อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา
 
Back    15/05/2019, 15:04    5,660  

หมวดหมู่

จังหวัด


ประวัติความเป็นมา

ภาพจาก : http://transbordernews.in.th/home/?p=17588

 

คําขวัญอําเภอเทพา

“พระสามองค์คู่บ้าน ตระหง่านเกาะขาม หาดงามทรายขาว ข้าวแกงไก่ทอด รีสอร์ทเรียงราย”

       เทพาเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ในฐานะเป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อเมืองพัทลุงในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทุก ๆ ปีเจ้าเมืองจะต้องนำต้นไม้เงินต้นไม้ทองไปถวายเจ้าเมืองพัทลุงเป็นประจำ ในปี พ.ศ. ๒๓๒๙ ในรัชสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ ๑) ทรงโปรดให้ยกเมืองเทพาขึ้นกับเมืองสงขลา ฐานะเป็นเมืองตรี และในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ได้ทราบปรับปรุงระบบการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ และได้ทราบจัดตั้งเป็นมณฑลเทศาภิบาล ได้แยกเมืองเทพาออกจากเมืองสงขลา โดยตั้งขึ้นเป็นอำเภอเรียกว่า “อำเภอเทพา” ขึ้นกับเมืองสงขลา โดยตั้งที่ว่าการอำเภอที่บ้านพระพุทธ หมู่ที่ ๒ ตำบลเทพา  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ การคมนาคมสะดวก มีรถไฟผ่านท้องที่อำเภอเทพา จึงย้ายที่ว่าการอำเภอเทพาจากบ้านพระพุทธ มาตั้งที่บ้านท่าพรุ หมู่ที่ ๑ ตำบลเทพา ใกล้กับสถานีรถไฟท่าม่วง ต่อมาการรถไฟแห่งประเทศไทยได้เปลี่ยนชื่อสถานีรถไฟท่าม่วงเป็นสถานี "เทพา" ให้ตรงกับคำว่า "อำเภอเทพา" ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเทพา ประมาณ ๕๐๐ เมตร  ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงหลายร้อยกิโล แต่มีด้วยมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติโดยเฉพาะป่าไม้ อีกทั้งมีความได้เปรียบในการเดินทางเนื่องจากมีแม่น้ำเทพา ซึ่งต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาสันกาลาคีรี ไหลผ่านและลงอ่าวไทยที่ปากน้ำเทพา ในสมัยก่อนนั้นเทพามีอู่ต่อเรืออยู่มากมาย ทั้งเรือสินค้าและเรือรบ เนื่องจากที่ตั้งอยู่กึ่งกลางกันพอดี ระหว่างสงขลากับปัตตานี ซึ่งมักจะทำสงครามกันอยู่ตลอด เทพาจึงหลีกไม่พ้นที่ได้รับผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และวิถีความเป็นอยู่ของผู้คน 

       เทพานอกจากหมายถึงถิ่นที่มีความสงบสุขดุจเมืองเทวาแล้ว เทพายังหมายถึงชื่อปลาชนิดหนึ่งที่มีรูปร่างคล้ายปลาสวาย ส่วนเทพาในภาษามลายูแปลว่าไร่ข้าว

ที่ตั้งและอาณาเขต

อําเภอเทพาตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

ทิศเหนือ จรดกับอ่าวไทย

ทิศตะวันออก ติดต่อกับอําเภอหนองจิกและอําเภอโคกโพธิ์ (จังหวัดปัตตานี)

ทิศใต้ ติดต่อกับอําาเภอสะบ้าย้อย

ทิศตะวันตก ติดต่อกับอําเภอนาทวีและอําเภอจะนะ

ลักษณะภูมิประเทศ

อำเภอเทพามีพื้นที่ ๙๗๘ ตารางกิโลเมตร หรือ ๖๖๑,๒๕๐ ไร่ พื้นที่โดยทั่วไปแบ่งออกได้เป็น ๓ เขต คือ
๑. เขตที่ราบสูง มีลักษณะเป็นเนินเขา ซึ่งอยู่บริเวณทิศใต้และทิศตะวันตก พื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าไม้ มีการเพาะปลูก ทําสวนยางพาราและสวนผลไม้
๒. เขตที่ราบ อยู่บริเวณตอนกลางของอําเภอเทพา ซึ่งมีทั้งพืชพันธุ์ธรรมชาติและที่เพาะปลูกกันมากในแถบนี้ คือ ข้าวเจ้า นอกจากนั้น ยังมีการปลูกผัก ไม้ผล พืชยืนต้น ซึ่งลักษณะดินบริเวณนี้เป็นดินร่วน ไม่เหมาะสําหรับการปลูกข้าว
๓. เขตที่ราบชายฝั่ง อยู่บริเวณทางทิศตะวันออก มีการเพาะปลูก ทําสวนมะพร้าว ซึ่งสร้างรายได้ให้กับ ประชาชนในเขตนี้มากพอสมควร

ลักษณะภูมิอากาศ

อําเภอเทพา ตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มีฝนตกชุกเป็นฤดู แต่อากาศไม่ร้อนจัดเนื่องจากอิทธิพล ของลมทะเล มี ๒ ฤดูกาล คือ ฤดูฝน (ในช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์) และ ฤดูร้อน (เดือนมีนาคม-พฤษภาคม)

ชื่อบ้านนามเมืองของอำเภอเทพา

        บ้านใหม่

      บ้านใหม่ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา เป็นชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีฝายทดน้ำบ้านใหม่ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ การสร้างชุมชนขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๔ ซึ่งเดิมอยู่ในเขตปกครองของหมู่ที่ ๑ บ้านคลองยอ แต่เดิมเรียกขานกันว่า “บ้านทับไข่เน่า” โดยที่คนพื้นเพนั้นได้อพยพมาจากบ้านทุ่งโตนด อำเภอนาหม่อม ต่อมาได้เกิดโรคไข้ทรพิษขึ้นในหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงได้อพยพหนีโรคร้ายมาตั้งทับอยู่กันหลาย ๆ คน ซึ่งเรียกว่า “ทับขี้หนู” หลังจากหายจากโรคไขแล้วได้อพยพกลับเข้ามาอยู่ใหม่โดยห่างจากที่เดิมพอประมาณ และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านใหม่”


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา
ที่อยู่
จังหวัด
สงขลา


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

เณรรูณ. 2554. เล่าเรื่องเมืองเทพา. สืบค้นวันที่ 15 พ.ค. 62, จาก oknation.nationtv.tvblog/singslatan/2011/04/08/entry-1
ประพนธ์ เรืองณรงค์. 2551. ชื่อบ้านนามเมืองภาคใต้ : จังหวัด อำเภอ และสถานที่ บุคคลบางชื่อ, พิมพ์ครั้งแรก.กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2025