วัดโพธิ์ปฐมาวาส (Wat Pho Pathumma Wat)
 
Back    25/02/2019, 11:10    14,553  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา

        วัดโพธิ์ปฐมาวาส เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งในจังหวัดสงขลา ตามประวัติกล่าวว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประมาณปี พ.ศ. ๒๒๐๐ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง บริเวณที่ตั้งวัดเดิมเรียกว่าสถานที่ค้าโภค์ (หมายถึงตลาดนัด) แต่เดิมจึงเรียกวัดนี้ว่าวัดโพ (โภค์) ต่อมาได้เพี้ยนเป็นวัดโพธิ์ และในสมัยพระครูสังฆโศภน (อดีตเจ้าอาวาส) ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดโพธิ์ปฐมาวาส” ต่อมาได้รับการบูรณปฎิสังขรณ์โดยผู้สำเร็จราชการสงขลาในขณะนั้นคือเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) วัดโพธิ์ปฐมาวาสเป็นที่ประดิษฐานของเจดีย์ ๓ องค์ องค์แรกบรรจุพระธาตุพระอรหันต์ องค์ที่สองบรรจุพระธรรมและองค์ที่สามบรรจุพระพุทธรูป และนอกจากเจดีย์แล้วยังมีหอระฆัง ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบจีนผสมยุโรป และภายในอุโบสถมีพระประธานประดิษฐานอยู่ด้านใน พร้อมจิตรกรรมฝาผนังที่มีความวิจิตรงดงามมาก ตลอดถึงปริศนาธรรมที่เล่าเรื่องราวและวิถีความเป็นอยู่ของชาวสงขลาตั้งแต่สมัยโบราณ  แต่หลักฐานปรากฏชัด ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาสัย ปรากฎตามหลักฐานพงศาวดารเมืองสงขลาว่าพระยาศรีสมบัติจางวาง (บุญชิ้น ณ สงขลา) ผู้ตรวจราชการพิเศษเมืองสงขลา ได้สร้างอุโบสถและโรงธรรมไว้ กาลต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์  ณ สงขลา) ผู้สาเร็จราชการเมืองสงขลา ซึ่งเป็นบุตรของพระยาศรีสมบัติจางวาง ผู้สร้าง) ได้ทําการบูรณปฏิสังขรณ์ และสร้างศาสนสถานเพิ่มเติม ปรากฎจนถึงปัจจุบันนี้ (ตามพงศาวดารเมืองสงขลา ตอนที่ ๙ เล่มที่ ๓๐)
           วัดโพธิ์ปฐมาวาส พระอารามหลวง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ถนนไทรบุรี ตําบลบ่อยาง อําเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีเนื้อที่จํานวน ๗ ไร่ ๓ งาน ๒๒.๔ ตารางวา ตามโฉนดเลขที่ ๒๔๖๓ เล่มที่ ๑ ๕ หน้า ๖๓ ได้ตั้งวัดเมื่อพุทธศักราช ๒๒๐๐ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อพุทธศักราช ๒๒๑๐ อาณาเขตวัดกว้าง ๑๐๕ เมตร ยาว ๑๒๐ เมตร มีกําแพงล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน มีประตูเข้าออก ๔ ประตู มีประชาชนตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ ๓ ด้าน คือด้านทิศ ตะวันตก ตะวันออก และทิศเหนือ ส่วนทางทิศใต้จดถนนกําแพงเพชร 
 
      
วัดโพธิ์ปฐมาวาสขึ้นชื่อเกี่ยวกับศึกษาเพราทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ในสมัยเจ้าอาวาสคือพระครูวิจิตรคณานุรักษ์นับว่าเจริญรุ่งเรืองมากในระยะแรก ๆ ศิลปกรรมที่สำคัญในวัดคือภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ  ซึ่งมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ด้านหลังพระประธานเขียนภาพพระอาทิตย์ทรงรถ ผนังด้านเหนือหน้าต่างซ้ายขวาเขียนภาพเทพชุมนุม พนมมือถือดอกบัว  ตรงกลางเจาะซุ้มพระและเทพชุมนุมแต่ละคู่หันหน้าเข้าหากัน กระทำนมัสการพระพุทธรูปในซุ้ม เทพชุมนุมมีแถวเดียวเหนือขึ้นไปเขียนลายดอกไม้ร่วง ผนังตอนล่างระหว่างประตูด้านหน้าเป็นภาพปริศนาธรรม ด้านหลังพระประธานเป็นภาพนรกภูมิ  ผนังระหว่างช่วงหน้าต่างทั้งด้านซ้ายและขวาของพระประธานเป็นภาพปริศนาธรรม  ที่ผนังส่วนนี้มีการสร้างเสาหลอกเป็นลำไผ่ครึ่งซีกนูนแทรกอยู่ตรงกลางผนัง ที่บานประตูด้านหน้ายังมีภาพเขียนพิเศษที่แตกต่างไปจากภาพเขียนที่อื่น ๆ คือภาพขบวนแห่เจ้าเซ็นอยู่ด้านซ้ายและด้านขวาเป็นภาพบ้านเรือนแบบภาคใต้และมีภาพการลักลอบส่งเพลงยาวของหนุ่มสาว ตามแบบอย่างการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาวในสมัยโบราณของไทย ลวดลายหน้าบันพระอุโบสถหน้าจั่วส่วนบนสุดมีลักษณะคล้ายหัวพญานาค แทนช่อฟ้า รูปประธานของหน้าบันเป็นรูปพานซ้อนกันสองชั้นอยู่บนพระธรรมปิฎกเขียนว่า “พระพุทธศักราช ๒๔๖๑” ล้อมรอบด้วยใบโพธิ์ผูกกันเป็นสามช่อรวมกัน  ลวดลายทั้งหมดเป็นปูนปั้นลงสีทอง
    
        ในพงศาวดารเมืองสงขลาได้กล่าวไว้ว่าวัดแห่งนี้เดิมชื่อว่า “วัดโพ” เป็นวัดที่เจ้าเมืองสงขลาได้เป็นผู้สร้างในบางส่วนและปฏิสังขรณ์สืบต่อกันมา นับตั้งแต่พระยาศรีสมบัติจางวาง (บุญชิ้น ณ สงขลา) เป็นผู้สร้างอุโบสถและศาลาการเปรียญ (โรงธรรม) อยู่ในช่วงราว ๆ สมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๐๒  (จ.ศ. ๑๒๒๑) ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์ ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา บุตรของพระยาศรีสมบัติจางวาง (บุญชิ้น ณ สงขลา) ได้มาบูรณปฏิสังขรณ์สิ้นเงินไป ๓๖๑ เหรียญ และในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ รัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง (ตามที่ระบุไว้บนหน้าบันของพระอุโบสถ) กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานภายในวัดไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ และได้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ 

                 


ความสำคัญ

       วัดโพธิ์ปฐมาวาสพระอารามหลวง สังกัดปกครองคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ถนนไทรบุรี  ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา และได้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ วัดโพธิ์ปฐมาวาสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประมาณปี พ.ศ. ๒๒๐๐ ในบริเวณที่ตั้งวัดเดิมเรียกว่าสถานที่ค้าโภค์ หมายถึงตลาดนัด จึงเรียกกันว่า วัดโภค์ ต่อมาเพี้ยนเป็นวัดโพธิ์ จนกระทั่งพระครูสังฆโศภณ เป็นเจ้าอาวาสได้เปลี่ยนเป็นวัดโพธิ์ปฐมาวาสและได้รับการบูรณปฎิสังขรณ์โดยเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) ผู้สำเร็จราชการสงขลาในปี พ.ศ ๒๔๐๒ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๘ โบราณสถานที่สำคัญในวัดได้แก่ อุโบสถซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หน้าบันตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นรูปพานวางซ้อนกัน ๒ ชั้น รองรับพระอภิธรรมปิฎก ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังภาพเทพชุมนุม พระอาทิตย์ทรงรถ นรกภูมิและภาพปริศนาธรรมสอดแทรก วัดโพธิ์ปฐมาวาสตั้งแต่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา มาจนถึงปัจจุบันได้มีผลงานปรากฏเป็นที่เด่นชัดหลายประการ อาทิ

๑. พ.ศ. ๒๔๖๔ ตั้งสํานักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม-บาลี
๒. พ.ศ. ๒๕๒๘ กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ
๓. พ.ศ. ๒๕๓๖ กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ให้วัดโพธิ์ปฐมาวาสเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง
๔. พ.ศ. ๒๕๓๘ กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ให้วัดโพธิ์ปฐมาวาสเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น
๕. พ.ศ. ๒๕๕๓ มหาเถรสมาคม ให้วัดโพธิ์ปฐมาวาส เป็นสํานักปฏิบัติธรรมแห่งที่ ๒ ของจังหวัดสงขลา
๖. พ.ศ. ๒๕๔๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
๗. พ.ศ. ๒๕๕๙ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๕๙ ถือเป็นมหามงคลพิเศษ พระครูปราโมทย์โพธิคุณ ซึ่งดํารงตําแหน่ง เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ปฐมาวาส ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะที่ “พระวิศาลโพธิสุนทร”


      
     
     
      
     
     
     


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

          วัดโพธิ์ปฐมาวาส มีโบราณสถานโบราณวัถตุ และเสนาสนะต่าง ๆ มากมาย ซึ่งที่มีความสําคัญทางประวัติศาสตร์และทรงคุณค่าดังนี้

เจดีย์ ๓ องค์

         เจดีย์ ๓ องค์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ด้านหน้าอุโบสถ ไม่ปรากฏหลักฐานนามผู้สร้าง องค์ประธานคือองค์กลาง มีการก่อฐานประทักษิณซึ่งแตกต่างกับเจดีย์อีก ๒ องค์ ที่ไม่มี ลักษณะของเจดีย์ประธานฐานชั้นล่างสุดเป็นฐานประทักษิณ ๒ ชั้น แนวพนักระเบียงประดับด้วยกระเบื้องปรุอย่างจีน องค์เจดีย์ประธานด้านบนส่วนฐานรองรับองค์ระฆังอยู่ในผังย่อมุมไม้สิบสอง ฐานชั้นล่างเป็นฐานเขียงไล่ระดับกัน ถัดขึ้นมาเป็นส่วนแถบลวดบัวคล้ายอกไก่ซ้อนกัน ๒ ชั้น ระบบชุดฐานดังกล่าวเป็นระบบที่ไม่ใช่ระบบชุดฐานเดิมในอดีต ซึ่งคงเป็นรูปแบบที่สร้างขึ้นเฉพาะท้องถิ่น ต่อมาเป็นฐานบัวคลุ่มในผังย่อมุมไม้สิบสองเป็นลักษณะที่เกิดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ องค์ระฆังในผังกลมไม่มีบัลลังก์ ต่อขึ้นไปเป็นก้านฉัตรประดับเสาหารและมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ระหว่างเสา ต่อด้วยบัวคลุ่มเถาซ้อนกัน ๓ ชั้น และมีปลียอด เจดีย์ที่อยู่ขนาบข้างมีลักษณะเหมือนกัน ส่วนฐานรองรับองค์ระฆังอยู่ในผังย่อมุมไม้สิบสอง เริ่มต้นด้วยฐานเขียงชั้นฐานสิงห์ ขาสิงห์เป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนท้องสิงห์เป็นเส้นหยักโค้ง ถัดขึ้นมาเป็นเส้นลวดแก้ว บัวคลุ่ม องค์ระฆังและบัลลังก์อยู่ในผังกลม ต่อขึ้นไปเป็นบัวคลุ่มเถา ปลี ลูกแก้วและปลียอด 
       
จากลักษณะของเจดีย์ทั้ง ๓ องค์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ หรือราว ๆ พุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕ เพราะพิจารณาจากระบบฐานรองรับองค์ระฆังไม่เป็นระบบอย่างในอดีต แสดงให้เห็นถึงรูปแบบเฉพาะถิ่น มีกําแพงแก้วสี่เหลี่ยมล้อมรอบ ๒ ชั้น เป็น๒ ระดับ กําแพงแก้วชั้นในสูงกว่า ชั้นนอก มีประตูเข้าทั้ง ๔ ด้าน แต่ละด้านมีบันไดขึ้นลง ๕ ขั้น ใช้กระเบื้องสี่เหลี่ยมสีแดง ส่วนที่ประดับในซองกําแพงนั้นใช้ช่องลมเคลือบลายโปร่งสีเขียวศิลปะแบบจีน ประดับในช่องกําแพง บันไดทุกด้านขึ้นถึงฐานเจดีย์ได้ รูปทรงเจดีย์เป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง ซึ่งเป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น องค์เจดีย์เป็นรูประฆังคว่ําบนฐานบัวกลุ่มเหนือองค์ระฆังมีบัลลังก์ เสาและซุ้มมี ๑๒ ช่อง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ๑๒ องค์ เหนือบัลลังก์ขึ้นไป มีบัวกลุ่มซ้อนกัน ๓ ชั้น ทําเป็นปล้องไฉนถึงปลียอด และหยาดน้ําค้างหรือลูกแก้ว ส่วนฐานทําเป็นย่อมุมสิบสอง ลดหลั่นกันลงมา ๓ ชั้น ส่วนกําแพงแก้วทําเป็นสี่เหลี่ยมทั้ง ๒ ระดับ ไม่มีการย่อมุม เจดีย์ที่อยู่ขนาบข้างมีลักษณะเหมือนกัน ส่วนฐานรองรับองค์ระฆังอยู่ในผังย่อมุมไม้สิบสอง เริ่มต้นด้วยฐานเขียงชั้นฐานสิงห์ ขาสิงห์เป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนท้องสิงห์เป็นเส้นหยักโค้ง ถัดขึ้นมาเป็นเส้นลวดแก้ว บัวคลุ่ม องค์ระฆังและบัลลังก์อยู่ในผังกลม ต่อขึ้นไปเป็นบัวคลุ่มเถา ปลี ลูกแก้วและปลียอด จากลักษณะของเจดีย์ทั้ง ๓ องค์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ หรือราว ๆ พุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕ เพราะพิจารณาจากระบบฐานรองรับองค์ระฆังไม่เป็นระบบอย่างในอดีต แสดงให้เห็นถึงรูปแบบเฉพาะถิ่น

       สำหรับประวัติการสร้างเจดีย์ ๓ องค์นั้น ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ พระครูปราโมทย์โพธิคุณ พร้อมด้วยคณะพุทธบริษัทได้ร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ทั้ง ๓ องค์ ได้พบหลักฐานว่าภายในองค์เจดีย์ประธาน (องค์ที่ ๑) พบพระบรมธาตุบรรจุอยู่ในผอบทองคำประดิษฐานในบุษบกสำริด เจดีย์ที่ ๒ บรรจุพระธรรม และองค์ที่ ๓ บรรจุพระพุทธรูป ซึ่งทางหน่วยกรมศิลปากรสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

 

อุโบสถ

       พระอุโบสถ มีลักษณะสถาปัตยกรรมไทย ขนาดกว้าง ๑๓. ๑๙ เมตร ยาว ๒๐.๔๙ เมตร หลังคาทรงไทยชั้นเดียว มุงกระเบื้องเคลียบดินเผาสีแดง ไม่มีช่อฟ้า-ใบระกา มีเพียงชั่วและเหงาปั้นลม มีประตูทางเข้าเพียงด้านเดียว มีหน้าต่าง ๑๐ ช่อง หน้าบันอุโบสถตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นรูปพานวางซ้อนกัน ๒ ชั้น รองรับพระอภิธรรมปิฎก ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังภาพเทพชุมนุม พระอาทิตย์ทรงรถ นรกภูมิและภาพปริศนาธรรม สันนิษฐานว่าสร้างขี้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๐ ในรัชกาลที่ ๒ โดยพระยาศรีสมบัติจางวาง (บุญชิ้น ณ สงขลา) ผู้ตรวจราชการพิเศษเมือสงขลาและได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ ๔ (พ.ศ.๒๔๐๒) โดยเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์ ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ราว พ.ศ. ๒๔๖๑ ก็ได้มีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เป็นครั้งที่ ๒ ซึ่งมีการบันทึกปีพุทธศักราชไว้เป็นลายปูนปั้นที่หน้าบันพระอุโบสถ อุโบสถมีลวดลายหน้าบัน หน้าจั่วส่วนบนสุดมีลักษณะคล้ายหัวพญานาค แทนช่อฟ้า รูปประธานของหน้าบันเป็นรูปพานซ้อนกันสองชั้นอยู่บนพระธรรมปิฎก เขียนว่า “พระพุทธศักราช ๒๔๖๑” ล้อมรอบด้วยใบโพธิ์ผูกกันเป็นสามช่อรวมกัน  ลวดลายทั้งหมดเป็นปูนปั้นลงสีทอง
         ต่อมา
พระครูวิจิตรตะนานุรักษ์ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ปฐมาวาสในขณะนั้น ได้ทําการบูรณปฏิสังขรณ์ใน ปี พ.ศ. ๒๕๖๑ รายการจ่ายค่าบูรณปฏิสังขรณ์ไม่ปรากฏ เป็นครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็น “โบราณสถานแห่งชาติ” โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๐๒ ตอนที่ ๑๘๐ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน และได้จัดสรรงบประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท และทางวัดได้สมทบกับเงินทางวัดจํานวน ๑,๙๔๐,๐๐๐ บาท ทําการบูรณปฏิสังขรณ์ ในขณะนั้น ภายใต้การดูแลของพระครูปราโมทย์โพธิคุณ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ปฐมาวาสองค์ปัจจุบัน เป็นครั้งที่ ๓ (ปัจจุบันท่านพระครูปราโมทย์โพธิคุณ ได้รับการสถาปนาสมณศักดิ์ เป็น "พระวิศาลโพธิสุนทร”)  ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ทางวัดได้บูรณปฏิสังขรณ์พระประธานในพระอุโบสถ พร้อมด้วยพระพุทธรูปภายในอุโบสถ สิ้นเงินในการบูรณปฏิสังขรณ์ ๗๕๐,๐๐๐ บาท และ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ดําเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ภายในอุโบสถ โดยการเปลี่ยนเพดานพร้อมคานและอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถสิ้นเงิน ๓,๒๐๐,๐๐๐ บาท     
          ศิลปกรรมที่สำคัญในอุโบสถคือภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ด้านหลังพระประธานเขียนภาพพระอาทิตย์ทรงรถ ผนังด้านเหนือหน้าต่างซ้ายขวาเขียนภาพเทพชุมนุม พนมมือถือดอกบัว  ตรงกลางเจาะซุ้มพระและเทพชุมนุม แต่ละคู่หันหน้าเข้าหากัน กระทำนมัสการพระพุทธรูปในซุ้ม เทพชุมนุมมีแถวเดียว เหนือขึ้นไปเขียนลายดอกไม้ร่วง ผนังตอนล่างระหว่างประตูด้านหน้าเป็นภาพปริศนาธรรม ด้านหลังพระประธานเป็นภาพนรกภูมิ  ผนังระหว่างช่วงหน้าต่างทั้งด้านซ้ายและขวาของพระประธานเป็นภาพปริศนาธรรม  ที่ผนังส่วนนี้มีการสร้างเสาหลอกเป็นลำไผ่ครึ่งซีกนูนแทรกอยู่ตรงกลางผนัง ที่บานประตูด้านหน้ายังมีภาพเขียนพิเศษที่แตกต่างไปจากภาพเขียนที่อื่น ๆ คือภาพขบวนแห่เจ้าเซ็นอยู่ด้านซ้าย และด้านขวาเป็นภาพบ้านเรือนแบบภาคใต้ และมีภาพการลักลอบส่งเพลงยาวของหนุ่มสาว ตามแบบอย่างการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาวในสมัยโบราณของไทย

 

 อุโบสถและใบเสมาประดิษฐานอยู่ภายในกำแพงแพง

หน้าต่างอุโบสถ

     ผนังส่วนเหนือประตูและหน้าต่างและด้านหลังพระประธานจะเขียนรูปพระอาทิตย์ชักรถเพียงรูปเดียว ส่วนผนังด้านตรงข้ามเหนือประตูทางออกเขียนลายดอกไม้ร่วงโดยส่วนล่างสุด เขียนเป็นรูปยักษ์และรูปลิง ๒ ตัวแบกซุ้มพระ ส่วนผนังด้านข้างทั้งสองด้านเขียนลายดอกไม้ร่วงโดยส่วนล่างสุดมีภาพเทพชุมนุมถือดอกบัวหันหน้าเข้าหาพระพุทธรูปในซุ้มที่อยู่ตรงกลาง ผนังส่วนที่อยู่ระหว่างประตูและหน้าต่าง ด้านหลังพระประธานเขียนภาพนรกภูมิ  บานแผละหรือหลืบข้างประตูด้านหน้าเขียนภาพขบวนแห่เจ้าเซ็นของนิกายซีอะห์อยู่ด้านซ้าย ส่วนด้านขวาเขียนภาพบ้านเรือนแบบภาคใต้โดยมีภาพหญิงชายลักลอบส่งเพลงยาวอยู่ด้วย ผนังส่วนที่เหลือมีทั้งภาพปริศนาธรรม พระสงฆ์บำเพ็ญธรรม พระมาลัยและวิถีชีวิต ลักษณะเด่นของจิตรกรรมที่นี่ที่ไม่พบในที่อื่น คือมีการเขียนภาพบนเสาให้เป็นลำไผ่ครึ่งซีกจนดูเหมือนมีต้นไผ่ขึ้นอยู่ในอุโบสถเป็นระยะ 

เสาพาไลรอบ ๆ อุโบสถ

พระประธานภายในอุโบสถ

ผนังด้านสกัดหน้า

    ผนังด้านสกัดหน้าในอุโบสถเหนือกรอบประตูมีแผ่นรูปสามเหลี่ยมเขียนสีรูปต้นไม้ใหญ่เกาะอยู่บนโขดหิน ในระดับเดียวกันนี้มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่ขนาบข้าง ฐานชุกชีตกแต่งด้วยลายพรรณพฤกษาและลายหินอ่อนซึ่งพบได้ในสมัยรัตนโกสินทร์ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เป็นต้นมา ซุ้มทางด้านทิศเหนือด้านล่างกรอบเขียนรูปยักษ์กำลังแบกฐานพระพุทธรูป ส่วนซุ้มทางด้านทิศใต้เขียนรูปลิง ๒ตัว กำลังแบกฐาน ถัดขึ้นไปด้านบนเขียนด้วยลายดอกไม้ร่วงซึ่งต่อเนื่องมาจากผนังแปร จากลักษณะดังกล่าวคงเป็นงานที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๕ โดยน่าจะสร้างขึ้นโดยช่างท้องถิ่นเนื่องจากลักษณะการสร้างที่ผิดสัดส่วน

     

ภาพกลุ่มคนหลากหลายเชื้อชาติกำลังต่อสู้กัน

     ภาพกลุ่มคนหลายเชื้อชาตินี้สังเกตได้จากสีผิวและการแต่งกายที่แตกต่างกัน มีทั้งแบบผมสั้น ผมยาว บางคนมีหนวดเครา บางคนผ้าแบบลายตรง บางคนนุ่งผ้าลายตาราง หน้าตามีความหลากหลายไม่ได้เขียนแบบหุ่น ผู้รู้ได้ตีความไว้ ๒ ประการ คือประการแรก อาจเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของพระมาลัยที่ต่อเนื่องมาจากช่องภาพด้านซ้าย โดยช่องภาพนี้เป็นส่วนที่กล่าวถึงช่วงกลียุคอันเป็นยุคที่ผู้คนจะไม่ละลายต่อบาปและมีการรบราฆ่าฟันกันจนตาย โลกจะเหลือเพียงผู้อยู่ในศีลธรรมที่หลบหนีจากการสู้รบไปปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าเขาที่จะรอดพ้นจนทันยุคพระศรีอาริย์ ประการที่ ๒ ภาพนี้อาจะเป็นภาพเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลาช่วงหนึ่งที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบจากผู้ร้ายและโจรสลัด

     เสาติดผนังรูปต้นไผ่นี้ถือเป็นงานศิลปะพื้นถิ่นและถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของวัดแห่งนี้ ลักษณะตัวเสาทำเป็นเสานูนโค้งเป็นลำปล้องของต้นไผ่ พร้อมกับการเขียนลายให้คล้ายกับธรรมชาติ ตัวเสานี้ติดอยู่ตรงกลางของผนังระหว่างช่องหน้าต่าง และมีหน้าที่เป็นกรอบกั้นซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป รูปแบบและเทคนิคการเขียนนี้คงมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๕

ภาพพระภิกษุนั่งพิจารณาปฏิจสมุปบาท 

       จิตรกรรมฝาผนังภาพพระภิกษุนั่งพิจารณาปฏิจสมุปบาทนี้ ประกอบด้วยภาพของพระสงฆ์นั่งอยู่ด้านบนขวามองมาที่นกขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นภาพปริศนาธรรมภาพหนึ่ง เรื่องราวดังกล่าวนี้เพิ่งนิยมเขียนกันในช่วงราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔–๒๕

ศาลาการเปรียญ

       ศาลาการเปรียญประดิษฐานอยู่ในกำแพงแก้ว สร้างขี้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๒ โดยพระยาศรีสมบัติจางวาง (บุญชิ้น ณ สงขลา) ผู้ตรวจราชการพิเศษเมือสงขลาและได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ ๔ (พ.ศ.๒๔๐๒) โดยเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์ ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ราว พ.ศ. ๒๔๖๑ ก็ได้มีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เป็นครั้งที่ ๒ ซึ่งน่าพร้อม ๆ กับอุโบสถ

หน้าบันศาลาการเปรียญเป็นรูปปูนปั้นพระพุทธเจ้า


ปูชนียวัตถุ

พระประธานในอุโบสถ

       พระพุทธรูปประธานภายในอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพักตร์ใหญ่ยาว ลักษณะอย่างหุ่น พระขนงโก่งโค้ง มุมพระโอษฐ์ยกขึ้นเล็กน้อย พระกรรณใหญ่ เม็ดพระเกศามีขนาดเล็ก รัศมีเป็นเปลวสูง พระอังสาทั้ง ๒ ข้างยกตั้งขึ้นระนาบกับพื้น ครองจีวรห่มเฉียง เรียบ มีชายสังฆาฏิขนาดใหญ่พาดอยู่ที่พระอังสาข้างซ้ายตกลงมาตรงกลางพระวรกาย ลงมาถึงพระนาภีปลายตัดตรง พระชงฆ์มีขนาดใหญ่หนา จากลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงงานช่างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรือในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔ สันนิษฐานว่าสร้างพร้อมกับการสร้างวัด และเป็นศิลปะของช่างท้องถิ่น


ภาพจาก : 
SBL: บันทึกประเทศไทย, ๒๕๖๓, ๑๐๒


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดโพธิ์ปฐมาวาส (Wat Pho Pathumma Wat)
ที่อยู่
เลขที่ ๒๓๖ หมู่ที่ ๑๒ บ้านบ่อยาง ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
จังหวัด
สงขลา
ละติจูด
7.192417
ลองจิจูด
100.593862



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ฐานข้อมูลศิลปวัฒนธรรม CECS. (ม.ป.ป.). วัดโพธิ์ปฐมาวาส. สืบค้นวันที่ 7 สิงหาคม 62, จาก culture.skru.ac.th/culture/dbDetail.php?id=20140915110415

เพลวัดโพธิ์ปฐมาวาส พระอารามหลวง. (2562). สืบค้นวันที่ 7 สิงหาคม 62, จาก https://www.facebook.com/pg/วัดโพธิ์ปฐมาวาส-พระอาราม 

         หลวง-1628470460713125/photos/?ref=page_internal

มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะโบราณคดี. (2559). ฐานข้อมูลศิลปกรรมในภาคใต้. สืบค้นวันที่ 7 สิงหาคม 62, จาก http://www.archae.su.ac.th/

        art_in_south/index.php/collections/songkla/ 


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024