วัดราชประดิษฐาน หรือวัดพะโคะ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ต้นกำเนิดหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อว่า "วัดหลวง" ตั้งอยู่ที่บริเวณเขาพัทธสิงค์ หมู่ ๖ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา วัดแห่งนี้คือที่จำพรรษาของสมเด็จพะโคะหรือหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเล สิ่งศักดิ์สิทธิที่ประชาชนให้ความนับถือมากมาย ตามหลักฐานว่าวัดมีชื่อเป็นทางการว่าวัดราชประดิษฐาน แต่ชาวบ้านก็ยังคงนิยมเรียกกันติดปากว่า "วัดพะโคะ" อยู่อย่างนั้นจากหลักฐานปรากฏว่าวัดพะโคะ พระสงฆ์ชื่อพระชินเสนเป็นผู้สร้างไว้ประมาณ พ.ศ. ๕๐๐ ชื่อว่าวัดพระราชประดิษฐาน และได้ฝังเขตวิสุงคามสีมาประมาณปี พ.ศ. ๘๔๐ พระยาธรรมรังคัลเจ้าเมืองพัทลุง (สทิงพระพารานสี) เป็นศาสนูปถัมภ์ได้สร้างถาวรวัตถุไว้หลายอย่าง ครั้นต่อมาระหว่าง พ.ศ. ๒๐๙๑ –๒๑๑๑ พระยาดำรงกษัตริย์ (บางแห่งกล่าวว่าพระยาธรรมรังคัล) ได้นิมนต์พระมหาอโนมทัสสี พระณไสยมุยและพระธรรมกาวา ให้ไปเอาพระมหาธาตุจากเมืองลังกา และสร้างเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ สูง ๑ เส้น ๕ วา เพื่อบรรจุพระธาตุ ตลอดถึงสร้างวิหารธรรมศาลา สร้างอุโบสถ และกำแพงสูง ๖ ศอก ระหว่างเขตสังฆาวาสที่พักสงฆ์คือมีส่วนลดต่ำทางทิศตะวันตกของพื้นที่วัด ส่วนที่เป็นเนินเขาสูงราบเป็นชั้น ๆ ทางทิศตะวันออกให้เป็นเขตพุทธาวาสปลูกสร้างปูชนียสถานต่าง ๆ เช่น พระวิหาร พระเจดีย์ อุโบสถ ธรรมศาลา และได้สร้างพระพุทธไสยาสน์ชื่อว่า "พระพุทธโคตมะ" ต่อชาวบ้านเรียกชื่อวัดตามชื่อของพระโคตมะ เป็นวัดพะโคะแทนวัดพระราชประดิษฐาน ในกาลต่อมาครั้งกษัตริย์หัวเมืองพัทลุง (สทิงพระ) และคณะสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ได้ทำฎีกาเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยาเพื่อขอทำกัลปนาต่อพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงพระราชทานที่กัลปนาแก่วัดและอารามต่าง ๆ ในเขตหัวเมืองนครศรีธรรมราช และเมืองพัทลุง บริเวณวัดของวัดพะโคะมีภูเขา ๔ ลูก คือเขาพระพุทธบาท (พะโคะ) เขาพนังตุกแก (เขาน้อย) เขาคูหา และเขาผี และมีชุมชนอยู่ใกล้บริเวณเขาทั้ง ๔ เช่น ชุมชนสีหยัง เจดีย์งาม เป็นต้น
วัดราชประดิษฐาน หรือวัดพะโคะ ถือเป็นวัดที่เก่าแก่และมีความสำคัญยิ่งวัดหนึ่งในคาบสมุทรสทิงพระ ตั้งอยู่บนเขาพะโคะซึ่งเป็นเนินเขาลูกเดี่ยวบนเนินสันทรายกลางทุ่งนาซึ่งเดิมเรียกว่าเขาพัทธสิงห์หรือเขาภีพัชสิงหรือพิเพชรสิง ปัจจุบันขึ้นกับหมู่ที่ ๖ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา และเป็นวัดที่จำพรรษาของสมเด็จพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์ หรือสมเด็จพะโคะ หรือหลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด อันเป็นที่เคารพนับถือของชาวใต้และประชาชนทั่วไปได้ทำนุบำรุงและจำพรรษา วัดราชประดิษฐาน หรือวัดพะโคะ มีบทบาทสำคัญมากในสมัยอยุธยาเพราะเป็นศูนย์กลางการปกครองของคณะสงฆ์ บริเวณฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลา อีกทั้งเป็นสถานที่ที่ใช้ดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาของเจ้าเมืองพัทลุงในสมัยก่อน เพราะในสมัยที่เมืองพัทลุงเป็นศูนย์กลางการปกครองชุมชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
ประวัติเล่าว่าลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาด้านฝั่งตะวันออก ประมาณปี พ.ศ. ๑๙๑๙-๒๐๓๙ ได้ถูกรุกรานจากพวกแขกหรือชาวเผ่าอินโดนีเซีย จากปลายคาบสมุทรมาลายูบริเวณหมู่เกาะ ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่นับถือศาสนาอิสลาม มีการติดต่อกับชาวเปอร์เซียตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ได้ส่งกองโจรสลัดมลายูอุยงตะนะ (อุยงตะนะคือกลุ่มโจรสลัดมาเลย์จากเมืองยะโฮร์ที่ตั้งอยู่ปลายแหลมมลายู) มาทางมหาสมุทรเพื่อปล้นสะดมชุมชนต่าง ๆ ทางตอนกลางคาบสมุทร และได้ทำการทำปล้นเมืองพะโคะและแถบคาบสมุทรอยู่หลายครั้ง ได้ทำลายเมืองและวัดวาอารามเสียหายเป็นอันมาก ในปี พ.ศ. ๒๐๕๗ สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาได้สร้างวัดพะโคะหรือวัดหลวงขึ้นใหม่ โดยมีกุศโลบายใช้วัดพะโคะเป็นศูนย์กลางในการป้องกันการรุกราน และในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ(พ.ศ.๒๐๙๑-๒๑๔๑)ได้พระราชทานที่กัลปนาวัดและเปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดพระราชดิษฐาน จากหลักฐานเรื่องพระราชทานที่กัลปนาวัด (การกัลปนาวัดเป็นเรื่องที่พระมหากษัตริย์พระราชทานอุทิศที่หลวงให้แก่พระภิกษุรวมทั้งผู้คนชายหญิง เพื่อปรนนิบัติพระหรือช่วยทำไร่ ทำนา เพาะปลูกพืชผลบนแผ่นดินให้แก่วัด หรือการถวายธรณีสงฆ์ คือการโอนกรรมสิทธิ์ไร่นาสาโทถวายเป็นของสงฆ์เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เป็นปัจจัยบำรุงเลี้ยงชีวิต เพื่อพระสงฆ์จะได้บำเพ็ญสมณธรรมอย่างเต็มที่) แก่วัดพะโคะและบรรดาวัดที่ขึ้นกับวัดพะโคะ ดังเช่นครั้งที่พระราชทานแก่พระครูเทพราชเมาฬีศรีปรมาจารย์ จะพบว่าวัดราชประดิษฐานหรือวัดพะโคะ มีบทบาทและที่ความสำคัญยิ่งจนได้รับสิทธิพิเศษและหน้าที่ดังนี้คือ
สิทธิพิเศษ
๑. ห้ามเจ้าเมืองและกรรมการเมืองมิให้เอาค่านาอากร ณ ที่ภูมิทานกัลปนาไปเข้าท้องพระโกษหรือเอาเป็นประโยชน์ส่วนตัว |
๒. ห้ามมิให้เอาทรัพย์ และมรดกแก่สงฆ์รวมทั้งเชิงกุฎศีลบาลทานพระกัลปานาใช้บำรุงแผ่นดิน แต่ให้เอาทรัพย์มรดกนั้นมาบำรุงพระศาสนา เช่น เอาเป็นค้าไม้จากอิฐ |
รัก ปูน เป็นต้น |
๓. ห้ามมิให้เอาข้าพระคนทานไปใช้งานนอกเหนือจากศาสนิกาแต่อย่างหนึ่งอย่างใดแม้กระทั่งงานสร้างถิ่นฐานบ้านเมืองทุกแห่ง |
๔. ห้ามไม่ให้เจ้าเมือง และกรรมการบังคับกิจกระทงความทั้งเพ่งและอาญาธรรมาธิการอันเกิดในท้องที่ภูมิทานหาก แต่ให้กรมวัดบังคับกันเองโดยชอบธรรม |
๕. หากญาติคนทานข้าพระไปสมรสด้วยผู้ที่ต้ องเสียส่วนหลวง หรือสมรสด้วยราษฎร์ทั่วไปหรือสมรสด้วยคนทานข้าพระ (บุคคลที่พระราชทานให้มีหน้าที่บำรุงดูแล |
และพัฒนาวัด) มีลูกกี่คนก็ตามให้ลูกนั้นตกเป็นของฝ่ายมารดาทั้งหมด |
๖. ห้ามทำอันตรายและทำลายชีวิตแก่คนและสัตว์ในเขตอารามนั้น |
๗. ถ้าข้าพระคนทานในบัญชีพระราชตำรากัลปนาถึงตายให้เอาพี่น้องลูกหลานแทนผู้ตายให้ครบถ้วนมิให้ขาด |
หน้าที่พิเศษ
๑. ช่วยการพระราชพิธี และการกุศล |
๒. ปกครองดูแล ขุนวัด หมื่นวัด สมุหบาญชี หัวสิบนายหมู่ ข้าพระคนทานรวมทั้งดูแลรักษางานพระศาสนา เช่น พระพุทธรูป พระสถูปเจดีย์ กุฏิ วิหาร ซึ่งขึ้นแก่คณะมิให้ |
เป็นอันตรายหรือชำรุดทรุดโทรม ตลอดจนดูแลหลักแดนที่จัด และลูกหลานข้าพระให้คงตามพระตำราและบัญชีเดิม |
๓. มีหน้าที่ร่วมกับกรมวัดพิจารณาคดีเพ่งและคดีอาญา |
๔. ถ้าข้าศึกยกทัพมาตีเมืองทำอันตรายแก่แผ่นดินและพระศาสนา ให้พระครูเจ้าคณะแต่งคนมีฝีมือไปช่วยรบเพื่อป้องกันขัณฑสีมาและพระศาสนา |
๕. มีหน้าที่อบรมสั่งสอนประชาชน กรมการเมือง ข้าพระคนทานไม่ให้ประพฤติชั่ว เช่น ไม่ให้สูบฝิ่นกินสุรา และเบียดเบียนทรัพย์สินผู้อื่น |
วัดราชประดิษฐาน หรือวัดพะโคะ ได้พระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๘๔๐ พระยาธรรมรังคัล เจ้าเมืองพัทลุง (เมืองสทิงพาราณสี) เป็นศาสนูปถัมภ์สร้างถาวรวัตถุหลายอย่างเพราะเห็นความสำคัญของวัดพะโคะหรือวัดพระราชประดิษฐานครั้นต่อมา พ.ศ. ๒๐๙๑-๒๑๑๑ พระยาดำรงกษัตริย์ (บางแห่งกล่าวว่าพระยาธรรมรังคัล) ได้นิมนต์พระมหาอโมฆทัสสีพระณไสยมุย และพระธรรมกาวา ให้ไปเอากระบวนพระมหาธาตุจากเมืองลังกา และมาสร้างเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ สูง ๑ เส้น ๕ วา ทำพระวิหารธรรมศาลา ทำอุโบสถ สร้างกำแพงสูง ๖ ศอก ระหว่างเขตสังฆาวาสที่พักสงฆ์อาศัย คือส่วนลดต่ำทางทิศตะวันตกของพื้นที่วัดส่วนที่เป็นเนินสูงราบเป็นขั้น ๆ พื้นที่วัดทางทิศตะวันออกเป็นพุทธาวาสสถานที่ปลูกสร้างปูชนียวัตถุโบราณสถาน เช่น พระวิหาร พระพุทธไสยาสน์ พระเจดีย์ อุโบสถ ธรรมศาลา เป็นต้น สำหรับชื่อวัดพะโคะนั้นมีความเชื่อว่ามาจากชื่อพระพุทธไสยาสน์ ที่ประดิษฐานภายในวัดซึ่งมีชื่อว่าพระพุทธโคตรมตามความนิยมของชาวบ้านเรียก ชื่อวัดตามชื่อพระโคตมะว่าวัดพระโคตรมะ ครั้นเวลาผ่านมาวัดพระโคตรมะเรียกเพี้ยนเป็นวัดพะโคะ
วัดราชประดิษฐาน หรือวัดพะโคะะในสมัยนั้นมีฐานะเป็นวัดหลวงที่สำคัญวัดหนึ่งในหัวเมืองพัทลุงฝ่ายปละท่า (ทิศ) ตะวันออก (ส่วนฝ่ายปละท่าตะวันตกคือบริเวณวัดเขียน วัดสะทัง บริเวณโคกเมือง ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองพัทลุงเก่าสมัยอยุธยาตอนต้นปัจจุบันคืออำเภอเขาชัยสนจังหวัดพัทลุง) ต่อมาในปี พ. ศ. ๒๑๔๑ ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. ๒๑๓๓-๒๑๔๘) วัดพะโคะหรือวัดราชประดิษฐานและวัดวาอารามต่าง ๆ ในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระได้ถูกทำลายเสียหายจากการรุกรานโดยชนชาวเกาะทางใต้อีกหลายครั้ง แต่วัดพะโคะก็ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ในรัชสมัยของพระสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ. ๒๑๔๘-๒๑๕๓) ที่สำคัญได้มีการบูรณะพระมาลิกเจดีย์ สูง ๑ เส้น ๕ วา โดยพระองค์ได้พระราชทานยอดเจดีย์เนื้อเบญจโลหะยาว ๓ วา ๓ คืบ แต่กาลต่อมาก็ได้ถูกทำลายเสียหายอีก และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ให้สวยงามดังเดิมโดยสมเด็จพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์ (สมเด็จพะโคะ) หรือหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด
วัดราชประดิษฐานหรือวัดพะโคะ เป็นวัดที่มีโบราณสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ หน้า ๑๓๕ เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๘๐ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๘ แนวเขตโบราณสถานประมาณ ๔ ไร่ ๓ งาน ๔๘ ตารางวา
วัดพะโคะหรือวัดราชประดิษฐานเป็นวัดสำคัญของจังหวัดสงขลา ซึ่งสมเด็จเจ้าพะโคะ หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “หลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด” ได้เคยจำพรรษาอยู่เมื่อประมาณ ๔๐๐ ปีกว่ามาแล้ว วัดพะโคะเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดสงขลา ภายในบริเวณวัดมีพระเจดีย์ทรงลังกาประดิษฐานอยู่บนยอดเขาพัทธสิงห์ วัดพะโคะขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๐๒ ตอนที่ ๑๘๐ วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๘ หน้าที่ ๑๓๕ มีพื้นที่ ๔ ไร่ ๓ งาน ๔๘ ตารางวา มีชื่อทางราชการว่าวัดราชประดิษฐาน ตั้งอยู่บนเขาพะโคะซึ่งมีชื่อในประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาว่าเขาภิพัชสิง เคยเป็นศูนย์กลางการปกครองเมืองในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (เมืองสทิงพระ เมืองพัทลุง) และศูนย์กลางชุมชนพุทธศาสนาในแถบนี้ พระราชมุนีหรือที่รู้จักกันในนามหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เคยเป็นเจ้าอาวาสและประจำอยู่วัดแห่งนี้ วัดพะโคะจึงนำสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อทวดมาให้ประชาชนชมและกราบไหว้บูชาพร้อมนำเสนอประวัติความเป็นมาของหลวงปู่ทวดจึงเปิดพิพิธภัณฑ์วัดพะโคะให้ประชาชนได้เข้าชมและสักการะหลวงพ่อทวด เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยของที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ อาทิ พระพุทธรูป เครื่องปั้นดินเผา เครื่องทองเหลือง มีดพร้า ตะบันหมากทองเหลือง ธนบัตรและเหรียญสมัยก่อน เครื่องถ้วยกระเบื้อง รวมทั้งวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับหลวงพ่อทวด เช่น อัฐบริขาร จีวร ไม้เท้า ลูกแก้วคู่บารมี เป็นต้น
พิพิธภัณฑ์วัดพะโคะ
วัดพะโคะเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองสงขลา ผู้สูงอายุหรือผู้รู้หลายท่านกล่าวว่าเดิมวัดนี้มีโบราณวัตถุและโบราณสถานมากมาย แต่เนื่องจากสถานการณ์และห่วงเวลาวัด ถึงยุคสมัยที่เจริญรุ่งเรืองและยุคเสื่อมหลายครั้งหลายหน จนบางช่วงเพลาแทบจะเป็นวัดร้าง ทำให้วัตถุเหล่านั้นหายไปก็เยอะกอรปกับผู้เห็นแก่ตัวนำไปเก็บเป็นสมบัติส่วนตัวก็มี สำหรับโบราณสถานในวัดพะโคะ ประกอบด้วยของที่เป็นของเก่าแก่ เช่น พระเจดีย์ พระพุทธไสยาสน์ รอยพระพุทธบาท เป็นต้น และที่เป็นของใหม่ เช่น รูปจำลองสมเด็จเจ้าพะโคะ หรือหลวงพ่อทวดหรือภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นต้น โบราณสถานในวัดพะโคะเป็นศาสนสถานที่บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีตของชุมชนถิ่นนี้ได้ดี โบราณสถานที่สำคัญประกอบด้วย
พระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ
พระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ (เจดีย์ทอง) เป็นเจดีย์โบราณที่สำคัญและเป็นประธานของวัดวัดพะโคะ ภายในยอดองค์เจดีย์บรรจุพระบรมธาตุรูปแบบของเจดีย์เป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยาแบบลังกา จากหลักฐานที่ปรากฏเจดีย์สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๕๗ ซึ่งตรงกับสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เป็นช่วงสมัยอยุธยาตอนต้นและได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ. ๒๑๔๘-๒๑๕๓) และได้รับการบูรณะซ่อมแซมเรื่อยมา ลักษณะขององค์เจดีย์เป็นก่ออิฐถือปูนทรงระฆังรองรับด้วยลานประทักษิณ ๓ ชั้น ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลื่ยมจตุรัสขนาดใหญ่ ๓ ชั้น รอบฐานชั้นล่างสุดมีประติมากรรมปูนปั้นรูปช้างและพาไลมุงกระเบื้องเกล็ดเต่าด้านทิศใต้ มีบันไดทางขึ้นไปยังลานประทักษิณด้านบนองค์ระฆังค่อนข้างกว้างและสั้น บัลลังก์รูป ๘ เหลื่ยมเหนือบัลลังก์เป็นพระพุทธธูปปูนปั้นประทับนั่งอยู่ภายในซุ้ม ปล้องไฉน (ฉัตรวลี) หนาและสั้นรองรับปลียอดที่มีรูปร่างเพรียวยาว ฐานเจดีย์ชั้นล่างสุดมีขนาดกว้าง ๒๓ เซนติเมตร ยาว ๒๓ เซนติเมตร เจดีย์องค์นี้ได้บูรณะเมื่อปี ๒๕๒๕ โดยเปลี่ยนแปลงรูปแบบบางประการ และเสริมความมั่นคงของเจดีย์โดยการฉาบผิวเจดีย์ด้วยปูนซีเมนต์ ตั้งแต่ปลียอดลงถึงลานประทักษิณชั้น ๑ พระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุนี้ เป็นเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลทั้งพุทธศาสนานิกายหินยานและนิกายมหายาน หากแต่ผู้สร้างได้นำมาประยุกต์ก่อให้เกิดรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะอย่างน่าทึ่ง โดยจะเห็นว่าพระเจดีย์เป็นทรงกรวยซ้อนกันบนฐานสี่เหลื่อม เป็นการผสมผสานกันโดยนำเอาสถาปัตยกรรมแบบมณฑปมาสร้างเป็นฐานแล้วเอาเจดีย์สร้างซ้อนอยู่บน ซึ่งเจดีย์ลักษณะนี้ปรากฏมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัย (พ.ศ. ๑๒๐๐ ถึง-๑๘๐๐) รูปทรงสัณฐานขององค์เจดีย์ทรงแบบนี้ฐานเป็นฐานเขียงสี่เหลื่ยม มีฐานที่มีเป็นระเบียงรับตัวเจดีย์ ที่ทำเป็นแบบมณฑปมีมุขสี่ด้านเรียกว่า “จตุรมุข” ในมุขทำเป็นซุ้มหน้าบันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำทุกด้าน ส่วนหลังคามณฑปจะก่อเป็นเจดีย์ทรงกลมมีฐานเชิงบาตรขึ้นรองรับตัวเจดีย์และยอดแบบต่าง ๆ ตรงมุมหลังคาเจดีย์แต่ละมุมนิยมสร้างเจดีย์จำลองขนาดเล็กที่เรียกว่า “เจดีย์บริวาร” หรือเจดีย์น้อย ไว้แต่ละมุมประดับองค์เจดีย์ทั้ง ๔ ด้านและเป็นลักษณะเจดีย์ห้ายอด ซึ่งเป็นอิทธิพลของศิลปะศรีวิชัย ซึ่งรับเอาคติธรรมทางพุทธศาสนามหายาน ส่วนรูปทรงองค์เจดีย์ในสมัยอยุธยาที่สร้างในคาบสมุทรสทิงพระ นิยมสร้างเจดีย์ทรงลังกาหรือแบบกรวยกลม ซึ่งจะมีรูปทรงสัณฐานเป็นระฆังคว่ำ หรือกระทะคว่ำอยู่บนฐานเขียงและฐานเชิงบาตรที่ซ้อนกัน ๒-๓ ชั้น และบนคอระฆังที่เป็นกระทะคว่ำก็จะทำเป็นปล้องกลม ๆ ติดต่อกันไปเป็นแนวตั้งเป็นส่วนยอดเรียกว่า “ปล้องไฉน” หรือ "ฉัตรวลี" พระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ สิ่งที่โดดเด่นอยู่กลางวัดสะดุดตาไม่แพ้โบสถ์ ก็คือเจดีย์องค์นี้ที่มีฐานเป็นทางเดินรอบด้าน มุงหลังคายื่นออกมาทำให้เกิดเป็นรูปทรงที่ไม่เหมือนพระธาตุเจดีย์องค์ไหน พระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ(เจดีย์ทอง) มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทยภาคใต้ มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ผ่านการบูรณะมาหลาย ๆ ครั้ง แต่ก็ยังคงรักษาลักษณะของความเป็นต้นแบบดั่งเดิมเอาไว้ตลอดมา
เจดีย์องค์น้อยประดิษฐานอยู่ด้านหลังของวิหารพระพุทธไสยาสน์ เป็นเจดีย์เก่าที่เริ่มจะเอียงไปตามกาลเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆัง ฐานย่อมไม้สิบสอง
พระอุโบสถ
พระอุโบสถเป็นอุโบสถที่มีความงดงามมาก ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับศาลาตัดสินความสำหรับพระอุโบสถหลังแรกของวัดพะโคะนั้น จากหลักฐานปรากฏว่าสร้างพร้อมกับพระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ เพราะจากรูปทรงสัณฐานที่ปรากฏร่องรอยการบูรณะปฏิสังขรณ์มาหลาย ๆ ครั้งแต่ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าปีไหนส่วนพระอุโบสถหลังปัจจุบันนี้สร้างเป็นทรงไทย มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ทางขึ้นพระอุโบสถมีช้าง ๑ คู่ ตั้งอยู่ทางบันได สำหรับหลังคาพระอุโบสถลดระดับสองชั้น หลังคาลดชั้นไต่ระดับเป็นสองชั้นมีพาไลหน้าหลัง สำหรับตัวอาคารพระอุโสถมีขนาดไม่ใหญ่มาก บันไดและพระระเบียงประดับด้วยหินแกรนิตหลากสี เสาสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองหน้าบันปูนปั้นปิดทองเป็นรูปพระอาทิตย์ชักรถเทียมสิงห์ ซึ่งจะแตกต่างกับอุโบสถอื่นที่พระอาทิตย์เทียมม้าซุ้มประตูพระอุโบสถเป็นรูปมงกุฏซึ่งบานประตูด้านหนึ่งแกะสลักเป็นยักษ์แบกทวารบาลที่เป็นยักษ์ อีกด้านเป็นวานร (ลิง) แบกทวารบาลที่เป็นเทวดา สำหรับฝาผนังพระอุโบสถทำเป็นลายนูนต่ำพุ่มทรงข้างบิณฑ์ บานหน้าต่างไม้แกะสลักปิดทองเป็นรูปทวารบาบแบบต่าง ๆ ไม่ซ้ำกันมีคันทวยที่หัวเสาทุกต้น สำหรับใบเสมา
วิหารพระพุทธไสยาสน์
วิหารพระพุทธไสยาสน์เป็นอาคารที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบพระนิยมในรัชกาลที่ ๓ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๒๔ เมตร ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน หน้าบันด้านหน้าเป็นลายปูนปั้นรูปเทพพนมและรูปราหูอมจันทร์ มุงหลังคาด้วยเบื้องเกล็ดเต่า ประดับหลังคาด้วยใบระกาและหางหงส์ ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ (พระโคตรมะหรือพะโคะ) เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองฝีมือช่างท้องถิ่นภาคใต้ ปางปรินิพพานพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๕๗ พระพุทธไสยาสน์องค์นี้มีขนาดใหญ่วัดความยาวได้ ๑๕ เมตร ประดิษฐานอยู่ในวิหารด้านทิศเหนือของพระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ ประทับบรรทมหันพระเศียรไปทางทิศเหนือตามคตินิยมทางพระพุทธศาสนา พระพุทธไสยาสน์วัดพะโคะเป็นที่มาของชื่อวัดพะโคะกล่าวคือพระพุทธไสยาสน์องค์นี้มีชื่อว่าพระพุทธโคตมะหรือพระโคตมะครั้นต่อมาเสียงเพี้ยนเป็นพระโคะ และพะโคตามลำดับ
ลักษณะของพระพุทธรูปองค์นี้เป็นปางไสยาสน์ กล่าวกันว่าเป็นพระพุทธรูปปางปรินิพพานอยู่ในอิริยาบถนอนตะแคงข้างขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย พรหัตถ์ซ้ายทอดยาวไปตามพระวรกายเบื้องซ้าย พระหัตถ์ขวาหงายวางอยู่ที่พื้นข้างพระเขนย และพระบาททั้งสองตั้งซ้อนกัน
พระพุทธโคตมะหรือพระโคตมะ
มณฑปจตุรมุขประดิษฐานรอยพระพุทธบาท
วัดพะโคะได้สร้างมณฑปขึ้นเพื่อประดิษฐานรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาพะโคะและมณฑปนี้ ยังเป็นที่ประดิษฐานรูปจำลองสมเด็จเจ้่าพะโคะ (หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด) ตลอดถึงเกจิอาจารย์และอดีตเจ้าอาวาส สำหรับรอยพระพุทธบาทนี้แต่ก่อนเชื่อกันว่าเป็นรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าแต่ในสมัยต่อมากล่าวกันว่าเป็นรอยเท้าของหลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด
หลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด ภายในมณฑป
ศาลาตัดสินความ
ศาลาตัดสินความหรือธรรมศาลาตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเจดีย์ประธาน เป็นอาคารโถงขนาด ๔ ห้อง ก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่บนเนินที่ก่อด้วยหินภูเขา แผนผังของศาลาตัดสินความเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีความกว้างประมาณ ๑๐ เมตร ยาวประมาณ ๑๖ เมตร อาคารหันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีบันไดทางขึ้นด้านหน้า และที่ผนังมีช่องทำด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียว ภายในอาคารมีฐานบัวที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นศาลาตัดสินความสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวิหารที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และมีการปฎิสังขรณ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เคยใช้เป็นอาคารเรียนของวัดพะโคะ จนต่อมาพังลงจึงมีการสร้างอาคารเล็ก ๆ คลุมพระพุทธรูปประธานประจำวิหารไว้ ซึ่งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นว่าแต่เดิมวัดพะโคะเป็นศูนย์กลางการปกครอง การศึกษาของคาบสมุทรสทิงพระในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔ และศาลาแห่งนี้ก็ใช้ในการตัดสินคดีความต่าง ๆ
บ่อน้ำซักจีวรหลวงพ่อทวด
บ่อน้ำซักจีวรและสรงน้ำของหลวงพ่อทวด อยู่บริเวณทางเดินทางด้านขวามือก่อนจะถึงมณฑปจตุรมุข
พระพุทธไสยาสน์หรือพระโคตมะ
พระพุทธไสยาสน์ หรือพระพุทธโคตมะ) เป็นพระพุทธรูปโบราณปางไสยาสน์ สร้างระหว่างปีพุทธศักราช ๒๐๕๗-๒๑๑๑ ศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น ลักษณะของพระพุทธรูปสร้างด้วยปูนปั้นลงรักปิดทอง ฝีมือช่างท้องถิ่นภาคใต้ปางปรินิพพาน พระพุทธไสยาสน์องค์นี้จากการสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างมาพร้อมกับพระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุราว ๆ พ.ศ. ๒๐๕๗ พระพุทธไสยาสน์มีขนาดความยาวประมาณ ๑๘ เมตร สูง ๒.๕ เมตร ประดิษฐานอยู่ในวิหารด้านทิศเหนือของพระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ ประทับบรรทมหันพระเศียรไปทางทิศเหนือตามคตินิยมทางพระพุทธศาสนา พระพุทธไสยาสน์วัดพะโคะเป็นที่มาของชื่อวัดพะโคะ กล่าวคือพระพุทธไสยาสน์องค์นี้มีชื่อว่าพระพุทธโคตมะ หรือพระโคตมะ ครั้นต่อมาเสียงเพี้ยนเป็นพระโคะและพะโคะตามลำดับ ลักษณะพระพุทธรูปองค์นี้เป็นปางไสยาสน์ หรือว่าปางปรินิพพานอยู่ในอิริยาบถนอนตะแคงข้างขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย พรหัตถ์ซ้ายทอดยาวไปตามพระวรกายเบื้องซ้าย พระหัตถ์ขวาหงายวางอยู่ที่พื้นข้างพระเขนย และพระบาททั้งสองตั้งซ้อนกัน ต่อมาก็ได้บูรณะพระโคตมะหลายครั้ง จนกระทั่งถึงสมัยของสมเด็จพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์ (หลวงปู่ทวด) มีการบูรณะครั้งใหญ่ ต่อมาองค์พระได้ชำรุดทรุดโทรมลงไปมากเนื่องจากขาดการดูแล เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๙-๒๔๙๐ เจ้าอธิการแก้ว พุทธมณี วัดดีหลวง ได้ทําการบูรณะปฏิสังขรณ์ทั้งองค์รวมทั้งบรรจุพระบรมธาตุไว้ในองค์พระ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เจ้าอธิการดำ ติสฺสโร เจ้าอาวาสวัดศิลาลอย ได้บูรณปฏิสังขรณ์องค์พระพุทธไสยาสน์ในส่วนพระเศียร พระหัตถ์ทั้งสอง พร้อมด้วยลงรักปิดทองทั้งองค์ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เจ้าอธิการแก้ว พุทธมณี วัดดีหลวง ได้ทําการบูรณะปฏิสังขรณ์ทั้งองค์รวมทั้งบรรจุพระบรมธาตุไว้ในองค์พระ
พระพุทธไสยาสน์ (พระโคตมะหรือพะโคะ)
รอยพระพุทธบาท
รอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานภายในมณฑปจตุรมุขรอยพระพุทธบาทนี้ ในสมัยนี้ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นรอยฝ่าพระบาทหรือฝ่าเท่าของสมเด็จเจ้าพะโคะ (หลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด) ได้เหยียบไว้บนแท่นหินใหญ่บนเขาพะโคะหรือเขาพิพัทธสิงห์ ซึ่งรอยพระพุทธบาทนี้ปรากฎมาก่อนการสร้่างวัดพะโคะ ซึ่งสมัยก่อนเชื่อกันว่าเป็นรอยพระบาทของพระะพุทธเจ้า เพราะตามคติความเชื่อของชาวพุทธศาสนิกชนนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าครั้งประสูติเดินได้ ๗ ก้าว หมายถึงพระพุทธเจ้าเผยแพร่ ศาสนาครั้งพุทธกาลได้ ๗ แคว้นหรือเหยียบรอยพระพุทธบาทไว้ ๗ แห่ง เมื่อมาพิจารณาหลักฐานที่ปรากฏรอยพระบาทไว้ ๗ แห่ง แสดงว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมา
ในประเทศไทยแน่นอน และเสด็จโดยลำดับต่อไปนี้
๑. เหยียบรอยพระพุทธบาท ไว้ที่ดอยผาเลือก |
๒. เหยียบรอยพระพุทธบาท ไว้ที่ตำบลสันทรายหลวง |
๓. เหยียบรอยพระพุทธบาท ไว้ที่เขาพระพุทธบาทสระบุรี |
๔. เหยียบรอยพระพุทธบาท ไว้ที่เกาะแก้วพิสดารจังหวัดภูเก็ต |
๕. เหยียบรายพระพุทธบาท ไว้ที่เขาพิพัทธสิงห์พะโคะ |
๖. เหยียบรอยพระพุทธบาท ไว้ที่เขาปฐมโกฐ์ ลังกา |
๗. เหยียบรอยพระพุทธบาท ไว้ที่เนินเขาพรหมโยนีอินเดีย |
สำหรับรอยพระพุทธบาทที่วัดพะโคะมีขนาดวัดจากรอยส้นเท้าพระบาทถึงปลายพระบาท ยาว ๑๖ นิ้ว ปลายทางกว้าง ๙๑/๒ นิ้ว ส่วนกลางกว้าง ๗ นิ้ว ส่วนเส้นพระบาทกว้าง ๔๑/๒ นิ้ว รอยพระพุทธบาทที่อื่น ๆ ก็ขนาดเดียวกัน ต่อมาชาวบ้านเชื่อว่าเป็นรอยพระพุทธบาทของสมเด็จพะโคะเหตุเพราะด้วยความเคารพนับถือเชื่อในปาฏิหาริย์ของสมเด็จเจ้าจึงทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนทัศนคติเดิมนิยมเชื่อว่ารอยพระบาทของสมเด็จเจ้าพะโคะ รอยพระพุทธบาทที่ปรากฏตามที่ต่าง ๆ ตามประวัติเล่าว่าสมัยพุทธกาลในเวลาใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพานพระพุทธองค์ดำริประดิษฐานพระพุทธศาสนาโปรดเวไนยนิกรตามแคว้นชนบทต่าง ๆ จึงเสด็จพร้อมด้วยเหล่าพระอรหันต์ทั้งหลายมีพระอานนท์เป็นต้นเสด็จมาโดยลำดับสู่นิคมน้อยใหญ่จนถึงแคว้นกุมภะมิตนคร พระองค์ได้ทรงเทศนาโปรดโสกยักษ์ให้เลื่อมใสศรัทธารู้บาปบุญคุณโทษ แล้วเสด็จลงมาตามลำน้ำแม่ระมิงค์ในเขตอำเภอแม่แตง พระองค์ได้อธิษฐานรอยพระบาทไว้ และทรงเทศนาโปรดนายบ้านทมิฬชื่ออ้ายเลิง จนเกิดศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนาแล้วเสด็จลงมาตามลำดับและพระองค์เสด็จมาตามไหล่เขา นี้เป็นหลักฐานที่พอเชื่อได้ว่าพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดเวไนยนิกรเข้ามาในประเทศไทย และเสด็จมาถึงเขาพิพัทธสิงห์ (พะโคะ) ได้อธิษฐานเหยียบรอยพระพุทธบาทไว้ดังปรากฏอยู่ปัจจุบัน ซึ่งมีก่อนตั้งวัดเรียกว่าเขาพุทธบาทบรรพต
ลูกแก้วคู่บารมีของสมเด็จพะโคะ
ลูกแก้วบารมีหลวงพ่อทวดเป็นลูกแก้วลักษณะผิดจากลูกแก้วธรรมดา ปรากฏว่าพญางูคายให้เมื่อครั้งหลวงพ่อทอดเหยียบน้ำทะเลจืด ยังเป็นทารกเมื่อตอนมารดาบิดา เกี่ยวข้าวผูกแปลให้นอนใต้ต้นเหม้ากลางทุ่งนาสถานที่นี้เรียกว่านาเปลจนถึงปัจจุบันครั้นต่อมาเมื่อหลวงพ่อทอดกลับจากกรุงศรีอยุธยามาบูรณปฏิสังขรณ์โบราณวัตถุต่างๆเช่นพระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ ท่านได้เอาลูกแก้วคู่บารมีไว้บนยอดเจดีย์ ครั้นต่อมาฟ้าผ่าเจดีย์ลูกแก้วพลัดตกลงมา เจ้าอาวาสได้เก็บรักษาไว้ที่วัดพะโคะจนถึงปัจจุบัน มีเรื่องเล่าจากอดีตเจ้าอาวาสวัดพะโคะ (พระชัย วิชโย) ว่าเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๘๔) ตอนที่เป็นภิกษุและรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดพะโคะ จำได้ในเดือนมีนาคม ๒๔๘๔ มีพระอาคันธุกะ ๒ รูป มาพักอยู่ที่วัดตอนค่ำเวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. พระอาคันธุกะ คือพระลั่น และพระเคียง ขอดูลูกแก้วท่านได้นำลูกแก้วจากในห้องกุฏิออกมาให้ดู พระเคียงถามถึงประวัติความเป็นมาของลูกแก้ว ท่านก็เล่าพอเป็นสังเขป ตอนนั้นพระเคียงได้จุดธูปเทียนบูชาลูกแก้ว ท่านก็แจ้งว่าจะเอาลูกแก้วไปให้ช่างทางกรุงเทพฯ เจียระไนหรือหล่อใหม่ขณะนั้นพระเคียงร่างกายสั่นเสียงที่พูดเหมือนคนชรา พูดว่าเราคือสมเด็จเจ้าฯต้องการมาบอกว่าอย่าเอาลูกแก้วหล่อใหม่ คนภายหลังจะไม่มีความเชื่อถือลูกแก้วถึงคราวที่จะแตกเหมือนคนเราเป็นของไม่มีเที่ยงเป็นธรรมดา ขณะนั้นท่านไม่เชื่อว่าสมเด็จเจ้าฯประทับทรง ท่านก็เลยถามความเป็นมาของลูกแก้ว ผู้ประทับทรงบอกว่าพญางูให้เมื่อเป็นทารกและได้ไว้บนยอดเจดีย์ฟ้าผ่าตกลงมาจึงอยู่ที่วัดนี้ และท่านก็ได้ถามเหตุการณ์ของประเทศไทยในภาวะสงครามที่ล่วงมาแล้ว และการข้างหน้าหลายเรื่อง รุ่งขึ้นพระภิกษุสามเณรในวัดรู้เรื่องสมเด็จเจ้าฯ เข้าประทับทรง ตอนค่ำเวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. พระบุตร (พระลูกวัดพะโคะ) อาศัยอยู่กุฏิข้างศาลาว่าความจุดธูปเทียนบูชาระลึกถึงสมเด็จฯ หากคืนก่อนสมเด็จฯ เข้าประทับจริงขอให้มาประทับทรงตนเองเพื่อความเชื่อมั่น แล้วพระบุตรก็มีร่างกายสั่น ๆ มีเสียงดังฮือ ๆ ท่านได้ยินดังนั้นก็ไปดูและถามเรามาประทับทรงจริงไม่ต้องสงสัย และบอกว่าจะกลับแล้วร่างกายและเสียงของพระบุตรก็ปกติ สำหรับปรากฎการณ์อัศจรรย์ของลูกแก้วนี้บางครั้งก็เกิดแสงสว่างขึ้นในห้องที่เก็บรักษาอยู่บ่อยครั้ง
รูปจำลองสมเด็จพะโคะ
รูปจำลองหรืออนุสาวรีย์ของสมเด็จพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์ (หลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด หรือสมเด็จเจ้าพะโคะ ประกอบด้วย
๑. ปางนั่งสมาธิ หน้าตักกว้าง ๒๗ นิ้ว สมัยพระอธิการเขียว ปุญฺญผโล (พระครูสุนทรสิทธิการย์อดีตเจ้าอาวาส) ได้จัดสร้างที่วัดปัตตานีนรสโมสนจังหวัดปัตตานี แล้วนำมาประดิษฐานไว้ในมณฑปพระพุทธบาท เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๖
๒. ปางจาริกธุดงค์ ทางคณะกรรมการสมาชิกสภาจังหวัดสงขลา โดยมีหม่อมทองคำเปลว ทองใหญ่ ผู้ว่าราชการเป็นประธาน นายกิตติ วิภาค ประธานสภาจังหวัด เป็นผู้ดำเนินการจักสร้าง รูปแบบปฏิปทากิจวัตรของสมเด็จเจ้าพะโคะ ซึ่งจัดสร้างด้วยโลหะสูง ๑.๘๐ จัดหล่อองค์ท่านที่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ และได้นำมาประดิษฐานไว้ในมณฑปใกล้ประตูชัยของวัดพะโคะเพื่อที่จะให้ประชาชนสักการบูชาต่อไป
ทำเนียบเจ้าอาวาสวัดพะโคะ
๑. พระชินเสนเถระ
๒. พระเณไสยมุย
๓. พระครูเทพราชามาลีศรีปรมาจารย์
๔. สมเด็จพระราชมุณีสามีรามคุณูปรมาจารย์
๕. พระมหาพุทธคัมภีร์
๖. พระครูปลัดหนู
๗. พระอธิการคง มงฺคสฺสโร
๘. พระวิชัย วิชโย (รักษาการเจ้าอาวาส)
๙. พระอธิการสง โมสโก
๑๐. พระครูสุนทรสิทธิการย์
๑๑. พระครูศรีธรรมธัช
๑๒. พระครูจุมพลวรพินิต รักษาการเจ้าอาวาส
๑๓. พระราชวีราภรณ์ รักษาการเจ้าอาวาส
๑๔. พระครูสมุห์วิชาญชัย กตปุญโญ
๑๕. พระครูปุญญาพิศาล - ปัจจุบัน
ปูชนียบุคคลของวัดพะโคหรือวัดราชประดิษฐานมีมากมายหลายท่านแต่จะขอกล่าวเฉพาะสมเด็จพระราชมุณีสามีรามคุณูปรมาจารย์ หรือหลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืดซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพะโคะ ในช่วง พ.ศ. ๒๑๕๑-๒๑๕๖
หลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด ถือเกิดเมื่อวันศุกร์ เดือน ๔ ปีมะโรง พ. ศ. ๒๑๒๕ (ปลายสมัยพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา) ณ บ้านเลียบ หมู่ที่ ๑ ตำบลดีหลวง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ณ บ้านสวนจันทร์ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา มีชื่อว่าปู เพราะคลานว่องไวเหมือนปู บิดามีนามว่าหู มารดามีนามว่าจันทร์ มีฐานะยากจนปลูกบ้านอาศัยที่ดินเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อ “ปาน” นายหูและนางจันทร์เป็นข้าทาสของเศรษฐีปาน แห่งเมืองสทิงพระ ระยะแรกที่หลวงพ่อทวดเกิดเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวในนา ในระหว่างที่พ่อแม่กำลังเกี่ยวข้าวอยู่ได้ผูกเปลให้ลูกน้อยนอนทำงานไปก็คอยเหลียวดูลูกน้อยเป็นระยะ แล้วสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นคือนางจันทร์ได้เห็นงูตัวใหญ่มาพันที่เปลลูกน้อยแล้วชูคอแผ่แม่เบี้ย นายหู-นางจันทร์ได้พนมมือบอกเจ้าที่เจ้าทาง อย่าให้ลูกน้อยได้รับอันตรายใด ๆ เลย ด้วยอำนาจบารมีของเด็กน้อย งูใหญ่จึงคลายลำตัวออกปากวางไว้ในเปล แล้วเลื้อยหายไป ต่อมาเมื่อพญางูจากไปแล้วบิดามารดาทั้งญาติต่างพากันมาที่เปลด้วยความห่วงใยทารก ก็ปรากฏว่าเด็กชายปู่ยังคงนอนหลับปุ๋ยสบายดีอยู่เป็นปกติแถมมีลูกแก้วกลมใสขนาดย่อมกว่าลูกหมากเล็กน้อยส่องเป็นประกายอยู่ข้างตัวเด็ก นายหู นางจันทร์ มีความเชื่อว่าเทวดาแปลงกายเป็นงูใหญ่นำดวงแก้ววิเศษมามอบให้กับลูกของตน เมื่อเศรษฐีปานทราบเรื่องจึงไปพบนายหู นางจันทร์ แล้วเอ่ยปากขอดวงแก้วนั้น ซึ่งนายหูนางจันทร์ ก็มิอาจจะปฏิเสธได้เศรษฐีปานจึงได้ลูกแก้วไปครอบครอง แต่ไม่นานนักเกิดเหตุวิบัติต่าง ๆ กับครอบครัวของเศรษฐีบ่อย ๆ โดยหาสาเหตุไม่ได้แต่ก็นึกได้ว่าอาจจะเกิดจากดวงแก้วนี้ จึงนำไปคืนให้นายหู นางจันทร์ เจ้าของเดิม ส่วนนายหู นางจันทร์เมื่อได้ดวงแก้วกลับคืนมาจึงเก็บรักษาไว้อย่างดี นับแต่นั้นมาฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัวก็ดีขึ้นเป็นเรื่อยๆ ครั้นพอเด็กชายปูอายุได้ประมาณ ๗ ขวบ พ.ศ. ๒๑๓๒ บิดามารดาได้นำไปฝากไว้เป็นศิษย์วัดพ่อท่านจวง (มีศักดิ์เป็นหลวงลุง) เพื่อให้เล่าเรียนหนังสือที่วัดกุฏิหลวงหรือวัดดีหลวงในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัดอยู่ใกล้บ้านท่าน ขณะนั้นมีท่านสมภารจวงซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ เด็กชายปูเป็นเด็กที่หัวดีเรียนเก่งสามารถเล่าเรียนภาษาขอมและภาษาไทยได้อย่างรวดเร็ว เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี ท่านสมภารจวงได้บวชให้เป็นสามเณร ตอนที่ท่านบวชเป็นสามเณรนี้เองบิดาของท่านจึงถวายลูกแก้วคืนให้แก่ท่านเป็นลูกแก้วประจำตัวท่าน ด้วยความที่เป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้อยู่ตลอดเวลา ท่านสมภารจวงได้นำไปฝากให้เล่าเรียนหนังสือที่สูงขึ้นที่เรียกว่ามูลบทบรรพกิจ (ปัจจุบันก็คือเรียนนักธรรมตรีโท-เอก) โดยนำไปฝากไว้กับสมเด็จพระชินเสน ซึ่งเป็นพระเถระชั้นสูงที่ส่งมาจากกรุงศรีอยุธยา และเป็นเจ้าอาวาสวัดสีคูยัง หรือวัดสีหยังในปัจจุบัน ท่านได้เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและจบหลักสูตรที่วัดสีคูยังในเวลาอันรวดเร็ว หลังจากนั้นหลวงปู่ทวดได้เดินทางเข้ามาศึกษาต่อที่เมืองนครศรีธรรมราชเพื่อเรียนหนังสือให้สูงขึ้น โดยมาพำนักอยู่ที่วัดเสมาเมือง ซึ่งมีสมเด็จพระมหาปิยะทัสสีเป็นเจ้าอาวาส และเมื่อท่านมีอายุครบกาลอุปสมบทคืออายุครบ ๒๐ ปี พระครูกาเดิม วัดเสมาเมือง (นครศรีธรรมราช) ได้อุปสมบทให้ตามเจตนารมณ์ของท่าน เมื่ออุปสมบทแล้วได้ฉายาว่า “สามีราโม” ในการอุปสมบทของหลวงพ่อทวดนั้น พระครูกาเดิมได้เอาเรือ ๔ ลำ มาเทียบขนานเข้าเป็นแพ ทำญัตติ ณ คลองเงียบแห่งหนึ่ง ต่อมาก็เรียกคลองนี้ว่า “คลองท่าแพ” มาจนทุกวันนี้ ต่อจากนั้นหลวงพ่อทวดหรือพระสามีรามได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดเสมาเมือง และวัดท่าแพ เมื่อเห็นเพียงพอแก่การศึกษาที่เมืองนครศรีธรรมราชแล้ว จึงตั้งใจที่จะไปศึกษาต่อในชั้นที่สูงขึ้นที่เมืองหลวงหรือกรุงศรีอยุธยา พอดีทราบว่ามีเรือสำเภาของนายสำเภาอินทร์ พ่อค้าขายข้าวเมืองสทิงพระ จะไปขายข้าวยังกรุงศรีอยุธยาและมาแวะที่เมืองนครศรีธรรมราชเพื่อนมัสการพระบรมธาตุตามประเพณีของชาวเรือเดินทางไกล ซึ่งได้ปฏิบัติกันมาแต่กาลก่อน ๆ เพื่อขอความสวัสดีต่อการเดินทางในทะเล ท่านก็ได้ขอโดยสารเรือสำเภาของนายอินทร์เพื่อไปกรุงศรีอยุธยาเพื่อศึกษาเล่าเรียน นายอินทร์เจ้าของเรือได้ก็นิมนต์ท่านลงเรือสำเภาที่คลองท่าแพ เมื่อเรือสำเภากางใบออกสู่ทะเลหลวงตลอดมาเป็นระยะทาง ๓ วัน ๓ คืน วันหนึ่งท้องทะเลเกิดวิปริตโดยเกิดพายุฝนตกหนักฝนตก มืดฟ้ามัวดินคลื่นคะนองเป็นบ้าคลั่ง เรือจะแล่นต่อไปไม่ได้จึงลดใบทอดสมอสู่คลื่นลมอยู่ ๓ วัน ๓ คืน จนพายุร้ายสงบเงียบลงเป็นปกติ แต่เหตุการณ์บนเรือสำเภาเกิดความเดือดร้อนมากเพราะนํ้าจืดที่ลำเลียงมาหมดลงคนเรือไม่มีนํ้าจืดดื่มและหุงต้มอาหาร นายอินทร์ผู้เป็นเจ้าของเรือเป็นเดือดเป็นแค้นในเหตุการณ์ครั้งนั้น กล่าวหาว่าเป็นเพราะพระสามีรามอาศัยมาจึงทำให้เกิดเหตุร้ายซึ่งตนไม่เคยประสบเช่นนี้มาแต่ก่อนเลย นายเรือคนนั้นจึงได้ไล่พระสามีรามลงเรือเล็กโดยให้ลูกเรือนำท่านไปขึ้นฝั่ง ขณะที่หลวงพ่อทวดหรือพระสามีรามลงนั่งอยู่ในเรือเล็ก ท่านได้ยื่นเท้าลงเหยียบนํ้าทะเลแล้วบอกให้ลูกเรือคนนั้นตักนํ้าขึ้นดื่มกินดู ปรากฏว่านํ้าทะเลที่เค็มจัดตรงนั้นแปรสภาพเป็นนํ้าที่มีรสจืดสนิท ลูกเรือคนนั้นจึงบอกขึ้นไปบนเรือใหญ่ให้เพื่อนทราบ พวกกลาสีบนเรือใหญ่จึงชวนกันตัก นํ้าทะเลตรงนั้นขึ้นไปดื่มแก้กระหายพากันอัศจรรย์ในอภินิหารของพระภิกษุหนุ่มองค์นี้ยิ่งนัก ความทราบถึงนายอินทร์เจ้าของเรือจึงได้ดื่มนํ้านั้นพิสูจน์ดู ปรากฏว่านํ้าทะเลที่จืดนั้นมีบริเวณอยู่จำกัดเป็นวงกลมประมาณเท่าล้อเกวียน นอกนั้นเป็นนํ้าเค็มตามธรรมชาติของนํ้าทะเลจึงสั่งให้ลูกเรือตักนํ้าในบริเวณนั้น ขึ้นบรรจุภาชนะไว้บนเรือจนเต็ม นายอินทร์ และลูกเรือได้ประจักษ์ในอภินิหารของท่านเป็นที่อัศจรรย์เช่นนั้น ก็เกิดความหวาดวิตกภัยพิบัติที่ตนได้กระทำไว้ต่อท่าน จึงได้นิมนต์ให้ท่านขึ้นบนเรือใหญ่แล้วพากันกราบไหว้ขอขมาโทษตามที่ตนได้กล่าวคำหยาบต่อท่านสามีราม แล้วก็ถอนสมอกางใบแล่นเรือต่อไปเป็นเวลาหลายวันหลายคืน โดยเรียบร้อย หลังจากนั้นเรือสำเภาก็แล่นเร็วเกินความคาดหมายมุ่งตรงสู่กรุงศรีอยุธยาเมื่อเรือสำเภามาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้วนายสำเภา ก็ได้นิมนต์เจ้าสามีรามไปพำนักอยู่ที่วัดราชานุวาส หรือวัดแค สมภารวัดแคได้ให้ความอนุเคราะห์เป็นอย่างดี นายสำเภาอินทร์ได้ปฏิบัติตนเป็นโยมอุปัฏฐาก อีกทั้งนั้นได้มอบหมายทาสคนหนึ่งชื่อว่านายจันได้คอยปรนนิบัติรับใช้อีกด้วย ต่อมาเจ้าสามีรามได้ไปศึกษาธรรมะที่วัดลุมพลีนาวาสเพื่อเรียนพระอภิธรรม จนเล่าเรียนแตกฉานในพระอภิธรรม เมื่อนายสำเภาอินกลับมาหนหลังได้นิมนต์เจ้าสามีรามไปพำนักอยู่ที่วัดของสมเด็จพระสังฆราชและได้ศึกษาธรรมะและภาษาบาลี ณ สำนักนั้นจนมีความรู้แตกฉานเชี่ยวชาญ จึงขอลาสมเด็จพระสังฆราชไปจำพรรษาที่วัดราชานุวาสหรือวัดแค ซึ่งอยู่นอกกำแพงเมืองเขตพระราชวังและสงบดี เพื่อศึกษาทางวิปัสสนาตามเดิม ประมาณปี พ.ศ. ๒๑๔๙ พระเจ้าอัฐคามินีกษัตริย์ประเทศลังกา ได้ส่งพราหมณ์ราชทูต ๗ คน พร้อมทั้งเครื่องบรรณาการ ๗ สำเภาใหญ่มาท้าพนันตอบปริศนาธรรมแปลและเรียบเรียงอักขระภาษาบาลี โดยนำเอาพระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์ มาจารึกลงในแผ่นทองคำ ขนาดเท่าใบมะขาม อักขระแต่ละคำแยกเป็นแผ่น ๆ ๘๔,๐๐๐ แผ่น ได้ ๗ แม่ขันทองแล้วให้แปลให้ถูกต้อง ภายใน ๗ วัน หากกรุงศรีอยุธยาสามารถแปลได้ก็จะถวายเครื่องบรรณาการทั้ง ๗ สำเภา หากแพ้ทำไม่ได้แพ้พนันก็จะถูกริบเมืองและจะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้เมืองลังกาสมเด็จพระเอกทศรถ ทรงมีขัตติยมานะเพราะทรงเชื่อแน่ว่ากรุงศรีอยุธยาย่อมไม่สิ้นคนดี จึงยอมรับคำท้าพนันกับกษัตริย์กรุงลังกาจึงให้มีพระบรมราชโองการให้ป่าวร้องแก่ภิกษุทั้งหลาย มีหนังสือบอกไปยังวัดวาอารามต่าง ๆ ทั้งในพระนครหลวงและต่างเมือง เพื่อให้จัดหาภิกษุที่เป็นนักปราชญ์มากอบกู้บ้านเมือง ครั้งนั้นมีภิกษุสงฆ์แสดงความจำนงเข้ามาแปลคัมภีร์เป็นจำนวนมาก แต่เมื่อถึงเวลาแปลจริง ๆ ก็ยังไม่มีภิกษุรูปใดทำการแปลอักษรได้สำเร็จ จนเวลาล่วงเลยไปถึง ๖ วัน ยังเหลือเวลาอีก ๑ วัน ก็จะครบตามสัญญา ซึ่งเป็นวันชี้ชะตากรรมของประเทศสยามว่าจะต้องอยู่ในสภาพเช่นไร ในราตรีนั้นเองสมเด็จพระเอกาทศรถได้ทรงสุบินนิมิตว่ามีพญาช้างเผือกเชือกหนึ่งวิ่งมาจากทิศใต้ เข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ส่งเสียงร้องกึกก้องทั่วไปทั้ง ๑๐ ทิศ พระองค์ตกพระทัยเป็นอันมาก ทรงตื่นจากพระบรรทมและดำริว่าคราวนี้ประเทศสยามอาจจะตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศลังกาก็ได้เพื่อความกระจ่างพระองค์โปรดให้โหราธิบดี เข้ามาคำนวณดวงชะตาบ้านเมือง พระโหราธิบดีคำนวณฤกษ์ยามแล้วกราบบังคมทูลให้ทรงทราบว่าชะตาราศีบ้านเมืองจะรุ่งเรืองขึ้นกว่าเดิม พระเกียรติยศของพระองค์จะลือกระฉ่อนไปทั่วทุกสารทิศทั้งนี้เพราะมีบัณฑิตในเพศบรรพชิตมาจากทิศใต้เป็นผู้ช่วยเหลือในการแปลธรรมะครั้งนี้ เมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถได้สดับดังนั้นก็โสมนัสเป็นอย่างยิ่งมีรับสั่งให้ค้นหาบัณฑิตผู้นั้นแต่โดยเร็วฝ่ายขุนศรีธนญชัยข้าราชการผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ประกาศและสืบหาพระภิกษุที่เป็นนักปราชญ์ทั้งที่เป็นชาวกรุงและชาวต่างเมือง ก็ได้พบกับเจ้าสามีรามที่วัดราชานุวาส ได้สนทนาปราศรัยไต่ถามแล้วเห็นว่าเจ้าสามีรามเป็นพระมาจากทิศใต้และมีลักษณะทุกอย่างเป็นนักปราชญ์ก็นิมนต์เข้าสู่พระราชฐาน ณ ท้องพระโรง นายจันได้ตักน้ำมาล้างเท้าให้เจ้าสามีรามเจ้าสามีรามจึงย่างเท้าขึ้นไปเหยียบบนแผ่นดิน ทำให้แผ่นศิลานั้นแยกออกด้วยอำนาจอภินิหารเป็นที่อัศจรรย์แก่ผู้พบเห็นเป็นยิ่งนักเมื่อเข้าไปยังท้องพระโรง ก็ได้คลานไปกราบภิกษุสงฆ์ที่เป็นอาจารย์และผู้อาวุโสพราหมณ์ราชทูตทั้ง๗ เห็นดังนั้นก็กล่าวเย้ยหยันขึ้นท่ามกลางที่ประชุมว่า “กษัตริย์สยามพาเด็กสอนคลานเข้ามาแก้ปริศนา” ซึ่งเจ้าสามีรามได้ให้กรรมการจดบันทึกคำพูดนั้นไว้ พร้อมกับถามพราหมณ์ราชทูตว่า “กุมารที่ออกจากครรภ์มารดากี่วัน กี่เดือนจึงจะรู้คว่ำ กี่วัน กี่เดือนจึงจะรู้นั่ง กี่วัน กี่เดือน จึงจะคลาน ท่านทราบหรือไม่” พราหมณ์ทั้ง ๗ ต่างก็นั่งอึ้งตอบไม่ได้ เลยแกล้งทำเฉยเสีย หลังจากนั้นเจ้าสามีรามก็ตรงไปยังเตียงทองซึ่งจัดไว้เป็นที่รองรับอักขระธรรมนั้น เจ้าสามีรามทำวัตรปฏิวัติแก่พระอภิธรรมแล้วเอาอักขระแต่ละขันออกมาเรียงกันขันละแถว จึงทราบว่ายังขาดอักขระอยู่ขันละ ๑ ตัว อักขระที่ขาดนั้นก็คือ สัง วิ ทา ปุ กะ ญะ ปะ ซึ่งเรียนว่าพระคาถาบาลี ๗ ตำนานนั่นเอง พราหมณ์ทั้ง ๗ จึงเอาอักขระที่เก็บซ่อนไว้ในมวยผมทั้งหมดส่งให้แก่เจ้าสามีราม เจ้าสามีรามจึงแปลคัมภีร์ได้ถูกต้องทุกประการ พราหมณ์ราชทูตทั้ง ๗ จึงยอมแพ้ก้มลงกราบเจ้าสามีรามด้วยความเคารพเลื่อมใสยิ่ง ฝ่ายคณะกรรมการของธรรมสภาเมื่อเห็นชัยชนะเช่นนั้นก็โห่ร้องแสดงความยินดี ดังกึกก้องไปทั่วท้องพระลานหลวง และได้มีการตีกลองสัญญาณประโคมสังคีตดนตรีกันอย่างครื้นเครงพราหมณ์ราชทูตทั้ง ๗ ได้นำเครื่องราชบรรณาการเหล่านั้นมาถวายแก่เจ้าสามีรามแต่เจ้าสามีรามไม่ยอมรับเครื่องราชบรรณาการ และได้ถวายคืนแก่สมเด็จพระเอกาทศรถ การแก้ปริศนาธรรมในครั้งนี้มิใช่เพื่อเป็นการลองภูมิอย่างธรรมดา แต่เป็นการพนันเมืองเมื่อพระสามีรามทำได้สำเร็จ จึงถือเป็นความชอบอันยิ่งใหญ่สมเด็จพระเอกาทศรถ จึงพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์” และโปรดให้สร้างกุฏิขึ้น ๑ หลัง ถวายแก่พระราชมุณีพร้อมเมืองอีกกึ่งหนึ่งให้ปกครอง พระราชมุนีพำนักอยู่ที่กุฏิหลังนั้น ๓ วัน ก็ถวายกุฏิและเมืองคืนแก่สมเด็จพระเอากาทศรถ พร้อมทั้งถวายพระพรลาไปพำนักอยู่ที่วัดราชานุวาสหรือวัดแค ซึ่งเป็นสถานที่สงบดังเดิม ต่อจากนั้นกรุงศรีอยุธยาได้เกิดโรคห่าระบาดไปทั่วเมือง พระราชมุนีฯได้ช่วยไว้อีกครั้งหนึ่ง โดยรำลึกถึงอำนาจของดวงแก้วแล้วทำน้ำพระพุทธมนต์ให้กรรมการเมืองนำไปประพรมทั่วพระนครโรคห่าก็หายขาด ด้วยอำนาจอภินิหารคุณความดีและคุณธรรมอันสูงส่ง ทำให้สมเด็จพระเอกาทศรถทรงเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช มีพระราชทินนามว่า “สมเด็จพระสังฆราชคูรูปาจารย์”และเนื่องจากหลวงพ่อทวดโปรดการธุดงค์เป็นอย่างยิ่ง อยู่มาไม่นานหลวงพ่อทวดก็ได้ทูลลาสมเด็จพระสังฆราชาธิบดีเพื่อจาริกรุกขมูลธุดงค์กลับยังภาคใต้ซึ่งเป็นปิตุภูมิมาตุภูมิ สมเด็จพระสังฆราชาธิบดีก็อนุญาต ครั้นไปอำลาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอาลัย แต่ไม่กล้าทัดทานเพียงแต่ตรัสว่า “สมเด็จเจ้าอย่าละทิ้งโยม” สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาส่งหลวงปู่ทวดจนสิ้นเขตพระนครกรุงศรีอยุธยา หลวงพ่อทวดได้จาริกรุกขมูลลงไปทางภาคใต้ บางแห่งต้องข้ามน้ำลำคลอง บางแห่งต้องเดินป่ามีเรื่องเล่าว่าขณะเดินทางมาได้ ๓ เดือน จะข้ามแม่น้ำแห่งหนึ่งไม่มีเรือแพจะข้าม หลวงพ่อทวดจึงปาฏิหาริย์มาบนพื้นน้ำ ครั้งเดินป่าหลวงพ่อทวดก็ฉันผลไม้ในป่า ครั้นถึงบ้านคนหลวงพ่อทวดก็เข้าไปบิณฑบาตและเที่ยวเทศนาสั่งสอนผู้คน ที่ไหนมีผู้เจ็บไข้ได้ป่วยหลวงพ่อทวดก็ทำน้ำมนต์รักษาให้ และเสกด้ายมงคลผูกข้อมือให้เด็ก ๆ ตลอดทางในการเดินทางกลับ เมื่อหลวงพ่อทวดได้ผ่านบ้านใดเมืองใดที่เคยมีผู้มีบุญมีคุณแก่หลวงพ่อทวด ท่านก็จะแวะเยี่ยมเยียนทุกแห่งด้วยความกตัญญูจนเดินทางมาถึงสทิงพระ หลวงพ่อทวดได้แวะเข้าไปนมัสการสมเด็จพระชินเสนผู้เป็นอาจารย์ ซึงอยู่ที่วัดศรีกูญัง (วัดศรีหยัง) เมื่อพักอยู่หลายเพลาควรแก่การแล้ว จึงอำลาเดินทางมายังวัดกุฏิหลวง (วัดดีหลวง) ได้เข้าไปนมัสการท่านอาจารย์จวง อันเป็นปฐมครู ในกาลครั้งนั้นชาวบ้านที่เป็นญาติสนิทมิตรสหาย ต่างมีความปิติยินดีเป็นล้นพ้น เพราะหลวงพ่อทวดเป็นเสมือนประทีปดวงเด่นมาตั้งแต่เยาว์วัย ยิ่งมีบุญบารมีถึงขั้นสมเด็จเจ้าด้วยแล้วทุกคนทุกคนต่างก็มีความยินดีเมื่อทราบข่าวก็ชวนกันมาเฝ้าชมบารมีกันอย่างเนืองแน่นเรื่อยมา จนกระทั่งได้มีการจัดงานสมโภชสมเด็จเจ้าขึ้นและปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงทุกวัน (ตรงกับวันที่ ๒๗ เมษายนของทุกปี) หลวงพ่อทวดได้ปรึกษาตกลงกับพระอาจารย์จวง แล้วคิดอ่านพร้อมด้วยพระครูศัทธรรมรังสี พุทธบวรมาจารย์ จะบูรณะวัดพะโคะ ทั้งนี้เพราะวัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระครูสัทธรรมรังษี พุทธบวรมาจารย์จะบูรณะวัดพะโคะหรือวัดราชประดิษฐานทั้งนี้เพราะวัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระมาลิกเจดีย์และรอยพระพุทธบาท ภายหลังรอยพระพุทธบาทนี้เชื่อกันว่าเป็นรอยบาทของสมเด็จเจ้า ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของผู้คน แต่สภาพชำรุดทรุดโทรมเนื่องจากถูกข้าศึกทำลายและถูกโจรกรรมขุดหาสมบัติ อาศัยที่ท่านได้ทำประโยชน์แก่บ้านเมืองไว้ก่อนหลวงพ่อทวด จึงจาริกเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาเพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชาธิบดี และสมเด็จพระเอกาทศรถพระเจ้าอยู่หัวหลังจากทรงถามข่าวสารสุขทุกข์กันแล้วสมเด็จเจ้า จึงได้ปรึกษาการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพะโคะ สมเด็จพระเอกาทศรถก็ทรงโสมมนัสยินดีและอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง จึงโปรดให้พระคลังจัดการเบิกสิ่งของต่าง ๆ และเงินตราศิลาแลง ตลอดจนหานายช่างผู้ชำนาญ รวมเบ็ดเสร็จจำนวน ๕๐๐ คน พร้อมทั้งเสบียงอาหารและสำเภาด้วย พอได้ฤกษ์ เรือสำเภาก็แล่นใบออกจากกรุงศรีอยุธยาลุ ๑๕ วัน ถึงนครศรีธรรมราช ต่อจากนั้นอีก ๓ วัน ก็ถึงบ้านชุมพล บรรดาชาวบ้านก็แตกตื่นชวนกันมารับสมเด็จเจ้าที่ริมทะเล เมื่อประชาชนช่วยกันขนอุปกรณ์การก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว ก็ลงมือก่อสร้างใช้เวลาก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๕๑-๒๑๕๔ รวมเป็นเวลา ๓ ปี ก็สำเร็จเรียบร้อย สำหรับยอดพระมาลิกเจดีย์ หล่อด้วยเบญจโลหะ ยาว ๓ วา ๓ คืบ เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงเรียกกันว่า “สุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ” ในขณะที่หลวงพ่อทวดจำพรรษาอยู่ที่วัดพะโคะ ท่านได้วางรากฐานความเจริญให้แก่วัดจนวัดพะโคะกลายเป็นศูนย์กลางของวัดอื่น ๆ ในเขตเมืองพัทลุงฝ่ายตะวันออกในสมัยต่อมา (คือบริเวณแหลมสทิงพระในปัจจุบัน) ส่วนอภินิหารในช่วงนี้เล่าสืบต่อกันมาว่า “วันหนึ่งหลวงปู่ทวดถือไม้เท้าคดเดินเล่นที่ริมทะเล โจรสลัดจีนแล่นเรือเลียบฝั่งเข้ามาพอดี พวกโจรสลัดเห็นสมเด็จเจ้าเดินอยู่มีลักษณะแปลกกว่าคนทั้งหลายจึงใคร่คิดจะลองดีได้จับท่านใส่เรือแล่นไป ชั่วครู่ก็เกิดอัศจรรย์ทั่ง ๆ ที่คลื่นลมสงบ แต่เรือแล่นไปไม่ได้ ออกแล่นก็วนเวียนอยู่ที่เดิมหลายวันเข้าน้ำจืดที่มีอยู่ก็หมดลง ท่านนึกสงสารจึงแหย่เท้าซ้ายลงในน้ำทะเล แล้ววักน้ำขึ้นล้างหน้าและดื่มกิน พวกโจรเห็นจึงลองดูบ้างเห็นเป็นน้ำจืดจึงช่วยกันตักเอาไว้ แล้วกราบขอขมาโทษ นำท่านส่งขึ้นฝั่ง ขณะที่เดินทางมาท่านได้หยุดพักเหนื่อย เอาไม้เท้าพิงไว้กับค้นทางเล็ก ๆ ซึ่งขึ้นเคียงคู่กัน ๒ ต้น ต่อมาต้นยางนั้นเติบโตขึ้นก็คดเยี่ยงไม้เท้าของท่านสมเด็จชาวบ้านเลยพากันเรียกต้นยางนั้นว่า “ยางไม้เท้า” กันตลอดมาจนถึงทุกวันนี้ (อยู่ทางทิศตะวันนออกของวัดพะโคะ ประมาณ ๑ ก.ม. ใกล้กับสี่แยกบ้านชุมพล ปากทางเข้าวัดพะโคะ มีลักษณะลำต้นเป็นปุ่ม ๆ ทั่วทั้งต้น ผิดกับต้นยางต้นอื่น ๆ โดยทั่วไป ปัจจุบันล้มลงเสียแล้ว คงเหลือแต่ตอขนาดใหญ่อยู่ใกล้ต้นโพธิ์) ครั้งสุดท้ายมีสามเณรรอดผู้เคร่งในธรรมออกสืบหาพระโพธิสัตว์ พระอินทร์เนรมิตเป็นคนแก่ นำดอกไม้มาถวายแก่สามเณร ๑ ดอก พร้อมกับบอกว่าภิกษุใดบอกชื่อดอกไม้ดอกนี้ได้ภิกษุนั้นคือพระโพธิสัตว์ จนกระทั่งวันจันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ สามเณรได้เดินทางไปถึงวัดพะโคะ สามเณรก็เข้าไปกราบไหว้หลวงปู่ทวด ท่านได้ถามสามเณรว่า “สามเณรได้ดอกมณฑาสวรรค์มาจากไหน” สามเณรก็เกิดปิติยินดีเป็นยิ่งนัก ก้มลงกราบด้วยความศรัทธาเลื่อมใส และเล่าเรื่องต่างๆ ให้ทราบ หลวงปู่ทวดจึงให้สามเณรคอยอยู่ในกุฏิ เมื่อท่านทำกิจเรียบร้อยแล้ว สมเด็จเจ้าได้ชวนสามเณรเข้าไปในห้อง และทำการเข้าฌานแล้ว โละหายไปพร้อมกับสามเณรในคืนนั้น เมื่อหลวงปู่ทวดโละไปมีผู้เห็นเป็นดวงไฟ ๒ ดวง ใหญ่ดวงหนึ่ง เล็กดวงหนึ่ง ลอยวนเป็นทักษิณานุวัติรอบวัดพะโคะ ๓ รอบ แล้วล่องลอยไปทางทิศใต้ รุ่งเช้าก็ไม่มีใครได้พบเห็นหลวงพ่อทวดอีกเลย ครั้งนั้นประมาณอายุของหลวงปู่ทวดได้ ๔๐ พรรษา การโละไปของสมเด็จเจ้า เข้าใจว่าจะไปอินเดียและลังกาเพราะผู้คนเรียกท่านว่า “ท่านลังกา” อีกนามหนึ่ง ยิ่งทางเมืองไทรบุรี ประเทศมาเลเซีย ก็เรียกว่า “ท่านลังกา” หรือไม่ก็ “ท่านเหยียบน้ำทะเลจืด”
หลังจากนั้นก็มีประวัติเมืองไทรบุรีเล่าว่า หลวงปู่ทวดให้สร้างวัดไว้ในไทรบุรีวัดหนึ่งชื่อ “วัดโกระไหน” ในขณะเดียวกันท่านก็รับเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างให้ (จังหวัดปัตตานี) อีกวัดหนึ่งตามที่เจ้าเมืองไทรบุรีได้นิมนต์ จากการที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสถึงสองวัดเช่นนี้ ทำให้ต้องเดินทางแบบธุดงค์ไปมาระหว่างวัดทั้งสองอยู่เสมอ ขณะที่ท่านเดินทางนั้นสถานที่ใดเหมาะ ก็พักแรมหาความวิเวกเพื่อทำสมาธิภาวนา ใช้เวลาพักนาน ๆ เช่น ภูเขาถ้ำหลอด อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ก็ปรากฏว่ามีสิ่งที่เชื่อถือได้ว่าท่านเป็นผู้ทำไว้ นอกนั้นก็ยังปรากฏอยู่บนเพิงหินบนภูเขาตังเกียบเทือกภูเขาน้ำตกทรายขาว ทางทิศตะวันออกของลำธารน้ำตก มีพระพุทธรูปแกะด้วยไม้ตำเสาแบบพระยืนสององค์ ชาวบ้านตำบลทรายขาวเรียกพระพุทธรูปนี้ว่า “หลวงพ่อตังเกียบเหยียบน้ำทะเลจืด” คาดคะเนกันว่าพระพุทธรูปทั้งสององค์ ท่านลังกาหรือหลวงปู่ทวดเป็นผู้สร้างในสมัยที่เดินทางและพักอาศัยอยู่”
สำหรับการมรณภาพของหลวงพ่อทวด ตามประวัติกล่าวว่าท่านมรณภาพที่วัดโกระไหน ศพถูกนำไปประชุมเพลิงที่วัดช้างให้ตามที่ท่านได้สั่งไว้ การนำศพกลับต้องหยุดพักตามรายทาง พัก ณ ที่ใด ก็ปักไม้แก่นหมายไว้ทุกแห่งแม้แต่น้ำเหลืองหยด ณ ที่ใด ก็ให้ปักหมายไว้เช่นเดียวกัน หรือไม่ก็ให้พูนดินให้สูงขึ้น ผู้คนจะได้กราบไหว้บูชาเพื่อระลึกถึงท่าน ถือเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์เรียกว่า “สถูปท่านลังกา” เส้นทางที่หยุดพักนั้น ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านที่บอกแก่พระครูธรรมกิจโกศล (นอง ธมฺมภูโต) และอาจารย์ทิม ธมฺมธโร เจ้าอาวาสวัดช้างให้ เมื่อคราวออกจาริกธุดงค์สืบประวัติหลวงปู่ทวดในประเทศมาเลเซีย เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๐ บอกว่าเส้นทางที่หยุดพักศพมี ๑๐ แห่ง รวมต้นทางและปลายทางเป็น ๑๐ แห่ง ดังนี้ วัดโกระไหน บาลิง ดังไกว คลองช้าง ดังแปร ลำปรำ ปลักคล้า คลองสาย ไทรบูดอ ควนเจดีย์ (อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา) และวัดช้างให้ หลังจากสิ้นหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ได้ทรุดโทรมลงจนกลายมาเป็นวัดร้างร่วม ๓๐๐ ปี แต่ที่ประชุมเพลิงและบรรจุอัฐิของท่านยังปรากฏอยู่สืบมา ชาวบ้านเรียกกันว่า “เขื่อนหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” มีไม้แก่นปักเป็นหลักอยู่บนเนินสูงเป็นเครื่องหมาย ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาอาจารย์ทิม ธมฺมธโร ได้ขุดสถูปนั้นเพื่อสร้างขึ้นใหม่ ได้พบผ้าห่ออัฐิอยู่ในหม้อทองเหลือง สภาพหม้อและอัฐิผุเปื่อย ท่านจึงไม่กล้าจับต้องเพราะเกรงเกรงจะผิดไปจากสภาพเดิม จึงได้สร้างสถูปสวมครอบสถูปเดิมไว้จนถึงบัดนี้
ครั้งหนึ่งที่วัดพะโคะ จังหวัดสงขลา ศรัทธาหลวงปู่ทวด ตำนานที่ไม่รู้จบ. (2559). สืบค้นวันที่ 20 สิงหาคม 59, จาก http://travel.gimyong.com/?swp=content&t=575
ชัยวุฒิ พิยะกูล. (2553). การปริวรรตวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ประเภทหนังสือบุดเรื่องกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุง. สงขลา : สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ.
ใบกัลปนา (ม.ป.ป.). สืบค้นวันที่ 20 สิงหาคม 59, จาก http://xn-22cja5co5b8bgld8ae4a1f7q.com/index.php/Content/showContent/17
พรทิพย์ พันธุโกวิท, ศิริพร สังข์หิรัญ และธนิสรา พุ่มผะกา. (2555). ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานในจังหวัด
สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล). พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส.
“วัดพะโคะ”. (2559). สืบค้นวันที่ 20 สิงหาคม 59, จาก https://www.touronthai.com/article/3476
วัดพะโคะ. (2538). พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พัลลิชชิ่ง.
วัดพะโคะ (วัดพระราชดิษฐาน). (2556). สืบค้นวันที่ 20 สิงหาคม 59, จาก http://susongkhla.blogspot.com/2012/09/blog-post_2265.html
วัดพะโคะ หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา. (2556). สืบค้นวันที่ 20 สิงหาคม 59, จาก http://www.bloggertrip.com/phakhotemple/
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2537). สงขลาถิ่นวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาต
การเดินทางไปยังวัดพะโคะจากหาดใหญ่ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๐๗ ไปทางสะพานติณสูลานนท์ แล้วเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๐๘๓ ซึ่งเป็นทางเลียบชายฝั่งทะเล ด้านตะวันออกช่วงสงขลา-สทิงพระ หลักกม.ที่ ๑๑๐ ทางซ้ายมือจะมีป้ายบอกทางเข้าวัดพะโคะ ระยะทางจากตัวเมืองสงขลาถึงวัดพะโคะ ประมาณ ๖๘ กม