การทํานาเกลือที่ปัตตานี
 
Back    07/11/2022, 14:24    2,463  

หมวดหมู่

จังหวัด


ประวัติความเป็นมา


ภาพจาก : https://kyl.psu.th/NNP_tddtc

            นอกจากแหล่งผลิตเกลือที่สำคัญอย่างจังหวัดสมุทรสาครแล้ว ปัตตานีก็เป็นเมืองเดียวในแหลมมลายูที่สามารถผลิตเกลือได้ และสามารถส่งเกลือเป็นสินค้าออกที่สำคัญของคาบสมุทรมลายู จากคำกล่าวที่ว่า "เกลือหวานปัตตานี" หรือที่เรียกกันในภาษาท้องถิ่นว่า “ฆาแฆ ตานิง มานิฮฺ” นั้นเป็นคำเปรียบเปรยและยกย่องคุณสมบัติของเกลือจากเมืองปัตตานี ว่าเป็นเกลือมีรสเค็มที่แตกต่างและไม่เหมือนเกลือจากแหล่งอื่น ๆ โดยมีคุณสมบัติพิเศษในการนำไปหมักปลาทำบูดู ทำปลาแห้ง ดองผักผลไม้ และแม้แต่ดองสะตอ ซึ่งจะทำให้อาหารต่าง ๆ มีรสชาติที่กลมกล่อมและไม่ออกรสเค็มรสขม เหมือนกับการใช้เกลือจากแหล่งผลิตอื่น ๆ    การทำนาเกลือที่ปัตตานีมีมานานหลายร้อยปีตั้งแต่สมัยโบราณ เล่าต่อกันมาหลายช่วงอายุคนว่าเกลือเป็นสิ่งจำเป็นในการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างชุมชน และสถานที่ที่เหมาะสมแก่การทำนาเกลือคือพื้นที่ราบริมทะเลที่น้ำทะเลสามารถขึ้นได้และมีตลอดปี โดยเฉพาะจังหวัดที่มีที่ริมทะเลเพราะดินเป็นดินเหนียวเช่นเดียวกับภาคกลางที่สมุทรสาครและเพชรบุรี สำหรับในภาคใต้มีนาเกลือแห่งเดียวก็คือปัตตานี จากหลักฐานต่าง ๆ ที่ศึกษากัน เช่น ในบันทึกของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่รายงานทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ความว่า..ในเมืองปัตตานี มีนาเกลือแห่งเดียวตลอดแหลมมลายู สินค้าเกลือเมืองปัตตานีขายได้อย่างแพงถึงเกวียนละ ๑๖ เหรียญ ขายตลอดออกไปจนสิงคโปร์และเกาะหมาก…
    
          การทํานาเกลือที่ปัตตานีจากการศึกษาค้นคว้่าจากเอกสารชั้นรอง ข้อมูลบางส่วนระบุช่วงเวลาที่แน่นอนแต่บางส่วนไม่ได้ระบุช่วงเวลาไว้ ดังนั้นการวิเคราะห์หลักฐานต้องอาศัยข้อมูลการตีความจากเนื้อหาส่วนอื่น ๆ ด้วย เช่น ชื่อสถานที่หรือพิกัดของสถานที่ตั้ง เปรียบเทียบกับเอกสารหลายรายการประกอบกัน เพื่อประมาณการถึงระยะเวลาที่พบหลักฐานการทํานาเกลือที่ปัตตานี โดยเรียงตามลําดับเวลา ดังนี้
           - พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ (พ.ศ. ๑๘๐๑-๒๐๐๐)
          เอกสารชุดแรกที่พบว่ามีการผลิตเกลือสมุทรขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นอาณาจักรต่าง ๆ เช่น อาณาจักรตามพรลิงค์ อาณาจักรลังกาสุกะ เป็นต้น ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ มีจดหมายเหตุจีนกล่าวถึงอาณาจักรลังกาสุกะ ซึ่งเป็นบันทึกของวังต้าหยวน (หวังต้่าหยวน) เรื่องเตาอี่จื้อเสี่ย (บันทึกย่อเผ่าชาวเกาะ) ซึ่งกล่าวถึงการเดินทางโดยอาศัยเรือในย่านทะเลใต้ของจีนระหว่างปี พ.ศ. ๑๘๘๙-๑๙๙๑ ว่า..ที่ตั้งเป็นแนวเทือกเขาที่มีที่ราบภายในตัวเมืองตั้งอยู่ตามแนวเชิงเขา มองดูเหมือนมดหรือปลวก อากาศอบอุ่นพอประมาณชาวเมืองรู้จักต้มน้ําทะเลเพื่อให้ได้เกลือ… หากข้อสันนิษฐานของนักวิชาการเกี่ยวกับอาณาจักรลังยาเสียวหรือลังกาสุกะมีศูนย์กลางอยู่ที่ปัตตานี เรื่องราวการผลิตเกลือแถบนี้สืบไปไกลกว่า ๖๐๐ ปี ด้วยวิธีการนําน้ําทะเลมาต้มเพื่อให้ได้เกลือ ส่วนการพัฒนามาเป็นการทํานาเกลือได้อย่างไรยังไม่มีหลักฐานยืนยัน แต่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อสันนิษฐานความเป็นไปได้ของการริเริ่มทํานาเกลือในพื้นที่เมืองปัตตานีในอดีตได้โดยการอาศัยหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการทํานาเกลือในประเทศไทย ดังที่ประทีบ ชุมพล ได้กล่าวไว้ว่า ..สมัยพระบรมไตรโลกนาถต้องการเกลือมากจนถึงกับลักลอบซื้อมาจากจีน และเป็นสิ่งที่น่าสังเกตว่าทูตไทยที่ไปจีนครั้งนั้นเป็นชาวจีน ที่เคยมีอาชีพเป็นพ่อค้าเกลือมาก่อนและเข้ามารับราชการในราชสํานักจนได้ตําแหน่งเป็นออกขุน ในขณะที่ไทยขาดแคลนเกลือ ทําให้มีความคิดที่จะเริ่มผลิตเกลือสมุทรใช้เองโดยการทดลองทํานาเกลือสมุทรที่เมืองเพชรบุรีตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ซึ่งน่าจะใช้เทคโนโลยีจากจีนเพราะหลักฐานของจีนก็ระบุว่า พ่อค้าเกลือเข้ามารับราชการในราชสํานักอยุธยาด้วย เมืองเพชรบุรีจึงเป็นเมืองที่ผลิตเกลือสมุทรตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นต้นมา (ประทีบ ชุมพล, ๒๕๔๒ : ๓๖-๓๙) จากหลักฐานข้างต้นจึงตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่าการริเริ่มทํานาเกลือในประเทศไทย เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๑๙๙๑-๒๐๓๑) หรือไม่น้อยกว่า ๕๐๐ ปีมาแล้ว โดยการเผยแพร่ภูมิปัญญาการทํานาเกลือมาจากชาวจีน จากประเด็นการศึกษาประวัติการทํานาเกลือในประเทศไทย จึงเชื่อมโยงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ภาคใต้เกี่ยวกับความสําคัญของเกลือ ดังที่อมรา ศรีสุชาติ (๒๕๔๔ : ๗๑) กล่าวไว้ความว่า..สิ่งที่ขาดแคลนของภาคใต้คือไม่มีเกลือสินเธาว์ แต่เกลือเป็นสิ่งจําเป็นสําหรับการบริโภค ผู้คนในภาคใต้จึงมีวิธีการทําเกลือโดยนําน้ําทะเลมาต้มให้แห้งเพื่อตกตะกอนเป็นผลึกเกลือ แต่วิธีนี้ก็คงไม่อาจบรรเทาการขาดแคลนเกลือได้ เพราะในศตวรรษต่อมาภาคใต้ต้องพึ่งพิงแหล่งเกลือจากภาคกลาง และในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ภาคใต้ตอนบนอาจประสบปัญหาเกี่ยวกับภัยธรรมชาติอย่างใดอย่างหนึ่งจึงทําให้เมืองนครศรีธรรมราชไม่ได้เป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ําอีกต่อไป แต่ขาดแคลนข้าวสําหรับเลี้ยงประชากรข้าวและเกลือเป็นสิ่งจําเป็นในการบริโภค ซึ่งเป็นที่ต้องการของคนภาคใต้มาก… ข้าวและเกลือเป็นปัจจัยสําคัญอย่างหนึ่งที่ทําให้ภาคใด้เห็นประโยชน์ที่เข้าไปรวมอยู่กับศูนย์อํานาจการปกครองรัฐคนไทยที่กรุงศรีอยุธยา เพื่อให้ได้มาซึ่งข้าวและเกลือสําหรับเลี้ยงชุมชน ขณะที่ภาคใต้ตอนล่างซึ่งมีศูนย์กลางสําคัญที่ปัตตานี ดูจะประสบปัญหานี้น้อยกว่าเพราะยังมีข้าวที่สามารถผลิตได้พอแก่การเลี้ยงชุมชน ในพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ ภาคใต้ตอนล่างมีชุมชนเมืองที่รุ่งเรืองสูงสุดอยู่บริเวณพื้นที่จังหวัดปัตตานี ไทรบุรี (รัฐเคดาห์) และรัฐกลันตัน แต่ปัตตานี้สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวใต้มาก และยังไม่ขาดแคลนเกลือ
        จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่าข้าวและเกลือมีความสําคัญต่อความมั่นคงของชุมชน ที่จะพัฒนาเป็นเมืองต่อไปเช่นเมืองปัตตานี เมื่อเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับการทํานาเกลือของประทีบ ชุมพล ที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ของชนชาติจีนที่เข้ามาถ่ายทอดภูมิปัญญาการทํานาเกลือให้กับชาวเพชรบุรีเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๙ จึงตั้ง ข้อสันนิษฐานว่าการทํานาเกลือที่ปัตตานี น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับชนชาวจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองปัตตานี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เช่นกัน ข้อสันนิษฐานดังกล่าวอาศัยการเชื่อมโยงข้อมูลจากการศึกษาเกี่ยวกับชนชาวจีนในเมืองปัตตานี้ไว้ว่า ชาวจีนที่เข้ามาทําการค้าและอพยพหนีภัยธรรมชาติมาจากเมืองต่าง ๆ ทางภาคใต้ของ จีน เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองปัตตานี ซึ่งมีทั้งที่แต่งงานกับชาวเมืองปัตตานีแล้วเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ดํารงตนเป็นชาวมุสลิมเชื้อสายจีน และเกิดลูกผสมขึ้น ดังนั้นอาชีพการทํานาเกลืออาจเป็นอาชีพที่บุกเบิกโดยชาวจีนและได้สืบทอดต่อกันมา โดยมีข้อสันนิษฐานที่ว่าชาติพันธุ์มลายูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ทํานาเกลือ แต่ใช้วิธีการผลิตเกลือโดยการต้มน้ําทะเล และกรรมวิธินําน้ําทะเลมาตากในภาชนะ เช่น ลําไม้ไผ่ผ่าซีก อย่างในหมู่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น จากข้อสันนิษฐานว่าชาวมลายูไม่ทํานาเกลือ ซึ่งศึกษาจากพื้นที่ที่มีชาวมลายูอาศัยอยู่ในแหล่งต่าง ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยกเว้นประเทศไทย และจากข้อมูลที่สนับสนุนว่าชาวจีนเป็นกลุ่มชนแรก ๆ ที่รู้จักท้านาเกลือแล้วนําเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่เพชรบุรี ส่วนที่ปัตตานีเองก็ปรากฏว่ามีชาวจีนเข้ามาอาศัยตั้งหลักแหล่งอยู่ด้วยเช่นกัน โดยชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ปัตตานีเป็นจํานวนมากตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นต้นมา ซึ่งเป็นสมัยที่ปัตตานีเป็นเมืองท่านานาชาติที่สําคัญของภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตามมีชาวจีนบางส่วนที่มิได้เดินทางกลับบ้านเกิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรรมกร ลูกเรือตามท่าเรือและพ่อค้า ไม่ได้นำครอบครัวมาด้วย จึงแต่งงานกับหญิงชาวพื้นเมืองและตั้งรกรากอยู่อย่างถาวร..ชาวจีนเหล่านี้อาศัยบริเวณที่มีการค้าขาย เช่น บ้านกาแลจินอ อําเภอเมือง จังหวัดปัตตานี แต่เดิมตั้งอยู่ใกล้ทะเลบริเวณปากแม่น้ําตอนล่าง พื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก มีลําน้ําไหลผ่านออกปากอ่าวปัตตานได้สะดวก กาแลจินอจึงเป็นชุมชนที่มีการพัฒนาการมาจากการเป็นเมืองท่าค้าขาย ที่เกิดจากการตั้งบ้านเรือนของกลุ่มพ่อค้าชาวจีนก่อนที่เมืองหรือเซะจะเจริญขึ้นในเวลาต่อมา ประชากรส่วนใหญ่ของกาแลจินอแต่เดิมเป็นคนจีนประกอบอาชีพค้าขาย เพาะปลูก ทำภาชนะดินเผา เป็นต้น ในหนังสือของเวน เอ บูกัส (VWayne A Bougas) ระบุว่าชาวจีนตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างจากกาแลบือซาร์เพียง ๑.๕ กิโลเมตร และที่ตลาดจีนก็อยู่ใกล้ ๆ แถบนี้เช่นกัน จากข้อสันนิษฐานข้างต้นที่ว่าอาชีพการทํานาเกลือที่ปัตตานี เป็นอาชีพที่ชาวจีนน่าจะเป็นผู้บุกเบิกและเนื่องจากชาวจีนเหล่านี้อาศัยตั้งรกรากในถิ่นที่นี้มายาวนาน มีการแต่งงานกับหญิงพื้นเมืองและเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม จึงกลายเป็นกลุ่มชาวจีนมุสลิมในพื้นที่บ้านกอเซะบานา ที่บุกเบิกและถ่ายทอดการทํานาเกลือมารุ่นต่อรุ่น พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๓ (พ.ศ. ๒๐๐๑-๒๓๐๐) ในหนังสือตํานานเมืองปัตตานี (Sejarah Kerajaan Melayu Pattani) เขียนโดย อิบรอฮิม ชุกรี มีความตอนหนึ่งกล่าวถึงการทํานาเกลือ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยรายาฮิเยา ปกครองเมืองปัตตานีระหว่างปี พ.ศ. ๒๑๒๗-๒๑๕๙ ได้กล่าวถึงพระกรณียกิจของรายาฮิเยาที่เกี่ยวข้องกับการทํานาเกลือที่ปัตตานีตอนหนึ่งมีความว่า…ขณะนั้นแม้ว่าลําคลองกรือเซะไหลผ่านบ้านเรือนราษฎรแต่ก็ไม่อํานวยประโยชน์แม้แต่น้อย เพราะน้ํามีความเค็มมาก ยิ่งกว่านั้นตรงต้นน้ําตอนเหนือลําคลองนี้มีทุ่งนากว้างขวางให้พืชผลไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากเหตุผลดังกล่าว รายาฮิเยาทรงรับสั่งให้ราษฎรพร้อมใจกันขุดคลอง โดยเริ่มจากกรือเซะมุ่งไปทางทิศเหนือจนถึงแม่น้ําที่อ่าวเตอร์มางัน (ใกล้กับหมู่บ้านปรีกรีปัจจุบัน) เมื่อสามารถขุดคลองเชื่อมกับแม่น้ําแล้วน้ําก็ไหลมาตามคลองแห่งใหม่ผ่านคลองกรือเซะแล้วไหลออกทะเลตรงอ่าวรา (อ่าวราหรือท่าราอยู่ในท้องที่ตําบล ตันหยงลุโละ อําเภอเมืองปัตตานี) เมื่อน้ําทางเหนือไหลออกคลองกรือเซะก็เป็นผลให้น้ําจืดลง ทุ่งนาบริเวณ นั้นก็ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ผลจากการขุดคลองดังกล่าวส่งผลให้บริเวณปลายน้ําซึ่งอยู่ริมฝั่งทะเลอันเป็นพื้นที่ของนาเกลือ เมื่อน้ําจีดลงทําให้ท่านาเกลือไม่ได้ผล จึงมีการแก้ไขอีกครั้งในสมัยรายาบีรู (พ.ศ. ๒๑๕๙-๒๑๖๗) ดังความตอนหนึ่งที่ว่า… น้ําในคลองกรือเซะกลายเป็นน้ําจืดจึงเป็นเหตุให้นาเกลือตรงชายทะเลไม่สามารถเป็นเกลือได้เพราะน้ําลตความเค็มลง รายาบีรูจึงมีกระแสรับสั่งให้สร้างเขื่อนกั้นน้ําที่ไหลมาจากด้านเหนือ โดยใหลเข้าสู่คลองกรือเซะและได้ปิดคลองปาฟรีด้วย... (อิบรอฮิม ซุกรี, ๒๕๒๕ : ๒๒) จากพระบัญชาของรายาบิรูเป็นผลให้ราษฎรสามารถทํานาเกลือได้อีกครั้ง เมื่อศึกษาปีพุทธศักราชที่มีการกล่าวอ้างเกี่ยวกับการทํานาเกลือในเมืองปัตตานี เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๒๗-๒๑๕๙ พบว่าตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาในราชวงศ์สุโขทัย นับตั้งแต่สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ ถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แสดงว่าการทํานาเกลือที่ปัตตานี้มีมาไม่น้อยกว่า ๔๐๐ ปีแล้ว หลังจากนั้นไม่ปรากฏหลักฐานเอกสารเกี่ยวกับการทํานาเกลือที่ปัตตานีอีก หลักฐานที่สามารถอ้างอิงถึงการทํานาเกลือที่ปัตตานี ปรากฏอีกครั้งจากเอกสารบันทึกของชาวต่างชาติในสมัยพระบาท
สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่บันทึกเกี่ยวกับการค้าขายสินค้าของเมืองปัตตานี โดยระบุว่าเกลือเป็นผลผลิตหลักของเมืองปัตตานี 
        - 
พุทธศวรรษที่ ๒๔-๒๕ (พ.ศ. ๒๓๐๑-๒๕๐๐)
         มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงผลผลิตเพื่อการค้าของเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นบันทึกของชาวต่างชาติ ที่เข้ามาติดต่อสัมพันธ์กับราชอาณาจักรสยาม ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อเซอร์จอห์น เบาวิ่ง (Siz, John BoWring) ราชทูตชาวอังกฤษ เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรสยามและบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ไว้ในปี พ.ศ. ๒๓๙๘ เนื้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงเมืองปัตตานีว่า..ปัตตานีเป็นที่รู้จักและพูดถึงกันในหมู่นักเดินเรือในสมัยโบราณและเคยใช้เป็นสถานีการค้าของต่างชาติที่เข้ามาค้าขายกับสยาม กัมพูชาและจีน เอกสารฉบับนี้เขียนในราวปี พ.ศ. ๒๓๙๘ หรือประมาณ ๑๕๐ ปีมาแล้ว เนื้อหากล่าวถึงความเจริญรุ่งเรืองของเมืองปัตตานีด้านการค้า และสินค้าสําคัญของเมืองปัตตานีมีเกลือเป็นหนึ่งในผลผลิตหลัก นั้นแสดงให้เห็นว่าเมื่อร้อยกว่าปีก่อนการทํานาเกลือที่ปัตตานี น่าจะมีทั้งพื้นที่และชาวนาเกลือจํานวนมากจึงสามารถผลิตเพื่อการค้าได้ ประวัติการทํานาเกลือที่รุ่งเรืองยังปรากฏอยู่และปรากฏในเอกสารสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ซึ่งตรงกันกับเหตุการณ์ที่สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ฯ เสด็จมายังหัวเมืองทางภาคใต้ พระองค์ได้นิพนธ์เกี่ยวกับการเสด็จครั้งนี้ไว้ในชื่อว่า.. ชีวิวัฒน์เที่ยวที่ต่าง ๆ ภาค ๗ ในพระนิพนธ์ตอนเมืองสงขลามีเนื้อความตอนหนึ่งว่า..เรือค้าขายของดอเวอนเมนต์มือยู่ลำหนึ่งชื่อเรือจำเริญสวัสดิ์เป็นเรือบ้าก ๒ เสาครึ่ง เวลานี้ไปบรรทุกเกลือเมืองตานี... ในพระนิพนธ์เล่มเดียวกันนี้ได้กล่าวถึงเมืองตานีมีความว่า..พวกเขาทํานาเกลือ ทําสวน ทํานาข้าว สินค้าใหญ่ที่ซื้อขายและจําหน่ายออก เกลือเป็นใหญ่ น้ํามันมะพร้าว มะพร้าวห้าว ทอง ทราย ดีบุก สินค้าและสิ่งของที่ซื้อขายในเมืองและตลาด ข้าว ปลา เครื่องเทศ และเครื่องหอม และของสดคาว ผักสด ผลไม้ขนมต่าง ๆ ผ้าโสร่ง ผ้าโพก ผ้าห่อต่าง ๆ เครื่องทองเหลือง เครื่องหม้อเครื่องไห เครื่องใช้สอยต่าง ๆ จํานวนราคาสิ่งของในตลาดเกลือเกวียนแขก ๑ เท่า ๒ เกวียนไทย ราคา ๑๒ เหรียญ..จากความข้างต้นสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงบรรยายถึงสินค้าที่วางจําหน่ายในเมืองตานีในขณะนั้น ซึ่งมีเกลือที่ชาวปัตตานีผลิตได้เองเป็นสินค้าประจําถิ่นอีกทั้งยังเป็นสินค้าส่งออกด้วย ในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพได้เสด็จตรวจราชการหัวเมืองปักษ์ใต้และจากบันทึกรายงานทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความตอนหนึ่งว่า.. ภูมลําเนาของเมืองแขกทั้งเจ็ดซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้ไปเห็นแลได้สืบสวนทราบความในคราวนี้ เห็นเป็นเมืองที่บริบูรณ์อย่างปลาดจะหาเมืองมะลายเมืองใดในแหลมมะลายนี้เปรียบให้เสมอเหมือนเป็นอันไม่มี ในเมืองตานี้มีนาเกลือแห่งเดียวตลอดแหลมมะลาย สินค้าเกลือเมืองตานี้ขายได้อย่างแพงถึงเกวียนละ ๑๖ เหรียญ ขายตลอดออกไปจนสิงค์โปร์และเกาะหมาก… จากข้อมูลข้างต้นเป็นหลักฐานบ่งชี้ให้เห็นว่าการทํานาเกลือที่ปัตตานีมีมานานแล้วและปัจจุบันก็ยังดํารงอยู่ ในอดีตนับว่าเกลือเป็นสินค้าส่งออกที่สําคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสินค้าชนิดอื่น ๆ ของเมืองปัตตานีเลย อีกทั้งยังมีราคาสูง เหตุที่สมัยนั้นเกลือปัตตานีขายได้ราคาสูง จากข้อสันนิษฐานคือการที่พื้นที่แหลมมลายูนับตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ลงไปถึงสิงคโปร์ แม้จะมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลกันเกือบทุกเมืองแต่มีเพียงเมืองปัตตานีเมืองเดียวที่สามารถผลิตเกลือได้ ดังนั้นปัตตานีเป็นแหล่งผลิตเกลือในแหลมมลายู่เพียงแห่งเดียว

        ในปัจจุบันเกลือปัตตานีลดความสาคัญลงในระดับภูมิภาค เนื่องจากการคมนาคมขนส่งเจริญขึ้น ประกอบกับค่านิยมในการบริโภคเกลือป่นที่มีสีขาวดูสะอาด มีบรรจุภัณฑ์ทันสมัยทําให้ผู้บริโภคซื้อเกลือชนิด ดังกล่าวมาบริโภคแทนแต่เกลือปัตตานียังอยู่ได้เพราะชาวบ้านส่วนหนึ่งยังมีค่านิยมบริโภคเกลือเม็ตอยู่ เกลือปัตตานีมีราคาถูก และเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตบูดู และหมักดองอาหารทําให้การทํานาเกลือปัตตานียังดํารงอยู่ได้ ซึ่งชาวบ้านจะทํานาเกลือเป็นอาชีพเสริมส่วนอาชีพหลักคือทําประมงและรับจ้างทั่วไป เกลือที่ผลิตได้คนในท้องถิ่นใช้อุปโภคบริโภคและเป็นวัตถุดิบในการถนอมอาหาร เช่น ทําปลาเค็ม เนื้อเค็ม ผักดอง น้ําบูดู เป็นต้น มีการซื้อขายเกลือกันในตลาดท้องถิ่น และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ จังหวัดยะลา และนราธิวาส รวมไปถึงทาง ตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย เช่น รัฐกลันตัน เป็นต้น ปัจจุบันพื้นที่นาเกลือบางส่วนเปลี่ยนสภาพเป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัยและบางส่วนเป็นนากุ้ง มีผู้ทำนาเกลือเป็นอาชีพเหลือประมาณ ๕๐๐ คน ในพื้นที่ประมาณ ๓,๕๐๐ ไร่ ผลิตเกลือได้ปีละประมาณ ๗,๐๐๐ ตัน  ในปัจจุบันนาเกลือของปัตตานีอยู่ในพื้นที่ริมทะเลในเขตตำบลบานา ตันหยงลุโล๊ะ และบาราโหม อำเภอเมืองปัตตานี แต่ก็มีพื้นที่นาเกลือลดลงจากในอดีตโดยพื้นที่บางส่วนได้เปลี่ยนสภาพเป็นนากุ้ง ที่อยู่อาศัย และเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม 


ภาพจาก : https://kyl.psu.th/wGZ3WF4cc


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
การทํานาเกลือที่ปัตตานี
ที่อยู่
จังหวัด
ปัตตานี


บรรณานุกรม

นราวดี โลหะจินดา. (2553) ประวัติการทำนาเกลือที่ปัตตานี, 5 มิถุนายน 2553 วันกัลยาณิวัฒนา. ปัตตานี : สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา
            มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.
ฟอตานิออนไลน์. (2565). เกลือตานี จากนาเกลือแหล่งสุดท้ายปลายแหลมมลายู. สืบค้น 7 พ.ย. 65, จาก https://kyl.psu.th/NNP_tddtc
สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา. (2563). นาเกลือเมืองปัตตานี. สืบค้น 7 พ.ย. 65, จาก https://kyl.psu.th/wGZ3WF4cc


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024