วัดเขียนบางแก้ว (Wat Khienbangkaew)
 
Back    21/12/2017, 15:17    54,318  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา

        วัดเขียนบางแก้ว วัดพัฒนาตัวอย่างปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ตั้งอยู่เลขที่ ๔๒ บ้านบางแก้ว หมู่ที่ ๔ ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง มีชื่อเรียกกันมาหลายชื่อซึ่งเป็นไปตามกาลเวลา อาทิ วัดพระธาตุบางแก้ว วัดตะเขียนบางแก้ว วัดบางแก้ว แต่ตามประวัติศาสตร์และพงศาวดารมีชื่อเรียกขานกันว่า “วัดเขียนบางแก้ว” ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของโคกเมืองมีคลองบางหลวง หรือคูเมืองกั้นกลาง ในบรรดาวัดเก่าแก่ในจังหวัดพัทลุงถือว่าวัดเขียนบางแก้วเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดมีอายุกว่า ๑,๐๐๐ ปี สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔) ตามตำนานเรื่องเล่าพื้นเมืองหลาย ๆ ตำนาน เช่น ตำนานเพลาวัด ได้กล่าวถึงวัดเขียนบางแก้วไว้ว่านางเลือดขาวเป็นผู้สร้างวัดนี้ โดยได้จารึกเรื่องราวการก่อสร้างลงบนแผ่นทองคำที่เรียกว่า เพลาวัดกล่าวไว้ว่าวัดเขียนบางแก้ว สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๑๔๙๒ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๑๔๙๓ เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากเกาะลังกามาบรรจุไว้ในพระมหาธาตุเจดีย์ หรือตามตำนานการสร้างวัดเขียนบางแก้วของพระครูสังฆรักษ์ (เพิ่ม) กล่าวว่าพระยากรุงทอง เจ้าเมืองพัทลุงเป็นผู้สร้างวัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีเดือน  ๘  ขึ้น ๕ ค่ำ ปีกุนเอกศก พ.ศ. ๑๔๘๒ (จ.ศ. ๓๐๑) พร้อมกับสร้างพระมหาธาตุและก่อพระเชตุพนวิหาร ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ. ๑๔๘๖ แต่ในทำเนียบวัดของจังหวัดพัทลุงของพระครูอริยสังวร (เอียด) อดีตเจ้าคณะจังหวัดพัทลุงกล่าวว่าวัดเขียนบางแก้วสร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๔๘๒   

       สำหรับตำนานนางเลือดขาวที่เป็นคำบอกเล่าของชาวบ้าน ตอนต้นกล่าวถึงสงครามในอินเดียสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทำให้ชาวอินเดียอพยพหนีภัยมาขึ้นฝั่งทางด้านตะวันตกของแหลมมลายู บริเวณเมืองท่าปะเหลียน จังหวัดตรัง แล้วข้ามแหลมมายังอำเภอตะโหนด และอำเภอปากพะยูน ขณะนั้นตาสามโมกับยายเพชรสองผัวเมีย ชาวบ้านพระเกิดเป็นนายกองช้างไม่มีบุตร จึงเดินทางไปขอบุตรีชาวอินเดียที่ถ้ำไม้ไผ่ตง บ้านตะโหมด นำมาเลี้ยงไว้ชื่อว่านางเลือดขาว เพราะเป็นคนผิวขาวกว่าชาวพื้นเมืองต่อมาได้เดินทางไปขอบุตรชายชาวอินเดียที่ถ้ำไม้ไผ่เสรี่ยง ให้ชื่อว่ากุมารหรือเจ้าหน่อ เมื่อทั้งสองเจริญวัย ตายายจึงให้แต่งงานกัน แล้วอพยพไปตั้งบ้านที่บางแก้ว เมื่อตายายถึงแก่กรรมทั้งสองก็ได้นำอัฐิไปไว้ที่ถ้ำคูหาสวรรค์ หลังจากนั้นทั้งสองได้สละทรัพย์ สร้างโบสถ์ วิหาร ในวัดเขียนบางแก้ว และวัดสทิง (สทัง) เมื่อเดินทางถึงที่ใดก็สร้างวัดที่นั่น และได้เดินทางไปลังกากับคณะทูตเมืองนครศรีธรรมราชเพื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ มาบรรจุไว้ที่เจดีย์วัดเขียนบางแก้ว และได้สร้างวัดพระพุทธสิหิงค์วัดพระงามวัดถ้ำพระพุทธที่จังหวัดตรัง สร้างวัดแม่อยู่หัวที่อำเภอเชียรใหญ่ นครศรีธรรมราช  สร้างวัดเจ้าแม่ (ชะแม) วัดเจดีย์งาม วัดท่าคุระ หรือวัดเจ้าแม่อยู่หัว ตำบลคลองรี อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นต้น เมื่อข่าวความงามของนางเลือดขาวทราบไป ถึงกษัตริย์กรุงสุโขทัยจึงโปรดให้พระยาพิษณุโลก มารับนางเลือดขาวเพื่อชุบเลี้ยงเป็นมเหสี แต่นางมีครรภ์แล้วจึงไม่ได้ยกเป็นมเหสีเมื่อนางคลอดบุตรแล้ว ทรงขอบุตรไว้แล้วให้พระยาพิษณุโลก นำนางเลือดขาวกลับไปส่งถึงเมืองพัทลุง ตั้งแต่นั้นมาคนทั่วไปก็เรียกนางว่าเจ้าแม่อยู่หัวเลือดขาว หรือนางพระยาเลือดขาวหรือพระนางเลือดขาว นางได้อยู่กินกับพระกุมารจนอายุได้ ๗๐ ปี ทั้งสองก็ถึงแก่กรรม เจ้าฟ้าคอลายผู้เป็นบุตรได้นำศพไปประกอบพิธีฌาปนกิจที่บ้านพระเกิด เส้นทางที่นำศพไปจากบ้านบางแก้วถึงบ้านพระเกิดเรียกว่าถนนนางเลือดขาว

       วัดเขียนบางแก้วได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ ๒ ครั้ง ตามประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่าในสมัยอยุธยาตอนกลางเมืองพัทลุงเกิดสงครามกับพวกโจรสลัดมลายูอุยงตะนะ (อุยงตะนะคือกลุ่มโจรสลัดมาเลย์จากเมืองยะโฮร์ที่ตั้งอยู่ปลายแหลมมลายู) อยู่บ่อยครั้ง บางครั้งพวกโจรสลัดได้เข้ามาเผาทำลายบ้านเรือนราษฎร์วัดวาอารามเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงทำให้วัดเขียนบางแก้วชำรุดทรุดโทรม และเป็นวัดร้างในบางครั้ง จนเมื่อผู้คนสามารถรวมตัวกันได้และตั้งเมืองขึ้นใหม่ก็ได้ทำการบูรณะวัดขึ้นอีก ดังปรากฏในหนังสือกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุงในสมัยอยุธยา ได้กล่าวถึงการบูรณะวัดเขียนบางแก้วครั้งใหญ่ ๆ ๒ ครั้ง คือครั้งแรกในสมัยอยุธยาตอนกลางระหว่างปี พ.ศ. ๒๑๐๙-๒๑๑๑ ตรงกับแผ่นดินของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ผู้นำในการบูรณะวัดคือเจ้าอินบุตรปะขาวกับนางเป้า ชาวบ้านสะทัง ตำบลหานโพธิ์ อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ครั้งที่ ๒ สมัยพระเพทราชา ตรงกับ พ.ศ. ๒๒๔๒ ผู้นำในการบูรณะปฏิสังขรณ์ คือพระครูอินทเมาลีศรีญาญสาครบบวรนนทราชจุฬามุนีศรีอุปดิษเถร คณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง เมื่อท่านได้บูรณะแล้วจึงได้เดินทางเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา เพื่อขอให้สมเด็จพระวันรัตน์นำถวายพระขอพระบรมราชานุญาตให้ญาติโยมที่ได้ร่วมทำการบูรณะได้รับการเว้นส่วยสาอากรให้กับทางราชการ จึงก็ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯตามที่ขอทุกประการ ด้วยเหตุจึงทำให้วัดเขียนบางแก้วกลายเป็นศูนย์กลางของคณะป่าแก้วในสมัยอยุธยา มีคณะขึ้นกับคณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุงทั้งในเมืองพัทลุง เมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลาและเมืองตรัง เป็นจำนวนกว่า  ๒๙๐-๒๙๘ วัด ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ ๒  เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ วัดเขียนบางแก้วก็กลายเป็นวัดร้างอีกครั้ง ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์วัดเขียนบางแก้วได้รับการบูรณะ ต่อมาอีกหลายครั้งจนปัจจุบันวัดเขียนบางแก้วก็มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่สำคัญ

       วัดเขียนบางแก้วกรมศิลปกรประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๔ เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๔๘๐ และประกาศเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๐๓ ตอนที่ ๖๕ เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๙ มีเนื้อที่ประมาณ  ๒๒  ไร่  ๒  งาน  ๙๗  ตารางวา


ความสำคัญ

       วัดเขียนบางแก้ว ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๔ ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ตามประวัติเล่าว่าราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ (พ.ศ. ๑๔๘๒) สมัยอาณาจักรศรีวิชัยเจ้าพระยากรุงทอง เจ้าเมืองพัทลุงได้สร้างวัดเขียนบางแก้วและสิ่งก่อสร้างอาทิ กุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญ พระพุทธรูป พระมหาเจดีย์ ต่อจากนั้นเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาว ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศศรีลังกา มาบรรจุไว้ในพระมหาธาตุเจดีย์ จากหลักฐานทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่าวัดเขียนบางแก้ว น่าจะสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ อันเนื่องจากนักโบราณคดีกำหนดอายุจากรูปแบบสถาปัตยกรรมขององค์พระธาตุเข้าใจว่าวัดเขียนบางแก้ว สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาเพราะจากโบราณสถานโบราณวัตถุที่สำคัญ ๆ เช่น ศิวลึงค์และฐานโยนิ ซึ่งเป็นอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์อินดูและอารยธรรมอินเดียในพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ และบริเวณนี้ก็กลายเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณ ในสมัยอยุธยาตอนต้นวัดเขียนบางแก้วเป็นวัดที่มีความเจริญมาก แต่สมัยอยุธยาตอนกลางเมืองพัทลุงเกิดสงครามกับพวกโจรสลัดมลายูอุยงตะนะ (อุยงตะนะคือกลุ่มโจรสลัดมาเลย์จากเมืองยะโฮร์ที่ตั้งอยู่ปลายแหลมมลายู) พวกโจรได้เข้าปล้นสะดมและเผาผลาญบ้านเรือนราษฎร และวัดเสียหายมากผู้คนอพยพหลบหนี ทำให้วัดเขียนบางแก้วเป็นวัดร้าง ต่อมาได้บูรณะวัดเขียนบางแก้วขึ้นใหม่ในสมัยปลายรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อจากนั้นมาก็เจริญรุ่งเรื่องมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

       วัดเขียนบางแก้วเป็นวัดที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงคู่บ้านคู่เมืองพัทลุงมาอย่างยาวนาน เพราะฉะนั้นโบราณวัตถุในวัดจึงมีมากมาย เช่น เจดีย์ซึ่งเป็นบรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธองค์ ซึ่งนำมาจากประเทศลังกา พระวิหารคต พระอุโบสถมหาอุด สถานโบสถ์พราหมณ์ วิหารถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พิพิธภัณฑ์สถานของชาติวัดเขียนบางแก้ว พระคุลาศรีมหาโพธิ์ พระสองพี่น้อง พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยในพระอุโบสถ เป็นต้น

พระมหาธาตุเจดีย์บางแก้ว

       พระมหาธาตุเจดีย์บางแก้วเป็นโบราณสถานที่มีอายุกว่า ๑,๐๐๐ ปี เป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่ที่สุดแห่งของจังหวัดพัทลุง ประดิษฐานอยู่ภายในวัดเขียนบางแก้ว เชื่อว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น สันนิษฐานว่าพื้นที่บริเวณวัดเขียนนี้ เป็นที่ตั้งของเมืองพัทลุงมาก่อนเพราะพบซากปรักหักพังของศิลาแลง และพระพุทธรูปมากมาย เช่น พระแก้วคุลาศรีมหาโพธิ (ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น) พระพุทธรูปสองพี่น้อง ภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุ เช่น ถ้วยชามจีนสมัยราชวงศ์ซุ่ง ราชวงศ์เหม็ง  ราชวงศ์เซ็ง  สังคโลกสมัยสุโขทัย ศิวลึงค์ ฐานโยนี และพระพุทธรูปสมัยต่าง ๆ ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้พื้นเมืองเป็นจำนวนมาก เป็นหลักฐานที่แสดงถึงว่าบริเวณนี้มีการติดต่อรับอารยธรรมอินเดียมาตั้งแต่สมัยต้นประวัติศาสตร์ พระมหาธาตุเจดีย์บางแก้วเป็นเจดีย์ก่ออิฐฐาน ๘ เหลี่ยม สันนิษฐานว่าได้รัับรูปแบบการสร้างมาจากพระบรมธาตุเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ย่อขนาดให้เล็กกว่าวัดโดยรอบยาว ๑๖.๕๐ เมตร สูงถึงยอด ๒๒ เมตร รอบพระมหาธาตุบริเวณฐานซุ้มพระพุทธรูปโค้งมน ๓ ซุ้ม กว้าง ๑.๒๘ เมตร สูง ๒.๖๒ เมตร ภายในซุ้มมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ รอบพระเศียรมีประภารัศมีรูปโค้ง ขนาดหน้าตักกว้าง ๐.๙๔ เมตร สูง ๑.๒๕ เมตร ระหว่างซุ้มพระมีเศียรช้างปูนปั้นโผล่ออกมา เหนือซุ้มพระมีเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม อิทธิพลศิลปจีน ด้านทิศตะวันออกมีบันไดสู่ฐานทักษิณ เหนือบันไดทำเป็นซุ้มยอดอย่างจีน มุมบันไดทั้ง ๒ ข้าง มีซุ้มลักษณะโค้งแหลมภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นนูนสูง ปางสมาธิประทับนั่งขัดสมาธิเพชรฐานทักษิณและฐานรองรับองค์ระฆังเป็นรูปแปดเหลี่ยม มีลวดลวยปูนปั้นรูปดอกไม้ แต่เดิมเป็นรูปมารแบก เหนือฐานทักษิณมีเจดีย์ทิศตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่มุม องค์ระฆังเป็นแบบโอคว่ำถัดจากองค์ระฆังเป็นบัลลังก์รูปสี่เหลื่ยมจัตุรัสประดับด้วยถ้วยจาม ทั้งสี่มุมของบัลลังก์มีรูปกาปูนปั้นมุมละ ๑ ตัว ซึ่งหมายถึงสมณศักดิ์ของคณะสงฆ์ทั้ง ๔ ส่วนยอดสุดเป็นพานขนาดเล็ก ๑ ใบ ภายในมีดอกบัวทองคำ จำนวน ๕ ดอก ๔ ใบ (ทองคำหายไปเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๒๑) ลักษณะศิลปกรรมได้รับอิทธิพลจากพระบรมธาตุ นอกจากนั้นยังมีระเบียงหรือวิหารคตเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ล้อมรอบพระมหาธาตุเจดีย์ทั้ง ๓ ด้านยกเว้นทางด้านทิศตะวันออก ภายในเป็นวิหารคตเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยจำนวน  ๓๔  องค์ มีรูปร่างแตกต่างไม่เหมือนกันบางองค์ยิ้มบางองค์น่าหน้าดุดัน แต่ที่เหมือนกันคือหันหน้าเข้าหาเจดีย์ทั้งสิ้น 

        ระเบียงหรือวิหารคตเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาล้อมรอบพระมหาธาตุเจดีย์ทั้ง ๓ ด้านยกเว้นทางด้านทิศตะวันออก ภายในเป็นวิหารคตเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยจำนวน ๓๔ องค์ มีรูปร่างแตกต่างไม่เหมือนกันบางองค์ยิ้มบางองค์น่าหน้าดุดัน แต่ที่เหมือนกันคือหันหน้าเจดีย์ทั้งสิ้น ระเบียงหรือวิหารคตเป็นอาคารก่อด้วยอิฐถือปูนเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผาล้อมรอบองค์พระมหาธาตุเว้นด้านทิศตะวันออก  ซึ่งติดต่อกับอุโบสถ  ภายในระเบียงคดมีพระพุทธรูปปูนปั้นฝีมือช่างพื้นเมือง  จำนวน  ๑๐๘  องค์  ชาวบ้านเรียกว่า “พระเวียง”

พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยจำนวน ๓๔ องค์

พระพุทธรูปประจำซุ้มใต้ฐานพระเจดีย์

       พระมหาธาตุเจดีย์บางแก้วเป็นเจดีย์ก่ออิฐฐานแปดเหลี่ยม สันนิษฐานว่าสร้างจากอิทธิพลของพระมหาธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช แต่มีขนาดที่เล็กกว่าวัดโดยรอบยาว ๑๖.๕๐ เมตร สูงถึงยอด ๒๒ เมตร รอบพระมหาธาตุบริเวณฐานซุ้มพระพุทธรูปโค้งมน ๓ ซุ้ม กว้าง ๑.๒๘ เมตร สูง ๒.๖๒ เมตร ภายในซุ้มมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ รอบพระเศียรมีประภารัศมีรูปโค้ง ขนาดหน้าตักกว้าง ๐.๙๔ เมตร สูง ๑.๒๕ เมตร ระหว่างซุ้มพระมีเศียรช้างปูนปั้นโผล่ออกมา เหนือซุ้มพระมีเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมอิทธิพลศิลปจีน ด้านทิศตะวันออกมีบันไดสู่ฐานทักษิณ เหนือบันไดทำเป็นซุ้มยอดอย่างจีน มุมบันไดทั้ง ๒ ข้าง มีซุ้มลักษณะโค้งแหลมภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นนูน สูงปางสมาธิประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ฐานทักษิณและฐานรองรับองค์ระฆังเป็นรูปแปดเหลี่ยม มีลวดลวยปูนปั้นรูปดอกไม้ แต่เดิมเป็นรูปมารแบก เหนือฐานทักษิณมีเจดีย์ทิศตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่มุม องค์ระฆังเป็นแบบโอคว่ำถัดจากองค์ระฆังเป็นบัลลังก์รูปสี่เหลื่ยมจัตุรัสประดับด้วยถ้วยจามทั้งสี่มุมของบัลลังก์มีรูปกาปูนปั้นมุมละ ๑ ตัว ซึ่งหมายถึงสมณศักดิ์ของคณะสงฆ์ทั้ง ๔ ส่วนยอดสุดเป็นพานขนาดเล็ก ๑ ใบ ภายในมีดอกบัวทองคำ จำนวน ๕ ดอก ๔ ใบ (ทองคำหายไปเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๒๑) ลักษณะศิลปกรรมได้รับอิทธิพลจากพระบรมธาตุ 

มุมของบัลลังก์ทั้ง ๔ ด้านมีรูปปั้นกา มุมละ ๑ ตัว ซึ่งหมายถึงคณะสงฆ์ทั้ง ๔ คณะ   

 

ประเพณีแห่ผ้าห่มธาตุ (ผ้าพระบฎ)

ภาพสืบค้นจาก : http://www.jongthanon.go.th/travels/travel.php?salb_id=1

        วัดเขียนบางแก้วมีพิธีกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำของทุกปีคือพิธีบวงสรวงพระธาตุเป็นพิธีกรรมที่ปฏิบัติและสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ จนกลายเป็นประเพณีที่สำคัญของชาวบ้านวัดเขียนบางแก้ว และชาวจังหวัดพัทลุง จากพิธีกรรมดังกล่าวเป็นการสืบทอดหรือถ่ายโอนความรู้จากรุ่นสู่รุ่นเพื่อเป็น เครื่องมือของการประกอบสร้างให้วัดเขียนบางแก้วกลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์โดยการจัดงานประเพณีขึ้น ทั้งหมด ๓ ครั้ง ในแต่ละครั้งจะจัดขึ้นในวันที่ ดังนี้ครั้งที่ ๑ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ของทุก ๆ ปี จะตรงกับวันมาฆบูชา (พิธีห่มผ้าพระธาตุ) ครั้งที่ ๒ เดือน ๖ พุธแรกของทุก ๆ ปี (มโนราห์โรงครู) ครั้งที่ ๓ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ ถึงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ ของทุก ๆ ปี (มโนราห์ประชันโรง)

    

อุโบสถมหาอุตม์

       โบสถหรือโบสถ์มหาอุตม์ตั้งอยู่ด้านหน้าพระมหาธาตุเจดีย์ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกขนานกับคลองบางแก้ว เป็นอุโบสถสถานก่อด้วยอิฐถือปูน เครื่องไม้ พระอธิการพุ่มได้บูรณะใหญ่ครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ ต่อมาได้ชำรุดทรุดโทรมมากจึงได้บูรณะใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ การบูรณะใหม่ครั้งนี้ได้ดัดแปลงเป็นอุโบสถก่ออิฐถือปูน ภายในมีพระประธานปูนปั้นปางมารวิชัย ๕ องค์ ด้านหลังอุโบสถกั้นเป็นห้องไหว้พระพุทธไสยาสน์ปูนปั้น ๑ องค์ รอบอุโบสถมีใบพัทธเสมาจำหลักหินทรายแดงไม่มีลวดลายศิลปสมัยอยุธยาตอนต้น จำนวน ๘  ใบ

ธรรมศาลาอยู่ด้านหน้าอุโบสถ

พระประธานในอุโบสถ

ธรรมศาลา

         ธรรมศาลาตั้งอยู่หน้าอุโบสถ เป็นอาคารก่อด้วยอิฐถือปูน เครื่องไม้ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ฝีมือช่างพื้นเมืองภาคใต้ ๑ องค์ ได้รับการบูรณะใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๓

ภายในธรรมศาลา

วิหารถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา  (โคกวิหาร) 

     วิหารถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา(โคกวิหาร )ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของโบสถ์พราหมณ์ ปัจจุบันเหลือเพียงซากเนินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีฐานชุกชีก่อด้วยอิฐและหิน ตอนบนมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปจำหลักจากหินทรายแดง ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้นจำนวน ๓ องค์ พระเศียรพระพุทธรูปหินทรายแดงขนาดใหญ่ ๑ เศียร วิหารถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเคยมีความสำคัญมาในอดีตกาลคือเป็นสถานที่ข้าราชการเมืองพัทลุงมาร่วมกันประกอบพิธีดื่มน้ำสาบานครั้งที่เมืองพัทลุงยังตั้งอยู่ที่โคกเมือง

  

พิพิธภัณฑ์สังฆรักษ์

       พิพิธภัณฑ์สังฆรักษ์วัดเขียนบางแก้วมีโบราณวัตถุ เช่น ถ้วยชามจีนสมัยราชวงศ์ซุ่ง ราชวงศ์เหม็ง ราชวงศ์เซ็ง สังคโลกสมัยสุโขทัย ศิวลึงค์ ฐานโยนี และพระพุทธรูปสมัยต่าง ๆ ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้พื้นเมืองเป็นจำนวนมากซึ่งแสดงให้เห็นว่า บริเวณนี้มีการติดต่อค้าขายกับจีน ตลอดถึงรับอารยธรรมอินเดียมาตั้งแต่สมัยต้นของประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์สังฆรักษ์ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระมหาธาตุเจดีย์ 

กุฏิเจ้าอาวาส

   กุฏิเจ้าอาวาสเป็นกุฏิที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบทรงไทยประยุกต์ภาคใต้ที่สวยงามวิจิตรมีการตกแต่งลวดลายหน้าจั่วด้วยไม้ฉลุ  มีลักษณะคล้ายกับสถาปัตยกรรมมลายูด้านหน้ามีอักษรเขียนตรงหน้าบันว่า ปีมะเส็ง เอกศก พ.ศ. ๒๔๗๖


ปูชนียวัตถุ

พระประธานในอุโบสถ

      พระประธานในอุโบสถวัดเขียนบางแก้วเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบปางมารวิชัย มีอุษณีษะเป็นเปลวเพลิง พระพักตร์วงรี พระขนงโก่ง พระเนตรมองตรงพระนาสิกค่อนข้างยาว แย้มพระโอษฐ์ ทรงจีวรห่มเฉียง เป็นศิลปะสมัยอยุธยา

พระแก้วกุลาศรีมหาโพธิ์

      พระแก้วกุลาศรีมหาโพธิ์เป็นพระพุทธรูปหินทรายสีแดงศิลปะอยุธยาตอนต้นชาวบ้านเรียกว่าพระคุลา ประดิษฐานอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวิหารถือน้ำพระพิฒน์สัตยา ประมาณ ๕๐ เมตร สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์การกราดต้อนเฉลยศึกชาวอินเดียตอนใต้ที่เรียกว่าพวกคุลา

พระพุทธรูปสองพี่น้อง

โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์สังฆรักษ์

     พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระมหาธาตุเจดีย์ จัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุที่ค้นพบบริเวณโคกเมืองและบริเวณใกล้เคียง เช่น ถ้วยชามจีนสมัยราชวงศ์ซุ่ง  ราชวงศ์เหม็ง ราชวงศ์เซ็ง สังคโลกสมัยสุโขทัย พระพุทธรูปสมัยต่าง ๆ ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้พื้นเมืองเป็นจำนวนมาก


ปูชนียบุคคล

      ปูชนียบุคคลของวัดเขียนบางแก้วจะขอกล่าวเฉพาะพระครูกาเดิม (เพิ่ม ฐานภทฺโท) เจ้าอาวาสวัดเขียนบางแก้ว ซึ่งปัจจุบัน (๒๕๕๙) ท่านได้มรณภาพแล้ว พระครูกาเดิม (เพิ่ม ฐานภทฺโท) ท่านเป็นคนพื้นที่โดยกำเนิด บ้านเกิดที่บ้านเลขที่ ๓ ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๕  ชื่อเดิมของท่านคือเพิ่ม หนูนุ่น บิดามารดาชือนายวัน-นางแช่ม หนูนุ่น ประกอบอาชีพทำนา ต่อมาเมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ท่านได้ออกมาช่วยครอบครัวทำนา และเมื่ออายุได้ ๒๔ ได้อุปสมบทที่วัดเขียนบางแก้ว โดยมีพระราชปฏิภาณมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาพันธ์ ธมฺมนาโถ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และมีพระแคล้ว อตฺตคฺตโต เป็นพระอนุสาสนาจารย์ อยู่จำพรรษา ณ วัดเขียนบางแก้ว หลังจากได้บวชท่านก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัยและศึกษาตำราต่าง ๆ ที่เก่าแก่ของวัดเขียนซึ่งเจ้าอาวาสรูปก่อน ๆ ได้จารไว้ เช่น ตำราของอดีตเจ้าอาวาสพระครูกาเดิม (ปาน) ได้บันทึกเกี่ยวกับคาถาอาคมต่าง ๆ ซึ่งท่านได้เรียนรู้อย่างรวดเร็วจนมีความชำนาญและเชี่ยวชาญต่อมาท่านได้ทรงสมณศักดิ์ที่ “พระครูกาเดิม” ซึ่งเป็นสมณศักดิ์พิเศษเฉพาะพระสงฆ์ในภาคใต้ 

      สำหรับเรื่องราวของพระครูกาทั้ง ๔ ที่เกี่ยวพันกับเจดีย์พระบรมธาตุ ๓ นคร คือพัทลุง ไชยาและนครศรีธรรมราช โดยมีตำนานเล่าเกี่ยวกับเจดีย์พระบรมธาตุที่เล่าขานกันมานับพัน ๆ ปีว่ามีผู้ทรงวิทยาคมได้ทำการปลุกเสก ”กา-พยนต์” ให้มีชีวิตขึ้นเพื่อคอยเฝ้าเจดีย์พระบรมธาตุทั้ง ๔ ทิศ หรือ ๔ ฝูง คือกาสีขาว ๑ ฝูง เฝ้าทางทิศตะวันออก กาสีเหลือง ๑ ฝูงเฝ้าทิศใต้ กาสีแดง ๑ ฝูงเฝ้าทิศตะวันตกและกาสีดำ ๑ ฝูงเฝ้าทิศเหนือ โดยแต่ละฝูงก็จะแบ่งหน้าที่กันเฝ้าเจดีย์พระบรมธาตุ ต่อมาพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช พระองค์ได้นำมาเป็นนิมิตหมายมงคลนามทั้ง ๔ ของกามาตั้งเป็นสมณศักดิ์พระครูหัวหน้าคณะผู้ทำหน้าที่ดูแลเจดีย์พระบรมธาตุ เนื่องจากทรงพิจารณาว่าเป็นชื่อที่เป็นมงคล คือพระครูกาแก้ว มาจากฝูงกาสีขาว พระครูการามมา จากฝูงกาสีเหลือง พระครูกาชาดมาจากฝูงกาสีแดงและพระครูกาเดิมมาจากฝูงกาสีดำ ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “พระครูกาทั้งสี่ คือกาแก้ว กาดำ เพิ่มกาชาด พงศ์เผ่าปราชญ์ การาม ยศงามหรู รับผิดชอบขอบขันฑ์วรัญญู ประจำอยู่หนเจดีย์สี่ทิศเอย”  เพราะฉะนั้นในความเป็นพระผู้ทรงสมณศักดิ์ที่พระครูกาเดิม ท่านก็ยังคงดำรงตนอยู่อย่างสมถะและสันโดษใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ถึงจะมีกุฏิที่ใหญ่โตแต่ท่านก็เลือกใช้โรงเรือนหลังเก่าด้านหน้าของวัดเป็นที่พักอาศัย ท่านเป็นพระที่ยึดในพรหมวิหารธรรมเป็นสรณะเสมอมา ท่านได้อบรมสั่งสอนและเทศนาธรรมไว้มากมาย ขอยกมาตอนหนึ่งที่น่าประทับใจดังนี้

    “คุณค่าของเป็นมนุษย์อยู่ที่ถูกต้องและมีคุณธรรม สังคมของพระก็ไม่ต่างจากสังคมมนุษย์คือมีคุณค่าที่ความถูกต้องเหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องของจริยธรรมคุณธรรมที่สำคัญมากถึงจะเป็นพระที่มีตำแหน่ง มีคนนับถือมากมายแต่ถ้าไม่ดำรงตนอยู่ในกรอบของความถูกต้องกรอบของพระธรรมวินัย ไม่มีจริยธรรม ไม่มีคุณธรรม ไม่มีความซื่อสัตย์ ก็ถือว่าใช้ไม่ได้ไปไม่รอด”

       พระครูกาเดิม (เพิ่ม ฐานภฺทโท) เจ้าอาวาสวัดเขียนบางแก้ว เจ้าคณะตำบลจองถนน ได้ละสังขารเมื่อเวลา ๐๓.๑๐ น. ของวันที่  ๓  มกราคม  ๒๕๕๙  

พระพระครูกาเดิม (เพิ่ม ฐานภทฺโท)

ภาพคืนจาก : http://oknation.nationtv.tv/blog/sitthi/2014/02/01/entry-1


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดเขียนบางแก้ว (Wat Khienbangkaew)
ที่อยู่
หมู่ที่ ๔๒ ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง
จังหวัด
พัทลุง
ละติจูด
7.499536
ลองจิจูด
100.191932



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ชัยวุฒิ พิยะกูล. (2553). การปริวรรตวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ประเภทหนังสือบุดเรื่องกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุง. สงขลา : สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ.

ชาวพัทลุงร่วมรดน้ำศพ “พระครูกาเดิมเพิ่ม” เข้าอาวาสวัดเขียนบางแก้วหลังมรณภาพด้วยโรคลม. (2559). สืบค้นวันที่ 28 สิงหาคม 59, จาก http:/www.manager.co.th/South/

         ViewNews.aspx?NewsID=9590000000567

มหาวิทยาลัยหาดใหญ่. การประชุมหาดใหญ่วิชาการระดับชาติและนานาชาติ  (2555). การประกอบสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และพิธีกรรมของวัดเขียนบางแก้ว อำเภอเขาชัยสน

           จังหวัดพัทลุง. สงขลา : มหาวิทยาลัยหาดใหญ่.

วัดเขียนบางแก้ว. (ม.ป.ป). สืบค้นวันที่ 28 สิงหาคม 59, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/วัดเขียนบางแก้ว

วัดเขียนบางแก้ว. (ม.ป.ป.). สืบค้นวันที่ 28 สิงหาคม59, จาก  http://oknation.nationtv.tv/blog/wintawan/2010/06/28/entry-1

อัศจรรย์พุทธประเพณีแห่ผ้าห่ม “พระธาตุบางแก้ว”-ชม “เรือโบราณ” หาเลขเด็ด. (2555). สืบค้นวันที่ 28 สิงหาคม 59, จาก http:www.manager.co.th/South/

          ViewNews.aspx?NewsID=9550000031462


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024