ช้างแคระ
 
Back    17/02/2022, 16:42    1,814  

หมวดหมู่

ความเชื่อ


ประวัติความเป็นมา


ภาพจาก : ทะเลสาบสงขลาในกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลง : จากบก ลงเท ก่อนเห...สู่เมือง ๙ ทศวรรษ ชีวิตและงาน ชูชาติ จำนง, 2563, 117

         ช้างแคระเป็นช้างเอเซียพันธุ์เล็ก มีขนาดตัวที่เตี้ยและก็คือตัวเล็กกว่าช้างป่าทั่วไป จึงถูกเรียกว่า "ช้างแคระ" "ช้างค่อม" หรือ "ช้างแกลบ" จัดเป็นสัตว์ป่าหายากชนิดหนึ่ง เป็นช้างที่เคยพบอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ของไทย บริเวณตอนเหนือของทะเลสาบสงขลา ปัจจุบันไม่ได้พบช้างชนิดนี้มานานแล้วเข้าใจว่าช้างแคระน่าจะสูญพันธุ์ไปนานมากกว่า ๖๐ ปี ในอดีตบริเวณป่าพรุลุ่มต่ำจากอำเภอควนขนุน อำเภอหัวไทร อำเภอเชียรใหญ่ และอำเภอระโนด เป็นที่อาศัยของช้างทุ่งนับร้อยนับพันเชือกหากิน โดยจะกระจายรอบ ๆ ของทะเลสาบสงขลาซึกเหนือ ช้างแคระเป็นสายพันธุ์ย่อยของช้างป่าเอเชียที่มีขนาดเล็กกว่า มีใบหูเล็ก มีขนบนหัวสีน้ำตาล ขนใบหูสีแดง ร่างกายที่เปลี่ยนไปเกิดจากการปรับตัวตามถิ่นอาศัย แหล่งอาหารที่มีแต่หญ้ากกบริเวณป่าพรุ ทำให้ขาดแคลนแร่ธาตุจากโป่งดินเพราะเป็นที่ลุ่มชุ่มน้ำ ทำให้ร่างกายแคระแกร็น และมีขนาดร่างกายที่เล็กและน้ำหนักตัวเบา นับเป็นการปรับตัวที่มีนัยสําคัญ ในการก้าวเดินหากินบริเวณแผ่นดินลุ่มชุ่มน้ำ 
      ลักษณะของช้างแคระ
     ช้างแคระเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และด้วยความหายากและขาดผู้ที่สนใจศึกษาช้างแคระอย่างจริงจัง จึงทำให้ไม่มีนักวิชาการเคยจับตัวช้างหรือเก็บตัวอย่างมาศึกษาเลย จึงทำให้ขาดองค์ความรู้ในเรื่องลักษณะของช้างแคระ ทำได้เพียงการประมวลผลจากคำบอกเล่าและตามข้อความที่เขียนไว้ในบันทึกต่าง ๆ เท่านั้น นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล (ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งการอนุรักษ์สัตว์ป่าไทย) เคยมาสำรวจบริเวณทางตอนเหนือของทะเลสาบสงขลา และได้พบช้างแคระที่คลองนางเรียบ จากบันทึกท่านได้กล่าวถึงช้างที่พบไว้ว่า...เป็นช้างค่อนข้างเล็กไปสักหน่อยแต่ยังโตกว่าควายบ้านมากไม่ใช่เล็กอย่างควายบ้าน หรือเล็กกว่าควายบ้านอย่างที่ใคร ๆ เขาชอบนำมาเล่าสู่กันฟัง..และจากบันทึกการบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในแถบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เช่น 
ลุงกลับ ชาวบ้านที่ระโนดซึ่งเคยพบเห็นช้างแคระมาก่อน เล่าว่า... ช้างแคระเป็นช้างขนาดเล็กที่มีลักษณะเหมือนช้างป่าทั่วไป แต่ก็ยังตัวใหญ่กว่าควาย... นิวัฒ ใฝขาว อดีตพรานป่าแห่งเทือกเขาโต๊ะเทพเล่าจากประสบการณ์ที่ได้พบกับช้างแคระมาแล้วถึง ๖ ครั้ง...ครั้งแรกที่เห็นก็นึกว่าเป็นลูกช้าง ตัวมันเล็กคล้าย ๆ วัว พุงมันป่อง ๆ มีงายาวประมาณ ๑ ฟุต มีใบหูค่อนข้างเล็ก หูมีขนสีแดง มีเสียงร้อง กิ๊ก ๆ ไม่ร้องเหมือนช้างป่าขนาดใหญ่ มีนิสัยดุร้ายและยังไม่กลัวคน หากเจอคนมันจะวิ่งไล่ทันที แต่วิ่งซิกแซกไม่เป็นมันชอบอาศัยอยู่ตามป่าอ้อ ป่าแขมและชายป่า หากินรวมกันเป็นฝูงเหมือนช้าป่าทั่วไป... ขนาดของช้างแคระจากที่นายแพทย์บุญส่งได้ฟังจากคำบอกเล่าของชาวบ้าน...ช้างแคระมีขนาดความสูงราว ๆ ๖ ฟุตเล็กน้อย... ซึ่งตรงกับข้อมูลจากรายงานความก้าวหน้าโครงการติดตามศึกษาช้างแคระ บริเวณป่าต้นน้ำเทพาของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ว่า...ช้างแคระมีขนาดความสูงประมาณ ๑๗๐ เซนติเมตร และจากบันทึกของเอนก นาวิกมูล ได้ระบุว่ามีรายงานข่าวการพบช้างแคระซึ่งปรากฎในหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” ฉบับวันที่ ๕, ๖, ๑๖ (มิถุนายน ๒๕๐๖) โดยมีพาดหัวข่าวว่า...พบช้างแคระสูง ๙๐ ซม. ชาวบ้านกินต่างหมู นายกสั่งห้ามด่วน... 
      ตำนาน
ช้างแคระ 
       ช้างแคระแห่งทุ่งทะเลสาบสงขลามีตํานานปรัมปราที่เล่าต่อกันมา ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันมาตั้งแต่ครั้งเริ่มสร้างพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ด้วยเหตุที่ผู้คนจากไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ได้รวบรวมสมบัติมีค่าขึ้นหลังช้างเดินทางมาร่วมเพื่อบรรจุในองค์พระมหาเจดีย์ ถือเป็นการสักการะบูชาองค์พระบรมสารีริกธาตุ แต่ก่อนถึงจุดหมายทราบข่าวถึงองค์มหาธาตุเจดีย์สร้างสําเร็จแล้ว จึงท้อแท้สิ้นกําลังใจนําสมบัติมีค่าทั้งหมดลงฝังดิน แล้วปล่อยช้างให้หากินอิสระก่อนเดินทางกลับ ในตํานานระบุว่าช้างกลุ่มนี้คือบรรพบุรุษของข้างแคระแห่งทุ่งทะเลสาบสงขลาในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตามช้างแคระไม่ใช่มีเฉพาะทุ่งทะเลสาบสงขลาเท่านั้น ในอดีตมีปรากฏในลุ่มเจ้าพระยาและปัจจุบันยังหลงเหลือนับพันเชือกในป่าทางเหนือของเกาะบอร์เนียว 
      
  ในอดีตนั้นช้างแคระไม่เป็นที่ใส่ใจของผู้คนที่จะคล้องมาเลี้ยงใช้งาน เพราะด้วยมีพละกําลังน้อยกว่าช้างป่าดง อีกทั้งดุร้ายและฝึกให้เชื่อฟังคําสั่งได้ยาก และที่สําคัญคือเลี้ยงยาก ตายง่าย คงด้วยแหล่งอาหารและพฤติกรรมแตกต่างจากช้างป่าดง ที่ควาญข้างคุ้นเคย ช้างแคระจึงถูกละเลยไม่ใส่ใจในคุณค่า จนต้องเผชิญชะตากรรมเมื่อชุมชนมนุษย์ขยายตัว ขยายพื้นที่ทํากินทับซ้อนแหล่งอาหารดั้งเดิมของข้างแคระ เปลี่ยนท้องทุ่งป่าพรุกลายเป็นผืนนา จึงเป็นเรื่องปกติที่นาข้าวของมนุษย์จะถูกช้างแคระเหยียบย่ำทําลาย การฆ่าทําลายเผ่าพันธุ์ข้างแคระจึงเกิดขึ้น ช้างแคระได้กลายมาเป็นอาหารอันโอชะของผู้คน ประกอบกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ระดับน้ำขึ้นสูงท่วมที่ราบลุ่มต่ำโดยรอบทะเลสาบ ช้างแคระส่วนหนึ่งอพยพลี้ภัยไปอาศัยตามพื้นที่สูงต่าง ๆ ที่หนีไม่ทันก็จมน้ำตาย นับเป็นเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ลดจํานวนข้างแคระครั้งใหญ่ที่สุด ความตื่นตัวต่อช้างแคระของสังคมไทยเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เมื่อ นพ. บุญส่ง เลขะกุล ผู้จุดกําเนิดงานอนุรักษ์ธรรมชาติ ของประเทศไทย ได้ส่งคณะสํารวจข้างแคระที่ทุ่งทะเลสาบ ซึ่งน่า เสียดายที่การสํารวจครั้งนั้นพบแต่กองกระดูกช้างแคระขาวโพลนกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป จึงทำให้ช้างแคระได้กลายเป็นเรื่องราวจากความทรงจําของผู้คนเท่านั้น โดยเชื่อกันว่าช้างแคระสูญสิ้นไปจากทุ่งทะเลสาบสงขลาก่อน ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ แต่ต่อมามีรายงานการพบข้างแคระในแผ่นดินไทยอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ที่ป่าพรุขนาดใหญ่ต้นลําน้ำเทพา บริเวณรอยต่อของอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา กับอําเภอกาบัง จังหวัดยะลา ซึ่งอยู่ติดกับพรมแดนรัฐเคดาห์ของมาเลเซีย แต่ก็ไม่มีการศึกษาสํารวจอย่างจริงจัง ช้างแคระจึงเป็นอีกหนึ่งตํานานที่น่าเศร้าของทะเลสาบสงขลา ที่ไม่มีวันหวนคืนกลับมาได้


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
ช้างแคระ
ที่อยู่
จังหวัด
ภาคใต้


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024