วัดพังยาง (Wat Pang Yang)
 
Back    18/04/2018, 14:08    141  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา


       ภาพจาก : https://link.psu.th/PP13E

                  วัดพังยางปรากฏชื่อในแผนที่ภาพกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุง ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยอยุธยา ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) ปรากฏชื่อว่า “วัดพังยางตีนท่า” และ “วัดพังยางขุนคลองพลสาร” และเมื่อพิจารณาหลักฐานจากภาพในแผนที่แล้ว จะเห็นได้ว่าวัดพังยางในปัจจุบันน่าจะเป็นวัดพังยางขุนคลองพลสารมากกว่า เนื่องจากภาพเจดีย์ตรงกับภาพในพระกัลปนาวัด วัดพังยางตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ ตําบลพังยาง อําเภอระโนด จังหวัดสงขลา อยู่ห่างจากวัดหน้าเมือง ไปทางทิศเหนือประมาณ ๑ กิโลเมตร ทางทิศใต้จดคลองพังยาง (คําว่าตีนท่าจึงตรงกับคําว่าอยู่ทางทิศเหนือของท่าน้ำ) วัดพังยางได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ)๊ พ.ศ. ๒๕๐๑ จากรูปแบบศิลปกรรมยืนยันว่า ณ ที่นี้เคยเป็นวัดสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา และวัดแห่งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนโบราณคูน้ำคันดินที่เรียกว่า "ชุมชนโบราณพังยาง"  วัดพังยางมีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๑๓ ไร่ งาน ๒ ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับพังสาธารณะ ทิศใต้ติดต่อกับลำคลอง ทิศตะวันออกติดต่อกับถนนสายพังยางหน้าวัด ทิศตะวันตกติดต่อกับทุ่งนา พื้นที่ตั้งวัดเป็นเนินสูง
                     ชุมชนโบราณพังยาง  เป็นชุมชนโบราณในเขตตำบลพังยาง  อำเภอระโนด  บริเวณแนวเส้นทราย ทั้ง  ๓ แนวของคาบสมุทร บริเวณลุ่มน้ำคลองพังยาง คลองโภคา  และคลองบ้านโพธิ์ปรากฏตามพิกัดภูมิศาสตร์ เส้นรุ้ง ๗  องศา ๔๔ ลิปดาเหนือ (บ้านสาม) ถึง ๗  องศา  ๔๒  ลิปดาเหนือ (บ้านพังยาง) เส้นแวง  ๑๐๐   องศา ๒๓  ลิปดาตะวันออก  (บ้านพังยาง)ถึง ๑๐๐   องศา ๒๑   ลิปดาตะวันออก (คลองโภคา) ประกอบด้วยแล่ง โบราณคดีสำคัญ ๒ แหล่ง ได้แก่
 แหล่งโบราณคดีวัดขุนช้าง-บ้านสามี  ตำบลพังยาง อำเภอระโนด  ตั้งอยู่บนเส้นทรายริ้วใน (ริ้วที่ ๓) มีพังขุนช้าง สระบ้านสามี และคลองบ้านโพธิ์เป็นเส้นทางน้ำที่สำคัญ และแหล่งโบราณคดีเมืองพังยาง  บ้านพังยาง  ตำบลพังยาง  อำเภอระโนด  ตั้งอยู่บนเส้นทรายริ้วใน (ริ้วที่ ๓) มีคลองพังยางเป็นทางน้ำสำคัญ
                       วัดพังยาง มีเจดีย์เก่าแก่สมัยอยุธยา มีพระประธานองค์ใหญ่ มีพระพุทธรูป ๕๖ องค์ มีพานสําริด และถ้วยโบราณจํานวนมาก มีพระอภิธรรมใบลาน ๑ คู่ สมุดข่อย ๑๐ เล่ม 
เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๒๑ ได้มีผู้ขุดค้นพบถ้วยสมัยราชวงศ์เหมง ในบริเวณศูน้ำทิศตะวันตกของวัด จํานวน ๑๘ ใบ ต่อมากรมศิลปากรได้การประกาศขึ้นทะเบียนนโบราณสถานวัดพังยาง ในราชกิจจานุเบกษา (ฉบับพิเศษ) เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๘๐ วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๘ หน้า ๑๓๒ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๒ งาน ๑๖ ตารางวา


ภาพจาก : ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล)  
 


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

             เจดีย์แบบศรีวิชัย


เจดีย์หน้าวิหารสันษิฐานสร้างในพุทธศตวรรษที่ ๒๐-พุทธศตวรรษที่ ๒๔
ภาพจาก : ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล)  

              เจดีย์แบบศรีวิชัยซึ่งตั้งอยู่หน้าวิหาร ๒ องค์ เป็นเจดีย์ก่อด้วยอิฐถือปูน ลักษณะองค์ระฆังแบบโอคว่ำหรือแบบสังกาตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม อิทธิพลพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ กว้างยาวประมาณ ๔ เมตร สูงประมาณ ๕ เมตร องค์ทางด้านขวามือของวิหารหรือศาลาการเปรียญได้รับการบูรณะใหม่แล้ว ส่วนองค์ทางด้านช้ายมือยังอยู่ในสภาพเดิมมียอดหักตั้งแต่ปล้องไฉน ปัจจุบันปูนปั้นฉาบผิวหลุดกะเทาะจนเกือบหมด ต่อมากรมศิลปากรได้เข้าบูรณะเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖ เจดีย์แบบศรีวิชัย ๒ องค์นี้ เป็นหลักฐานที่แสดงว่า ณ ที่นี้เคยเป็นวัดสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา และวัดเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ซึ่งมีคูน้ำคันดิน ที่เรียนกว่าชุมชนโบราณพังยาง ตามตำนานกล่าวว่าพระนางท้าวราชกฤษณาพระอัครมเหสีของออกยาราม ได้เดินทางจากเมืองหลวงผ่านนครศรีธรรมราชมาถึงบ้านพังยาง อำเภอระโนดจึงได้สร้างวัดพังยางขึ้นมา

              วิหาร
           วิหาร ปัจจุบันคือศาลาการเปรียญ ป็นอาคารฐานก่ออิฐถือปูนทรงโดง ไม่มีฝาผนังเครื่องบนสร้างด้วยไม้ ภายในพระวิหารมีพระพุทธปประธานปูนปั้นปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๓ เมตร สูง ๓.๗ เมตรลักษณะพระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง พระพักตร์เป็นรูปลี่เหลี่ยม เคร่งขรึมมีไรพระศกเป็นแผ่นหนา พระวรกายล่ำสันแข็งกระด้าง ศิลปะอโยธยาหรืออู่ทอง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ หลักฐานในหนังสือกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุง สมัยอยุธยาระบุว่าผู้สร้างวิหารและพระพุทธรูป คือท้าวราชกฤษณาและภรรยา ออกญาราม เจ้าเมืองนครตรีธรรมราชโบราณสถานแห่งนี้ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดพังยางเฉพาะเขตที่มีสิ่งสำคัญ มีพื้นที่ประมาณ ๒ งาน ๑๖ ตารางวา โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ หน้า ๑๓๒ เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๘๐ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๘


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดพังยาง (Wat Pang Yang)
ที่อยู่
เลขที่ ๑๙ บ้านพังยาง หมู่ที่ ๒ ตำบลพังยาง อำเกอระโนด จังหวัดสงขลา
จังหวัด
สงขลา
ละติจูด
7.710735
ลองจิจูด
100.366063



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

พรทิพย์ พันธุโกวิท. (2555). ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานจังหวัดสงขลา ปัตตานี
             ยะลา นราธิวาส สตูล). กรุงเทพฯ: บางกอกอินเฮ้าส์.

เพจคาบสมุทรสทิงพระ. (2567). วัดพังยาง โบราณสถานในคาบสมุทร. (Facebook) เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/
           100064866483589/posts/2187730721453348/ 


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024