วัดจะทิ้งพระ (Wat Chathingphra)
 
Back    08/12/2017, 11:42    30,881  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา

       วัดจะทิ้งพระเป็นวัดสำคัญและเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองสทิงพระหรือสทิงปุระเมืองเก่าแก่ของเมืองพัทลุงมาแต่โบราณเดิมเรียกว่า “วัดสทิงพระ” ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น “วัดจะทิ้งพระ“ โดยสันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีวิชัย  โดยพระยาธรรมรังคัลร่วมกับพระครูอโนมทัสสี เมื่อจุลศักราช ๗๙๙  หรือปี พ.ศ. ๑๕๔๒ ต่อมาได้รับการบูรณะขี้นมใหม่ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรสแห่งกรุงศรีอยุธยา ตามตำนานพระนางเลือดขาวกล่าวว่า เจ้าพระยากรงทองเจ้าเมืองสทิงพาราณสีเป็นผู้สร้างวัดนี้ขึ้น ส่วนหลักฐานหนังสือกัลปนาหัวเมืองพัทลุงสมัยอยุธยา ระบุว่าวัดจะทิ้งพระแยกออกเป็นสองวัด โดยมีกำแพงกั้นกลางเป็น ๒ วัด วัดแรกคือวัดสทิงพระมีพระครูวินัยธรรมเป็นเจ้าอธิการหมื่นธรรมเจดีย์เป็นนายประเพณี อีกวัดคือวัดพระมหาเจดีย์องค์ใหญ่ มีพระครูอมฤตย์ศิริวัฒนธาตุ เป็นเจ้าอธิการ ขุนธรรมพยาบาลเป็นนายประเพณี วัดทั้งสองแห่งนี้มีชื่อเรียกร่วมกันว่าวัดเจ้าพี่วัดเจ้าน้องโดยขึ้นกับวัดเขียนบางแก้วคณะป่าแก้ว หัวเมืองพัทลุง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่  ๕  จึงรวมเป็นวัดเดียวกัน

       วัดจะทิ้งพระตั้งอยู่ริมถนนสายหัวเขาแดง-ระโนด หมู่ที่ ๔ ตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา วัดจะทิ้งพระนอกจากจะเป็นวัดที่เก่าแก่และสำคัญยิ่งแล้วยังเป็นศูนย์กลางของการปกครองคณะสงฆ์ศูนย์กลางการศึกษาแต่โบราณกาลมา คำว่าจะทิ้งพระตามความหมายที่ฟังดูแล้วเป็นไปในทางที่ไม่ดี อาจจะตีความหมายว่ากำลังจะทอดทิ้งพระหรือจะไม่เอาพระแล้วซึ่งเป็นการตีความหมายที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง คำว่า “จะทิ้งพระ” สันนิษฐานว่าน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “สทิงปุระ” ซึ่งมีความหมายว่าเมืองที่มีน้ำล้อมเมืองสทิงปุระเป็นเมืองเดียวกับสทิงพาราณสี ซึ่งเป็นเมืองที่เก่าแก่ตั้งอยู่ทางเหนือของวัดจะทิ้งพระนักโบราณคดีมีทัศนะแนวความคิดว่าชื่อของวัดจะทิ้งพระนี้ คนในสมัยโบราณรับคำพูดเล่าต่อ ๆ กันมาว่าเจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมาร มาเป็นชื่อของสถานที่มีเรื่องนิทานชาวบ้านเล่าสืบต่อกันมา ว่าเจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมารน้องชาย เป็นพระธิดาและพระโอรสของพระเจ้าโกสีหราชกับพระนางมหาเทวีครองเมืองนครทันตะปุระ (ประเทศอินเดีย) ขณะนั้นเมืองทันตะปุระเกิดศึกสงคราม พระเจ้าโกสีหราชแพ้สงครามถึงกับสวรรคตในสนามรบ เจ้าฟ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าฟ้าชายธนทกุมารได้นำพระบรมสาริีริกธาตุของพระพุทธเจ้าหลบหนีออกจากเมืองทันตะปุระ ตามคำสั่งของพระบิดาลงเรือสำเภามุ่งหน้าสู่เกาะลังกา (ประเทศศรีลังกา) แล้วเดินทางผ่านหมู่เกาะอันดามันในมหาสมุทรอินเดีย เข้าสู่ช่องแคบมะละกามาออกอ่าวไทย จุดมุ่งหมายเพื่อต้องการนำพระบรมสาริีริกธาตุไปบรรจุไว้ในเจดีย์ที่เมืองนครศรีธรรมราช(ตามตำนานพระมหาธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช กล่าวว่าได้มีการสร้างพระธาตุเจดีย์ประมาณ พ.ศ. ๘๕๐) เมื่อเจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมารเดินทางมาถึงเมืองพาราณศรี (เมืองสทิงปุระ) เมื่อมาถึงท่าหาดมหาราช เจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมารได้เสด็จได้ขึ้นมาพักผ่อนและสรงน้ำ ตลอดถึงหาน้ำจืดสำหรับดื่ม เมื่อเสด็จขึ้นมาเจ้าชายทันทกุมารน้องชาย ได้วางพระบรมสาริีริกกธาตุไว้ที่ฐานเจดีย์ (สถานที่ที่นั้นเข้าใจว่าเป็นวัดจะทิงพระในปัจจุบัน) เมื่อพักผ่อนจนหายจากเหน็ดเหนื่อยก็เดินทางกลับขึ้นเรือสำเภาต่อไปยังเมืองนครศรีธรรมราช แต่เจ้าชายทันทกุมารได้ลืมพระธาตุไว้ที่ชายหาดทรายเจ้าหญิงเหมชาลาตกพระทัย ถามเจ้าชายทันทกุมารน้องชายว่า "น้องจะทิ้งพระธาตุเสียแล้วหรือ" คำว่า "จะทิ้งพระ" นี้เลยกลายเป็นชื่อของสถานที่วัด และบ้านสืบมาจนปัจจุบัน 

เจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมาร

       ที่มาของชื่อวัดจะทิ้งพระสรุปประเด็นได้  ๓  ประเด็นดังนี้คือ

     ประการที่  ๑  จะทิ้งพระกร่อนมาจากคำว่า "สทิงพระ สทิงปุระ หรือสทิงพาราณศรี"  เป็นชื่อเมืองโบราณเป็นเมืองสองฝั่งทะเล  ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนเป็นแหล่งเกิดเมืองสองเมือง  คือเมืองพัทลุงและเมืองสงขลา  ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอสทิงพระในปัจจุบัน  ทำนองเดียวกับเมืองสงขลากร่อนมาจากสิงหราซึ่งแปลว่าเมืองสิงห์บ้าง หรือกร่อนมาจากสิงขรซึ่งแปลว่าภูเขาบ้าง

        ประการที่  ๒  คนในสมัยโบราณเล่าต่อ ๆ กันมาว่าเจ้าหญิงเหมชาลา ซึ่งพูดกับเจ้าชายทันทกุมาร น้องชายว่าน้องจะทิ้งพรธาตุเสียแล้วหรือ มานับเป็นชื่อของสถานที่ วัด บ้าน อำเภอ   ในปัจจุบัน  

      ประการที่  ๓  พระราชวิจารณ์ของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่  ๕) ในพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ในกรุงเทพฯมหานครเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๔๓๔ ว่าจะทิ้งพระกร่อนมาจากคำว่าจันทิพระ ตามสำเนียงชาวนอกซึ่งเป็นชื่อของวัดมหายานในเกาะชวา (ประเทศอินโดนีเซีย) เมื่อครั้งเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้เสด็จวัดจะทิ้งพระเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ. ศ. ๒๔๓๔ ส่วนวัดจะทิ้งพระนั้นสมัยก่อนมี ๒ วัด อยู่คนละฟากถนน ส่วนชื่ออำเภอสทิงพระนั้นตามประวัติกล่าวว่าอำเภอสทิงพระในสมัยก่อนคือเมืองปละท่า ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมถึงอำเภอระโนด (ขณะนั้นเป็นกิ่งอำเภอ) แต่ราว พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้มีผู้ลอบวางเพลิงที่ว่าการอำเภอปละท่าเสียหายมาก ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ สมัยเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ดำรงตำแหน่งอุปราชปักษ์ใต้มาตรวจราชการได้เล็งเห็นว่าการคมนาคมของเมืองแถบนี้ไม่สะดวก จึงได้ยกกิ่งอำเภอระโนดขึ้นอำเภอ และลดฐานะอำเภอปละท่าเป็นกิ่งอำเภอ ขึ้นตรงกับอำเภอเมืองสงขลาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกิ่งอำเภอจะทิ้งพระ และได้ร่นอาณาเขตทิศเหนือมาอยู่ที่ตำบลชุมพล ทิศใต้ติดต่ออำเภอเมืองสงขลา (อำเภอสิงหนครในปัจจุบัน) ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ทางราชการได้ยกฐานะกิ่งอำเภอจะทิ้งพระขึ้นเป็นอำเภอจะทิ้งพระ และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ สมัยนายพจน์ อินทรวิเชียร เป็นนายอำเภอจะทิ้งพระ ได้เปลี่ยนชื่อจากอำเภอจะทิ้งพระเป็นอำเภอสทิงพระ 


ความสำคัญ

       วัดจะทิ้งพระเป็นวัดที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ปรากฎร่องรอยของศิลปกรรมที่สำคัญภายในวัดหลาย ๆ อย่าง ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จมายังวัดแห่งนี้ วัดจะทิ้งพระประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานชาติ ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา (ฉบับพิเศษ) เล่มที่ ๙๒ ตอนที่ ๑๓๖ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ หน้า ๒๐ เนื้อที่โบราณสถาน ๙ ไร่ ๓ งาน ๒๐ ตารางวา  วัดจะทิ้งพระสมัยก่อนนั้นมี  ๒ วัด อยู่คนละฟากถนนคือวัดพระมหาธาตุและวัดจะทิ้งพระ โดยที่วัดจะทิ้งพระอยู่ด้านตะวันตก มีพระครูวินัยธรรม เป็นหัววัด หมื่นธรรมเจดีย์เป็นนายเพณี มีข้าพระ ๕ หัวงาน นางจันหอม หัวงาน ๑ นางศรีบุตร หัวงาน ๑ นางยอดหัวงาน ๑ นางไกรหัวงาน ๑ นางอินหัวงาน ๑  ส่วนวัดพระมหาธาตุมีพระเจดีย์พระเจ้าองค์ใหญ่ มีพระครูอมฤตย์ศิริวัฒนธนธาตุ หัวหน้าคณะชุมนุมรักษาพราตุ ขุนธรรมพยาบาลเป็นนายเพณี มีข้าพระ ๕  หัวงาน  นางแกนทอง หัวงาน  ๑  นางยก  หัวงาน  ๑  นางยอด หัวงาน  ๑  นางสร้อย  หัวงาน  ๑  นางแผดงยศ  หัวงาน ๑ ในปัจจุบันรวมเป็นวัดจะทิ้งพระจุดเด่นของวัดคือพระธาตุองค์ใหญ่เรียกว่าพระมหาธาตุเจดีย์ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในแต่ละปีมีประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเพื่อหุ้มพระธาตุเจดีย์เป็นพุทธบูชา และเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองชาวสทิงพระ 


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

เจดีย์พระมหาธาตุ หรือเจดีย์พระศรีรัตนมหาธาตุ 

       เจดีย์พระมหาธาตุหรือเจดีย์พระศรีรัตนมหาธาตุเป็นเจดีย์ก่อด้วยอิฐดินและอิฐปะการังสอด้วยดินบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เจดีย์เป็นรูประฆังคว่ำ หรือรูปโอ่งคว่ำแบบลังกามีปลียอดแหลมอย่างเช่น พระบรมธาตุเจดีย์ที่นครศรีธรรมราช แต่ต่างกันที่ไม่มีรัตนบัลลังก์ เจดีย์มหาธาตุมีความสูงจากฐานถึงยอด ๒๐ เมตร ฐานกว้างด้านละ ๑๗ เมตร ฐานเดิมของเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสต่อมาในสมัยอยุธยา ได้มีการบูรณะเพิ่มเติมฐานเป็นแบบย่อมุมไม้ยี่สิบ ทั้ง ๔ ทิิศจะมีซุ้มพระ ประดับทิศละ ๑ ซุ้ม โดยประสมประสานสถาปัตยกรรมสมัยศรีวิชัยเข้ามา เช่น ทำเป็นมณฑปสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนยอดทำเป็นสถูปมีเจดีย์บริวาร  ๔  มุม ตามตำนานกล่าวว่าผู้สร้างเจดีย์คือพระเจ้ากรุงทองแห่งเมืองสทิงพระ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๑๕๔๒  ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๔๗๗ เจดีย์พระมหาธาตุชำรุดทรุดโทรมมาก ได้มีการบูรณะองค์เจดีย์ขึ้นใหม่แต่ก็ยังคงลักษณะเดิมไว้ ในวันเพ็ญเดือน ๓ ของทุกปีจะมีประเพณีแห่ผ้าขึ้นห่มพระมหาธาตุเจดีย์ 

 วิหารพระพุทธไสยาสน์

       วิหารพระพุทธไสยาสน์หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าวิหารพ่อเฒ่านอน เป็นวิหารพระพุทธไสยาสน์ สร้างโดยการก่ออิฐถือปูนสันนิฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยา และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. ๕) หน้าบันวิหารบริเวณด้านหน้าประดับด้วยปูนปั้นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ตอนล่างมีรูปยักษ์แบกเทวดา และลายไท ส่วนด้านล่างมีรูปยักษ์แบกเทวดา และลายไท ส่วนด้านหลังประดับปูนปั้นรูปนารายณ์ทรงครุฑในปี ๒๕๒๐ ก็ได้บูรณะใหม่อีกครั้ง ภายในวิหารประดิษฐานองค์พระพุทธไสยาสน์ ก่ออิฐถือปูนยาว ๑๔ เมตร สูง  ๒ เมตร ชาวบ้านเรียกว่า “พ่อเฒ่านอน” ลักษณะนอนตะแคงขวาพระหัตถ์ขวาหนุนพระเศียร สันนิษฐานว่าเป็นศิลปะศรีวิชัยที่สร้างเลียนแบบศิลปะคุปตะผนัง ภายในวิหารมีภาพเขียนเป็นเรื่องพุทธประวัติ เช่น ตอนเสด็จไปโปรดพุทธมารดา และตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดิงส์ภาพผจญพระยามารภาพเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ เป็นฝีมือช่างท้องถิ่นสามคน คือพระครูวิจารณ์ศีลคุณ (ชู) นายเกลื่อน และนายช่างใบ้ โดยเขียนภาพด้วยสีขาว เทา ฟ้า เขียว ระบายสีบาง ๆ ตัดเส้นด้วยสีอ่อนบนพื้นสีเหลืองอ่อน ส่วนจิตรกรรมอื่น ๆ เช่น ภาพวิถีชีวิตของชาวบ้านในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ


วิหารพระพุทธไสยาสน์ ภาพถ่ายเมื่อ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘
ภาพจาก : อนุสรณีย์ สุชาติ รัตนปราการ, ๒๕๒๘

ประตูวิหารพระพุทธไสยาสน์

พระพุทธไสยาสน์หรือพ่อเฒ่านอน

จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารพระพุทธไสยาสน์

พระอุโบสถ

พระอุโบสถของวัดจะทิ้งพระเป็นพระอุโบสถที่ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ตัวอาคารเป็นเสาหินอ่อนทั้งหลังมีความสวยงามมากรอบ ๆ พระอุโบสถมีศาลาจตุรมุขหินอ่อนล้อมรอบทั้ง  ๔  ทิศ

พระอุโบสถหินอ่อน

หอระฆัง

       หอระฆังของวัดจะทิ้งพระเป็นหอสำหรับแขวนระฆังใบใหญ่ก่อสร้างโดยการก่ออิฐถือปูนสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) สูง ๙ เมตร ฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสกว้างยาวด้่านละ ๓ เมตร บริเวณฐานหอระฆังประดับลวดลายปูนปั้นหนังตะลุงอันแสดงถึงศิลปะพื้นบ้านของอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา

กุฎิสุวรรณคีรี

กุฏิเจ้าอาวาสที่สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๔ นามว่า "กุฎิสุวรรณคีรี" ที่ประดับตกแต่งด้วยลายฉลุไม้อย่างสวยงาม มีลายไม้ฉลุจั่ว กุฏิสุวรรณคีรี พ.ศ.๒๔๖๔ สร้างโดยพระซ้อน สุสวํโร (สุวรรณคีรี)

ลายไม้ฉลุรอบ ๆ 

ลายไม้ฉลุช่องลม

ความงามของลายฉลุไม้ที่แวดล้อมด้วยแมกไม้


ปูชนียวัตถุ

พระพุทธไสยาสน์ (พ่อเฒ่านอน)

      พระเชตุพนพุทธไสยาสน์ (พ่อเฒ่านอน) เป็นพระพุทธรูปบางพุทธไสยาสน์คู่บ้านคู่เมืองสทิงพระ มาแต่โบราณ สร้างแบบก่ออิฐถือปูนยาว ๑๔ เมตร สูง ๒ เมตร เป็นศิลปะสมัยศรีวิชัย ผู้รู้และนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นศิลปะศวีวิชัยที่สร้างเลียนแบบศิลปะคุปตะ ลักษณะนอนตะแคงขวาพระหัตถ์ขวาหนุนพระเศียรประดิษฐานอยู่ในวิหารพระนอนหรือวิหารพระพุทธไสยาสน์ ชาวท้องถิ่นเรียกว่าวิหารพ่อเฒ่านอนสร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีการบูรณปฏิสังขรณ์เป็นระยะ ภายในวิหารมีจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่เป็นจิตกรรมช่างท้องถิ่น พระพุทธไสยาสน์นับว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของชาวสทิงพระและใกล้เคียง ประชาชนมักจะมากราบไหว้ขอพรให้ได้สิ่งที่ปรารถนา เมื่อสำเร็จจะมาปิดทองหรือนำผ้ามาห่มพ่อเฒ่านอนมิได้ขาดมีงานสมโภชประจำปีในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ 

จิตรกรรมฝาผนัง 

       จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารพุทธไสยาสน์ เป็นจิตรกรรมที่มีอายุประมาณ ๑๐๐ ปี เป็นฝีมือของช่างท้องถิ่นชั้นครู ๓ คน คือพระครูวิจารณ์ศีลคุณ (ชู) นายเกลื่อน และนายช่างไบ้ เป็นจิตรกรรมที่เล่าเรื่องพุทธประวัติ มีโทนสีทองลายเส้นงดงาม ซึ่งแสดงถึงอัตลักษณ์ของช่างท้องถิ่นปักษ์ใต้ ภาพเขียนบนพื้นสีเหลืองอ่อน แล้วเขียนภาพลงด้วยสีขาว สีเทา สีฟ้า และสีเขียว เขียนระบายสีบาง ๆ ตัดเส้นด้วยสีอ่อน แตีมีคุณภาพมาก ปูนรองพื้นมีคุณภาพดี ละเอียดและแน่น สีไม่พอง ผนังด้านพระเศียรของพระพุทธพุทธไสยาสน์ (พ่อเฒ่านอน) เป็นภาพพุทธประวัติตอนเสด็จไปโปรดพุทธมารดา และเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทางเบื้องพระบาทของพุทธไสยาสน์ (พ่อเฒ่านอน) เป็นพุทธประวัติตอนมารผจญ ผนังด้านหลังเป็นภาพเทวฑูตซึ่งหมายถึง ทรงเห็นภาพการเกิด แก่ เจ็บ ตาย และภาพบรรพชิต ต่อด้วยภาพตอนเสด็จออกจากพระราชวัง ตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ตอนตัดพระเมาฬี ตอนรับข้าวมธุปายาส ทรงลอยถาด และภาพธิดาพระยามารมาเย้ายวน จิตรกรรมในวิหารพุทธไสยาสน์วัดจะทิ้งพระ เป็นฝีมือช่างชาวบ้านแต่สวยงามและทรงคุณค่ามาก


ปูชนียบุคคล

       เจ้าอาวาสวัดจะทิ้งพระ

       ๑. พระครูอโนมทัสสี

       ๒. พระครูวินัยธรรม

       ๓. พระครูสุข

       ๔. พระครูวิจารณ์ศีลคุณ

       ๕. พระครูพุทธกิจจารักษ์

       ๖. พระครูประสาทศีลพรต

       ๗. พระสิริธรรมมงคล (วรรณ ธมมฺสิริ) ปัจจุบัน (๒๕๕๙-)

       เจ้าอาวาสของวัดจะทิ้งพระทุก ๆ รูป ล้วนมีคุณุปการต่อวัดอย่างยิ่งเพราะได้ทุ่มเทกำลังกายกำลังความคิดสติปัญญาอย่างเต็มความสามารถ เพื่อพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองแก่วัดแก่พระศาสนา และประชาชนในทุก ๆ ด้าน อาทิ พระครูอโนมทัสสีได้ไปศึกษาดูงานพระศาสนาที่ประเทศลังกา กลับมาได้ร่วมมือกับพระยาธรรมรังคัลสร้างองค์เจดีย์พระมหาธาตุให้ใหญ่ขึ้นในปีจุลศักราช ๗๘๘ ตามแบบสถาปัตยกรรมของลังกาซึ่งเรียกกันว่าเจดีย์ฐานสิบสอง ท่านพระครูวิจารณ์ศีลคุณ ผู้มากความสามารถในด้านศิลป์ได้สร้างถาวรวัตถุไว้มากมาก เช่น บูรณะพระอุโบสถ สร้างศาลาการเปรียญ หอระฆัง วิหารพุทธไสยาสน์ เป็นต้น ด้านบทกลอนและกวีท่านก็ชำนาญท่านประพันธ์บทกลอนไว้มากมาย เช่น บทกลอนที่ชื่อว่า “ลุงสอนหลาน” ซึ่งเป็นเรื่องที่ไพเราะ ขบขัน และให้คติธรรมสอนใจแก่เยาวชนรุ่นหลังได้อย่างอเนกอนันต์นานับประการ ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะพระครูประสาทศีลพรต เจ้าอาวาสรูปที่ ๖ เท่านั้น

พระครูประสาทศีลพรต

       พระครูประสาทศีลพรตเจ้าอาวาสรูปที่ ๖ ของวัดจะทิ้งพระซึ่งชาวบ้านเรียกท่านว่าประทีปลุ่มทะเลสาบสงขลาเป็นพระเถระนักพัฒนาได้ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจและกำลังทรัพย์ เพื่อพัฒนาพระพุทธศาสนาด้วยศรัทธาอันแรงกล้า พระครูประสาทศีลพรต นามเดิมคือนิรุตติ์ นามสกุล แสงวรรณลอย เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๕๗ ปีขาล ณ บ้านห้วย หมู่ ๔ ตำบลท่าหิน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา โยมพ่อ คือนายเส้ง โยมแม่ คือนางพุ่ม ในช่วงวัยเยาว์ได้ศึกษาเล่าเรียนจนจบชั้นประถมที่โรงเรียนวัดท่าหินจากนั้นได้ช่วยเหลือครอบครัว ทำนาจนอายุครบบวชได้เข้าอุปสมบทที่วัดท่าหิน โดยมีพระอธิการเส้ง ติสฺสโร เจ้าอาวาสวัดบ่อประดู่ เป็นพระอุปัชฌาย์ ภายหลังอุปสมบทได้จำพรรษาที่วัดท่าหินได้มุ่งศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างเคร่งครัด สอบได้นักธรรมตรี-โท-เอก นอกจากนี้ท่านได้ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกอย่างแตกฉาน ท่านได้จัดตั้งสถานศึกษาแผนกธรรมและก่อตั้งสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีและแผนกสามัญศึกษา ทำให้พระภิกษุสามเณรในเขตอำเภอสทิงพระ และใกล้เคียงในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเกิดการขยายตัวด้วยคุณภาพและปริมาณอย่างรวดเร็ว สำหรับด้านการปกครองคณะสงฆ์ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลจะทิ้งพระ และเป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นเจ้าอาวาสวัดจะทิ้งพระทำหน้าที่ปกครองพระภิกษุสามเณรกว่า ๑๐๐ รูป ท่านเป็นผู้เคร่งครัดในด้านการปฏิบัติธรรมมีศรัทธาแรงกล้าในการออกธุดงควัตร จึงได้ตั้งสำนักวิปัสสนานิ.ส. ขึ้นเดือนเมษายนของทุก ๆ ปีท่านจะนำพระภิกษุสามเณรจาริกธุดงค์ออกแสวงหาความสงบวิเวกและบำเพ็ญธรรมด้วยความวิริยะอุตสาหะของท่าน ที่ได้ทุ่มแรงกายแรงใจ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาโดยมิได้เห็นแก่ความลำบากและเหนื่อยยาก ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโทในพระราชทินนามเดิมที่พระครูประสาทศีลพรตท่านได้รับรางวัลพุทธคุณุปการ พ.ศ. ๒๕๕๔ และที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอชั้นเอกเมื่อปี ๒๕๕๕ ท่านป่วยด้วยโรคชราได้เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลกรุงเทพ-หาดใหญ่ และได้มรณภาพลง เมื่อวันที่  ๒๔  เมษายน ๒๕๕๖ รวมสิริอายุได้ ๙๙ ปี


บทบาทต่อสังคม

       คำว่าจะทิ้งพระกร่อนมาจากสทิงปุระพาราณสี ซึ่งเป็นชื่อเมืองพัทลุงเก่า ครั้งเมื่อกาลเวลาล่วงเลยมานับเป็นพันปี ชื่อสทิงปุระจึงกร่อนมาเป็นจะทิ้งพระ สทิงพระเป็นชื่อสถานที่กลายเป็นชื่อวัด ชื่อตำบล และอำเภอ บนคาบสมุทรสทิงพระ พระธาตุองค์ใหญ่เรียกว่าพระมหาธาตุเจดีย์ ที่ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นที่เคารพสักการะของพระพุทธศาสนิกชน แต่ะละปีมีการแห่ผ้าขึ้นห่อหุ้มพระธาตุเจดีย์เป็นพุทธบูชา และเป็นปูชนียสถานสำคัญ คู่บ้านคู่เมืองชาวสทิงพระตลอดมา 

   ความเจริญของพระพุทธศาสนาที่เผยแผ่มายังคาบสมุทรสทิงพระนั้นมีอยู่จริงและสืบต่อเนื่องมายาวนาน ดังเช่นที่วัดจะทิ้งพระซึ่งมีโบราณสถาน ตลอดสถาปัตยกรรมแห่งพระพุทธศาสนามากมายรายรอบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นเป็นที่เคารพศรัทธานับถือและเป็นที่พึ่งทางใจไปทั่วแว่นแคว้นของคนรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา-พัทลุง ในแต่ละปีผู้เลื่อมใส่ได้มาแห่ผ้าขึ้นห่มพระธาตุเจดีย์ซึ่งเป็นตัวแทนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นการแสดงออกถึงความศรัทธาอย่างยิ่งสำหรับพ่อเฒ่านอนพระพุทธรูปปางไสยาไสยาสน์ สัญลักษณ์แห่งของผู้คนซึ่งจะมาบนบานสานกล่าวของพรต่าง ๆ ครั้่นสำเร็จได้ดังใจแล้วก็จะมาร่ายรำออกพรานเพื่อแก้บน พร้อมด้วยโนราโรงครูเป็นธรรมเนียมและวีถึของผู้คนตลอดมา

ภาพสืบค้นจาก : http://songkhlapao.go.th/gallery/detail/655


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดจะทิ้งพระ (Wat Chathingphra)
ที่อยู่
หมู่ที่ ๔ ตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
จังหวัด
สงขลา
ละติจูด
7.474557
ลองจิจูด
100.438887



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

เทศบาลตำบลสะทิ้งพระ. (2557). สืบค้น 24 ส.ค. 59, จาก https://www.gotoknow.org/post/533801

ปรุงศรี วัลลิโภดม และคณะ (บรรณาธิการ). (2545). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดสงขลา.  กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.

เพจหลงเสน่ห์อาคารเก่า. (2561). สืบค้นวันที่ 3 มกราคม 61, จาก https://www.facebook.com/หลงเสน่ห์อาคารเก่า-351361438298141/

พรทิพย์ พันธุโกวิท, ศิริพร สังข์หิรัญ และธนิสรา พุ่มผะกา. (2555). ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานในจังหวัด

       สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล). พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส.

วัดจะทิ้งพระ จ.สงขลา. (2558). สืบค้น 24 ส.ค. 59, จาก https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=aerides&date=28-09-2013&group=56&gblog=3

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2558). สงขลา : เมืองสองเลเสน่ห์วัฒนธรรม : หนังสืออ่านเพิ่มเติมกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม

       ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา. กรุงเทพฯ : สำนักงาน.

Wat Jatingpra : วัดจะทิ้งพระ (2560). สืบค้น 24 ส.ค. 59, จาก https://www.facebook.com/Wat-Jatingpra-วัดจะทิ้งพระ-146866475398031/


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024