วัดมัชฌิมาวาส (Wat Matchimawat)
 
Back    26/12/2017, 09:50    25,170  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา

        วัดมัชฌิมาวาสหรือวัดกลาง ตั้งอยู่เลขที่ ๒๒๒ หมู่ที่ ๑๑ ถนนไทรบุรี ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลาอยู่ทางทิศตะวันออกของทะเลสาบสงขลา เป็นวัดใหญ่และสำคัญวัดหนึ่งของจังหวัดสงขลา ตามประวัติกล่าวว่าวัดมัชฌิมาวาสสร้างมาแล้วประมาณ ๔๐๐ ปี ในสมัยอยุธยาตอนปลายเดิมวัดมัชฌิมาวาสเป็นวัดราษฎร์สร้างโดยยายศรีจันทร์คหบดีผู้มั่งคั่งในเมืองสงขลาได้อุทิศเงินสร้างขึ้นชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดยายศรีจันทน์ ต่อมาประชาชนพากันเรียกว่า "วัดกลาง" เนื่องจากมีผู้สร้างวัดในจังหวัดสงขลาขึ้นทางทิศเหนือขึ้นอีกหนึ่งวัดคือวัดเลียบและทางทิศใต้อีกหนึ่งวัดคือวัดโพธิ์ โดยมีวัดยายศรีจันทร์ตั้งอยู่ระหว่างกลาง ชาวสงขลาจึงเรียกวัดยายศรีจันทน์ว่า “วัดกลาง” แต่ในปี พ.ศ. ๒๔๒๑ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส (เมื่อยังดำรงพระอิสริยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส) ได้เสด็จเมืองสงขลาทรงเปลี่ยนชื่อวัดกลางเป็นวัดมัชฌิมาวาส และเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ยกฐานะวัดเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี มีชื่อทางราชการว่าวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร มีอาณาเขตด้านทิศเหนือจรดโรงเรียนสงเคราะห์ประชา ทิศใต้จรดวัดโพธิ์ปฐมาวาส ทิศตะวันออกจรดถนนรามวิถี (วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สงขลา และทิศตะวันตกจรดถนนไทรบุรี    
            วัดมัชฌิมาวาสนั้นตั้งแต่สร้างมาในสมัยอยุธยาตอนปลายจนปัจจุบันมีเจ้าอาวาส และปูชนียบุคคลหลาย ๆ ท่านที่ช่วยดูแลปฏิสังขรณ์เสนาสนะภายในวัด แต่จะขอกล่าวเฉพาะบางท่านเท่านั้นดังต่อไปนี้ ในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๓๘ ถึง–๒๓๔๒) เจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา (แหลมสน) ได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดนี้ครั้งใหญ่ เช่น สร้างพระอุโบสถ และศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ ในรัชกาลที่ ๒–๓ พ.ศ. ๒๓๖๐ –๒๓๗๕ พระยาวิเชียรคีรี (เถียนเส้ง) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา (แหลมทราย) ได้สร้างหนังสือผูกลาน คือพระวินัย ๖๖ คัมภีร์ พระอภิธรรม ๘๗ คัมภีร์ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ ๘ ตู้ เจ้าอาวาสชื่อพระครูรัตนโมลี (รักษ์) (พ.ศ. ๒๓๕๘–๒๓๗๙) เมื่อเมืองสงขลาย้ายจากฝั่งตะวันตกของทะเลสาบ (หัวเขาแดง) มาอยู่ฝั่งตะวันออก (แหลมสน) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาก็กระทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาที่พระอุโบสถนี้เป็นประจำปีสืบต่อมา ในรัชกาลที่ ๓–๔ พ.ศ. ๒๓๗๙ ถึง ๒๓๘๙ มีเจ้าอาวาสชื่อพระปลัดทอง และ พ.ศ. ๒๓๘๙ ถึง–๒๓๙๔ มีเจ้าอาวาสชื่อพระครูรัตนโมลี (พูน) ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๔ ถึง–๒๔๐๘ เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา (แหลมทราย) ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์มีการสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่แบบศิลปะไทยและจีน และสร้างศาลาการเปรียญ กุฏิเป็นคณะ หอไตรพระจอม ศาลาฤๅษี ก่อกำแพงแก้ว สร้างซุ้มประตูวัด ๔ ซุ้ม โดยออกแบบเป็นรูปทรงพระพิชัยมหามงกุฎ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงความจงรักภักดีและกตัญญูกตเวทีสนองพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) กำลังก่อสร้างพระอุโบสถแห่งใหม่ในสมัยที่พระองค์สด็จประพาสเมืองสงขลาใน พ.ศ. ๒๔๐๒ ถึง ๒๔๐๔ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรวัดนี้ด้วย สำหรับลำดับเจ้าอาวาสของวัดมัชฌิมาวาสนี้ ในช่วง พ.ศ. ๒๔๑๖ ถึง–๒๔๒๖ เจ้าอาวาสคือพระครูรัตนโมลี (มาศ) ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๒๖ ถึง–๒๔๓๑ เจ้าอาวาสคือพระครูรัตนโมลี (กิ้มเซ่ง) และใน พ.ศ. ๒๔๓๑ ถึง–๒๔๓๘ พระภัทรธรรมธาดา (แจ้ง) วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ ได้รับอารธนาจากพระยาสุนทรานุรักษ์ (ชม) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลามาเป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะเมืองสงขลาพระภัทรธรรมดาได้พานายเฉย ผู้ซึ่งเรียนหนังสือไทยสำเร็จตามหลักสูตรชั้นต้น ตามนโยบายของรัชกาลที่ ๕ (การศึกษาแผนใหม่ในยุคนั้น) และได้เปิดการสอนหนังสือไทยขึ้นที่โรงธรรม (ศาลาการเปรียญเก่า) การศึกษาจัดรูปแบบการเล่าเรียนศึกษาเป็นทางการ ได้เริ่มขึ้นที่วัดกลาง เมืองสงขลาเป็นครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๓๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองสงขลา เสด็จเยือนวัดและโรงเรียนหนังสือไทย วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ ตามโครงการแผนการศึกษาที่ทรงจัดขึ้น โดยอาศัยเจ้าคณะเป็นผู้ดำเนินงานในชั้นต้น ได้พระราชทานเงินเลี้ยงสงฆ์ ๓ ชั่ง และเงินฝ่ายใน (เจ้านายผู้หญิงตามเสด็จมีสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา) เข้าเรี่ยไรกันทำถนนในวัด ๔ ชั่ง (เงิน ๔ ชั่ง เป็นมูลฐานให้เกิดมีถนนในวัดดังปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้) ในระยะ พ.ศ. ๒๔๓๘–ถึง ๒๔๕๓ ท่านพระครูวิสุทธิโมลี (จันทร์ทอง) เป็นเจ้าอาวาสเกิดฝนตกและมีพายุแรงจัดได้พัดต้นมะขามล้มมาตีซุ้มประตูของเก่าหน้าวัดหักพังเสียหายท่านเจ้าอาวาสได้แจ้งไปยังพระยาวิเชียรคีรี (ชม) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา และได้ขอร้องให้ซ่อมแซ่มไว้ให้เหมือนเดิม แต่ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาตอบท่านว่าบัดนี้ท่านหมดอำนาจตามระบบเก่า จะทำซุ้มยอดมงกุฎแบบเดิมไม่ได้ แต่จะทำถวายแบบใหม่เป็นซุ้มประตูแบบฝรั่งผสมจีน (ดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน) ต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จมาวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร ทรงเห็นหลังคาพระอุโบสถชำรุดมากจึงรับสั่งให้พระยาสุขุมนัยวินิจรและเรียนเจ้าอาวาส ให้ร่วมกันซ่อมแซมพระอุโบสถเพื่อรักษาฝีมือการช่างเก่าได้ ซึ่งเวลานั้นก็หาดูได้ยากแล้วและเป็นฝีมือศิลปะชั้นครู จึงทำให้พระอุโบสถหลังนี้คงสภาพเดิมอยู่จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๓  ต่อมาในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๓–๒๔๗๒ พระรัตนธัชมุนี (จู อิสรญาโน) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นที่พระอโนมคุณมุนี เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๒–๒๔๗๗ ได้บูรณะปฏิสังขรณ์พระวิหาร ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ถึง ๒๕๒๑ พระเทพวิสุทธิคุณ (เลี่ยม อลีโน) เป็นเจ้าอาวาสได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์กุฏิเก่า ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้จัดตั้งห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ขึ้น และในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถให้ทุกอย่างอยู่ในสภาพแบบศิลปะเก่าดั้งเดิมเพื่อรักษาศิลปะโบราณไว้ สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สมัยทรงพระอิสสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์มาทรงยกช่อฟ้าเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ วัดมัชฌิมาวาสหรือวัดกลางแห่งนี้เป็นแหล่งรวมของงานด้านสถาปัตยกรรมประติมากรรมและจิตรกรรม ซึ่งเป็นวัฒนธรรมไทย-จีนที่ผสมผสานและสอดคล้องเข้ากันอย่างลงตัวซึ่งแสดงถึงการผสมผสานของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอารยธรรมของผู้คนที่ต่างกัน แต่อยู่ร่วมกันมาด้วยความสงบร่มเย็นมาแต่โบราณกาล อาทิ พระอุโบสถสร้างสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นศิลปะประยุกต์ไทย-จีนภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เช่น ภาพท่าเรือสงขลาที่หัวเขาแดงที่มีการค้าขายกันคึกคักในอดีต ซุ้มประตูเป็นศิลปะจีนผสมกับยุโรปปัจจุบันศาลาการเปรียญยังใช้เป็นพิพิธภัณฑ์สถานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของภาคภาคใต้ ชื่อว่าหอ "ภัทรศิลป์" เป็นสถานที่เก็บวัตถุโบราณต่าง ๆ โดยอดีตท่านเจ้าอาวาส คือพระราชศีลสังวร (ช่วง อตฺถเวที) เมื่อครั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส (พ.ศ. ๒๔๘๑ ถึง–๒๕๒๑) ได้เป็นแม่งานดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์อาคารเสนาสนะ และเมื่อท่่านเป็นเจ้าอาวาสได้เก็บและรวบรวมศิลปะโบราณวัตถุที่สำคัญ ๆ ในเขตอำเภอเมือง อำเภอสทิงพระ และอำเภอระโนด ไว้จำนวนมาก ต่อมาได้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานขึ้นในปี พ.ศ.  ๒๕๒๔  คือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติภัทรศีลสังวรเป็นผู้ริเริ่มสร้างขึ้น เนื่องจากท่านรักการสะสมโบราณวัตถุทางประวัตศาสตร์ภาคใต้ และดำเนินการต่อเนื่องมาตลอด ในระยะเวลาที่ท่านยังมีชีวิตอยู่มีบรรดาเหล่าศิษยานุศิษย์ได้นำมาถวาย ท่านจึงอุทิศโบราณวัตถุทุกชิ้นเพื่อพิพิธภัณฑ์เป็นวิทยาทานแก่ชนรุ่นหลัง ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีโบราณวัตถุที่รวบรวมได้จากเมืองสงขลา สทิงพระ ระโนด และเมืองอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของภาคใต้ ที่ควรค่าแก่การศึกษาอีกแห่งหนึ่งโดยเปิดให้เข้าชมทุกวันเว้นวันจันทร์-อังคารและวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา ๑๓.๐๐-ถึง ๑๖.๐๐ น.

ซุ้มประตูหน้าวัดได้สร้างใหม่เป็นซุ้มประตูฝรั่งผสมจีน

ซุ้มประตูเป็นรูปทรงมงกุฎที่กลางกำแพงวัดด้านละประตูรวม ๔ ประตู

 

       บริเวณรอบ ๆ วัดทั้ง ๔ ทิศมีรูปปั้นยักษ์ (ท้าวจตุมาหาราช) ตั้งอยู่บนกำแพงซึ่งยักษ์แต่ละตนจะมีชื่อแตกต่างกันไปตามคติความเชื่อในพุทธศาสนาซึ่งยักษ์แต่ละตนจะทำหน้าที่ป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่มนุษย์โลกทั้งหลาย ประกอบด้วย         

  •  ท้าววิรุฬหกเป็นจอมเทวดา หรือจอมกุมภัณฑ์ เป็นผู้ปกครองกุมภัณฑเทวดา ทั้งหมด อยู่ทิศใต้
  •  ท้าวธตรฐ เป็นจอมภูต หรือจอมคนธรรพ์ เป็นผู้ปกครองคันธัพพ เทวดาทั้งหมด อยู่ทิศตะวันออก
  •  ท้าวกุเวรเป็นเจ้าแห่งยักษ์ทั้งปวงผู้ดูแล เป็นผู้ปกครองยักขะเทวดาทั้งหมด อยู่ทางทิศเหนือ
  • ท้าววิรูปักษ์ เป็นจอมนาค เป็นผู้ปกครองนาคะ เทวดาทั้งหมด อยู่ทิศตะวันตก

ท้าววุรุฬหก : จอมเทวดาหรือกุมภัณฑ์อยู่ทิศใต้

ท้าวธตรฐ : จอมภูตหรือจอมคนธรรพ์อยู่ทิศตะวันออก

ท้าวกุเวร : เจ้าแห่งยักษ์ทั้งปวงผู้ดูแลอยู่ทางทิศเหนือ

ท้าววูปักษ์ : จอมนาคอยู่ทางทิศตะวันตก


ความสำคัญ

             วัดมัชฌิมาวาสหรือวัดกลางวัดสำคัญและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในย่านเมืองเก่าสงขลา สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายเดิมชื่อวัดยายศรีจันทร์ตามชื่อคหบดีที่เป็นผู้สร้างวัดนี้ แต่ชาวบ้านมักเรียกกันว่าวัดกลาง เพราะมีการสร้างวัดเลียบทางทิศเหนือและวัดโพธิ์ทางทิศใต้ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาบาลีว่า "วัดมัชฌิมาวาส" โดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เมื่อครั้งเสด็จเมืองสงขลาในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมฯ ให้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร วัดนี้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่คล้ายโบสถ์วัดพรศรีรัตนศาสดาราม แต่ขนาดเล็กกว่า สร้างขึ้นโดยฝีมือช่างหลวงในกรมช่างสิบหมู่ร่วมกับช่างประจำเมืองสงขลาส่วนประดับของเครื่องบนหรือหลังคามีช่อฟ้า แต่ไม่มีนาคสะดุ้งหน้าบันด้านหน้าเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณสามเศียร ด้านหลังเป็นรูปพระพรหมทรงหงส์ รอบโบสถ์มีเสารองรับชายคาโดยรอบ ระหว่างช่องเสาด้านนอกเป็นรูปจำหลักบนหินเรื่องสามก๊ก
         วัดมัชฌิมาวาสหรือวัดกลางตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครสงขลา สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายมีเนื้อที่ประมาณ ๑๑ ไร่ ทิศเหนือติดกับที่ธรณีสงฆ์ของวัด ทิศใต้ติดกับถนนมัชฌิมวิถี ทิศตะวันตกติดกับถนนไทรบุรี เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงโปรดเกล้าฯ ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชื่อเป็นเต็มคือวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร และเป็นวัดที่พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ เสด็จมาทุกครั้งที่เสด็จประพาสจังหวัดสงขลา วัดมัชฌิมาวาสเป็นวัดใหญ่และสำคัญของจังหวัด มีอายุกว่า ๔๐๐ ปี แต่เดิมเรียกวัดยายศรีจันทร์ ตามชื่อนางศรีจันทร์คหบดีผู้มั่งคังและเลื่อมใสพุทธศาสนาอย่างสูงได้ถวายที่ดิน และเงินในการสร้างวัด ต่อมาเมื่อมีวัดอีก ๒ แห่งสร้างขึ้นขนาบข้าง คือวัดเลียบทางทิศเหนือ และวัดโพธิ์ทางทิศใต้ ชาวบ้านจึงเรียกวัดยายศรีจันทร์ว่า "วัดกลาง" เพราะตั้งอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางของทั้งสองวัด ครั้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๑ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ซึ่งทรงอยู่ในเพศบรรพชิตเสด็จเมืองสงขลาทรงเปลี่ยนชื่อวัดกลางเป็นภาษาบาลีว่า “วัดมัชฌิมาวาส" ซึ่งมีความหมายเดียวกันเนื่องจากวัดกลางมีความสำคัญมาตั้งแต่อดีต ทั้งเมืองสงขลาก็เป็นเมืองท่าสำคัญและเป็นศูนย์กลางติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ จึงมีกลุ่มพ่อค้าจากต่างชาติที่มีความเลื่อมใสศรัทธาถวายปัจจัยหลากหลายเพื่อบำรุงวัดส่งผลให้วัดแห่งนี้ มีสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานทั้งวัฒนธรรมไทย จีน และยูโรป ปัจจุบันนี้ยังคงมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ได้รับการทำนุบำรุงให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ สถาปัตยกรรมในวัดที่สำคัญสำคัญได้แก่ พระอุโบสถ (ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามเขียนในสมัยรัชกาลที่ ๔),  ศาลาการเปรียญ, หอไตร, กุฏิทรงเก๋งจีน, หอระฆัง, เสาธง, เจดีย์, ตุ๊กตาหินสลักแบบจีน, ศาลาฤๅษีดัดตน เป็นต้น
   วัดมัชฌิมาวาสได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ เกี่ยวกับการศึกษาหนังสือไทย สมัยเมื่อรัฐบาลยังไม่จัดการศึกษาประชาบาลเป็นทางการทั่วราชอาณาจักร การเรียนหนังสือไทยเรียกกันว่าหนังสือวัดพวกเด็กที่เข้าไปอยู่เป็นศิษย์ของพระภิกษุรูปใด พระภิกษุรูปนั้นก็สอนให้เป็นการส่วนตัวคือศิษย์ใครใครสอน วิธีนี้ย่อมมีอยู่ทั่ว ๆ ไปในสมัยนั้น ครั้นต่อมาพระภัทรธรรมธาดา (แจ้ง) จากวัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ มาอยู่เป็นเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร พระภัทรธรรมธาดา ได้เปิดสอนหนังสือไทยขึ้นที่โรงธรรม (ศาลาการเปรียญเก่า) โดยให้เด็กวัดทุกคน (อาจมีเด็กบ้านมาสมทบเรียนด้วย) มาเรียนรวมกันตามแผนการนโยบายการจัดการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนับเป็นครั้งแรก ที่การศึกษาแผนใหม่อุบัติขึ้นแต่ภายหลังโรงเรียนนี้ได้ย้ายไปทำการสอนที่ศาลชำระความ ริมจวนพระยาวิเชียรคีรี (ชม) แล้วก็กลายมาเป็นโรงเรียนมหาวชิราวุธในปัจจุบัน


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

         วัดมัชฌิมาวาสมีสถาปัตยกรรมเด่น ๆ ได้แก่พระวิหาร พระเจดีย์แบบจีน เสาตะเกียบ คู่ของเสาธง ใบเสมา ๘ ทิศ กําแพงแก้วรอบพระอุโบสถ ศาลาฤาษี หอพระไตรปิฎก กุฏิแบบเก๋งจีน พิพิธ ณฑ์สถานแห่งชาติมัชฌิมาวาส เป็นต้น

พระอุโบสถ 

          พระอุโบสถที่ปรากฎในปัจจุบันนี้เป็นหลังใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์ ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคนที่ ๕ ในตระกูล ณ สงขลา เป็นผู้สร้างระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๐–๒๔๐๘  โดยที่หน้าบันภายนอกพระอุโบสถหลังนี้เป็นทรงไทยสมัยรัตนโกสินทร์โดมีเสาหารรับหลังคาสามารถเดินได้รอบ ซึ่งเป็นศิลปะแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๓ โดยย่อส่วนและปรับปรุงจากแบบพระอุโบสถของวัดพระศรีรัตนศาสดารามซึ่งเป็นฝีมือช่างหลวงในกรมช่างสิบหมู่ ร่วมมือกับช่างท้องถิ่นเมืองสงขลา ส่วนประกอบของช่อฟ้ามีแต่ตัวลำยองไม่มีนาคสะดุ้ง เสารองพระอุโบสถเป็นสี่เหลี่อมไม่มีย่อมุม หน้าบันพระอุโบสถภายนอกเป็นปูนปั้น ด้านทิศตะวันออกเป็นรูปพระพรหมทรงหงส์ ส่วนหน้าบันภายนอกด้านทิศตะวันตกเป็นปูนปั้น รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณพระอุโบสถหลังนี้ มีซุ้มหน้าต่างเป็นรูป มงกฎอยู่ ๒ แถว ๆ ละ ๗ ซุ้ม และมีซุ้มประตูเป็นรูปทรงมงกฎอยู่ด้าน ๆ ละ ๒ ซุ้ม ภายในพระอุโบสถมีพระประธานทำด้วยหินอ่อนฝีมือช่างจีน กล่าวกันว่าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์ ณ สงขลา) เป็นผู้ให้แบบสั่งมาจากประเทศจีน พระพักตร์ของพระประธานแสดงลักษณะฝีมือช่างจีนอย่างเห็นได้ชัด พระประธานองค์นี้มีพระเกตุมาลาทำด้วยทองคำ ที่หน้าบันภายในเป็นปูนปั้น ด้านทิศตะวันออกเป็นรูปราหูหน้าตรง ส่วนหน้าบันภายในเป็นปูนปั้น ด้านทิศตะวันออกเป็นรูปราหูหน้าตรงพระอุโบสถหลังนี้ ไม่มีฝ้าเพดานเพราะต้องการแสดงขื่อไม้ ที่ผนังพระอุโบสถทั้ง ๔ ด้าน มีจิตรกรรมฝาผนังที่พระอุโบสถหลังนี้เขียนเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ ภายนอกพระอุโบสถระหว่างช่วงเสาโดยรอบนั้นมีภาพจำหลักหินเป็นเรื่องราวฝีมือช่างจีน ที่หน้าซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถด้านทิศตะวันออก มีรูปจำหลักหินเป็นรูปขุนนางฝ่ายทหาร ๔ คน ในนิยายปรัมปราของจีนเรื่องลิซิบิ้นดูได้รอบด้านและทางด้านหน้าซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถด้านทิศตะวันตกมีรูปจำหลักหินเป็นรูปโลกบาลทั้ง ๔ แบบ อุโบสถวัดมัชฌิมาวาสมีการประดิษฐานเสมาศิลาทั้ง ๘ ทิศ โดยใบเสมาเหล่านี้ประดิษฐานอยู่บนฐานศิลาไม่มีซุ้มประกอบลักษณะเช่นนี้มักเรียกกันว่า “เสมานั่งแท่น” ทั้งนี้ใบเสมาขนาดเล็กเป็นลักษณะสำคัญประการหนึ่งของใบเสมาสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น นอกจากนี้สังเกตได้ว่าลวดลายบนใบเสมาสลักฐานด้านล่างมีลักษณะคล้ายฐานสิงห์ที่รองรับบัวคลุ่มอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งฐานชุดดังกล่าวดูผิดสัดส่วนที่นิยมตามระเบียบไทยประเพณีแสดงให้เห็นว่าช่างมิค่อยเข้าใจนักอีกทั้งลักษณะเนื้อหินที่มีสีออกเทาอมเขียวมีจุดสีดำทั่วเนื้อหินชวนให้นึกถึงศิลาที่ใช้ในเมืองหนิงโป มณฑลเจ้อเจียง ดังนั้นพอสันนิษฐานได้ว่าเสมาพร้อมฐานดังกล่าวอาจสั่งให้แกะสลักจากเมืองจีนและส่งเข้ามา ต่อมาพระอุโบสถหลังนี้ชำรุดทรุดโทรมมาก ทางวัดจึงได้ดำเนินการซ่อมตามแบบของกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สมัยทรงพระอิสสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์มาทรงยกช่อฟ้าพระอุโบสถ เมื่อ ณ วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ และกรมศิลปากรได้ใช้เงินงบประมาณอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗

หลังคาหน้าจอประดับใบระกาและหางหงส์

พระอุโบสถประดิษฐานอยู่ในกำแพงแก้ว

พระอุโบสถด้านทิศตะวันตก หน้าบันเป็นรูปปั้นพระอินทรทรงช้างเอราวัณอยู่ในวงล้อมที่เป็นลายไทยกนก

พระอุโบสถด้านทิศตะวันออก หน้าบันเป็นรูปปั้นพระพรหม ๔  หน้าทรงหงส์ล้อมด้วยลายไทยกนก

พระอุโบสถหลังนี้ มีซุ้มหน้าต่างเป็นรูปพระมงกุฎอยู่ ๒ แถว แถวละ ๗ ซุ้มมีคานรองรับโดยรอบ

ประตูพระอุโบสถมีซุ้มเป็นมงกุฏ

พระประธานภายในพระอุโสบถ (ภาพสืบค้นจาก : http://www.archae.su.ac.th/art_in_south/index.php/collections/songkla/item/275-songkla-015.html)

       พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปหินอ่อนปางสมาธิราบ หน้าตักกว้าง ๕๕ ซม. ประดิษฐานในบุษบก มีพุทธลักษณะแบบไทยผสมจีนป็นพระประติมากรรมหินอ่อน (alabaster) ประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางสมาธิ ตามประวัติกล่าวว่าเป็นพระพุทธรูปที่สั่งให้สร้างขึ้นโดยเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) ปั้นแบบโดยช่างไทยแล้วส่งไปแกะสลักประเทศจีน สำหรับเม็ดพระศก และเกตุมาลาทำจากทองคำครอบลงบนพระเศียรอีกทอดหนึ่ง น่าสังเกตว่าส่วนครอบพระเศียรไม่มีการทำอุษณีษะซึ่งชวนให้นึกถึงความนิยมสัจนิยมที่ริเริ่มโดยรัชกาลที่ ๔ พระองค์ท่านให้ตัดการทำอุษณีษะแก่พระพุทธรูป เนื่องจากทรงเห็นว่าเป็นลักษณะที่ไม่มีอยู่จริง

ฐานบุษบกพระประธานในอุโบสถ

ลวดลายวิจิตรสวยงามของภาพจิตรกรรมภายในพระอุโบสถ         

        ภายในพระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรม ตอนบนเป็นภาพคนธรรพ์ ถัดลงมาเป็นเทพชุมชน ผนังด้านทิศเหนือใต้ตอนกลางเป็นเรืื่องปฐมสมโพธิ ด้านทิศเหนือตอนล่างว่าด้วยเรื่องพระเวสสันดรชาดก ด้านทิศใต้เป็นเรื่องทศชาติ ส่วนผนังทางทิศตะวันตกเป็นเรื่องพระแม่ธรณีบีบมวยผม  เพื่อให้น้ำท่วมบรรดาพญามาร (มารวิชัย)  ส่วนทางด้านทิศตะวันออกหลังพระประธานเป็นตอนที่โทณพราหมณ์แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ  ภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่า เป็นเสมือนหนึ่งเข้าไปอยู่อดีตกาล ภาพที่สะท้อนเรื่องราวต่าง  ๆ ทั้งคติธรรมความเป็นอยู่ ตลอดถึงวิถีชีวิตและพฤติกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มคนไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย เครื่องมือเครื่องใช้ ความเชื่อ ประเพณีหรือการละเล่นต่าง ๆ

      ภาพชาดกในเรื่องมหาชนกชาดกมีการเขียนภาพโขดหิน ต้นไม้ กำแพงเมือง กั้นแต่ละฉากไว้ ซึ่งเทคนิคดังกล่าวนิยมตั้งแต่สมัยรักาลที่ ๓ เป็นต้นมา อีกทั้งช่างพยายามเขียนภาพอาคาร หรือสิ่งก่อสร้างหลายหลังให้มีมิติมากขึ้นโดยใช้การลากเส้น ซึ่งลักษณะเช่นนี้เป็นที่นิยมตั้งแต่รัชกาลดังกล่าวลงมาเช่นกัน โดยเกี่ยวข้องกับการเขียนภาพแบบเน้นสัจนิยมแบบตะวันตก นอกจากนี้น่าสังเกตว่า การเขียนภาพทะเลและแม่น้ำมิได้เขียนเป็นลายเกล็ดปลาตัดเส้นดังแต่ก่อน แต่เขียนให้เห็นภาพคลื่นน้ำแบบสมจริง ลักษณะเช่นนี้เป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่กลางห้องภาพมีจารึกเขียนว่า “ห้วงนี้เมื่อราชาภิเศกพระมหาชนกกับพระสิมพลี” ทำให้ทราบว่าห้องภาพดังกล่าวเขียนเรื่องราวของมหาชนกชาดกซึ่งเป็นหนึ่งในทศชาติชาดก โดยตามคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาบันทึกถึงเรื่องดังกล่าวว่ากษัตริย์กรุงมิถิลามีพระราชโอรส ๒ พระองค์นามว่าพระอริฏฐชนกและโปลชนก เมื่อกษัตริย์กรุงมิถิลาสวรรคตพระอริฏฐชนกได้ขึ้นครองราชย์ต่อต่อมาโปลชนกสามารถยึดราชสมบัติจากอริฏฐชนกได้ ครานั้นพระเทวีของพระอริฏฐชนกสามารถหนีรอดไปได้ ต่อมาได้มีประสูติกาลและตั้งพระนามพระราชโอรสว่า “พระมหาชนก” เมื่อพระมหาชนกเติบใหญ่และทราบความจริง จึงคิดไปค้าขายตั้งตัวเพื่อกอบกู้ราชสมบัติระหว่างเดินทางด้วยเรือสำเภา เรือต้องพายุล่มลง พระองค์อดทนว่ายน้ำกลางมหาสมุทรจนในท้ายสุดนางมณเมขลาเห็นใจ จึงช่วยพระองค์ โดยการอุ้มพระองค์ไปส่งที่มิถิลาซึ่งในขณะนั้นพระโปลชนกได้สวรรคติแล้ว เรื่องแต่พระราชธิดานามว่า “สีวลีเทวี” (สิมพลีตามจารึกบนจิตรกรรม) ก่อนพระโปลชนกสวรรคตได้ตั้งปริศนาเรื่องขุมทรัพย์ไว้ หากใครแก้ไขได้จะได้ขึ้นครองราชย์ต่อไป ซึ่งในท้ายที่สุดพระมหาชนกสามารถแก้ไขได้ทั้งหมด อำมาตย์จึงพร้อมใจเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์ และอภิเษกกับสีวลีเทวี

       ภาพชาดกในเรื่องเนมียราชชาดก มีการเขียนภาพโขดหิน ต้นไม้ กำแพงเมือง กั้นแต่ละฉากไว้ ซึ่งเทคนิคดังกล่าวนิยมตั้งแต่สมัยรักาลที่ ๓ เป็นต้นมา อีกทั้งช่างพยายามเขียนภาพอาคาร หรือสิ่งก่อสร้างหลายหลังให้มีมิติมากขึ้นโดยใช้การลากเส้น ซึ่งลักษณะเช่นนี้เป็นที่นิยมตั้งแต่รัชกาลดังกล่าวลงมาเช่นกัน โดยเกี่ยวข้องกับการเขียนภาพแบบเน้นสัจนิยมแบบตะวันตก ภาพแสดงฉากสวรรค์มีการเขียนภาพก้อนเมฆคล้ายแบบจีนแทรกอยู่ ซึ่งอิทธิพลจีนปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่องในศิลปะไทย ที่ด้านล่างของห้องภาพนี้มีจารึกเขียนว่า “ห้วงภาพนี้พระมาตลีสารถีภาพระเนมิยะไปดูนรก” จึงทำให้ทราบว่าฉากต่าง ๆ ในห้องภาพนี้มาจากเนมียราชชาดก โดยเป็นพระชาติที่พระพุทธเจ้าได้เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าเนมีราช (เนมิยะ) ด้วยบุญกุศลที่พระองค์ได้บำเพ็ญมาอย่างต่อเนื่องทำให้พระอินทร์ได้ส่งราชรถพร้อมพระมาตุลี (มาตลี)ซึ่งเป็นสารถี มาเชิญพระองค์เสด็จไปยังเทวโลก แต่ก่อนเสด็จไปยังพระเทวโลกนั้น พระองค์ได้ตรัสกับมาตุลีว่าอยากทอดพระเนตรนรก พระมาตุลีจึงพาพระองค์เสด็จไปทอดพระเนตรนรก หลังจากนั้นจึงเสด็จไปยังเทวโลก ทั้งนี้ช่างได้แบ่งห้องภาพออกเป็นสองส่วนคือ ด้านบน และด้านล่าง โดยด้านบนเป็นฉากสวรรค์หรือเทวโลกแสดงด้วยภาพวิมาน และเทวดาบนก้อนเมฆ ส่วนด้านล่างคือ ฉากนรกซึ่งแสดงออกมาในรูปการทรมานผู้ประพฤติชั่วในรูปแบบต่างๆ ในฉากนรกปรากฏราชรถโดยมีพระเนมีราชประทับอยู่พร้อมกับมาตุลีสารถี

       ภาพจิตรกรรมภายในพระอุโบสถว่าด้วยเรื่องพระเวสสันดรชาดก กัณฑ์สักกบรรพ และกัณฑ์มหาราช โดยเลือกฉากสำคัญเฉพาะบางฉาก มีการเขียนภาพโขดหิน ต้นไม้ กำแพงเมือง กั้นแต่ละฉากไว้ ซึ่งเทคนิคดังกล่าวนิยมตั้งแต่สมัยรักาลที่ ๓ เป็นต้นมา อีกทั้งเห็นได้ชัดว่าช่างพยายามเขียนภาพอาคาร หรือสิ่งก่อสร้างหลายหลังให้มีมิติมากขึ้นโดยใช้การลากเส้น ซึ่งลักษณะเช่นนี้เป็นที่นิยมตั้งแต่รัชกาลดังกล่าวลงมาเช่นกัน นอกจากนี้น่าสังเกตว่า ช่างเลือกใช้การปิดทองกับตัวละครเอกที่เป็นกษัตริย์ ชนชั้นสูง ซึ่งแสดงถึงการสืบทอดงานจิตรกรรมไทยประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ด้านล่างของห้องภาพมีการเขียนกำกับไว้ว่า “ห้วงนี้ข้างบนกันสักบัพ ใต้กันมหาราช” ซึ่งหมายถึงกัณฑ์สักกบรรพและกัณฑ์มหาราชในพระเวสสันดรชาดกรนั่นเอง ด้านบนของห้องภาพซึ่งเขียนเล่าเรือ่งกัณฑ์สักกบรรพนั้น ด้านซ้ายเป็นภาพพระเวสสันดรประทับในอาศรมพร้อมกับพระนางมัทรีประทับอยู่ทางด้านขวาของพระองค์ด้านหน้าเรือนเขียนเป็นภาพพราหมณ์ชรา ซึ่งตามเนื้อเรื่องคือพระอินทร์ที่แปลงร่างมา และเดินทางมาขอพระนางมัทรีจากพระเวสสันดร ด้วยพระอินทร์ทรงเกรงว่าหากมีผู้ขอพระนางมัทรีไปพระเวสสันดรไม่มีผู้ปรนนิบัติ อาจเป็นอันตรายต่อพระโพธิญาณของพระองค์ เมื่อพระเวสสันดรประทานให้แล้ว พราหมณ์ชรา (พระอินทร์) คืนพระนางมัทรีแก่พระเวสสันดร และห้ามไม่ให้ประทานนางแก่ผู้ใดอีก ด้านขวาบนของภาพประกอบด้วยพระเวสสันดร และพระนางมัทรีประทับนั่ง พนมมือเพื่อรับพรจากพระอินทร์ 8 ประการ ก่อนพระอินทร์จะเสด็จกลับสู่สวรรค์ ด้านล่างซึ่งเขียนภาพเล่าเรื่องกัณฑ์มหาราชนั้นที่ด้านซ้ายปรากฏภาพชูชกกำลังพา ๒ กุมารกลับเมืองระหว่างเดินทางได้หลงเข้าไปในเมืองของพระเจ้าสญชัย ฉากพระเจ้าสญชัยทอดพระเนตรเห็น ๒ กุมารก็จำได้และได้ขอไถ่ตัวจากชูชกส่วนกลางภาพนั้นเป็นภาพขบวนทหารที่จะเดินทางไปรับพระเวสสันดร และพระนางมัทรีกลับพระราชวัง

ภาพจิตรกรรมงานออกพระเมรุของพระพุทธเจ้า

ซุ้มประตูและหน้าต่างปูนปั้นประดับกระจก ประดับรูปวานรแบกทวารบาล ซุ้มประตูมีตุ๊กตาหินจีนตั้งประดับ

   อุโบสถของวัดมัชฌิมาวาสมีการประดิษฐานประติมากรรมรูปบุคคลขนาบประตูทางเข้าทุกประตู ประติมากรรมแต่งกายชุดเกราะทหารจีนใบหน้าถมึงทึง ประติมากรรมกลุ่มนี้แสดงถึงภาพบุคคลธรรมดาทั่วไปแต่แสดงถึงเทวดา เนื่องจากปรากฏริบบิ้นคล้องแขนทั้งสองข้างและริบบิ้นเหมือนต้องลมปลิวขึ้น ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า ประติมากรรมองค์นี้หมายถึงท้าววิรูปักษ์ซึ่งเป็นหนึ่งในท้าวจตุโลกบาล ประติมากรรมแกะสลักจากศิลากลุ่มนี้คงเป็นของนำเข้าจากจีน สังเกตได้จากการแกะสลักเครื่องทรงแบบจีนและใบหน้าที่ดูได้สัดส่วน แสดงให้เห็นว่าช่างชำนาญเป็นอย่างดี ตามความเชื่อในพระพุทธศาสนา สวรรค์ที่มีนามว่าจตุมหาราชิกา เป็นที่อยู่ของท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ โดยเป็นเทพผู้ปกป้องทิศทั้งสี่ แต่ละองค์มีลักษณะทางประติมานวิทยานที่แตกต่างกัน สำหรับทิศตะวันตก ผู้ดูแลคือเทพวิรูปักษ์โดยมีสัญลักษณ์สำคัญคืองู

จารึกภาษาจีนที่เสาประตูกำแพงแก้วพระอุโบสถ

      จารึกภาษาจีนที่เสาประตูกำแพงแก้วพระอุโบสถ เป็นจารึกที่สลักลงบนเสาหินแกรนิตที่ทำเป็นเสาประตูกำแพงแก้ว แต่ละเสามีขนาดด้านสูง ๑๗๕ เซนติเมตร กว้าง ๒๘ เซนติเมตร หนา ๖๓ เซนติเมตร มีสี่ประตู รวมแปดเสาแต่ละเสาจารึกด้วยอักษรจีนเป็นภาษาจีนเก้าคำ รวมแปดเสาเป็นคำโคลงหนึ่งบาท แปลเป็นภาษาไทยตามประตูตั้งแต่ประตูด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ถึงประตูด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ทวนเข็มนาฬิกาได้ดังนี้ ...
   ..."เจ้าพระยาผู้เป็นใหญ่แห่งตระกูลวู (ตระกูล ณ สงขลา) หมั่นบำเพ็ญพระคุณธรรมมุ่งจรรโลงสิ่งที่คู่ควรแก่ความเป็นมนุษย์ด้วยศรัทธา เพื่อเกียรติคุณปรากฏสืบไปภาคหน้า (เจ้าพระยา) ปฏิบัติทางที่ชอบอย่างองอาจ วางตนในทางที่ชอบ ไม่มุสาผู้อื่น  ดำริ (สิ่งใด) ไม่ต้องละอายต่อฟ้า ครองตนอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทาทางอย่างเคร่งครัด เมืองสงขลามีเชิงเทินเกินกว่าร้อยเชิงเทิน เป็นเมืองที่แข็งแรงมั่นคงเมืองหนึ่งแห่งภูมิภาคนี้ กำเหน็จของเจ้าเมืองสูงกว่าหมื่นเจื่อง (มาตราของจีน)  เกียรติคุณกำจายทั่วทิศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมา ณ สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ (วัด) นี้พระบรมโพธิสมภารที่ทรงแผ่คือเมตตา การเสด็จมาประทับ ณ เมืองสงขลา พระมหากรุณาธิคุณที่แผ่กว้างประหนึ่งน้ำฟ้าประโลมดิน"....

พระวิหาร

       พระวิหารวัดมัชฌิมาวาสเป็นตึกก่ออิฐถือปูนแต่ภายหลังได้มีการติดตั้งประตู-หน้าต่างเพิ่มเติมเข้าไปตรงช่องเปิด เจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย ณ สงขลา) สร้างทับที่เดิมซึ่งเคยเป็นพระอุโบสถตั้งอยู่ในแนวกำแพงแก้วหันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีลักษณะเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในเป็นโถงหน้าบันเป็นไม้จำหลักลวดลายที่สวยงาม ทางด้านตะวันตกเป็นรูปปัญจวัคคีย์ ด้านตะวันออกสืบไม่ได้ว่าเป็นรูปอะไรฐานรอบระเบียงทำเป็นฐานปัทม์หรือชุดบัวคว่ำบัวหงาย พนักระเบียงประดับด้วยกระเบี้องปรุ แบบจีน ตัวอาคารมีบันไดทางขึ้นทั้ง ๔ ด้าน ตรงแนวเสาพาไลก่อเป็นวงโค้งเพื่อรับหลังคาปีกนกรอบอาคาร หลังคาเป็นผืนเดียวมีปีกนกรอบ ตรงหน้าบันก่ออิฐทึบ ไม่มีไขลาหน้าจั่วและไม่ประดับเครื่องลำยอง หน้าพระวิหารในกำแพงแก้วมีสิงโตหิน ๑ คู่ ซึ่งเจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย ณ สงขลา) เป็นผู้สร้างบูรณะปฏิสังขรณ์ พ.ศ. ๒๔๒๘ และบูรณะครั้งหลัง พ.ศ. ๒๔๗๒–๒๔๗๗

หน้าบันพระวิหารด้านตะวันตกเป็นรูปปัญจวัคคีย์

ศาลาการเปรียญ     

       ศาลาการเปรียญเป็นตึกก่ออิฐถือปูนเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์ ณ สงขลา) เป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕ มีหน้าบัน ๒ ด้านเป็นไม้แกะสลักสวยงามมาก ด้านตะวันออกแกะสลักเรื่องพุทธประวัติ ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จเยี่ยมพระนางพิมพาประสูติพระราชโอรสก่อนผนวช ด้านตะวันตกแกะสลักเรื่องพุทธประวัติตอนเสด็จออกผนวช บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่เมื่อ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ เสร็จเมื่อ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นตึกคอนกรีต หลังคาทรงจั่ว หน้าบันก่ออิฐถือปูน มีลายปูนปั้น ๒ ด้าน ด้านตะวันออกจำหลักเรื่องพุทธประวัติตอนตรัสรู้ด้านตะวันตกจำหลักเรื่องพระพุทธประวัติตอนเสด็จมหาภิเนษกรมณ์ ปัจจุบันใช้เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บรวบรวมวัตถุโบราณซึ่งรวบรวมมาจากเมืองสงขลา สทิงพระ ระโนด เป็นหลักฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ควรค่าแก่การศึกษา

ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติภัทรศีลสังวร

พระเจดีย์แบบจีน

       พระเจดีย์แบบจีนหรือถะ เป็นพระเจดีย์แบบศิลปะจีน ๑ องค์ ๗ ชั้น ย่อมุม ๖ เหลี่ยมทำด้วยหินแกรนิต เจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคนที่ ๒ เป็นผู้สร้าง มีอักษรทั้งภาษาไทยและจีนจารึกไว้ที่พระเจดีย์บอกถึงผู้สร้าง เวลาสร้าง (จุลศักราช ๑๑๖๐ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๔๑) ตรงกับปีที่ ๑๗ ในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ความในภาษาไทย) และความในภาษาจีนว่า "สร้างในรัชกาลพระเจ้าเกียเข่ง (จาชิ่ง) ปีที่ ๔ (ค.ศ. ๑๗๙๙ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๔๒)" ต่อมาชำรุดทางวัดได้ปฏิสังขรณ์เสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔

พระเจดีย์แบบจีนหรือถะ

เสาตะเกียบคู่ของเสาธง

       เสาตะเกียบคู่ของเสาธงก่อสร้างด้วยหินอยู่ใกล้หอระฆังในวัดมัชฌิมาวาสมีอยู่  ๒ แห่ง คือหน้าพระวิหารและหน้าพระอุโบสถ เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมเสาจำหลักลวดลายศิลปะจีนสวยงาม ฐานล่างจำหลักเป็นรูปสัตว์คู่ทั้ง ๔ ด้าน ฐานบนล่างจำหลักเป็นลายนกและเมฆ มีคำจารึกภาษาจีนความว่า “สร้างในรัชกาลพระเจ้าเกียเข่ง (จาชิ่ง) ปีที่ ๗ (ปี ค.ศ. ๑๘๐๒, ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๔๕) เจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย ณ สงขลา) เป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๕  และปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔

ศาลาฤาษี หรือศาลาฤาษีดัดตน

       ศาลาฤๅษีหรือศาลาฤาษีดัดตนเป็นศาลาทรงไทยที่สวยงามมากลักษณะศาลาจะเป็นแบบโถงทรงไทย มีสัดส่วนถูกต้องทรวดทรงหลังคาอ่อนช้อย เปิดโล่งก่อด้วยอิฐเผาสอปูนแต่ไม่โบกปูนปิดทับพื้นผิว มีช่วงเสาแบบซุ้มโค้งรอบอาคาร มีลักษณะคล้ายกันกับศาลาฤาษีที่วัดโพธิ์ ท่าเตียน กรุงเทพฯ สร้างสมัยพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์ ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๙๐–๒๔๐๘ สร้างพร้อมกับหอระฆัง หน้าบันเป็นรูปปั้นเรื่องพุทธประวัติ ด้านตะวันออกเป็นภาพตอนพระสิทธัตถะทรงลอยถาดด้านตะวันตกเป็นภาพนางสุชาดาถวายมธุปายาสแก่พระสิทธัตถะ ภายในศาลาฤๅษีที่หน้าบันทั้ง ๒ ด้านจารึกเรื่องตำรายา และจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปฤๅษีดัดตน จำนวน ๔๐ ตน แต่ละตนมีคำโคลงบรรยายประกอบรูปเขียนเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ ต่อมามีสภาพชำรุดพระราชศีลสังวร บริจาคทรัพย์ร่วมกับเงินงบประมาณของกรมศิลปากรบูรณะเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒

 

ศาลาฤๅษี

ภาพฤาษีดัดตนรวม ๔๐ ท่า

       ที่ฝาผนังศาลาฤาษีดัดตนมีจิตรกรรมที่เขียนตำราแพทย์แผนโบราณ และภาพฤาษีดัดตน รวม ๔๐ ท่า แต่ละท่ามีจารึกเป็นคำโคลงสี่สุภาพอธิบาย คำโคลงเหล่านี้เลือกคัดลอกมาจากเรื่องโคลงภาพฤาษีดัดตน ที่จารึกไว้บนผนังศาลารายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) กรุงเทพมหานคร ด้านในของหน้าบันของศาลาทั้งสองข้างเขียนภาพเครื่องยาไทย ตอนล่างเขียนบรรยายตัวยา สรรพคุณและวิธีใช้ และมีภาพจิตรกรรมเขียนด้วยสีฝุ่นบนผนังปู มีรองพื้นเป็นภาพฤาษีดัดตนตามตำราแพทย์แผนโบราณ มีบางตอนเหมือนกับภาพฤาษีดัดตนที่พระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) กรุงเทพมหานคร  แต่มีการเรียกชื่อตามภาษาท้องถิ่นที่หน้าบันด้านในทั้งสองข้างเขียนภาพ เครื่องยาไทย และโต๊ะหมู่บูชาของจีน ตอนล่างเขียนตัวอักษรบรรยายตัวยา และสรรพคุณตลอดจนวิธีใช้ยาเหล่านั้น ที่ผนังด้านข้างมีภาพฤาษีดัดตนข้างละ ๒๐ ท่า รวม ๔๐ ท่า แต่ละท่ามีโคลงสี่สุภาพอธิบายประกอบอยู่ใต้ภาพ

หอพระไตรปิฎก

       หอพระไตรปิฎกหรือหอพระจอมไตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒ เป็นตึกก่ออิฐปูนฐานสูงหลังคาจั่วประดับช่อฟ้าใบระกา และหางหงส์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นตัวอย่างในการสร้างพระอุโบสถใหม่เนื่องจากฐานพระอุโบสถทำต่ำและอยู่ในที่ลุ่ม ส่วนฐานพระวิหารและศาลาการเปรียญทำสูงที่หน้าบันของหอพระไตรปิฎกทางด้านหน้า (ทิศตะวันตก) ประดับประติมากรรมลวดลายปูนปั้น มีรูปตราจันทรมณฑ ส่วนด้านหลัง (ทิศตะวันออก) มีรูปตราสุริยะมณฑล ด้านละตรา หอไตรชำรุดตามสภาพ วัดได้ปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔  และในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการบูรณะ การบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ วัด และศาสนาที่สำคัญ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะหอพระไตรปิฎกในปี พ.ศ.  ๒๕๔๐


ปูชนียวัตถุ

พระพุทธรูปหยก

       พระพุทธรูปหยกวัดมัชฌิมาวาสเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ขัดสมาธิราบสลักด้วยหินอ่อนสีขาว ประดิษฐานภายในบุษบก ขนาดหน้าตักกว้าง ๕๗.๕ เซนติมเตร สูง ๖๔ เซนติเมตร ฐานสูง ๕๐ เซนติเมตร เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาสสร้างโดยพระยาวิเชียรคีรี(บุญสังข์ ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการคนที่  ๕  ในตระกูล ณ สงขลา โดยสั่งให้ช่างจีนทำการออกแบบก่อสร้างพระพักตร์ของพระพุทธรูปหยก โดยจะสังเกตได้ว่าพระพักตร์ของพระพุทธรูปหยกแสดงลักษณะถึงศิลปะช่างจีน มีพระเกตุมาลาทำด้วยทองคำประดิษฐานภายในพระบุษบก ๒ ข้าง มีพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องเป็นการจัดลักษณะเดียวกับพระพุทธเทววิลาสหรือหลวงพ่อขาว วัดเทพธิดาราม กรุงเทพมหานคร

หมอชีวกโกมารภัจจ์

 

       หมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นบุตรของนางสาลวดีหญิงนครโสเภณีในเมืองราชคฤห์ ตำแหน่งหญิงนครโสเภณีนั้น เป็นนามตำแหน่งที่ทางราชการบ้านเมืองของแต่ละเมืองแต่งตั้งให้ สำหรับคุณสมบัติของสตรีที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นหญิงโสเภณีนั้น จะต้องมีรูปร่างสวยงามที่สุด เล่นดนตรีได้ ขับร้องได้ ฉลาดในการรับแขก และต้องได้รับการคัดเลือกจากบรรดาเศรษฐีคณบดีและเจ้านายชั้นสูง ธรรมเนียมของหญิงนครโสเภณีนั้น เมื่อมีครรภ์จะงดรับแขกจนกว่าจะคลอดลูก และหากคลอดลูกเป็นหญิงจะเลี้ยงไว้เพื่อสืบทายาท หากเป็นชายจะให้คนอื่นเลี้ยงหรือนำไปทิ้งที่ใดที่หนึ่ง เพื่อให้คนทั่วไปได้พบเห็นและเก็บเอาไปเลี้ยงเมื่อนางสาลวดีคลอดบุตรเป็นชาย จึงให้คนนำไปทิ้งที่กองขยะ เจ้าชายอภัยราชกุมารผู้เป็นโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร ทราบข่าวจึงเก็บมาเลี้ยงไว้และตั้งชื่อว่ ชีวก (ผู้มีชีวิตอยู่) และมีนามต่อท้ายว่าโกมารภัจจ์ (ผู้ที่พระราชกุมารนำไปเลี้ยงไว้) ชีวก โกมารภัจจ์ ได้ศึกษาวิชาแพทย์ที่สำนักพิศาปาโมกข์ เมืองคักกศิลาใช้เวลาศึกษาอยู่นานถึง ๗ ปี จนสำเร็จวิชาแพทย์ ได้กลับมายังเมืองราชคฤห์ ระหว่างทางที่จะกลับได้ทำการรักษาเศรษฐีคหบดี และคนทั่วไปจนคนเหล่านั้นหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ได้รับค่าตอบแทนเป็นจำนวนมากเมื่อท่านกลับมาถึงเมืองราชคฤห์ก็ได้นำรางวัลค่าตอบแทน ที่ได้รับถวายเจ้าชายอภัย ผู้ทรงเป็นบิดาเลี้ยง ซึ่งเจ้าชายก็มอบดินให้พร้อมกับสร้างบ้านพักแก่ชีวก โกมารภัจจ์ ในพระราชวังนั่นเอง คราวหนึ่งพระเจ้าพิมพิสารประชวรพระโรค “ภคันหลาพาธ” (โรคริดสีดวงทวาร) ชีวก โกมารภัจจ์ก็ได้ถวายการรักษาจนหายจากการประชวร พระองค์ได้โปรดให้เป็นแพทย์หลวงประจำพระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนข้าราชการฝ่ายใน และได้พระราชทานสวนมะม่วงให้เป็นสมบัติด้วย ซึ่งต่อมาชีวก โกมารภัจจ์ ก็ได้ถวายสวนมะม่วงนั้นให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวกทั้งหลายหมอชีวก โกมารภัจจ์ ได้ถวายการรักษาแด่พระพุทธเจ้าเมื่อคราวทรงพระประชวรท่านจึงได้ถวายตัวเป็นแพทย์ประจำพระพุทธเจ้า และได้ให้การรักษาแก่พระสงฆ์ผู้อาพาธด้วย  ท่านยังเป็นอุบาสถที่ดีคนหนึ่ง นอกจากจะถวายการรักษาพระพุทธเจ้า พระสงฆ์ และประชาชนทั่วไปแล้ว ท่านมักหาเวลาเข้าเฝ้าทูลถามปัญหาข้อข้องใจ ในธรรมะจากพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ พระพุทธเจ้าทรางสรรเสริญยกย่องหมอชีวก โกมารภัจจ์ ว่าเป็นอุบาสกผู้เลิศในด้านมีความเสื่อมใสเป็นหมอที่เสียสละ และบำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ชื่อเสียงและเกียรติคุณจึงรุ่งโรจน์อยู่กระทั่งทุกวันนี้ และในวงการแพทย์แผนโบราณ ได้ให้ความเคารพนับถือท่านว่าเป็น “บรมครูแห่งการแพทย์แผนโบราณ” คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่างคือ

  • เป็นผู้มีความเสียสละ หมอชีวก โกมารภัจจ์ ได้ทำการรักษาคนทั่วไปด้วยความเสียสละ เป็นอย่างยิ่ง ท่านไม่เคยเรียกร้องค่าตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้นนอกจากนี้ ท่านยังได้รับหน้าที่เป็นแพทย์หลวง และแพทย์ประจำตัวของพระพุทธเจ้า ดูแลรักษาการอาพาธของพระสงฆ์ ด้วยเหตุดังกล่าวท่านจึงเป็นที่รักของปวงชนทั่วไป
  • เป็นแบบอย่างที่ดีแพทย์แผนโบราณให้ความเคารพนับถือหมอชีวกโกมารกัจจ์เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากท่านได้ประพฤติปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมกับฐานะให้การรักษาผู้เจ็บป่วยโดยไม่เลือกชั้น วรรณะ มีความเป็นอยู่อย่างสมณะอ่อนน้อมถ่อมตน เคารพนับถือผู้มีพระคุณ เช่น เมื่อท่านได้รับค่าตอบแทนจากการรักษาก็นำไปถวายเจ้าชายอภัย เพื่อบูชาพระคุณ เป็นต้น

พิเภก

     พิเภกตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์มีกายสีเขียวทรงมงกุฎน้ำเต้าเป็นน้องของทศกัณฐ์ละกุมภกรรณอดีตชาติเป็นพระเวสสุญาณเทพบุตร พระอิศวรสั่งให้ไปจุติเป็นพี่น้องร่วมท้องเดียวกันกับทศกัณฐ์ เพื่อเป็นไส้ศึกคอยบอกความลับต่าง ๆ ให้แก่พระรามพร้อมประทานแว่นวิเศษติดที่ดวงตาขวา มองเห็นได้ทั้งสามโลกแม้กระทั่งอดีตและอนาคต พิเภกโดนทศกัณฐ์ขับออกจากกรุงลงกา เพราะไปแนะให้ทศกัณฐ์คืนนางสีดาแก่พระรามจึงเข้าร่วมกับฝ่ายพระราม ทำหน้าที่เป็นโหราจารย์ พิเภกมีส่วนช่วยในกองทัพพระรามเป็นอันมาก เป็นผู้บอกกลศึกและทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆ ของฝ่ายทศกัณฐ์ให้แก่พระราม เมื่อทศกัณฐ์ใกล้จะตายเพราะถูกศรพรมาศของพระรามทศกัณฐ์สำนึกได้ จึงเรียกพิเภกเข้าไปสั่งสอนโดยมีใจความหลักว่า ให้ประพฤติตนเป็นธรรม อย่าเกเรเหมือนตน ซึ่งบทนี้ถูกเรียกว่า “ทศกัณฐ์สอนน้อง” จากนั้นพิเภกได้รับแต่งตั้งจากพระรามให้เป็น “ท้าวทศศิริวงศ์” ครองกรุงลงกาแทนทศกัณฐ์สืบไป

ท้าวกุเวรมหาราช

 ท้าวกุเวรมหาราชเป็นผู้ประทานความมั่งคั่งแผ่นดินใดที่อุดมสมบูรณ์พระมหากษัตริย์ปกครองแผ่นดินโดยธรรมทรงเปี่ยมไปด้วยพระบรมเดชานุภาพเหนือกว่าพระราชาทั้งปวงหรือที่เรียกว่า "จักรพรรดิ" ท้าวกุเวรหรือชัมภลนี้ จะเป็นผู้ประทาน "สัตรัตนมณี" แก้วเจ็ดประการหรือสมบัติแห่งจักรพรรดิอันมีช้างแก้ว ม้าแก้ว ขุนพลแก้ว ขุนคลังแก้ว มณีแก้ว นางแก้ว จักรแก้ว การประทานสมบัติเจ็ดประการของมหาจักรพรรดิ เพื่อความรุ่งเรืองแห่งแผ่นดิน


ปูชนียบุคคล

   ตั้งแต่มีการสร้างวัดมัชฌิมาวาสมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายจนปัจจุบันปรากฏว่ามีเจ้าอาวาสและผู้ที่ปฏิสังขรณ์วัดหลายท่านที่เป็นปูชนียบุคคลซึ่งจะขอกล่าวเฉพาะบางท่านเท่านั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๓๘–๒๓๔๒) เจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา (แหลมสน) ได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดนี้ครั้งใหญ่ เช่น สร้างพระอุโบสถ และศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๒–๓ พ.ศ. ๒๓๖๐–๒๓๗๕ พระยาวิเชียรคีรี (เถียนเส้ง) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา (แหลมทราย) ได้สร้างหนังสือผูกลาน คือพระวินัย ๖๖ คัมภีร์ พระอภิธรรม ๘๗ คัมภีร์ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ ๘ ตู้ เจ้าอาวาสชื่อพระครูรัตนโมลี (รักษ์) (พ.ศ. ๒๓๕๘–๒๓๗๙) เมื่อเมืองสงขลาย้ายจากฝั่งตะวันตกของทะเลสาบ มาอยู่ฝั่งตะวันออกแล้วผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาก็กระทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาที่พระอุโบสถนี้ ต่อมาในรัชกาลที่ ๓–๔ (พ.ศ. ๒๓๗๙–๒๓๘๙) เจ้าอาวาสชื่อพระปลัดทองและใน พ.ศ. ๒๓๘๙–๒๓๙๔ เจ้าอาวาสชื่อพระครูรัตนโมลี (พูน) ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๔–๒๔๐๘ เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา (แหลมทราย) ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ มีการสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่แบบศิลปะไทยและจีน สร้างศาลาการเปรียญ หมู่กุฏิเป็นคณะ หอไตรพระจอม ศาลาฤๅษี ก่อกำแพงแก้ววัดด้วยหิน ซุ้มประตูวัดทั้ง ๔ ซุ้ม ทำเป็นรูปทรงพระมหามงกุฎเป็นสัญลักษณ์แสดงความจงรักภักดีกตัญญูกตเวทีสนองพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อท่านเจ้าพระยากำลังก่อสร้างพระอุโบสถแห่งใหม่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองสงขลาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒–๒๔๐๖ ในรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๑๖–๒๔๒๖ เจ้าอาวาสชื่อพระครูรัตนโมลี (มาศ) ต่อมาระหว่าง พ.ศ. ๒๔๒๖–๒๔๓๑ เจ้าอาวาสชื่อพระครูรัตนโมลี (กิ้มเซ่ง) และใน พ.ศ. ๒๔๓๑–๒๔๓๘ พระภัทรธรรมธาดา (แจ้ง) วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ ได้รับอารธนาจากพระยาสุนทรานุรักษ์ (ชม) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลามาเป็นเจ้าอาวาส และเจ้าคณะเมืองสงขลา พระภัทรธรรมดาได้พานายเฉย ผู้ซึ่งเรียนหนังสือไทยสำเร็จตามหลักสูตรชั้นต้น ตามนโยบายของรัชกาลที่ ๕ (การศึกษาแผนใหม่ในยุคนั้น) และได้เปิดการสอนหนังสือไทยขึ้นที่โรงธรรม (ศาลาการเปรียญเก่า) การศึกษาจัดรูปการเล่าเรียนศึกษาเป็นทางการ ได้เริ่มขึ้นที่วัดกลาง เมืองสงขลาเป็นครั้งแรกปัจจุบันคือโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองสงขลาเสด็จเยือนวัดและโรงเรียนหนังสือไทย วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ ตามโครงการแผนการศึกษาที่ทรงจัดขึ้น โดยอาศัยเจ้าคณะเป็นผู้ดำเนินงานในชั้นต้น ได้พระราชทานเงินเลี้ยงสงฆ์ ๓ ชั่ง และเงินฝ่ายใน (เจ้านายผู้หญิงตามเสด็จมีสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา) เข้าเรี่ยไรกันทำถนนในวัด ๔ ชั่ง (เงิน ๔ ชั่ง เป็นมูลฐานให้เกิดมีถนนในวัดดังปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ ในระยะ พ.ศ. ๒๔๓๘–ถึง ๒๔๕๓ พระครูวิสุทธิโมลี (จันทร์ทอง) เป็นเจ้าอาวาสเกิดฝนตกใหญ่ พายุแรงจัดพัดต้นมะขามล้มตีซุ้มประตูของเก่าหน้าวัดหักพังยับเยิน ท่านเจ้าอาวาสได้ไปเจริญพรขอให้พระยาวิเชียรคีรี (ชม) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาสร้างให้ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ตอบสนองว่าบัดนี้ท่านหมดอำนาจตามระบบเก่าจะทำซุ้มยอดมงกุฎแบบเดิมไม่ได้แต่จะทำถวายแบบใหม่เป็นซุ้มประตูแบบฝรั่งผสมจีน (ดังปรากฏอยู่หน้าวัดในปัจจุบัน) ต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จมาวัดมัชฌิมาวาสวรวิหารทรงเห็นหลังคาพระอุโบสถชำรุดมาก รับสั่งให้พระยาสุขุมนัยวินัจกับเจ้าอาวาสร่วมกันซ่อมแซมพระอุโบสถ แต่จะต้องรักษาศิลปฝีมือช่างเก่าเอาไว้ด้วย เพราะหาดูได้ยากแล้วเป็นฝีมือศิลปะช่างชั้นครู (จึงทำให้พระอุโบสถหลังนี้คงสภาพเดิมอยู่จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๓) ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๕๓–๒๔๗๒ พระรัตนธัชมุนี (จู อิสรญาโน) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นที่พระอโนมคุณมุนี เป็นเจ้าอาวาส และตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๒–๒๔๗๗ พระครูศาสนภารพินิจ (พลับ) ได้เป็นเจ้าอาวาสได้บูรณปฏิสังขรณ์พระวิหาร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๗–๒๕๒๑ พระเทพวิสุทธิคุณ (เลี่ยม อลีโน) เป็นเจ้าอาวาสได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์กุฏิเก่า ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้จัดตั้งห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์วัดมัชฌิมาวาส ขึ้นที่อาคารไม้หลังศาลาฤๅษีดัดตน ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถให้ทุกอย่างอยู่ในสภาพแบบศิลปะเก่าเพื่อรักษาศิลปะโบราณไว้แล้วเสร็จ เมื่อ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สมัยทรงพระอิสสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์มาทรงยกช่อฟ้า ณ วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๑–๒๕๒๔ พระราชศีลสังวร (ช่วง อตฺถเวที) เป็นเจ้าอาวาส และเมื่อครั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส (พ.ศ. ๒๔๘๑๒๕๒๑) ได้เป็นแม่งานดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์อาคารเสนาสนะมาโดยตลอด และที่สำคัญที่สุดคือ พระคุณเจ้าเป็นผู้ที่เก็บรวบรวมศิลปะโบราณวัตถุในอำเภอเมือง อำเภอสทิงพระ และอำเภอระโนด ไว้ได้มากที่สุดแล้วจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานวัดมัชฌิมาวาส ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๔ ถึงปัจจุบัน

       รายนามเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส ตั้งแต่แรกสถาปณาวัด ในสมัยอยุธยาตอนปลายไม่สามารถสืบหาหลักฐานได้ เท่าที่สืบค้นได้ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีเจ้าอาวาสตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน ๑๔ รูป ดังรายนามต่อไปนี้

รายนามเจ้าอาวาส  ช่วงเวลา (พุทธศักราช)
พระครูรัตนโมลี (รักษ์) ๒๓๕๘-๒๓๗๙
พระปลัด (ทอง) ๒๓๗๙-๒๓๘๙
พระครูรัตนโมลี (พูล) ๒๓๘๙-๒๓๙๔
พระครูรัตนโมลี (มาศ)  ๒๓๙๔-๒๔๑๖
พระครูรัตนโมลี (มัง) ๒๔๑๖-๒๔๒๖
พระครูรัตนโมลี (กิมเสง) ๒๔๒๖-๒๔๓๑
พระภัทรธรรมธาดา (แจ้ง) ๒๔๓๑-๒๔๓๘
พระครูวิสุทธิโมลี (จันทร์ทอง) ๒๔๓๘-๒๔๕๓
พระเทพเมธี (จู อิสรญาโณ) ๒๔๕๓-๒๔๗๒
พระครูศาสนภารพินิจ (พลับ) ๒๔๗๒-๒๔๗๗
พระเทพวิสุทธิคุณ (เลี่ยม อลีโน)  ๒๔๗๗-๒๕๒๑
พระราชศีลสังวร (ช่วง อตฺถเวที) ๒๕๒๑-๒๕๒๕
พระราชรัชมงคลโกศล (ขาว) ๒๕๒๕-๒๕๔๕
พระราชศีลสังร (ผ่อง จิรธมฺโม ๒๕๔๕-ปัจจุบัน (๒๕๖๐)

                                    

พระราชศีลสังวร (ผ่อง จิรธมฺโม)

      สำหรับเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน (๒๕๖๑) คือพระราชศีลสังวร (ผ่อง จิรธมฺโม) ท่านได้พัฒนาดูแลวัดและการพระศาสนาอย่างดีตลอดมา โดยได้พัฒนาดูแลวัดมัชฌิมาวาสวรวิหารและการพระศาสนาอย่างดียิ่งตลอดมา โดยได้ดำเนินการบูรณะพระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาสวรวิหารที่ชำรุดทรุดโทรมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘-๒๕๔๙ ตลอดจนสร้างศาลาอเนกประสงค์ จัดทำโครงการปฏิบัติธรรมในโอกาสต่าง ๆ และงานสาธารณะอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนอีกมาก ทั้งยังได้กลับไปพัฒนาวัดบ้านขาว อันเป็นภูมิลำเนาเดิมของท่านและเป็นวัดที่ท่านบวชด้วยความกตัญญูต่อครูอาจารย์ โดยสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ภายในวัดบ้านขาวจนเป็นผลสำเร็จ เช่น สร้างเมรุ กุฏิ โรงครัวและห้องสมุดโรงเรียน พระราชศีลสังวร (ผ่อง จิรธมฺโม) นามเดิมว่าผ่อง ปานขาว เป็นเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาสรูปปัจจุบัน ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ณ บ้านขาว ตำบลตะเครียะ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์เมื่ออายุ ๒๐ ปี โดยอุปสมบท ณ วัดบ้านขาว มีพระครูศีลคุณวิจารณ์ วัดศาลาหลวงล่าง ตำบลท่าบอน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เป็นพระอุปัชฌาย์โดยได้ศึกษาหาความรู้จนสอบได้นักธรรมเอก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ และได้เข้ามาจำพรรษาที่วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร เพื่อเรียนบาลีจนสามารถสอบได้เปรียญธรรมประโยค ๓ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ต่อมาสามารถสอบได้เปรียญธรรมประโยค ๔  ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ถือเป็นเปรียญประโยค ๔ รูปแรกของวัดบ้านขาว จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชในพระราชทินนามที่พระราชศีลสังวร เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕-ปัจจุบัน (๒๕๖๑) ยังดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสงขลา-สตูล (ฝ่ายธรรมยุต) อีกด้วย


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดมัชฌิมาวาส (Wat Matchimawat)
ที่อยู่
เลขที่ ๒๒๒ หมู่ที่ ๑๑ ถนนไทรบุรี ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
จังหวัด
สงขลา
ละติจูด
7.19455
ลองจิจูด
100.59159



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ของดีวัดมัชฌิมาวาส สงขลา. (2522). สงขลา : โรงพิมพ์มงคลการพิมพ์.

ธีระยุทธ์ สุวลักษณ์. (2554). พระอุโบสถในเมืองสงขลา สมัยการปกครองของเจ้าเมืองตระกูล ณ สงขลา พ.ศ. 2318-ถึว 2444. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต,

          สาชาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม บัณฑิต วิทยาลัยมหาวิทยาลัยศิลปากร. 

บุญชู ยืนยงสกุล, (บรรณาธิการ). (2547). ใต้--หรอยมีลุย :  บอกเล่าเรื่องราว ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของภาคใต้. สงขลา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

          สำนักงานภาคใต้.

ปรุงศรี วัลลิโภดม และคณะ (บรรณาธิการ). (2545). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดสงขลา.  กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.

พรทิพย์ พันธุโกวิท, ศิริพร สังข์หิรัญ และธนิสรา พุ่มผะกา. (2555). ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานในจังหวัด

          สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล). พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส.

มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะโบราณคดี. (2559). ฐานข้อมูลศิลปกรรมในภาคใต้. สืบค้นวันที่ 28 ธันวาคม 60,  จาก http://www.archae.su.ac.th/art_in_south/index.php/

          collections/songkla/

วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา. (2558). สืบค้นวันที่ 28 ธันวาคม 60,  จาก http://www.bloggertrip.com/matchimawattemple/

ศิลป์ชัย ชิ้นประเสริฐ. (2526). วัดมัชฌิมาวาส. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.

อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ มหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ป.จ., ม.ป.ช.ม.ว. ม.ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

         วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2519. (2519). กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์ชวนพิมพ์.


ข้อมูลเพิ่มเติม

 


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024