เมืองโบราณยะรัง (Mueang Boran Yarang)
 
Back    26/03/2018, 13:53    54,546  

หมวดหมู่

จังหวัด


ประวัติความเป็นมา

            จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล เป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยที่มีอาณาเขตติดต่อกับรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย โดยมีเขาสันกาลาคีรีเป็นทิวเขากั้นพรมแดนระหว่าง ๒ ประเทศ ด้วยสภาพภูมิประเทศของภาคใต้ตอนล่างที่มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ และตั้งอยู่ในบริเวณที่อยู่ในกระแสวัฒนธรรมการอพยพเคลื่อนย้ายของกลุ่มชนกลุ่มต่าง ๆ จึงพบร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์อยู่จำนวนมาก ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันคาบสมุทรมลายู ซึ่งรวมถึงภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยจึงเป็นจุดสนใจ สำหรับการศึกษาพัฒนาการทางวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการศึกษาวิจัยทางโบราณคดีมาเป็นเวลานานตั้งแต่ราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ในระยะแรกเริ่มของงานโบราณคดีในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ มักจะมุ่งเน้นศึกษาเกี่ยวกับชุมชนโบราณหรือเมืองโบราณที่ปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณต่าง ๆ เช่น เมืองโบราณสทิงพระ จังหวัดสงขลา หรือเมืองโบราณยะรัง จังหวัดปัตตานี การศึกษาเกี่ยวกับเมืองโบราณยะรังของนักโบราณคดี เช่น รองศาสตราจารย์ชูสิริ จามรมาน อาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับนักโบราณคดี ได้ดำเนินการขุดค้นแหล่งโบราณคดี โดยเฉพาะในปี พ.ศ. ๒๕๓๑-๒๕๓๗ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ดำเนินงานโครงการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานเมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี และมีการดำเนินงานโบราณคดีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน เมืองปัตตานีโบราณสมัยอยุธยา ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดปัตตานีปรากฏข้อมูลอยู่ในเอกสารโบราณต่าง ๆ ว่าเป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญแห่งหนึ่งในสมัยอยุธยา ที่มีพ่อค้าชาวต่างชาติทั้งชาติตะวันตกและตะวันออก เช่น โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ได้เข้ามาเปิดสถานีการค้าจากข้อมูลเอกสารโบราณแสดงให้เห็นว่าเมืองปัตตานีโบราณสมัยอยุธยาเป็นเมืองที่มีความสำคัญและยิ่งใหญ่มากแห่งหนึ่งซึ่งในปัจจุบันยังหลงเหลือร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีที่ยืนยันถึงความเป็นเมืองท่าที่สำคัญได้ระดับหนึ่ง เช่น โบราณสถานมัสยิดกรือเซะ สุสานรายาปัตตานี แหล่งเตาเผาโบราณบ้านดี และโบราณวัตถุที่พบกระจัดกระจายอยู่โดยทั่วไปในพื้นที่ตั้งเมือง เช่น เศษภาชนะดินเผา เงินตราโบราณต่าง ๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตามร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีที่หลงเหลืออยู่ส่วนใหญ่ยังมิได้มีการสำรวจและศึกษาทางโบราณคดีอย่างเป็นระบบมีร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีเพียงบางแหล่งที่ศึกษาและสำรวจอย่างเป็นระบบ เช่น การสำรวจธรณีฟิสิกส์บริเวณที่หล่อปืนใหญ่นางพญาตานี โดยสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๑๐ สงขลา ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำรวจในปี พ.ศ. ๒๕๔๕-๒๕๔๖ ซึ่งเป็นเพียงการศึกษาในบางส่วนของพื้นที่เมืองโบราณปัตตานี แต่การศึกษาทางโบราณคดีในภาพรวมของเมืองโบราณปัตตานี เช่น การศึกษาขอบเขตของเมือง/วัง แหล่งที่อยู่อาศัย ระบบอุตสาหกรรมและการค้าขาย ฯลฯ ยังมิได้มีการศึกษาตรวจสอบทางโบราณคดีแต่อย่างใด ทำให้ในปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับเมืองโบราณปัตตานีสมัยอยุธยาที่มีอยู่ส่วนใหญ่เป็นความรู้ที่ได้มาจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ เช่น หนังสือกรียาอันมลายูปัตตานี สยาเราะห์ปัตตานี เขียนโดย อิบบราฮิม ชุกกรีในปี ค.ศ. ๑๙๕๘ หรือ พ.ศ. ๒๕๐๑ หนังสือประชุมพงศาวดารภาค ๓ พงศาวดารเมืองตานี ซึ่งพระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) เป็นผู้เรียบเรียงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือ Hikayat Patani (the Story of Patani) ของ A. Teeuw & D.K. Wyatt และเอกสารบันทึกการเดินทางของชาวต่างชาติ เป็นต้น หลักฐานทางเอกสารต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจัดอยู่ในเอกสารประเภทชั้นรอง ที่ผู้ศึกษาเกี่ยวกับเมืองปัตตานีโบราณได้นำมาใช้ประกอบการศึกษามาโดยตลอด แต่ปัจจุบันข้อมูลที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่นับเป็นหลักฐานชั้นต้นนั้น ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการศึกษาค้นคว้ามากนัก ซึ่งหากมีการศึกษาทางโบราณคดีอย่างเป็นระบบแล้ว ข้อมูลจากงานโบราณคดีจะเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยเพิ่มเติมองค์ความรู้เกี่ยวกับเมืองโบราณปัตตานีสมัยอยุธยาได้ดียิ่งขึ้น ด้านสภาพทั่วไปของชุมชนโบราณเมืองยะรังนั้นอยู่บนพื้นที่ราบซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำปัตตานีสายเดิม
            เมืองโบราณยะรัง เป็นเมืองโบราณซ้อนทับกัน ๓ เมือง ตั้งแต่บ้านวัดที่เก่าแก่ที่สุด บ้านจาเละ และบ้านประแว ในนี้มีโบราณสถานกว่า ๔๐ แห่ง ชุมชนโบราณยะรังเป็นชุมชนรัฐโบราณที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้ มีอาณาบริเวณติดกับ ๓ ตำบล คือยะรัง วัด และปิตูมุดี นักโบราณคดีสำรวจขุดค้นแหล่งโบราณคดีในเขตตำบลกระโด เขตตำบลวัด ตำบลแว้ง และตำบลปิตูมุดี พบว่าปรากฏซากโบราณสถานจำนวนมาก น่าจะเป็นพื้นที่ศาสนสถานมากกว่าที่อยู่อาศัยของประชาชน อาจเป็นไปได้ว่าที่อยู่อาศัยของชุมชนตั้งอยู่บริเวณแหล่งโบราณคดีบ้านบราโอ และบ้านกรือเซะ จากการศึกษาภาพถ่ายทางอากาศของอาจารย์ทิวา ศุภจรรยาและนายกฤษณพล วิชพันธุ์ เชื่อว่าแหล่งโบราณคดีทั้งสองเป็นบริเวณที่เคยตั้งอยู่ใกล้ทะเลเดิม (ชะวากทะเลยะรัง) มีร่องรอยคลองขุดของกิจกรรมมนุษย์ปรากฏอยู่ ชุมชนโบราณยะรัง มีความเจริญทางวัฒนธรรมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยอมรับนับถือศาสนาพุทธซึ่งได้รับอิทธิพลจากอินเดีย นอกจากการมีความสัมพันธ์กับภายนอกแล้วยังรับวัฒนธรรมใกล้เคียงที่นับถือศาสนาเดียวกัน เช่น ดินแดนภาคกลางของสยาม และคาบสมุทรอินโดจีน ดำรงสืบเรื่อยมาจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ก่อนที่อาณาจักรศรีวิชัยจะมีอำนาจรุ่งเรืองครอบคลุมคาบสมุทรมลายู นับเป็นช่วงแรกในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของดินแดนในพื้นที่ปัตตานีปัจจุบัน อย่างไรก็ตามผู้ซึ่งเป็นเจ้าของวัฒนธรรมที่พบในเมืองโบราณยะรังนั้น น่าจะยังคงอาศัยสืบเรื่อยมาจนเมื่อเมืองหมดความสำคัญลง จากการสำรวจทางโบราณคดีกับภาพถ่ายทางอากาศพบว่า พื้นที่ของชุมชนโบราณยะรังประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างเมืองโบราณหรือชุมชน คูน้ำ คันดิน โบราณสถานที่เป็นสถูปและศาสนสถานสระน้ำโบราณและอื่น ๆ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๖๐๐ กว่าไร่ แต่ส่วนที่กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้ แบ่งได้เป็น ๓ กลุ่มใหญ่ ๆ  ได้แก่

๑. กลุ่มเมืองโบราณบ้านวัด หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๒ ตำบลบ้านวัด และหมู่ที่ ๕ ตำบลปิตุมุดี กลุ่มโบราณสถานบ้านวัดเป็นเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยมผื้นผ้า มีศูนย์กลางเป็นลานจัตุรัสกลางเมือง ล้อมรอบด้วยคูน้ำและมีซากเนินดินโบราณสถานกระจายอยู่โดยรอบ ภายในบริเวณเมืองโบราณประกอบไปด้วย เนินสิ่งก่อสร้างอิฐจำนวน ๔ แห่ง สระน้ำโบราณ ๓ แห่ง ทางด้านตะวันตกของเมือง กลุ่มเนินสิ่งก่อสร้างอิฐจำนวน ๑๓ แห่ง และสระน้ำโบราณขนาดใหญ่ ๒ แห่ง นอกจากนี้พบเนินสิ่งก่อสร้างอิฐกระจายตัวบริเวณทางเหนือ ตะวันตก และทางใต้ของเมืองอีกจำนวน ๑๑  เมือง 
๒. กลุ่มเมืองโบราณบ้านจาเละ  หมู่ ๓ หมู่ที่ ๔ ตำบลยะรัง กลุ่มโบราณสถานบ้านจาเละ ประกอบด้วย คูน้ำรูปวงรีล้อมรอบด้วยพุทธสถานอิฐ ๕ แห่ง เนินสิ่งก่อสร้างอิฐกระจายอยู่ทางด้านตะวันตก ด้านตะวันออกเฉียงเหนือและด้านตะวันตกเฉียงใต้ของรูปวงรี จำนวน ๖ แหล่ง สระน้ำโบราณเป็นสระสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่กว่า ๒๕ แห่งกลุ่มโบราณสถานบ้านจาเละ ประกอบด้วย คูน้ำรอบพุทธสถานอิฐ ๕ แห่ง คูน้ำด้านตะวันตกเฉียงใต้ ๖ แห่ง สระน้ำโบราณ ๑ แห่ง สิ่งก่อสร้างรูปร่างคล้ายป้อม ๒ แห่ง ความสำคัญของโบราณสถานคือพุทธสถานอิฐ จากการขุดแต่งพบหลักฐาน เป็นสถูปในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ นับเป็นสถูปในพุทธศาสนาดังกล่าวเก่าแก่ที่สุดพบในประเทศไทย
๓. กลุ่มเมืองโบราณบ้านปราแว เมืองโบราณบ้านประแว (เมืองพระวัง) เป็น ๑ ใน ๓ เมืองของเมืองโบราณยะรัง อยู่ทางด้านเหนือสุดของเมืองโบราณห่างจากเมืองโบราณบ้านจาเละ ๓๐๐ เมตร ผังเมืองโบราณบ้านประแวเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ขนาด ๔๗๐x๕๑๐ เมตร มีคูน้ำ (คูขุดลึกและแคบ) กำแพงดินและป้อมทั่งสี่มุม ทางด้านทิศตะวันตกมีคลองส่งน้ำขนาดเล็กต่อเชื่อมกับทางน้ำธรรมชาติที่ไหลมาจากบ้านวัดด้านทิศใต้มีคลองส่งน้ำที่ขุดจากบริเวณป้อมไปเชื่อมกับคูเมืองบริเวณมุมเมืองทางด้านทิศเหนือของเมืองยะรัง ภายในตัวเมืองทางด้านทิศใต้พบแนวดินรูปตัวแอล (L) ความยาว ๑๒๐ และ ๑๓๐ เมตร สันนิษฐานว่าเป็นคันกั้นน้ำ และจากการสำรวจพบกลุ่มโบราณสถานที่สำคัญภายในเมืองคือซากสิ่งก่อสร้างอิฐ ๒ แห่ง และบ่อน้ำเก่า ๕ แห่ง หลักฐานที่ได้จากการขุดค้นนี้พบว่าเมืองโบราณบ้านประแว สร้างขึ้นร่วมสมัยกับกรุงศรีอยุธยาตอนต้น (ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙)  แต่จากหลักฐานจากการสำรวจ พบโบราณวัตถุที่ร่วมสมัยกับแหล่งโบราณคดีบ้านจาเละและบ้านวัด เช่น ศิวลึงค์ ชิ้นส่วนกุฑุ ชิ้นส่วนสถูป เป็นต้น ทำให้นักวิชาการสันนิษฐานว่า อาจมีการใช้พื้นที่บริเวณนี้มีตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมาร่วมกับเมืองโบราณบ้านจาเละ และบ้านวัด จากนั้นได้มีการสร้างเมืองขึ้นอีกครั้งในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ คือเมืองประแวที่มีผังขนาด ๔๗๐x๕๑๐ เมตร มีคูน้ำกำแพงดินและป้อมสี่เมืองที่เห็นในปัจจุบันโดยสันนิษฐานว่าอาจมีความเกี่ยวพันกับการสร้างเมืองบริเวณกับบ้านกรือเซะ และกลายมาเป็นเมืองปัตตานีในสมัยต่อมา เมืองประแวเป็นตัวอย่างของรูปแบบเมืองคูน้ำคันดินที่หายากในภาคใต้ตอนล่าง และเป็นประจักษ์พยานถึงภูมิปัญญาของบรรพชนพื้นถิ่นในการออกแบบและสร้างเมืองให้สอดคล้องกับสภาพสิ่งแวดล้อมโบราณวัตถุที่ได้จากการสำรวจหลายชิ้น เช่น ศิวลึงค์ ในพื้นที่เมืองโบราณประแว แสดงให้เห็นว่าก่อนการก่อสร้างบริเวณพื้นที่นี้บางส่วนอาจมีชุมชนอยู่อาศัยมาแต่เดิม และอาจร่วมสมัยกับโบราณสถานในเขตบ้านจาเละซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเมือง เมืองโบราณที่มีคูน้ำกำแพงดินและป้อมสี่มุมเมือง เรียกว่า “เมืองประแว” (เมืองพระวัง) จากการขุดค้นพบหลักฐานว่าเมืองประแวสร้างขึ้น ในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา(ปลายพุทธศตวรรษที่๑๙)การสร้างเมืองแห่งนี้ เกี่ยวพันกับการสร้างเมืองปัตตานีที่บ้านกรือเซะ โบราณวัตถุที่ได้จากการสำรวจ เช่น ศิวลึงค์ แสดงให้เห็นว่าก่อนการสร้างเมืองในบริเวณพื้นที่นี้บางส่วน อาจมีชุมชนอยู่อาศัยมาแต่เดิมและอาจร่วมสมัยกับโบราณสถานในเขตบ้านจาเละซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองประแว

              
              เมืองโบราณยะรัง เมืองพุทธศาสนถานมหายานเป็นเมืองที่มีความเจริญ ในช่วงปี พ.ศ. ๗๐๐-๑๔๐๐ ทิศเหนือติดต่อเมืองสงขลาและพัทลุง ทิศใต้แผ่ไปจนสุดแหลมมลายู ทิศตะวันตกและทิศตะวันออกจรดชายฝั่งทะเลทั้งสองฝั่ง มีซากโบราณสถานและโบราณวัตถุสมัยศรีวิชัยและทาราวดี  เมืองโบราณยะรังเป็นชุมชนที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นอย่างมาก อาจมีความสัมพันธ์กับอาณาจักร "ลังกาสุกะ" ซึ่งเป็นอาณาจักรที่เก่าแก่ที่สุดอาณาจักรหนึ่งบนคาบสมุทรมลายู มีหลักฐานอยู่ในเอกสารจีน อาหรับ ชวา และมลายู ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓
              
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองโบราณยะรัง ไว้ดังนี้

- โบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข ๒ ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๑๖ ตอนพิเศษ ๗ง วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๒ หน้า ๔ พื้นที่โบราณสถานประมาณ พื้นที่ ก. ประมาณ ๔ ไร่ ๓ งาน ๒๔.๕๙ ตารางวา พื้นที่ ข. ประมาณ ๑ ไร่ ๙๑.๕๐ ตารางวา
- โบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข ๓ ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๑๖ ตอนพิเศษ ๗ง วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๒ หน้า ๔ พื้นที่โบราณสถานประมาณ พื้นที่ ก. ประมาณ ๙ ไร่ ๓ งาน ๖๔.๙๙ ตารางวา พื้นที่ ข. ประมาณ ๑ ไร่ ๙๑.๕๐ ตารางวา
- โบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข ๘ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖ ตอนพิเศษ ๗ง วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๒ หน้า ๔ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๓ ไร่ ๓๘.๒๘ ตารางวา

 


 

ภาพสืบค้นจาก : http://oknation.nationtv.tv/blog/ancient-city-yarang/2015/12/02/entry-1


ความสำคัญ

       เมืองโบราณยะรัง เมืองพุทธศาสนถานมหายานเป็นเมืองที่มีความเจริญ ในช่วงปี พ.ศ. ๗๐๐-๑๔๐๐ ทิศเหนือติดต่อเมืองสงขลาและพัทลุง ทิศใต้แผ่ไปจนสุดแหลมมลายู ทิศตะวันตกและทิศตะวันออกจรดชายฝั่งทะเลทั้งสองฝั่ง มีซากโบราณสถานและโบราณวัตถุสมัยศรีวิชัย และทาราวดีเมืองโบราณยะรังเป็นชุมชนที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นอย่างมาก อาจมีความสัมพันธ์กับอาณาจักร "ลังกาสุกะ" ซึ่งเป็นอาณาจักรที่เก่าแก่ที่สุดอาณาจักรหนึ่งบนคาบสมุทรมลายู มีหลักฐานอยู่ในเอกสารจีน อาหรับ ชวา และมลายู ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ หลักฐานที่พบจากการขุดแต่งพบโบราณวัตถุหลายประเภท ได้แก่

๑. สถูปจำลองดินดิบ ประกอบด้วยประติมากรรมนูนต่ำ รูปท้าวกูเวระ พระพุทธเจ้า   ประทับนั่งขนาบด้วยสถูปจำลองทั้งสองข้าง
 ๒. พระพิมพ์ดินเผาและพระพิมพ์ดินดิบรูปแบบต่าง ๆ ประกอบด้วย
๒.๑ พระพิมพ์ดินดิบ รูปสถูปเดี่ยว ศิลปะแบบสัญจี (โอคว่ำ) ด้านล่างมีจารึกคาถาเยธัมม
๒.๒ พระพิมพ์ดินดิบรูปสถูปจำลอง ฐานสูง ๓ องค์เรียงกันด้านล่างมีจารึกคาถาเยธัมมา
๒.๓ พระพิมพ์ดินดิบ รูปพระพุทธเจ้าประทับยืนในท่าติกังก์และทางวิตรรกะมุตรา
๒.๔ เศษภาชนะดินเผา เครื่องถ้วยเปอร์เซียเคลือบสีฟ้าอมเขียว
๒.๕ เศษภาชนะดินเผา เครื่องถ้วยเซลาคอน สีเขียวมะกอก โบราณวัตถุเหล่านี้เปรียบเทียบรูปแบบทางศิลปะร่วมสมัยศิลปทวาราวดี ทางภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งกำหนดอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๑

         เมืองโบราณยะรังเป็นชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทยและเชื่อว่าเป็นที่ตั้งอาณาจักรโบราณที่มีชื่อว่า “ลังกาสุกะ” ตามที่มีหลักฐานปรากฎในเอกสารของจีน ชวา มลายู และอาหรับลักษณะของเมืองโบราณยะรังสันนิษฐานว่ามีผังเมืองเป็นรูปวงรีขนาดใหญ่ในพื้นที่ประมาณ ๙ ตารางกิโลเมตร เป็นเมืองที่มีการสร้างทับซ้อนกันถึง ๓ เมือง ขยายตัวเชื่อมต่อกันสันนิษฐานว่าน่าจะมีศูนย์กลางอยู่ในบริเวณจังหวัดปัตตานีในปัจจุบัน และอาจมีอิทธิพลคลุมไปถึงรัฐไทรบุรีของสหพันธรัฐมาเลเซียด้วย อีกทั้งจะต้องเป็นเมืองท่าที่สำคัญตั้งอยู่ใกล้ทะเลและเป็นดินแดนที่มีความมั่นคงมีบทบาททางการเมืองทางเศรษฐกิจ เกี่ยวข้องกับดินแดนใกล้เคียงอยู่เสมอและได้ทำการติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ปัจจุบันกลุ่มเมืองโบราณยะรัง หรือชุมชนโบราณยะรังเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชมได้                       


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ


แผนที่แสดงที่ตั้งเมืองยะรังโบราณ

         จากการสํารวจทางโบราณคดีประกอบกับการศึกษาภาพถ่ายทางอากาศพบว่า พื้นที่ของชุมชนโบราณยะรังประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างที่เป็นเมืองโบราณหรือชุมชน คูน้ำ คันดิน โบราณสถานที่เป็นสถูปและ ศาสนสถานสระน้ำโบราณ ฯลฯ ครอบคลุมพื้นที่กว่า ๕๐๐ ไร่ แต่ที่กรมศิลปากรกําหนดให้เป็นเขตประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน แบ่งได้เป็น ๓ กลุ่ม ใหญ่ ๆ ประกอบด้วย

๑. กลุ่มโบราณสถานบ้านวัด ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๒ ตําบลวัด และหมู่ที่ ๕ ตําบลปิตูมุดี ประกอบไปด้วยเมืองโบราณบ้านวัด เป็นเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กําหนดเขตด้วยคูน้ำและมีเมืองชั้นในรูปสี่เหลี่ยม ผืนผ้าเป็นเนินสูง ภายในบริเวณเมืองโบราณประกอบไปด้วยเป็นสิ่ง ก่อสร้างอิฐ จํานวน ๔ แห่ง สระน้ำโบราณจํานาน ๓ แห่ง ส่วนทางด้านตะวันตกของเมืองยังประกอบไปด้วยกลุ่มเนินสิ่งก่อสร้างอิฐจํานวน ๑๓ แห่ง และสระน้ำโบราณขนาดใหญ่จํานวน ๒ แห่ง นอกจากนี้ยังพบเนินสิ่งก่อสร้างอิฐกระจายตัวอยู่บริเวณทางเหนือทางตะวันตกและทางใต้ของเมืองโบราณ อีกจํานวนอีก ๑๑ แห่ง

 

๒. กลุ่มโบราณสถานบ้านจาเละ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ และหมู่ที่ ๔ ตําบลยะรัง ประกอบไปด้วยคูน้ำรูปวงรีล้อมรอบพุทธสถานอิฐ ๕ แห่ง เนินสิ่งก่อสร้างอิฐที่กระจายตัวอยู่บริเวณด้านตะวันตก ด้านตะวันตกเฉียงเหนือ และด้านตะวันตกเฉียงใต้ของคูน้ำรูปวงรี จํานวน ๖ แห่ง สระน้ำโบราณลักษณะเป็นสระสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของคูน้ำรูปวงรี จํานวน ๑ แห่ง แนวคันดินเมืองจาเละด้านทิศเหนือ ด้านทิศตะวันออกและด้านทิศใต้ สิ่งก่อสร้างรูปร่างคล้ายป้อม ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันตกเฉียงใต้ของศูน้ำรูปวงรี จํานวน ๒ แห่ง ความสําคัญของโบราณสถานภายในเขตบ้านจาเละคือ พุทธสถานอิฐ ที่ตั้งอยู่ภายในคูน้ำรูปวงรี จํานวน ๓ แห่ง เมื่อทําการขุดแต่งโบราณสถาน แล้วพบหลักฐานว่าเป็นสถูปเนื่องในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ นับเป็นสถูปเนื่องในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย ลักษณะของคูน้ำรูปวงรีล้อมรอบพุทธสถานอิฐ ยังแสดงให้เห็นแนวคิดเรื่องการกําหนดเขตพุทธสถาน โดยเป็นคนที่เรียกว่า “อุทุกสีมา” (อุทกะ ความหมายน้ำ สีมาคือเขตพุทธสถาน) ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ปรากฏหลักฐานในประเทศไทย

๓. กลุ่มโบราณสถานบ้านประแว ตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ ตําบลยะรัง ประกอบไปด้วยเมืองโบราณที่มีคูน้ำกําแพงดินและป้อมสี่มุมเมืองเรียกว่า “เมืองประแว” (เมืองพระวัง) ลักษณะผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มีขนาด ๔๗๐x๕๑๐ เมตร ภายในเมืองโบราณมีเนินสิ่งก่อสร้างอิฐ จํานวน ๒ แห่ง นอกจากนี้ในเขตกําแพงดินด้านทิศใต้ ปรากฏแนวคันดินรูปตัวแอลในภาษาอังกฤษ (L) ที่มีความยาว ๑๒๐ และ ๓๑๐ เมตร ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นคันกั้นน้ำ วามสําคัญของโบราณสถานในเขตบ้านประแว คือพบหลักฐานจากการขุดค้นว่าเมืองประแวสร้างขึ้นในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา (ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙) การสร้างเมืองแห่งนี้เกี่ยวพันกับการสร้างเมืองปัตตานีที่บ้านกรือเซะ และพัฒนาการของเมืองแถบนี้จนกระทั่งกลายมาเป็นเมืองปัตตานีในทุกวันนี้ เมืองประแวเป็นตัวอย่างของรูปแบบเมืองคูน้ำคันดินที่หายากในภาคใต้ตอนล่าง และเป็นประจักษ์พยานถึงภูมิปัญญาของบรรพชนพื้นถิ่น ในการออกแบบและสรรค์สร้างเมืองให้ สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม โบราณวัตถุที่ได้จากการสํารวจหลายชิ้น เช่น ศิวลึงค์ในพื้นที่เมืองโบราณประแว แสดงให้เห็นว่าก่อนการสร้างเมือง ในบริเวณพื้นที่นี้บางส่วนอาจมีชุมชนอยู่อาศัยมาแต่เดิม และอาจร่วมสมัยกับโบราณสถานในเขตบ้านจาเละ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองประแว

 


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
เมืองโบราณยะรัง
ที่อยู่
หมู่ที่ ๓ ตำบลยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
จังหวัด
ปัตตานี
ละติจูด
6.7653162
ลองจิจูด
101.2986492



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

นูรีมะห์ มายอ, ใสบ๊ะ สุหลง และอับดุลรอนี สิเดะ. (2558). เมืองโบราณยะรัง. สืบค้นวันที่ 23 มี.ค. 61, จาก http://oknation.nationtv.tv/blog/ancient-city-                                                                 yarang/2015/12/02/entry-1
 
พรทิพย์ พันธุโกวิท, ศิริพร สังข์หิรัญ และธนิสรา พุ่มผะกา. (2555). ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
               (โบราณสถานในจังหวัด
สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล). พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส.
เมืองโบราณยะรัง. 2560). สืบค้น 23 มี.ค. 61, จาก culture.yru.ac.th/index.php/เมืองโบราณยะรัง.
เมืองโบราณยะรัง ปัตตานี. (2559). สืบค้น 23 มี.ค. 61, จาก https://narater2010.blogspot.com/2016/05/blog-post_2.html
เมืองโบราณยะรังพุทธศาสถานมหายาน.  (2556). สืบค้น 23 มี.ค. 61, จาก http://www.siamrath.co.th/web/?q=เมืองโบราณยะรังพุทธศาสถานมหายาน
ศิริพร ลิ่มวิจิตรวงศ์. (2560). งานโบราณคดี ในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ อดีต-ปัจจุบัน. สืบค้น 23 มี.ค. 61, จาก   https://www.silpa-mag.com/club/art-and-
     
          culture/article_7991


ข้อมูลเพิ่มเติม

ข้อมูลเพื่อการเดินทางไปสู่แหล่งเมืองโบราณยะรัง
        
       การเดินทางไปสู่แหล่งเมืองโบราณสามารถใช้เส้นทางสิโรรส (ทางหลวงหมายเลข ๔๑๐) จังหวัดปัตตานีลงไปทางจังหวัดยะลาประมาณ ๑๕ กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายมือสายยะรัง-มายอ (ทางหลวงหมายเลข ๔๐๖๑) ประมาณ ๑.๒ กิโลเมตร เข้าสู่เขตเมืองโบราณและเลี้ยวซ้ายขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ ๔๐๐ เมตร  ถึงเขตโบราณสถานบ้านจาเละ นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะสามารถติดต่อได้ที่หัวหน้าโครงการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานเมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี ในวันและเวลาราชการ


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024