โพน
 
Back    29/10/2021, 15:36    5,568  

หมวดหมู่

วัฒนธรรม


ประวัติความเป็นมา


ภาพจาก : ใต้--หรอยมีลุย : บอกเล่าเรื่องราว ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของภาคใต้

                 บรรพบุรุษในอดีตกาลได้นำเอาหนังวัว หนังควายมาหุ้มปลายไม้ท่อนที่เจาะกลวงทะลุทั้งสองด้าน แล้วหาไม้มาตีหนังที่ขึงไว้จนตึงแล้วเรียกสิ่งนั้นว่า “กลอง” ซึ่งชาวเมืองพัทลุงเรียกกลองที่มีขนาดใหญ่ว่า “โพน” หรือ “ตะโพน” “โพน” เป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านและเป็นเครื่องให้จังหวะสัญญาณชนิดหนึ่งที่เริ่มมาเมื่อใดไม่ทราบได้ สรุปได้แต่เพียงว่าโพนหรือกลอง ปรากฏมีมาตั้งแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เกิดมาทุกรุ่นพอจำความได้ก็พูดตรงกันว่าเราเกิดมาก็เห็นโพนอยู่แบบนี้แหละ โพนถ้าจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับกลอง ก็จะเห็นว่าในกลุ่มชนพื้นบ้านพื้นเมืองทั่วโลกจะมีเครื่องดนตรีที่มีลักษณะเดียวกันนี้มาช้านานแล้ว จึงกล่าวได้ว่าโพนหรือกลองขนาดใหญ่ เป็นเครื่องดนตรี เครื่องให้จังหวะ ที่มีความเจริญควบคู่กับวิถีชีวิตของมนุษย์โดยเฉพาะชาวพัทลุงมาช้านานแล้ว เพียงแต่การประดิษฐ์และลีลาในการตีการใช้ประโยชน์จากโพนของเมืองพัทลุงนั้นจะแตกต่างไปจากท้องถิ่นอื่น จึงถือได้ว่านี้คือเอกลักษณ์ของโพนเมืองพัทลุง โพนหรือตะโพนคือกลองหรือกลองเพลของภาคกลาง เป็นดนตรี ประเภทเครื่องตีในภาคใต้ มีไว้ประจำตามวัดวาอารามเพื่อตีบอกเวลา ใช้ตีประโคมเรือพระในเทศกาลออกพรรษาหรือชักพระ เรียกว่า “คุมโพน” ใช้ตีประชันเสียงเป็นกีฬาอย่างหนึ่งเรียกว่า “แข่งโพน” และนำไปเล่น “หลักโพน” โพนจะมีค่าเพียงใดขึ้นอยู่กับความนุ่มนวลและความดังของเสียง ซึ่งขึ้นอยู่กับการทำตัวโพน (หรือหน่วยโพน) กับวิธีหุ้มโพน “โพน” ภาษาท้องถิ่นของจังหวัดพัทลุง ใช้เรียกชื่อเครื่องดนตรีไทยที่มีรูปร่างคล้ายกลองทัด มีขาตั้ง จำนวน ๓ ขา ตีด้วยไม้แข็ง ๒ มือ ตัวโพนทำด้วยการขุดเจาะจากไม้เนื้อแข็ง เช่น จากไม้ต้นตาล ไม้ขนุน ฯลฯ มีขนาดรูปทรงต่าง ๆ กัน ส่วนมากมีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ ๓๕–๘๐ เซนติเมตร หน้าโพนนิยมหุ้มด้วยหนังควายทั้ง ๒ หน้า ไม้ตีโพนกลึงด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้สาวดำไม้หลุมพอ สำหรับโพนที่ทำพิเศษเพื่อเข้าแข่งขันเรียกว่า “โพนแข่ง” โพนที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพัทลุงมีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น โพนชื่อ ฟ้าลั่น ฟ้าสะท้าน เต่าทอง ก้องนภา อีโครงพุก ฟ้าจำลอง น้องไพ ไอ้ราหู ฯลฯ โดยปรกติโพนเป็นสมบัติของวัด ที่ใช้ในโอกาสต่าง ๆ ดังนี้ 

๑. บอกเวลาพระฉันภัตตาหาร (ปรกติเวลา ๐๗.๐๐ น. และ ๑๑.๐๐ น.)
๒. ตีบอกเวลาในวันที่ไม่เห็นดวงอาทิตย์ติดต่อกันเป็นเวลานาน
๓. บอกสัญญาณนัดแนะประชุมหรือรวมกลุ่ม
๔. เตือนการเตรียมงานของกลุ่ม เช่น ลากพระ รับกฐิน
๕. บอกเหตุร้ายหรือขอความช่วยเหลือ
๖. เร่งเร้าความพร้อมของหมู่คณะ เช่น ลากพระ ลากซุง
๗. แข่งขันเสียงดังของโพน 

         โพนชื่อเรียกเครื่องดนตรีพื้นบ้านของชาวปักษ์ใต้  เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของคนในอดีต ใช้บอกเหตุร้ายเวลากลางคืน  บ้างใช้สำหรับเรียกประชุมหมู่บ้าน  เป็นสัญญาณเมื่อถึงเวลาฉันอาหาร  รวมทั้งใช้เป็นจังหวะในงานประเพณีลากพระ  พัฒนาสู่ประเพณีการแข่งขันตีโพยด้วยในวันงานลากพระ  วัดในละแวกเดียวกันต่างจัดงานกันยิ่งใหญ่  เสียงโพนจึงดังกึกก้องจนไม่สามารถแยกได้ว่าเสียงนั้นดังมาจากวัดไหน  นำสู่การแข่งขันประชันเสียงโพน  โดยเฉพาะในจังหวัดพัทลุงจะมีการจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในทุก ๆ ปี "โพน” เป็นภาษาท้องถิ่นของจังหวัดพัทลุง เป็นชื่อกลองซึ่งมีลักษณะเหมือน "กลองทัด” มี ๓ ขา ตีด้วยไม้แข็ง ๒ มือ หน้ากลองมีขนาดตั้งแต่ ๓๕-๑๐๐ เซนติเมตร ทำจากการเจอะไม้ต้นตาล หรือไม้ขนุน หน้าโพนนิยมหุ้มด้วยหนังควายหรือหนังวัวทั้งสองหน้า การแข่งขันโพนเป็นประเพณีหนึ่งของภาคใต้ เชื่อว่าเริ่มมีขึ้นพร้อม ๆ กับประเพณีชักพระเนื่องจากนิยมปฏิบัติต่อเนื่องกันมา ก่อนที่จะมีการชักพระในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ คือในช่วงออกพรรษาประมาณปลายเดือน ๑๐ วัดต่าง ๆ จะเตรียมจัดประเพณีชักพระ โดยเริ่มตั้งแต่การทำบุษบกหุ้มโพนและคุมโพน (ตีโพน) ก่อน เพื่อให้ชาวบ้านตามหมู่บ้านต่าง ๆ ได้ทราบว่าทางวัดจะจัดให้มีการชักพระตามประเพณีที่เคยปฏิบัติเป็นประจำทุกปี แต่ส่วนมากวัดจะอยู่ในละแวกเดียวกัน ทำให้ชาวบ้านไม่ทราบว่าเสียงโพนที่ตีเป็นของวัดใด ทำให้แต่ละวัดแข่งเสียงโพนกันว่าโพนวัดใดจะเสียงดังกว่ากัน ในระยะแรก ๆ นั้นจะตีแข่งกันเองภายในวัด ต่อมาจึงค่อย ๆ นำโพนมาประชันกันตามกลางทุ่นนาหรือสถานที่ที่จัดเตรียมไว้     
              โพนเป็นกลองชนิดหนึ่งใช้ตีเพื่อการสื่อสาร เป็นเครื่องดนตรีที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตของคนภาคใต้ ในจังหวัดพัทลุง สงขลา ยังมีประเพณีการตีโพนที่เกี่ยวช้องกับ การดำเนินชีวิตอยู่ โพนเป็นการบรรเลงเดี่ยว การใช้โพนมีลักษณะดังนี้

- โพนตีบอกเวลา โดยปกติจะมีการใช้โพนในวัตสำหรับตีบอกเวลา
- คุมโพน คือการเล่นโพนประกอบในเรือชักพระในช่วงเทศกาลออกพรรษา มักจะตีล่วงหน้าก่อนถึงวันชักพระ เพื่อเป็นสัญญาณบอกให้ชาวบ้านทราบว่าวัดกำลังจัดกิจกรรม การชักพระตามประเพณีชาวบ้านจะช่วยกันทำเรือชักพระ และนำอาหารมาช่วย
- แข่งโพน คือการแข่งขันกันตีโพนในวันชักพระหลังจากลากเรือพระมาถึงจุดหมาย ในเวลากลางคืนจะมีการแข่งดีโพนว่าลูกไหนตีดัง
- หลักโพน คือการดีโพนโต้ตอบแข่งขันกันก่อนวันชักพระ โดยแข่งขันกันในเวลากลางคืนระหว่างวัดต่างๆ เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน ถ้าแพ้ต้องทำอาหารเลี้ยงฝ่ายชนะ

           เมืองพัทลุงในอดีตเวลาพระฉันภัตตาหารเพล คือในเวลา ๐๗.๐๐ น. และ ๑๑.๐๐ น. ก็จะให้สัญญานด้วยการตีโพน เวลาจะบอกเหตุร้ายแก่ชาวบ้านหรือเวลาใดที่ไม่สามารถเห็นดวงอาทิตย์เป็นเวลานาน บอกสัญญาณนัดแนะประชุมหรือรวมกลุ่ม เตือนการเตรียมงานของกลุ่ม เช่น ลากพระ รับกฐิน บอกเหตุร้ายหรือขอความช่วยเหลือ ชาวบ้านจะอาศัย “เสียงโพน” จากวัดหรือจากหมู่บ้านเป็นสัญญาณที่รู้กันแบบสัญญาประชาคม หรือในยามเดือน ๑๐ ย่างเข้าเดือน ๑๑ หรือก่อนออกพรรษา ราว ๑๐–๒๐ วัน ตั้งแต่พลบค่ำยันเที่ยงคืน เสียงโพนตามวัดต่าง ๆ ก็จะดังกระหึ่มก้องไปทั่วแทบทุกหมู่บ้านซึ่งเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่า “ใกล้ถึงวันลากพระ” และความสนุกสนานของชาวบ้านในวันลากพระ จะลากช้า ลากเร็วหรือจะระทึกใจเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับจังหวะเสียงโพน จึงสรุปไม่ได้ว่าโพนเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อใด อย่างไร รู้แต่เพียงว่า “โพน” เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวเมืองพัทลุงมาแต่โบราณกาล และยังคงความ เป็นเอกลักษณ์ของชาวเมืองพัทลุงในปัจจุบันและอนาคตสืบไป         
             โพนบทบาททางสังคม
           ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเมื่อเสียงโพนดังขึ้น ทุกคนที่ได้ยินจะต้องเงี่ยหูฟัง แม้ว่าในยุคโลกาภิวัตน์ความนิยมในโพนจะลดน้อยลงไปบ้าง แต่ถ้าเสียงโพนดังรัวขึ้นเมื่อไร คำถามจากใจของทุกคนจะมีว่าเขาทำอะไร ที่ไหน ทำไม อยู่เช่นเดิม ครั้งปู่ย่าตายายจะใช้โพนเป็นเครื่องกำกับจังหวะในการร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน เพื่อต้องการความพร้อมเพรียงเมื่อเกิดเหตุร้ายในหมู่บ้าน “เสียงโพน” จะดังขึ้นอย่างรวดเร็ว ทุกคนก็จะกระโจนออกนอกบ้านไปพร้อมกันที่เกิดเหตุและทุกวันชาวบ้านจะฟังเสียงโพน เพื่อรับรู้เวลาโมงยาม หรือถึงเวลาพระฉันเพล ซึ่งหมายถึงเที่ยงวัน การนัดหมายเรียกการประชุมของวัดหรือหมู่บ้านจะใช้โพนเป็นสัญญาณ ยามใดที่ชาวบ้านต้องการสนุกสนาน ก็จะมีโพนเข้าร่วมผสมโรงอยู่เสมอ โพนจึงเปรียบเสมือนคู่ทุกข์คู่ยากเป็นเครื่องดนตรีหรือเครื่องกำหนดสัญญาณจังหวะที่เคียงคู่เคียงกายชาวบ้านมาโดยตลอด แต่ในปัจจุบันนี้โพนได้กลายเป็นมรดกจากผู้เฒ่า และเป็นเอกลักษณ์ให้แก่ลูกหลานชาวพัทลุง ผลสืบเนื่องข้างเคียงจากการอนุรักษ์ และพัฒนาโพนสามารถทำให้ลูกหลานสามารถมีรายได้ มีชื่อเสียง มีงานทำ สามารถควบคุมปกครองกันได้เป็นกลุ่มเป็นพวก ชนทุกระดับ ได้รับประโยชน์จาก “โพน” โดยทั่วถึงกัน ในปัจจุบันทั้งในเมืองพัทลุงและจังหวัดใกล้เคียง นิยมนำโพนมาเป็นเครื่องสัญญาณให้ประธานในพิธีตีโพนเพื่อเปิดงานสำคัญของบ้านเมืองเสมอ
             
โพนกับประเพณีลากพระ
       ประเพณีลากพระเป็นหนึ่งในประเพณีที่เกี่ยวข้องผูกพันกับพุทธศาสนา และเป็นประเพณีที่ทำให้พุทธศาสนิกชนได้บุญ มีความสนุกสนานเป็นอย่างมาก ความเชื่อเกี่ยวกับการจัดขบวนไปคอยต้อนรับและแห่แหนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในคราวเสด็จสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น ปรากฏเป็นพระเพณีลากพระจากอดีตกาลมาจนถึงปัจจุบัน ในอดีตจะมีเครื่องดนตรีอะไรบ้างที่ใช้ประกอบในขบวนแห่ หรือลากพระไม่อาจยืนยันได้ แต่จากอดีตแห่งความทรงจำจนถึงปัจจุบัน “โพน” เป็นเครื่องดนตรีตัวหลักสำคัญ ที่ใช้ประกอบในตัวเรือพระ เพื่อแห่แหนพระพุทธรูปในประเพณีลากพระ โพนในเรือพระจะเป็นเครื่องส่งสัญญาณให้ประชาชนได้รับรู้ว่าจะมีการลากพระ จะเป็นเครื่องกำหนดจังหวะความพร้อมเพรียงช้าเร็วให้แก่ผู้ที่มาลากพระและเป็นเครื่องกระตุ้นความรู้สึกให้เกิดระลึกถึงอยู่เสมอว่า “นี่คือการลากพระในพุทธศาสนา” และ
โพนจะเป็นเสียงสะกดให้ทุกคนลืมทุกข์โศกเศร้าไปได้ชั่วขณะหนึ่ง ทุกคนจะมีความรู้สึกสนุกตื่นเต้นเมื่อได้ยินเสียงโพน 
           การแข่งโพน
           แข่งโพน แข่งตะโพนหรือชันโพน เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวปักษ์ใต้ ที่เชื่อกันว่าเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันกับประเพณีชักพระ เพราะเป็นการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกัน ก่อนที่จะมีการชักพระในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ อันเป็นวันออกพรรษา ในช่วงปลายเดือน ๑๐ วัดต่าง ๆ จะเตรียมการชักพระตั้งแต่การทำบุษบกหุ้มโพน และเริ่มคุมโพนก่อนที่มีการประกาศให้ชาวบ้านรู้ว่าทางวัดจะจัดให้มีการชักพระหรือลากพระ ตามประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมาเหมือนทุก ๆ ปี แต่เนื่องจากวัดส่วนมากจะอยู่ในละแวกเดียวกัน เสียงโพน ที่ดังออกไปไกล บางครั้งชาวบ้านก็ไม่รู้เป็นเสียงของวัดใด จึงทำให้วัดต่าง ๆ แข่งเสียงโพนกันว่า โพนของวัดใดเสียงดังกว่ากันในระยะแรกก็ตีแข่งกันในวัด ตามกลางทุ่งกลางนาหรือสถานที่เตรียมไว้ ในวันชักพระก็จะมีโพนประจำเรือพระไว้คอยตีให้สัญญาณเพราะเสียงดังไปไกลได้ยินทั่วถึง จึงต้องใช้โพนตีเพื่อให้สัญญาณเป็นการคุมการลากเรือพระว่าต้องการลากช้าหรือเร็ว เพราะเรือพระใช้เชือกลากเส้นใหญ่ ๆ มีขนาดยาวไม่น้อยกว่า ๓๐ เมตร เสียงโห่ร้องของคนที่มาลากพระ ทำให้ไม่สามารถวิ่งสั่งงานด้วยปากเปล่าได้ทั่วถึงกัน เช่น ถ้าได้ลากเร็ว ๆ ก็ตีรัวให้ถี่ ถ้าจะให้ช้าก็ตีจังหวะช้า ในบางครั้งเมื่อชาวบ้านลากหลายวัดลากพระมารวมกัน ก็มักจะมีการแข่งโพนกันต่อจากนั้นก็จะเป็นการแข่งขันซัดต้มเป็นต้น จากเหตุการณ์นี้จึงทำให้เกิดมีการแข่งโพนขึ้นซึ่งเราพบมากในหมู่บ้านชนบท การแข่งโพน แบ่งได้ เป็น ๒ อย่างคือ

๑. การแข่งขันมือ (ตีทน) การแข่งขันแบบนี้ไม่ค่อยนิยมเพราะต้องใช้เวลานาน แข่งขันจนผู้ตีมืออ่อนหรือผู้ตีหมดแรงจึงตัดสินได้
๒. การแข่งเสียง การแข่งแบบนี้เป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน เพราะใช้เวลาสั้น ๆ ก็สามารถคัดเลือกคนชนะได้

            การแข่งโพนส่วนมากจะเริ่มในปลายเดือน ๑๐ และสิ้นสุด วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ นิยมแข่งขันกันในเวลากลางคืน ถ้าหากมีโพนหลายคู่ การแข่งขันจัดเป็นคู่ ๆ โดยแต่ละฝ่ายใช้ผู้ตีเพียงคนเดียว โดยเริ่มจากการตีลองเสียงว่าโพนใบไหนเสียงใหญ่ และใบไหนเสียงเล็ก กรรมการจัดไว้เป็น ๒ ชุด สำหรับควบคุมมิให้ผู้แข่งขันเปลี่ยนคนตีชุดหนึ่ง และเป็นกรรมการฟังเสียง ซึ่งมีราว ๓–๕ คน อีกชุดหนึ่ง กรรมการชุดหลังจะอยู่ห่างจากที่ตีไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ เมตร เพื่อฟังเสียงและตัดสินว่าโพนลูกดังกล่าวกัน 
                  
หลักโพน
            หลักโพน เป็นการละเล่นโดยการเอาโพนมาตีโต้ตอบแข่งขันกันระหว่างวัดเพื่อซักซ้อมให้เกิดความสนุกสนานก่อนวันชักพระ คำว่า “หลัก” หมายถึงดักหรือจับ หลักโพนจะเล่นกันในเวลากลางคืนตั้งแต่วันขึ้น ๑ ค่ำ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปีในการเล่นหลักโพน ผู้เล่นจะแบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย โดยเอาวัดเป็นการแบ่งเขตใครอยู่ใกล้วัดไหนก็เอาวัดนั้นเป็นฝ่ายของตน เมื่อถึงคืนวันแข่งขัน ผู้เข้าแข่งขันทั้ง ๒ ฝ่ายจะเอาโพนวันที่จะตีในวันชักพระมาใส่รถลาก (รถทำขึ้นเองเลื่อยไม้ให้เป็นแว่นทำล้อ ตัวรถทำขึ้นแบบง่าย ๆ ด้วยพอวางโพนได้ ๒ ใบแล้วผูกเชือกลาก) วัดละ ๒ ใบ ใบเสียงแหลมเรียกว่า “หน่วยตึ้ง” ใบเสียงทุ้ม เรียกว่า”หน่วยท็อม มีคนลาก ๑ หรือ ๒ คน อีก ๒ คน คอยตีอยู่ข้างหลังคนละใบ โดยมีสมาชิกคนอื่น ๆ เดินตามหลังคนตีกลองแต่ละฝ่ายไปเป็นขบวน เมื่อถึงเวลาเล่นหลักโพนผู้เล่นทั้ง ๒ ฝ่าย จะตีโพนออกจากวัด
เดินเข้าหากัน โดยที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตีขึ้นก่อนฝีกฝ่ายหนึ่งจะตีตอบรับกันเป็นจังหวะ การเล่นหลักโพนมีหลักการอยู่ ๒ อย่าง คือ

๑. หลักจับคนตีโพน เมื่อ ๒ ฝ่ายตีเข้าหากันอยู่ในระยะที่จะมองเห็นซึ่งกันและกันได้ต่างฝ่ายต่างก็หยุดตี สมาชิกในขบวนของแต่ละฝ่ายก็จะเตือนคนตีโพนของฝ่ายตรงข้ามด้วย ถ้าต่างฝ่ายต่างมองไม่เห็นซึ่งกันและกันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะตีขึ้นก่อน ๒–๓ ครั้ง เป็นการหลอกล่อ แล้วรีบหลบที่ซ่อนอย่างรวดเร็วไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งเห็นได้ว่าตีโพนอยู่ที่ใดถ้าฝ่ายไหนโผล่ให้เห็นก่อนให้อีกฝ่ายหนึ่งจับได้ถือว่าแพ้
๒. หลักโพน ทั้ง ๒ ฝ่ายจะตีโพนให้มีจังหวะเหมือนกันตีสลับกันฟัง แล้วให้เหมือนกับว่าที่ฝ่ายเดียวกัน เช่น ตีโพน ๒ ใบ ๘ จังหวะ ฝ่ายแรกจะตี “ตึ้งท็อม ตึ้งท็อม ตึ้งตึ้งท็อมท็อม” อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องตีอีก ๔ จังหวะให้เข้ากันว่า “ตึ้งตึ้งท็อมท็อม” ถ้าตีผิดจังหวะไปจากนี้ถือว่าแพ้

            การเล่นหลักโพนจะมีคืนสำคัญอยู่คืนหนึ่ง คือคืนก่อนวันชักพระในวันออกพรรษาจะมีการแข่งขันถือเอาแพ้เอาชนะด้วยอาหารคาวหวานในวัดของฝ่ายผู้แพ้ ในวันแรม ๑ ค่ำ หลังจากชักพระกลับสู่วัดแล้วเพื่อความสนุกสนานและความสามัคคีกันทั้ง ๒ ฝ่าย การเล่นหลักโพนนี้ปัจจุบันหาดูได้ยาก
            โพนกับการแข่งขันซัดต้ม
            ประเพณีลากพระเมืองพัทลุง นอกจากจะมีการประกวดเรือพระแข่งโพนหรืออื่น ๆ แล้วยังมีกิจกรรมการละเล่นที่โดดเด่นและน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ “การซัดต้ม”
“ต้ม” ขนมพื้นบ้านทำจากการเอาข้าวเหนียวมาห่อด้วยใบกะพ้อเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าแล้วนำมาต้มหรือนึ่งจนสุกกินได้ บางคนจะทำเป็นต้มลูกเดียว บางคนจะทำเป็นต้มช่อคือห่อกับใบกะพ้อทั้งช่อก้านแล้เอาต้มนั้นไปถวายพระไปแสดงความคารวะผู้เฒ่าที่นับถือ และเอาต้มไปแขวนที่เรือพระเสมือนหนึ่งมอบไว้เป็นเสบียงสำหรับการเดินทางของคณะแห่เรือพระ โดยอุปมาเหมือนทำบุญไปสู่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วให้ได้รับส่วนกุศล ด้วยความศรัทธาของมหาชนทำให้ต้มมีมากจนวางด้วยมือไม่ถึง บางคน “โยน” หรือ “ขว้างปา” เพื่อส่งต้มให้ถึงเรือพระจนกลายเป็นที่มาของการแข่งขันซัดต้ม จากเดิมโยนต้มปาต้มเพื่อความสนุกสนานแต่ปัจจุบันมีการแข่งขัน “ซัดต้ม” จนเป็นประเพณีโดยแบ่งพวกแบ่งฝ่าย ซัดต้มเข้าหากันใครซัดถูกฝ่ายตรงข้ามมากว่าในเวลาที่กำหนดถือว่าเป็นผู้ชนะการแข่งขัน ต้มที่ใช้ในการแข่งขันในปัจจุบัน วิวัฒนาการการประดิษฐ์มาเป็น “ลูกต้มสี่เหลี่ยม” ทำจากใบเตยหรือใบมะพร้าวสดนำมาห่อทรายผสมข้าวสุก เมื่อห่อเสร็จแล้วจะนำไปแช่น้ำให้ “พองและแน่น” เมื่อนำมาแข่งขันซัดหรือปาถูกคู่แข่งขันก็จะได้ยินเสียงร้อง พร้อมฝากรอยแผลให้ระลึกถึงเสมอ ในระหว่างการแข่งขันถ้าขาดเสียงโพนทีดังระรัวเร่งระทึกก็หมดความตื่นเต้นสนุกสนาน ดังนั้นการเชิญชวนชมการระดมเสียงเชียร์การเพิ่มพลังให้คู่แข่งขันลืมความเจ็บความอ่อนเพลีย ย่อมอาศัยเสียงโพนเป็นผู้ให้จังหวะให้ความคึกคะนองอยู่เสมอทุกครั้งและตลอดไป

             ย้อนตำนานโพน ๙ ลูก คู่บ้านคู่เมืองพัทลุง
          งานประเพณีแข่งโพน–ลากพระ จังหวัดพัทลุง นับเป็นกิจกรรมที่ได้รับการยอมรับและชื่นชมว่ายิ่งใหญ่ ตระการตาและสมศักดิ์ศรีคู่บ้านคู่เมืองพัทลุงมาช้านาน แต่ทว่าที่ผ่านมาการตีโพนจำกัดวงเฉพาะประจำตามวัดวาอารามเพื่อตีบอกเวลา ใช้ประโคมเรือพระในเทศกาลออกพรรษาหรือแม้แต่เป็นกีฬาในการแข่งขันโพน–ลากพระไม่ได้มีตีเป็นการทั่วไป ด้วยเหตุผลดังกล่าว เทศบาลเมืองพัทลุง มีจุดหมายจะสืบสานเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษชาวพัทลุง เพื่อให้โพนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายยิ่งขึ้น
เมื่อปลายเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘ เทศบาลเมืองพัทลุง จึงได้จัดพิธีหุ้มโพนมงคล ๙ ใบ เพื่อเป็นมรดกของท้องถิ่น และให้ประชาชนชาวพัทลุงและผู้มาเยี่ยมเยือนจังหวัดพัทลุง ได้มีโอกาสตีเพื่อเป็นสิริมงคลกับตนเองและครอบครัว โพนทั้ง ๙ ใบที่นำมาหุ้มในครั้งนี้ มีความโดดเด่นในหลาย ๆ ด้าน เช่น 

๑. มีอายุไม่ต่ำกว่า ๕๐ ปี
๒. มีตำนานที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวให้กับชนรุ่นหลังได้
๓. ปรากฏผลงานเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปและโพนแต่ละใบมีคติธรรมที่เป็นสิริมงคลกับผู้ตี

              ตำนานของโพน ๙ ใบ ปรากฏดังนี้

๑. โพนฟ้าลั่น โพนแห่งวัดอินทราวาส (ท่ามิหรำ) ถนนคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง สร้างขึ้นโดยพระครูตาแก้ว และพระปลัดประคอง ธมฺมปาโล เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นโพนขนาดใหญ่ สูง ๗๖ เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕๑ เซนติเมตร ทำด้วยไม้ขนุนทอง ลูกสักมี ๙๘ อัน ขนาด ๓ หุนครึ่ง มี นายแปลก ขุนชำนาญ เป็นผู้ตี ผลงานที่สร้างชื่อให้โพนฟ้าลั่น ก็คือเป็นแชมป์ในงานประเพณีแข่งโพน–ลากพระ ติดต่อกันตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๖–๒๕๔๐ เป็นที่รู้จักของนักเลงตีโพนทุกเพศทุกวัย รูปทรงสวยงาม เสียงดัง และมีเสน่ห์
๒. โพนโครงพุก โพนแห่งวัดควนปรง อำเภอเมือง สร้างขึ้นโดยพระอาจารย์คง เจ้าอาวาส ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๑๘ เป็นโพนขนาดกลาง สูง ๕๓ เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔๑ เซนติเมตร ทำด้วยไม้ขนุนทอง มีลูกสัก ๑๐๔ อัน ขนาดหุนครึ่ง สมัยรุ่งเรืองสุดขีดนั้น นายเตี้ยม มาเอียด และนายนะ อินทนุ เป็นผู้ตี โพนโครงพุกใช้ตีบอกเวลา เข้า เที่ยง เย็น และกรณีสำคัญ ๆ หรือในยามฉุกเฉิน เสียงจะดังไปทั่วเขตเทศบาลฯ และใกล้เคียง เพราะเวลาตีอยู่บนเนินควนสูง มีความขลัง บนบานตามความเชื่อ มักสัมฤทธิ์ผลให้โทษกับบุคคลที่ลูบหน้าโพน ก่อนแข่งขันบางครั้งสามารถกลิ้งไปมาได้ทั้งที่ไม่มีจนจับขยับแต่อย่างใด เอ่ยชื่อว่าโครงพุกไม่มีใครไม่รู้จัก บางคนอาจไม่เคยเห็นแต่ชื่อเสียงโด่งดังหาโพนวัดใดเสมอเหมือนมิได้
๓.โพนไอ้เคียน โพนแห่งวัดควนปริง ตำบลพนมวังก์ อำเภอควนขนุน สร้างขึ้นโดยหลวงพ่อยิ้ม สัยติโถ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นโพนขนาดกลาง สูง ๖๐ เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔๗ เซนติเมตร ทำด้วยไม้ตะเคียน มีลูกสัก ๙๔ อัน ขนาด ๓ หุน ตามตำนานไม่ปรากฏชัดว่าผู้ใดคือคนตี จนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ นายประชีพ นวลมโน คือผู้ตี ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของนายเจิม เพชรรักษ์ โพนไอ้เคียนมีจุดเด่นที่เสียงหวานซึ่งหนักแน่น และมีความขลังด้วยอาถาอาคม เคยสร้างชื่อด้วยการเป็นแชมป์ที่สนามกีฬากลาง และแชมป์ระดับอำเภอ ตำบล ทุกครั้งที่เข้าแข่งขัน อันดับหนึ่งในสาม ต้องมีชื่อโพนไอ้เคียนปรากฏอยู่เสมอ
๔. โพนสุธาลั่น โพนแห่งจังหวัดสงขลา ไม่ปรากฏว่าเป็นของวัดใด แต่มีคนแลกเปลี่ยนกับโพนของตาพ่วง จุลพูน ข้างโพนมีร่องรอยระบุปีที่สร้าง คือปี พ.ศ. ๒๔๗๑ เป็นโพนขนาดใหญ่ สูง ๘๐ เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖๑ เซนติเมตร ทำจากไม้ตะเคียน มีลูกสัก ๑๐๐ อัน ขนาด ๓ หุน ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของนายพ่วง จุลพูน โพนสุธาลั่น เป็นโพนที่มีเสียงยืด ทุ้ม มีจุดเด่นที่รูปทรงสวยงาม สมส่วน เคยเป็นแชมป์ไทยสยามภูธร และรองแชมป์ถ้วยพระราชทาน
๕. โพนไอ้เคียนทอง ทำมาจากไม้ท่อนเดียวกับโพนไอ้เคียน แห่งวัดควนปริง สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นโพนขนาดกลาง ทำจากไม้ตะเคียน สูง ๕๗ เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔๙ เซนติเมตร มีลูกสัก ๑๐๒ อัน ขนาด ๓ หุน ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของนายอ่วม นิ่มดำโพนไอ้เคียนทอง มีความพิเศษตรงที่เมื่อถึงฤดูกาลแข่งขันในช่วงเทศกาลออกพรรษา มักจะดังขึ้นเองเหมือนกับจะบอกว่าโพนในสังกัดจะต้องติดอันดับต้น ๆ หรือเป็นแชมป์ทุกคราวไป และเคยเป็นรองแชมป์ระดับจังหวัด ๒ ปีซ้อน
๖. โพนไอ้ยอม โพนแห่งวัดไทรห้อย ตำบลท่ามิหรำ อำเภอเมือง สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๒ เป็นโพนขนาดใหญ่ ทำด้วยไม้พะยอม สูง ๔๘ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๔๒ เซนติเมตร มีลูกสัก ๘๐ อัน ขนาด ๓ หุนครึ่ง ส่วนผู้ตีไม่ทราบแน่ชัด โพนไอ้ยอมเป็นโพนคู่แข่งขอบโพนโครงพุก ผลัดกันแพ้ชนะพอ ๆ กัน หากเป็นโพนรุ่นเดียวกันยากที่จะเอาชนะได้ ด้วยอายุเกิน ๑๐๐ ปี จึงทำให้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป นอกจากนั้นความพิเศษของโพนไอ้ยอม คือในอดีตเมื่อมีการสร้างถนนทว่าถนนที่สร้างนั้นไปตัดพื้นที่ซึ่งเจ้าของไม่อนุญาตเกิดกรณีพิพาทขึ้น เพียงแต่ได้ยินเสียงโพนไอ้ยอมเท่านั้น ข้อพิพาทนั้นเป็นอันยุติ
๗. โพนฟ้าเมืองลุง มีการแลกเปลี่ยนโพนกันหลายทอด ท้ายสุดอยู่ในความรับผิดชอบของนายฉกรรจ์ ศารานุรักษ์ เป็นผู้ตี สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นโพนขนาดใหญ่ ทำด้วยไม้ตะเคียนทอง สูง ๘๒ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๕๙ เซนติเมตร มีลูกสัก ๗๖ อัน ขนาด ๔ หุน โพนฟ้าเมืองลุง เคยคว้าแชมป์โพนถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ก่อนจะเป็นแชมป์โพนถ้วยพระราชทานฯ นั้นเคยเป็นแชมป์ระดับตำบล หมู่บ้านมาทุกปี หลังจากที่ประสบความสำเร็จสูงสุด จึงไม่ไปแข่งขันสนามใดอีกเลยจนปัจจุบัน
๘.โพนอีโด โพนแห่งวัดท่าสำเภาใต้ อำเภอเมือง สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๐ แต่ไม่ปรากฏข้อมูลว่าใครเป็นผู้สร้าง เป็นโพนรุ่นเล็ก ทำจากไม้ประดู่ สูง ๕๗ เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓๕ เซนติเมตร มีลูกสัก ๗๘ อัน ขนาด ๔ หุน โพนอีโดเป็นโพนบอกเวลา เช้า เที่ยง เย็น เหตุฉุกเฉิน มีอายุมาก เสียงดัง ก้องกังวาน ยามแข่งขัน ไม่เป็นสองรองใครเรื่องเสียง แม้อาจจะไม่ได้แชมป์สนามใหญ่หรือสนามกลาง กระนั้นก็ติดรองแชมป์ทุกปี ส่วนสนามภูธร ระดับตำบล หมู่บ้าน ยากที่คู่แข่งจะผ่านไปได้
๙.โพนก้องสุธา โพนแห่งวัดควนปันตาราม (ปันแต) ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน เป็นโพนขนาดใหญ่ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ อายุ ๗๘ ปี ทำด้วยไม้ตะเคียนทอง สูง ๗๑ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๕๔ เซนติเมตร มีลูกสัก ๑๑๔ อัน ขนาด ๓ หุนครึ่ง เพราะเป็นโพนขนาดใหญ่ เสียงทุ้ม ดังกังวาน มีน้ำหนักมาก เคลื่อนย้ายลำบาก แต่แข่งครั้งใด ๆ ก็ ไม่มีโพนลูกใดเอาชนะโพนก้องสุธาได้ จนกระทั่งไม่มีคู่แข่งจึงเก็บไว้ ต่อมาพระครูสงวน ฉันทะโก หุ้มและตกแต่งใหม่ที่เคยหนัก เคลื่อนย้ายลำบาก ก็เบาขึ้นกว่างเดิม แข่งขันโพนรอบคัดเลือกจนเข้ารองชิงชนะเลิศ ปี ๒๕๔๗ ที่ผ่านมา สามารถเป็นรองแชมป์โพนใหญ่

              วิธีการทำโพน
            จังหวัดพัทลุง มีแหล่งทำโพนหลายแหล่ง แต่ละแห่งมีการทำโพนเหมือนกัน มีข้อแตกต่างในกรรมวิธีที่ใช้ความรู้เฉพาะแต่ละช่าง จึงทำให้การใช้วัสดุอุปกรณ์ในการทำโพนบางอย่างไม่เหมือนกัน แต่การทำโพนโดยทั่ว ๆ ไป มีกรรมวิธีในการผลิตดังนี้

๑. การทำหน่วยโพน
๒. การหุ้มโพน (หนัง)

               เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต

๑. ลูกหมู (เครื่องเจีย)
๒. สว่านไฟฟ้า เป็นเครื่องมือผ่อนแรงในการเจาะรู เพราะจะใช้สว่านเจาะเนื้อไม้ก่อนแล้วจึงใช้สิ่วเจาะตาม และยังใช้เจาะรูรอบปากโพนก่อนตอกมุดยึดหนังหน้าโพน
๓. แลกเกอร์หรือน้ำมันขัดเงาชนิดต่าง ๆ ใช้ทาที่ผิวโพนให้ขึ้นเงา ให้สวยงามมากขึ้น
๔. หินลับมีด
๕. ตะปู
๖. สว่าน
๖. กระดาษทราย ใช้สำหรับขัดผิวโพนให้เรียบ
๗. คีม
๘. แจ
๑๐. สิ่ว
๑๑. มีด
๑๒. เลื่อยตัดเหล็ก
๑๓. พร้า
๑๔. ชะแลง
๑๕. ฆ้อน
๑๖. ขวาน ใช้ถากท่อนไม้ให้เป็นรูปร่างโพนอย่างคร่าว ๆ
๑๗. ลูกสัก
๑๘. ลิ่ม
๑๙.เขี้ยวหมา (ยืดโพน ล็อกเชือกเพื่อยืดหนัง)
๒๐.หวายรัดโพน (ปลอก)
๒๐.หวายรัดโพน (ปลอก)
๒๑. สาก ใช้ฆ่าหนัง
๒๒.ไม้คันเบ็ด
๒๓. ไม้ไผ่ สำหรับสถานที่หุ้มโพน
๒๔. ไม้หลุมพุก (สำหรับทุบเพื่อยืดหนัง)
๒๕. หัวข่า สำหรับแช่หนัง
๒๖. หนัง
๒๘. เชือก

               ขั้นตอนกระบวนการผลิต/วิธีทำ
               ขั้นเตรียมการ

๑. การคัดเลือกไม้ที่ทำโพน
     การคัดเลือกไม้ที่ทำโพน โดยทั่วไปมักนิยมคัดเลือกไม้ที่คิดว่ามีเนื้อแน่นที่สุด เรียงตามนิยมคือไม้ตะเคียนทอง ไม้พังตาน ไม้ขนุน ไม้ตาลโตนด หรือทดลองไม้อื่นที่มีในท้องถิ่น แต่คุณภาพอาจไม่ดีเท่าไม้ดังกล่าวข้างต้น
๒. การเตรียมไม้ทำโพน
     เลือกต้นที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ ฟุต ครึ่ง เป็นอย่างน้อยตัดไม้เป็นตอนให้ความยาวพอ ๆ กับเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อนไม้หรือยาวกว่าเล็กน้อยนำมาถากด้านนอก ให้มีลักษณะสอบหัวสอบท้ายแต่งผิวให้เรียบ
๓. การขุดเจาะรูปโพน
     การขุดเจาะรูปโพน ใช้วิธีเดียวกับการขุดครกตำข้าว ให้มีลักษณะโค้งมนทั้งสองด้านไปทะลุถึงกันที่กึ่งกลางของไม้ มีรูปทะลุขนาดที่เป็นสัดส่วนกับความใหญ่ของโพน ความโค้งตรงสันกลางโพนเรียกว่า อกไก่ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดเสียงก้องภายในลักษณะคล้ายลำโพงตู้ ผิวด้านในจะต้องขุดเจาะให้เรียบ ในยุคใหม่นี้นิยมการกลึงภายใน เพราะจะได้ผิวที่เรียบกว่าใช้สิ่วเจาะเหมือนในอดีต

              ลักษณะการขุดเจาะรูปโพน
            เจาะตามแนวยาวตรงจุดศูนย์กลางให้ทะลุ ทะลวงรูให้รูกว้าง ขนาดอย่างน้อยพอกำหมัดลอดได้ ใช้เครื่องมือขุดแต่งภายในให้รูผายกว้างออกเป็นรูปกรวยทั้ง ๒ หน้า แต่งอกไก่กะความหนาตรงปากโพนทั้ง ๒ หน้า ประมาณเท่านิ้วหัวแม่มือใช้เหล็กกลมเจาะรูรอบทั้งสองเพื่อใส่ลูกสัก รูนี้เจาะห่างจากขอบปากเข้ามาราว ๒ นิ้ว เจาะห่างกันราว ๑.๕ นิ้ว โดยเจาะให้ทะลุ ขนาดรูเล็กกว่าปลายนิ้วก้อยเล็กน้อย เจาะรูที่กึ่งกลางโพน เอาเหล็กทำบ่วงร้อยสำหรับแขวน
             
 อุปกรณ์และชิ้นส่วนต่าง ๆ ในการหุ้มโพน

๔.๑ ลูกสักทำด้วยไม้ไผ่ตงที่แก่จัดตัดให้ด้านหนึ่งติดข้อด้านหนึ่งวัดให้ได้ขนาดสั้นกว่ารัศมีปากโพน สัก ๑.๕ นิ้วผ่าเป็นสี่เหลี่ยมจำนวนเท่ารูใส่ลูกสักที่เจาะไว้เหลาให้กลมด้านติดข้อแต่งให้หน้าตักโค้งมน ปากหัวทำมุม ๙๐ องศาตัดจากจุดบากราว ๑ นิ้ว แต่งให้เรียวตากแดดให้แห้ง
๔.๒ ปลอกหวายใช้สำหรับรัดหนังให้ตึงก่อนตอกลูกสัก ทำด้วยหวายเป็นขดกลมขนาดโตเท่าเส้นรอบวงของโพนบริเวณถัดเข้าไปจากรูใส่ลูกสัก
๔.๓ ไม้เขี้ยวหมาใช้เป็นที่คล้องเชือกดึงหนัง มีลักษณะปลายแหลมทั้งสองข้าง
๔.๕. เชือกดึงหนัง ใช้ดึงหนังให้ตึงในการนวดหนัง เมื่อก่อนใช้ไม้ระกำ ปัจจุบันใช้เชือกไนล่อน

               หนังหุ้มโพน
               การเลือกหนังหุ้มโพนการเลือกหนังหุ้มโพน ในยุคนี้นิยมใช้หนังควายแก่และจะต้องผอมเนื่องจากควายแก่มีไขมัน ติดหนังน้อยจะได้หนังบางเรียบสม่ำเสมอ ความแก่ของหนังมีความเหนียวทนทานใช้ได้นาน หนังหุ้มโพนที่ใช้หนังวัวหรือหนังควายแล้วแต่ความเหมาะสม คือถ้าเป็นขนาดใหญ่จะใช้หนังควายเพราะผืนใหญ่และหนากว่าหนังวัว หนังต้องฟอกเสียก่อนการฟอกหนังหนังที่ใช้จะต้องเป็นหนังสดไม่แช่น้ำเกลือ หรือสิ่งอื่นใดขูดด้านที่มีเนื้อติดไขมันเอามาขึงให้ตึงตากให้แห้งการเตรียมหนังสำหรับหุ้มนำหนังแห้งมาตัดให้ได้ขนาดตามความต้องการนำหนังมาแช่น้ำให้อ่อนตัว ประมาณ ๑–๓ วันนำหนังมาฆ่า โดยการตำหนังให้นิ่ม (กรรมวิธีเฉพาะของช่าง) เมื่อฆ่าหนังได้ตามต้องการแล้วนำหนังไปหุ้ม
              
 สถานที่วางโพนสำหรับหุ้มโพน
           ปักเป็นหลักไม้ขนาดสูง ๑.๕ เมตร ๔ อัน เป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดกว้างกว่าขนาดโพนเล็กน้อยบากหัวไม้ด้านในเป็นมุม ๙๐ องศาให้เสมอกัน (ถ้าบากไว้ก่อนก็ตอกให้เสมอกัน) เลื่อยหรือตัดไม้กระดานเป็นกลมขนาดพอดีกับพื้นที่ระหว่างไม้หลักทั้ง ๔ วางปูลงบนรอยบาก เรียกกระดานนี้ว่า “แป้น” หรือ “พื้น” สำหรับเป็นที่วางโพนห่างจากหลักไม้ทั้งสี่ออกไปราวสองเมตรปักหลักวางราวโดยรอบ ราวสูงจากพื้นไม่เกินแนวแป้นราวแต่ละอันจะตอกด้วยไม้ง่ามหรือเรียกว่า”สมอบก” อย่างแข็งแรงหาไม้คันชั่งขนาดเท่าข้อมือยาวราว ๒.๕ เมตร ไว้ ๗–๘ อัน หาเชือกหวายสำหรับผูกและดึงหนังจำนวนหนึ่ง แต่ละเส้นยาว ๒ เมตร
วิธีหุ้มโพนการหุ้มโพน เป็นกรรมวิธีที่ใช้ความรู้เฉพาะ หลังจากฆ่าหนังให้มีความยืดได้เต็มที่จากการใช้วิธีฆ่าหนังของแต่ละช่างแล้ว ขั้นการหุ้มหนังบนรูปโพนให้ตึงทั้งหน้า
              ขั้นตอนการหุ้มโพน
              วางโพนบนแป้นยกหนังมาตัดให้ได้ผืนโตกว่าหน้าโพน โดยกะให้หนังเหลือจากหน้าโพนไว้มาก ๆ เอาหนังปิดลงบนหน้าโพน ดูให้หนังรอบ ๆ หน้าโพนห้อยลงมาพอ ๆ กันใช้เหล็กหรือปลายมีดแหลมเจาะหนังให้ทะลุเป็นคู่ ๆ ห่างกันราว ๒–๓ นิ้วใช้ไม้สั้น ๆ ขนาดดินสอดำ (ไม้เขี้ยวหมา) สอดรูแต่ละคู่ไว้ใช้เชือกร้อยรูแต่ละคู่ผูกเป็นบ่วงตามยาวเสมอขอบแป้นปลายไม้ด้านนอก ดึงกดลงเอาเชือกผูกยึดไว้กับราวซึ่งมีสมอบกยึดการดึงไม้คันชั่งพยายามให้แต่ละอันดึงหน้าตึงพอ ๆ กันตากลมทิ้งไว้คอยชโลมน้ำและตีเป็นระยะ ๆ เพื่อให้หนังยึดตัว (โดยใช้ต้นกล้วยวางบนหนังหรือทาน้ำมันมะพร้าวเป็นกรรมวิธีของแต่ละช่างแล้วใช้ไม้ตีหรือนวดหนัง) จนหนังตึงและได้เสียงที่ต้องการทุกครั้งที่ชโลมน้ำ และตีพยายามดึงไม้คันชั่งให้ตึงที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ทำเช่นนี้ราว ๒–๓ วันพอเห็นหนังตึงได้ที่แล้ว ก็นำปลอกหวายสวมทับลงไปตอกปลอกให้ลดต่ำอยู่ใต้ระดับรูลูกสักใช้เหล็กตอกหนังรูลูกสักให้ทะลุ แล้วใช้ลูกสักให้ตะขอหงายขึ้นบนตอกอัดลูกสักให้แน่นทุกรู ปลดให้คันชั่งออกตัดหนังระหว่างปลอกกับลูกสักโดยรอบเอาหนังส่วนที่ตัดออกเป็นอันเสร็จการหุ้มโพนไป ๑ หน้าการหุ้มโพนหน้าต่อไปก็หุ้มเช่นเดียวกันลงน้ำมัน หรือนวดแล้วตีจะทำให้หนังเกิดเงางามหรือเป็นหนังแก้วเสียงดังไม่ขาดสายเสร็จแล้วนำไปแขวนตามจุดที่ต้องการ หรือนำมาใส่ขา ๓ ขา หรือ ๔ ขา (ขาโพนทำด้วยไม้เนื้อแข็งตามความเหมาะสมขนาดโพน) 
             
ไม้ตีโพน
            ไม้ตีโพน จะต้องเลือกไม้ที่มีเนื้อแน่นน้ำหนักดี มีความเหนียวและคงทน เช่น ไม้สาวดำ ไม้ขี้เหล็ก เป็นต้น ขนาดไม้ตีต้องเหมาะกับขนาดโพน ถ้าไม้ตีโพนใหญ่หรือเล็กกว่าความพอดีนั้น จะทำให้การสั่นสะเทือนของหนังมีน้อย เสียงที่ออกไปจะไปได้ไม่ไกล


​​​​​    การแข่งโพนจังหวัดพัทลุง
            “จะร้อยพันแม้นหมื่นเสียงตะโกน ฤาจะสู้เสียงแข่งโพนที่เมืองลุง” คือคำกล่าวที่สะท้อนถึงความยิ่งใหญ่และชื่อเสียงประเพณีการแข่งโพนของจังหวัดพัทลุง ที่ได้รับการสืบทอดและวิวัฒนาการมาหลายทศวรรษ เคียงคู่ประเพณีลากพระของชาวพัทลุง จนได้รับการกล่าวขานจากทั่วสารทิศว่า “โพนคุณภาพต้องที่จังหวัดพัทลุง” แต่ถึงแม้โพนจะมีใช้กันทั่วไปในทุกวัดของภาคใต้ แต่ไม่มีการแข่งขันโพนที่ไหนที่จะยิ่งใหญ่และสนุกสนานไปกว่าเมืองพัทลุง
             ความเป็นมาของการแข่งโพน
             การแข่งโพน เป็นประเพณีสืบเนื่องมาจากการหุ้มโพนในสมัยก่อน เมื่อแต่ละวัดซึ่งอยู่ห่างกันหุ้มโพนใบใหม่ก็ต้องมีการตีเพื่อทดลองเสียง ก็มีเสียงดังได้ยินออกไปไกล จึงมีการท้าประลองกันว่าเสียงโพนของใครดังกล่าวกัน และขยายวงกว้างออกไปจนเป็นประเพณีนิยม ซึ่งจะแข่งโพนกันในตอนกลางคืนโดยชาวบ้านจะนำโพนมาจากทุกสารทิศไปยังจุดนัดหมายบริเวณที่โล่ง เช่น หัวคันนา สี่แยก หรือกลางทุ่งนา เพื่อให้ง่ายต่อการฟังเสียง สมัยนั้นการตัดสินจะเป็นที่ยอมรับกันในหมู่ของผู้เข้าแข่งขัน เดิมมีการตัดสินเพียงจุดเดียวโดยให้กรรมการไปฟังเสียงโพนห่างจากจุดแข่งขันตีโพน เพื่อส่งสัญญาณมาจากจุดตัดสิน เช่น ผลการตัดสินโพนเสียงทุ้มชนะ กรรมการจะตีโพนเป็นสัญญาณ ๑ ครั้ง หากเสียงโพนแหลมชนะกรรมการจะตีโพนสัญญาณ ๒ ครั้ง ฝ่ายใดเสียงดังกว่าเป็นฝ่ายชนะส่วนฝ่ายที่แพ้ต้องนำโพนไปแก้ไขปรับปรุงมาแข่งขันใหม่ในสนามอื่นในคืนต่อ ๆ ไป
           
วิวัฒนาการแข่งขันโพนจังหวัดพัทลุง
        จากการที่มีการแข่งขันเป็นกลุ่มย่อยจากวัดหนึ่งไปยังอีกวัดหนึ่งในละแวกใกล้เคียงกัน หรือจะรวมกัน ๓–๔ วัด นัดพบกันที่จุดใดจุดหนึ่ง การแข่งขันจะดำเนินไปโดยเอาโพนมาตีทีละคู่ ไม่มีกรรมการและกติกาที่แน่นอน ตีกันไปเรื่อย ๆ จนรู้ตัวว่าของตนเองสู้ไม่ได้หรือหมดแรงไปก่อนอันเป็นการยอมรับโดยปริยาย ไม่มีเงื่อนไขและรางวัลใด ๆ เมื่อคืนนี้แพ้แล้วนำโพนไปปรับปรุงใหม่ (แต่งโพน) แล้วมาแข่งใหม่ในคืนถัดไป จนคืนวันสุดท้ายก่อนวันออกพรรษาเป็นอันจบการแข่งโพนในรอบปี ส่วนเวลากลางวันขณะที่ผู้ใหญ่หรือนักตีโพนกำลังแต่งโพนนั้น เด็ก ๆ ที่เลี้ยงวัวตามท้องทุ่งนาจะเลียนแบบผู้ใหญ่โดยการแข่งขันกลองพรก (กลองกะลา) หุ้มด้วยหนังลูกวัวหรือหนังค่าง หรือถ้าไม่มีหนังก็ใช้ผ้าหนา ๆ หุ้มทาด้วยดินเหนียว ชุบหน้ากลองให้เปียกก็ใช้แทนกันได้ หรืออาจใช้วัตถุอย่างอื่นที่ใช้แทนกันได้ เช่น หนังกบหุ้มกระบอกไม้ไผ่สั้น ๆ ลอกเลียนแบบผู้ใหญ่ที่แข่งโพน เพราะกลางคืนเด็กเหล่านี้จะได้ตามไปดูผู้ใหญ่ขาแข่งโพน เด็กเหล่านี้จะพัฒนาการแข่งขันเลียนแบบผู้ใหญ่ทุกประการ ก็เท่ากับการสืบทอดประเพณีไปตามธรรมชาติ โดยไม่มีผู้สอนเด็กตีกลองเป็นกันเองด้วยความอยากรู้และดำเนินชีวิเลียนแบบผู้ใหญ่ วัดที่นิยมสร้าง (ทำ) โพนเพื่อการแข่งขัน จะต้องประกอบด้วยผู้มีความรู้ความชำนาญ มีประสบการณ์ในการทำตลอดถึงการนำมาซึ่งชัยชนะ 
การแข่งขันโพนไม่มีการกำหนดกติกาที่แน่นอน จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๒๔ หลังจากเปิดศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดพัทลุง ๑ ปี นายโกศล ชูช่วย หัวหน้าศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนในสมัยนั้นได้มีความคิดจะให้มีการแข่งโพนเป็นกิจจะลักษณะ เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกันจึงเชิญผู้สัดทัดกรณีในระดับท้องถิ่นมาร่วมกันร่างกฎเกณฑ์กติกา และการรวมกันแข่งขันระดับจังหวัด ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดพัทลุง จัดให้มีการแข่งขันโพนอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ในระดับจังหวัด ณ บริเวณ ๔ แยกเอเซีย (ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง) เริ่มใช้กติกาเป็นมาตรฐานในการตัดสินเป็นทางการ
              
กติกาการแข่งขัน มีดังนี้

๑. โพนที่ส่งเข้าแข่งขันต้องส่งในนามของวัดใดวัดหนึ่งเท่านั้น
๒. วัดหนึ่งจะส่งโพนเข้าแข่งขันกี่ใบก็ได้
๓. แข่งแบบแพ้คัดออกโดยจับฉลากทีละคู่
๔. หากคะแนนเสมอให้เข้ารอบต่อไปทั้งคู่ รอบสุดท้ายแข่งจนแพ้ในเวลาที่จำกัด
๕. เวลาการแข่งขัน รอบแรก ๔ นาที รอบที่ ๒ เวลา ๕ นาที และรอบชิงชนะเลิศ ๖ นาที
๖. โพนเสียงทุ้มตียืน (ซ้ายขวาสลับสม่ำเสมอ) เสียงแหลมตีขัด (ความถี่มากกว่า จังหวะแบบใดอิสระ)
๗. หากมีปัญหาในอยู่ในดุลยพินิจของกรรมการ การตัดสินของกรรมการถือเป็นเด็ดขาด

              ในการแข่งขันระดับจังหวัดปีแรก มีโพนเข้าแข่งขัน รวม ๔๓ ใบ ไม่มีการแบ่งรุ่น หรือขนาดของโพน ชนะเลิศ ได้แก่โพนวัดแจ้ง (คอกวัว) ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เทศบาลเมืองสงขลาเห็นความยิ่งใหญ่ในการแข่งโพนของเมืองลุง จึงเชิญให้ไปร่วมแข่งขันที่หาดสมิหลาในภาคกลางวัน ผลปรากฏว่าโพนที่ดังที่สุดชื่อฟ้าลั่น วัดอินทราวาส พัทลุง โพนสวยงามชื่ออีสมบูรณ์ วัดทุ่งลาน พัทลุง ลีลาท่าตีโพน ชนะเลิศนายบุญธรรม อักษรผอม (จากพัทลุง) ที่ ๒ นายศักดิ์ หนูแสง (จากพัทลุง) ที่ ๓ นายครื้น ประทุมเมศ (จากพัทลุงฉ โพนใหญ่ที่สุดวัดเนินไศล สงขลา ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เทศบาลเมืองพัทลุงร่วมกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดพัทลุง ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันบริเวณสี่แยกเอเชีย ท่ามิหรำ ผลชนะเลิศ โพนฟ้าลั่น วัดอินทราวาส นายบุญธรรม อักษรผอม ได้แชมป์ลีลาตีโพน โพนสวยงาม ชื่ออีสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗  มีโพนเข้าแข่ง ๖๘ ใบ ชนะเลิศ ชื่อโพน ฟ้าสะท้าน วัดแหลมโตนด ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดพัทลุงร่วมกับเทศบาลเมืองพัทลุง เป็นเจ้าภาพและใช้สนามสี่แยก ถนนเอเชีย มีโพนเข้าแข่งขัน ๗๕ ใบ ชนะเลิศ ได้แก่วัดวิหารเบิก ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ปีนี้เป็นการจัดที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกปีที่เคยจัดมา โดยมีเจ้าภาพ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดพัทลุง เทศบาลเมืองพัทลุง ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง ชมรมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุงและจังหวัดพัทลุง ได้เชิญโพนจากจังหวัดในภาคใต้มาร่วมการแข่งขันทั้ง ๑๔ จังหวัด แบ่งโพน เป็น ๓ รุ่น (ขนาด) คือ เล็ก กลาง ใหญ่ ประกวดลีลาการตีโพน ประกวดโพนใหญ่และโพนสวยงาม และธิดางานแข่งโพน การแข่งขันใช้เวลา ๒ คืน มีโพนที่ส่งเข้าแข่งขันทุกจังหวัด รวม ๑๑๒ ใบ ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เปลี่ยนสนามแข่งขันจากสี่แยกเอเชีย ท่ามิหรำ มาแข่งขัน ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง เนื่องจากที่เดิมคับแคบในการที่จะรองรับนักแข่งโพนและผู้ที่มาร่วมชมงาน ในปีนี้ได้แข่งโพน ขนาดโพน ๔ รุ่น ถือเป็นการแข่งรุ่นมาตรฐานมาจนทุกวันนี้ กำหนดขนาดโพน ดังนี้

๑. รุ่นเล็ก เส้นรอบวงไม่เกิน ๑๒๐ ซม.
๒. รุ่นกลาง เส้นรอบวงไม่เกิน ๑๔๘ ซม.
๓. รุ่นใหญ่ เส้นรอบวงไม่เกิน ๑๗๐ ซม.
๔. รุ่นพิเศษ เส้นรอบวง ๑๗๑ ซม. ขึ้นไป

          นอกจากนี้ได้กำหนดมาตรฐานโพนสวยงามประกอบด้วยรูปทรง หนังหุ้ม ขารองรับ ลูกสักและอุปกรณ์รัดขอบหนัง ตลอดจนถึงไม้ตีโพน และในปีนี้กรรมการตัดสิน ได้พยายามหาเทคนิควิธีในการตัดสินที่ชี้ชัดกว่าทุกปี โดยหาจุดที่รับฟังได้พอเหมาะในการแข่งขัน ปีนี้มีโพนเข้าแข่งขันถึง ๑๔๕ ใบ และใช้สนามหน้าศาลากลางแข่งขันมาตลอดโดยมีเจ้าภาพการแข่งขันคือเทศบาลเมืองพัทลุง และเทศบาลเมืองพัทลุง ได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นับเป็นปีแรกที่งานประเพณีแข่งโพน–ลากพระ จังหวัดพัทลุง ได้เผยแพร่งานในปฏิทินการท่องเที่ยวของประเทศ และเริ่มมีการจัดขบวนแห่ ประกวดลีลาตีโพน ประกวดโพนสวยงาม เวทีแข่งขันจะเป็นเวทีดินอัดแน่น ยกพื้นสูง เชื่อมต่อกับเวทีการแสดง และใช้สนามหน้าศาลากลางแข่งขันโพนมาตลอด โดยมีเจ้าภาพจัดการแข่งขันคือเทศบาลเมืองพัทลุง จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เปลี่ยนสนามแข่งขันไปใช้ที่เกาะลอยหาดแสนสุขลำปำ ปีนี้ มีโพนเข้าร่วมการแข่งขัน ๘๗ ใบ จากนั้นจึงเปลี่ยนสนามแข่งขันหน้าศาลากลางเหมือนเดิม
ปี พ.ศ. ๒๕๔๓–ปัจจุบัน
              ประเพณีการแข่งโพนของจังหวัดพัทลุง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระทานถ้วยรางวัลชนะเลิศให้แก่โพนเสียงดัง ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ พร้อมกันนี้ยังมีกิจกรรมมากมาย เช่น การประกวดธิดาโพน การตักบาตรเทโว การลากเรือพระ การจัดนิทรรศการท้องถิ่น การแข่งขันซัดต้ม ฯลฯ เพื่อสืบทอดคุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่นของ “คนเมืองลุง” ให้ลูกหลานได้รู้จักสืบไป
              
ขั้นตอนการแข่งโพน
              การแข่งโพนจะแบ่งโพนที่เข้าแข่งขันออกตามขนาด เล็ก กลาง ใหญ่ ตามกติกาที่กำหนดแต่ละขนาดมีเลขหมายประจำโพน ประกบคู่ด้วยวิธีการจับฉลากการแข่งโพนบนเวทีแข่งกันทีละ ๒ ใบ แบบแพ้คัดออกจนเหลือคู่ชิงชนะเลิศ เมื่อนำโพนทั้ง ๒ ใบ ขึ้นเวทีแล้วให้ทำการขานเสียง (ซอเสียงหรือเทียบเสียง) โดยผลัดกันตีช้า ๆ ดัง ๆ ตกลงกันว่าโพนใดมีเสียงทุ้มหรือเสียงแหลม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ การแข่งขันรอบแรกจนถึงรอบรองชนะเลิศใช้เวลาแข่งคู่ละ ๓ นาที ส่วนคู่ชิงชนะเลิศใช้เวลาแข่ง ๕ นาที ผู้ตีจะมีวิธีตีอย่างไดแล้วแต่ศิลปะไหวพริบและความชำนาญของผู้ตี
             
องค์ประกอบในการแข่งโพน

๑. โพน
๒. ไม้ตีโพน
๓. ผู้ตีโพน
๔. โฆษกสนามบนเวทีแข่งขัน
๕. กติกาการแข่งขัน
๖. กรรมการตัดสิน

              การตีโพน
              การตีโพน โพนเสียงทุ้มจะต้องตีเป็นจังหวะยืน โพนเสียงแหลมจะต้องดีขัด ผู้ตีจะออกลีลา ท่าทางลวดลายหรือลูกเล่นของแต่ละคน นับเป็นศิลปะที่แปลกตาน่าชม
โพนที่อยู่ในรุ่นเดียวกันใช่ว่าโพนใบใหญ่จะมีเสียงดังมากกว่าโพนใบเล็กเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของหนังหุ้มโพน รูปร่าง รูปทรงของโพนด้วยและที่สำคัญ ผู้ตีต้องมีพละกำลังและความสามารถเฉพาะตัวด้วย
              การตัดสิน
            การตัดสิน มีคณะกรรมการประกอบด้วย กรรมการจับเวลา กรรมการรวบรวมคะแนน โฆษกสนามบนเวที กรรมการให้คะแนน จากจุดตัดสินแบ่งเป็น ๓ ชุด จุดละ ๒ คน ตั้งจุดตัดสินห่างจากเวทีแข่งขันจุดละ ๓๐๐–๘๐๐ เมตร (ขึ้นอยู่สภาพแวดล้อมและทิศทางลม) ส่งผลคะแนนด้วยวิทยุสื่อสารต่างความถี่ ผลคะแนนที่ส่งมาว่าโพนเสียงทุ้ม โพนเสียงแหลมดังกล่าว ถือเอาผลชนะของ ๒ ใน ๓ จุด เป็นผลตัดสิน การตัดสินของกรรมการจะแบ่งกรรมการไปรับฟัง ๓ จุด ด้านหน้าหรือหลังเวลาการแข่งขันโดยห่างจากจุดแข่งขัน ๖๐๐–๘๐๐ เมตร อันเป็นจุดที่เสียงทุ้มและเสียงแหลมไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกัน ถ้าระยะใกล้กว่านี้เสียงทุ้มจะดังกล่าว ถ้าไกลกว่านี้เสียงแหลมจะได้เปรียบ กรรมการจะฟังโดยใช้เทคนิคที่ไม่เหมือนกัน เช่น ฟังปรกติ หากเสียงใกล้เคียงกัน ให้อุดหูข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง หากยังไม่มั่นใจใช้วิธีอินเดียแดง คืออุดหูข้างหนึ่งและอีกข้างหนึ่งแนบพื้นดิน ก็จะสามารถแยกได้ชัดว่าเสียงทุ้มหรือแหลมดังกว่ากัน แล้วจึงรายงานผลโดยสื่อวิทยุไปยังกรรมการกลาง

             เกณฑ์การตัดสินการแข่งโพน
             โพนที่เข้าแข่งขัน มี ๒ ใบ เสียงโพนที่ใช้ในการแข่งขัน มี เสียงทุ้ม เสียงแหลม ผู้ตีโพน เสียงทุ้ม ต้องตีเป็นจังหวะยืน ผู้ตีโพน เสียงแหลม ต้องตีขัดเวลาที่ใช้ในการแข่งขันรอบคัดเลือก ๓ นาที รอบชิงชนะเลิศ ๕ นาที การให้คะแนน ตั้งจุดตัดสินห่างจากเวทีแข่งขันจุดละ ๓๐๐–๘๐๐ เมตร (ขึ้นอยู่สภาพแวดล้อมและทิศทางลม ) แบ่งเป็น ๓ จุด คะแนนโพนเสียงทุ้ม โพนเสียงแหลม ถือเอาผลชนะของ ๒ ใน ๓ จุด เป็นผลตัดสิน

              วิธีการแข่งขันโพน

๑. โพนที่เข้าแข่งขัน จะแบ่งโพนออกตามขนาด ตามกติกาที่กำหนด คือโพนขนาดเล็ก โพนขนาดกลาง และโพนขนาดใหญ่
๒. โพนแข่งขันทุกขนาด ต้องมีหมายเลขประจำโพน และใช้หมายเลขประจำโพนตั้งแต่รอบคัดเลือกจนถึงรอบชิงชนะเลิศ
๓. ประกบคู่ด้วยวิธีการจับฉลาก
๔. การแข่งโพนบนเวทีแข่งขันทีละ ๒ ใบ
๕. แพ้คัดออกจนเหลือคู่ชิงชนะเลิศ
๖. นำโพนที่เข้าแข่งขัน ขึ้นบนเวที วางบนลงบนสนามแข่งขันอยู่ มุมสีน้ำเงินหรือว่ามุมสีแดง ใช้ธงเป็นสัญลักษณ์
๕. ก่อนการแข่งขันโพน พิธีกรบนเวที จะอ่านประวัติโพนที่เข้าแข่งขัน
๖. โฆษกสนามบนเวที ให้โพนที่เข้าแข่งขันทำการขานเสียง (ซอเสียง หรือเทียบเสียง)
๗. ผลัดกันตีช้า ๆ ดัง ๆ ตกลงกันว่าโพนใดมีเสียงทุ้มหรือเสียงแหลม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
๘. โพนเสียงทุ้ม ผู้ตีโพนต้องตีเป็นจังหวะยืน
๙. โพนเสียงแหลม ผู้ตีโพนต้องตีขัด
๑๐. แข่งขันรอบแรก จนถึงรอบรองชนะเลิศ ใช้เวลาแข่งขันคู่ละ ๓ นาที

ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
โพน
ที่อยู่
จังหวัด
พัทลุง


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม. (2565). การแข่งโพน-รำโพน. สืบค้น 10 พ.ย. 65, จาก https://kyl.psu.th/f8kv8R8mp


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024