗.  พระราชสุธรรมเมธี (สังข์ ภูริปญฺโญ ปธ. ๙) (๒๕๓๖-๒๕๕๗)
๘.  พระอุดมธรรมปรีชา (จำลอง ธมฺมิสฺสโร ป.ธ. ๔) ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุไชยา (๒๕๕๗)
๙. พระอุดมธรรมปรีชา (จำลอง ธมฺมิสฺสโร ป.ธ. ๔) (๒๕๕๘-ปัจจุบัน)   

              พระชยาภิวัฒน์ 

ภาพจาก https://kyl.psu.th/g54BW0fST

         พระชยาภิวัฒน์สุภัทรสังฆปาโมกข์ นามเดิมชื่อหนู เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๙ มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่บ้านบางมะเดื่อ ใกล้แม่น้ำพุมดวง ตำบลพุมดวง (ปัจจุบันเป็นตำบลบางมะเดื่อ) อำเภอพุนพินตามประวัติเล่าว่า เคยแสดงตลกหลวงหน้าพระที่นั่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเมื่อมีอายุได้ ๒๐ ปี ได้อุปสมบทในบวรพระพุทธศาสนาตามประเพณีมีฉายาทางพระว่า “ติส.โส” พระภิกษุหนู ติสโส หลังจากอุปสมบทแล้วได้ไปอยู่จำพรรษาที่วัดสมุหนิมิต บ้านพุมเรียง อำเภอไชยา เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย และเรียนนักธรรมบาลี เพราะสมัยนั้นวัดสมุหนิมิต เป็นอารามใหญ่และเป็นวัดที่เจ้าคณะเมืองพระครูรัตนมุนีศรีสังฆาราชาลังกาแก้ว หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนามพระครูกาแก้วพำนักอยู่ มีสำนักเรียนบาลีที่มีพระภิกษุ สามเณรมาศึกษาเล่าเรียนจำพรรษาอยู่เป็นจำนวนมาก ปี พ.ศ. ๒๔๑๙ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสมุหนิมิต ต่อมาตำแหน่งพระครูโสภณเจตสิการามที่เรียกกันว่า "พระครูการาม" ซึ่งเป็นตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์และตำแหน่งรองจากเจ้าคณะเมืองไชยาว่างลง ท่านจึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่พระครูโสภณเจตสิการาม (หนู ติสโส) และในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธาราม ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเมื่อตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองไชยาว่างลง จึงได้รักษาการตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองไชยาด้วย พระครูโสภณเจตสิการาม(หนู ติสโส) ได้เริ่มทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระบรมธาตุไชยาตั้งแต่นั้นมา ต่อมาท่านได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่พระครูศรีสังฆราชาลังกาแก้ว และเลื่อนตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์เป็นเจ้าคณะใหญ่เมืองไชยา พระชยาภิวัฒน์สุภัทรสังฆปาโมกข์เป็นพระนักพัฒนาที่เก่งและมีฝีมือในทางช่างไม้ ก่อสร้าง และต่อเรือ จึงถนัดทำงานก่อสร้างซ่อมแซมบูรณะวัดหรือต่อเรือ งานชิ้นสำคัญที่ท่านทำคือการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระบรมธาตุไชยา และองค์พระเจดีย์พระบรมธาตุ ซึ่งถ้าพระชยาภิวัฒน์สุภัทรสังฆปาโมกข์ (หนู ติสโส) ไม่มีความคิดที่กว้างไกลและไม่รักษามรดกชิ้นนี้เอาไว้ คนไทยอย่างพวกเราคงจะไม่เห็นวัดพระบรมธาตุไชยาและองค์พระเจดีย์พระบรมธาตุไชยา ที่สมบูรณ์แบบและสง่างามเป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี และชาวไทยทุกคนอย่างเช่นทุกวันนี


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร (Wat Praborrommatadchaiya)
ที่อยู่
หมู่ที่ ๓ ตำบลเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
จังหวัด
สุราษฎร์ธานี
ละติจูด
9.384761
ลองจิจูด
99.184938



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ข้อมูลวัดพระบรมธาตุไชยา. (2556). สืบค้นวันที่ 5 มิ.ย. 61, จาก https://www.reviewthaitravel.com/วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร/
จังหวัดสุราษฎ์ธานี. (ม.ป.ป.). สืบค้นวันที่ 5 มิ.ย. 61, จาก http://www.thaiheritage.net/nation/oldcity/suratahani1.htm
เพจวัดพระบรมธาตุไชยา ราชวรวิหาร. (2561). สืบค้นวันที่ 5 มิ.ย. 61, จาก https://www.facebook.com/pg/welovewatpraborommathadchaiya/
              photos/?ref=page_internal

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา สุราษฏร์ธานี. (2557). สืบค้นวันที่ 5 มิ.ย. 61, จาก http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/
              chaiya/index.php/en/

มิวเซียมสยามพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้. (2559). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา. สืบค้นวันที่ 5 มิ.ย. 61, จาก https://www.museumsiam.org/
               mdn-detail.php?MDNID=403

วัดพระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี. (2550). สืบค้นวันที่ 5 มิ.ย. 61, จาก http://www.dooasia.com/pratat/pratat065c009.shtml
วัดพระบรมธาตุไชยา จ.สุราษฎร์ธานี. (2559). สืบค้นวันที่ 5 มิ.ย. 61, จาก http://www.dhammathai.org/watthai/ south/
               watphraboromthatchaiya.php

วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร. (2561). สืบค้นวันที่ 5 มิ.ย. 61, จาก https://www.touronthai.com/article/3550
วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร. (ม.ป.ป.) สืบค้นวันที่ 5 มิ.ย. 61, จาก http://pr2travel.com/thวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร/
วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร. จ.สุราษฎร์ธานี. (2559). สืบค้นวันที่ 5 มิ.ย. 61, จาก https://www.bloggang.com/
                viewblog.php?id=aerides&date=28-09-2013&group=56&gblog=6


ข้อมูลเพิ่มเติม

       วัดพระบรมธาตุไชยา ราชวรวิหาร อยู่ตำบลเวียง ห่างจากตัวเมืองสุราษฎร์ธานี ประมาณ ๕๔ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๔๑ และแยกเข้าทางหลวงหมายเลข ๔๐๑๑ เลี้ยวซ้ายบริเวณกิโลเมตรที่ ๑๓๗ องค์พระเจดีย์เป็นโบราณสถาน ที่สร้างขึ้นตามแบบลัทธิพุทธศาสนามหายาน ตั้งแต่ครั้งอาณาจักรศรีวิชัยรุ่งเรือง รอบองค์พระธาตุมีเจดีย์เล็ก ๆ ๔ ทิศ ล้อมรอบด้วยวิหารคด ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ขนาดต่าง ๆ โดยรอบทั้ง ๔ ด้าน พระบรมธาตุไชยานับเป็นปูชนียสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาของจังหวัดสุราษฎร์ธานี 


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024