อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
 
Back    19/05/2021, 16:23    8,061  

หมวดหมู่

จังหวัด


ประวัติความเป็นมา

คำขวัญอำเภอระโนด : ทุ่งรวงทอง นองลูกตาล ตำนานแห่งเจดีย์ พื้นที่แหล่งนากุ้ง

           อำเภอระโนดหรือระโนต  จังหวัดสงขลา ครั้งโบราณคงเป็นอาณาบริเวณเดียวกันกับเมืองเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ทางอำเภอสทิงพระ ซึ่งกล่าวว่าเมืองนั้นได้ตั้งมาก่อน พ.ศ. ๑๔๘๐ ตามพงศาวดารเมืองพัทลุงว่าตัวเมืองพัทลุงโบราณโน้นได้ตั้งอยู่ที่อำเภอสทิงพระ เจดีย์ที่วัดเจดีย์งามอันเป็นปูชนียสถานอันเก่าแก่ของอำเภอระโนต รูปลักษณะขององค์พระเจดีย์นั้น เป็นแบบอย่างอันเดียวกันกับพระเจดีย์บรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช  เข้าใจว่าคงจะสร้างเป็นอนุสรณ์อันเป็นการถวายพระเกียรติ์แด่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ ซึ่งครองนครลิงค์ (นครศรีธรรมราช) ต่อมาสมัย พ.ศ. ๑๗๕๐-๑๘๐๐ อันเป็นสมัยศรีวิชัยตอนปลายกษัตริย์พระองค์นั้นคือพระเจ้าจันทรภาณุ (ข้อมูลจากหนังสือภูมิ-ประวัติศาสตร์อำเภอระโนต แต่งและเรียบเรียงขึ้นตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย) ในหนังสือราชทูตลาลูแบร์ (ชาวฝรั่งเศสที่มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) พบข้อมูลว่าแต่เดินแผ่นดินระโนดกับสทิงพระเป็นเหมือนสันทรายที่เกาะกลุ่มกันมานานจนกลายเป็นเกาะขนาดใหญ่ยาวจากเหนือจรดใต้ ความยาวกว่า ๘๐ กิโลเมตร หัวเกาะเหนือคือแถวปากระวะ เป็นที่สุดของทางน้ำหรือคลองระโนดที่ต่อเเนื่องจากทะเลสาบมาออกอ่าวไทย ต่อมาคงค่อย ๆ ตื่นเขินและแคบจนมาออกอ่าวไทยในที่สุดก็ขุดลอกทำประตูกั้นน้ำได้ ส่วนตอนใต้คือที่หัวเขาแดง น้ำค่อนข้างลึกบริเวณนี้เป็นปากอ่าว ซึ่งเกิดจากดินตะกอนสมัยก่อนคนระโนดกับสทิงพระจะถูกเรียกขานว่าคนบก (ทำนองคนบ้านนอก) หากมีกิจธุระต้องข้ามไปในตัวจังหวัดจำเป็นต้องลงเรือหางยาวขามปากทะเลสาบ ต่อมาราวปี พ.ศ. ๒๕๓๐ มีการเอาแพข้ามฟากจากทางภูเก็ตหรือจังหวัดทางฝั่งทะเลอันดามันมาใช้การคมนาคมจึงสะดวกขึ้น เวลาผ่านไปหลายสิบปี ทางการจึงสร้างสะพานติณสูลานนท์เพื่อมาเชื่อมแผ่นดินทางด้านเกาะยอกับระโนด
           อําเภอระโนดเป็นอําเภอที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรสทิงพระ ในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองสทิงพระ (เมืองพัทลุงเก่า) ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ไปขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) เมื่อมีการจัดการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล ได้กลับมาขึ้นกับเมืองสงขลา โดยยุบเมืองระโนดตั้งเป็นกิ่งอําเภอระโนดและได้เริ่มก่อสร้างที่ว่าการอําเภอหลังแรก พร้อมกับสถานีตํารวจ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ และในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ กิ่งอําเภอระโนดได้ยกฐานะขึ้นเป็นอําเภอระโนด ประกอบด้วย ๑๓ ตําบล ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๒-๒๔๙๓ ประชาชนอําเภอระโนดได้ร่วมกันสร้างที่ว่าการอําเภอหลังที่ ๒ ขึ้นโดยใช้เวลาก่อสร้าง ๒ ปี โดยการร่วมแรงร่วมใจของพี่น้องประชาชนชาวระโนด ภายใต้การนําของนายอําเภอจรูญ โลกกะกะลิน โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด เป็นอาคารที่ทําการอําเภอระโนด ที่ชาวอําเภอระโนดทุกคนมีความภาคภูมิใจและกล่าวขานกันมาจนถึงทุกวันนี้ ต่อมาในปีงบประมาณ ๒๕๓๘ ทางราชการได้จัดสรรงบประมาณเป็นการก่อสร้างอาคารที่ว่าการอําเภอระโนดหลังใหม่ เนื่องจากพื้นที่ในที่ตั้งที่ว่าการอําเภอระโนดหลังเก่ามีความคับแคบไม่สะดวก ไม่เพียงพอสําหรับการใช้บริการของประชาชน รวมทั้งการใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของอําเภอ พี่น้องประชาชนชาวอําเภอระโนด จึงได้รวบรวมที่ดินประมาณ ๗๕ ไร่ บริจาคให้กับทางราชการเพื่อใช้เป็นที่ก่อสร้างที่ว่าการอําเภอระโนดหลังใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากที่ว่าการอําเภอระโนดหลังเก่าไปทางทิศใต้ ระยะทางประมาร ๑.๕ กิโลเมตร และได้เริ่มก่อสร้างในตัวอาคารจนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ แต่ยังไม่ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ต่าง ๆ ดังนั้นพี่น้องประชาชนชาวอําเภอระโนดจึงได้ร่วมแรงร่วมใจกันอีกครั้งในการช่วยกันบริจาคทั้งเงินและทรัพย์สินต่าง ๆ จนทําให้ที่ว่าการอําเภอระโนดหลังใหม่นี้เสร็จสิ้นสมบูรณ์และพร้อมที่จะบริการประชาชนได้ตั้งแต่วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๑ อาคารที่ว่าการอําเภอระโนดทั้งหลังเก่าและหลังใหม่นั้นมีความคล้ายคลังกัน ในเรื่องของการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน ถึงแม้จะมีความแตกต่างในยุคสมัยก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงมีอยู่สําหรับชาวระโนดคือความพร้อมเพรียงและเสียสละ
           ระโนดตามคำบอกเล่ามาตั้งแต่โบราณสันนิษฐานกันไว้ว่ามาจากการที่ชาวบ้านปลูกต้นตาลโตนดตามคันนามองเห็นเป็นราว จึงเรียกกันว่าบ้านราวโหนด ต่อมาเพี้ยนเป็นบ้านระโนด  ส่วนอีกที่มาจากบทความ "มารู้จักระโนดบ้านเรา" ในหนังสือระโนดรังสรรค์ ครั้งที่ ๓๐ เขียนโดย มาตุภูมิ ได้ให้ที่มาของคำว่า "ระโนด" ว่า มาจากคำว่าระนัต ซึ่งเป็นภาษาเขมร แปลว่าคราด ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับทำนาดำ อําเภอระโนดในอดีตนับเป็นท้องที่ไกลสุดจากตัวเมืองสงขลามาก เพราะอยู่เหนือสุดของแผ่นดินคาบสมุทรสทิงพระ ระโนดจึงมีสภาพเป็นดินแดนชายขอบอันทุรกันดารไกลโพ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วระโนดเป็นผืนดินราบขนาดใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เพราะมีทั้งจากนาข้าวและจากทิวตาลนับล้าน ๆ ต้น ที่แผ่ยอดคลุมทุกแปลงนา กอรปกับอาหารจากท้องทะเลสองฟากฝั่ง ชาวทุ่งระโนดจึงนับได้ว่าเป็นผู้คนที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ระโนดแม้จะอยู่ห่างไกลความเจริญของเมืองสงขลาแต่คนระโนดนับเป็นผู้คนที่สู้ชีวิต ที่มีใฝ่ใจศึกษาเล่าเรียนในอดีตเยาวชนคนระโนดต้องนั่งเรือข้ามฟากทะเลสาบใหญ่มาขึ้นท่าลําปำ ไปต่อสถานีรถไฟพัทลุงซึ่งอยู่ถัดเข้ามาจุดหมายคือการศึกษาเล่าเรียนที่กรุงเทพฯ นับเป็นสาเหตุที่คนทุ่งระโนดประสบความสําเร็จในกรุงเทพฯ มากมาย ระโนดเป็นเมืองโบราณมาตั้งแต่อดีตและเป็นที่รู้จักของนักเดินเรือโดยเฉพาะพ่อค้าชาวจีน ในช่วงเวลาที่ร่องน้ำยังเปิดเรือสําเภาจีนสามารถล่องผ่านสู่ทะเลหน้าเมืองพัทลุง จุดหมายสําคัญคือรังนกนางแอ่นคุณภาพจากเกาะสี่ เกาะห้า ทองคําสีขาวแห่ง ทะเลใน สําเภาจีนยังหมายปองข้าวสารคุณภาพสูงจากทุ่งระโนด ในแต่ละปีจะมีขบวนสําเภาจีนมารับซื้อข้าวจากระโนด เพื่อนํากลับไปขายทํากําไรเลี้ยงดูผู้คนแผ่นดินใหญ่ไกลโพ้นจากจดหมายเหตุตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๖) ของสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์มีบันทึกไว้ว่า…ท้ายบ้านตําบลระวะ มีโรงสินค้าเป็นตลาดเตี้ย ๆ มีของใช้ต่าง ๆ สําหรับแลกเข้า (ข้าว) ชาวนา มีเรือเสาใบจอดแลอยู่บนหาดหลายลํา ในหมู่บ้านปากแกระนี้มีโรงสินค้าอยู่ชายหาดตั้งแลกเข้า (ข้าว) อย่างบ่อตรูเหมือนกัน ไปแต่ปากระวะมาข้างเหนือ ริมหาดมีโรงสินค้า อยู่ ๑๐ หลัง…โรงสินค้าที่พบมากมายหลายหลังในบันทึก จดหมายเหตุก็คือโรงเรือนขนาดใหญ่ที่พ่อค้าสําเภาจีน แต่ละสํานักได้จัดสร้างขึ้นเพื่อรวบรวมซื้อข้าวสารจากชาวบ้านระโนดเก็บรักษาไว้ เตรียมขนขึ้นสําเภาที่ล่องมาจากเมืองจีนตามฤดูกาลของปี           
               จากหลักฐานการตั้งถิ่นฐานในอดีตสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๕-๑๒) โดยภาพถ่ายทางอากาศ จะเห็นคูกันดินและคลองต่าง ๆ ช่วยให้สามารถกําหนดตําแหน่งบริเวณที่มีการตั้งถิ่นฐานในอดีตได้ ซึ่งจะเป็นแนวยาวจากอําเภอระโนดไปถึงปากทะเลสาบที่ติดต่อกับทะเลใหญ่ เห็นได้จากร่องรอยของกะพังหรือสระ ซึ่งขุดเพื่อกักเก็บน้ําและรับน้ําซึมจากใต้ทราย และเป็นแหล่งน้ําจืดของชุมชนโบราณ เช่น ชุมชนโบราณสีหยัง ชุมชนโบราณพังยาง และชุมชนโบราณ อู่ตะเภา-ระโนด เป็นต้น ระโนดเป็นเมืองโบราณตามตํานานกล่าวว่า เคยเป็นเมืองที่เจริญมาแล้วในอดีตมีการขุดค้นพบวัตถุโบราณหลายแห่ง สังเกตได้ว่าดินแดนระโนดโดยเฉพาะในบริเวณ ๔ หมู่บ้าน ประกอบด้วยหมู่บ้านมะขามเฒ่า บ้านหัวเด็ด บ้านโคกทอง บ้านหัวขี้เหล็ก อันเป็นเขตอําเภอระโนด ได้มีโคกหรือเนินดินที่เรียงรายอยู่ตามทุ่งนาริมชายคลองระโนด มีจํานวนไม่น้อยกว่า ๓๐ โคก เช่น บ้านโคกทอง บ้านโคกบัวบก บ้านโคกแห้ว บ้านโคกคราม เป็นต้น แต่ละโคกมีอิฐปรักหักพังและก้อนหินวางเป็นกําแพงดินก้อนโต ๆ มีเศษกระเบื้องถ้วยชามแตกกระจายเกลื่อนกลาด ซึ่งแสดงว่าเคยเป็นที่อยู่ของผู้คนมาตั้งแต่ยุคโบราณ บางแห่งแสดงว่าเป็นปูชนียสถานทางพุทธศาสนา เช่น มีวัดร้างและบางส่วนของเจดีย์ เช่น อิฐ ฐานเจดีย์ เทวรูป บางแห่งเป็นปูชนียสถานทางศาสนาพราหมณ์ เครื่องใช้ที่ทําด้วยหิน ดินเผา ตลอดจนเครื่องประดับจําพวกเครื่องทอง หัวแหวน ลูกปัด ที่ตกค้างฝังจมดินอยู่นั้นก็ได้มีผู้พบบ่อย ๆ ซึ่งโบราณวัตถุเหล่านั้นได้เก็บเข้าไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลาเป็นจํานวนมาก และบางส่วนได้เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ของโรงเรียนระโนดวิทยามูลนิธิ ศิลปวัตถุที่พบในอําเภอระโนด เช่น แวดินเผา ส่วนองค์ของพระ วิษณุ (นารายณ์) พระเศียรและส่วนองค์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 
จากหลักฐานแสดงว่าในบริเวณนั้นน่าจะเคยเป็นสถานที่สําคัญ และเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญมาแล้วครั้งหนึ่ง นอกจากบริเวณนั้น ถ้าไปต่างตําบลเมื่อเดินผ่านทุ่งนาและหมู่บ้านมักจะพบซากบ้านและวัด มากมายหลายแห่ง แต่ละแห่งจะได้พบเศษถ้วยชามและกระเบื้องลายครามอย่างดี ชุมชนโบราณระโนดหลังจากที่ได้เจริญมาแล้วเป็นเวลาช้านานชื่อระโนดก็หายสาบสูญไป เพิ่งมาปรากฏก่อนปี พ.ศ. ๒๔๔๘ เมื่อพระยาสุขุมนัยพินิจ (ปั้น สุขุม) ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยายมราช สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ไปตรวจราชการที่ระโนดและเห็นว่าระโนดเป็นดินแดนอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางทางการปกครอง สมควรยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอําเภอและเมื่อท่านกลับไปมณฑลนครศรีธรรมราช แล้วได้แต่งตั้งให้ขุนอินทยานัยเป็นตัวแทนไปจัดการตั้งกิ่งอําเภอระโนดขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ อุปราชมณฑลปักษ์ใต้ ทรงดําริยกฐานะกิ่งอําเภอระโนดขึ้นเป็นอําเภอ และรับสั่งให้ขุนต่างใจราษฎร์ (อั้น วิเศษสินธ์) ซึ่งเป็นปลัดอําเภออยู่ในขณะนั้นเรี่ยไรเงินสร้างที่ว่าการอําเภอขึ้น และประกาศยกฐานะเป็นอําเภอเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๗ โดยมีหลวงประจันต์จุฑารักษ์ (อิน ตุงคผลิน) มาเป็นนายอําเภอคนแรก ต่อจากนั้นก็มีนายอําเภอย้ายมาปกครองดูแลตลอดจนถึงปัจจุบัน หนึ่งในนั้นมีนายอําเภอจรูญ โลกะกะลิน ท่านเป็นนายอําเภอ คนหนึ่งที่คนระโนดรําลึกถึงและพูดถึงด้วยความประทับใจ ซึ่งท่านเป็นนายอําเภอมือปราบ ผู้ร้ายที่ว่าร้ายในสมัยนั้นท่านจะปราบจนหมด ทําให้ระโนดมีความร่มเย็น นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้สร้างอาคารที่ว่าการอําเภอ ระโนดหลังเก่าที่ใช้เป็นสถานที่ราชการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๔๔๑ ดังกล่าวแล้ว 
            ระโนดถ้ามองย้อนกลับไปสู่อดีต เมื่อได้รับการยกฐานะให้เป็นอําเภอในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ มีชื่อตามที่ส่วนราชการขนานนามให้ว่าเป็น “อําเภอระโนด” ซึ่งเดิมระโนดสะกดด้วยตัว “ต” เพิ่งจะมาเปลี่ยนตัวสะกดเป็นตัว “ด” เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งสันนิษฐานว่า “ระโนด” มาจากคําว่า “ราวโหนด” เพราะระโนดมีต้นโหนด (ต้นตาล) มาก ชาวบ้านจะปลูกตามหัวนา (คันนา) เป็นแถวยาว เพื่อจะทําน้ําตาลโตนดก็ขึ้นเพียงต้นแรกแล้วใช้ไม้ไผ่ หรือทางโหนดทําราวไต่ไปต้นอื่น ๆ ได้ ชาวบ้านจึงเรียก “ราวโหนด” หรือ “โหนดราว" ระโนดเป็นอําเภอที่ยากจนโดยถือตามรายได้ต่อหัวต่อปีของประชาชนในแต่ละอําเภอ ระโนดเมื่อครั้งเป็นอําเภอใหม่ ๆ ก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ขึ้นเท่าที่ควร แม้กระทั่งตัวอาคารร้านค้าและตัวอาคารที่ว่าการอําเภอ แต่ทางด้านพุทธศาสนา เช่น วัดวาอาราม โบสถ์ วิหาร มีความเจริญรุ่งเรือง พัฒนาใหม่ขึ้นโดยลําดับจนเป็นเมืองที่ผู้คนยึดมั่นในศาสนา มีความตื่นตัวทางการเรียนทางธรรม การทํามาหากินของชาวระโนดเกือบทุกตําบล อยู่ในเกณฑ์สะดวกสบาย ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล มีพระบวชใหม่ จําพรรษาอยู่วัดละหลาย ๆ รูป ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๔ หลายอําเภอในจังหวัดสงขลาได้รับความเดือดร้อนเพราะภัยสงคราม แต่ระโนดยังคงสงบสุข ด้านการศึกษาทางโลกและทางธรรมยังคงตื่นตัวและเป็นที่มุ่งมั่นของคนส่วนใหญ่อย่างสม่ําเสมอ โรงเรียนมัธยมแห่งแรกของอําเภอได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ กลายเป็นสถาบันที่จุดแนวความสว่างทางปัญญา ให้การศึกษาทางโลกแก่ลูกหลานชาวอําเภอระโนดเพิ่มขึ้นทุกปี จนมีอายุยาวนานมาถึงทุกวันนี้นับได้ยาวนานเกือบ ๗๐ กว่าปี สถาบันนี้สร้างให้ลูกหลานชาวระโนดและแม้กระทั่งชาวจังหวัดใกล้เคียงโดยต่อเนื่องมานับจํานวนร่วมหมื่นคน ดังคํากล่าวของนายปราโมทย์ ส่งสิงห์ อดีตศึกษาธิการอําเภอระโนดในการอบรมจริยธรรมแก่นักเรียนว่า “เธอทราบไหมว่าสินค้าส่งออกที่สําคัญที่สุดของระโนดคืออะไร” คําเฉลยคือทรัพยากร บุคคล 


 


ขุดดินทำถนน​ จากระโนดไปสทิงพระ (ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๔) 
(ภาพจาก : https://kyl.psu.th/W-ahNN9RV)

          ระโนดเป็นอําเภอหนึ่งของจังหวัดสงขลา ตั้งอยู่เขตสันทรายและที่ราบลุ่มทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
            - 
 ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอหัวไทร  อำเภอชะอวด  (จังหวัดนครศรีธรรมราช)
            -  ทิศตะวันออก ติดต่อกับอ่าวไทย
            -  ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอสทิงพระ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา
            -  ทิศตะวันตก  ติดต่อทะเลสาบสงขลา  อำเภอควนขนุน  จังหวัดพัทลุง
       
 ที่ตั้งของอําเภอระโนดตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดสงขลา โดยห่างจากตัวเมืองสงขลา ประมาณ ๑๐๖ กิโลเมตร สภาพทั่วไปของระโนดประกอบด้วยท้องทุ่งนาอันกว้างใหญ่ มีเนื้อที่ทั้งหมด ๔๕๑,๓๘ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๒๕๒,๑๑๒.๕ ไร่ มีต้นไม้ใหญ่อยู่ประปราย มีบึงมีหนองและคลองเล็ก ๆ ตามธรรมชาติหลายสายที่ใช้หล่อเลี้ยงพื้นที่นาข้าวของชาวระโนด ที่ในอดีตเคยได้รับการกล่าวขานกันติดปาก แสดงให้เห็นลักษณะทางกายภาพของอําเภอนี้ว่า “ระโนดไม่มีไหร มีแต่ไผ่กับโหนด ไประโนดเห็นแต่โหนดกับไผ่” แต่ปัจจุบันนี้นาข้าวที่อยู่ควบคู่กับต้นตาลโตนดต้องกลายเป็น “ทุ่งทองกุ้งกุลาดํา" ระโนดเป็นดินแดนที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากตัวจังหวัดและไม่เป็นทางผ่านของเส้นทางคมนาคมใหญ่ ๆ เช่น ทางรถไฟ มีแต่ทางเรือในคลองระโนด ซึ่งเป็นคลองที่แยกมาจากทะเลสาบที่บ้านปากบาง ผ่านท้องที่อําเภอระโนด คลองนี้ไหลทอดยาวผ่านตลาดระโนด คดเคี้ยวผ่านชุมชนวัดมะขามเฒ่า บ้านหัวเด็ด บ้านหัววัง บ้านลานควาย บ้านศาลาหลวง บ้านขึ้นาก บ้านมาบเตย บ้านบางหลอด บ้านตื่นนอ บ้านสิกขาราม บ้านแค บ้านท่าเข็น บ้านปากระวะ และติดต่อไปถึงเขตอําเภอหัวไทร ชะอวด เชียรใหญ่ และปากพนัง ในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช ออกทะเลหลวงที่ปากน้ําปากพนังข้างแหลมตะลุมพุก เวลาน้ํามากน้ําในลําน้ําสายนี้จะไหลออกทะเลออก ๓ ทาง คือที่ปากน้ําปากพนัง ที่ปากระวะ ตําบลคลองแดน และที่ทะเลสาบสงขลา แล้วออกสู่ทะเลหลวง 

 


ภาพท่าเรือใน อ.ระโนด จ.สงขลา ในอดีต (ภาพจาก : https://kyl.psu.th/6uyT3FWV3)

         ลักษณะภูมิประเทศ
         ชาวระโนดเปรียบเสมือนได้พรจากสวรรค์ มีทะเลสาบกว้างใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ ๔๕๐ ตารางกิโลเมตร มีคลองน้อยใหญ่เชื่อมสู่ทะเลสาบ ได้อาศัยทําประโยชน์นานานับประการ  สภาพพื้นที่ของอําเภอระโนดโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม ไม่มีภูเขา มีพื้นที่ติดต่อกับทะเลสาบสงขลา มีชายฝั่งติดต่อ กับทะเลยาวประมาณ ๖๔ กิโลเมตร ในอดีตระโนดมีประชากรประมาณ ๖๐,๐๐๐ คน และร้อยละ ๙๕ มีอาชีพทํานา

          การปกครอง
         อำเภอระโนดแบ่งเขตปกครองออกเป็น ๑๒ ตําบล ๗๓ หมู่บ้าน ประกอบด้วย
         ๑. ตําบลระโนด มี ๗ หมู่บ้าน
         ๒. ตําบลท่าบอน มี ๑๐ หมู่บ้าน
         ๓. ตําบลพังยาง มี ๔ หมู่บ้าน
        ๔. ตําบลปากแตระ มี ๖ หมู่บ้าน
        ๕. ตําบลระวะ มี ๗ หมู่บ้าน
        ๖. ตําบลบ้านขาว มี ๖ หมู่บ้าน
        ๗. ตําบลตะเครียะ มี ๕ หมู่บ้าน
        ๘. ตําบลแดนสงวน มี ๕ หมู่บ้าน
        ๙. ตําบลบ้านใหม่ มี ๙ หมู่บ้าน
        ๑๐. ตําบลคลองแดน มี ๕ หมู่บ้าน
        ๑๑. ตําบลวัดสน มี ๔ หมู่บ้าน
        ๑๒. ตําบลบ่อตรุ มี ๕ หมู่บ้าน 


แผนที่แสดงเขตการปกครองอำเภอระโนด


ปูชนียบุคคล

 


 


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
ที่อยู่
จังหวัด
สงขลา


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

เล่าเรื่อง...เมืองระโนด. (2560). สืบค้น 13 ส.ค. 64, จาก https://www.hatyaifocus.com/บทความ/563-เรื่องราวหาดใหญ่-เล่าเรื่อง...เมืองระโนด/
วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี. (2564). อำเภอระโนด. สืบค้น 13 ส.ค. 64, จาก https://th.wikipedia.org/wikiอำเภอระโนด


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2025