วัดดีหลวงใน ตั้งอยู่ที่ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๒๒๐ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ปี และได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ (ช่วงรัชกาลที่ ๔-๕) เดิมชื่อ “วัดดีหลวง” ต่อมาในท้องถิ่นเดียวกันนั้นก็มีการสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งคือ “วัดดีหลวงนอก” ตั้งแต่นั้นมาวัดดีหลวงจึงได้รับชื่อเป็น “วัดดีหลวงใน” แต่ชาวบ้านมักจะเรียกสั้น ๆ ว่า “วัดใน” วัดดีหลวงในเป็นวัดที่มีความร่มรื่นและเงียบสงบแม้ว่าจะอยู่ติดถนนใหญ่ก็ตาม ภายในวัดมีพระอุโบสถที่มีรูปแบบศิลปกรรมแบบผสมผสานไทย-จีน โดยจะกับพบร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาบนคาบสมุทรสทิงพระมาตั้งแต่สมัยอยุธยา สังเกตได้จากวัดวาอารามที่เรียงรายอยู่ตลอด ๒ ข้างทางถนนสายสงขลา-ระโนด ดังเช่น วัดดีหลวงใน และวัดอื่น ๆ อีกมากมาย วัดดีหลวงใน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๐๐ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดดีหลวงในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๒๘ วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๒๘ หน้า ๔๔๙๖ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๒ ไร่ ๑ งาน ๒ ตารางว
พระอุโบสถ
อุโบสถวัดดีหลวงในเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ตามแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่สืบทอดต่อกันมา โดยยึดแนวช่างหลวงแต่ปรับบางส่วนในเข้ากับรูปแบบท้องถิ่น โครงสร้างอุโบสถก่อด้วยอิฐถือปูน ลักษณะเป็นอุโบสถโถงสามารถเดินได้รอบ บริเวณหน้าบันตกแต่งด้วยลายปูนปั้นรูปเทวดาประทับนั่งในวิมาน
พระอุโบสถของวัดดีหลวงใน ตั้งอยู่ในเขตกำแพงแก้ว หันหน้าทางทิศตะวันออก ผังพระอุโบสถแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือระเบียงด้านนอกและส่วนภายในสำหรับประกอบสังฆกรรม มีบันไดขึ้นเฉพาะด้านหน้า ตรงส่วนฐานทำเป็นบัวคว่ำบัวหงาย ตัวอาคารทำเป็นช่องเปิดเป็นวงโค้งตามแนวเสาพาไล
หน้าบันด้านหน้าทำเป็นลวดลายปูนปั้นเรื่องพระเวสสันดรชาดก โดยประธานภาพเป็นรูปฤาษีซึ่งเป็นพระเวสสันดรประทับนั่งในปราสาทเหนือปราสาทขึ้นไปเป็นภาพของรามสูรกับนางมณีเมขลา เบื้องขวาพระเวสสันดร เป็นรูปนางมัทรีหาบผลไม้และมีเสือขวางอยู่ เบื้องซ้ายเป็นรูปชูชก กัณหา ชาลีและชายแก่หัวล้านนุ่งผ้าขาวม้าขวางทางอยู่ พื้นหลังประดับด้วยลวดลายเครือเถาพรรณพฤกษาดอกพุดตาน และมักกะลีผลโดยมีเทวดาแย่งชิงเก็บมักกะลีผล ซึ่งเป็นพืชที่อยู่ในป่าหิมพานต์
หน้าบันทิศตะวันตกของอุโบสถ มีลักษณะอย่างเดียวกันกับด้านหน้า แต่แตกต่างกันที่เรื่องราว รูปทรงประธานภาพซึ่งเป็นเทวดาทรงวัว ๓ เศียร ซึ่งหมายถึงพระอิศวรทรงโค ส่วนด้านล่างเป็นภาพคนและสัตว์ เช่น ลิง กวาง พื้นหลังของภาพเป็นลายเครือเถาพรรณพฤกษาลายดอกพุดตาน มีลิงและกระรอกไต่อยู่ตามเถาของพรรณพฤกษา ทำให้ลวดลายดูมีชีวิตชีวามากขึ้น เครื่องลำยองพระอุโบสถประดับด้วยช่อฟ้า หางหงส์ ใบระกา จุดเด่นพิเศษของพระอุโบสถวัดดีหลวงในที่ไม่เหมือนกับวัดอื่น ๆ คือหางหงษ์ตรงส่วนหลังคาปีกนก ทำเป็นรูป ช้าง ม้า ฤาษี และยักษ์ ซึ่งต่างจากพระอุโบสถทั่ว ๆ ไป
หางหงษ์ตรงส่วนหลังคาปีกนกทำเป็นรูปช้าง
หางหงษ์ตรงส่วนหลังคาปีกนกทำเป็นรูปม้า
หางหงษ์ตรงส่วนหลังคาปีกนกทำเป็นรูปฤษี
หางหงษ์ตรงส่วนหลังคาปีกนกทำเป็นรูปยักษ์
ใบเสมาปูนปั้นประดับด้วยกระจกสีทุกอัน และอยู่ภายในซุ้มเสมา ยกเว้นอันเดียวที่ไม่มีซุ้มเสมา อยู่ด้านหลังพระอุโบสถ ด้านข้างใบเสมาเป็นลายปูนปั้นคนแบกใบเสมาทั้ง ๒ ข้าง โดยแต่ละอันจะปั้นไม่เหมือนกัน
พระประธานในพระอุโบสถปางสมาธิ สีทองเหลืองอร่มาม มีพระอัครสาวก ๒ องค์ประดิษฐานบนฐานชุกชี ลักษณะของพระประธานช่างผู้ปั้นปั้นให้ติดกับผนังของอุโบสถ
ด้านหน้าพระอุโบสถตรงประตูมีลายปูนปั้นคนนั่งพนมมืออยู่ริมประตูทั้งสองข้าง ตรงกลางระหว่าประตูเป็นพระพุทธรูปยืน
รูปปูนปูั้นชาวบ้านนั่งพนมมือประตูทางเข้าพระอุโบสถด้านซ้าย
รูปปูนปูั้นชาวบ้านนั่งพนมมือประตูทางเข้าพระอุโบสถด้านขวา
ศาลาการเปรียญทรงไทยภาคใต้
ศาลาการเปรียญทรงไทยภาคใต้ เป็นอาคารโถงก่ออิฐฉาบปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้อง หลังคาทำทรงจั่วถากจันทันให้แอ่นแบบเดียวกับเรือนไทย มีประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ที่แตกต่างจากศาลาการเปรียญตามวัดต่าง ๆ คือ ช่อฟ้าจะเป็นรูปต่าง ๆ เช่น ช่อฟ้าทำเป็นปูนปั้นรูปช้าง หางหงส์เป็นรูปหัวพญานาค ส่วนหางหงษ์ตรงหลังคาปีกนกเป็นปูนปั้นรูป ชายนุ่งโจงกระเบนยืนถือไม้เท้ารูปหัวคนคาดว่าน่าจะเป็นพญายม หางหงษ์ตรงหลังคาปีกนกเป็นปูนปั้นรูปชายใส่หมวกคล้ายตำรวจถือไม้เท้า หางหงษ์ตรงหลังคาปีกนกเป็นปูนปั้นรูปฤาษีถือไม้เท้าอย่างหนังตะลุง
ช่อฟ้าทำเป็นปูนปั้นรูปช้าง
หางหงส์เป็นรูปปั้นหัวพญานาค
ส่วนหางหงษ์ตรงหลังคาปีกนกเป็นปูนปั้นรูปชายนุ่งโจงกระเบนยืนถือไม้เท้ารูปหัวคน (น่าจะเป็นพญายม)
หางหงษ์ตรงหลังคาปีกนกเป็นปูนปั้นรูปชายใส่หมวกคล้ายตำรวจถือไม้เท้า
หางหงษ์ตรงหลังคาปีกนกเป็นปูนปั้นรูปฤาษีถือไม้เท้า
หน้าบันทิศตะวันตกของศาลาการเปรียญ ประธานภาพเป็นรูปอาลัมพายน์พราหมณ์ว่ามนต์แล้วจับนางภูริทัตต์ ทางด้านซ้ายและทางด้านขวาของอุโบสถเป็นรูปคน ช่วงกลางด้านล่างเป็นรูปวัวชนและคน ส่วนฉากหลังเป็นลายพรรณพฤกษารางเถาและดอกพุดตานจัดวางเป็นลายขนมเปียกปูน
หน้าบันทิศตะวันออกของศาลาการเปรียญ มีลายปูนปั้นเป็นเรื่องพระเวสสันดรชาดก ประกอบด้วยลายพรรณพฤกษา รูปขอพระเวสสันดรและกัณหา ชาลีอยู่ในปราสาทกำลังให้ทานกับชูชก ทางขวาสุดของหน้าบันคือพรานเจตบุตร ส่วนล่างสุดของหน้าบันเป็นสรรพสัตว์ และฉากหลังประกอบด้วยลายพรรณพฤกษารางเถา
ภายในศาลาการเปรียญมีลักษณะจำเพาะที่หาชมได้ยากคือตรงหัวเสาจะทำเป็นไม้แกะสลักเป็นรูปยักษ์สีเขียว
ส่วนอีกเสาแกะสลักเป็นทำเป็นรูปหน้าเทวดาสีขาว
พรทิพย์ พันธุโกวิท, ศิริพร สังข์หิรัญ และธนิสรา พุ่มผะกา. (2555). ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานในจังหวัด
สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล). พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส.
เพจหลงเสน่ห์อาคารเก่า. (2561). สืบค้นวันที่ 19 มิ.ย. 61, จาก https://www.facebook.com/หลงเสน่ห์อาคารเก่า-351361438298141/