วัดสีหยัง (Wat Siyang)
 
Back    13/12/2017, 15:37    18,356  

หมวดหมู่

สถานที่ทางศาสนา


ประวัติความเป็นมา

       บริเวณสันทรายริ้วใหญ่ตอนในมีวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีวิชัย ปรากฏหลักฐานในหนังสือกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุง สมัยอยุธยาเรียกชื่อวัดนี้ว่า "วัดศรีกูยัง" สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๑๐ ในแผนที่กัลปนาวัดเมืองพัทลุง เรียกชื่อวัดนี้ว่า "วัดสีกุหยัง" เป็นพุทธสถานของชุมชนสมัยประวัติศาสตร์รัฐโบราณและเป็นวัดที่สำคัญในสมัยอยุธยา ตลอดถึงเป็นวัดที่สมเด็จเจ้าพะโคะหรือหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เมื่อครั้งเป็นสามเณรได้มาศึกษาธรรมบททศชาติที่วัดนี้ บริเวณของวัดสีหยังจะมีคูขุดล้อมรอบไว้ทั้ง ๔ ด้าน เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีความกว้างประมาณ ๒๐๐ เมตร คูกว้าง ๓๐ เมตร  คูเมืองด้านทิศใต้และด้านทิศตะวันออก ที่อยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ส่วนคูเมืองด้านทิศเหนือมีร่องรอยคูเมืองกว้างประมาณ  ๓๐  เมตร มีวัชพืชน้ำขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไป คูเมืองด้านทิศตะวันออกอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ มีวัชพืชขึ้นปกคลุมบ้างเล็กน้อย ขนาดคูเมืองกว้างประมาณ ๓๐ เมตร ยาว ๓๕๐ เมตร แต่ไม่ปรากฏคันดินชัดเจนคูเมืองด้านทิศใต้อยู่ติดด้านหลังอาคารโรงเรียนวัดสีหยังขนาดคูเมืองกว้างประมาณ ๓๐ เมตรมีคันดินสูงประมาณ  ๒-๓  เมตร และคงเหลือคูเมืองด้านทิศนี้อยู่ประมาณ ๔๐ เมตร ปัจจุบันมีการก่อสร้างอาคารศูนย์จำหน่ายสินค้าชุมชนเทศบาลตำบลบ่อตรุ สำหรับคูเมืองด้านทิศตะวันตกปัจจุบันมีทางหลวงสาย ๔๐๘ สงขลา-ระโนดตัดผ่านไปตามแนวเหนือ-ใต้ จึงทำให้แนวคูเมืองบางส่วนถูกตัดออกและส่วนที่เหลือถูกถมปรับในบางส่วนบริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมุมคูเมือง จะปรากฏสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างประมาณ ๔๐ เมตร ยาว ๖๐ เมตร  เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ หน่วยศิลปากรที่ ๙ สงขลา กองโบราณคดี ได้สำรวจขุดแต่งบูรณะวัดสีหยังพบว่ามีซากสถูปก่อด้วยอิฐตั้งอยู่ในเนินดินเป็นสถูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส ส่วนบนหักหายไปมีการใช้หินปะการังซึ่งมีอยู่ในท้องถิ่นมาทำเป็นรูปบัวของสถูปแทนอิฐ นอกจากนี้ยังพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดาและแบบเคลือบ และยังเคยพบประติมากรรมสำริดในบริเวณใกล้เคียงเป็นเทวรูปสำริดพระกรถือรวงข้าว (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดสีหยัง) และบริเวณรอบ ๆ สถูปยังปรากฏคันคูดินโบราณ ที่บ่งบอกถึงความเป็นชุมชนโบราณอยู่ด้วย

      วัดสีหยังตั้งอยู่ริมถนนทางหลวงสงขลา-นครศรีธรรมราช อยู่ที่บ้านเลขที่ ๑๒๗ บ้านสีหยัง หมู่ที่ ๓ ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินที่ตั้งวัดเนื้อที่ ๓๓ ไร่ ๓ งาน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาปี พ.ศ. ๒๓๒๐  ตามประวัติของวัดเล่าว่าบริเวณสันทรายใหญ่ตอนในมีวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยศรีวิชัย  ซึ่งปรากฎหลักฐานในหนังสือกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุงในสมัยอยุธยามีชื่อเดิมว่าวัดสีกุหยัง หรือศรีกูญัง หรือวัดคูยัง เป็นวัดที่ขึ้นกับวัดเขียนบางแก้ว คณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง 

       จากหลักฐานที่ขุดค้นพบเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒  ของหน่วยศิลปากรที่  ๙ สงขลา  กองโบราณคดีได้สำรวจขุดแต่งบูรณะวัดสีหยัง ที่ขุดพบว่ามีซากสถูปก่อด้วยอิฐตั้งอยู่ในเนินดินเป็นสถูปทรงสี่เหลื่ยมจตุรัส ส่วนบนหักไปมีการใช้หินปะการังซึ่งมีอยู่มากในท้องถิ่นแถบนั้นมาทำเป็นรูปบัวของสถูปแทนอิฐ นอกจากนี้ยังได้พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดาและแบบเคลือบ ตลอดถึงเทวรูปสำริดพระกรถือรวงข้าว ซึ่งภาชนะและวัตถุโบราณแบบนี้ยังเคยขุดพบในบริเวณใกล้เคียงด้วย แสดงว่าชุมชนแห่งนี้เคยมีความรุ่งเรืองมาก่อนในอดีตกาล


ความสำคัญ

       วัดสีหยังเป็นพุทธสถานของชุมชนสมัยประวัติศาสตร์รัฐโบราณที่มีร่องรอยว่าเป็นชุมชนคูน้ำคันดินในสมัยนั้น ต่อมาได้กลายเป็นวัดสำคัญในสมัยอยุธยา เดิมวัดสีหยังล้อมรอบด้วยคูเมืองทั้งสี่ด้าน แต่สภาพปัจจุบันคงเหลือร่องรอยคูเมืองไว้เพียงบางส่วนมีคูเมืองด้านทิศใต้ และด้านทิศตะวันออกที่อยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์คูเมืองด้านทิศเหนือ มีร่องรอยคูเมืองกว้างประมาณ ๓๐ เมตร และมีวัชพืชน้ำขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไปคูเมืองด้านทิศตะวันออกอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์มีวัชพืชขึ้นปกคลุมบ้างเล็กน้อย ขนาดคูเมืองกว้างประมาณ ๓๐ เมตร ยาว ๓๕๐ เมตร แต่ไม่ปรากฏคันดินชัดเจน คูเมืองด้านทิศใต้อยู่ติดด้านหลังอาคารโรงเรียนวัดสีหยังขนาดคูเมืองกว้างประมาณ ๓๐ เมตรมีคันดินสูงประมาณ  ๒-๓  เมตร และคงเหลือคูเมืองด้านทิศนี้อยู่ประมาณ ๔๐ เมตรปัจจุบันมีการก่อสร้างอาคารศูนย์จำหน่ายสินค้าชุมชนเทศบาลตำบลบ่อตรุ คูเมืองด้านทิศตะวันตกปัจจุบันมีทางหลวงสาย ๔๐๘ สงขลา-ระโนด ตัดผ่านไปตามแนวเหนือ-ใต้จึงทำให้แนวคูเมืองบางส่วนถูกตัดออกและส่วนที่เหลือถูกถมปรับในบางส่วน บริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมุมคูเมือง ปรากฏสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างประมาณ ๔๐ เมตร ยาว ๖๐ เมตร  วัดสีหยังเป็นพุทธสถานของชุมชนสมัยประวัติศาสตร์รัฐโบราณ ที่มีร่องรอยว่าเป็นชุมชนคูน้ำคันดินในสมัยนั้นต่อมาได้กลายเป็นวัดสำคัญในสมัยอยุธยา แต่เดิมวัดสีหยังล้อมรอบด้วยคูเมืองทั้งสี่ด้านแต่สภาพปัจจุบันคงเหลือร่องรอยคูเมืองไว้เพียงบางส่วน มีคูเมืองด้านทิศใต้ และด้านทิศตะวันออกที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ วัดสีหยังอยู่ริมถนนทางหลวงสงขลา-นครศรีธรรมราชตั้งอยู่เลขที่ ๑๒๗ บ้านสีหยัง หมู่ที่ ๓ ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๓๓ ไร่ ๓ งาน สร้างในสมัยศรีวิชัยประมาณ พ.ศ. ๒๓๑๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาประมาณปี พ.ศ. ๒๓๒๐ เดิมมีนามว่า "วัดสีกุยัง" ในหนังสือกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุงสมัยอยุธยาเรียกว่า "วัดศรีกูยัง" มีพระอุโบสถและศาลาการเปรียญเป็นสถาปัตยกรรมฝีมือช่างพื้นบ้านของสงขลา วัดสีหยังเป็นวัดที่พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ (หลวงพ่อทวด) เมื่อครั้งเป็นสามเณรปูได้มาศึกษาธรรมบททศชาติและเป็นที่ปฏิบัติธรรมกิจวัตร ก่อนที่ท่านจะไปอุปสมบทที่วัดดีหลวงแม้ท่านจะออกจากวัดสีหยังไปอยู่วัดอื่น ๆ แล้วก็ตามพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์(หลวงพ่อทวด) ก็ได้กลับมาพักเพื่อปฏิบัติธรรมที่วัดสีหยังนี้หลาย ๆ ครั้ง ๆ ละหลาย ๆ วัน ตามแต่โอกาสที่จะทำได้เพราะไม่เคยลืมสถานที่ให้การศึกษา ท่านถือว่าสถานที่นั้นเป็นครูของตน 

      กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดสีหยัง ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๘๐ วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๘ หน้า ๑๒๗ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๒ งาน ๘๕ ตารางวา ประกาศขอบเขตโบราณสถานวัดสีหยังเพิ่มเติม ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๔๔ ตอนพิเศษ ๘๑ ง วันที่ ๑๕  กันยายน ๒๕๔๐ หน้า ๖ พื้นที่โบราณสถาน ก. ประมาณ ๒ งาน ๘๕ ตารางวาพื้นที่โบราณสถาน ข. ประมาณ ๑ ไร่ ๕๑ ตารางวาพื้นที่โบราณสถานรวมประมาณ ๑ ไร่ ๓ งาน ๓๖ ตารางวา

ภาพสืบค้นจาก : http://culture.skru.ac.th/culture/dbDetail.php?id=20140908124459


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

       โบราณสถานภายในวัดสีหยังนั้น ปรากฏโบราณสถานตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๖ เป็นต้นมา เช่น ซากฐานเจดีย์ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมของชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของภาคใต้ ที่หลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีร่องรอยการก่ออิฐถือปูนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ หน่วยศิลปากรที่ ๙ สงขลา กองโบราณคดี ได้สำรวจขุดแต่งบูรณะวัดสีหยังพบว่ามีซากสถูปก่อด้วยอิฐตั้งอยู่ในเนินดินเป็นสถูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส ส่วนบนหักหายไปมีการใช้หินปะการังซึ่งมีอยู่ในท้องถิ่นมาทำเป็นรูปบัวของสถูปแทนอิฐส่วนต่อระหว่างฐานราก และองค์เจดีย์ที่ต่อขึ้นไปด้านหน้าฐานเจดีย์มีฐานวิหารเหนือเป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อาจเป็นวิหารที่สร้างเพิ่มเติมในสมัยอยุธยา หรืออาจมีมาแต่เดิมก็ได้ นอกจากนี้ยังพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดาและแบบเคลือบ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับประติมากรรมสำริดที่ขุดพบในบริเวณใกล้เคียง เช่น เทวรูปสำริดพระกรถือรวงข้าว (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดสีหยัง) และบริเวณรอบ ๆ สถูปยังปรากฎคันคูดินโบราณที่บ่งบอกถึงความเป็นชุมชนโบราณอยู่ด้วย

ฐานเจดีย์เก่า

 ซากฐานเจดีย์มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมมีเสาติดผนังมีบันไดทางขึ้นอยู่ทางด้านหน้าเพียงด้านเดียว เป็นหลักฐานรูปแบบสถาปัตยกรรมของชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของภาคใต้ที่หลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีร่องรอยการก่ออิฐถือปูน สำหรับปูนที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นปูนที่ผสมกับปะการัง ฐานเจดีย์มีขนาดกว้าง ๗.๖๓ เมตร ยาว ๗.๗๖ เมตร ฐานสูงประมาณ ๑.๘๖ เมตร มีบันไดทางขึ้นด้านทิศเหนือ ส่วนของอิฐที่ใช้ก่อสร้างแต่ละชื้นมีขนาดกว้าง ๑๖ เซนติเมตร ยาว ๓๒ เซนติเมตร หนา ๖ เซนติเมตร นอกจากนี้บริเวณฐานเจดีย์ยังสำรวจพบเศษภาชนะดินเผาแบบเนื้อดินภาชนะเคลือบและกระปุกเคลือบด้านขนาดเล็กด้วย 
     ฐานเจดีย์เก่านี้ก่อด้วยอิฐดินเผาและหินปะการัง การก่อสร้างใช้ยางไม้ชนิดหนึ่งแทนการสอปูนจัดเรียงอิฐแบบไม่มีระบบซึ่งเป็นเทคนิคขอช่างสมัยศรีวิชัยจากหลักฐานสันนิษฐานว่าองค์เจดีย์มีรูปทรงแบบมณฑปของพระบรมธาตุไชยา ต่อมาได้หักพังลงเหลือแต่ฐานเจดีย์ นักโบราณคดีได้ให้ความเห็นว่าเป็นเจดีย์ที่สร้างในสมัยศรีวิชัย หรือในพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๘ ซากฐานเจดีย์มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีเสาติดผนังมีบันไดทางขึ้นอยู่ทางด้านหน้าเพียงด้านเดียว (ด้านทิศเหนือ) เป็นหลักฐานรูปแบบสถาปัตยกรรมของชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของภาคใต้แห่งเดียวที่ยังคงเหลือ 

อุโบสถเก่า

     อุโบสถเก่าหรือโบสถ์ทรงสูงก่ออิฐถือปูนฐานสูง ตั้งอยู่บนฐานปัทม์ที่สูงมีประตูทางเข้าด้านหน้าเพียงด้านเดียวเจาะช่องหน้าต่างด้านละ ๒ ช่อง ขอบประตูและหน้าต่างตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นเป็นรูปวงโค้งและเทวดาหน้าบัน ด้านหน้ามีลายปูนปั้นลายดอกพุดตานใบเทศ มีบุคคลเป็นส่วนประกอบ ตรงจั่วมีช่อฟ้าใบระกา มีปั้นลมรูปหัวนาคแทนหางหงส์ บริเวณหน้าบันเป็นรูปลายก้านขดสี่วงรูปรามสูรขว้างขวานและเมขลาล่อแก้ว มีใบเสมาคู่บนฐานก่ออิฐสูงล้อมรอบอุโบสถไว้ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระประธานปูนปั้นปางมารวิชัย ฝีมือช่างท้องถิ่น บริเวณเหนือหน้าต่างมีลายปูนปั้นเป็นวงโค้ง 

ภาพสืบค้นจาก : https://pantip.com/topic/33351297

อุโบสถหลังใหม่

         อุโบสถหลังใหม่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนรูปทรงสี่เหลื่อมฐานสูง มีประตูทางเข้าทางเดียวคือด้านหน้า รอบ ๆ พระอุโบสถมีลานทักษิวัฏ มีหน้าต่างด้านละ ๒ ช่องขอบประตูและหน้าต่างตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นเป็นรูปวงโค้งและมีเทวดาหน้าบัน ด้านหน้ามีลายปูนปั้นลายดอกพุดตานใบเทศมีบุคคลเป็นส่วนประกอบ ตรงหน้าจั๋วมีช่อฟ้าและใบระกาและปั้นลมรูปหัวนาคแทนหางหงส์ภายในของพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งเป็นฝีมือช่างท้องถิ่น สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ๙๒ ปีมาแล้ว

หน้าบันพระอุโสบถเป็นรูปเทพพนม

ศาลาไม้หรือวิหารโถงไม้

     ศาลาไม้หรือวิหารโถงไม้ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของฐานเจดีย์เก่าหลังคาทรงปั้นหยามุงด้วยกระเบื้องดินเผา (ซึ่งนำมาจากเกาะยอ) ยอดหลังคาประดับด้วยรูปครุฑและพญานาค ซึ่งลักษณะของสถาปัตยกรรมดังกล่าวนี้ทำให้เห็นถึงรูปแบบของสถาปัตยกรรมท้องถิ่น โดยการผสมผสานกับรูปแบบของศิลปกรรมที่นิยมกันในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้เป็นอย่างดี

หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ประดิษฐาน ณ ศาลาไม้หรือวิหารโถง

ศาลาประดิษฐารูปเหมือนหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดและพระเกจิอาจารย์ภาคใต้  

      ศาลาประดิษฐารูปเหมือนหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดและพระเกจิอาจารย์ภาคใต้  ทางวัดได้ดำเนินการจัดสร้่างเพื่อประดิษฐานรูปเหมือนหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด และพระเกจิอาจารย์ภาคใต้เนื่องจากวัดสีหยังเป็นวัดที่หลวงปืทวดได้มาพำนักศึกษาเล่าเรียนธรรมบททศชาติเมื่อครั้งยังเป็นสามเณรปู และเป็นที่ปฏิบัติธรรมกิจวัตร ไม่เคยขาดสาย แม้จะออกจากวัดสีหยังไปอยู่วัดอื่น ก็มีโอกาสก็จะกลับมาพักปฏิบัติธรรมครั้งละหลายๆวัน ตามแต่โอกาสที่จะทำได้ เพราะไม่เคยลืมสถานที่ให้การศึกษา ซึ่งถือว่าสถานที่นั้นเป็นครูต้น


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
วัดสีหยัง (Wat Siyang)
ที่อยู่
เลขที่ ๑๒๗ บ้านสีหยัง หมู่ที่ ๓ ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
จังหวัด
สงขลา
ละติจูด
7.633243
ลองจิจูด
100.39328



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. (2522). รายงานวิชาการเรื่องการศึกษาสภาพแวดล้อมแหล่งขุดค้นโบราณคดีสทิงพระและการการสำรวจแหล่งโบราณคดีข้างเคียง. กรุงเทพฯ :

         กองโบราณคดี กรมศิลปากร.

ไกรฤกษ์ พูลยรัตน์. อดีตข้าราชการครูและปราชญ์ชาวบ้านสีหยีง. สัมภาษณ์, 31  พฤษภาคม 2559.

ชัยวุฒิ พิยะกุล. (2542). “วัดสีหยัง” ในสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่มที่ 16. กรุงเทพฯ : ธนาคารไทยพาณิชย์.

“ชุมชนโบราณสีหยัง–เจดีย์งาม”. (2552). สืบค้นวันที่ 3 มิถุนายน, จาก  http://www.openbase.in.th/node/9348

ฐานข้อมูลศิลปวัฒนธรรม CECS : วัดสีหยัง. (ม.ป.ป.) สืบค้นวันที่ 3 มิถุนายน, จาก http://culture.skru.ac.th/culture/dbDetail.php?id=20140908124459

โบราณสถานในจังหวัดสงขลา...วัดพังยาง วัดเจดีย์งาม วัดสีหยัง”. (2556). สืบค้นวันที่ 3 มิถุนายน, จาก https://www.gotoknow.org/posts/532405

พรทิพย์ พันธุโกวิท, ศิริพร สังข์หิรัญ และธนิสรา พุ่มผะกา. (2555). ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานในจังหวัด

         สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล). พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส. 

วัดสีหยัง เสน่ห์แห่งสถาปัตยกรรมฝีมือช่างพื้นบ้านสงขลา. (2554). สืบค้นวันที่ 3 มิถุนายน, จาก http://travel.thaiza.com/วัดสีหยัง-เสน่ห์แห่งสถาปัตยกรรม

        ฝีมือช่างพื้นบ้านสงขลา/206589/

วัดสีหยัง เสน่ห์แห่งสถาปัตยกรรมฝีมือช่างพื้นบ้านสงขลา. (2554). สืบค้นวันที่ 3 มิถุนายน, จาก http://travel.thaiza.com/วัดสีหยัง-เสน่ห์แห่งสถาปัตยกรรม

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2537). สงขลา ถิ่นวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024