เขาคูหา (Khoa Kuha)
 
Back    18/04/2018, 15:14    14,110  

หมวดหมู่

จังหวัด


ประวัติความเป็นมา

       เขาคูหาหรือถ้ำคูหาเป็นถ้ำธรรมชาติที่มีการตัดแปลงโดยฝีมือมนุษย์ มี ๒ ถ้ำ จุดประสงค์เพื่อใช้เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ตัวถ้ำวางตัวตามแนวทิศเหนือหันหน้าไปทางทิศตะวันออกทั้ง ๒ ถ้ำ ปากถ้ำทั้ง ๒ ห่างกันประมาณ ๕- ถึง ๑๐ เมตร และมีร่องรอยของอาคารที่ใช้ประกอบพิธีกรรมบริเวณลานหน้าถ้ำ ถ้ำเขาคูหาปรากฏอยู่ในเอกสารทางประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาคือกัลปนาเมืองพัทลุงความว่า "ในที่วัดหลวงนั้นมีภูเขา ๔ ลูก ในที่วัดหลวง เขาหนึ่งชื่ออภิพัชสิง เขาหนึ่งชื่อเขาพนังตุ๊กแกอยู่ข้างทักษิณ เขาหนึ่งชื่อเขาคูหาอยู่ข้างอุดร เขาหนึ่งเล่าชื่อเขาผีอยู่ข้างพายัพ" ซึ่งข้อความนี้อยู่ในสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้แล้วเขาคูหายังปรากฏนามว่า "เขาโคหา" ในแผนที่กัลปนาในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๔๘-๒๑๖๓) ชื่อแผนที่เมืองนครศรีธรรมราช จ.ศ.๙๗๗ (พ.ศ.๒๑๕๘) เล่ม ๓ ปัจจุบันเก็บอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี แผนที่นี้แสดงถึงวัดและสถานที่สำคัญต่าง ๆ ประมาณ ๑๕๐ แห่ง ตั้งที่พื้นที่เขตอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีฯ จนถึงอำเภอเมือง จังหวดัสงขลา ในปัจจุบันแผนที่นี้แสดงรูปภาพเขาคูหา ซึ่งอยู่ใกล้กับพังพระและติดกับนาพระเดิม ๑๕ ท่อน และนาพระทัมสาลา ๑๑ ท่อน โดยมีคลองชายเลนไหลมาทางเขาคูหาห่างจากวัดพะโค๊ะไปทางทิศเหนือราว ๘๐๐ เมตร จะพบกับสถานที่สำคัญอีกแห่งของประวัติศาสตร์เมืองสงขลานั่นคือศาสนสถานโบราณเก่าแก่ อายุกว่า ๑,๐๐๐ ปี สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ช่วงอาณาจักรศรีวิชัย และบริเวณศาสนสถานแห่งนี้ถือได้ว่าเป็นสถานที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดสงขลา ศาสนสถานแห่งนี้คือถ้ำคูหา หรือเขาคูหา ส่วนความเก่าแก่ที่ว่านี้สันนิษฐานได้จากหลักฐานที่พบตรงบริเวณเนินเขาคูหา ที่มีลักษณะเป็นเนินเขาลาดชันบริเวณทางเข้าของถ้ำที่ ๑ เป็นรูปโค้งสูงประมาณ ๒.๕ เมตร ขนาดของถ้ำกว้างประมาณ ๓.๕ เมตร ลึกประมาณ ๔.๕ เมตร ภายในถ้ำมีการสกัดหินจนเรียบ พื้นที่ภายในถ้ำบรรจุคนได้ถึง ๒๐ คน และบนลานหน้าถ้ำบรรจุคนได้ไม่น้อยกว่า ๕๐ คน ส่วนถ้ำที่ ๒ มีลักษณะและสัดส่วนคล้ายคลึงกับถ้ำที่ ๑ ถ้ำคูหาเป็นศาสนสถานเพื่อประกอบพิธีกรรมพุทธศาสนามหายานและศาสนาฮินดู เหมือนกับถ้ำอะชันตะและเอลโลรา ในประเทศอินเดีย ซึ่งขุดเจาะภูเขาเข้าไปสลักหินและเขียนภาพเรื่องราวทางศาสนา ซึ่งไม่เคยพบถ้ำลักษณะนี้ในประเทศไทย สัณนิษฐานได้ว่าถ้ำคูหามีอายุระหว่างพุทธศตวรรษ ที่ ๑๒-๑๕ เป็นชุมชนโบราณสมัยประวัติศาสตร์ของภาคใต้ เขาคูหาเป็นเขาหินปูนภายในถ้ำสลักอักษร อะ อุ มะ หรือโอม อันหมายถึงพระศิวะ พระพรหม และพระวิษณุ (พระนารายณ์) ซึ่งแสดงว่าพื้นที่ของคาบสมุทรสทิ้งพระของจังหวัดสงขลาเป็นสถานที่รุ่งเรืองทางศาสนาฮินดูมาก่อน จากการสำรวจตามโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดีและโบราณสถานภาคใต้ ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ของกรมศิลปากร ได้พบหลักฐานสำคัญว่าบริเวณนี้เคยเป็นชุมชนโบราณเริ่มแรกสมัยประวัติศาสตร์ที่สืบเนื่องต่อมาจนถึงสมัยอยุธยา บริเวณแหล่งโบราณคดีแห่งนี้เคยปรากฏชื่อเอกสารหลักฐานเอกสารโบราณคดีแผนที่ภาพสมัยอยุธยาแสดงชื่อวัดต่าง ๆ ที่ขึ้นต่อวัดพะโคะ กัลปนาเมืองพัทลุงและเพลาเมืองสทิงพระ ได้กล่าวถึงชื่อภูเขาโคหาย (โคหาหรือคูหา) จากหลักฐานที่ปรากฏในอาณาบริเวณนี้แสดงให้เห็นว่าในสมัยเริ่มประวัติศาสตร์ กลุ่มชนบนภูเขาคูหาได้รับอิทธิพลสมัยประวัติศาสตร์จากภายนอก และได้สร้างศาสนสถานตามคติความเชื่อในศาสนาฮินดูขึ้นบริเวณเขาคูหา และน่าจะเป็นศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย หรือการนับถือพระศิวะเป็นใหญ่ ตามหลักฐานที่ปรากฏ คือศิวลึงค์และแท่นฐานเสียบศิวลึงค์ และพระอคัตยะ (ปัจจุบันได้เคลื่อนย้ายไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา) ซึ่งเป็นเทพเจ้าปางหนึ่งของพระศิวะที่เสวยพระชาติเป็นพระเทพครู เป็นเทพเจ้าที่นำอารยธรรมต่าง ๆ มาสู่อินเดียใต้ตามลัทธิไศวนิกาย ถ้ำคูหาถือเป็นหลักฐานสำคัญทางศาสนสถานที่เก่าแก่ที่สุดของการตั้งชุมชนแรกเริ่มประวัติศาสตร์บนคาบสมุทรสทิงพระที่เหลือหลักฐานถึงปัจจุบัน ตั้งอยู่ที่บ้านชุมพล ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา

ลักษณะทั่วไป

      ชุมชนโบราณเขาคูหามีสภาพภูมิประเทศเป็นเนินเขาที่เกิดจากการทับถมของหินกรวดมนและหินทราย มีสภาพเป็นเนินเขาลูกโดดเตี้ย ๆ เป็นที่ราบลุ่มนอกสันทราย มีอาณาบริเวณประมาณ ๒ ตารางกิโลเมตร ได้แก่ เขาพะโคะ เขาผี และเขาน้อย เนินเขามีความสูงไม่เกิน ๒๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล พื้นที่โดยรอบเป็นทุ่งนาและป่าละเมาะอยู่ห่างจากแนวสันทรายประมาณ ๑ กิโลเมตร

หลักฐานที่พบ

       บริเวณเนินเขาคูหามีลักษณะเป็นเนินเขาลาดชัน มีถ้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น ๒ ถ้ำ ปากถ้ำทั้ง ๒ อยู่ห่างกันประมาณ ๑๐ เมตร ถ้ำสูงจากพื้นดินประมาณ ๑-๒ เมตร มีลานหน้าถ้ำ ทางเข้าของถ้ำแรกเป็นรูปโค้งสูงประมาณ ๒.๕ เมตร ขนาดของถ้ำกว้างประมาณ ๓.๕ เมตร ลึกประมาณ ๔.๕ เมตร ภายในถ้ำมีการสกัดหินจนเรียบ พื้นที่ภายในถ้ำบรรจุคนได้ประมาณ ๒๐ คน และบนลานหน้าถ้ำบรรจุคนได้ไม่น้อยกว่า ๕๐ คน บริเวณหน้าถ้ำที่ ๑ พบแผ่นหินโยนีสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่เคยประดิษฐานศิวลึงค์ แต่ปัจจุบันได้เคลื่อนย้ายไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา ถ้ำที่ ๒ มีลักษณะและสัดส่วนคล้ายคลึงถ้ำที่ ๑ ชุมชนโบราณได้ใช้ถ้ำคูหาเป็นศาสนสถานเพื่อประกอบพิธีกรรมพุทธศาสนามหายานและศาสนาฮินดู เหมือนกับถ้ำอะชันตะและเอลโลรา ในประเทศอินเดีย ซึ่งขุดเจาะภูเขาเข้าไปสลักหินและเขียนภาพเรื่องราวทางศาสนา ซึ่งไม่เคยพบถ้ำลักษณะนี้ในประเทศไทย สันนิษฐานได้ว่าถ้ำคูหานี้มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ เป็นชุมชนโบราณสมัยประวัติศาสตร์ที่สำคัญของภาคใต้ 

      ในบรรดาถ้ำที่เป็นศาสนสถานระยะแรกของไทย มีเพียงเขาคูหาเท่านั้น ที่เป็นถ้ำในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔  ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือเป็นถ้ำที่มนุษย์ขุดเข้าไป โดยที่เขาคูหามีถ้ำอยู่ ๒ ถ้ำใช้สำหรับในศาสนพิธีเช่นเดียวกับถ้ำศาสนสถานในประเทศอินเดีย ลักษณะภายนอกของถ้ำคูหามีร่องรอยอาคารก่อด้วยอิฐซึ่งแต่เดิมเป็นอาคารเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้อง และยังมีฐานโยนีและศิวลึงค์ตั้งอยู่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ กรมศิลปากรได้ทำการขุดค้นทางโบราณคดี และได้พบส่วนกระเบื้องมุงหลังคา เศษภาชนะดินเผา และชิ้นส่วนของประติมากรรมรูปพระวิษณุและศิวลึงค์

      ภายในถ้ำทั้ง ๒ นั้นจะมีลักษณะคล้ายกันคือผนังด้านในมีการสกัดหินให้เหลือเป็นแท่นเพื่อประดิษฐานเทวรูป  และมีการเซาะผนังด้านข้างให้เป็นร่องสำหรับระบายน้ำที่เกิดจากการสรงน้ำเทวรูป ร่องนี้ต่อออกมายังด้านนอกถ้ำในลักษณะของท่อโสมสูตร และบนผนังด้านในสุดของถ้ำมีร่องร่อยการเขียนสีแดง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคำว่าโอม ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่พบแหล่งเดียวในประเทศไทย

ทางด้านทิศตะวันออกของเขาคูหาจะมีสระน้ำเรียกว่า "พังพระ" ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม


ความสำคัญ

      เขาคูหาเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของภาคใต้ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมตามคติศาสนาฮินดู โดยมีลักษณะพิเศษ คือการขุดภูเขาเข้าไปเป็นโพรงถ้ำและขุดเจาะทำเป็นแท่นบูชาภายใน บนผนังถ้ำมีการเขียนสีภาพสัญลักษณ์ทางศาสนาไว้ภายใน จากการดำเนินงารทางโบราณคดีได้บโบราณวัตถุ เนื่องในศาสนาและโบราณวัตถุเป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ศิวลึงค์ ฐานโยนี ส่วนลำตัวของปติมากรรมรูปพระวิษณู ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยพื้นเมือง ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีน ฯลฯ จึงสันนิษฐานว่าโบราณสถานเขาคูหาแห่งนี้น่าจะเป็นศาสนสถานหรือเทวลัยในการประกอบพิธีกรรมของศาสนาฮินดูเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงปรับเปลี่ยนมาเป็นพุทธสถาน 

        เขาคูหาเป็นโบราณสถานเนื่องในศาสนาฮินดูที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของภาคใต้ ซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย โดยเฉพาะการขุดสกัดภูเขาเข้าไปเป็นถ้ำทั้่ง ๒ ถ้ำ ประกอบด้วยถ้ำทางทิศเหนือและถ้ำทิศใต้ ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ที่สำคัญที่พบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย 


ปูชนียวัตถุ

แผ่นหินโยนีสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่และฐานศิวลึงค์

รูปแบบและความเชื่อเกี่ยวกับศิวลึงค์

     ศิวลึงค์เป็นรูปเคารพที่เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกายมีลักษณะเป็นรูปอวัยวะเพศชาย ได้รับอิทธิพลจากอินเดียสมัยราชวงศ์คุปตะ พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ แกะสลักจากหินที่มีขนาดใหญ่ ในยุคแรกจะมีลักษณะเหมือนจริง ต่อมานิยมทำให้มีส่วนประกอบ ๓ ส่วน คือส่วนล่างเป็นรูปสี่เหลี่ยม เรียกว่าพรหมภาค หมายถึงพระพรหม ส่วนกลางเป็นทรงแปดเหลี่ยม เรียกว่าวิษณุภาค หมายถึงพระวิษณุ ส่วนบนเป็นรูปทรงกลมเรียกว่ารุทรภาค หมายถึงพระศิวะ ประดิษฐานอยู่บนฐานโยนีสัญลักษณ์เพศหญิง มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมมีร่องตรงกลาง เมื่อเวลาที่พราหมณ์ทำพิธีอภิเษกสรงน้ำศิวลึงค์ น้ำจะไหลลงร่องบนฐานโยนีออกไปตามรางยาว กลายเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ และตามคติความเชื่อแล้วการที่ศิวลึงค์ได้อยู่คู่กับโยนี จะก่อให้เกิดพลังแห่งการสร้างสรรค์และความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
เขาคูหา (Khoa Kuha)
ที่อยู่
ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
จังหวัด
สงขลา
ละติจูด
7.6052776
ลองจิจูด
100.3826341



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น. (2554). ถ้ำขุด (เขาคูหา). สืบค้นวันที่ 19 เม.ย. 61, จาก http://info.dla.go.th/public/travel.do?cmd=goDetail&id=

        613067&random=1506991265854

ชุมชนโบราณเขาคูหา. (2556). สืบค้นวันที่ 19 เม.ย. 61, จาก http://www.prapayneethai.com/ชุมชนโบราณเขาคูหา

พรทิพย์ พันธุโกวิท, ศิริพร สังข์หิรัญ และธนิสรา พุ่มผะกา. (2555). ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานในจังหวัด

         สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล). พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ :  บางกอกอินเฮ้าส.  

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา. (ม.ป.ป.). สืบค้นวันที่ 19 เม.ย. 61, จาก https://www.touronthai.com/article/3466

สงขลา..มีมาก่อนยุคประวัติศาสตร์. (2560). สืบค้นวันที่ 19 เม.ย. 61, จาก https://www.hatyaifocus.com/บทความ/366-บอกเล่าเรื่องราว-สงขลา..มีมาก่อนยุคประวัติศาสตร์/


ข้อมูลเพิ่มเติม

      ชุมชนโบราณเขาคูหา อยู่ห่างจากทางหลวง หมายเลข ๔๐๘๓ ระโนด-สงขลา ไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๑ กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดสงขลาไปทางทิศเหนือ ๔๙ กิโลเมตร เดินทางโดยรถประจำทางและรถส่วนตัว


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024