วัดท้ายยอ (Wat Thaiyo)
 
Back    27/12/2017, 09:46    15,003  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา

      วัดท้ายยอ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๙ บ้านท้ายสระ หมู่ที่ ๘ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นหนึ่งในวัดเก่าแก่ของจังหวัดสงขลาสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายต้น ๆ กรุงธนบุรี (ประมาณ พ.ศ. ๒๓๑๑) ชื่อเดิมคือ "วัดคงคาวดี" แต่ชาวบ้านมักจะเรียกกันติดปากว่า "วัดท้ายเสาะ" ตามชื่อของหมู่บ้านเก่าแก่ของเกาะยอต่อมาชาวบ้านได้เรียกวัดแห่งนี้ว่า "วัดท้ายยอ" ตามชื่อของเกาะวัดท้ายยอมีโบราณวัตถุที่ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมอันงดงาม อาทิ กุฏิเจ้าอาวาสที่เรียกว่า "กุฏิแบบเรือนไทยปั้นหยา" ซึ่งอายุประมาณ ๒๐๐ ปี หรือสร้างขึ้นในช่วงรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วยเรือน ๓ หลัง สร้างด้วยสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นภาคใต้ผสมผสานอิทธิพลจีน กุฏิแห่งนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะคือเสาเรือนของกุฏิจะไม่ฝังลงในดิน แต่จะตั้งอยู่บนตีนเสาซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในการสร้างบ้านเรือนในภาคใต้ อีกทั้งการมุงหลังคาด้วยกระเบื้องเกาะยอและกระเบื้องลอนแบบเก่ามีจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ คือเสาเรือนกุฏิจะไม่ฝังลงในดินแต่จะตั้งอยู่บนตีนเสา ซึ่งเป็นที่รองรับเสาอันเป็นลักษณะเฉพาะของบ้านชาวไทยในภาคใต้เท่านั้นนับว่างดงามและหาดูยากแล้วในสมัยปัจจุบันนี้ สำหรับประวัติการสร้างวัดท้ายยอนั้นไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าสร้างในสมัยใด แต่คาดว่าน่าจะเป็นวัดแรกของเกาะยอต่อได้รับบูรณะปฏิสังขรณ์ในปี พ.ศ. ๒๓๑๑ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น นอกจากนั้นแล้ววัดท้ายยอยังมีโบราณสถานและโบราณวัตถุควรค่าแก่การศึกษาและเรียนรู้ อาทิ บ่อน้ำโบราณ โรงเรือพระ สถูป หอระฆัง ตลอดถึงร่องรอยของท่าเรือโบราณ ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของชาวเกาะยอ ด้านหลังของวัดท้ายยอเป็นที่ตั้งของเขาพิหารหรือเขาวิหาร ซึ่งประดิษฐานเจดีย์ทรงลังกาที่งดงามควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้สืบไป สำหรับกุฏิแบบเรือนไทยทรงปั้นหยาที่มีอายุกว่า ๒๐๐ ปีนั้น รูปแบบการสร้างตามสถาปัตยกรรมของภาคใต้ที่ถึงพร้อมด้วยมงคลสูตร และมาตราสูตรคือด้านหน้าหันออกสู่ทะเลสาบสงขลามีลานกว้างส่วนด้านหลังเป็นเขาเรียกว่าเขาเพหาร ซึ่งหมายถึงวิหารนั่นเอง ลักษณะเด่นของกุฏิเป็นเรือนหมู่ ๓ หลัง เรียกตามลักษณะมงคลสูตรว่าแบบพ่อแม่พาลูก แต่หากเป็นแบบ ๒ หลังเรียกว่าดาวเคียงเดือน สมาคมสถาปนิกสยามสันนิฐานว่าน่าจะสร้างในช่วงรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เนื่องจากพบว่ามีการใช้วัสดุกระเบื้องที่ขึ้นชื่อของเกาะยอซึ่งทำขึ้นโดยชาวจีน และเป็นนิยมแพร่หลายในสมัยนั้น โดยเฉพาะอาคารบ้านเรือนหรือที่อยู่อาศัยของผู้มีฐานะ หรือมีอำนาจบารมี เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือกุฏิเจ้าอาวาส เพราะแต่เดิมในชนบทผู้นำท้องถิ่นด้านการปกครองดูแลลูกบ้านที่สำคัญก็คือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส่วนด้านบรรพชิตในวัดก็คือเจ้าอาวาส เพราะฉะนั้นการสร้างบ้านหรือกุฏิ จึงสร้างให้เฉพาะคนกลุ่มนี้ คนธรรมดาสามัญไม่นิยมสร้างบ้านแบบนี้กัน คำว่า "เรือนสูตร" หรือ "สูตรเรือน" และ "มงคลสูตร" ผู้รู้ได้อธิบายไว้ว่าคนโบราณเชื่อว่าในการสร้างอาคารบ้านเรือน มี ๒ สาย คือสายสัมมาทิฐิ เช่น การสร้างบ้านที่อยู่อาศัยสร้างศาลา สร้างกุฏิ เป็นต้น ซึ่งจะออกหน้าจั่วก่อนหมายถึงจะเริ่มด้วยการสร้างจั่วก่อน ส่วนอื่นจึงน่าจะสอดรับกับภาษิตที่ว่ารักดีหามจั่ว  สายมิจฉาทิฐิ  เช่น  การสร้างโรงเรือน  เตาเผาสุรา  โรงบ่อนการพนัน จะออกเสาก่อนคือการเริ่มต้นด้วยการขุดหลุมลงเสาก่อน ซึ่งสอดรับกับภาษิตที่ว่ารักชั่วหามเสาด้วยเชื่อว่าจะมีความหนักแน่นในกิจการ นอกจากนั้นในทางมงคลสูตรยังเกี่ยวข้องกับการกำหนดวัน เดือน ปี และเวลาในการหาฤกษ์ยามที่เป็นมงคลและความเป็นสิริมงคลอื่น ๆ เช่น รวย มิ่ง เจริญ มั่งคั่ง มาเป็นหลักในการยกเสา  การสวดมนตร์ การไหว้พระภูมิเจ้าที่  การหันหน้าบ้านไปยังทิศมงคล การสร้างบ้านให้อยู่ในลักขณา "ลอยหวัน" ไม่สร้างเป็น "ขวางหวัน" รัศมีขององค์พระทรงศร(แสงอาทิตย์)เชื่อว่าเป็นมงคล คำว่าขวางก็ให้ความหมายในทาง "ขัดขวาง" ฟังแล้วก็ไม่เป็นมงคล  ในด้านมงคลสูตรได้กำหนดแม้แต่การเลือกไม้หรือวัสดุมาใช้ เช่น ไม้กอมาสร้างเป็นเสาบ้าน ความหมายก็คือจะแตกเป็นกอกอออกลูกออกหลานและให้เกิดสิ่งดี ๆ สู่บ้านเรือน และจะใช้ไม้นาคบุกทำเป็นบันไดด้วยความเชื่อถือเกี่ยวกับบันไดนาคที่มีเสียงคำว่านาคที่พ้องเสียงกัน และใช้ไม้กลิ่นหอมชื่นใจเปรียบเสมือนการต้อนรับเข้าสู่ตัวบ้านด้วยความชุ่มชื่นใจ สำหรับกระเบื้องดินเผาไม่ว่าจะเป็นอิฐเผาหรือกระเบื้องหากนำมาสร้างกุฏิแล้วช่างจะกำหนดให้คุณภาพดีเลิศ และกระเบื้องที่นำมาใช้มุงหลังคาใช้ก็ของเกาะยอเอง เพราะว่ามีชื่อเสียงและให้รับความนิยมมาก จนมีคำกล่าวยืนยันว่า "ทิ้งทำหม้อ เกาะยอทำอ่าง หัวเขาดักโพงพาง บ่อยางทำเคย แม่เตยสานสาด" เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ มีการบูรณะพระวิหารพระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎ์ธานีพระองค์ได้ทรงกำหนดให้ใช้กระเบื้องของเกาะยอในการมุงหลังคาพระวิหารพระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎ์ธานี ที่กล่าวมานี้ล้วนแต่กำหนดการเป็นมงคลสูตร คือสูตรแห่งการเกิดมงคลในการสร้างอาคารบ้านเรือนอันจะส่งผลดี หรือเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของผู้อยู่อาศัยทั้งสิ้น      

       วัดท้ายยอ  ตั้งอยู่ที่บ้านแหลมสน  ตำบลหัวเขา  อำเภอสิงหนคร  มีปูชนีย์วัตถุที่สำคัญของวัด   ได้แก่พระประธานในศาลาการเปรียญชาวบ้านเรียกว่า "พระหยก (พระศิลาขาว)" เพราะทำจากศิลาขาวเป็นพระปางมารวิชัยหน้าตักกว้าง ๒๔ นิ้วสูง ๓๕ นิ้ว วัดท้ายยอ เป็นวัดสำคัญในจังหวัดสงขลา มีลักษณะโดดเด่น เป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่มีคุณค่าทางพระพุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และโบราณคดี  กรมศิลปากรได้จดทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้แล้ว ๒ แห่ง คือ 

๑. เจดีย์เขาเพหาร เป็นเจดีย์ทรงลังกาหรือทรงระฆังที่สวยงามอายุประมาณ ๒๔๐ ปี มีบันไดสำหรับขึ้นลงจำนวน  ๑๕๐ ขั้น 

๒. กุฎิเรือนไทย เป็นกุฎิหมู่ ๓ หลัง เป็นกุฏิเจ้าอาวาส ๑ หลัง สำหรับพระภิกษุ ๒ หลัง สร้างประมาณ  พ.ศ. ๒๓๕๐  อายุราว  ๒๐๐  ปี กุฎินี้เป็นที่ยอมรับว่าและถือว่าเป็นต้น         แบบของสถาปัตยกรรมเรือนไทยที่ทรงคุณค่า ซึ่งจากที่ได้รับคำชมและรางวัลดังนี้

     ๒.๑ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (พระอนุชารัชกาลที่ ๕) ได้ทรงเสด็จมาเยี่ยมเยียนราษฎรตำบลเกาะยอและเยี่ยมชมวัดและกุฎินี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗  

    ๒.๒ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า องค์ที่ ๑๓ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ได้เสด็จมาจำพรรษาที่วัดนี้ ๑ พรรษา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๕ และได้ประทานพระรูปจำลองของพระองค์ไว้ ๑ องค์ 

     ๒.๓ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายกได้ประทานเกีรยติบัติและเสาเสมาธรรมจักรให้แก่เจ้าอาวาสในฐานะรักษากุฎิเรือนไทยดีเด่น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒

     ๒.๔ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานโล่สิรินทรให้แก่เจ้าอาวาสในฐานะรักษากุฎิเรือนไทยดีเด่น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕

     ๒.๕ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา ได้ให้เกีรยติยกย่องเป็นต้นแบบในการสร้างหอประชุมเฉลิมพระเกีรยติเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑

     ๒.๖ นักศึกษานักเรียนและประชาชนทั่วไป ได้ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางภูมิปัญญาไทยด้านสถปัตยกรรม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดสงขลาอีกด้วย

     ๒.๗ ตำบลเกาะยอ ได้ยกย่องกุฎิเรือนไทยเป็นหนึ่งในคำขวัญของตำบลเกาะยอคือ "สมเด็จเจ้าเป็นศรี ผ้าทอดีล้ำค่า นานาผลไม้หวาน ถิ่นอาหารทะเล เสน่ห์สะพานติณฯ สถาบันทักษิณระบือนาม งดงามเรือนไทย พระนอนใหญ่วัดแหมพ้อ"

     ๒.๘ การส่งเสริมประเพณีลากพระ วัดท้ายยอได้ส่งเรือพระและขบวนแห่เข้าประกวดในระดับจังหวัด ผลปรากฎว่าได้ลำดับที่ ๑ และ ๒ ติดต่อกันมา ๕ ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๙-ถึง ๒๕๕๓

                


ความสำคัญ

      "เกาะยอ"  เกาะเล็ก ๆ เป็นหนึ่งในเส้นทางยาตราของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (พระปิยมหาราช (ร. ๕) ) ชุมชนมีวิถีชวิตและร่องรอยของอารยธรรม ที่สืบทอดมาหลายยุคหลายสมัยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏหลักฐานเป็นวัดวาอารามเก่าแก่สำคัญหลาย ๆ แห่ง เกาะยอตั้งอยู่กลางทะเลสาบสงขลา (ตอนล่าง)  ซึ่งเป็นทะเลสาบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยมีสะพานติณสูลานนท์ ๒ ช่วง เชื่อมเกาะยอกับอำเภอเมือง และอำเภอสิงหนคร สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาไม่สูงนักและมีที่ราบกั้นระหว่างภูเขากับทะเล มีพื้นที่เป็นพื้นดินประมาณ ๑๕ ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ ๔,๐๐๐ คน มีฐานะเป็นตำบลอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ได้จัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยอ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙  ในตำบลเกาะยอมีถนนสายหนึ่งที่เรียกกันว่า “ถนนสายวัฒนธรรมตำบลเกาะยอ” ซึ่งเกิดจากความต้องการร่วมกันของคนเกาะยอและคนรักเกาะยอที่จะร่วมมือกันสร้างสรรค์ทำเกาะยอ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรัักษ์ที่เด่นในทางธรรมชาติและวัฒนธรรม เพราะวัฒนธรรมที่งดงามได้ผสมผสานอยู่ในวิถีชีวิตของคนเกาะยอมาช้านานตลอดถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเกาะยอเคารพนับถือและเป็นยึดเป็นที่พึ่งทางใจนั้นคือสมเด็จเจ้าเกาะยอเกาะยอมีผ้าทอที่เลื่องชื่อลือนามเป็นผ้าทอมือมีลวดลายที่สวยงามและเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เช่น ลายราชวัตร เกาะยอมีอาหารพื้นเมือง เช่น ข้าวยำใบยอ ยำสาหร่าย ที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบครัน เกาะยอมีงานประเพณีที่หลากหลาย เช่น งานแห่หมฺรับเดือนสิบ งานประเพณีลอยแพ งานประเพณีขึ้นเขากุฏิ เกาะยอมีโบราณสถานและสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยแบบทรงไทยท้องถิ่นที่งดงาม ชาวเกาะยอมีการทำสวนผลไม้แบบผสมผสานผลไม้พื้นเมืองหลากหลายหลากสายพันธุ์ เกาะยอยังได้ชื่อว่าเป็นแหล่งเลี้ยงปลากะพงขาวมากที่สุดและเนื้อปลาอร่อยที่สุดของประเทศ เกาะยอมีสถาบันทักษิณคดีศึกษา ซึ่งเป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์และอารยธรรมของชุมชนภาคใต้ สิ่งเหล่านี้เป็นทุนทางสังคมที่มีคุณค่าเป็นที่มาของคำขวัญประจำตำบลที่ว่า

สมเด็จเจ้าเป็นศรี ผ้าทอดีล้ำค่า นานาผลไม้หวาน ถิ่นอาหารทะเล เสน่ห์สะพานติณต์ สถาบันทักษิณลือนาม” 

     ด้วยความภาคภูมิใจในทุนทางสังคมที่ล้ำค่ำนี้คนเกาะยอ ได้ร่วมตัวกันในนามกลุ่มรักษ์เกาะยอ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยอ โครงการมิตรภาพสู่ท้องถิ่นและศูนย์พัฒนาอาชีพจังหวัดสงขลา “ศรีเกียรติ์พัฒน์” ร่วมกันจัดทำโครงการถนนวัฒนธรรม สายแรกขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาและเรียนรู้เรื่องเกาะยอสืบไป เมื่อครั้งจอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศามุข เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ได้เสด็จเมืองสงขลาในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ ทรงกล่าวถึงชื่อวัดท้ายเสาะที่ตั้งอยู่บนเกาะยอ (ซึ่งน่าจะหมายถึงวัดท้ายยอในปัจจุบัน) สำหรับโบราณสถานโบราณวุตถุที่สำคัญภายในวัดประกอบด้วยเจดีย์บนเขาพิหาร หมู่กุฏิไม้ อุโบสถและหอระฆัง สำหรับเจดีย์บนเขาพิหารแห่งนี้สันนิฐานว่าเดิมคงเป็นที่ตั้งของอุโบสถหลังเก่า ต่อมาในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ได้ย้ายอุโบสถมาสร้างที่เชิงเขาด้านล่างและสร้างเจดีย์ครอบหลวงพ่อดำ ซึ่งเป็นพระประธานของอุโบสถไว้เจดีย์นี้มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังก่ออิฐถือปูนมีลวดลายปูนปั้นประดับ อันเป็นฝีมือช่างท้องถิ่นภาคใต้ และมีทางเข้าสู่คูหาที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทางด้านทิศตะวันออกกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเจดีย์บนยอดพิหารเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐ และต่อมาได้บูรณะซ่อมแซมเจดีย์พร้อมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์รอบองค์เจดีย์ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔-๒๕๔๕ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙  ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบอีกครั้ง 


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

       วัดท้ายยอมีโบราณสถานที่สำคัญ ๆ ประกอบด้วย เจดีย์บนเขาเพหารหรือวิหาร อุโบสถ หมู่กุฏิไม้ กุฏิแบบเรือนไทย บ่อน้ำโบราณและหอระฆัง สำหรับเจดีย์ทรงลังกาที่ประดิษฐานอยู่บนเขาพิหาร สันนิฐานว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ จากหลักฐานบริเวณนี้น่าจะเป็นที่ตั้งของอุโบสถหลังเก่า ซึ่งต่อมาในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ได้ย้ายอุโบสถมาสร้างที่เชิงเขาด้านล่าง (หลังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน) และได้สร้างเจดีย์ครอบ"หลวงพ่อดำ" ซึ่งเป็นพระประธานของอุโบสถเดิมเอาไว้ เจดีย์นี้มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังก่ออิฐถือปูน มีลวดลายปูนปั้นประดับอันเป็นฝีมือช่างท้องถิ่นภาคใต้ และมีทางเข้าสู่คูหาที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทางด้านทิศตะวันออก   

เจดีย์ทรงลังกา

       เจดีย์ทรงลังกาวัดท้ายยอหรือทรงระฆัง อายุประมาณ ๒๔๐ ปี ตั้งอยู่บนเขาเพหาร (วิหาร) น่าจะสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนยอดเขาวิหารตรงบริเวณหลังวัดท้ายยอ ฐานบันไดขึ้นลง ๒  ข้าง สันนิษฐานกันว่าบนยอดเขาแต่เดิมนั้นเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถเก่าต่อมาช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ พระอุโบสถมีสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงได้มีการรื้อถอนอุโบสถและทำการก่อสร้างพระเจดีย์ครอบทับ ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงลังกา ก่อฐานสี่เหลี่ยมขนาดกว้างประมาณ ๙ เมตร ยาวประมาณ ๑๑ เมตร มีลานประทักษิณ ระเบียงลูกกรงกรุด้วยกระเบื้องปรุลายจีน มีการตกแต่งรอบ ๆ ฐานด้วยลายปูนปั้นที่สวยงาม ด้านนอกมียักษ์ ๒ ตน เฝ้าองค์เจดีย์ตามคตินิยมของชาวบ้านยักษ์ ๒ ตนนั้นเรียกว่าพ่อแก่ยักษ์ มีเรื่องเล่าต่อมาอย่างมุขปาฐว่านอกจากเฝ้าองค์เจดีย์และพระพุทธองค์แล้ว ยังคอยดูแลช่วยเหลือความเป็นอยู่ของชาวเกาะยอให้มีความสุขสบาย ตลอดจนการประกอบอาชีพให้สำเร็จผล เช่น

   ๑. การปลูกผลไม้ถ้าต้องการให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ให้นำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชา และขอพรให้ฝนตก แล้วให้ใช้มือบิดเขี้ยวให้ส่วนโค้งลงล่าง ฝนก็จะตกตามต้องการพืชพันธุ์ธัญญาหารก็จะสมบูรณ์
  ๒. อาชีพทำกระเบื้องดินเผาเป็นอาชีพหลักของชาวเกาะยอนานนับ ๑๐๐ ปี การทำกระเบื้องจำต้องใช้แสงแดดเพื่อตากกระเบื้องให้แห้งก่อนนำไปเผาให้สุกถ้าฝนตกมากเกินไปกระเบื้องไม่แห้งก็นำไปเผาไม่ได้จึงต้องขอพรจากพ่อแก่ยักษ์ให้ฝนหยุดตกโดยการบิดเขี้ยวพ่อแก่ยักษ์ให้โค้งขึ้น
   ๓.  การพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พึ่งทางใจของชาวเกาะยอ

     กรมศิลปกรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเจดีย์บนยอดเขาพิหารเป็นโบราณสถานของชาติไว้เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๐ และได้บูรณะซ่อมแซมเจดีย์พร้อมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์รอบองค์เจดีย์ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔-๒๕๔๕   ปี พ.ศ. ๒๕๕๙  ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบอีกครั้ง 

ภาพเจดีย์ก่อนบูรณะ

 

เจดีย์ทรงลังกาวัดท้ายยอบูรณะปี ๒๕๕๙

พระอุโบสถ

       พระอุโบสถวัดท้ายยอเป็นอุโบสถก่ออิฐถือปูนแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง ๙ เมตร ยาว ๑๒ เมตร ตั้งอยู่ในเขตกำแพงแก้วหันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามความเชื่อในเรื่องทิศที่เป็นมงคล อุโบสถมีช่วงฐานเตี้ยผนังทึบหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาเป็นหลังคาชั้นเดียวต่อด้วยปีกนกรอบอาคารไม่มีเสาพาไล ภายในมีเสาร่วมในแถวละ ๔ ต้น เป็นเสาไม้ บริเวณตอนล่างของฐานกรุด้วยเซรามิคลายดอกสี่กลีบ ตัวอุโบสถมีบันไดทางเข้่าด้านข้างทั้ง ๒ ช่อง ตรงแนวเดียวกับบันไดมีช่องหน้าต่างตรงด้านข้างและด้านหน้า ด้านละ ๓ ช่อง ตรงผนังใต้หน้าต่างทำช่องระบายอากาศรอบอาคาร โดยทำเป็นช่องประดับกระเบี้องปรุ หน้าบันมีไขราหน้าจั่ว ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย มีจารึกที่ฐานด้วยอักษรจีนและอักษรไทยว่า “อุบาสิกากิมแก้วสร้างไว้เมื่อ ศ.ก. ๑๒๓” (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๔๗) ด้านนอกพระอุโบสถมีใบเสมาตั้งอยู่บนฐานปัทม์มน ๒ ชั้นเตี้ย ๆ อุโบสถล้อมรอบไปด้วยกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูน มีความกว้าง ๑๑ เมตรและยาว ๑๘ เมตร

พระประธานในพระอุโบสถ

กุฏิเจ้าอาวาส

       กุฏิเจ้าอาวาสเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเรือนไทยโบราณในวัดท้ายยอที่สร้างราว ๆ ๒๐๐ ปี มาแล้ว เป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่มีรูปแบบและแบบแผนการก่อสร้างที่แสดงภูมิปัญญาท้องถิ่นของภาคใต้ เป็นเรือนไทยพุทธภาคใต้ สร้างกับไม้จริง หลังคาจั่ว มุงด้วยกระเบื้องของดินเผา ใต้ถุนสูง ประกอบด้วยเรือน ๓ หลัง มีชานไม้เชื่อมเรือนทั้ง ๓ หลังเข้าด้วยกัน ด้านหน้ามีบันไดเตี้ย ๆ เป็นทางขึ้น มีซุ้มประตูขวามือเป็นเรือนหลังเล็กขนาด  ๓  ห้อง  มีระเบียง ซ้ายมือเป็นเรือนอีกหลังหนึ่ง (เรือนครัว) สร้างขนานกัน สุดชานเป็นเรือนประธานหรือเรือนใหญ่สร้างขวางด้านสกัดของเรือนเล็ก มีความยาวโดยประมาณ ๒๑ เมตร กุฏิเจ้าอาวาสของวัดท้ายยอถือเป็นการสร้างกุฏิตามหลัก "เรือนสูตร" หรือ "สูตรเรือน" ที่ถูกต้องตามหลักการ มงคลสูตร และมาตราสูตร นิยมสร้างกันแบบเฉพาะอาคารบ้านเรือนหรือที่อยู่อาศัยของผู้มีฐานะ มีอำนาจ เช่น กำนันหรือกุฏิเจ้าอาวาสเท่านั้น เพราะแต่เดิมในชนบทผู้นำท้องถิ่นด้านการปกครองดูแลลูกบ้านที่สำคัญก็คือกำนัน ส่วนด้านบรรพชิตในอารามก็คือเจ้าอาวาส เพราะฉะนั้นการสร้างบ้านหรือกุฏิแบบเรือนสูตร จึงนิยมสร้างให้เฉพาะคนกลุ่มนี้คนธรรมดาสามัญไม่นิยมสร้างบ้านแบบนี้ได้

      คำว่า "เรือนสูตร" หรือ "สูตรเรือน" และ "มงคลสูตร" ผู้รู้ได้อธิบายไว้ว่าคนโบราณเชื่อว่าในการสร้างอาคารบ้านเรือน มี ๒ สาย คือสายสัมมาทิฎฐิ เช่น การสร้างบ้านที่อยู่อาศัย สร้างศาลา สร้างกุฏิ เป็นต้น จะออกจั่วก่อน หมายถึงจะเริ่มด้วยการสร้างจั่วก่อนส่วนอื่น จึงน่าจะสอดรับกับภาษิตที่ว่า "รักดีแบกจั่ว" ส่วนสายมิจฉาทิฏฐิ เช่น การสร้างโรงเรือน เตาเผาสุรา โรงบ่อนการพนัน จะออกเสาก่อน คือการเริ่มต้นด้วยการขุดหลุมลงเสาก่อน  ซึ่งสอดรับภาษิตที่ว่า "รักชั่วหามเสา" ด้วยเชื่อว่าจะมีความหนักแน่นในประกอบกิจการนั้น ๆ

     นอกจากนั้นในทางมงคลสูตรยังเกี่ยวข้องกับการกำหนดวันเดือนปี และเวลาในการหาฤกษ์ยามที่เป็นมงคลแล้วความเป็นสิริมงคลอื่น ๆ เช่น รวย มิ่ง เจริญ มาเป็นส่วนร่วมในการยกเสา มีการสวดมนตร์เพื่อเซ่นไหว้พระภูมิเจ้าที่ การหันหน้าบ้านไปยังทิศมงคล  การสร้างบ้านให้อยู่ในลักขณา "ลอยหวัน" ไม่สร้างเป็น "ขวางหวัน" รัศมีขององค์พระทรงศร (แสงอาทิตย์) เชื่อว่าเป็นมงคล คำว่า "ขวาง" ก็ให้ความหมายในทาง "ขัดขวาง" ฟังแล้วก็ไม่เป็นมงคล แม้แต่การเลือกไม้หรือวัสดุมาใช้ อย่างเช่น ไม้กอมาสร้างเป็นเสาบ้านความหมายก็คือจะแตกเป็นกอกอออกลูกออกหลานก่อให้เกิดสิ่งดี ๆ สู่บ้านเรือน และจะใช้ "ไม้นาคบุก" ทำเป็นบันไดด้วยความเชื่อถือเกี่ยวกับบันไดนาคซึ่งมีเสียงคำว่านาคที่พ้องเสียงกัน และใช้ไม้กลิ่นหอมชื่นใจเปรียบเสมือนการต้อนรับเข้าสู่ตัวบ้านด้วยความชุ่มชื่นใจ

กุฏิสีม่วง

กุฏิสีทอง

      กุฎิเรือนไทยเป็นกุฎิหมู่ ๓ หลัง เป็นกุฏิเจ้าอาวาส ๑ หลัง สำหรับพระภิกษุ ๒ หลังส่วนประกอบของการสร้างบ้านตามแบบเรือนสูตรมีดังต่อไปนี้

              เสาเรือน เป็นเสาไม้เนื้อแข็งตั้งอยู่บน "ตีนเสา" ที่ทำด้วยอิฐถือปูนเพื่อป้องกันไม่ให้เสาผุกร่อนก่อนเวลาอันควรจากความชื้นในดินที่เกิดจากน้ำฝนที่ตกชุกตลอดปี และช่วยป้องกันแมลงไม่ให้เกิดกินเสาเรือน และช่วยให้เคลื่อนย้ายเรือนทั้งหลังได้สะดวก

              ฝาเรือน เป็นฝาไม้เรียงกันเป็นแนวตั้งอย่างฝาสายบัว แต่ตีกรอบแบบลูกฟักอย่างฝาเรือนไทยภาคกลางหน้าต่างทำแบบเรือนไทยภาคใต้  โดยเจาะเป็นช่องเล็ก ๆ มีไม้ตีเป็นซี่ ๆ และมีบานหน้าต่าง ซึ่งนิยมเปิดเข้าข้างใน เพื่อระบายอากาศและรับแสงสว่าง

               หน้าจั่ว ทางภาคใต้เรียกว่า "หุ้มกลอง" ทำเป็นหน้าจั่วทึบส่วนที่ยื่นเลยหน้าจั่วออกไปใต้หลังคา ตีไม้ระแนงกันลมตีกระเบื้อง เรียก  "หน้าผ้า"  เชิงหน้าจั่วทำเป็นชายคาปีกนกกันฝนสาด มีชายคาพาไลรับด้วยไม้เท้าแขน และมีเสาตั้งรับขึ้นมาจากพื้นดิน

                พื้นเรือน ปูด้วยไม้กระดาน แบ่งเป็น  ๓  ระดับได้แก่ พื้นเรือน พื้นระเบียงต่ำกว่าพื้นเรือน และพื้นชานต่ำกว่าพื้นระเบียง

      สำหรับกระเบื้องดินเผาไม่ว่าจะเป็นอิฐเผาหรือกระเบื้อง ที่นำมาสร้างกุฏิหรือสิ่งก่อสร้างภายในวัดในแถบคาบสมุทรสทิงพระ นายช่างจะกำหนดให้คุณภาพดีเลิศและแหล่งที่ดีที่สุดคือของเกาะยอ จึงทำให้ชื่อเสียงของกระเบื้องดินเผาของเกาะยอเป็นที่นิยมกันมาก จนถึงกับมีคำกล่าวที่ว่า "ทิ้งทำหม้อ เกาะยอทำอ่าง หัวเขาดักโพงพาง บ่อยางทำเคย บ่อเตยทำได้" แม้กระทั่งเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ ได้มีการบูรณะพระวิหารพระธาตุไชยา พระองค์ก็ทรงกำหนดให้ใช้กระเบื้องของเกาะยอในการบูรณะ ทั้งหมดนี้ที่กล่าวมาล้วนแต่กำหนดเป็นมงคลสูตร คือ "สูตรแห่งการเกิดมงคล" ในการสร้างอาคารบ้านเรือนเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัยทั้งสิ้น

กลุ่มเรือนไทยโบราณ

หอระฆัง

       หอระฆังของวัดท้ายยอเป็นหอระฆังที่เก่าแก่ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมมือร่วมแรงและร่วมใจกันสร้างกันมาเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและใช้ประกอบพิธีการงานบุญ

บ่อน้ำพิบูลสงครามหรือบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เกาะยอ

       บ่อน้ำพิบูลสงครามหรือบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เกาะยอ เป็นบ่อน้ำที่สำคัญบ่อหนึ่งในจำนวนหลาย ๆ บ่อที่ชาวเกาะยอใช้เพื่อการดำรงชีพเพราะคราใดที่ชุมชนขาดแคลนน้ำฝน ก็สามารถมาเอาน้ำที่บ่อไปใช้กินใช้อาบ และชาวบ้านยังเชื่อกันอีกว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เปรียบเสมือนน้ำมนต์ ใช้กินใช้ดื่มดังปากฏในหนังสือเล่าเรื่องเกาะยอเป็นคำกลอน ความตอนหนึ่งว่า "ถึงบ่องอจะขอเล่าเรื่องราวบ่อ ที่เกิดก่อสิ่งดีงามตามท้องถิ่น อยู่เนินเขาแต่น้ำปรี่รี่ไหลรินเดิมบ่อดินมีต้นงอก่อชื่อมา เป็นบ่อที่สมเด็จ-เจ้าเขากุฎิ สิ่งศักดิ์สิทธ์สูงสุดลงมาหา ใช้อาบดื่มชาวบ้านปลื่มสุดศรัทธา ให้สมยาบ่อสมเด็จเจ้ากล่าวทิดทูน บ่อสองชื่อคือของดีที่ชาวเกาะ ทำยาก็เชื่อโรคร้ายจะหายสูญ ทำน้ำมนต์ก็ขลังดีทวีคูณคือความเชื่อที่เกิ้อกูลเป็นตำนาน" 

สถูป

สถูปซึ่งประดิษฐานอยู่รอบ ๆ วัด

ศาลาการเปรียญ


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดท้ายยอ (Wat Thaiyo)
ที่อยู่
หมู่ที่ ๕ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
จังหวัด
สงขลา
ละติจูด
7.155068
ลองจิจูด
100.532896



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ธีระยุทธ์ สุวลักษณ์. (2554). พระอุโบสถในเมืองสงขลาสมัยการปกครองของเจ้าเมืองตระกูล ณ สงขลา พ.ศ. 2318-2444.  วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต,

       สาชาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. 

พรทิพย์ พันธุโกวิท, ศิริพร สังข์หิรัญ และธนิสรา พุ่มผะกา. (2555). ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานในจังหวัด 

        สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล). พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส.

“วัดท้ายยอเรือนไทยปักษ์ใต้ที่ถึงพร้อมมงคลสูตร".  (2552). สืบค้นวันที่ 24 สิงหาคม 59, จาก http://oknation.nationtv.tv/blog/kahlao/2009/12/02/entry-


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024